วัดไทย

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร - ภาพโดย Lungnuat

วัดอรุณราชวราราม Wat Arun Rajvararam or Wat Arun or The Temple of Dawn วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๓๔ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ในสมัยกรุงศรีอยุธยาวัดนี้เดิมเรียกว่า “วัดมะกอก”

ชื่อสามัญ
วัดแจ้ง
ประเภท
ราชวรมหาวิหาร
ที่ตั้ง
๑๕๘ ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๖๐๐
พระประธาน
พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก
พระพุทธรูปสำคัญ
พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร
พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร - ภาพโดย Siratuang
พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร – ภาพโดย Siratuang

ชั้นและตำบลที่ตั้งวัด

วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และฟากตะวันออกของถนนอรุณอมรินทร์ ระหว่างคลองนครบาล หรือคลองวัดแจ้ง กับพระราชวังเดิม ตำบลวัดอรุณอำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี

เขตวัด และธรณีสงฆ์

เขตวัดอรุณราชวราราม เฉพาะตอนที่เป็นเขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส มีดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดโรงเรียนประถมทวีธาภิเศก
  • ทิศใต้ ติดกำแพงพระราชวังเดิม
  • ทิศตะวันออก ติดแม่น้ำเจ้าพระยา
  • ทิศตะวันตก ติดถนนอรุณอมรินทร์

มีเนื้อที่ ๒๗ ไร่ ๒ งาน ตารางวา ส่วนที่ธรณีสงฆ์ซึ่งทางวัดให้เอกชนเช่า มีอยู่ทางด้านเหนือตอนที่ติดกับกำแพงวัดหลังโรงเรียนประถมทวีธาภิเศก ริมคลองนครบาลหรือคลองวัดแจ้ง เนื้อที่ประมาณ ๒ งาน ๗๗ ตารางวาเศษ กับที่ทางตะวันตกของถนนอรุณอมรินทร์ออกไป มีเนื้อที่ ๓๓ ไร่ ๒ งาน ๒๕ ตารางวา

ชื่อวัด

วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณ สร้างมาแต่ครั้งสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า “วัดมะกอก” ภายหลังเปลี่ยนเป็น “วัดมะกอกนอก” แล้วเปลี่ยนเป็น “วัดแจ้ง”, “วัดอรุณราชธาราม” และ “วัดอรุณราชวราราม” โดยลำดับ ปัจจุบันเรียก “วัดอรุณราชวราราม” มูลเหตุที่เรียกชื่อวัดนี้มาแต่เดิมว่า “วัดมะกอก” นั้น สันนิษฐานว่า คงจะเรียกคล้ายตามชื่อตำบลที่ตั้งวัด ซึ่งสมัยก่อนมี ชื่อเรียกว่า “บางมะกอก” เมื่อนำมาเรียกรวมกับคำว่า “วัด” ในตอนแรก ๆ คงเรียกว่า “วัดบางมะกอก” ภายหลังเสียงหดลง คงเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดมะกอก” ตามคติเรียกชื่อวัดไทยในสมัยโบราณ เพราะชื่อวัดที่แท้จริงมักจะไม่มี จึงเรียกชื่อวัดตามตำบลที่ตั้ง เช่น วัดบางลำพู, วัดปากน้ำ เป็นต้น ต่อมาเมื่อได้สร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกันนี้ แต่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกชื่อวัดที่สร้างใหม่ว่า “วัดมะกอกใน” แล้วเลยเรียกวัดมะกอกเดิม ซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า “วัดมะกอกนอก” เพื่อให้ทราบว่าเป็นคนละวัดกัน

มุมมองจากปรางค์ประธาน - ภาพโดย Diego Delso
มุมมองจากปรางค์ประธาน – ภาพโดย Diego Delso

ส่วนที่เปลี่ยนเป็นเรียกว่า “วัดแจ้ง” นั้น เล่ากันว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงกอบกู้ กรุงศรีอยุธยาสำเร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ แล้ว มีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรีจึงเสด็จกรีฑาพลล่องมาทางชลมารคพอถึงหน้าวัดนี้ก็ได้เวลาอรุณ หรือรุ่งแจ้งพอดี ทรงพระราชดำริเห็นเป็นอุดมมหามงคลฤกษ์ จึงโปรดให้เทียบเรือพระที่นั่งที่ท่าน้ำ เสด็จขึ้นไปทรงสักการะบูชาพระมหาธาตุ ขณะนั้นสูงประมาณ ๘ วา ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหน้าวัด แล้วเลยเสด็จประทับแรมที่ศาลาการเปรียญใกล้ร่มโพธิ์ ต่อมาได้โปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัด แล้วเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น “วัดแจ้ง” เพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์

ชื่อ “วัดแจ้ง” นี้ มีเรื่องสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทูลสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ไว้ว่า

“หม่อมฉันเคยเห็นแผนที่เมืองธนบุรีที่ฝรั่งเศสทำเมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ในแผนที่นั้นมีแต่วัดเลียบกับวัดแจ้ง เวลานั้นยังเป็นชานป้อมใหญ่ ซึ่งอยู่ราวโรงเรียนราชินี เพราะฉะนั้นวัดโพธิ์เป็นวัดสร้างเมื่อล่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มาแล้ว”

จากหลักฐานนี้ อาจสันนิษฐานได้ว่า วัดแจ้งมีมาก่อนที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะทรงย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี ตามเรื่องที่ได้กล่าวมาแล้วและชาวฝรั่งเศสผู้ได้ทำแผนที่เมืองธนบุรีในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช คือ เรือเอก เดอ ฟอร์ปัง กับนายช่าง เดอ ลามาร์ การปฏิสังขรณ์วัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงกระทำมาตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และยังทรงประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมนั้น ได้สำเร็จลงไปต้นปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๖๓ สมัยรัชกาลที่ ๒ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการฉลองแล้วพระราชทานชื่อวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้บูรณะปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก แล้วทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดอรุณราชวราราม” ดังที่เรียกกันจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร - ภาพโดย BerryJ
พระอุโบสถ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร – ภาพโดย BerryJ

พระประธานในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายพระนามว่า “พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก” หล่อในรัชกาลที่ ๒ กล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ด้วยพระองค์เอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอกคืบ ประดิษฐานเหนือแท่นไพที่ บนฐานชุกชี ที่พระพุทธอาสน์พระประธาน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้อัญเชิญพระบรมอัฐิรัชกาลที่ ๒ มาบรรจุไว้

เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๓๘ เวลา ๑๖.๐๐ น. เกิดอัคคีภัยไหม้พระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รีบเสด็จพระราชดำเนินมาอำนวยการ ดับเพลงด้วยพระองค์เอง และอัญเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชออกไปได้ทัน เพลิงไหม้หลังคาพระอุโบสถหมด จึงโปรดให้พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นปราบปรปักษ์เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์พระอุโบสถให้คืนดีดังเดิม และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระบานริศรานุวัดติวงศ์ก็ประทานความเห็นในการซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ ให้รักษาของเก่าไว้อย่างดีที่สุด และภาพที่จะเขียนซ่อมใหม่ก็ให้กลมกลืนกับภาพเดิม

กลับมาที่บริเวณพระอุโบสถอีกครั้ง โดยรอบพระอุโบสถมีซุ้มใบเสมา ๘ ซุ้ม ใบเสมาเป็นใบคู่ทำด้วยหินสลักลวดลายงดงามประดิษฐานอยู่ในซุ้มหินอ่อน ทำเป็นรูปบุษบกยอดเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง สูง ๒ วา ๑ ศอก ระหว่างซุ้มใบเสมามีสิงโตหินแบบจีนตัวเล็ก ๑๑๒ ตัว ตั้งอยู่บนแท่น มีเหล็กยึดแท่นให้ติดกันโดยตลอด เว้นแต่ช่องตรงกับบันไดพระอุโบสถ ริมช่องว่างนั้นมีตุ๊กตาหินรูปคนจีนนั่งบนเก้าอี้หน้าสิงโตจีนอีกช่องละ ๒ ตัว ๘ ช่อง รวมเป็น ๑๖ ตัว

หน้าพระระเบียงโดยรอบ มีตุ๊กตาหินรูปทหารจีนตั้งเรียงเป็นแถวจำนวน ๑๔๔ ตัว และมุมพระอุโบสถทั้ง ๔ มี พระเจดีย์จีนทำด้วยหิน มีซุ้มคูหาตั้งรูปผู้วิเศษ ๘ คน หรือ ที่เรียกว่าโป๊ยเซียน พระเจดีย์มียอดเป็นปล้อง ๆ เรียวเล็กขึ้นไปตามลำดับ คล้ายปล้อง ไฉนแบบพระเจดีย์ไทย มุมละองค์ นอกจากนั้นยังมีช้างหล่อด้วยโลหะ ๘ ตัว สูงขนาด ๑ เมตรเศษ ตั้งอยู่บนแท่นตรง ประตูเข้าออกหน้าพระระเบียง แนวเดียวกับตุ๊กตาทหารจีน ด้านละ ๒ ตัว หันหน้าเข้าพระอุโบสถ ช้างโลหะทั้ง ๘ ตัวนี้ มีอิริยาบถไม่เหมือนกัน บางตัวชูงวงบางตัวปล่อยงวง ลง เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้หล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๙ โดยรอบพระอุโบสถมีพระระเบียงหรือพระวิหารคด มีประตูเข้าออกอยู่กึ่งกลาง พระระเบียงทั้ง ๔ ทิศ หน้าบัน ประตูทำเป็นรูปนารายณ์ ทรงครุฑ ประดับด้วยลาย กระหนกลงรักปิดทองงามมาก พระระเบียงเป็นของสร้าง ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระบานริศรานุวัดติวงศ์ศิลปินเอกของชาติไทยทรงชมเชยไว้ว่า

“พระระเบียงมีอยู่ให้ดูได้บริบูรณ์ ทรวดทรงงามกว่าพระระเบียงที่ไหนหมด เป็นศรีแห่งฝีมือในรัชกาลที่ ๒ ควรชมอย่างยิ่ง แต่ลายเขียนผนังนั้นเป็นฝีมือในรัชกาลที่ ๓ ทำเพิ่มเติม”

ลายเขียนที่ผนังที่ทรงกล่าวถึงนั้น เขียนเป็นรูปซุ้มเรือนแก้วลายดอกไม้ใบไม้ มีนกยูงแบบจีนคาบอยู่ ตรงกลาง พระพุทธรูปในพระระเบียงทั้งหมด เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีรวม ๑๒๐ องค์

ตรงด้านหลังทิศตะวันออกทางที่จะเข้าสู่ พระอุโบสถ มีประตูซุ้มยอดมงกุฎสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นประตูจตุรมุข หลังคา ๓ ชั้น เฉลียงรอบมียอดเป็นทรงมงกุฎ ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสลับสี หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ช่อฟ้า ใบระกา หัวนาคและหางหงส์ เป็นปูนประดับกระเบื้องถ้วย หน้าบันเป็นปูนประดับกระเบื้องถ้วย มีลวดลายเป็นใบไม้ดอกไม้ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘

ประตูซุ้มยอดมงกุฎนี้ชำรุดทรุดโทรมมากพระยาราชสงครามได้กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ถ้าจะโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมใหม่ก็ต้องใช้เงินถึง ๑๖,๐๐๐ บาท หรือไม่ก็ต้องรื้อเพราะเกรงจะเป็นอันตรายเมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานผ้าพระกฐินวัดนี้ มีพระราชกระแสตอบว่า

“ซุ้มประตูนี้อยากจะให้คงรูปเดิม เพราะปรากฏแก่คนว่า เป็นหลักของบางกอกมาช้านานแล้ว”

อีกตอนหนึ่งทรงว่า

“ขอให้ถ่ายรูปเดิมไว้ให้ มั่นคง เวลาทำอย่าให้แปลกกว่าเก่าเลยเป็นอันขาด อย่าเพิ่งให้รื้อจะไปถ่ายรูปไว้เป็นพยาน…”

เพราะพระมหากรุณาธิคุณในการทรงอนุรักษ์ศิลปกรรมชิ้นยอดเยี่ยมของชาติชิ้นนี้ ไว้ ลูกหลานไทยจึงได้ชื่นชมต่ออัจฉริยะของช่างรุ่นก่อนมาจนทุกวันนี้ และรัฐบาลก็เคยนำภาพซุ้มประตูยอดมงกุฎมีรูปยักษ์ยืนเฝ้าอยู่ด้านหน้า ๒ ตน ลงพิมพ์ในธนบัตรอยู่สมัยหนึ่งที่หน้าประตูซุ้มยอดมงกุฏดังกล่าว มีพญายักษ์ยืนอยู่ ๒ คน มือทั้งสองกุมกระบองยืนอยู่บนแท่น ยักษ์ด้านเหนือสีขาวชื่อ สหัสเดชะ ด้านใต้สีเขียวชื่อทศกัณฐ์ ปั้นด้วยปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายรูปลักษณะและเครื่องแต่งตัว สร้างแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ตรัสว่าเป็นฝีมือปั้นของหลวงเทพรจนา (กัน) และเป็นเหตุให้เกิดการปั้นรูปยักษ์ยืนในวัดพระศรีรัตนศาสดารามในเวลาต่อมา

พระวิหาร

ปูชนียสถานสำคัญของวัดอรุณราชวรารามอีกหลังหนึ่งคือพระวิหาร เป็นอาคารยกพื้นสูงเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หลังคาลด ๓ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันมีรูปเทวดาถือพระขรรค์ยืนอยู่บนแท่น ประดับด้วยลายกระหนกลงรักปิดทองประดับกระจก มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านหน้ามีประตูเข้า ๓ ประตู ด้านหลังมี ๒ ประตู ผนังด้านนอกประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายก้านแย่งกระบวนไทย เป็นกระเบื้องที่รัชกาลที่ ๓ ทรงสั่งมาจากเมืองจีน ปัจจุบันได้ใช้พระวิหารนี้เป็นการเปรียญของวัดด้วย

พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณา อสีตยานุบพิตร
พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณา อสีตยานุบพิตร

พระประธานในพระวิหาร คือ พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๖ ศอก หล่อด้วยทองแดงปิดทองพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้หล่อขึ้นพร้อมกับพระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศเทพวราราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ ทางวัดได้พบพระบรมธาตุ ๔ องค์ บรรจุอยู่ในโกศ ๓ ชั้น อยู่ในพระเศียร ที่ฐานชุกชีด้านหน้าพระชุมภูนุท มีพระอรุณหรือพระแจ้งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์พระและผ้าทรงครองหล่อด้วยทองต่างสีกัน หน้าตักกว้าง ๕๐ เซนติเมตร

มีประวัติว่าได้อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และมีพระราชดำริว่านามพระพุทธรูปพ้องกันกับวัดอรุณ จึงโปรดให้อัญเชิญมา ณ วิหารนี้ และที่แท่นหน้าพระอรุณในพระวิหาร มีพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๗๐ เซนติเมตร มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง ประดิษฐานอยู่ เดิมพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ที่ศาลาการเปรียญที่รื้อไปแล้ว มีปูนพอกทั้งองค์โดยไม่มีใครทราบ ภายหลังปูนกระเทาะตัวออกจึงเห็นองค์พระเป็นสำริดสมัยสุโขทัย ทางวัดจึงอัญเชิญมาประดิษฐานในวัดแห่งนี้

มลฑปพระพุทธบาทจำลอง

เป็นพระเจดีย์ย่อเหลี่ยม ไม้ยี่สิบ ๔ องค์

มณฑปพระพุทธบาทจำลอง - ภาพจาก Janes Journey
มณฑปพระพุทธบาทจำลอง – ภาพจาก Janes Journey

หอไตร

มี ๒ หอ อยู่ทางด้านหน้าของหมู่กุฏิคณะ ๑ ใกล้กับสระเล็กๆ และรั้วด้านตะวันตกของพระปรางค์ ๑ หลัง ไม่มีช่อฟ้าใบระกา ทำเป็นปูนปั้นประดับกระเบื้องถ้วยเป็นชิ้นๆ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี กรอบหน้าต่างเป็นปูนปั้นลายดอกไม้ลงรักปิดทอง และอีกหลังหนึ่งอยู่มุมด้านเหนือหน้าคณะ ๗ มีช่อฟ้าใบระกาลงรักปิดทองประดับกระจกบานหน้าต่างเป็นลายรดน้ำรูปต้นไม้ คติเกี่ยวกับที่มีหอไตร ๒ หอ พระเถระผู้ใหญ่ในวัดนี้เล่าว่า เป็นเพราะวัดนี้แต่เดิมมีพระราชาคณะได้ ๒ รูป

ศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน

มี ๖ หลัง อยู่ที่เขื่อนหน้าวัด ตรงมุมเหนือสุดที่ปากคลองวัดแจ้งหลัง ๑ ตรงกับประตูซุ้มยอดมงกุฎ ๓ หลัง ตรงกับต้าพระศรีมหาโพธิ์หลัง ๑ และตรงกับทางเข้าพระปรางค์อีกหลัง ๑ ที่ศาลาเก๋งจีนมีสะพานยื่นลงไปในแม่น้ำ เว้นแต่ด้านเหนือสุด ส่วนหลังที่ตรงกับทางเข้าพระปรางค์นั้น มีรูปจระเข้หินอยู่ด้านหน้าข้างละตัว ศาลาเหล่านี้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เหมือนกันหมด คือ หลังคาเป็นรูปเก๋งจีน มียกพื้นสำหรับนั่งพักทำด้วยหินทรายสีเขียว โดยเฉพาะ ๓ หลังตรงประตูซุ่มยอดมงกุฎนั้น หลังเหนือและใต้มีแท่นหินสีเขียวตั้งอยู่ตรงกลาง เข้าใจว่าจะเป็นที่สำหรับวางของ และหลังศาลาเก๋งจีน ๓ หลังนี้มีรูปกินรีแบบจีนทำด้วยหินทรายสีเขียวตั้งอยู่ ๒ ตัว

ภูเขาจำลอง

อยู่หน้าวัดทางด้านเหนือ หลังศาลาน้ำรูปเก๋งจีน ๓ หลัง กล่าวกันว่า เดิมเป็นภูเขาจำลองที่โปรดให้สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวังในรัชกาลที่ ๑ ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ โปรดให้นำมาไว้ที่วัดนี้ ภูเขาจำลองนี้มีรั้วล้อมไว้เป็นส่วนหนึ่งโดยเฉพาะ มีตุ๊กตาจีน ๒ ตัวนั่งบนแท่นอยู่นอกรั้วด้านหน้า ตรงประตูเข้าทำเป็นรูปทหารเรือเฝ้าอยู่ ๒ คน

อนุสาวรีย์ธรรมเจดีย์

อยู่ด้านใต้ของภูเขาจำลอง มีถนนที่ขึ้นจากศาลาท่าน้ำเก๋งจีน ๓ หลังไปพระอุโบสถคั่นกลางอนุสาวรีย์แห่งนี้มีกำแพงเตี้ยๆเป็นรั้วล้อมรอบ ภายในรั้ว นอกจากจะมีโกศหินทรายสีเขียวแบบจีนบรรจุอัฐิของพระธรรมเจดีย์แล้ว ยังมีประตูและมีภูเขาจำลองเตี้ยๆ กับปราศาทแบบจีนเล็กๆ มีตุ๊กตาหินนอนอยู่ภายใน มีภาษาจีนกำกับซึ่งชาวจีนอ่านว่า ฮก ลก ซิ่ว

ที่มา http://www.watarun.org

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น