สังเขปประวัติพระภิกษุสงฆ์

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๖ จบ)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโมพระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม วัดป่าสามัคคีธรรม อำเภอเมือง ร้อยเอ็ด จาก หนังสือที่ระลึกงานฉลองเจดีย์พิพิธภัณฑ์สองหลวงปู่ วัดป่าสามัคคีธรรม อำเภอเมือง ร้อยเอ็ด รศ.ดร.ปฐม เรียบเรียงโดย ภัทรา นิคมานนท์

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๑)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๒)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๓)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๔)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๕)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม
พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม

๗๔ หลวงปู่พ้นวิบาก

ในช่วงหลังๆ นี้หลวงปู่ท่านเพลากิจนิมนต์ลงไปเยอะ พวกลูกศิษย์ลูกหาก็อยากให้เป็นอย่างนั้น เพราะหลวงปู่มีอายุถึง ๘๕ ปีแล้ว แม้ร่างกายท่านดูแกร่ง สุขภาพดี ผิวพรรณผ่องใส แต่พวกเราก็ไม่อยากให้ท่านเดินทางมาก รวมทั้งไม่อยากให้ท่านต้องรับภาระมาก

เรื่องการต่อต้านโจมตีหลวงปู่ก็ดูจะหายไป “ใบปลิวคอมพิวเตอร์” ก็หายไป ผมไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับเรื่องราวโดยตรง เพียงได้รับข่าวว่า ทางท่านเจ้าคณะภาค ท่านได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวน บอกว่าหลวงปู่ท่านไม่มีความผิด และรอการแต่งตั้งให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวันตามเดิม

ทางด้านคู่กรณีก็ได้รับการลงโทษตามสมควรแก่เหตุที่ตนมีส่วน เป็นใครบ้างผมไม่ทราบ และไม่ต้องการที่จะทราบ เพียงแค่ดีใจที่เรื่องร้อนๆ ร้ายๆ สงบลง

ผมยังเสียดายอยู่นิดหนึ่ง ที่มือคอมพิวเตอร์ท่านนั้นไม่ได้ทำหน้าที่ของท่านให้ตลอด ท่านส่งใบปลิวโจมตีหลวงปู่ทั่วประเทศ แต่พอเรื่องจบลงท่านไม่ยอมส่งใบปลิวไปชี้แจงแก้ข่าวให้ แต่พวกเราก็ไม่ได้ผูกใจเจ็บอะไร ต่างอโหสิกรรมให้แก่กันและกันไปก็แล้วกัน

ผมไม่รู้จักพวกท่านเหล่านั้น แต่พวกท่านเหล่านั้นต้องรู้จักผม ถ้าพบกันขอให้ทักทาย และร่วมมือทันสร้างบุญสร้างกุศล ทะนุบำรุงศาสนาให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

ทางด้านหลวงปู่ท่านก็ไม่ได้สนใจที่จะชี้แจงแก้ข่าวแต่ประการใด ท่านย้ำเสมอว่า

“สุทธิ อสุทธิ ปจฺจตฺตํ เราจะบริสุทธิ์หรือไม่ รู้แก่ใจเราเอง ใครจะเข้าใจถูกหรือผู้ดีไม่ได้ช่วยรับประกันความบริสุทธิ์ของเราได้ ”

อีกอย่าง ผมขอยืนยันว่า หลวงปู่เพ็ง ท่านไม่สนใจว่าจะมีคนมากราบท่านหรือไม่ก็ตาม ท่านยังมั่นคงกับคำพูดของท่านว่า “ธรรมะไม่ต้องเชิญชวน ไม่ต้องง้อใคร ใครมีบุญ ใครสนใจ ก็เข้ามารักษาเอาเอง มาภาวนาเอาเอง แล้วจะได้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวเอง”

หมายเหตุ ในคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธรรมยุต) ที่ ๕/๒๕๔๔ เรื่อง ให้พระสังฆาธิการกลับดำรงตำแหน่ง สั่งว่า :-

“จึงให้พระครูสิริหรรษา๓บาล (เพ็ง พุทฺธธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัน ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด กลับดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัน ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕

ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๑๙ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔

ลงนามโดยเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธรรมยุต)

๗๕ สร้างวัดขึ้นใหม่อีกสองแห่ง

กุฏิหลวงที่วัดป่าสามัคคีธรรม

แม้หลวงปู่จะผ่านพ้นเรื่องร้ายๆ ไปแล้ว รอคำสั่งแต่งตั้งให้กลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัน และญาติโยมกลุ่มที่ศรัทธาหลวงปู่จะนิมนต์ให้ท่านกลับไปที่เดิมก็ตาม แต่ท่านก็มิได้ตอบรับหรือปฏิเสธ

ขณะเดียวกันก็มีผู้บริจาคที่ดินขอให้ท่านสร้างวัดให้เป็นวัดสายปฏิบัติ หรือวัดป่า ได้ยินว่ามีถึง ๔ แห่ง แต่ท่านรับไว้เพียง ๒ แห่ง เพราะกำลังพระ-เณรมีไม่พอ

ในปี ๒๕๔๓ เป็นต้นมาหลวงปู่จึงดูแลอยู่ ๓ วัด คือ

  1. วัดอรุณวิเวกธรรมาราม (วัดป่าบ้านแจ้ง) ต.จังหาร อ.จังหาร จ ร้อยเอ็ด เป็นวัดเก่า มอบหมายให้ ครูบาวีระโชติ ติสฺสวงฺโส เป็นพระผู้ดูแล มีพระ ๔-๕ องค์
  2. วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนสวรรค์ หมู่ ๑๐ ต.นาโพธิ์ อ.เมืองร้อยเอ็ด เป็นสำนักสงฆ์เพิ่งเริ่มก่อตั้ง หลวงปู่ ท่านมาพักจำพรรษาที่นี่ พร้อมพระลูกวัด ๗-๘ องค์
  3. วัดป่าสิริปุณโณ (วัดป่าบ้านฝาง) ต.บ้านฝาง อ.เกษตรวิสัย จ ร้อยเอ็ด เป็นสำนักสงฆ์เพิ่งเริ่มก่อตั้ง มีพระจำพรรษา ๔-๕ องค์ หลวงปู่มอบหมายให้ ครูบาอมริทร์ กนฺตสีโล เป็นผู้ดูแล

การเริ่มต้นก่อตั้ง วัดป่าสามัคคีธรรม กับ วัดป่าสิริปุณโณดำเนินไปค่อนข้างเร็ว หลวงปู่ ท่านบอกว่า เมื่อตอนอยู่เพชรบูรณ์ ภาวนาอยู่ปีหนึ่งได้แค่กระต๊อบหลังเดียว

กุฏิพระที่วัดป่าสามัคคีธรรม

ผู้นำและประชาชนในหมู่บ้านทั้งสองแห่ง มีความกระตือรือร้นและสนับสนุนการสร้างวัดดีมาก แสดงความเป็นหมู่บ้านคนใจบุญออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด

ที่วัดป่าสามัคคีธรรม มีผู้ถวายบ้านเก่าให้ หลวงปู่จึงได้รื้อถอนนำไม้มาปลูกเป็นกุฏิหลวงปู่ เป็นเรือนไม้หลังเล็กๆ ๒ ชั้นปลูกสร้างศาลาปฏิบัติธรรมอเนกประสงค์ พอได้อาศัย ใช้เป็นที่สวดมนต์ทำวัตร ที่ฉันภัตตาหาร สอนสมาธิภาวนา จัดกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา ตลอดจนเป็นที่พักของญาติโยมที่มาวัด สร้างกุฏิเล็กๆ ๔-๕ หลังพอให้พระได้อาศัย นอกนั้นมีโรงครัว ที่เก็บข้าวของต่างๆ และ ห้องน้ำห้องสุขาสำหรับญาติโยม นับว่าวัดมีความพร้อมพอประมาณในการประกอบศาสนกิจและเป็นที่พักอาศัยสำหรับพระสงฆ์

ส่วนที่วัดป่าสิริปุณโณ เห็นว่ามีศาลาสร้างชั่วคราวอยู่หลังหนึ่ง กับกุฏิชั่วคราวสำหรับพระสงฆ์อยู่ ๒-๓ หลัง สร้างขึ้นในป่าอยู่ห่างๆ กัน ผู้นำและประชาชนที่นี่แสดงความกระตือรือร้นและสนับสนุนการสร้างวัดเป็นอย่างดี หวังว่าจะกลายเป็นวัดวิปัสสนากรรมฐานที่น่าสนใจวัดหนึ่งในอนาคต

แม้หลวงปู่เพ็ง ท่านจะย่างเข้าวัย ๘๕ ปีกว่าก็ตาม ท่านยังเดินทางไปดูแล อบรมพระเณร และฆราวาส ทั้ง ๓ วัด ลูกศิษย์บอกว่า หลวงปู่ท่านยังทำหน้าที่ของท่านอยู่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเช่นเดิม

หลวงปู่กำชับลูกศิษย์เสมอว่า “ให้ดูที่จิต ทำจิตให้นิ่ง”

๗๖ จดหมายจากหลวงปู่

ตั้งแต่หลังปีใหม่ปี พ.ศ.๒๕๔๓ หลวงปู่เพ็ง ไม่ได้มาพักที่บ้านผมเลย เพื่อนบ้านศิษย์หลวงปู่ ตลอดจนผู้ที่ใส่บาตรท่านเป็นประจำถามเรื่อยว่า เมื่อไหร่หลวงปู่จะมา ช่วงนี้หลวงปู่หายไปไหน

ระยะหลังนี้มีลูกศิษย์หลายคนนิมนต์หลวงปู่ไปพักที่บ้าน บางครั้งใครปวารณาไว้ เมื่อท่านจะเข้ากรุงเทพฯ ก็จะติดต่อให้ผู้นั้นไปรับท่านที่สนามบินดอนเมือง รับท่านไปทำธุระตามกิจนิมนต์ แล้วพาไปพักที่บ้าน กลางคืนหลวงปู่จะนำสวดมนต์ แสดงธรรม พานั่งสมาธิภาวนาและสนทนาธรรม ตอนเช้าหลวงปู่จะออกบิณฑบาตทุกวัน จะขาดไปบ้างก็มีกรณีจำเป็นเท่านั้น

พวกเราไม่ได้ติดต่อหลวงปู่ตั้งหลายเดือน เมื่อหลวงปู่ ไปพำนักที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนสวรรค์แล้ว พวกเราก็ได้รับจดหมายจากท่าน

หลวงปู่ เขียนตัวย่อ ดร. ที่นำหน้าผม เป็น ร.ด.เสมอ แม้หน้าซองจดหมายก็เป็น ร.ด.ปฐม

จดหมายเขียนจากวัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนสวรรค์ ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ใจความว่า

“ร.ด.ปฐม อาตมาพร้อมคณะได้มาถึงวัดที่ตั้งใหม่แล้ว มาถึงวันที่ ๓ ก.ค.๔๓ มีพระมาอยู่ก่อน ๕ รูป อุปสมบทใหม่อีก ๕ รูป ส.ณ. ๑ รูป ทางชาวบ้านสร้างกุฏิได้แล้ว ๗ หลัง ห้องน้ำ ๑ หลัง หอฉันเล็กๆ ๑ หลัง พอให้พระเณรนั่งฉันได้

เนื้อที่วัด ๓ ไร่ ทางชาวบ้านมีกำนันเป็นหัวหน้า จะขยายให้อีก๔ ไร่ๆ ละห้าหมื่น และทางอาจารย์เฉลิมชัย และคณะยุวพุทธ กำลังติดต่อขยายให้อีก เขาคงขายให้อีก ๑๒ ไร่ ต่อไปคงได้เป็นวัดที่สมบูรณ์ ทางชาวบ้านมีกำนันเป็นหัวหน้า ก็ต้องการวัด บ้านนี้มี ๒๐ หลังคา ยังไม่มีวัดเลย

ฉะนั้นจึงเขียนจ.ม.. บอกเล่าให้คณะศรัทธาทางกรุงเทพฯ ทราบ ส่วนหอสมุดที่ อ.เทิงใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ยังแต่ตู้หนังสือ และกระเบื้อง ขออนุโมทนาคณะศรัทธาทางกรุงเทพฯ ด้วย ที่พร้อมใจกันไปช่วยให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

ปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม”

๗๗ จดหมายจากหลวงปู่ฉบับที่สอง

เนื่องจากคณะของเราเคยปวารณาไว้ ตั้งแต่คราวทอดกฐินที่วัดป่าศรีไพรวัน ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ว่าปีต่อไปจะนำกฐินมาทอดอีกหารายได้มาถวายวัดป่าศรีไพรวันโดยตรง เนื่องจากในปี ๒๕๔๐ ขอนำเงินไปสร้างห้องสมุดประชาชนที่อำเภอเทิง เพียงราย ให้เสร็จสมบูรณ์ไปก่อน

จากกฐินในครั้งนั้นเอง มีสวนจุดชนวนก่อเหตุให้เกิดการประท้วงขับไล่หลวงปู่ว่า “อมเงินกฐิน” แล้วขยายออกเป็นเหตุการณ์วุ่นวายออกไปหลายปี ตามที่กล่าวแล้ว จากครั้งนั้นเราจึงจำเป็นต้องยกเลิกสัญญาโดยไม่ได้แจ้งให้คู่สัญญารู้ แต่รอให้หลวงปู่ท่านปักหลักอยู่ประจำที่ให้มั่นคงก่อน คณะเราจะกลับมาทอดกฐิน -ผ้าป่าใหม่

เมื่อหลวงปู่ ท่านมีวัดอยู่เป็นหลักฐานแน่นอนแล้ว ท่านจึงส่งข่าวให้รู้ เป็นการบอกกล่าว ว่าทางวัดพร้อมที่จะรับกฐิน-ผ้าป่า ตามที่เราเคยปวารณาไว้

ขออนุญาตคัดลอกจดหมายหลวงปู่ เขียนด้วยลายมือของท่านเอง มาเสนอดังนี้

“จากวัดป่าบ้านโนนสวรรค์ หมู่ ๑๐ ต.นาโพธิ์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด

วันที่ ๒๕ ส.ค.๔๓

ร.ด.ปฐม ด้วยปีนี้หมายกำหนดการจะพาหมู่คณะศรัทธา ชาวกรุง ไปทอดกฐิน-ผ้าป่า ภาคใด จะไปเหนือ-หรืออิสาน-หรือใต้

ถ้าจะไปภาคอิสาน กรุณาเชิญชวนคณะศรัทธาไปเยี่ยมวัดใหม่บ้านโนนสวรรค์ด้วย ไม่ห่างจากร้อยเอ็ดเท่าไร ๑๒ กม เศษๆ พอถึงร้อยเอ็ดแล้วแยกไปทางวาปีปทุม ทิศใต้ของจังหวัด ตามทางวาปีปทุม เห็นป้ายบ้านโนนสวรรค์ ซ้ายมือ แต่เป็นวัดน้อยๆ เพียง ๓ ไร่เท่านั้น ยังเป็นวัดไม่ได้ เป็นที่พักสงฆ์เท่านั้น

แต่ที่มีอยู่แปลงหนึ่ง ติดกับที่พระอาศัยปลูกกุฏิอยู่ ๑๑ หลังเล็กๆ ศาลาฉันก็ ๓ ห้อง ที่ดินประมาณ ๔ งาน เขาต้องการขายอยู่ติดทางทิศตะวันลง

อีกแปลงหนึ่ง ติดกับกุฏิพระอาศัยอยู่ทางทิศใต้ เป็นป่าสมบูรณ์ประมาณ ๑๓ ไร่ ก็ต้องการขายเหมือนกัน ถ้าได้คงเหมาะสมเป็นที่ปฏิบัติเป็นอย่างดี ถ้า ร.ด.และคณะศรัทธาไปพบเข้าก็คงศรัทธา

ฉะนั้น จึงได้เขียนจดหมายมาให้ทราบ แต่ทางศรัทธาชาวบ้านและร้อยเอ็ดก็เตรียมทอดกฐิน แต่ยังไม่ได้กำหนดวัน แต่อยากรู้ทางกรุงเทพฯ ก่อน ถ้าพร้อมกันได้เป็นการดีมากๆ

ฉะนั้นจึงได้เขียน จ.ม.มาถึงศรัทธาทางกรุงเทพฯ ก่อน ขอบอกกำหนดการไปให้ทราบด้วย

ด้วยความมั่นใจ

ปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม

และบอกกล่าวเด็กสามคนที่เอาพระพุทธรูปยืนไปถวาย บอกเขาด้วย เอาขึ้นบนซุ้มประตูเรียบร้อยแล้ว”

หมายเหตุท้ายจดหมายหลวงปู่

๑. คุณเด็กสามคนที่เอาพระพุทธรูปยืนไปถวายที่วัดเทิงเสาหิน โปรดรับทราบด้วย ผมจำไม่ได้ว่าเป็นใครแน่ แค่พอจะนึกออก ขออนุโมทนาสาธุด้วย

๒. ในปีนั้น ผมรับเป็นเจ้าภาพกฐินวัดพระบรมธาตุดอยตุง และวัดอื่นๆ ทางภาคเหนืออีกรวม ๗ วัด มีสมาชิกร่วมเดินทาง ๕ คันรถบัส ประมาณ ๒๐๐ คน จึงไม่ได้มาทอดกฐินที่ร้อยเอ็ด พวกเราขอปวารณาทอดในปีต่อไปครับ

กุฏิหลวงปู่ วัดป่าสามัคคีธรรม

กุฏิพระ วัดป่าสามัคคีธรรม

๗๘ ทอดกฐินซื้อที่ดิน

ในปี พ ศ๒๕๔๔ หลวงปู่เพ็งพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนสวรรค์ หมู่ ๑๐ ต.นาโพธิ์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด

วัดป่าสิริปุณโณ

คณะของเราตั้งใจจะทอดกฐินที่วัดหลวงปู่เพ็งเพื่อช่วยท่านสร้างวัด ตั้งแต่เริ่มเข้าพรรษาผมยังไม่มีโอกาสกราบหลวงปู่เลย ทางวัดก็ไม่มีโทรศัพท์ติดต่อ แม้ลูกศิษย์จะถวายมือถือให้ท่านไว้ใช้ ก็ติดต่อไม่ค่อยได้ บางทีโทรไปก็ได้ยินแต่เสียงฝรั่งผู้หญิงบอกว่าติดต่อไม่ได้ก็เลยไม่สะดวก

กลางพรรษา ระหว่างเดือนสิงหาคม ๒๕๔๔ น้องเขยและน้องสาวที่อยู่สุรินทร์ได้เข้าไปพักที่บ้าน ขากลับจึงขอให้เขาขับรถไปส่งที่ร้อยเอ็ด เพื่อไปกราบหลวงปู่และกราบเรียนท่านเรื่องทอดกฐินตอนออกพรรษา ไปถึงร้อยเอ็ดใกล้ค่ำ สอบถามดูได้ความว่า หลวงปู่ อยู่ที่วัดป่าสิริปุณโณ อำเภอเกษตรวิสัย จึงขอให้ คุณวิไลจิต สุ่มมาตย์ ขับรถนำทางไป

พวกเราไปถึงวัดที่หลวงปู่พักอยู่ คือ วัดป่าสิริปุณโณ (วัดป่าบ้านฝาง) เวลากว่า ๒ ทุ่ม วัดอยู่ในป่าข้างท้ายหมู่บ้าน ไม่มีถนนเข้าไปต้องขับรถวกวนไปตามซอยทางเดิน คล้ายๆ รอยทางเกวียนในอดีต พอได้ยินเสียงรถเข้าไป ท่านจึงรีบหยุดเทศน์ พวกเราต้องกราบขอโทษที่มาทำให้การเทศน์ และการภาวนาของพระต้องจบลงกลางคัน

เมื่อทราบว่าหลวงปู่ท่านดูแล ๓ วัดในขณะนั้นได้แก่ วัดอรุณวิเวกธรรมาราม (วัดป่าบ้านแจ้ง) ที่อำเภอจังหาร ซึ่งเป็นวัดเก่า ท่านครูบาวีระโชติ ติสฺสวงฺโส รักษาการเจ้าอาวาส กับวัดก่อตั้งใหม่อีก ๒ วัด ได้แก่วัดที่หลวงปู่พักจำพรรษาอยู่ คือ วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนสวรรค์ต.นาโพธิ์ อ.เมืองร้อยเอ็ด กับ วัดป่าสิริปุณโณ ที่บ้านฝาง อ.เกษตรวิสัยที่เรากำลังอยู่ในขณะนั้น มีครูบาอัมรินทร์ กนฺตสีโล รักษาการเจ้าอาวาสอยู่

ทราบจากหลวงปู่ว่า ทั้ง ๓ วัดยังไม่มีใครจองกฐิน พวกเราก็ปวารณาขอเป็นเจ้าภาพกฐินทั้ง ๓ วัด และตกลงทอดวันเสาร์-อาทิตย์ที่ ๑๓-๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๔ หลังออกพรรษา หลวงปู่ท่านอนุโมทนาสาธุแล้วพวกเราก็กราบลา

เท่าที่ได้รู้จักใกล้ชิดหลวงปู่เพ็งมาสิบกว่าปี ยังไม่เคยพบหรือเคยได้ยินว่าท่านขอร้องใคร บอกใครให้ไปช่วยทอดกฐิน-ทอดผ้าป่าที่วัดของท่านเลย ได้ยินแต่ชวนให้ไปภาวนา จะมีกฐินหรือผ้าป่าหรือไม่ท่านบอกว่าไม่เคยสนใจเลย มีก็ดี ไม่มีก็ได้ (ท่านจะบอกเฉพาะคนที่เคยปวารณาไว้เท่านั้น)

๗๙ อยากให้พวกมันไปดูวัดก่อน

หลังกราบลาหลวงปู่เพ็ง ที่วัดป่าสิริปุณโณ (วัดป่าบ้านฝาง) แล้วพวกเราก็ขับรถฝ่าความมืด ไปข้างที่อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ บ้านของน้องเขย – น้องสาวซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร

ตื่นตอนเช้ามืด นึกถึงภาพที่หลวงปู่ กับพระครูบาอมรินทร์ เดินมาส่งเรา คำพูดของหลวงปู่ที่สั่งพระยังชัดเจนว่า

“บอกผู้ใหญ่บ้านให้เตรียมที่จอดรถด้วยเน้อ”

ภาพต้นไม้ ๔-๕ ต้น ขนาดลำต้นคืบกว่า อยู่ตรงที่หลวงปู่มายืนส่งเราก็ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน นึกกลัวไปว่าต้นใดต้นหนึ่ง หรือทุกต้นที่อยู่ตรงนั้นอาจจะต้องถูกตัดออกเพื่อให้รถจอดตอนงานกฐิน หลวงปู่และวัดไม่มีโทรศัพท์ที่จะติดต่อได้ จึงขอให้น้องเขยขับรถไปส่งอีกครั้ง เพื่อบอกไม่ให้เขาตัดต้นไม้

ทั้งน้องเขย และน้องสาวบอกว่า เขาก็อยากไปดูวัดที่จะทอดกฐินในตอนกลางวันเหมือนกัน อยากสำรวจเส้นทางด้วย

พวกเรารีบออกเดินทางแต่เช้า หวังให้ทันเวลาฉันภัตตาหาร ไม่เช่นนั้นอาจไม่พบหลวงปู่

พวกเราชินถนนชินทางมากขึ้น ไปถึงวัดป่าสิริปุณโณก่อนแปดโมงเช้า แต่หลวงปู่ไปฉันที่วัดป่าสามัคคีธรรม อยู่ห่างออกไปไม่น้อยกว่า๕๐ กม.

พระท่านออกมายืนตรงที่ส่งเราเมื่อคืนนี้ท่านบอกว่า

“หลวงปู่สั่งให้ตามไปที่วัดป่าสามัคคีธรรม ท่านว่าอยากให้พวกดอกเตอร์มันไปดูวัดก่อน”

๘๐ มาเห็นวัดป่าสามัคคีธรรมครั้งแรก

ศาลาอเนกประสงค์วัดป่าสามัคคีธรรม

พวกเรากราบพระ แล้วรีบติดตามหลวงปู่ไปวัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนสวรรค์ ทันที หลวงปู่นั่งพักที่กุฏิ ท่านทักพวกเราว่า

“ไปเห็นวัดบ้านฝางแล้วเนาะ ไม่ต้องห่วงพระเขาไม่ตัดต้นไม้หรอก อาตมาบอกไว้แล้ว”

ผมไม่แปลกใจเลยที่ท่านรู้หมด ว่าเราทำอะไร คิดอย่างไร

แล้วหลวงปู่เดินนำ พาพวกเราไปดูศาลาโรงฉัน ซึ่งใช้เป็นศาลาอเนกประสงค์ ใช้เป็นที่สวดมนต์ ฟังธรรม อบรมสมาธิภาวนา ที่ฉันภัตตาหาร ที่จัดงานบุญต่างๆ ตลอดจนที่พักนอนของญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรม ตลอดจนต้อนรับคณะกฐิน – ผ้าป่าเหมือนคณะของเรา

ศาลาเป็นเหมือนเพิ่งขยายข้างออกไปทุกด้าน พื้นเทปูนอยู่ระดับพื้นดิน ดูดีหน่อยตรงพื้นปูพรมเต็มพื้นที่ ฝาผนังทุกด้านดูเหมือนจะก่อปูนสูงขึ้นไปประมาณระดับอก ส่วนบนโล่งหมด ดูเป็นหน้าต่างบ้านใหญ่บ้านเดียวยาวตลอดไปทุกด้านของศาลา มีด้านหลังพระพุทธรูปเท่านั้นที่มีปูนก่อขึ้นไปจรดหลังคา ดูอากาศถ่ายเทได้ดีอย่างยิ่ง

ผมหมายตาไว้ว่า ช่วงทอดกฐินจะพาคณะประมาณ ๑๒๐ คนมาพักที่นี่ ต้องหาทางให้มีที่นอนให้ได้

ด้านหลังศาลาเป็นป่าโปร่งที่มีเจ้าของแล้ว เนื้อที่ ๑๒ ไร่ครึ่ง เจ้าของบอกขายราคา ๑ ล้านบาท ซึ่งแพงกว่าที่ดินละแวกนั้นตั้งเท่าตัว พวกเราอยากได้ที่ผืนนั้นถวายวัด คิดในใจว่าจะใช้เป็นเขตสังฆาวาส คือเป็นส่วนของพระ จะปลูกกุฏิเล็กๆ สำหรับพระสงฆ์แต่ละองค์และมีทางเดินจงกรมที่กุฏิแต่ละหลัง ตามแบบของวัดป่าที่พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านวางรูปแบบไว้

คณะของเรากราบลาหลวงปู่ แล้วไปกราบหลวงปู่ศรี มหาวีโร ศิษย์อาวุโสของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) อำเภอศรีสมเด็จ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดป่าสามัคคีธรรมของหลวงปู่เพ็งแค่๕ – ๖ กิโลเมตรเท่านั้น

คณะเรากราบเรียนขอโอกาสมาทอดผ้าป่าที่วัดป่ากุง และวัดผาน้ำทิพย์ สาขาของวัดป่ากุงในช่วงที่เราพาคณะมาทอดกฐินด้วย แล้วกราบลาหลวงปู่ศรี เดินทางกลับ

ผมนั่งรถโดยสารประจำทางกลับกรุงเทพฯ กำหนดการทอดกฐิน – ผ้าป่าถูกร่างขึ้นในใจเรียบร้อยว่า ทอดกฐินวัดหลวงปู่เพ็ง ๓ วัด และทอดผ้าป่าอีก ๔ วัด รวม ๗ วัด พักค้างคืนที่วัดป่าสามัคคีธรรมของหลวงปู่เพ็ง ๑ คืน

๘๑ ทอดกฐินจัดซื้อที่ดิน

การทอดกฐินของคณะเราหลังออกพรรษาในปีนั้นกำหนดเอาวันเสาร์ที่ ๑๓ อาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๔ มีการทอดกฐินสามัคคี ๓ วัด และทอดผ้าป่า ๔ วัด ในจังหวัดร้อยเอ็ด มุกดาหาร และนครพนมมีสมาชิกร่วมเดินทางจากกรุงเทพฯ ๑๒๐ คน เดินทางด้วยรถบัส ๓ คัน

คณะของเรา (ซึ่งไม่มีชื่อคณะ) มาเริ่มต้นที่วัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด ตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐ น. เพื่อรอใส่บาตรหลวงปู่ศรี มหาวีโร (อายุ ๘๕ ปี) หลวงปู่เพ็ง ท่านให้ทางโรงครัวของวัดจัดอาหารใส่ถุงสำหรับใส่บาตรมาให้พวกเรา คณะของเราทุกคนจึงมีอาหารตักบาตรหลวงปู่ศรีสมใจปรารถนา พวกเรารับประทานอาหารที่วัด ทอดผ้าป่า รับศีลรับพรและรับการประพรมน้ำมนต์จากหลวงปู่ศรี แล้วกราบลาออกเดินทาง

วัดที่สอง คือวัดอรุณวิเวกธรรมาราม (วัดป่าบ้านแจ้ง) อำเภอจังหาร มีครูบาวีระโชติ รักษาการเจ้าอาวาส หลวงปู่เพ็งไปรอต้อนรับพวกเราที่นั่น แต่ท่านต้องรีบไปเพราะติดกิจนิมนต์ เหมือนกับทางวัดจะรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า ได้เตรียมเสื่อกก กับหมอนขิด แจกคณะเราคนละชุด กราบลาทางวัดเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่ารถบัสของเราคันหนึ่งติดหล่มภายในวัด ทำให้อีก ๒ คันก็พลอยออกไม่ได้ด้วย ต้องใช้เวลาแก้ไขอยู่ร่วม ๔ ชั่วโมง จึงได้รถยกมายกรถของเราให้เคลื่อนที่ออกไปได้เมื่อบ่ายสามโมงกว่าๆ

สมาชิกในคณะเราต้องเหน็ดเหนื่อยไปตามๆ กัน โดยเฉพาะบรรดาสุภาพสตรีท่านใช้แรงปูเสื่อและวางหมอนที่ได้รับแจก นอนส่งกำลังใจช่วยให้พวกที่ขุดดินและเข็นรถ แถมยังต้องเหนื่อยกับการออกแรงกินส้มตำที่ทางแม่ครัวนำมาเลี้ยงด้วย น่าเห็นใจมาก

คณะของเราต้องพลาดการทอดกฐินวัดที่ ๓ คือวัดป่าสิริปุณโณ (บ้านฝาง) อ. เกษตรวิสัย จึงขอนิมนต์พระให้ไปรับกฐินที่วัดป่าสามัคคีธรรมในตอนเช้าวันที่ ๑๔ ตุลาคม (ทางพี่น้องประชาชนที่บ้านฝาง ขอทอดกฐินกันเองในวันลอยกระทง คณะของเราจึงเปลี่ยนเป็นผ้าป่าแทน ทางวัดจึงได้ทั้งกฐิน ทั้งผ้าป่าในปีนั้น ทุกคนต่างโมทนาสาธุ)

เย็นวันที่ ๑๓ ตุลาคม จึงทำได้เพียงไปทอดผ้าป่าที่วัดสระกุดน้ำใส อำเภอพนมไพร ซึ่งไปถึงร่วม ๕ โมงเย็น แล้วกลับมานอนที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนสวรรค์ ทางวัดจัดอาหารเย็นรอรับรวมทั้งคณะวัดป่าสิริปุณโณได้ขนอาหารที่เตรียมให้พวกเราตั้งแต่มื้อเที่ยงมาสมทบอีกทำให้อาหารเหลือเฟือ

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ คณะของเรา ๑๒๐ คน กางกลดอัดแน่นกันอยู่ภายในศาลาโรงฉัน อากาศกลางคืนค่อนข้างเย็นเกือบหนาว ทุกคนนอนในกลด แถมได้ผ้าห่มใหม่เอี่ยมที่ท่านเจ้าคุณพระธรรมนายก วัดบวรนิเวศฯ รักษาการเลขาฯ สมเด็จพระสังฆราช ฝากมาถวายวัดหลวงปู่เพ็ง ประมาณ ๔๐๐ ผืนด้วย ทุกคนจึงค่อนข้างหลับสบาย

ที่ผมสงสารที่สุดก็บรรดาผีทั้งหลาย ต่างงุนงงไม่รู้จะหลอกใครเพราะกางกลดติดกันจนแน่น

พิธีทอดกฐินที่ วัดเทิงเสาหิน จ.เชียงราย

รุ่งขึ้นเช้าวันที่ ๑๕ ตุลาคม หลังจากทอดกฐินแล้วก็เดินทางไปกราบพระมหาเจดีย์ ที่วัดผาน้ำทิพย์ อ. หนองพอก ทอดผ้าป่า เสร็จแล้วไปกราบเจดีย์หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ที่วัดภูจ้อก้อ อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร

งานบุญของคณะเราเที่ยวนี้ต้องล่าช้ากว่ากำหนดไปมากเพราะแต่ละแห่ง สมาชิกต่างอิ่มบุญกันจนเพียบแปร้

เนื่องจากสมาชิกแต่ละคน แบกบุญมาเยอะ เลยต้องใช้เวลานานกำหนดว่าเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ เวลา ๖ ทุ่ม ก็กลายเป็น ๖ โมงเช้า สมกับแรงอธิษฐานของสมาชิกบางคนที่ไม่อยากให้ถึงดึก เพราะไม่กล้านั่งแท็กซี่ ขอเป็นถึงตอนเช้าก็แล้วกัน

ที่ผมเขียนเรื่องนี้ เพราะต้องการให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบบรรยากาศของการทอดกฐิน-ผ้าป่าของคณะของเราซึ่งมีจุดเริ่มครั้งแรกในปี ๒๕๓๕ จากการทอดกฐินที่วัดเทิงเสาหินของหลวงปู่เพ็ง แล้วคณะนี้ก็เกาะกลุ่มกันขยายวงกว้างออกไป จนมีกิจกรรมทอดกฐิน-ผ้าป่าปีละ ๔ ครั้งในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และออกพรรษา

กิจกรรมทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มมาจาก หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม จึงได้นำมาบันทึกไว้

สำหรับการทอดกฐินซื้อที่ดินถวายวัดป่าสามัคคีธรรม ในปีนั้นได้ยอดเงินบริจาคประมาณ ๕ แสน ๕ หมื่นบาท มีผู้บริจาคตามมาภายหลังผ่านมาทางผมอีก ๒ แสนบาท รวมยอดรับเบ็ดเสร็จก็๗ แสนกว่าบาท

ราคาที่ดิน ๑๒ ไร่ ที่ต้องการซื้อนั้นครั้งแรกเจ้าของเรียกราคา๑ ล้านบาท ต่อมาส่งข่าวมาว่าลดให้เหลือ ๗ แสนบาท สรุปว่ายอดเงินที่ได้ก็พร้อมที่จะซื้อที่ดินแล้ว

แต่ด้วยเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด หลวงปู่เกิดอาพาธ และมรณภาพอย่างกะทันหัน การเจรจาซื้อที่ดินจึงต้องเลื่อนออกไปเป็นภายหลังจัดการเรื่องศพหลวงปู่เสร็จก่อน

๘๒ หลวงปู่เข้ากรุงเทพฯ เป็นครั้งสุดท้าย

คุณย่ารำเพย นิคมานนท์

โยมอุปัฏฐากของหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม

หลังจากการทอดกฐินที่วัดของหลวงปู่เมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๔ แล้ว พวกเราไม่ได้ติดต่อกับหลวงปู่จนสิ้นปี

ทราบแต่เพียงว่าหลวงปู่จะเข้ากรุงเทพฯ เพราะมีกิจนิมนต์ช่วงหลังปีใหม่ และไม่แน่ใจว่าท่านจะมาพักที่บ้านของเรา (บ้านนิคมานนท์) หรือไม่ เราจึงไม่ได้เตรียมบ้านไว้รับหลวงปู่

พวกเรา (รศ.ดร.ปฐม-รศ. ภัทรา นิคมานนท์) มีแผนว่าจะไม่อยู่บ้านช่วงหลังปีใหม่ เนื่องจากน้องสาวของอาจารย์ภัทรา คือ สุมาลี ลาร์เซ่น จะมาจากอเมริกา มาพักอยู่เมืองไทย ๑ เดือน เราจะเป็นเจ้าภาพพาเที่ยวและตระเวนไปกราบพระตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

เนื่องจากเราทั้งสองคนได้เกษียณตัวเองจากราชการมาเป็นราษฎรเต็มขั้นแล้ว เราจึงมีเวลาเป็นของตัวเอง เมื่อตอนเราไปอเมริกาเมื่อ ๔-๕ ปีก่อน สุมาลี และสามี (ริชาร์ด ลาร์เซ่น) ได้ขับรถพาเราตระเวนเที่ยวอเมริกา แคนาดา นานถึง ๒๒ วัน ลูกชายเราก็ไปอาศัยอยู่เรียนหนังสือกับเขาด้วย เขามาเมืองไทยเที่ยวนี้จึงสามารถให้เวลาเขาได้ ๑ เดือนเต็มๆ จะไปไหนก็ได้ ไม่ว่าในหรือนอกประเทศ

น้องสาวมาถึงเมืองไทยวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๔ พักอยู่กรุงเทพฯ แค่ ๑ วัน โครงกาพาเที่ยวของเราจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม เป็นต้นไป เป็นการเที่ยวข้ามปีเลยทีเดียว เราขับรถตระเวนขึ้นเหนือ กราบพระตั้งแต่อยุธยา-อ่างทอง-สิงห์บุรี ขึ้นไปเรื่อย ถึงเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน-เชียงราย แล้ววกกลับกรุงเทพฯ ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๕ มาพักเอาแรงช่วงหนึ่งก่อน

เรากลับถึงบ้านยังไม่ถึง ๒ ชั่วโมง หลวงปู่เพ็งก็มาถึงบ้านโดยที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว หลวงปู่ลงเครื่องบินที่ดอนเมืองพร้อมพระติดตาม ๑ องค์ มีนายตำรวจท่านหนึ่งถวายค่าแท็กซี่ และให้มาส่งที่บ้าน

หลวงปู่ มีกิจนิมนต์ที่วัดบรมนิวาสวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๕ ต่อจากนั้นก็มีที่สัตหีบ จังหวัดชลบุรี แลที่วัดป่าเขาน้อย ของหลวงปู่จันทา ถาวโร อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร

การเที่ยวของพวกเราจึงขอพักไว้ก่อน แต่เรามีกำหนดจะไปเที่ยวคุนหมิง ประเทศจีน วันที่ ๑๗-๒๐ มกราคม โดยไปขึ้นเครื่องบินที่เชียงใหม่ พร้อมกับญาติๆ รวม ๙ คน

หลวงปู่ พักที่บ้านของเราอยู่ ๗ วัน ดูท่านยังแข็งแรง กระฉับกระเฉง อารมณ์ดี มีเมตตาสูง ตามปกติ ไม่มีอะไรบอกเหตุว่าท่านจะรีบจากพวกเราไปเลย ต่างกับทุกครั้งตรงที่ เที่ยวนี้ท่านเคี่ยวเข็ญพวกเราในการนั่งสมาธิภาวนาเป็นพิเศษ พานั่งทุกเช้าก่อนฉันภัตตาหาร และทุกเย็นหลังการสวดมนต์ทำวัตรแล้ว ธรรมะของท่านเด็ดขาด ชัดเจนมาก หลังการนั่งสมาธิ ท่านก็เล่าเรื่องการเดินธุดงค์ เรื่องครูบาอาจารย์ของท่านตลอดจนตอบปัญหาที่มีผู้ยกขึ้นมาถาม

พวกเรานั่งภาวนาเพลิน ฟังหลวงปู่เพลิน เลยไม่ได้บันทึกคำสอนเหล่านั้นไว้เลย ต่างก็บ่นเสียดายกันมาก

เช้าวันอังคารที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๕ หลังพานั่งสมาธิ หลวงปู่ฉันภัตตาหารเสร็จ พวกเราทานอาหารเสร็จ หลวงปู่ก็ประพรมน้ำมนต์ให้ศีลให้พรพวกเรา บางคนก็ขอให้ท่านเป่าหัวให้ตามธรรมเนียม แล้วคุณจอม ศิษย์ของท่านคนหนึ่งก็นำรถเข้ามารับหลวงปู่ เพื่อเดินทางไปตามกิจนิมนต์ที่วัดแห่งหนึ่งในอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จากนั้นเห็นว่าคุณจอม ได้นิมนต์ท่านไปพักโปรดญาติโยมที่บ้าน

ทางฝ่ายผม-ภรรยา และน้องสาว ก็ออกทัวร์รอบที่ ๒ ไปกราบพระที่พิจิตร-อุตรดิตถ์-แพร่ ไปกราบหลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล ที่วัดอนาลโย ดอยบุษราคัม จังหวัดพะเยา หลวงพ่อให้เราไปกราบที่กุฏิ ให้ธรรมะและความรู้ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งแก่พวกเรา

พวกเรากลับจากคุนหมิง มาถึงเชียงใหม่ วันจันทร์ที่ ๒๐ มกราคม นอนเชียงใหม่ ๑ คืน แล้วขับรถตระเวนไปกราบพระที่ลำพูน สำรวจเส้นทางที่จะพาคณะไปทำบุญในช่วงวันมาฆบูชาด้วย ลงมากราบพระที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง วัดพระธาตุสุโทน จ.แพร่ แวะนอนที่อุตรดิตถ์ กลับถึงบ้านที่กรุงเทพฯ ตอนเย็นวันอังคารที่ ๒๒ มกราคม

พอถึงบ้าน คุณย่า (คุณย่ารำเพย นิคมานนท์) รีบรายงานด้วยความตื่นเต้นว่า หลวงปู่เข้าโรงพยาบาล แต่คุณย่าก็บอกไม่ได้ว่าโรงพยาบาลไหน และใครโทรมาบอก? เราทำได้เพียงอย่างเดียวคือรอ

กลางคืน คุณสุรสิทธิ์ เวียงอินทร์ ลูกชายคนเล็กของหลวงปู่โทรมาส่งข่าวว่าหลวงปู่อยู่ที่ห้อง ๒๘๐๘ ชั้น ๘ โรงพยาบาลรามคำแหง ผมรีบติดต่อแจ้งข่าวให้คุณเทียมศักดิ์ ด่านพงษ์เจริญ ทราบ แล้วนัดกันไปเยี่ยมหลวงปู่ในตอนเช้า

๘๓ หลวงปู่อาพาธ เข้าโรงพยาบาลด่วน

หลวงปู่ จัดเป็นผู้สูงอายุที่สุขภาพดี แม้อายุสังขารของท่านย่างเข้าปีที่ ๘๘ แล้วก็ตาม ท่านยังดูแข็งแรง แข็งแกร่ง กระฉับกระเฉง ผิวพรรณผ่องใส ยืนตรง นั่งตรง อารมณ์ดี ออกเดินบิณฑบาตโปรดญาติโยมทุกเช้า พาลูกศิษย์นั่งภาวนาจนดึกดื่น นั่งภาวนาหรือเดินจงกรมทั้งคืนก็ยังสบายมาก

ท่านเคยบอกว่าจะอยู่ถึง ๙๔ ปี ทุกคนจึงวางใจ การที่หลวงปู่อยู่ดีๆ และเข้าโรงพยาบาลอย่างปัจจุบันทันด่วนจึงไม่มีใครคาดคิด

กิจนิมนต์ของหลวงปู่ในช่วงปีใหม่ มีดังนี้

๒๘ ธ ค. ๔๔ – ร่วมงานทำบุญปีใหม่ที่กระทรวงศึกษาธิการ

๓๐ ธ.ค. ๔๔ – เดินทางกลับร้อยเอ็ด

๘ ม ค. ๔๕ – เดินทางเข้ากรุงเทพฯ พักที่บ้านนิคมานนท์ เขตบึงกุ่ม แสดงธรรมโปรดญาติโยมทุกวัน

๑๓ ม.ค. ๔๕ – กิจนิมนต์ที่วัดบรมนิวาส เชิงสะพานยศเส เขตปทุมวัน

๑๕ ม ค. ๔๕ – ไปพักที่บ้าน โยมวารุณี อยู่แถวเสาชิงช้า

๑๗ ม ค. ๔๕ – ร่วมสวดมนต์ฉลองโบสถ์ (สร้างเสร็จใน ๙๙ วัน) อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

– ไปพักที่บ้านคุณจอม อยู่ถนนนวมินทร์ (สุขาภิบาล๑) เขตบึงกุ่ม

๒๑ ม ค. ๔๕ – กิจนิมนต์ที่วัดป่าเขาน้อย อ.วังทรายพูน จ พิจิตร ทำบุญวันเกิดหลวงปู่จันทา ถาวโร

ผมมาทราบภายหลังว่า หลวงปู่ท่านอาพาธเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๕ ขณะที่กำลังเทศน์โปรดญาติโยมที่มานั่งภาวนาหลวงปู่เทศน์ไม่นานก็หยุดแล้วขอไปพักผ่อน

หลวงปู่มีอาการเวียนศีรษะ อาเจียน และปวดศีรษะอย่างแรง ไม่มีแรงจะลุกเดินไหว คุณจอมและเพื่อนๆ จึงพาท่านส่งโรงพยาบาลรามคำแหง เพราะอยู่ใกล้ที่สุด

เมื่อผมทราบเรื่อง ก็นัดคุณเทียมศักดิ์ ด่านพงษ์เจริญ ไปเยี่ยม หลวงปู่ ในตอนเช้าวันพุธที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๕ หมอให้หลวงปู่นอนเฉยๆ ห้ามลุก ดูท่านมีสติดี ผิวพรรณผ่องใส พูดได้-สอนธรรมะพวกเราได้ แต่ที่ปากของท่านแสดงให้เห็นว่ามีอาการชา-ลิ้นแข็ง และท่านบอกว่าปวดศีรษะมาก และบอกว่า

“ภาวนาดูแล้ว จิตมันบอกว่า ไม่ต้องผ่า และอยู่ไปได้ถึงอายุ ๙๗”

ทำให้ทุกคนเบาใจ

หมอเอาฟิล์มเอ็กซเรย์ ภาพศีรษะของหลวงปู่มาให้ดู เห็นว่ากระดูกคอด้านหลังของท่านมีอาการคด เห็นได้อย่างชัดเจน ด้านข้างกระดูกคอเห็นจุดขาวๆ เล็กๆ ๒ จุด อยู่จุดละข้างของก้านสมอง หมออธิบายว่าเป็นรอยเลือดที่เกิดจากเส้นโลหิตฝอย ตรงบริเวณก้านสมองแตก ต้องรีบถวายการผ่าตัด และแนะนำให้เคลื่อนย้ายหลวงปู่ไปรักษาที่สถาบันประสาทวิทยา โรงพยาบาลประสาทพญาไท ซึ่งเชี่ยวชาญทางนี้โดยเฉพาะ

(หลวงปู่ท่านบอกว่าเป็นกรรมเก่าจากชาติก่อน ที่ท่านเคยมีฝูงวัว วัวตัวหนึ่งมันดื้อ ท่านเลยเอาไม้หวดไปที่หลังคอของมัน มันจึงตามมาทวงหนี้อย่างไม่ยอมลดละ

ทราบจากคุณฐาปวีร์ ที่เพื่อนๆ เรียกว่า ตะวัน บอกว่าหลวงปู่เคยสั่งไว้ให้ช่วยจัดการซื้อวัวหนุ่ม สีขาว จากโรงฆ่า มาปล่อยให้ด้วย)

พวกน้องๆ ก็อยากให้ย้ายจากโรงพยาบาลเอกชนเพราะค่ารักษาแพงมาก เสียค่ารักษา ๓ วันเป็นเงินสามหมื่นสองพันกว่าบาท ทางคุณจอมกับเพื่อน และลูกชายของหลวงปู่ช่วยกันลงขันถวายเป็นค่ารักษา – ขออนุโมทนาด้วย

โชคดีที่ภรรยาของคุณเทียมศักดิ์ คือ คุณสมทรง ด่านพงษ์เจริญ เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร อยู่ที่โรงพยาบาลประสาทพญาไท จึงได้ช่วยอำนวยความสะดวก ให้ได้เคลื่อนย้าย หลวงปู่ ไปที่สถาบันประสาทวิทยา ก่อนเที่ยงวันพุธที่ ๒๒ มกราคม โดยที่โรงพยาบาลรามคำแหง จัดรถและพยาบาลไปส่ง

๘๔ หลวงปู่มรณภาพ

ใครเล่าจะคาดคิด ว่าหลวงปู่จะทิ้งพวกเราไปเร็วเช่นนี้ หลวงปู่ท่านดุและตักเตือนพวกเราว่า

“ให้เร่งภาวนาอย่าประมาท ความตายมันไม่มีสัญญาณเตือน หรือนิมิตหมายบอกเราให้รู้ล่วงหน้า คนแก่ก็ตาย คนหนุ่มก็ตายได้ทั้งนั้น การปฏิบัติธรรมจึงไม่ต้องอ้างเมื่อนั้นเมื่อนี้ ทำให้มากๆ ทำให้บ่อยๆ แล้วจะรู้จะเห็นเอง”

ทางโรงพยาบาลได้ให้การดูแลรักษาหลวงปู่ อย่างเอาใจใส่ คุณหมอบอกว่าจำเป็นต้องผ่าตัดโดยรีบด่วน แต่จะต้องตรวจให้ละเอียดด้วยเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กก่อน จึงจะบอกได้ว่าจะผ่าตัดตรงไหน อาจผ่าตัดในคืนนั้นก็ได้ ขอให้พวกเราพูดให้หลวงปู่เข้าใจ จะได้ให้ความร่วมมือกับหมอในการรักษา

หลวงปู่ บอกว่า

“ภาวนาดูแน่ชัดแล้ว จิตมันบอกว่า ไม่ต้องผ่าตัด แต่ถ้าหมอจะผ่าจริงๆ อาตมาก็ไม่ว่าอะไร เชิญตามสบาย”

แล้วท่านก็ยังบอกเป็นนัยๆ พอจับใจความได้ว่า

“มันไม่ยอมถอย กำลังต่อรองกันอยู่ มันค่อยๆ อ่อน ทำท่าจะยอมแล้ว ” (ท่านหมายถึงวัวที่เป็นเจ้ากรรมนายเวร)

ผลการตรวจส่องด้วยเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไม่พบจุดที่เส้นเลือดแตก จึงยังผ่าตัดไม่ได้ แต่ยังไว้ใจไม่ได้ เพราะหลวงปู่อายุมากแล้ว เส้นเลือดเปราะ อาจจะแตกอีกเมื่อไรก็ได้

ทางคุณหมอจึงแนะนำให้หลวงปู่นอนนิ่งๆ รอดูอาการสัก ๒ สัปดาห์ แล้วจึงจะตรวจซ้ำครั้งที่ ๒ ได้

หลวงปู่อาการค่อยดีขึ้น ท่านมีสติดีอยู่ตลอดเวลา แต่มีสายยางฟอกอากาศสอดเข้าไปในหลอดลม หลวงปู่จึงพูดไม่ได้ ได้แต่ขยับมือทำท่าคล้ายบอกว่า

“ไม่ต้องห่วง อาตมาตัดหมดแล้ว ดีก็ไม่เอา ชั่วก็ไม่เอา”

พวกเราพยายามไม่บอกให้ใครรู้ เพราะไม่อยากให้คนไปเยี่ยมมาก เนื่องจากหลวงปู่อยู่ในสภาพที่ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่าย เฉพาะเชื้อโรคในโรงพยาบาล ก็มีมากอยู่แล้ว แถมดื้อยาด้วย จึงไม่อยากให้ใครต่อใครนำเชื้อจากข้างนอกไปเพิ่มอีก เอาไว้หลวงปู่ปลอดภัยแล้วค่อยไปกราบเยี่ยม

ครูบาวีระโชติ กับ คุณนักรบ ศิษย์ของหลวงปู่รับหน้าที่อยู่โยงเฝ้าอาการหลวงปู่ทุกวัน คนอื่นๆ แวะเวียนกันมาเยี่ยม ผมกับคุณเทียมศักดิ์ ไปเยี่ยมทุกบ่ายในสัปดาห์แรก พอสัปดาห์ที่สองก็ไปบ้างหยุดบ้าง เพราะหลวงปู่แสดงอาการว่าค่อยยังชั่วขึ้น

ตอนหลังปรากฏว่าหลวงปู่ทรุดลง รู้สึกเหนื่อยอ่อน หายใจหอบ หมอพบว่าปอดของท่านมีอาการติดเชื้อ ได้ย้ายเข้าไปรักษาในห้องไอ.ซี.ยู ให้การดูแลเป็นพิเศษ

ถึงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ หลวงปู่ทรุดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงช่วงเย็นวันที่ ๑๓ ดูหลวงปู่หายใจหอบมาก หมออนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้ครั้งละ ๒ คน ผมกับเทียมศักดิ์ ยืนอยู่คนละข้างเตียง หลวงปู่ท่านหายใจหอบ แต่ผิวพรรณท่านสดใสมาก

หลวงปู่ยกมือขึ้นประนม ทำปากหมุบหมิบคล้ายบริกรรมคาถาหรือสวดมนต์ แล้วกราบ ๓ ครั้ง เอามือลงไว้บนหน้าอก เทียมศักดิ์กับผมได้แต่ยกมือประณมขึ้นตาม เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้ดีไปกว่านั้น

ตอนหลัง คุณฐาปวีร์ หรือ ตะวัน บอกว่า เธอโผล่เข้าประตูไปเห็นเราสองคนยืนประณมมืออยู่คนละข้างเตียง หลวงปู่ยกผ้าไตรคล้ายกับกำลังจะถวายใคร

พอพวกเราออกมา คุณตะวัน ก็เข้าไป ถามหลวงปู่ว่ามีพระมาใช่ไหม? หลวงปู่แสดงอาการตอบรับว่าใช่ และได้ความว่า ท่านหลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระบาทเขารวก จ.พิจิตร มาเยี่ยม

พวกเราเข้าไปครั้งที่สอง เข้าไปล้อมเตียงหลวงปู่อยู่ ๔-๕ คน พยาบาลก็ไม่ห้าม (เพราะพวกเราดื้อ)

หลวงปู่ทำท่าขอกระดาษ ปากกา เทียมศักดิ์ได้ฉีกกระดาษเปล่าที่อยู่แผ่นสุดท้ายในแฟ้มคนไข้ส่งให้ ใช้แฟ้มคนไข้เป็นที่รองเขียน หลวงปู่รับปากกาเขียนขยุกขยิกลงไป มีอยู่กลุ่มหนึ่งอ่านได้ชัดเจนว่า “เผาศพ” เทียมศักดิ์ ตกใจแต่ไม่กล้าบอกพวกน้องๆ ที่อยู่ที่นั่น กลัวพวกเราจะเสียกำลังใจ

พอ ๖ โมงเย็น หมดเวลาเยี่ยม พวกเราก็กราบลาหลวงปู่ ออกมานอกห้อง มีลูกศิษย์-ลูกหลานไปเฝ้าหลวงปู่เย็นนั้นสัก ๑๐ คนเห็นจะได้ แต่ละคนพอจะคาดเดาอะไรได้บ้าง แต่ละคนนิ่งเงียบ ยังรอนอกห้องไม่ยอมกลับ ผมได้บอกกับคณะว่า ขอทุกคนอย่าได้เศร้าโศกหรือหมดกำลังใจ เราสวดมนต์ และหลวงปู่ก็พร่ำสอนว่า การเจ็บการตายเป็นของธรรมดา ไม่ใช่สิ่งผิดปกติแต่อย่างใด และท่านยังพูดเสมอว่า

“พวกขี้แย น้ำตาไหล ซะ ซะ พระพุทธองค์ไม่ขนไปพระนิพพานด้วยหรอก ”

ขอให้ทุกคนแยกย้ายกันกลับบ้าน ฝากเบอร์โทรศัพท์ไว้กับพยาบาล แล้วพวกเราต่างก็แยกย้ายกันกลับ ผมย้ำกับหมู่พวกเราว่า

“ทำใจให้สบาย อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดาหลวงปู่กำลังแสดงให้เราดูแล้ว ขอให้กลับไปพิจารณาให้เห็นชัด”

๘๕ ถวายการสรงน้ำ

และนิมนต์หลวงปู่กลับร้อยเอ็ด

พิธีถวายน้ำสรงที่ โรงพยาบาลประสาท พญาไท

หลวงปู่เพ็ง เป็นพระกรรมฐานที่มีจิตใจเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว พูดตรง ทำจริง ท่านเคยส่งว่า

“อย่าเอาศพอาตมาไว้เป็นเครื่องมือหากินเด้อ ให้เผาภายใน ๓ วัน ไม่ต้องมีพิธีรีตอง ไม่ต้องนิมนต์พระสวดให้อาตมา ถ้าสวดก็สวดให้พวกสูที่ยังอยู่ก็แล้วกัน”

วันพุธที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ เวลาใกล้ๆ จะถึง ๔ ทุ่ม ผมได้รับโทรศัพท์จากคุณสุรสิทธิ์ เวียงอินทร์ ลูกชายของหลวงปู่บอกว่าทางโรงพยาบาลแจ้งมาว่า หลวงปู่ ได้มรณภาพแล้ว น่าจะเป็นเวลา ๒๑. ๒๕ น. แล้วพวกเราก็ส่งข่าวถึงกัน และนัดแนะไปพบกันที่โรงพยาบาลในตอนเช้า

ผมโทรศัพท์ไปหาคุณเทียมศักดิ์-คุณสมทรง ทั้งสองคนจะไปประสานงานที่โรงพยาบาลแต่เช้า ส่วนผมขอจัดการธุระบางอย่างก่อนจะไปถึงโรงพยาบาลประมาณ ๙ ๐๐ น

เช้าวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ คณะศิษย์ไปพร้อมกันที่ห้องเก็บศพของโรงพยาบาล มีพระสงฆ์ ๒ องค์ คือ ครูบาวีระโชติ กับ ครูบาสมัคร นอกนั้นเป็นฆราวาสจำนวน ๑๐ กว่าคน

มีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลคอยช่วยเหลือ ๓ คน คนที่ ๑ ขอให้ไปติดต่อขอใบมรณบัตรที่อำเภอ คนที่สอง ช่วยจัดการติดต่อรถ และโลง คนที่สาม จัดการเรื่องการกราบขอขมาและถวายน้ำสรงหลวงปู่

พวกเราช่วยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลฉีดยากันเน่า ห่มจีวรถวายหลวงปู่ จัดให้ท่านนอนบนเตียงเข็น จัดตั้งกระถางธูปเทียน ทำพิธีขอขมา แล้วจัดถวายน้ำสรงในบริเวณห้องเก็บศพนั้นเอง ถวายน้ำสรงเสร็จทุกคนแล้วก็อัญเชิญท่านลงในโลงที่ทางโรงพยาบาลสั่งมาให้

ประมาณ ๑๑.๐๐ น. เมื่อรถพร้อม พิธีสรงน้ำเสร็จ ได้รับใบมรณบัตรจากอำเภอเรียบร้อย ก็เคลื่อนรถนิมนต์หลวงปู่กลับจังหวัดร้อยเอ็ด มีครูบาวีระโชติ ครูบาสมัคร และคุณนักรบ ศิษย์อุปัฏฐากหลวงปู่ ติดตามไปกับรถ ส่วนเทียมศักดิ์กับผม ขับรถตามไปทีหลัง เพราะต้องจัดการธุระบางอย่างก่อน

ในใบมรณบัตรระบุว่า หลวงปู่มรณภาพเนื่องจาก “ปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนอากาศ”

เป็นอันว่าท่านพระครูสิริหรรษาภิบาล (หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม) ได้ละสังขารที่สถาบันประสาทวิทยา โรงพยาบาลประสาทพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เมื่อวันพุธที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๕ เวลา ๒๑.๒๕ น.

สิริรวมอายุได้ ๘๗ ปี ๖ เดือน ๗ วัน พรรษา ๓๖ (เฉพาะการบวชครั้งที่สอง)

๘๖ กำหนดการบำเพ็ญกุศล

พิธีถวายน้ำสรงที่ วัดป่าสามัคคีธรรม

หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ท่านไม่ใช่พระดัง ท่านพูดให้ฟังว่า

“พระก็เหมือนกบ ตัวไหนร้องเสียงดังคนยิ่งชอบ เพราะตัวมันโต เรียกให้คนไปเสาะหา แล้วก็ตายเพราะเสียงร้องของมัน”หลวงปู่ถือคติดังกล่าวเป็นเครื่องเตือนใจท่านเสมอ และพูดด้วยความมั่นใจว่า

“ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ต้องง้อ ไม่ต้องอ้อนวอน ใครมีบุญใครสนใจ ก็เข้ามาศึกษา มาปฏิบัติเอาเอง”

เนื่องจากหลวงปู่ท่านเป็นพระง่ายๆ ไม่เน้นพิธีรีตอง การจัดงานศพของท่านจึงต้องให้เรียบง่าย และให้เร็วที่สุด ให้เผาภายใน ๓ วัน

ศพของหลวงปู่เดินทางไปถึงวัดป่าสามัคคีธรรมในวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. อัญเชิญไปตั้งบำเพ็ญกุศลในศาลาอเนกประสงค์ของวัด

ผมกับคุณเทียมศักดิ์ ขับรถตามไป ถึงวัดประมาณ ๒๐.๐๐ น. ภายหลังศพหลวงปู่ราว ๑ ชั่วโมง เห็นญาติโยมรออยู่ ๒๐ กว่าคน มีท่านพระครูญาณรัตนากร เจ้าอาวาสวัดป่าทรงธรรม และเจ้าคณะอำเภอโพนทอง ท่านมานั่งเป็นประธาน และเป็นแม่งานให้ ทำให้พวกเรามีหลักยึดเกาะในการจัดงานศพหลวงปู่ ทำให้ไม่รู้สึกเคว้งคว้าง

นอกจากนี้ยังมี อาจารย์มหาอดิศักดิ์ จันทกำจร จากยุวพุทธิกสมาคม จังหวัดร้อยเอ็ด มาช่วยอย่างแข็งขันอีกแรงหนึ่ง การดำเนินงานจัดการศพของหลวงปู่ ก็ดูมั่นใจขึ้น

พวกเราจัดการประชุมปรึกษากันถึงการดำเนินงานบำเพ็ญกุศลศพหลวงปู่ทันที โดยมีท่านพระครูญาณรัตนากร เป็นประธานในที่นั้น ผู้ร่วมประชุม ได้แก่ ครูบาวีระโชติ ครูบาสมัคร พระลูกศิษย์ของหลวงปู่ ตัวแทนญาติโยมจากวัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนสวรรค์ ตัวแทนญาติโยมจากวัดป่าสิริปุณโณ บ้านฝาง มีคุณสำราญ-คุณวิไลจิต สุ่มมาตย์ ตัวแทนลูกหลานหลวงปู่ มีผมกับเทียมศักดิ์เป็นตัวแทนศิษย์จากกรุงเทพฯ และอาจารย์มหาอดิศักดิ์ จากยุวพุทธิกสมาคมร้อยเอ็ด

พวกเรายึดคำสั่งของหลวงปู่ว่าให้เผา ไม่ให้เก็บร่างท่านไว้ แต่เผาใน ๓ วันนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะกะทันหันเกินไป น่าจะเป็นวันเสาร์อาทิตย์ เพื่อให้ศิษย์ที่อยู่ไกลๆ มาร่วมได้

เมื่อดูตามปฏิทินแล้ววันเสาร์ที่ ๙ – อาทิตย์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๕ น่าจะเป็นช่วงที่เร็วที่สุดพอจะทำได้ จัดเร็วกว่านั้นพวกเราติดธุระ ท่านพระครูต้องเดินทางไปจังหวัดอื่น ส่วนผมเองติดภาระต้องพาพรรคพวกไปทอดผ้าป่าสร้างเจดีย์หลวงปู่มั่น ที่วัดป่าพระอาจารย์มั่น บ้านแม่กอยอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

พวกเราตกลงกันจะขอพระราชทานเพลิงด้วย โดยท่านพระครูญาณรัตนากร เป็นผู้ดำเนินเรื่องไปจากจังหวัดร้อยเอ็ด แล้วให้ผมไปจัดการต่อที่กรมการศาสนา และแน่นอนเรื่องการจัดทำหนังสือที่ระลึกก็มอบให้ผมรับเอาไป

เราตกลงเรื่องกำหนดการ ดังนี้

๑๔ กุมภาพันธ์ – ๙ มีนาคม ๒๕๔๕ : ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดป่าสามัคคีธรรม เวลา ๑๙.๐๐ น. สวดพระอภิธรรมทุกคืน

พุธที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ : ทำบุญครบรอบ ๗ วัน

เสาร์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๕ : พิธีพระราชทานเพลิงศพ

อาทิตย์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๕ : พิธีเก็บและฉลองอัฐิ

เมื่อทราบกำหนดการที่ชัดเจน และแบ่งหน้าที่กันแล้วก็แยกย้ายกันไปพักผ่อนหลับนอน

๘๗ หลวงปู่สั่งอะไรและเตรียมอะไร

เกี่ยวกับงานศพของท่าน

แน่นอน หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ท่านจากพวกเราไป ย่อมเป็นที่ห่วงหาอาลัยแก่บรรดาศิษย์ และผู้ที่เคารพศรัทธาในตัวท่าน

ท่านเน้นย้ำให้พิจารณาทุกอย่างให้เป็นธรรมะให้เห็นว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องนำมาเศร้าโศกเสียใจ

หลวงปู่พูดเสมอว่า “คนขี้แย ร้องไห้น้ำตาไหล ซะ ซะ พระพุทธเจ้าท่านไม่เอาไปนิพพานดอก”

เรื่องจัดการศพ ท่านพูดบ่อยว่าให้เผาให้เร็ว ใน ๓ วันทำง่ายๆ ไม่ต้องมีพิธีรีตอง ไม่ต้องสวดให้ท่าน ถ้าจะสวดให้สวดเพื่อเตือนคนอยู่ ที่สำคัญไม่ให้เก็บร่างท่านไว้ เพื่อเป็นเครื่องมือหาเงิน หรือเพื่อดึงคนเข้าวัด

ท่านบอกว่า แม้สรีระของพระพุทธองค์ท่านยังให้เผาภายใน ๗ วัน ร่างกายที่ไม่เน่าไม่เปื่อยจะมีหรือ? ธรรมชาติของร่างกายต้องผุพังสลายไป มีดวงจิตเท่านั้นเป็นตัวอมตะ คือไม่รู้จักตาย

หลวงปู่ เตรียมโลงศพของท่านไว้เรียบร้อยแล้ว ถ้าท่านสิ้นลงให้ไปถามเอาที่วัดเทิงเสาหิน ผมได้โทรศัพท์สอบถามไป ท่านหลวงปู่พรหม ได้ให้ญาติโยมนำมาให้ตั้งแต่เช้าวันศุกร์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ทันการสวดพระอภิธรรมในวันแรก

หลวงปู่ ได้เตรียมที่ดินไว้หนึ่งแปลง เนื้อที่ประมาณ ๔ งาน ไว้ตรงมุมด้านขวามือทางเข้าวัด เกลี่ยที่ไว้เรียบร้อยสำหรับเป็นที่เผาศพของท่าน

ในบริเวณเดียวกัน ได้เริ่มก่อสร้างศาลาชั้นเดียว ๑ หลังเทพื้น และขึ้นโครงหลังคาไว้แล้ว เตรียมไว้ให้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์บริขารของท่าน และบอกฝากคุณฐาปวีร์ หรือ คุณตะวัน ว่าให้ทาสีเขียว

หลวงปู่บอกไว้กับครูบาวีระโชติ ว่าท่านต้องการทำบุญด้วยผ้าไตรจีวรจำนวน ๑๐๐ ชุด พวกเราได้เตรียมจัดถวายในวันพระราชทานเพลิงศพของท่านไว้เรียบร้อยแล้ว

เรื่องที่ดินเนื้อที่ ๑๒ ไร่เศษ ที่อยู่ติดด้านหลังศาลาท่านต้องการให้ซื้อไว้ เพื่อทำเป็นเขตที่พักสำหรับพระสงฆ์ หลังจัดการพระราชทานเพลิงศพท่านแล้วคงจะได้เริ่มดำเนินการ

อีกเรื่องที่เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนโดยตรง คือ การทำหนังสือที่ระลึกของท่าน อยากให้มีประวัติของ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ บิดาของท่าน ไว้ด้านหน้าด้วย

คณะศิษย์คงจะได้ร่วมกันจัดทำทุกอย่างตามเจตจำนงของหลวงปู่ให้ลุล่วงด้วยดี

ที่หลวงปู่เน้นย้ำที่สุดคือให้ภาวนาอย่างจริงจัง อย่ามัวทำเล่นๆ เพราะ “ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล พวกสูก็ยังไม่เอาจริง พระพุทธเจ้าชวนไปพระนิพพานก็ยังไม่อยากไป มาชาตินี้ยังทำเล่นๆ อีกก็ตามใจ อาตมาไม่รอแล้ว”

๘๘ พลังจิตเปี่ยมด้วยเมตตา

ในตอนนี้เป็นตอนสุดท้าย ซึ่งจะปิดต้นฉบับมอบให้โรงพิมพ์ ไม่สามารถยืดเวลาไปได้อีกแม้แต่วันเดียว ไม่เช่นนั้นจะไม่ทันแจกในวันพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ วันเสาร์ที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๕

ด้วยความบังเอิญ และความลงตัวอย่างพอดี เช่นเดียวกับเมื่อตอนที่ผู้เขียนทำหนังสือพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่แว่น ธนปาโล วัดถ้ำพระสบาย อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เมื่อ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๒

คราวนั้นหลวงปู่แว่น ธนปาโล มรณภาพเมื่ออายุ ๘๘ปี หนังสือที่ระลึกของท่านก็จบตอนที่ ๘๘ พอดี

และครั้งนี้ เขียนด้วยผู้เขียนคนเดียวกัน ทำหนังสือที่ระลึกหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม วัดป่าสามัคคีธรรม อำเภอเมือง ร้อยเอ็ด ท่านมรณภาพเมื่ออายุย่างเข้าปีที่ ๘๘ ประวัติของท่านก็จบในตอนที่ ๘๘ เช่นเดียวกัน

ก่อนปิดต้นฉบับ ผู้เขียนได้รับข้อเขียนจาก คุณวัฒนา ฉั่วชื่นสุข ลูกศิษย์คนหนึ่งของหลวงปู่ได้เขียนถึงหลวงปู่ ในชื่อเรื่องว่า “พลังจิตที่เปี่ยมด้วยเมตตา” จึงได้นำมาลงเป็นตอนที่ ๘๘ ตอนสุดท้ายเกี่ยวกับประวัติของหลวงปู่ ดังนี้

พลังจิตที่เปี่ยมด้วยเมตตา

ของหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม อายุ ๘๘ ปี

ใครจะคาดเดาได้ว่า ชีวิตที่แสนจะประเสริฐด้วยเมตตาของหลวงปู่ ได้ดับมอดไปแล้วจริง ในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

การละสังขารของหลวงปู่ ผู้เปรียบเสมือนผู้นำทางจิตวิญญาณของผู้ใฝ่ธรรม ได้จากพวกเราไปอย่างถาวร เหลือไว้แต่คำสอน เพื่อนำไปปฏิบัติจนหลุดพ้นภพชาติให้ได้ สมกับที่หลวงปู่พูดไว้เสมอๆ ว่า “จะมัวชักช้าอยู่ทำไม เวลาไม่คอยท่า มุ่งปฏิบัติให้มันจริงจังก็เข้าสู่กระแสธรรมได้ทุกๆ คน”

ดิฉัน นางวัฒนา ฉั่วชื่นสุข ได้เข้าปฏิบัติกับหลวงปู่ ด้วยความบังเอิญ เนื่องจากได้รับคำสั่งจากหัวหน้าศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ให้ไปดำเนินการขออนุญาตใช้สถานที่ ที่เป็นอาคารที่ทำการของสภาตำบลเก่าหลังหนึ่ง ที่ว่างอยูเพื่อใช้ในการสอนวิชาชีพระยะสั้น และเป็นที่พบกลุ่มของนักศึกษาสายสามัญ ชั้น ม.ต้น และ ม.ปลาย

การเข้าไปครั้งแรกที่วัดเทิงเสาหิน ดิฉันรู้สึกกลัวสถานที่มาก เนื่องจากมีอาณาเขตกว้างถึง ๘๐ ไร่ ถึงแม้จะห่างจากตลาดอำภอเทิงไม่มากนัก ถ้าจะพูดว่าวัดเทิงเสาหินเป็นป่าที่เกิดอยู่เกือบกลางเมืองก็น่าจะได้

ในบริเวณวัด มีโบราณสถานเก่าแก่ อายุเป็นพันปีและวิหารที่ก่อสร้างใหม่ มีพระพุทธรูปปางสิงห์หนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (หน้าตักกว้าง ๙ เมตร สูง ๙ เมตร) หลวงปู่บอกว่าในการสร้างนั้น มีญาติโยมส่งเงินมาทำบุญจากคนทั่วโลกก็น่าจะพูดได้ ดิฉันมองดูด้วยความรู้สึกศรัทธาเป็นอย่างมาก

ในวันที่เข้าไปกราบขออนุญาต หลวงปู่ ก็เมตตาอนุญาตให้ใช้สถานที่ได้ตามต้องการ และบอกให้จัดการปฏิบัติธรรมไปด้วย เพราะที่วัดนี้มีพระนักปฏิบัติอันเยอะ เพียงแต่ประชาชนในเขตนี้ไม่ค่อยสนใจและไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยราชการ

การดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนฯ จึงเกิดขึ้น และ หลวงปู่ได้มอบหมายให้ แม่ชีเพชรัตน์ เข้ามาช่วยเหลืออำนวยความสะดวก เมื่อเริ่มดำเนินการก็ได้ขยายพื้นที่ออกมาอีก ใช้ใต้ถุนศาลาที่ครอบพระประธานนั้น โดยปรับปรุงให้เป็นสถานที่สอนนักศึกษา กศน. ทำการเปิดสอนนักเรียนทั่วทุกตำบล หมู่บ้านในเขตอำเภอเทิง พร้อมกับการจัดปฏิบัติธรรม โดยมีหลวงปู่เป็นประธาน เปิดเป็น “ศูนย์ปฏิบัติธรรมหลวงปู่เพ็ง พุทธธัมโม” ขึ้นในเดือนมิถุนายน ๒๕๓๙ นับจำนวนผู้เข้าอบรม เฉพาะอบรมธรรมได้ ๖๒๘ คน

พอย่างเข้าเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๙ ซึ่งดิฉันจำได้ว่าเป็นวันที่๗ ก.ค. ๓๙ ดิฉันมีอากาปวดศีรษะอย่างมากทางซีกซ้าย ปวดมากจนมือเล็บเขียวไปหมด

สาเหตุมาจากไปงานศพเพื่อนครูที่ตายด้วยโรคเอดส์ ดิฉันไปถึงบ้านศพก็ได้กลิ่นสาบของศพมาก แต่คนอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณนั้นไม่มีใครได้กลิ่น ดิฉันก็อดทน เพราะคิดว่าคงอยู่ไม่นาน

แต่อาการที่ทำให้ตกใจคือ ตาข้างขวาเริ่มพร่ามัวมองเห็นอะไรไม่ชัด จึงขอให้สามี คือ อ.วิเชียร ช่วยขับรถไปหาหลวงปู่ที่วัด แต่หลวงปู่มีกิจนิมนต์ที่ กทม. ก็เลยไปที่กุฏิแม่ชี ที่อยู่ด้านหลังวัด ขอยาแก้ปวดทานไป ๒ ครั้งๆ ละ ๒ เม็ด อาการทุเลา จึงไปพบแพทย์ประจำตัว แพทย์ลงความเห็นว่าดิฉันทำงานมาก คิดมาก เส้นเลือดในสมองตีบ เลือดไปเลี้ยงไม่พอ จึงฉีดยานอนหลับให้ กลับมานอนพักที่บ้าน

๘ ก.ค. ๓๙ ดิฉันรู้สึกมึนงงมาก แต่ก็ลุกจะไปทำงาน จึงได้รับประทานอาหาร พอกลืนอาหารก็รู้สึกว่าไม่สามารถกลืนลงได้ ข้าวติดอยู่ที่คอต้องค่อยๆ ตั้งสติ ล้วงเอาอาหารออกมา และรู้สึกถึงความผิดปกติครั้งใหญ่ และมีอาการชาที่ปลายนิ้วมือด้านขวา ลามถึงแขน ใบหน้าหยิกไม่เจ็บ ดิฉันรู้ได้ทันทีว่าต้องรีบปฐมพยาบาล ด้วยการใช้ยาหม่องนวดถูไปตามจุดที่คิดว่าสามารถคลายเส้นนั้นได้

๙ ก.ค. ๓๙ ดิฉันปรึกษากับสามีว่า ระหว่างโรงพยาบาล กับวัดหลวงปู่ จะไปทางไหน ในที่สุดก็ไปวัด กราบเรียนหลวงปู่ถึงอากาป่วยของดิฉัน ซึ่งในเวลานั้นดิฉันไม่ได้ทานอาหาร ๓ วันแล้ว แม้แต่น้ำก็ต้องค่อยๆ จิบ เหมือนนกกระจิบกระจอก

หลวงปู่ ได้จัดที่พักบริเวณใต้ถุนวิหารให้อยู่พักกับแม่ชี ๑ รูป ดิฉันได้พักอยู่ที่วัด ๒๐ วันอาการทรุดลงไปมาก เนื่องจากไม่ได้กินอาหาร ต้องทุกข์ทรมานกับเวทนา คือ หิว และปวดหัว และคอยนวดร่างกายทางซีกขวาไว้ เพราะกลัวเป็นอัมพาต

จนในที่สุด สามี คือ อ.วิเชียร ต้องลาบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ขอละเว้นชีวิต และดิฉันก็ต้องถูกหามส่งโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงราย ในวันที่สามีบวชพอดี ช่วงนั้น หลวงปู่ ติดกิจนิมนต์ที่ กทม. นานหลายวัน

ในขณะที่ความรู้สึกเริ่มเลือนลางแทบจำอะไรไม่ได้ เพราะร่างกายเพลียมาก แม่ชีได้กรุณาอนุเคราะห์โทรบอกหลวงปู่ ท่านรีบบินกลับมาเยี่ยมดิฉันที่โรงพยาบาลเชียงรายทันที ดิฉันจำได้ว่าเป็นเวลา ๑ ทุ่มตรง

ความเมตตาของหลวงปู่ที่มีต่อศิษย์อย่างดิฉันหาที่เปรียบไม่ได้ ท่านบอกให้ดิฉันดื่มน้ำ ๑ แก้วเต็มๆ ดิฉันไม่กล้าดื่ม เพราะกลัวติดคอ หลวงปู่ก็บอกว่าให้ดื่มเสีย จะได้บรรเทาอาการป่วย ดิฉันตัดสินใจดื่มพรวดเดียวเกลี้ยง เป็นที่แปลกใจแก่ทุกคนที่อยู่ที่นั้นว่าทำไมดิฉันจึงดื่มได้ ทั้งๆ ที่ดื่มและกินอะไรไม่ได้นานถึง ๒๐ วัน

ดิฉันนอนรักษาตัวอยู่ ๗ วัน หมอก็เพียงแต่ให้น้ำเกลือ และในวันที่ ๗ นั้น หมอ ๒ ท่าน ตัดสินใจจะสอดกล้องส่องเข้าไปดูในลำคอเพราะสงสัยว่าจะมีก้อนเนื้อร้าย ต้องวางยาสลบด้วย แต่แพทย์ก็ยังไม่กล้าทำ เพราะร่างกายดิฉันอ่อนเพลียมาก การวางยาสลบจะเป็นอันตราย

ดิฉันนอนฟังหมออธิบาย และคิดว่าในเมื่อเราจะตายขอไปตายที่วัดกับหลวงปู่ดีกว่า จึงตัดสินใจขอออกจากโรงพยาบาลในขณะที่ร่างกายแย่ที่สุด ได้เหมารถกลับไปอำเภอเทิง

เมื่อถึงวัด ตรงขึ้นไปกราบหลวงปู่ บอกว่าทนไม่ไหวแล้ว ขอมาตายที่วัดหลวงปู่ดีกว่า หลวงปู่ก็เมตตาจัดให้ไปพักที่เดิม ให้แม่ชีมาคอยดูแล

หลวงปู่สอนให้ทำสมาธิภาวนา ดูลมหายใจเข้าออก ตรวจดูกายของตนเป็นที่ตั้ง เพียงแต่ให้คิดว่า คนเราตราบใดที่มีลมหายใจเข้า-ออก ถือว่าชีวิตนั้นยังดำเนินอยู่ ถ้าไม่มีลมเข้า-ออกในกายนี้ก็คือตาย ท่านจึงให้ตามดูลมหายใจไปเรื่อยๆ

ดิฉันเล่ามาถึงตรงนี้ คนทั่วไปคิดว่าง่ายมากแค่หายใจเข้า-ออกทำไมจะทำไม่ได้ แต่ขณะนั้นดิฉันป่วยหนักจวนจะตายก็ว่าได้ มันทำไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

ดิฉันได้สร้างกรรมมามาก เคยฆ่างูใหญ่ตาย เคยทำงานในสถานที่รับทำแท้ง (ถูกกฎหมาย) และทำมามาก วิบากกรรมจึงตามสนองอย่างรุนแรง รวมเวลาป่วยหนักถึง ๘ เดือน

แต่ด้วยอำนาจเมตตาจากหลวงปู่ ท่านเห็นคุณค่าแก่ทุกชีวิตที่มาขอพึ่งบารมี ท่านแผ่พลังแห่งความเมตตาช่วยรักษา ช่วยชุบชีวิตคืนให้แก่ติฉัน ทั้งๆ ที่ดิฉันนอนหมดลมหายใจไปแล้ว ให้ได้มีชีวิตกลับคืนมาอย่างไม่น่าเชื่อ

ธรรมะเพียงสั้นๆ ที่ท่านให้นำไปพิจารณาในสมาธิทำให้เห็นตามความเป็นจริง และรอดพ้นจากความตายได้อย่างน่าอัศจรรย์

หลังจากดิฉันหายจากการเจ็บป่วยแล้ว ดิฉันได้ติดตามหลวงปู่มาตลอด ตามมาอยู่ปฏิบัติภาวนาที่วัดของท่านที่ร้อยเอ็ด จนถึงทุกวันนี้

ธรรมะและเมตตาจากหลวงปู่ นำพาชีวิตของดิฉันและครอบครัวให้หลุดพ้นจากวิบากกรรมมาได้ หลวงปู่สอนให้ “ละชอบ-ละชัง” ทำใจให้เป็นกลาง หมั่นฝึกสมาธิภาวนา ให้รู้จักพิจารณาอารมณ์ของตนเอง ว่าอารมณ์ใดเป็นอารมณ์เจ้าเรือน ก็ให้จี้พิจารณาละออกให้ได้ จนพบความสว่างของดวงจิต ก็จะสามารถก้าวไปสู่มรรค ผล นิพพานตามกำลังของตนเอง

ณ เวลานี้ ไม่มีร่างกายสังขารของหลวงปู่ที่จะคอยสอนคอยเตือน แต่ธรรมะที่หลวงปู่เคยสอนลูกหลานไว้ จะเป็นพลังชีวิตทางดำเนินชีวิตของศิษย์ไปตลอด ขอกราบแทบเท้าระลึกถึงหลวงปู่ตลอดไป

ด้วยความรักและศรัทธาสุดหัวใจ

จากศิษย์-วัฒนา ฉั่วชื่นสุข

เป็นอันว่าประวัติและปฏิปทาของ หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม จบลงในตอนที่ ๘๘ เท่าอายุของหลวงปู่พอดี

หากมีข้อผิดพลาดพลั้งไปประการใด ผู้เขียนกราบเท้าขอขมาต่อหลวงปู่ กราบขอขมาผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน และขอขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านด้วยใจเคารพ

ปฐม นิคมานนท์

๖ มีนาคม ๒๕๔๕

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น