สังเขปประวัติพระภิกษุสงฆ์

ครูบาชุ่ม โพธิโก

ครูบาชุ่ม โพธิโกครูบาชุ่ม โพธิโก

ประวัติหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก พระอริยเจ้าแห่งหริภุญชัย วัดชัยมงคล (วังมุย) ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน จากหนังสือ วังมุย แห่งหริภุญชัย จัดทำโดย สมาชิกฯ อินทราพงษ์

หลวงปู่ ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก  แห่ง วัดชัยมงคล (วังมุย) ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน

นามเดิมชื่อ ชุ่ม ปลาวิน ถือกำเนิดเมื่อวันอังคารที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๒ เมื่อวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ เหนือ ปีกุน ณ บ้านวังมุย จ.ลำพูน บิดาชื่อ นายมูล ปลาวิน มารดาชื่อ นางลุน ปลาวิน มีพี่น้องสืบสายโลหิตเดียวกัน ๖ คน เป็นผู้หญิง ๓ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕

บุตรคนหัวปี ชื่อ พี่เอ้ย (หญิง) บุตรคนรองชื่อ พี่เป็ง (หญิง) บุตรคนที่สามชื่อ พี่โต (ชาย) บุตรคนที่สี่ ชื่อพี่แก้ว (หญิง) บุตรคนที่ห้า คือ ครูบาชุ่ม และบุตรคนสุดท้องชื่อ นายเปา (ชาย)

บิดาของท่านเป็นคนบ้านวังมุยโดยกำเนิด ส่วนมารดาเป็นคนบ้านขุนคง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ (ระยะทางระหว่างบ้านวังมุยกับบ้านขุนคงอยู่ห่างกันประมาณ ๑๐ กิโลเมตร) บุพการีทั้ง ๒ ท่าน เป็นคนเชื้อสาย ละ บางคนออกเสียง วะ หรือ ลัวะ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก

เมื่อเด็กชายชุ่ม ปลาวิน เจริญวัยขึ้นก็พอจะทำงานช่วยเหลือบิดา มารดา เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการงานได้บ้าง เช่น ช่วยทำงานในทุ่งนา เท่าที่สามารถจะทำได้ทุกอย่าง เลิกงานก็ทำสวนทำไร่ ถางหญ้าพรวนดิน และงานบ้าน อย่างการปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือน เพื่อเป็นการทดแทนพระคุณของบิดา มารดาเท่าที่กำลังความสามารถของตนจะทำได้

ครั้นเมื่อเติบโตได้พอสมควรได้ไปศึกษาเล่าเรียนการอ่าน การเขียนหนังสือเบื้องต้น กับเจ้าอาวาสวัดศรีสองเมือง (เมื่อรกร้างไป ชาวบ้านจึงเรียกวันว่า วัดห่าง) พร้อมกับเรียนวิธีการอ่านบทสวดมนต์ และธรรมะเบื้องต้นจากท่านเจ้าอาวาส การที่เด็กชายชุ่ม ปลาวิน เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย และมีความจำดีเลิศ จึงเป็นที่รักใคร่ของท่านเจ้าอาวาส และบรรดาภิกษุสามเณรในวัดเป็นอันมาก และการที่ได้คลุกคลีกับท่านเจ้าอาวาสบ่อยๆ นี่เอง ทำให้ท่านค่อยๆ ซึมซับหลักพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีละเล็กทีละน้อยจนสามารถอ่านหนังสือ และสวดมนต์ได้อย่างคล่องแคล่ว เริ่มมีใจรักเคารพในสมณเพศมากขึ้นทุกวัน

ทดแทนบุญคุณพ่อแม่

ครั้งหนึ่งเด็กชายชุ่ม ปลาวิน ได้ยินอุ๊ย (คนเฒ่า คนแก่) แถวบ้านพูดว่า ใครอยากทดแทนบุญคุณพ่อ แม่ ต้องบวชให้กับท่าน ใครบวชเป็นเณร ถือว่าเป็นการบวชทดแทนบุญคุณให้แม่ แต่ถ้าใครบวชเป็นตุ๊เจ้า (พระภิกษุ) ถือว่าเป็นการบวชทดแทนบุญคุณทั้งพ่อและแม่ เพราะการบวชเป็นพระ จะได้อานิสงส์ผลบุญมาก ต่อมาเด็กชายชุ่มจึงตัดสินใจแน่วแน่ที่จะเดินในหนทางของการบรรพชา ตั้งแต่อายุเพียง ๑๐ กว่าขวบเท่านั้น ถือว่าท่านมีบุญบารมีเกี่ยวข้องในทางพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน

บรรพชาที่วัดพระธาตุขาว

เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี เด็กชายชุ่ม ปลาวิน ได้ขออนุญาตจากบิดา และมารดา เพื่อบรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งบุพการีทั้งสองต่างก็ยอนยอมพร้อมใจให้บรรพชา โดยทั้ง ๒ ท่านได้เล็งเห็นว่า

ประการแรก เด็กชายชุ่มจะได้มีวิชาความรู้ติดตัว เพราะในสมัยก่อนโรงเรียนที่ดีที่สุดก็คือ “วัด” นั่นเอง

ประการที่สอง เด็กชายชุ่ม มีใจรักในทางพระพุทธศาสนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บุพการีทั้ง ๒ จึงได้นำตัวไปฝากเป็นศิษย์ ครูบาอินตา แห่งวัดพระธาตุขาว จังหวัดลำพูน ซึ่งท่านทั้งสองคุ้นเคยเป็นอย่างดี

ต่อมาท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมีครูบาอินตา วัดพระธาตุขาวเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว สามเณรน้อยชุ่มได้ตั้งสัตยาธิษฐานด้วยใจแน่วแน่ มีพระพุทธเจ้าเป็นองค์ประธาน พร้อมพระธรรม และบารมีพระคุณครูบาอาจารย์ คุณบิดามาดา พร้อมกล่าวคำอธิษฐานว่า

“ข้าน้อยขอถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งข้าน้อยเคารพอย่างสูงสุด และจะขอรับใช้พระพุทธศาสนา เผยแพร่หลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ตั้งแต่บัดนี้ตราบเท่าชีวิตจะหาไม่”

สามเณรชุ่ม ปลาวิน นั้นเป็นสามเณรน้อยที่มีความพยายามสูง และควรค่าแก่การบันทึกไว้ ท่านเป็นสามเณรชาวเหนือที่เคร่งครัด เพียบพร้อมไปด้วยศีลาจารวัตรอันงดงาม สิ่งใดที่พระอุปัชฌาย์พร่ำสอน ท่านก็เชื่อฟังและหมั่นปฏิบัติตามอย่างจริงจัง ท่านครูบาอินตาได้สั่งให้สามเณรชุ่ม ท่องบททำวัตร และบทอื่น ๆ รวมทั้ง บท ๑๒ ตำนาน ให้ขึ้นใจ และสามเณรชุ่ม ก็ไม่ได้ทำให้ครูบาอาจารย์ผิดหวัง ท่านได้ท่องบทสวดมนต์ต่างๆ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว รวมทั้งศึกษาพระไตรปิฎกไปด้วย และเริ่มเข้าใจอย่างถ่องแท้มากขึ้น

ภายหลังเมื่อสามเณรชุ่มได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านเคยกล่าวให้พระเณร และเหล่าลูกศิษย์ฟังว่า “การศึกษาทางพระพุทธศาสนาในสมัยก่อนนั้น ต้องทำกันอย่างจริงจัง และใช้ความเพียรเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีเทคโนโลยีอย่างสมัยใหม่นี้ การศึกษา บทสวดมนต์ และพระไตรปิฏกในสมัยก่อนนั้น ต้องอาศัยสมอง​อย่างเดียวล้วน ๆ ต้องจด ต้องจำ ต้องท่องบ่นอย่างเอาเป็นเอาตายเท่านั้น จึงจะสามารถจำบทสวดมนต์ และสามารถแปลพระไตรปิฎกได้อย่างถ่องแท้ และจึงจะนับได้ว่าเป็นผู้รู้หนังสือดี”

ต่อมาเมื่อสามเณรชุ่ม ได้ศึกษาวิชาความรู้จากพระอุปัชฌาย์ เป็นอย่างดีแล้ว ด้วยใจที่รัก และใฝ่รู้การศึกษา ได้กราบขออนุญาตจากพระอุปัชฌาย์ ออกเดินทาง เพื่อแสวงหาวิชาความรู้ต่างๆ เพิ่มเติม โดยพระอุปัชฌาย์ได้ชี้แนะครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษด้านต่าง ๆ ให้

จากนั้นจึงได้กราบลาพระอุปัชฌาย์ พร้อมกับลาบิดามารดา ญาติพี่น้อง นำเครื่องอัฐบริขารเท่าที่จำเป็น ออกเดินทางด้วยเท้ามุ่งสู่ จ.เชียงใหม่ และเข้าศึกษาด้านปริยัติธรรมที่วัดผ้าขาว, วัดพระสิงห์ และวัดเจดีย์หลวง ตามลำดับ

อุปสมบท

ท่านได้ศึกษาเล่าเรียน จนอายุได้ ๒๐ ปี สามเณรชุ่ม ปลาวิน จึงได้พิจารณา ว่า “บัดนี้เราก็อายุครบบวชแล้ว ควรจะเดินทางกลับบ้านเกิดที่เมืองลำพูน เพื่อทำการอุปสมบท การที่เราได้อาศัยอยู่ในร่มเงาของพระพุทธศาสนานั้น  เรารู้สึกเย็นใจ และร่มเย็นดีแท้ แม้เราคิดสึกออกไป เราก็ยากที่จะได้รับความสงบร่มเย็นเช่นนี้ เห็นทีเราจะต้องบวชเรียนต่อไป”

หลังจากตัดสินใจแล้ว ท่านจึงได้เดินทางกลับมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ที่ภูมิลำเนาเดิม คือที่บ้านวังมุย จ.ลำพูน โดยมี พระครูบาอินตา (ครูบาปัญโญ) วัดพระธาตุขาว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์หมื่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์หลวงอ้าย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “โพธิโก”

เมื่อท่านอุปสมบทแล้ว ก็ได้มุ่งมั่นศึกษาทั้งทางด้านปริยัติควบคู่กับด้านปฏิบัติ โดยได้ฝึกพระกรรมฐานตามแนวทางกรรมฐาน ๔๐ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลส สามารถทรงสมาธิได้สูงขึ้นตามลำดับ

นอกจากนั้นท่านยังได้ศึกษาศาสตร์ทางด้านพระเวทย์เลขยันต์ คาถาอาคมต่างๆ รวมทั้งตำราพิชัยสงครามอีกด้วย

ความพากเพียรศึกษาในด้านการศึกษาของพระภิกษุชุ่ม เป็นที่กล่าวขวัญไปทั่ว เมื่อการกลับมาของหลวงพ่อได้ทราบถึงเจ้าคุณพระญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูนในสมัยนั้น มีความชื่นชมพระภิกษุชุ่มเป็นอย่างมาก ได้ร้องขอให้ท่านไปศึกษาต่อด้านปริยัติที่กรุงเทพฯ โดยทางจังหวัดจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด เมื่อศึกษาจบแล้วจะได้กลับมาช่วยสอนหนังสือให้กับพระเณรในจังหวัด แต่ท่านไม่อาจรับภารกิจนี้ได้ โดยให้เหตุผลว่ายังต้องศึกษาด้านการปฏิบัติให้มาก ๆ เสียก่อน

ท่านเจ้าคณะจังหวัดเมื่อมีกิจธุระสิ่งใดก็มักจะเรียกให้พระภิกษุชุ่มอยู่เสมอ โดยได้มอบหมายให้ท่านเป็นเลขาฯ ประจำใกล้ชิด มอบหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านต่างๆ ให้ ซึ่งท่านก็มิได้ทำให้พระผู้ใหญ่ผิดหวัง งานด้านต่างๆ ท่านสามารถทำได้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีทุกชิ้นทุกอัน จนเจ้าคณะจังหวัดจะแต่งตั้งชั้นยศ และขอสมณศักดิ์ชั้นพระครูให้ แต่พระภิกษุชุ่มได้ปฏิเสธไม่ขอรับสมณศักดิ์นั้น

เสาะหาครูบาอาจารย์

ตั้งแต่ช่วงแรกที่บวชเป็นพระภิกษุ พระภิกษุชุ่มก็ได้พากเพียรฝึกกายฝึกจิตตามแนวทางสายเอกของพระพุทธศาสนา แล้วยังออกเดินทางแสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ เอาเยี่ยงอย่างภูมิธรรมชั้นเลิศจากคณาจารย์หลายท่านคือ

  • ครูบาอริยะ ที่วัดท้าวบุญเรือง ต.หนองหอย อ.หางดง จ.เชียงใหม่
    ศึกษาศาสตรสนธิทั้งแปดมรรค แปดบท อันเป็น อรรถคาถา บาลีมูล กัจจายน์ จนจบ สามารถแปลและผูกพระคาถาต่าง ๆ ได้
  • พระครูบาศรีวิชัย วัดร้องแหย่ง อ.หางดง จ.เชียงใหม่
    เป็นพระอาจารย์ พระปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ตอนที่ครูบาชุ่มไปฝากตัวเป็นศิษย์ พระครูบาศรีวิชัย วัดร้องแหย่ง มีอายุประมาณ ๗๐ ปีแล้ว แต่ก็ยังแข็งแรงดี ครูบาชุ่มได้อยู่ศึกษาปฏิบัติกับพระครูบาศรีวิชัยวัดร้องแหย่ง เป็นเวลา ๒ พรรษา
  • ครูบาศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนา
    ในขณะที่อยู่วัดร้องแหย่งนี้เอง ท่านจึงได้พบพระนักบุญแห่งล้านนา คือครูบาศรีวิชัย (ครูบาศีลธรรม) แห่ง วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน
    เนื่องเพราะท่านครูบาศรีวิชัยแห่งวัดบ้านปาง ได้มาเยี่ยมเยือนสักการะท่านครูบาศรีวิชัยวัดร้องแหย่งด้วยความเคารพนับถืออยู่เสมอ ทุกครั้งที่มาเยี่ยมก็จะมีปัจจัยไทยธรรมมาถวาย บางครั้งได้มาพักจำวัด และร่วมสวดมนต์ เจริญพระกรรมฐานกับภิกษุสามเณรที่วัดร้องแหย่งด้วย ครูบาชุ่มจึงได้รู้จักมักคุ้นกับท่านครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ที่วัดร้องแหย่งนี้เอง และในเวลาต่อมาปรากฏว่าทั้งคู่เป็นศิษย์ อาจารย์ที่มีความผูกพันรักใคร่กันอย่างยิ่ง
  • ครูบาแสน วัดหนองหมู อ.เมือง จ.ลำพูน
    เป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดทางด้านวิปัสสนากรรมฐานอีกรูปหนึ่ง มีลูกศิษย์มากมายเป็นผู้มีความรู้สูง เป็นนักปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก
  • ครูบาก๋ำ วัดน้ำโจ้ อ.สารภี จ.เชียงใหม่
    เป็นผู้สอนอักขระล้านนาให้แก่ครูบาชุ่ม
  • ครูบาพรหมา วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
    (บ้างเรียกครูบาพรหมจักร หรือครูบาพรหมจักโก สมณศักดิ์เดิมคือ พระครูพรหมจักรสังวร สมณศักดิ์สุดท้ายคือ พระสุพรหมยานเถระ)
    ความจริงแล้วครูบาชุ่ม กับครูบาพรหมา ท่านอายุรุ่นราวคราวเดียวกันแต่ต่างองค์ต่างนับถือและแลกเปลี่ยนความรู้ สรรพวิชาต่างๆ กันอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ท่านยังได้ไปศึกษาเพิ่มเติมที่วัดห้วยโท้ง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ และ วัดน้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่อีกด้วย

จากนั้น เมื่อเจ้าอาวาสวัดวังมุยเก่ามรณภาพลง ชาวบ้านจึงมาอาราธนาท่านให้กลับไปเป็นเจ้าอาวาสปกครองดูแลวัดต่อไป

ข้อวัตรปฏิบัติ

ครูบาชุ่มท่านจะตื่นขึ้นมาตอนตี ๓ เพื่อปฏิบัติไปตามลำพังในกุฏิของท่าน จากนั้นก็กระทำกิจธุระส่วนองค์ แล้วจึงปลุกเรียกพระเณรให้ทำวัตรเช้าในเวลาประมาณตี ๕ ต่อด้วยการนั่งสมาธิภาวนาอีก ๑ ชั่วโมง พอคลายออกจากสมาธิ จึงนำพระเณรออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ ในยามปรกติท่านจะฉันสองมื้อ แต่ในช่วงเข้าพรรษาท่านจะฉันเพียงมื้อเดียว อาหารที่ท่านฉันก็เป็นอาหารพื้นบ้านง่ายๆ อย่างข้าวเหนียว จิ้มกับน้ำพริกผักต้ม

“แม่เพชร อินโม่ง” ซึ่งเป็นผู้ทำอาหารถวายครูบาชุ่มอยู่เสมอ เล่าว่า ท่านชอบทานผักแคบ หรือตำลึงในภาษากลางนั่นเอง

ครูบาชุ่มละเว้นไม่ฉันอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ แต่จะฉันบ้างกรณีที่มีญาติโยมมาถวายภัตตาหารเพลและนั่งรอรับศีลรับพรอยู่ต่อหน้า เป็นการฉันเพื่อไม่ให้ญาติโยมเสียกำลังใจ ช่วงหนึ่ง ครูบาชุ่มป่วย แพทย์ระบุว่าเป็นโรคขาดสารอาหาร ศรัทธาชาวบ้านจึงได้ขอร้องให้ท่านฉันเนื้อสัตว์บ้าง ท่านก็รับปาก

ครูบาชุ่ม โพธิโก
ครูบาชุ่ม โพธิโก

พระเดชลือชา

ช่วงเย็น ๑๘.๐๐ น. พระเณรที่วัดวังมุยจะทำวัตรเย็นพร้อมกัน ต่อจากนั้นนั่งสมาธิอีกประมาณ ๓๐ นาที แล้วจึงแยกย้ายกันไปทำกิจธุระส่วนตัวได้ จนใกล้เวลาจำวัด คือราว ๒๐.๑๐ น. ครูบาชุ่มท่านจะเรียกให้พระเณรทุกองค์มาสวดมนต์ร่วมกันก่อนจำวัดอีกครั้ง โดยท่านจะนั่งอยู่ด้านหน้า นำสวดบท นะโมฯ ๓ จบ แล้วท่านจะเงียบ คอยฟังเสียงของพระเณร ว่าตั้งใจสวดมนต์กันหรือไม่ หากพบว่าองค์ไหนเงียบเสียงไป ท่านจะเมตตาตักเตือนให้ อย่างเบา คือโยนดินสอ หรือหนังสือไปสะกิด และก็มีบ้างที่ท่านต้อง “เมตตา” หนักเป็นกรณีพิเศษ คือสะกิดด้วยกระโถนบิน พระเณรที่ย่อหย่อนจากความเพียร อุตสาหะ วิริยะ ต่างหัวปูด หัวโน ไปตามกัน

แม้แต่ชาวบ้านที่พ้นวัยเด็กมานาน หากมาส่งเสียงดังในบริเวณวัด อย่างเบา ครูบาชุ่มท่านจะแค่ตวาด และอย่างหนักหน่อยอาจจะโดนท่านยิงด้วยหนังสติ้ก แล้วท่านก็ยิงได้แม่นยำอย่างยิ่ง โดยเล็งที่ขาหรือหลัง พอให้รู้ตัว

สมัยนั้น ถ้าใครคิดจะให้ลูกหลานมาบวชที่วัดของหลวงปู่ครูบาชุ่ม ต้องยกให้เป็นลูกของท่านเลย เพราะท่านจะอบรมสั่งสอนเต็มที่ แม้แต่เฆี่ยนตีบ้าง พ่อแม่จะต้องยอมรับได้ เพราะท่านจะบอกไว้ก่อนว่าห้ามมาโกรธกัน หากท่านต้องทำโทษเฆี่ยนตีลูก ๆ ในทางธรรมของท่านด้วยความปรารถนาดี

เด็กบางคนทางบ้านได้ส่งให้มาเป็นขโยม (ลูกศิษย์วัด) รอบวช โดยให้หลวงปู่ครูบาชุ่มอบรมบ่มนิสัยไปด้วย ขโยมรายนี้โดนกระโถนเข้าไปครั้งเดียวเพราะทำผิด ถึงกับโดดหน้าต่างหนีออกจากวัดมาตอนกลางคืนแทบไม่ทันทีเดียว ทางบ้านขอร้องให้กลับไปอยู่วัดต่ออย่างไร ขโยมน้อยรายนั้นก็ยืนกรานไม่ไปเด็ดขาด ด้วยเห็นว่าหลวงปู่ชุ่มดุมาก

ก็คงจะเป็นเรื่องจริต วาสนา และความเกี่ยวเนื่องที่ยากจะอธิบาย ศิษย์อาจารย์บางคน หากไม่มีวาสนเกี่ยวเนื่องกัน ไม่เคยสอนสั่งกันมาก่อน ต่อให้ทั้งศิษย์หรืออาจารย์คู่นั้นจะเก่งกล้าขนาดไหน ก็ไม่อาจเป็น “คู่ปรับ” เปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้บรรลุถึงมรรคผลอันควรได้

สายสัมพันธ์ศิษย์ – อาจารย์

ลูกศิษย์สายตรงของครูบาชุ่ม ในปัจจุบันพอจะกล่าวถึงได้ดังนี้

  1. หลวงพ่อทองใบ โชติปัญโญ เจ้าอาวาสวัดพรหมวนารามหรืออดีต ครูทองใบ สายพรหมมา เป็นศิษย์ผู้ได้รับอนุญาตให้สร้างเหรียญครูบาเจ้าชุ่มรุ่นแรกปี พ.ศ. ๒๕๑๗
  2. พระอาจารย์หมื่น ญาณเมธี วัดพรหมวนาราม นอกจากเป็นศิษย์แล้วท่านยังเป็นหลานแท้ ๆ ของครูบาเจ้าชุ่ม คือ ตุ๊ลุงหมื่น เป็นบุตรของแม่อุ้ยแก้ว พี่สาวร่วมอุทรของครูบาเจ้าชุ่ม ตุ๊หมื่นได้เก็บรักษาเครื่องระลึกถึงครูบาเจ้าชุ่มไว้หลายอย่าง เช่นภาพถ่ายเก่าๆ, ดาบ, เล็บ และอัฐิ
  3. พ่อหนานปัน จินา เป็นศิษย์ที่มีความสนใจในด้านวิชาอาคมขลังและพิธีกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะศาสตร์ในเรื่องตะกรุด ซึ่งท่านได้รับการถ่ายทอดจากครูบาเจ้าชุ่มมาพอสมควร ปัจจุบันท่านเป็นผู้อาวุโสของหมู่บ้าน
  4. พ่ออุ้ยตุ่น หน่อใจ เป็นศิษย์ที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่สองอย่าง คือปลงเกศาให้ครูบาเจ้าชุ่ม และช่วยสร้างพระผงให้ท่าน
  5. พ่อหนานทอง ปัญญารักษา อายุ ๖๘ ปี เป็นศิษย์อีกท่านที่ปัจจุบันทำหน้าที่ “ปู่จารย์” เจ้าพิธีประจำวัดชัยมงคล (วังมุย) พ่อหนานทองเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพิธีพุทธาภิเษกรูปเหมือนหลวงปู่ชุ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐
  6. พ่อหนานบาล อินโม่ง เป็นศิษย์ที่เคยติดตามครูบาเจ้าชุ่มไปธุดงค์ตามสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง
  7. คุณลุงเสมอ บรรจง ชมรมพระตลาดบุญอยู่ เป็นผู้มีส่วนร่วมสร้างวัตถุมงคลของครูบาเจ้าชุ่ม
  8. พ่อเลื่อน กันธิโน เป็นศิษย์ที่ติดตามอุปัฏฐากครูบาเจ้าชุ่มไปในที่ต่าง ๆ จนถึงนาทีสุดท้ายที่ท่านไปมรณภาพที่กรุงเทพฯ
  9. อุ๊ยหมื่น สุมณะ (เพิ่งเสียชีวิตในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ด้วยวัย ๑๐๑ ปี) เป็นศิษย์อาวุโส ซึ่งมีวัยวุฒิน้อยกว่าครูบาเจ้าชุ่ม ๑๐ ปี เป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับประวัติการสร้างวัดใหม่
  10. อุ๊ยหนานทอง (เสียชีวิตแล้ว) เป็นลูกศิษย์ของครูบาเจ้าชุ่ม แล้วยังเป็นประติมากรผู้รังสรรค์พระรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย ในขณะที่ท่านรักษาตัวอยู่ ณ วัดจามเทวี ก่อนที่ท่านจะไปมรณภาพที่วัดบ้านปางอุ๊ยหนานทองเป็นคนบ้านริมปิง อ.เมือง จ.ลำพูน ท่านได้พบกับครูบาชุ่มตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี ตอนนั้นหลวงครูบาชุ่มจาริกไปถึงบ้านริมปิง บ้านเดิมของอุ้ยหนานทอง หนุ่มน้อยได้บังเกิดความเคารพศรัทธาครูบาชุ่ม จนขอติดตามกลับมาที่วัดวังมุยด้วย ครูบาชุ่มก็เมตตาพามา และจัดการบวชให้เป็นสามเณรที่วัดเก่า (วัดศรีสองเมือง) ต่อมาเมื่ออายุหนานทองอายุครบ ๒๐ ปี หลวงปู่ครูบาชุ่มก็ได้จัดการอุปสมบทให้เป็นพระภิกษุที่วัดใหม่ คือวัดชัยมงคล (วังมุย)ช่วงที่บวชเป็นสามเณร สามเณรทองได้เป็นลูกมือช่วยสร้างพระที่วัดมหาวัน จึงได้นำประสบการณ์และวิชาความรู้ครั้งนั้น มาใช้ในงานปั้นพระประธานไว้ในโบสถ์วัดเก่า จำนวน ๓ องค์ ขนาดเท่าคนจริง แต่หลังจากวัดเก่าได้ถูกทิ้งร้าง พระประธานทั้ง ๓ องค์ ที่สามเณรทองปั้นไว้ ก็หายสาบสูญไป พอครูบาชุ่มได้มาดำเนินการสร้างวัดใหม่ คือวัดชัยมงคล (วังมุย) ท่านก็ได้มอบหมายให้อุ้ยหนานทองรับหน้าที่ปั้นพระประธาน และพระขนาดเล็กอีกเป็นจำนวนมาก
  11. หลวงพ่อบุญรัตน์ กนฺตจาโร เจ้าอาวาสวัดโขงขาว จ.เชียงใหม่

หลวงพ่อบุญรัตน์ ได้พบหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มครั้งแรกในระหว่างที่ทั้งคู่ต่างอยู่ในระหว่างธุดงค์หลีกเร้นเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมตามป่าเขา ขอยกความตอนหนึ่ง จากเนื้อหาประวัติของหลวงพ่อบุญรัตน์ ที่ นิตยสารโลกทิพย์ จัดพิมพ์

“หลวงพ่อบุญรัตน์ กนฺตจาโร มีโอกาสได้พบและน้อมรับอุบายธรรมปฏิบัติจากหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก ในครั้งแรกนั้นก็ด้วยครั้งที่ติดตามหลวงพ่อชื่นออกธุดงค์ ซึ่งได้ไปพักปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดร้างในป่าสวนหลวงนั่นแหละ

คือวันหนึ่ง หลวงปู่ครูบาชุ่มท่านได้เดินทางมาเยี่ยมหลวงพ่อชื่นลูกศิษย์ของท่าน ที่มาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดร้างในป่าสวนหลวง หลวงปู่ครูบาชุ่มท่านเดินกางร่มสีแดงมาด้วย เห็นแต่ไกล สมัยนั้นร่มสีดำดูเหมือนว่าจะไม่มี มีแต่ร่มสีแดง พอมาถึงที่วัดร้างแล้ว หลวงปู่ครูบาชุ่มท่านก็นั่งพักสนทนา ถามทุกข์สุขกับหลวงพ่อชื่น

หลวงพ่อบุญรัตน์ได้เห็นลักษณะอันงดงาม ยิ้มแย้มแจ่มใสของหลวงปู่ครูบาชุ่มว่าท่านมีเมตตาดี ก็เข้าไปนมัสการท่าน หลวงปู่ครูบาชุ่มท่านยิ้มรับ สอบถามได้ความว่า หลวงพ่อบุญรัตน์ก็มีความสนใจในการปฏิบัติธรรม และได้เคยออกธุดงค์บำเพ็ญสมาธิ เจริญพระกรรมฐาน จึงกล่าวว่า

“เออดีแล้ว ดีแล้ว ได้มาบวช โอ้โฮ เป็นบุญเป็นกุศลแล้ว ให้ปฏิบัติธรรมเข้านะ จะได้เป็นบุญที่จะติดตัวเราไปข้างหน้าเนาะ อันอื่นน่ะเอาไปไม่ได้เนาะ มีเงินมีทองมีสมบัติพัสถานก็เอาไปไม่ได้ จะเอาไปได้ก็เป็นบุญเป็นกุศลนี่แหละที่จะเป็นเงาติดตามตัวเราไป ให้หมั่นหาเข้านะ พุทโธก็ได้ อะไรก็ได้ ให้นึกถึงสังขาร ให้ปลงสังขารมันเสีย ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มันเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกขังก็เป็นทุกข์ อนัตตาก็ใช่ตนใช่ตัว เราเกิดมาในครั้งนี้ เรามาเพียงแต่คนเดียว กลับไปก็กลับคนเดียว เราจะชวนคนอื่นกลับก็ไม่ได้ ร่างกายของเรานี่ไม่ใช่ของเรานะ ใช่ของเราไหม?”

หลวงพ่อบุญรัตน์ถามว่า “เป็นยังไงครับหลวงปู่ ไม่ใช่ร่างกายของเรา?”

หลวงปู่ครูบาชุ่มท่านยิ้มและบอกว่า “ไม่ใช่ ถ้ามันเป็นของเรา มันคงไม่ปวด บอกว่า อย่าไปปวดนะ มันก็คงไม่ปวด อย่าไปเจ็บนะ มันก็คงไม่เจ็บ แล้วทำไมมันปวด มันเจ็บ ทีนี้หลวงปู่ก็เหมือนกัน ตาก็ไม่สว่าง ต้องใส่แว่นตาดูหนังสือ ถ้ามันเป็นของหลวงปู่ หลวงปู่ก็จะบอกกับมันว่า ตานะ อย่าไปเสียนะ ก็คงจะดีนะ คงไม่ต้องใช้แว่นตา ผมที่บนศีรษะ บนหัวนี่นะ ทำไมมันหงอกนะ”

หลวงปู่ครูบาชุ่มพูดพลางหัวเราะ พลางชี้ไปที่ศีรษะของท่าน

“ถ้าเป็นผมของหลวงปู่แล้วมันคงไม่หงอกแน่นอน ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน หายึดสิ่งใดในโลกนี้ไม่มี นอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศีลธรรม กรรมฐานเท่านั้นที่จะติดตามตัวเราไปข้างหน้า ไม่เสียเวลาเกิด ถ้าเราเกิดมาเราบวช เราประพฤติปฏิบัติ โอ้โฮ เป็นบุญเป็นกุศลของเรา มาบวชนี่จะไปหวังอะไร ? ให้หวังบุญหวังกุศลเท่านั้น”

ผลของการปฏิบัติ

ครูบาชุ่มท่านเป็นพระผู้ทรงศีลาจารวัตร และมุ่งมั่นในการปฏิบัติอย่างแรงกล้า ครั้งหนึ่งท่านนั่งสมาธิอยู่ในพระวิหารที่วัดวังมุย ได้เกิดมีเปลวไฟฉายโชนออกจากร่างกายของท่าน แลดูสว่างไสว มีผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้นเห็นเหตุการณ์หลายคน “พ่อหนานปัน” ก็เป็นหนึ่งในนั้น ได้เห็นไฟลุกโพลนขึ้นท่วมร่างของครูบาชุ่ม จากนั้นเปลวไปได้เคลื่อนออกจากกาย ตรงขึ้นไปที่ปล่องด้านข้างของพระวิหาร พอครูบาชุ่มคลายออกจากสมาธิ ลูกศิษย์ที่เป็นห่วงได้รีบเข้าไปถามว่า “ครูบาเจ้าเป็นอะไรไปหรือเปล่า ทำไมไฟลุกขึ้นมา” ท่านได้เมตตาบอกว่า “เป็นเพราะผลของการปฏิบัติ”

โดนลองของ

ครั้งหนึ่ง ครูบาชุ่มโดน “ลองของ” โดยพระรูปหนึ่งในจังหวัดลำพูนนั่นเอง พระผู้นั้นได้ปล่อยของทางไสยศาสตร์มายังกุฏิของท่าน ขณะนั้นครูบาชุ่มกำลังจำวัดอยู่ และทราบเหตุร้ายด้วยญาณ ท่านจึงลุกขึ้น และได้เรียกบอกพระเณรให้มานั่งอยู่ในกุฏิท่าน พร้องทั้งสั่งให้ทุกรูปสวดมนต์ ของที่ส่งมานั้นปรากฏเป็นตัวแมลงขนาดใหญ่ พวกมันได้แต่บินวนเวียนอยู่ด้านนอกกุฏิ เสียงชนฝาผนังดังปึงปังอยู่ตลอดเวลา และแล้วครูบาชุ่มก็ได้หยิบหมากขึ้นมาเคี้ยวพร้อมทั้งบริกรรมคาถา จากนั้นก็คายชานหมากลงในกระโถน สักพักต่อมา เหล่าแมลงได้บินฝ่าเข้ามาถึงด้านในกุฏิ พุ่งตรงเข้ามาหาท่านทันที

ท่านจึงบริกรรมคาถาจนหมู่แมลงอ่อนกำลังลง จากนั้นได้นำกระโถนที่คายชานหมากไว้มาครอบแมลงเหล่านั้น เมื่อเปิดกระโถนออกดู ปรากฏว่าแมลงได้กลับกลายเป็นตะปูไปจนหมด

บุญญาภินิหาร

ครูบาชุ่มมีเมตตาธรรมประจำใจ ไม่ค่อยขัดต่อผู้ใดที่มาขอร้องให้ท่านช่วยเหลือ ถ้าไม่เกินขอบเขตแห่งพระธรรมวินัย โดยเฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยด้วยคุณไสยแล้ว เชือกและน้ำมนต์ของท่านขลังยิ่งนัก

มีอยู่ครั้งหนึ่งครูบาชุ่มได้ธุดงค์ไปถึงอำเภอฮอด เข้าพักแรมในป่าช้าบ้านบ่ง ชาวบ้านเหล่านั้นมีด้วยกันหลายเผ่าหลายภาษา เช่น ลั๊วะ, ยาง (กระเหรี่ยง) ได้เอาเนื้อสด ๆ มาถวายโดยบอกว่า เป็นส่วนของวัดหนึ่งหุ้นที่ล่าสัตว์มาได้ ครูบาชุ่มไม่ยอมรับและบอกว่า หากจะนำมาถวายพระหรือสามเณร ควรจัดทำให้สุกเป็นอาหารมา จึงจะรับได้

และขอบิณฑบาตว่า อย่าได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเขาเลย พอตกค่ำ ครูบาชุ่มได้ทำวัตร สวดมนต์ นั่งสมาธิ แผ่เมตตาจิตให้สรรพสัตว์ทั้งปวง จนใกล้สว่างจึงออกไปบิณฑบาต พวกชาวบ้านมาใส่บาตร แต่ได้ขอร้องครูบาชุ่มไม่ให้สวดมนต์อีกต่อไป โดยกล่าวหาว่าเป็นเพราะท่านสวดมนต์ พวกตนจึงเข้าป่าล่าสัตว์ไม่ได้สัตว์มาหลายวันแล้ว

ไม้เท้าของครูบาศรีวิชัย

คราวหนึ่ง ครูบาชุ่มจาริกหลีกเร้นไปแสวงหาที่วิเวกเจริญพระกรรมฐาน และนั่งภาวนาอยู่ที่กระท่อมในบริเวณป่าช้า พอเริ่มมืดลง มีคนเมาสุราคนหนึ่ง เห็นท่านนั่งอยู่ในกระท่อมเพียงผู้เดียวในระยะไกล จึงได้เดินตรงเข้ามาหาด้วยเจตนาที่ไม่ดี ครูบาชุ่มท่านรู้ ท่านจึงหยิบไม้เท้าของครูบาศรีวิชัยขึ้นมาบริกรรมคาถา พร้อมกับขีดเป็นวงรอบตัว เมื่อชายผู้นั้นเดินเข้ามาใกล้กระท่อม ก็ต้องพบกับความแปลกใจ เพราะมองไม่เห็นใครอยู่ในกระท่อมเลย

ลูกศิษย์ทั่วไปต่างเชื่อว่าท่านเป็นพระที่ทรงอภิญญา สามารถแสดงฤทธิ์ได้ แต่ครูบาชุ่มท่านไม่เคยอวดตัว ยังคงทำตนเหมือนพระธรรมดาๆ ทั่วไปรูปหนึ่ง เสมือนช้างเผือกที่หลีกเร้นอยู่ในป่าลึก

ธุดงควัตร

ทางภาคเหนือนั้น มักนิยมเรียกพระภิกษุที่ตนเองเคารพนับถือว่า “ครูบาเจ้า” พระภิกษุชุ่ม โพธิโก ก็เช่นเดียวกัน ชาวบ้านทั่วไป และชาวบ้านวังมุย นิยมเรียกท่านด้วยความเคารพอย่างสูงว่า “ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก”

ต่อมา ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก ได้เกิดเบื่อหน่ายในการคลุกคลีของหมู่คณะ ท่านปรารภถึงความสงบวิเวก การปฏิบัติภาวนาอันจักเป็นหนทางนำไปสู่การหลุดพ้น และเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดในสมณเพศ จึงได้ตัดสินใจที่จะออกธุดงค์จาริกไปเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ท่านจึงกราบลาพระอุปัชฌาย์ เพื่อขออนุญาตออกเดินธุดงค์ พระอุปัชฌาย์ คือ ครูบาอินตา ก็ได้อนุโมทนา ในความตั้งใจครั้งนี้ จากนั้น ท่านก็ได้เดินทางไปล่ำลาบิตามารดาและญาติโยม เพื่ออกเดินทางสู่ราวป่าอันเงียบสงบ วิเวก เหมาะแก่การเจริญสมณธรรมต่อไป

เทศน์โปรดชาวลัวะ ชาวยาง (กะเหรี่ยง)

ท่านได้ออกเดินธุดงค์ไปยังอำเภอลี้ จ.ลำพูน ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวลัวะ ชาวยาง (กะเหรี่ยง) ท่านได้อยู่อบรมธรรมเทศนาสั่งสอน โปรดพวกเขาเหล่านั้นจนมีผู้ศรัทธามากมาย ศิษยานุศิษย์ได้ร่วมใจกันปลูกกุฏิให้ครูบาเจ้าชุ่มอยู่ประจำ และจัดจังหัน (ภัตตาหาร) ถวายทุกวันมิได้ขาด ด้วยศรัทธาอันแรงกล้า พวกเขาจึงจัดเวรยามอยู่ปรนนิบัติครูบาชุ่ม ด้วยความเกรงกลัวว่าท่านจะหนีไปที่อื่น บางครั้ง ครูบาเจ้าชุ่มมีกิจธุระ ต้องกลับวัดวังมุย พวกเขาจะพากันมาส่งถึงวัด และรอรับครูบาเจ้าชุ่มกลับไปด้วย เมื่อเสร็จธุระแล้ว ท่านจึงต้องกลับไปกับพวกเขา เป็นอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง ๓ ครา โดยศรัทธาชาวเขาอ้างว่า หากครูบาเจ้าชุ่มไม่กลับไปกับพวกเขา จะพากันเผากุฏิครูบาให้ไหม้หมด เลิกกันเสียที

ครูบาเจ้าชุ่มต้องปลอบใจพวกเขา และต่อมาท่านจึงได้บวชชาวลัวะ และชาวกะเหรี่ยงผู้เป็นลูกศิษย์รวม ๒ รูป ให้อยู่กับพวกเขา ในขณะที่ท่านต้องเดินทางไปยังสถานที่แห่งอื่นๆ เหตุการณ์ที่จะเผาที่พักจึงล่วงพ้นไปได้

บูรณะพระบรมธาตุดอยเกิ้ง รับสัมผัสปาฏิหาริย์ขององค์พระบรมสารีริกธาตุ

ต่อมาครูบาเจ้าชุ่มได้เดินธุดงค์จาก ต.บ้านก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน ตัดป่าเขาลำเนาไพรขึ้นไปทางทิศตะวันตก มุ่งหน้าสู่ อ.ฮอด ล่วงจนถึงพระบรมธาตุดอยเกิ้ง ปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคเหนือของไทย พระบรมธาตุดอยเกิ้งนั้น มีความเก่าแก่ และศักดิ์สิทธิ์ เป็นเจดีย์ขนาดพอๆ กับพระบรมธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ในขณะที่ครูบาเจ้าชุ่มได้ธุดงค์ไปพบนั้น พระบรมธาตุมีสภาพแตกร้าวและชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมาก ท่านรู้สึกสลดใจที่ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ ขาดการบูรณปฏิสังขรณ์ แต่ท่านก็ได้น้อมนำคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามาพิจารณา คือกฎไตรลักษณ์ ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตหรือวัตถุสิ่งของใดในโลก ต่างก็หลีกไม่พ้นกฎ ๓ ข้อนี้ อันได้แก่ “อนิจจัง” ความไม่เที่ยง “ทุกขัง” เมื่อทรงตัวอยู่ก็เป็นทุกข์ และ “อนัตตา” มีความเสื่อมสลายส้นไปเป็นธรรมดา

ครูบาเจ้าชุ่มตั้งใจว่า จะพักอยู่ ณ ที่แห่งนี้ และคิดหาวิธีการที่บูรณะองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อธำรงรักษาพุทธสถานแห่งนี้ไว้ให้เป็นที่สักการบูชาสืบต่อไป

เมื่อท่านได้สำรวจรอบบริเวณองค์พระบรมธาตุ คำนวณวางแผนการบูรณะได้อย่างละเอียดแน่ชัดแล้ว จึงได้ไปพบนายอำเภอ แจ้งความประสงค์ว่า ท่านปรารถนาจะบูรณะองค์พระบรมธาตุ และจะสร้างทางขึ้นพระบรมธาตุ นายอำเภอตอบตกลง และยินดีให้ความร่วมมือ

ครั้งนี้ ครูบาชุ่มได้พำนักอยู่ที่ป่าช้าวัดหนองบัวคำ ขณะที่พำนักอยู่ในป่าช้า ท่านก็ได้ปฏิบัติกิจของสงฆ์ตามปกติ คือการทำวัตร สวดมนต์ เจริญพระกรรมฐานเป็นปฏิบัติบูชา เสร็จแล้วจึงแผ่เมตตาไปในจักรวาลทั้งปวง ให้แก่สัตว์โลกที่เวียนว่ายตายเกิดเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด

คืนหนึ่งมีชาวบ้านในละแวกนั้น ได้เห็นองค์พระบรมธาตุ สำแดงปาฏิหาริย์ โดยปรากฏรัศมีเรืองรองสว่างไสวไปทั่วบริเวณ ทำให้ชาวบ้านเหล่านั้นต่างปลื้มปีติยินดียิ่งนัก ด้วยว่าไม่เคยพบเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อนในชีวิต

ชีปะขาวปรากฏในนิมิต นำมงกุฎใส่พานมาถวาย

ค่ำคืนหนึ่ง ในบรรยากาศอันวิเวกของป่าช้าวัดหนองบัวคำ ลมพัดเอื่อยๆ เย็นสบาย หลังจากที่ครูบาเจ้าชุ่มได้ทำกิจวัตรส่วนตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านก็ได้เข้าสู่กลด เพื่อนั่งสวดมนต์ไหว้พระทำจิตเข้าถึงพระไตรสรณคมน์ รำลึกถึงแก้วสามดวงอันประเสริฐเป็นสรณะ และจากนั้นจึงได้เจริญสมาธิภาวนาตามแนวที่ได้ศึกษามาจากครูบาอาจารย์ ท่านรู้สึกจิตสงบดิ่งดีมาก ขณะที่ครูบาเจ้าชุ่มกำลังนั่งสมาธิ ฉับพลันนั้น ก็ได้ปรากฏนิมิตเห็นชีปะขาว ๕ ตน นำมงกุฎใส่พานมาถวายท่าน ในนิมิตท่านก็ได้ให้ศีลให้พร และแผ่เมตตาให้ หลังจากนั้น ชีปะขาวทั้ง ๕ ตน ก็ได้กราบลาจากไป เมื่อครูบาเจ้าชุ่ม ถอนจิตออกจากสมาธิ รู้สึกจิตชุ่มชื่นดี สังเกตว่าเป็นเวลาตี ๔ พอดี

ท่านครุ่นคิดถึงนิมิตเมื่อคืน รู้สึกว่าจะเป็นนิมิตที่มีความหมายดี ในคืนต่อมา ครูบาเจ้าชุ่มก็ได้เข้าสมาธิเจริญพระกรรมฐานอีกตามปกติ ก็เห็นนิมิตเช่นเดียวกับคืนก่อน โดยมีชีปะขาวนำมงกุฎใส่พานมาถวายท่านอีก แต่คราวนี้มาเพียง ๔ ตนเท่านั้น ครูบาเจ้าชุ่มท่านก็ได้ให้ศีลให้พรไปเช่นเดิม และถอนจิตออกจากสมาธิ เป็นเวลาตี ๔ เช่นคืนก่อน

ในคืนที่ ๓ อันเป็นคืนวันเพ็ญ พระจันทร์ส่องแสงนวล ทำให้ป่าช้าที่เคยทึบทึมมืดมิด แลดูสว่างขึ้น ครูบาเจ้าชุ่มได้เข้าสมาธิอีก ปรากฏว่าในคืนนี้ ท่านเกิดนิมิตไม่เหมือน ๒ คืนแรก โดยคืนนี้ได้นิมิตเห็นต้นมะม่วงใหญ่ มีลูกดกมากและมีกลิ่นหอมหวานยิ่งนัก บนต้นมะม่วงมีฝูงลิง และชะนีมาเก็บกินกันมากมาย ต่อมา ปรากฏมีลิงแก่รูปร่างสูงใหญ่ตัวหนึ่ง ออกมาไล่ฝูงลิงและชะนีที่มาเก็บผลมะม่วงกิน หลังจากถอนออกจากสมาธิ ก็เป็นเวลาตี ๔ เช่นคืนก่อน ๆ

ตอนสาย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยชาวบ้าน ได้พากันมาหาครูบาเจ้าชุ่มยังสถานที่ที่ท่านปักกลดอยู่ ท่านจึงได้บอกเล่าให้ชาวบ้านทราบว่า ท่านปรารถนาจะบูรณะซ่อมแซมองค์พระบรมธาตุดอยเกิ้งนี้ และถาวรวัตถุที่จำเป็นบางอย่างในอาณาบริเวณพระบรมธาตุ จึงขอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปบอกกับทางอำเภอด้วย ต่อมาเมื่อได้ร่วมประชุมกัน จึงทำให้เห็นอุปสรรคใหญ่ คือการบูรณะพระบรมธาตุเห็นจะทำได้ยาก เนื่องจากขาดแคลนแหล่งน้ำ ในสระน้ำก็ไม่มีน้ำเลย การที่จะทดน้ำจากแหล่งอื่นเข้ามาเก็บไว้ในสระน้ำ ก็ลำบากยากยิ่ง โดยลำห้วยที่จะทดน้ำได้นั้นก็อยู่ไกลออกไปถึงขนาดต้องข้ามภูเขาถึง ๔ ลูก แต่ครูบาเจ้าชุ่มท่านยังยืนยันที่จะบูรณะองค์พระบรมธาตุดอยเกิ้งให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิมให้จงได้

ครูบาเจ้าชุ่มจึงได้ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน ร่วมกันตั้งจิตอธิษฐานขอให้การดำเนินงานนี้จงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ขออย่าให้มีอุปสรรคใดๆ มาขัดขวางได้เลย ปรากฏว่าการทดน้ำจากลำห้วยที่ต้องผ่านภูเขาถึง ๔ ลูกนั้น สามารถกระทำได้โดยไม่มีอุปสรรคใดๆ เลย สามารถทดน้ำมาเก็บไว้ในสระได้ราวปาฏิหาริย์ ครูบาเจ้าชุ่มได้นั่งหนัก (เป็นประธาน) อยู่บูรณะซ่อมแซมองค์พระบรมธาตุดอยเกิ้งจนสำเร็จเรียบร้อย ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวเขา ชาวบ้านใกล้ไกล การบูรณะพระบรมธาตุในครั้งนี้กินเวลา ๔๕ วันจึงแล้วเสร็จ

ส่วนการสร้างถนนขึ้นสู่พระบรมธาตุนั้น ได้รับการขัดขวางจากเจ้าคณะตำบล โดยอ้างเหตุผลว่า แม้แต่ท่านครูบาศรีวิชัยก็ยังไม่สร้างถนนขึ้นพระบรมธาตุ ฉะนั้นจึงยังไม่สมควรสร้าง เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น ทางฝ่ายกรรมการอำเภอเห็นว่าครูบาเจ้าชุ่มเป็นผู้มีบุญบารมีมาโปรด ก็ควรให้ท่านอยู่เป็นประธานสร้างต่อไป และได้ขอร้องท่าน โดยบอกว่าเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือกับท่าน แต่ครูบาชุ่มได้พิจารณาแล้วเห็นว่า หากทำการสร้างถนนต่อไป ก็จะเกิดปัญหาขัดแย้งกับเจ้าคณะตำบลเป็นแน่ จึงได้ประกาศให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองทราบว่า จะระงับการก่อสร้างถนนขึ้นสู่พระบรมธาตุไว้ก่อน จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควร

อธิษฐานเรียกน้ำ สร้างบูรณะวัดที่ อ. ห้างฉัตร จ.ลำปาง

ต่อมาครูบาเจ้าชุ่มท่านได้พิจารณาถึงหลักการปฏิบัติธุดงค์ว่า “เป็นธรรมดาของการธุดงค์ การอยู่ในสถานที่ใดนาน ๆ นั้น จะทำให้พระธุดงค์ติดถิ่นที่อยู่ อันอาจส่งผลให้เกิดการย่อหย่อนในการปฏิบัติธุดงควัตร และส่งผลให้การปฏิบัติธรรมขัดเกลากิเลสไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร” ดังนั้นท่านจึงลาศรัทธาญาติโยมออกธุดงค์ต่อไป ในครั้งนี้มีพระขอติดตามท่านออกธุดงค์ด้วย

สองข้างทางที่ธุดงค์ไป ทั้งผ่านป่าดงดิบ มีต้นไม้ยืนต้นสูงใหญ่ ใบไม้ปกคลุมหนาทึบ แสงแดดแทบไม่มีเล็ดลอดลงมาให้เห็น ทั้งมีลำต้นใหญ่โต ขนาดหลายคนโอบ บางครั้งก็ผ่านป่าโปร่ง มีต้นไม้ขึ้นแซมไม่ทึบนัก สลับกับทุ่งหญ้าบ้างในบางครั้ง ป่าทางภาคเหนือสมัยครูบาชุ่มเดินธุดงค์นั้น บางแห่งแทบจะไม่เคยมีพระธุดงค์รูปใดย่างกรายเข้ามาเลย สัตว์ป่าต่างๆ ยังคงมีอยู่อย่างชุกชุม โดยเฉพาะ เก้ง กวาง กระจง รวมไปถึง นกยูง ไก่ฟ้า ไก่ป่า รวมถึงสัตว์ประเภทอื่นๆ ล้วนมีอยู่อย่างดาษดื่น ซึ่งการเดินธุดงค์ในป่าดงพงไพรที่สัปปายะเช่นนี้ จิตของครูบาชุ่มรู้สึกแช่มชื่น และสุขใจเป็นอันมาก ท่านได้เดินธุดงค์ พร้อมเจริญพรหมวิหารสี่ พร้อมคำภาวนา “พุทโธ” ไปตลอดการเดินทาง

จนล่วงเข้าสู่เขต อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ได้พบสถานที่แห่งหนึ่งดูเหมือนเคยเป็นวัดเก่ามาก่อน เมื่อพิจารณาแล้ว สามารถที่จะบูรณะให้เป็นวัดที่ดีดังเดิมได้ ครูบาเจ้าชุ่มและพระผู้ติดตาม ได้พิจารณาสถานที่เหมาะสมในการปักกลดอยู่ไม่ไกลจากวัดร้างเท่าใดนัก เมื่อปักกลด จัดสถานที่จนเรียบร้อยดี  ท่านนึกอยากจะสรงน้ำ เพราะเดินทางมาเหน็ดเหนื่อย

พระผู้ติดตามจึงได้ลองเดินหาแหล่งน้ำ และได้พบบ่อน้ำ จึงได้กลับมาบอกครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มว่า “พบบ่อน้ำ แต่ไม่มีน้ำ มีแต่โคลน” ครูบาเจ้าชุ่มเดินไปดูก็เห็นจริงตามที่พระรูปนั้นกล่าว จึงได้ตั้งจิตอธิษฐาน นึกถึงคุณพระรัตนตรัย คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ พร้อมกล่าวอัญเชิญเทพเทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ขอได้โปรดเมตตาให้บังเกิดน้ำขึ้นในบ่อด้วย เพื่อจักได้นำน้ำมาใช้ในการบูรณะให้เกิดเป็นวัดขึ้น ณ ที่นี้ จากนั้นท่านจึงกลับไปนั่งพักยังโคนต้นไม้ที่อาศัย สักครู่หนึ่ง พระผู้ติดตามได้รีบเข้ามาบอกระคนดีใจว่า

“น้ำได้ขึ้นมาครึ่งบ่อแล้วขอรับ ครูบาเจ้า!”

กาลต่อมา ครูบาเจ้าชุ่มได้นั่งหนัก นำศรัทธาชาวบ้าน บูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นสมตามความจำนง จึงได้อาศัยน้ำบ่อนั้น ก่อสร้างโบสถ์ เจดีย์ กุฏิ ศาลา และถาวรวัตถุต่างๆ ที่จำเป็นจนสำเร็จเรียบร้อย ชาวบ้านในพื้นที่ต่างช่วยกันคนสละแรงงาน สละทรัพย์ตามกำลัง ช่วยกันดำเนินการสร้างวัดตามที่พระธุดงค์ท่านมาโปรด ครูบาเจ้าชุ่มนั่งหนักบูรณะวัดเป็นเวลาถึง ๓ พรรษา จึงแล้วเสร็จ

ท่านเคยกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า “ขณะนั้นที่ อ.ห้างฉัตร มีหมู่บ้านอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน อาศัยบุญบารมี แรงงานจากทั่วสารทิศมาช่วย จึงสำเร็จเป็นวัดอยู่จนทุกวันนี้”

แรงบุญหนุนนำจากทุกสารทิศ

การที่ครูบาเจ้าชุ่มมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลประตูป่าอยู่ด้วย ทำให้ท่านมีภารกิจการปกครองคณะสงฆ์ในความรับผิดชอบ อีกประการหนึ่ง ท่านได้รับการแต่งตั้งจากทางการคณะสงฆ์จังหวัดลำพูน ให้เป็นพระอุปัชฌาย์ในการบรรพชาพระภิกษุ-สามเณรด้วย

ด้วยภาระหน้าที่ที่มีมาก ท่านจึงต้องกลับวัดวังมุย เพื่อตรวจดูความเรียบร้อย และการงานของวัดเป็นระยะๆ การกลับวัดวังมุยครั้งหนึ่งๆ ท่านจะพักอยู่ประมาณเดือนเศษ หลังจากนั้น ท่านก็จะนำภิกษุสามเณรศิษยานุศิษย์ของท่านออกธุดงค์ เพื่อสอนธรรมะภาคปฏิบัติ และบำเพ็ญบารมีต่อไป

ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก นับได้ว่า เป็นพระภิกษุที่มีเมตตาธรรมสูงส่ง ท่านเสียสละโดยประการต่างๆ เพื่อเกื้อกูลเหล่าชาวบ้านให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แล้วยังบำเพ็ญประโยชน์ให้บังเกิดแก่สาธารณะชนส่วนรวมอย่างแท้จริง เมื่อท่านจาริกไปถึงที่ใด จะปรากฏมีชาวบ้านมากราบสักการะน้อมรับธรรมะ และร่วมบริจาคทรัพย์ ทำบุญกับท่านเป็นจำนวนมาก ด้วยศรัทธาในปฏิปทาของครูบาเจ้าองค์นี้

ทุกครั้งครูบาเจ้าชุ่มก็ได้มอบทรัพย์เหล่านั้นกลับคืน เพื่อสร้างสิ่งอันเป็นสาธารณะประโยชน์ในชุมชน บางแห่งท่านก็เป็นประธานในการสร้างเหล่านั้นด้วยตนเอง ท่านปฏิบัติอยู่เช่นนั้นตลอดมาตั้งแต่ยังเป็นพระภิกษุหนุ่ม จนล่วงเลยเข้าสู่ความเป็นพระมหาเถระผู้มีอายุ

ช่วงปัจฉิมวัย ครูบาเจ้าชุ่มได้กลับมายังวัดวังมุย และได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ทุกตำแหน่ง เหลือเพียงตำแหน่งเจ้าอาวาส คล้ายเป็นการปลดระวางภารกิจบางประการลงบ้าง ครั้นทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้ว ท่านก็ได้ธุดงค์ต่อไป โดยตั้งใจว่าจะขึ้นไปเหนือสุดของประเทศ โดยเริ่มออกเดินธุดงค์เข้าปักกลดในป่าช้าบ้านแม่ยิ่ง ต.หนองหล่ม อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง อีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้ ท่านได้เห็นซากพระเจดีย์ปรักหักพัง ท่านรู้สึกสลดใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้พักอยู่ และดำริจะบูรณะซ่อมแซมพระเจดีย์ให้กลับมาดีดังเดิมให้จงได้

พบพระบรมสารีริกธาตุ และสมบัติของพระนางเจ้าจามเทวี

วีรกษัตรีย์แห่งนครหริภุญชัย

เมื่อครูบาเจ้าชุ่ม ได้จัดที่พำนักเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มงานบูรณะองค์พระเจดีย์ทันที โดยมีศรัทธาชาวบ้านมาร่วมด้วยเต็มกำลัง ในขณะที่ดำเนินการขุดวางฐานรากขององค์พระเจดีย์ใหม่ ท่านได้พบศิลาจารึกมีใจความว่า “องค์พระเจดีย์นี้พระนางจามเทวีเป็นผู้สร้าง และจะมีพระสงฆ์ ๓ รูป มาบูรณะต่อเติม” ครูบาเจ้าชุ่มได้สอบถามชาวบ้านดูได้ความว่า ในอดีตได้มีพระมาบูรณะพระเจดีย์นี้แล้ว ๒ องค์ ท่านครูบาเจ้าชุ่มเป็นองค์ที่ ๓

หลังจากนั้น ชาวบ้านจึงได้ทำการขุดลงไปใต้ฐานพระเจดีย์ ได้พบไหซองใบใหญ่หนึ่งใบ ปิดปากอย่างแน่นหนา ครูบาเจ้าชุ่มจึงสั่งให้ชาวบ้านนำขึ้นมาเก็บไว้ก่อน แล้วจึงเชิญกำนันผู้ใหญ่บ้านหนองหล่มมาร่วมเป็นสักขีพยานในการเปิดออกดู ปรากฏว่าภายในมีแต่เบี้ย (เงินโบราณ) ทั้งนั้น ครูบาชุ่มจึงได้สั่งให้ปิดปากไหตามเดิม

เมื่อทำการขุดต่อไปอีก ได้พบผอบทองคำ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า พระพุทธรูป และของมีค่า แก้วแหวนเงินทองต่างๆ อีกมากมาย เมื่อก่อฐานพระเจดีย์เสร็จแล้ว  ท่านครูบาเจ้าชุ่มได้บอกชาวบ้านให้เทปูนซีเมนต์ปิดทับฝังทุกอย่างไว้ตามเดิมให้แน่นหนา การบูรณะครั้งนี้ใช้เวลา ๓ เดือนเศษจึงแล้วเสร็จ จากนั้นท่านได้ให้ชาวบ้านสร้างศาลาขึ้น ๑ หลังในบริเวณเดียวกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์ด้วย

อาจจะด้วยวิสัยแห่งความเป็นพุทธภูมิมาแต่ดั้งเดิม ครูบาเจ้าชุ่มจึงทำประโยชน์ไว้ในร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนาอย่างถึงที่สุด แม้จะละวางภารกิจบางประการแล้ว แต่ภารกิจเพื่อพระพุทธศาสนา ท่านมิอาจวางเฉยได้ แม้ตั้งใจเดินธุดงค์ไปยังจุดหมายหนึ่ง แต่ก็อดมิได้ที่จะแผ่บารมี สร้าง-บูรณะ ศาสนสถานในระหว่างทาง ซึ่งเมื่อท่านดำเนินการสำเร็จลง ท่านก็ได้ละวาง โดยมอบหมายงานดูแลองค์พระบรมธาตุไว้แก่คณะกรรมการชาวบ้านต่อไป

การเดินทางในครั้งนี้ ท่านตั้งใจจะไปนมัสการพระบรมธาตุดอยตุง โดยเดินทางไปตามเส้นทางอำเภอเวียงป่าเป้า จึงได้เดินทางตัดเข้าสู่แนวป่าใหญ่อย่างเร่งรีบ หวังเดินทางให้ไกลที่สุดในวันนี้ ได้เท่าไหนก็เอา ทางใดผ่านหน้าผาใหญ่สูงชัน ไม่สามารถผ่านไปได้ ก็เดินตัดออกด้านข้างยึดแนวลำธารเป็นเส้นทางในการเดิน

ครั้งนี้มีสามเณรขอเดินทางไปด้วย ๒ รูป และศรัทธาผ้าขาวอีก ๑ คน โดยครูบาเจ้าชุ่มอนุญาตให้ติดตามไปด้วย แต่ขอให้ติดตามท่าน อย่าให้คลาดสายตา และสั่งสอนให้ผู้ติดตามเจริญพรหมวิหารสี่ แผ่เมตตาไปไม่มีประมาณ ไม่มีสิ้นสุด ให้แก่สัตว์โลกผู้เวียนว่ายตายเกิดด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น การเดินธุดงค์ในป่านั้น นอกจากต้องทำจิตใจสงบและเยือกเย็นแล้ว การภาวนาและสติก็สำคัญ ต้องมีสติสำรวมระวังอย่างรอบคอบ มิเช่นนั้นอาจพลั้งพลาดบาดเจ็บล้มตายได้ แต่ท่านเองได้มอบกายถวายชีวิตแด่องค์พระบรมครูแล้ว จึงไม่เสียดายในชีวิตนี้ ยอมตายในการทำความดีเพื่อพระพุทธศาสนาทุกเมื่อ ถือว่าได้แสดงความกตัญญูแด่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์อย่างแท้จริง

พบรอยเท้าเสือใหญ่ และผจญช้างตกมัน

ตะวันสีหมากสุกได้ลับหายไปจากแนวไม้แล้ว อากาศในแนวป่ากลางดงลึก เย็นลงอีก สรรพสำเนียงไพรยามค่ำเริ่มต้นแล้ว เสียงเสือคำราม สลับกับเสียงเก้งร้องเรียกหากันให้ระวังภัย ดังแว่วมาแต่ไกล นี่เพียงโพล้เพล้แต่เสียงเสือใหญ่ก็คำรามข่มขวัญสัตว์ป่าในพงไพรเสียแล้ว

ขณะที่ธุดงค์ผ่านป่าทึบในอำเภอเวียงป่าเป้า ตะวันเริ่มจะลับทิวไม้แล้ว ขณะที่ผ่านดอยนางแก้ว ได้พบรอยเท้าเสือขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือกางออก เป็นรอยเท้าที่เพิ่งเหยียบย่ำผ่านไปใหม่ๆ น้ำที่ขังในรอยเท้ายังขุ่นอยู่ ครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มหาได้เกรงกลัวไม่ ได้เจริญพรหมวิหารสี่ แล้วแผ่เมตตาให้ โดยอธิษฐานว่า

“หากมีกรรมเก่าติดค้างกันมา ก็ขอยอมสละชีวิตเพื่อเป็นพุทธบูชาหากไม่มีกรรมเก่าต่อกันแล้วไซ้ ขออย่าได้ทำร้ายกันเลย จะเกิดกรรมติดตัวไปไม่รู้จบไม่รู้สิ้น”

แล้วท่านและผู้ติดตามจึงเดินทางเข้าป่าใหญ่ ในทิศทางเดียวกับที่เสือใหญ่เดินผ่าน ไม่กี่อึดใจก็ทะลุออกป่าโปร่ง แต่ก็ไม่พบเสือใหญ่ตัวนั้นเลย

เข้านิโรธสมาบัติใน “ถ้ำปุ่ม* ถ้ำปลา”

*ภาษาเหนือแปลว่า ปู

ในการเดินธุดงค์รอนแรมไปตามที่ต่างๆ นั้น ครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มได้สั่งสอนให้พระภิกษุ-สามเณรที่ติดตามท่าน ปฏิบัติตามหลักธุดงควัตร ๑๓ ข้อ อย่างเคร่งครัด ต้องสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น และเจริญพระกรรมฐานอย่างสม่ำเสมอ เจริญมรณานุสติ ไม่ยึดติดในร่างกาย ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้อีกไม่นานก็แตกดับสลายไปเป็นอนัตตา มีความมักน้อยสันโดษ เช่น ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร, ถือผ้า ๓ ผืนเป็นวัตร, ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ฯลฯ

บางครั้งครูบาและสามเณรได้รับความลำบากในเรื่องอาหารขบฉันบ้าง การจาริกไปในป่าเขา นานๆ จึงจะพบปะบ้านคนสักครั้งหนึ่ง บางครั้งออกเดินทางไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งมีเพียง ๒-๓ หลัง ได้ข้าวนึ่งมา ๒-๓ ก้อน จากนั้นไม่พบผู้ใส่บาตรอีกเลย เมื่อกลับมายังกลด เปิดฝาบาตรขึ้นเพื่อพิจารณาอาหารตามปัจจเวกขณะวิธี ได้พิจารณาถึงเมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคราวเสด็จออกทรงผนวช แล้วเสด็จออกโปรดสัตว์ คือบิณฑบาตในวันแรก

“โอ้หนอ นี่นับว่าเป็นความโชคดีของเรา ที่ได้ดำเนินตามรอยพระยุคลบาทของพระพุทธองค์” ครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มพลันรู้สึกปีติท่วมท้น ลงมือฉันข้าวเปล่าๆ เพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอดเท่านั้น

เมื่อเข้าสู่เขตจังหวัดเชียงราย คณะของครูบาเจ้าชุ่มได้หยุดพักที่ป่าช้าโดยมุ่งหมายว่าจะธุดงค์ไปยัง “ถ้ำปุ่ม ถ้ำปลา” ต่อไป ขณะที่พักอยู่นั้น มีชาวบ้านนำอาหารมาถวาย และสอบถามครูบาเจ้าชุ่มว่า จะไปที่ใดต่อ ครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มได้บอกตามเจตนาว่า จะไปกราบนมัสการพระพุทธรูปบน “ถ้ำปุ่ม ถ้ำปลา”

ได้ยินดังนั้น ชาวบ้านจึงพากันขอร้องมิให้ครูบาเจ้าชุ่มไป เพราะระหว่างทางที่จะขึ้นสู่ถ้ำ ขณะนี้มีช้างตกมันตัวใหญ่อาละวาดอยู่ ช้างตัวนี้มันทำร้ายคนบาดเจ็บและตายมาหลายคนแล้ว มันดุร้ายจนไม่มีใครกล้าย่างกรายผ่านบริเวณนี้เลย ขอครูบาเจ้าโปรดยับยั้งอยู่ที่นี้ก่อน

ครูบาเจ้าชุ่มนิ่งอยู่สักครู่ จึงได้กล่าวว่า “อาตมาตกลงใจแล้วว่าจะต้องขึ้นไปบนถ้ำ เพื่อกราบนมัสการพระพุทธรูปให้จงได้ ตามวันเวลาที่กำหนด ไม่สามารถหยุดยั้งอยู่ได้ และอาตมาขอบใจมากที่ได้แจ้งข่าวให้ทราบ”

จากนั้นคณะของครูบาเจ้าชุ่ม ก็ได้ออกเดินทางเข้าป่า มุ่งหน้าสู่ถ้ำในทันที ขณะที่เดินเข้าป่า ท่านได้กำหนดจิต แผ่เมตตาให้แก่ช้างตกมันเชือกนั้น และทุกคนก็ได้พบช้างตัวนั้นกำลังอาละวาด พุ่งชนต้นไม้ใหญ่อยู่ข้างหน้าอย่างดุร้าย ครูบาเจ้าชุ่มยังคงเดินมุ่งหน้าไปเรื่อยๆ อย่างสงบ

ในขณะที่คณะของท่านเดินเข้าไปใกล้ช้างตกมันเชือกนั้น มันได้หยุดมองดูครูบาเจ้าชุ่ม และคณะก่อนที่จะหันหน้าหลบเข้าสู่กอไผ่ พร้อมกับยืนสงบนิ่ง ปัดใบหูไปมาราวกับเป็นสัตว์เชื่องตัวหนึ่ง ไม่เหลือความดุร้ายอยู่เลย ครูบาเจ้าชุ่มและคณะได้เดินผ่านไปอย่างปกติโดยไม่มีเหตุการณ์ร้ายใดๆ เกิดขึ้น ท่านเร่งเดินทางอย่างเร็ว ไม่ได้แวะพักระหว่างทาง เพราะจวนจะค่ำมืดเต็มทีแล้ว ทุกคนต่างมุ่งหน้าไปสู่ถ้ำที่อยู่เบื้องหน้าด้วยจิตใจเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวยิ่งนัก

พบฤๅษี ๔ ตนหน้าถ้ำ

เมื่อขึ้นถึงบริเวณหน้าถ้ำ ได้พบฤๅษี ๔ ตน เมื่อพวกฤๅษีเห็นคณะของครูบาเจ้าชุ่มผ่านป่าขึ้นมาได้ จึงไต่ถามระคนแปลกใจว่า

“ท่านพระภิกษุผู้เจริญ ขณะเดินผ่านป่ามาพบช้างตกมันอยู่หรือไม่”

ครูบาเจ้าชุ่มตอบคำถามของท่านฤๅษีไปตามตรงว่า

“พบ…แต่ไม่เห็นเขาทำอะไรอาตมาและคณะเลย”

เหล่าฤๅษีต่างยกมืออนุโมทนาท่วมหัว พร้อมกับอุทานออกมาว่า

“ช้างหนุ่มตัวนี้ตกมัน ดุร้ายมาก เมื่อเช้านี้มันยังไล่พวกกลุ่มของผมที่ออกไปหาผลหมากรากไม้อยู่เลย เป็นเรื่องที่น่าแปลกมากที่มันไม่ทำร้ายท่าน พวกผมที่อยู่บนถ้ำนี้ ไม่สามารถออกไปสู่ภายนอก เพื่อขอข้าวสารจากชาวบ้านได้ เป็นเวลาเกือบอาทิตย์มาแล้ว นับว่าเป็นบุญบารมีของท่านโดยแท้ ที่ช้างตกมันตัวนี้ไม่ทำอันตรายท่านเลย”

ครูบาเจ้าชุ่มได้แต่รับฟังด้วยอาการวางเฉย

ในบริเวณใกล้ถ้ำ มีสำนักสงฆ์เล็กๆ และมีพระภิกษุชราพำนักอยู่ ครูบาเจ้าชุ่มได้พาสามเณรทั้ง ๒ รูปพร้อมศรัทธาผู้ติดตาม ไปพบพระภิกษุชรานั้น พร้อมเอ่ยปากฝากศิษย์ไว้สักอาทิตย์ จากนั้นครูบาเจ้าชุ่มได้บอกแก่ลูกศิษย์ว่า

“หลวงพ่อจะเข้าไปปฏิบัติธรรมในถ้ำสัก ๗ วัน หากหลวงพ่อไม่กลับออกมา ให้พวกเธอกลับวัดกันได้เลย ในย่ามของหลวงพ่อพอมีปัจจัยอยู่บ้าง ให้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับ แล้วหากกลับไปก็ไม่ต้องบอกกล่าวสิ่งใดกับญาติโยมทั้งสิ้น”

ท่านบอกศิษย์เพียงเท่านั้น แล้วจัดแจงครองผ้าให้เป็นปริมณฑล พร้อมเตรียมดอกไม้ ธูปเทียน ไม้ขีดไฟ และตักน้ำใส่ในบาตรเดินทางเข้าสู่ถ้ำ

บรรยากาศภายในถ้ำค่อนข้างอับชื้น กลิ่นมูลค้างคาวโชยมาเป็นระยะ ท่านเดินลึกเข้าไปเรื่อยๆ แสงสว่างภายในถ้ำมีไม่มากนัก สลัวๆ เท่านั้นเอง เมื่อไปถึงบริเวณก้นถ้ำ ท่านจึงพิจารณาสถานที่ที่เหมาะสมในการเจริญสมาธิเข้านิโรธสมาบัติ

เมื่อได้สถานที่เหมาะสมแล้ว ท่านจึงปัดกวาดบริเวณพื้นถ้ำให้สะอาด จุดธูปเทียน พร้อมดอกไม้ นบนอบไหว้ ตั้งจิตอธิษฐาน รำลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระอริยสงฆ์เจ้า คุณบิดรมารดา ครูอาจารย์ เทพเทวดาอารักษ์ที่สถิตอยู่ในถ้ำแห่งนี้ อาตมาเข้ามาปฏิบัติธรรม ขอให้ช่วยดูแลให้ได้รับความสะดวกในการปฏิบัติธรรมพอสมควรด้วย

จากนั้นจึงเริ่มต้นนั่งสมาธิเข้านิโรธสมาบัติ เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืนติดต่อกัน โดยมิได้ฉันอาหารใดๆ เลย นอกจากน้ำในบาตรที่นำเข้าไปเท่านั้น เมื่อครบกำหนด ๗ วัน ครูบาเจ้าชุ่มได้กำหนดจิตถอนสมาธิออกจากนิโรธสมาบัติ ท่านพบว่าจีวรและสังฆาฏิที่ครองอยู่เปียกชื้นไปหมด จากนั้นท่านจึงได้ลุกเดินออกมาสู่บริเวณใกล้ๆ ปากถ้ำ และได้พักนิ่งอยู่ เพื่อเตรียมจะเข้านิโรธสมาบัติต่อไปอีกเป็นวันที่ ๘

หนูท้องขาวกระทำทักษิณาวัตร

ขณะนั้นเอง ท่านแลเห็นหนูท้องขาวตัวหนึ่ง วิ่งมาวนกระทำทักษิณาวัตรรอบองค์ของท่าน แล้วหยุดยืนยกสองขาหน้าขึ้น ต่อหน้าครูบาเจ้าชุ่มถึงสามครั้ง ในลักษณะนบไหว้ จากนั้นมันจึงวิ่งหนีหายเข้าไปภายในถ้ำ แล้วครูบาเจ้าชุ่มก็เข้านิโรธสมาบัติต่อไปเป็นวันที่ ๘ ตามความตั้งใจ จนรุ่งสาง ท่านจึงถอนจิตออกจากนิโรธสมาบัติ ตรวจตราความเรียบร้อยแล้วจึงสะพายบาตรเดินออกสู่ปากถ้ำ เพื่อจะไปพบลูกศิษย์ของท่านที่รออยู่ ณ สำนักสงฆ์เบื้องล่าง

เมื่อถึงปากถ้ำ ปรากฏว่าพระภิกษุผู้ชรา พร้อมลูกศิษย์ของท่านได้พากันมายืนคอยท่านอยู่แล้ว ทุกคนต่างตรงเข้าประคองครูบาเจ้าชุ่มลงไปที่สำนักสงฆ์เบื้องล่างและต้มข้าวถวายครูบาเจ้าชุ่ม พร้อมกับเอ่ยคำว่า “ท่านครูบาจะเข้านิโรธสมาบัติก็ไม่บอกผมด้วย จะได้บอกชาวบ้านเขามาเอาส่วนบุญ”

ครูบาเจ้าชุ่มก็ได้แต่ยิ้ม มิได้กล่าวประการใด จากนั้นท่านจึงนำคณะผู้ติดตามออกธุดงค์ต่อไป เพื่อจะไปนมัสการพระธาตุดอยตุง ขณะที่เดินลึกเข้าไปในป่าเขาเรื่อยๆ ยิ่งไม่พบพานบ้านคนเลย ขณะนี้เป็นเวลาใกล้จะเพลแล้ว ท่านเกรงว่าลูกศิษย์จะทนความหิวไม่ได้ ท่านจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า

“ด้วยกุศลผลบุญที่ได้เพียรปฏิบัติมาในการออกธุดงค์ครั้งนี้ ขอให้ได้พบบ้านผู้คนเพื่อบิณฑบาตด้วย”

พบชายชราผู้วิเศษ

ครูบาเจ้าชุ่ม นำคณะเดินต่อมาอีกไม่นาน ก็ได้พบกับบ้านหลังหนึ่ง มีชายชราสูงอายุคนหนึ่งกำลังนั่งเหลาไม้อยู่ที่ชานเรือน เมื่อได้เห็นครูบาเจ้าชุ่มและลูกศิษย์ ก็รีบเข้ามานิมนต์ให้แวะมาฉันน้ำเสียก่อน จากนั้นก็รีบขึ้นบนเรือนไปจัดภัตตาหาร แล้วนิมนต์ครูบาเจ้าชุ่ม และสามเณร ให้ขึ้นไปฉันเพลบนเรือนทันที เมื่อครูบาเจ้าชุ่มรับนิมนต์และฉันเพลเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ให้ศีลให้พรแก่ชายชราผู้นั้นตามลำดับ จู่ๆ ชายชราก็สอบถามครูบาเจ้าชุ่ม ถึงรายละเอียดในการปฏิบัติธรรมขึ้นมา แล้วยังพูดว่า

“การเข้านิโรธสมาบัติได้ถึง ๗ – ๘ วัน โดยไม่อ่อนเพลียเช่นนี้ นับว่าท่านเข้าถึงธรรมชั้นสูง มีบุญบารมีมาก ขอให้รักษาไว้ให้ดี เพื่อจักได้เมตตาโปรดสัตว์โลกและมวลมนุษย์ต่อไป”

จากการตั้งปัญหาถามเองและตอบเองนี้ ยังความแปลกใจให้กับครูบาเจ้าชุ่มมาก เพราะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน อีกทั้งท่านก็ยังไม่ได้เอ่ยอ้างหรือสนทนาธรรมใดๆ กับชายผู้นี้เลย นอกจากนั้น ชายชราผู้นี้ยังได้อาสาเป็นผู้นำทางพาครูบาเจ้าชุ่มออกสู่ถนนหลวง และเมื่อถึงชายป่าและชี้ทางสู่ถนนหลวงแล้วจึงได้รีบอำลากลับทันที โดยครูบาเจ้าชุ่มมิได้หันกลับไปมองชายชราผู้นั้นอีกเช่นกัน

ครูบาเจ้าชุ่มเคยกล่าวถึงการอดอาหารนานๆ ว่า “ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยหรืออ่อนเพลียหิวโหยเท่าใดนักเป็นการปฏิบัติธรรมด้วยความสมัครใจ เป็นการฝึกความอดทน ความเพียรพยายาม ให้บรรลุซึ่งมรรคผลทางธรรมต่อไป”

ศิษย์ผู้ได้รับมอบไม้เท้า และพัดหางนกยูง จากครูบาเจ้าศรีวิชัย

ครูบาเจ้าศรีวิชัย-ตนบุญแห่งล้านนา ได้ริเริ่มดำเนินการก่อสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ จึงได้เรียกหาครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก ผู้เป็นศิษย์ให้เข้ามาช่วยเหลือ​การก่อสร้างด้วย ตอนนั้นครูบาเจ้าชุ่มมีอายุเพียง ๓๗ ปี ท่านได้มาอยู่รับใช้ช่วยเหลืองานของครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มเจ้าศรีวิชัยอย่างใกล้ชิด โดยครูบาเจ้าชุ่มทำงานในแผนก “สูทกรรม” เวลาต่อมา พระภิกษุหนุ่มวัยยี่สิบเศษนาม “ตุ๊วงศ์” หรือ หลวงปู่ครูบาวงศ์ ก็มาปวารณาตัวช่วยงานครูบาเจ้าศรีวิชัยด้วยเช่นกัน โดยตุ๊วงศ์ทำงานในแผนก “ดินระเบิด” ท่านครูบาศรีวิชัยได้แบ่งหน้าที่การงานต่างๆ มอบหมายให้พระลูกศิษย์แต่ละท่านอย่างชัดเจน

จากการที่ได้อยู่ใกล้ชิดช่วยเหลือกิจการงานดังกล่าว ครูบาเจ้าชุ่มจึงมีโอกาสได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติจากครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างเต็มที่ ท่านได้นำไปฝึกฝนปฏิบัติต่อหลังจากเสร็จงานทุกวัน จนเกิดความชำนาญแตกฉานขึ้นตามลำดับ

ในยามค่ำ ครูบาเจ้าศรีวิชัยท่านจะอบรมสั่งสอนธรรมะ และการเจริญพระกรรมฐานแก่พระเณรและประชาชนทั่วไป โดยท่านจะเริ่มวัตรปฏิบัติในเวลาตี ๔ ของทุกวัน ครั้นฟ้าสว่างแล้วก็ให้พระเณรออกบิณฑบาต โดยข้อวัตรปฏิบัติทั้งหลายที่ท่านสอนนั้น ท่านยังได้บอกว่า

“หากปฏิบัติถูกต้องแล้ว จะมีอายุยืนยาว”

ครูบาเจ้าชุ่ม ได้อยู่ศึกษาปฏิบัติ และช่วยเหลืองานของครูบาศรีวิชัยหลายด้าน จนท่านเป็นที่รักและเมตตาของครูบาศรีวิชัยเป็นอย่างยิ่ง บางครั้งท่านได้รับความไว้วางใจให้อยู่ดูแลรักษาวัด ทำหน้าที่เหมือนเจ้าอาวาสแทนเวลาที่ครูบาศรีวิชัยไม่อยู่ เพราะตอนนั้นครูบาศรีวิชัยถูกเรียกตัวเข้าพระนคร (กรุงเทพฯ) บ่อยๆ จากกรณีต้องอธิกรณ์ต่างๆ  ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ฝากให้ครูบาเจ้าชุ่มทำหน้าที่แทนท่าน ตั้งแต่การรับประเคนเครื่องไทยธรรม จนถึงการนั่งรับแขกที่มาหาครูบาเจ้าศรีวิชัย  โดยระบุว่า “หากพวกชาวบ้านมาหาให้ต้อนรับ ให้ศีลให้พรแทนด้วย บอกเขาด้วยว่า ไม่กี่วันเฮาจะกลับมา”

แม้ในขณะที่ครูบาเจ้าชุ่มกลับไปประจำที่วัดวังมุย เมื่อครูบาศรีวิชัยมีกิจธุระ ก็จะส่งคนไปตามท่านถึงวัดวังมุย และทุกครั้งครูบาเจ้าชุ่มก็เต็มใจเดินทางมาสนองงานอาจารย์ของท่านด้วยความผูกพันและกตัญญู

ช่วงที่การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพใกล้จะแล้วเสร็จนั้น ในวันหนึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เรียกครูบาเจ้าชุ่มเข้าไปพบ เพื่อทบทวนธรรมะพระสูตรต่างๆ ทั้งหมดที่เล่าเรียนกันมา จากนั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มอบพัดหางนกยูงพร้อมกับไม้เท้าประจำองค์ท่านให้ครูบาเจ้าชุ่ม โดยสั่งไว้ด้วยว่า “เอาไว้เดินทางเทศนา”

ในช่วงบั้นปลายชีวิตของครูบาเจ้าศรีวิชัย ท่านอาพาธและรักษาตัวอยู่ที่วัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน ศิษย์ใกล้ชิดที่คอยพยาบาลอุปัฏฐากท่านในตอนนั้น  คือ ครูบาเจ้าชุ่ม วัดชัยมงคล (วังมุย) จ.ลำพูน, ครูบาบุญทืม พรหมเสโน วัดจามเทวี จ.ลำพูน และครูบาธรรมชัย ธมฺมชโย วัดทุ่งหลวง จ.เชียงใหม่

ครูบาชุ่ม โพธิโก
ครูบาชุ่ม โพธิโก

พระรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย ปั้นขณะท่านยังมีชีวิตอยู่

ตอนนั้นครูบาเจ้าชุ่มได้ให้ช่างมีฝีมือคนหนึ่ง คือ “หนานทอง” ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านเอง มาปั้นรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัยขนาดเท่าองค์จริงในท่านั่งสมาธิ หนานทองได้ใช้เวลาทำงานอยู่หลายวัน ด้วยความที่ครูบาศรีวิชัยอาพาธอยู่ หนานทองจึงต้องเทียวเดินเข้า-ออกจากห้องที่ท่านครูบาเจ้าพักอยู่ วันหนึ่งหลายครั้ง โดยเข้ามาดูหน้าท่าน แล้วก็เดินกลับไปปั้นรูป หากติดขัด ไม่แน่ใจบริเวณส่วนไหน ก็เดินมาดูหน้าองค์ท่านอีก ทำแบบนี้อยู่หลายครั้ง จนในที่สุดก็ปั้นเสร็จ จึงได้ตกแต่งทาสีเรียบร้อยสมบูรณ์

จากนั้น ครูบาเจ้าชุ่มได้ให้ยกพระรูปเหมือนนั้นมาตั้งไว้ตรงปลายเท้าครูบาเจ้าศรีวิชัยในขณะที่ท่านยังหลับอยู่ รอจนท่านตื่นขึ้น ครูบาเจ้าชุ่ม กับครูบาธรรมชัยได้ช่วยกันประคองท่านให้ลุกขึ้นนั่ง พอท่านได้เห็นพระรูปเหมือนขนาดเท่าจริงของตน ก็ตื้นตันจนหลั่งน้ำตาออกมา ท่านได้ใช้มือลูบคลำรูปเหมือนของตน จากนั้นได้ละมือจากรูปเหมือน มาถอดประคำที่ท่านคล้องคออยู่ เพื่อนำประคำไปคล้องที่คอของรูปเหมือนแทน และยังได้มอบไม้เท้าพร้อมทั้งพัดหางนกยูงให้อีก ๑ คู่ จากนั้นท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยได้กล่าวขึ้นว่า

“รูปเหมือนนี้จะเป็นตัวแทนเราต่อไปในภายภาคหน้า”

และได้สั่งเสียให้เก็บรักษาไว้ ถือปฏิบัติแทนตัวท่าน ต่อมาอีกไม่นาน ครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ได้มรณภาพลง เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ณ วัดบ้านปาง ขณะอายุได้ ๖๐ ปี ๘ เดือน ๑๐ วัน

ในภายหลัง ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก ได้อัญเชิญพระรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย จากวัดจามเทวี มาประดิษฐานยังวัดชัยมงคล (วังมุย) จึงนับเป็นพระรูปเหมือนเพียงองค์เดียวที่ได้ปั้นขึ้นในสมัยที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย-ตนบุญแห่งล้านนายังมีชีวิตอยู่ ซึ่งพระรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัยนี้ขึ้นชื่อลือเลื่องในความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ชาวบ้านวังมุยและประชาชนทั่วไปได้ยึดเป็นที่พึ่งที่ระลึกมาจนปัจจุบัน

การบูรณะวัดพระธาตุจอมกิจจิ* อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

*วัดพระธาตุจอมกิจจิ จ.เชียงใหม่ – ปัจจุบันเรียกว่า วัดพระธาตุจอมกิตติ พ้องกับที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม มีวัย ๗๗ ปี แล้ว ในตอนที่มานั่งหนักเป็นประธาน บูรณะวัดพระธาตุจอมกิจจิ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ แม้ท่านจะชราภาพแล้ว แต่ดูเหมือนจะมีเหตุให้ต้องมาทำภารกิจนี้ในที่สุด อาจจะเนื่องเพราะวาจาสิทธิ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ผู้เป็นพระอาจารย์ของท่าน ซึ่งกล่าวกับผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ ตอนเขาเหล่านั้นมาอาราธนาท่านให้บูรณะวัดพระธาตุจอมกิจจิ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้

“สถานที่นี้ต้องรอเจ้าของเขามาสร้าง ซึ่งจะเป็นศิษย์ของเราเอง โดยจะเริ่มสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๑๘”

และในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ นี้เอง ที่หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มได้พบกันด้วย “กายเนื้อ” กับหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) วัดท่าซุง เป็นครั้งแรก

หลวงพ่อพระราชพรหมยานท่่านเป็นพระอริยะเจ้าผู้มีชื่อเสียงเกียรติคุณขจรไกล มีศิษยานุศิษย์มากมายทั่วประเทศ ในราวปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ท่านพาคณะศิษย์เดินทางมากราบพระอริยเจ้า “สายเหนือ” ที่ท่านเรียกว่า “พระสุปฏิปันโน” หลายรูป รวมทั้งหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก ด้วย มูลเหตุดังนี้จึงทำให้คนเมืองหลวง และภาคอื่น ๆ ได้รู้จักพระ “อริยเจ้า” อีกหลายรูป ซึ่งหลบเร้นอยู่ในดินแดนแห่งป่าเขาทางภาคเหนือ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน

แล้วก็ด้วยเหตุนี้เช่นกัน ทำให้หนังสือของวัดท่าซุงหลายเล่ม มีเนื้อหากล่าวถึงหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มอยู่ไม่น้อย เช่น หนังสือ “ตามรอยพระบาท” ของ พระอาจารย์ชัยวัฒน์ อชิโต วัดท่าซุง

“ตามรอยพระบาท” มุ่งนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์-ตำนานอันทรงคุณค่า เนื่องแต่การเดินทางเผยแผ่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางสถานที่ ยังเป็นการตามรอยพระบาทของครูบาอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่ อย่างครูบาเจ้าศรีวิชัยด้วย เพราะสถานที่นั้น ๆ ครูบาอาจารย์ให้ไปสักการะ บูรณะ พัฒนาไว้ก่อนแล้ว นับเป็นการตามรอยพระบาทสมดังชื่อหนังสืออย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ตอนหนึ่งในหนังสือ ยังได้ตีพิมพ์บทสนทนาระหว่าง หลวงพ่อพระราชพรหมยาน และหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก เมื่อครั้งที่ท่านทั้งสอง พบกันที่วัดพระธาตุจอมกิจจิ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงขออนุญาตพระคุณเจ้าคัดลอกมาบางส่วนมานำเสนอ เพื่อเจริญศรัทธาของสาธุชนรุ่นหลัง ให้ได้ทราบถึงปฏิปทาของพระอริยเจ้าทั้งสอง เสมือนดังได้ไปกราบใกล้ชิด ฟังเรื่องราวต่างๆ ด้วยตนเอง


“บัดนี้ นับเป็นโอกาสอันดี ที่จะเผยแพร่เทปบันทึกการสนทนาระหว่าง “หลวงพ่อฤๅษีฯ” กับ “หลวงปู่ชุ่ม” โดยมี “หลวงปู่บุญทืม” นั่งอยู่ด้วย ซึ่งคำสนทนาเหล่านี้ยังไม่เคยลงหนังสือเล่มใดมาก่อน

ณ วัดพระธาตุจอมกิจจิ เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๘

คำสนทนาระหว่าง หลวงพ่อฤๅษีฯ กับหลวงปู่ชุ่ม

หลวงพ่อฤๅษีฯ – หลวงปู่เล่าประวัติให้ฟังซิครับ

หลวงปู่ชุ่ม – วันนี้อาตมาขอเจริญพรท่านพระเดชพระคุณเจ้า และทายกทายิกาทั้งหลายทุกท่าน มีท่านพระเดชพระคุณเจ้าเป็นหัวหน้า ที่ได้ออกเดินจะมา อ้า…ตามกันมาทำบุญทำทาน และปรารถนาบุญโชคลาภอันนี้ ก็ได้เข้ามาที่ดอยกิจจินี้ อาตมามีความปลื้มอกปลื้มใจปราโมทย์ด้วยเหตุหลายอย่างหลายประการ พระบรมธาตุในสถานที่นี้อาจจะสำเร็จด้วยคราวนี้ พระเดชพระคุณเจ้านำพวกญาติโยมทั้งหลายเข้ามาในสถานที่นี้ แต่ว่าดอยกิจจิเป็นมาอย่างไร อาตมาก็ยังไม่รู้ซึ้ง อาตมาก็อยู่ในจังหวัดลำพูน คือที่นี่เป็นอำเภอสันทราย จังหวัดลำพูนก็ซ้อนกับเชียงใหม่ ก็ขึ้นมาประจำอยู่ที่นี่ในราวสักเดือนกว่า ๆ แล้ว ก็มาได้สร้างพระบรมธาตุ สร้างศาลา และได้สร้างพระนอนอันนี้

พระบรมธาตุนี้ ปางเมื่อพระพุทธองค์เราเสด็จมาถึงที่นี่ ครั้งที่หนึ่งจะมาวางประทับเหยียบย่ำที่นี่ก็ไม่มีอันใดจักเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าก็กลับไปโปรดเบื้องหน้าทิศหนึ่ง ครั้นมาครั้งที่สอง ก็เข้ามาในสถานที่นี้ มาลูบหัว ก็ไม่ได้เกศาอะไร พระพุทธเจ้าก็เลยลอยขึ้นด้วยอิทธิฤทธิ์ แล้วก็เปล่งรัศมีออกไปสี่ทิศ มีพระพุทธรูปสี่องค์ องค์ที่หนึ่งที่สองเอาหลังเข้านาบด้วยกัน แล้วเบนหน้าไปสองทิศ คือทิศตะวันตก และทิศตะวันออก องค์ที่สอง ก็เบนหน้าขึ้นเหนือล่องใต้ มีพระอินทร์มารับเอาที่พระเนรมิตนั้นแหละ ฝังลงในพระบรมธาตุเจ้า ลึกอยู่สิบสองศอก เป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดา ในฐานะที่พระบรมธาตุเจ้านี้เป็นที่พระเนรมิตด้วย อีกอย่างหนึ่ง อาตมาก็จะสร้างพระไสยาสน์ คือพระนอน ก็ยาวสิบสองศอกเท่าพระเนรมิตด้วย อาตมาก็สืบประวัติมาถึงแค่นี้แหละ แล้วก็มีพระอยู่ ๓ รูป รูปที่ ๑ ก็มาสร้างพระบรมธาตุนี้ ก็เสร็จไป แล้วก็โทรมลงไปอีก ถึงครั้งที่ ๒ ที่พระมาสร้างพระบรมธาตุนี้ ก็กลับมาโทรมไป พอถึงครั้งที่ ๓ ก็จะมาเป็นใครก็ไม่รู้ละ ก็จะขออาราธนาพระเดชพระคุณเจ้ามาเป็นหลักฐานอยู่ที่นี่

หลวงพ่อฤๅษีฯ – ไม่ได้น่ะ เอาคนมาเป็นหลัก มันเป็นไปได้เหรอ

หลวงปู่ชุ่ม – ครับ

หลวงพ่อฤๅษีฯ – ก็มีอยู่แล้ว หลวงปู่ชุ่มนั่นแหละนะ หลวงปู่ก็เป็นหลักอยู่แล้วไม่เป็นไรครับ

หลวงปู่ชุ่ม – ที่พระบรมธาตุเจ้านี่ อาตมาก็ได้เข้ามาอยู่ในสถานที่นี้ มาพัฒนาอยู่ที่นี้ก็ยังไม่นานสักเท่าไร ก็ได้เดือนกว่า ๆ พระบรมธาตุเจ้าก็เสร็จไป และศาลาหลังหนึ่งก็เสร็จไปแล้ว ก็ยังอยู่พระไสยาสน์นั่นแหละ ยังไม่ลงมือทำ ก็จะทำกันวันนี้ จึงนับว่าเป็นปรารถนานาบุญโชค โชคดี พระเดชพระคุณเจ้าได้นำพวกญาติโยม ทายก ทายิกา เข้ามาในจอมกิจจินี้ ก็นับว่ากระผมก็มีความปลื้มอกปลื้มใจในคราวนี้ ขออนุโมทนาสาธุการทุกสิ่งทุกประการด้วย

ฆราวาส – เป็นแสงพุ่ง

หลวงพ่อฤๅษีฯ – เป็นแสงสว่างขึ้นเหรอ

ฆราวาส – ครับ

หลวงพ่อฤๅษีฯ – เอ… ปรากฏเป็นขึ้นเฉยๆ  หรือว่าจะเป็นดวงดาวลอยมีมั่งมั้ย

ฆราวาส – ก็…มันเป็นแสงพุ่งขึ้นไปนะครับ

หลวงพ่อฤๅษีฯ – เออ…งั้นก็ใช้ได้ เคยเห็นเหมือนกัน ที่เป็นแสงพุ่งนี่ก็เคยเห็นที่จังหวัดประจวบฯ ที่เกาะยายฉิม คืนนั้นไปนอนอยู่กลางดึก ฉันตื่นขึ้นมาเห็นแสงสว่างพุ่งขึ้นมา สว่างจัดนะ เออ…ก็ดี ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ ก็เป็นนิมิตน่ะ ในนั้นต้องมีพระบรมสารีริกธาตุ หรือว่าจอมเกศาแน่

หลวงปู่ชุ่ม – ใช่ครับ

หลวงพ่อฤๅษีฯ – ดอยนี่ก็สูง หลวงปู่ทำทางขึ้นมาเองเรอะ

หลวงปู่ชุ่ม – ทำทางมาเอง กับพวกญาติโยมเขา…

หลวงพ่อฤๅษีฯ – ครับๆ หลวงปู่ดีแล้วไปได้ไม้ เท้าครูบานะ (ไม้เท้าของครูบาศรีวิชัย) เอ๊ะ.. หลวงปู่ทึมได้อะไรที่ครูบาไว้ครับ..เห็นโลงตั้งข้างนี่

หลวงปู่บุญทึม  ไม่มีอะไร

หลวงพ่อฤๅษีฯ – ไม่มีอะไร..เห็นโลงหีบตั้งข้าง ตั้งอยู่นี่..โลงฝากใคร หรือว่าโลงฝากหลวงปู่ เอาแบบครูบาไว้ได้ บ้านหลังสุดท้ายไว้หลวงปู่ทึม

หลวงปู่บุญทึม – ได้บ้านหลังสุดท้าย

หลวงพ่อฤๅษีฯ – เหมือนบ้านหลังสุดท้ายนั่นนะ หลวงปู่นี่ได้ไม้เท้า

หลวงปู่ชุ่ม – ได้ไม้เท้า

หลวงพ่อฤๅษีฯ – เลยต้องเท้าเรื่อยไปเลย

หลวงปู่ชุ่ม – ครับ

ลูกศิษย์ – ตอนนี้รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๑๑,๔๐๔ บาทครับ

หลวงพ่อฤๅษีฯ – ความจริงนี่ พวกเราไม่ใช่พวกจนๆ นะ..พวกรวย ถ้ากลับไปนี่รวยกันใหญ่นะ ขอให้ทุกคนจงรวยกัน เพราะว่าไปวัดไหนก็ทำบุญกันทุกวัด การทำทานแก่พระอริยเจ้าอย่างหนึ่ง แล้วก็ทำทานเพื่อพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา

นี่เราบูชาพระพุทธเจ้าโดยตรงกัน เพราะว่าเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จประทับ ฉะนั้น อานิสงส์ที่จะมีมากเป็นของธรรมดา นี่กลับไปนี่ก็หากว่าใครอยากถูกหวยก็ขอให้ถูกนะ ใครอยากได้ขึ้นเงินเดือนก็ขอให้ได้ขึ้น ใครอยากค้าขายให้ร่ำรวย ก็ขอให้ร่ำรวยสมความปรารถนา แต่ใครได้มากเท่าไรก็ไม่ว่า แบ่งพระครึ่งหนึ่งดีไหมครับ?

หลวงปู่ชุ่ม – ครับ

หลวงพ่อฤๅษีฯ – อันนี้เป็นอานิสงส์จริงๆ นี่เราทำกันนี่ไม่มีอะไรเป็นสัญลักษณ์ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องแลกเปลี่ยน ไม่ใช่ว่าทำบุญหวังโน่นหวังนี่ เราทำกันมาก็เพราะว่าท่านบอกว่า ที่นี่ท่านจะสร้างเป็นวิหารทาน เราก็ทราบอยู่แล้วว่า วิหารทานนี่มีอานิสงส์สูงสุดในด้าน อามิสทาน ทั้งปวง แล้วก็สำหรับผู้รับทานก็เป็นพระบริสุทธิ์ หากว่าท่านไม่บริสุทธิ์ ท่านก็ตกนรกไปเองนะ พวกเราไม่ต้องห่วง จะตายมั๊ยล่ะหลวงปู่น่ะ?

หลวงปู่ชุ่ม – ไม่ตายน่ะ

หลวงพ่อฤๅษีฯ – ไม่ตาย..อ้าว..แล้วไม่ตาย..นี่แสดงว่าบริสุทธิ์นะ

หลวงปู่ชุ่ม –ทุก..ทุกๆ วันนี่กระผมก็หนีไปจากนรก

หลวงพ่อฤๅษีฯ – หา…!

หลวงปู่ชุ่ม – อยากใคร่ไปพระนิพพาน

หลวงพ่อฤๅษีฯ – หา…!  (หลวงพ่อแกล้งงง)

หลวงปู่ชุ่ม – หนี..หนีไปจากนรก อยากใคร่ พระนิพพานด้วย

หลวงพ่อฤๅษีฯ – อ๋อ..อย่างนั้นเหรอ!

หลวงปู่ชุ่ม – ครับ

หลวงพ่อฤๅษีฯ – ระหว่างนี้หนีนรก….อยากไป…นิพพาน

หลวงปู่ชุ่ม – นิพพาน

หลวงพ่อฤๅษีฯ – ไปยัง..ไปยังครับ?

หลวงปู่ชุ่ม – หา…!  (หลวงปู่แกล้งงงบ้าง)

หลวงพ่อฤๅษีฯ – จะไปหรือยังล่ะ?

หลวงปู่ชุ่ม – อ้อ..ยังอยู่รอญาติโยมทั้งหลายมามากก่อน

หลวงพ่อฤๅษีฯ – นี่ก็จะไปนะนี่ อ้อ…

หลวงปู่ชุ่ม – จะเอาพวกญาติโยมไปด้วยกัน เป็นหมู่เป็นฝูงด้วย

หลวงพ่อฤๅษีฯ – ครับ ๆ อ๋อ…

ลูกศิษย์ – สาธุ…!

หลวงพ่อฤๅษีฯ – ได้ไปแน่นะ?

หลวงปู่ชุ่ม – ครับ

หลวงพ่อฤๅษีฯ – นี่ก็ต้องเป็นเรื่องธรรมดา

หลวงปู่ชุ่ม – ใช่

หลวงพ่อฤๅษีฯ – พระพุทธเจ้าตรัสว่า การคบคนเช่นใด ย่อมเป็นเหมือนคนเช่นนั้น ถ้าเราคบพระอริยเจ้า เราก็จะได้เป็นพระอริยเจ้าด้วย ถ้าเราคบสัตว์นรก เราก็ได้เป็นสัตว์นรกด้วย แต่นี้หลวงปู่ท่านบอกว่า ท่านหนีจากนรกจะไปนิพพาน เมื่อท่านไปได้ พวกเราไปไม่ทันก็ช่วยกันดึงสบงไว้ ทำไมล่ะ..ดึงจีวรไม่แน่น่ะ พอ มีสบงไปได้นะ ถ้าพวกเราไปดึงสบงเข้าไว้ก่อน ไม่กล้าไปล่ะ นางฟ้าตามชั้นอยู่กราว ก็เขาผ่านน่ะ ผ่านสวรรค์นะ

หลวงปู่ชุ่ม – ครับ

หลวงพ่อฤๅษีฯ – เอ้อ..ถ้าฉะนั้น..เป็นอันว่าการบำเพ็ญกุศลวันนี้นะ ตอนนี้รู้สึกว่าอันนี้เรา จะพูดอานิสงส์ ต้องจัดเป็นอานิสงส์ใหญ่มาก เพราะว่าเราไม่มีเจตนาเดิมไว้ก่อน การทำบุญนี่ ถ้าเราตั้งท่าทำ..เตรียมการทำนี่..เขาบอกว่าอานิสงส์ที่จะพึงได้นั้น ก็คือได้ด้วยกิจปกติเกี่ยวกับการงาน ถ้าบุญประเภทใด ทำด้วยอาการฉับพลัน โดยไม่มีการเตรียมการไว้ก่อน ท่านบอกว่าจะเป็นบุญได้ลาภลอย อย่างพวกถูกล็อตเตอรี่ หรืออยู่ๆ ชาวบ้านเขาเอาเงินมาให้ บอกลาภให้ บอกการค้าให้ อย่างนี้ไม่คิดขึ้น นี่เป็นผล เคยสังเกตมาตั้งแต่เด็ก หลวงพ่อปาน เคยบอกมา บางทีเห็นหน้าขอท่านก็ไม่เห็น ขอทานไม่เข้ามาขอก็เรียกเข้ามารับ หนักๆ เข้าเวลาเราจะไปทางไหนมันจะอดตาย กลับได้มากกว่าที่คิดว่าจะพึงได้ ผลไม่ได้ตั้งใจ จะได้มันเอง นี่ก็เป็นอานิสงส์ นี่ก็เหมือนกัน สถานที่นี้ก็ดี ที่อื่นใดก็ดี ที่เรามาตั้งใจนมัสการ เราไม่ได้คิดว่าจะมาทำบุญกันเท่าไหร่ โดยเฉพาะสถานที่นี้ เราไม่เคยตั้งใจกันมาเลยว่าจะมา แล้วเมื่อมากันแล้ว ทุกคนก็มีศรัทธาด้วยกำลังจิตที่ศรัทธาแท้ เพราะว่าในฐานะเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่แสดงว่าพวกเรานี่ เคยพบกันมาก่อน เป็นญาติมิตรกันมาก่อน และเคยร่วมบำเพ็ญบารมีกันมาในกาลก่อน..ใช่ไหมหลวงปู่?

หลวงปู่ชุ่ม – ใช่

หลวงพ่อฤๅษีฯ – ถึงได้มาพบกันเข้าแล้วก็ตั้งใจ บำเพ็ญกุศลอย่างนี้เรียกว่า “ทำบุญกุศลด้วยอาการของการฉับพลัน” ฉะนั้น อานิสงส์ที่จะพึงได้ ก็ได้ในฉับพลันเหมือนกัน เข้าใจว่าไปคราวนี้ ทุกท่านถูกหวยหมด ถ้าไม่ถูกมาบีบคอหลวงพ่อชุ่มก็แล้วกัน..!

หลวงปู่ชุ่ม – เอาเป็นประกันที่ดี

หลวงพ่อฤๅษีฯ – อ้า..ถือว่าเป็นอานิสงส์ใหญ่ นี่เป็นเรื่องจริงนะ การทำบุญฉับพลัน ให้ผลฉับพลันจริงๆ การฝืดเคืองใดๆ จะปรากฏ ให้สังเกตดูไว้ ถ้าทำบุญแบบนี้ การหา..ความเป็น อยู่จะคล่องตัวขึ้นมาทุกทีๆ แล้วหนักๆ เข้า เราไม่คิดว่าเราจะพึงได้ขนาดนี้ เราไม่คิดว่าจะเคยพบ เราก็จะได้พบ

อย่างนี้อาตมาเองประสบมากับตัวเอง คือตั้งแต่บวชพรรษาแรก เขาเรียกว่าทำบุญล่อนจ้อนทุกปี เหลือไตรชุดเดียว แล้วก็ของทุกอย่างออกพรรษาแล้วไม่ให้มันเหลือ ต่อมาในระหว่างนี้ สวดมนต์เย็นก็ไม่ไหว เทศน์ก็ไม่ไหว แต่ก็ไม่อดตาย บรรดาญาติโยมสงเคราะห์ นี่ก็เพราะอาศัยอานิสงส์ปัจจุบันที่ทำ ก็ทำบุญอาการฉับพลัน

ฉะนั้น บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททุกท่านที่มากันในคราวนี้ หรือคราวก่อนก็ดี การกระทำทุกอย่าง อาตมารู้สึกว่าเป็นที่พอใจมาก เพราะปฏิบัติเป็นปฏิปทาเดียวกันอย่างที่อาตมาได้ทำมา ฉะนั้น ผลบุญอันใดที่อาตมาได้ทำมาแล้ว ได้รับผลในปัจจุบันคือว่าไม่อดตายนี่ฉันใด อาตมาก็หวังอย่างยิ่งว่า บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ก็คงมีการคล่องตัวเช่นเดียวกัน

หลวงปู่ชุ่ม – วันนี้อาตมาก็มีความปลื้มอก ปลื้มใจกับพวกญาติโยม ทายกทายิกาทั้งหลาย ได้เดินสัญจรมาทำบุญในคราวนี้ เพราะพระเดชพระคุณเจ้าเป็นหัวหน้าพวกทายกทายิกา ทั้งหลายเข้ามาที่ดอยจอมกิจจิ และได้เอาจตุปัจจัยมาถวายพัฒนาทางขึ้น คราวนี้ขอคุณพระศรีไตรรัตนะทั้ง ๓ ประการ ตั้งอยู่กระหม่อมจอมขวัญแห่งบรรดา ทายกทายิกา เพื่ออยู่ชุ่มเนื้อเย็นใจ คิดหาอันใดก็สมบูรณ์ทุกสิ่งทุกประการ ทำการทำงานอันใด ก็ขอหื้อสมดังคำปรารถนาทุกอย่างทุกประการเทอญ

ลูกศิษย์ – สาธุ..!

หลวงพ่อฤๅษีฯ – เวลานี้ก็ปรากฏว่าเหลืออีก ๕ นาที ๑๖.๐๐ น. เห็นจะลาหลวงปู่กลับได้แล้วสินะ สตุ้ง..สตังค์..หลวงปู่เอาหมดแล้ว นี่ขืนอยู่.. ดีไม่ดีก็ต้องแก้กางเกงไว้ให้อีกทีละยุ่งเลย.. ที่นี่มีความสำคัญ…

หลวงปู่ชุ่ม – ใช่ครับ ตอนกระผมมาพักอยู่ นี้ ได้อยู่เดือนกับสิบหกวันครับ

หลวงพ่อฤๅษีฯ – สงสัยว่า พระมหากัจจายนะ จะมานะ

หลวงปู่ชุ่ม – อะไร?

หลวงพ่อฤๅษีฯ – สงสัยว่าพระมหากัจจายนะจะมาบ่อย

หลวงปู่ชุ่ม – ใช่

หลวงพ่อฤๅษีฯ – เมื่อกี้เห็นผ่านไป ตอนมาแล้ว พระมหากัจจายนะท่านเป็นนักเทศน์อยู่นี่

หลวงปู่ชุ่ม – ใช่

หลวงพ่อฤๅษีฯ – นะครับ..ก็เพราะเป็นพุทธภูมิเก่า ไปไหนมักจะเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ เป็นแดนเก่าแน่ เพราะว่าตอนที่หลวงปู่ให้พร ผ่านมาให้เห็นหลายองค์ องค์หนึ่งรู้สึกขาวใหญ่ ใส..สวยดี สงสัยจะเป็นพระมหากัจจายนะ

หลวงปู่ชุ่ม – ครับ

หลวงพ่อฤๅษีฯ – ความจริงก็จะเริ่มเป็น ปฏิรูปเทสจริงๆ (คำว่า “ปฏิรูปเทส” คือเป็นสถานที่อันเหมาะสม) ถึงได้มองเห็นเพราะเป็นรัศมี จริงๆ คิดถึงไหว้พระพุทธเจ้าที่ไหนก็ถึง ไหว้ในส้วมก็ถึง..ถึงไหมครับ?

หลวงปู่ชุ่ม – ใช่ครับ

หลวงพ่อฤๅษีฯ – เออ..เจริญสุขๆ นะ เป็นอันว่าการเดินทางในวันนี้ ทำบุญแล้วทั้งหมดเกือบแสนบาท…


บทสนทนาจากในหนังสือ “ตามรอยพระพุทธบาท” จบลงเท่านี้

มีเรื่องน่าแปลกบางประการที่ปรากฏชัดในเวลาต่อมา คือสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของหลวงพ่อพระราชพรหมยานกับหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มนั้น ยากยิ่งจะหยั่งคำนวณได้

ตามความเป็นจริงทางโลก ท่านเพิ่งพบกันครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ และหลังจากนั้น ก็ติดต่อกันไปอย่างใกล้ชิดสนิทสนมยิ่ง ทั้งทางศาสนกิจต่างๆ และการบำเพ็ญสาธารประโยชน์โปรดประชาชนผู้ยากไร้ ทหารตำรวจผู้เสียสละกล้าหาญตามชายแดนไทย ดังจะได้นำเสนอเพิ่มเติมต่อไป

เรื่องฤทธิ์ และอภิญญา

หนังสือ “ลูกศิษย์บันทึก” ของวัดท่าซุง ซึ่งมีอยู่หลายเล่ม ได้รวบรวมข้อเขียนจากลูกศิษย์ของหลวงพ่อพระราชพรหมยานไว้หลายท่าน เป็นพยานอย่างดีในความอัศจรรย์ข้อหนึ่ง ดังปรากฏอยู่ในบันทึกของ หลวงพ่อบุญรัตน์ กันตจาโร เจ้าอาวาสวัดโขงขาวในฐานะที่ท่านนับถือครูบาเจ้าชุ่มเป็นอาจารย์องค์หนึ่ง ก่อนที่ครูบาเจ้าชุ่มนี่เองจะเป็นผู้แนะนำให้ท่าน มากราบฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อพระราชพรหมยาน


“ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ หลวงปู่ชุ่ม โพธิโก หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร กำลังสนทนาธรรมกันที่วัดป่าดอนมุล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เขียนกำลังรับฟังธรรม จากพระเดชพระคุณท่านฯทั้งสองอยู่ หลวงปู่ชุ่มก็หันหน้ามาบอกผู้เขียนว่า

 “ท่านบุญรัตน์ ให้ไปกราบหลวงพ่อใหญ่ วัดท่าซุงหน่อย ท่านเป็นพระทอง หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ท่านเปี่ยมด้วยเมตตาบารมี ใครได้กราบไหว้ก็เป็นบุญกุศลใหญ่นัก”

หลวงปู่คำแสนซึ่งนั่งอยู่ใกล้ ๆ ก็กล่าวเสริมขึ้นว่า

“เออดีมาก หลวงพ่อวัดท่าซุงเป็นผู้ประกอบไปด้วยเมตตาธรรมอันสูงส่ง เหมือนกับครูบาศรีวิชัย หาที่ไหนไม่ได้แล้ว”

นอกจากนั้นหลวงปู่ชุ่มท่านเมตตาเล่าให้ผู้เขียนฟังอีกว่า

“พระเดชพระคุณหลวงพ่อวีระ วัดท่าซุงนี่ท่านเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมอันสูงมาก บารมีสูง ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของท่าน ท่านจะไม่มาอีกแล้ว จะเข้าสู่พระนิพพาน เพราะฉะนั้นท่านจึงสั่งสอนให้ลูกหลานและศิษย์ท่านปฏิบัติให้เข้าถึงพระนิพพานกันหมด”

หลวงปู่ชุ่มบอกกับผู้เขียนว่า

“ขอให้ท่านจงได้ปฏิบัติติดตามคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงพ่อเถิด จะได้ถึงพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้”

ผู้เขียนก็น้อมรับว่า “สาธุ”


ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ครูบาเจ้าชุ่มกับ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำเพิ่งพบกันในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ แต่ครูบาเจ้าชุ่มท่านกลับสามารถ “รับรอง” ให้ลูกศิษย์ของท่านไปหา “หลวงพ่อใหญ่ วัดท่าซุง” ได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ (คือตั้งแต่ยังไม่ได้รู้จักกันในทางโลกนั่นเอง) หลวงพ่อบุญรัตน์ยังเคยกล่าวถึงคณาจารย์ของท่านด้วยความเคารพนับถือว่า

“สมัยก่อนนั้นท่านเล่นฤทธิ์กันอย่างครึกครื้นบันเทิงธรรมจริงๆ อย่างเช่น เมื่อสมัยที่หลวงปู่คำแสนทั้ง ๒ องค์ยังอยู่นั้น หลวงพ่อฤๅษีลิงดำท่านจะเป็นกรรมการคอยตรวจสอบ หลวงปู่คำแสนใหญ่ส่งของอะไรลอยไปหาหลวงปู่คำแสนเล็ก หลวงปู่คำแสนเล็กเข้าฌานมาหาหลวงปู่คำแสนใหญ่ และบางครั้งก็นั่งสมาธิไปเรียกหลวงปู่ครูบาชุ่มจากวัดวังมุย บอกว่าหลวงพ่อฤๅษีลิงดำท่านมาอยู่ที่วัดดอนมูลแล้ว สมัยนั้นหลวงปู่คำแสนทั้ง ๒ องค์ หลวงปู่ครูบาชุ่ม หลวงปู่ธรรมชัย และหลวงปู่ชัยวงศ์ หลวงพ่อฤๅษี แทบจะไม่ต้องใช้หนังสือหรือจดหมายบอกข่าวกันเลย เพราะสมาธิจิตทุกองค์ติดต่อกันได้หมด…”

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน ท่านก็เคยเล่าถึงความ “พิเศษ” อันเกี่ยวเนื่องกับพระอริยเจ้าสายเหนือไว้ด้วยตนเองหลายแห่ง เช่น ในหนังสือ “คำแสนนุสรณ์” ที่ท่านจัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ของ หลวงปู่คำแสน คุณาลงฺกาโร


“เมื่อมีโอกาสพบกันครบคณะคือ หลวงปู่คำแสน หลวงปู่ชุ่ม หลวงปู่ทืม การพบกันคราวนั้นเป็นการพบกันอย่างบังเอิญ ไม่มีใครเจือปนอยู่เลย พบกันแบบนักบวชซุกซน ไปชนกันเข้าโดยที่มิได้ตั้งใจ แต่ละท่านต่างก็ปรารภเหตุและผลในการปฏิบัติรู้สึกดีใจที่ทุกท่านเปิดเผยความจริงอย่างไม่มีอะไรปิดบัง เรื่องนี้พูดให้ฟังไม่ได้

ต่อมาท่านก็ทำสนุกให้ดู โดยหลวงปู่ชุ่มเริ่มต้นก่อน โดยท่านกล่าวหาว่าหลวงปู่คำแสนว่า ‘มีดีแต่ชอบคุดดี’

เมื่อโต้เถียงกันอยู่ครู่หนึ่งหลวงปู่คำแสนก็สรุปสั้นๆ ว่า ‘เราโตแล้ว อย่าเล่นอย่างเด็กเลย’

ท่านหนึ่งในที่นั้นก็พูดว่า ‘คนที่ไร้ความสามารถเท่านั้นที่เขาจะพูดอย่างนี้ คนที่มีความสามารถไม่มีใครเขาพูดอย่างนี้ เพราะเวลานี้มีด้วยกัน ๔ คน’

หลวงปู่คำแสนท่านยิ้ม ไม่ยอมพูดอะไรทั้งหมด ท่านหาเรื่องคุยเรื่องอื่น

เมื่อคุยกันไปสัก ๒ นาที ปรากฏว่าหลวงปู่คำแสนหายไปจากที่คุย กายหายแต่เสียงยังปรากฏ คุยกันตามปกติแต่มองไม่เห็นตัว ต่อมาปรากฏว่าหลวงปู่ชุ่มก็กายหายแต่เสียงมี สำหรับหลวงปู่ทืมก็กลายเป็นหนุ่มขาวสวยกว่าปกติมาก ผู้เขียนงงเต็มที ในที่สุดเวลาผ่านไปสัก ๕ นาที ก็มีสภาพปกติ

ถามท่านว่า ‘หลวงปู่ทั้งสามเล่นกลแบบไหนครับ’

ท่านก็ตอบว่า ‘เล่นแบบเด็กอมมือ’

ท่านถามว่า ‘คุณทำไมไม่เล่น’ ผู้เขียนก็กราบเรียนท่านตามความจริงว่า ‘เล่นไม่เป็น ไม่เคยฝึกวิชากล’ แล้วต่างคนต่างก็หัวเราะ

หลวงปู่ชุ่มท่านต่อว่า ‘หลวงน้องเอาเปรียบหลวงพี่ คนอย่างนี้บาปหนัก’

จึงกราบเรียนท่านว่า ‘บาปมันหนักมันก็วิ่งตามผมไม่ทัน ผมสามารถหนีมันพ้น เท่านี้ผมสบายใจแล้ว’ ท่านทั้งสามก็หัวเราะพร้อมกัน…”


ฐานะของความเป็น “พี่น้อง” นี้ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน ยังได้เล่าไว้ในแหล่งอื่นๆเช่น ในเรื่องเกี่ยวกับ “แก้วจักรพรรดิ” อันเป็นต้นแบบ “แก้วมณีรัตนะ” ของวัดท่าซุง อีกเรื่องหนึ่งที่ดูจะเป็นเรื่องซึ่งขึ้นสู่ระดับคลาสสิกไปแล้ว ด้วยว่าผู้ศรัทธาต่างหยิบยกมาเล่าถึงอย่างไม่รู้เบื่อ คือตอนที่คณะของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน กับหลวงพ่อหลวงปู่อีกหลายองค์ เช่นหลวงปู่คำแสน ครูบาธรรมชัย ครูบาวงศ์ หลวงพ่อสิม รวมทั้ง หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มได้ร่วมกันไปปฏิบัติศาสนกิจใน “พิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สมเด็จพระพุทธมหามงคลบพิตร” ที่ ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ เสด็จฯ มาเป็นประธานในพิธี

หลังจากเสร็จพิธีแล้ว คณะศรัทธาญาติโยมได้นิมนต์พระอาจารย์ที่ร่วมในพิธีอีกหลายองค์ ไปเที่ยวน้ำตกทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีการบันทึกไว้ว่า


“น้ำตกทรายขาว” เป็นเทือกเขาใหญ่สูงสุดที่สำคัญมากในปัตตานี ในอดีตเคยมีการทำเหมืองทองคำที่เขาลูกนี้ คณะหลวงปู่หลวงพ่อที่ไปเที่ยวน้ำตกทรายขาวเป็นอันมาก ปรารภกันว่า สถานที่แห่งนี้ หลวงปู่ทวดเหยียบทะเลน้ำจืด เคยมาบำเพ็ญสมณะธรรมในอดีตกาลนานโพ้น และเมื่อประมาณ ๖๐ – ๗๐ ปีที่ล่วงมานี้ เคยมีผู้มาขุดหาแร่ทองคำทำเหมืองทองมาแล้ว แต่ได้เลิกร้างไปในเวลาต่อมา เพราะว่าทองคำในดินได้หมดไป

หลวงพ่อฤๅษีลิงดำได้เอ่ยขึ้นว่า “จะเป็นไปได้ล่ะหรือ ? ที่สายแร่ทองคำจะหมดไปได้ง่าย ๆ จากภูเขาทรายขาวนี้ น่าจะ ‘เพ่ง’ ดูใต้พื้นดินลึกลงไปว่า ยังมีแร่ทองคำเหลืออยู่บ้างหรือเปล่า”

แล้วหลวงพ่อทุกองค์ที่ไปเที่ยวน้ำตกทรายขาวก็ได้ใช้พลังสมาธิ “เพ่ง” สำรวจดูใต้ผืนแผ่นธรณีในบริเวณนั้น

หลวงพ่อชุ่ม โพธิโกเพ่งดูแล้วครู่หนึ่งก็บอกว่า “พบแร่ทองคำอยู่ลึกมากเหลืองอร่ามไปหมดเป็นตัน ๆ มากมายเหลือเกิน มนุษย์ยังไม่สามารถขุดค้นลงไปได้ถึง”

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ “เพ่ง” ดูบ้าง ก็เป็นทองคำอยู่ลึกลงไปใต้ดินเช่นเดียวกันกับที่หลวงพ่อชุ่มได้เพ่งเห็นทองคำเหมือนกัน

แต่หลวงพ่อสิม พุทธาจาโร สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว ได้เพ่งดูแล้ว กลับมองไม่เห็นทองคำที่อยู่ใต้ดิน ท่านได้เห็นแต่มือดำ ๆ ใหญ่โตมาก เป็นมือมีห้านิ้วคล้ายมือมนุษย์แต่ใหญ่โตเท่าภูเขาเลากาอยู่ใต้ดิน

หลวงปู่หลวงพ่อเหล่านั้นเมื่อได้ฟังคำตอบของหลวงพ่อสิม แล้วก็หัวเราะกันใหญ่ คือพวกท่านมีอารมณ์เพลิดเพลินสนุก นึกอยากจะหยอกล้อกันเล่นนั่นเอง ครูบาธรรมชัยจึงยกมือขึ้นแล้วบอกให้หลวงพ่อสิมเพ่งดูอีกครั้ง

เมื่อหลวงพ่อสิมเพ่งดูลงไปใต้ดินก็พบว่า มือลึกลับใหญ่โตนั้นหายไป แล้วได้พบแร่ทองคำจำนวนมากมายอยู่ใต้ดินเหลืองอร่ามไปหมด หลวงพ่อสิมเลยหัวเราะใหญ่ เพราะได้รู้ว่า มือลึกลับใหญ่โตที่ปิดแร่ทองคำใต้ดินไว้เมื่อสักครู่นี้นั้น คือมือของครูบาธรรมชัยนั่นเอง หลวงพ่อสิมเลยกล่าวชมเชยยกย่องครูบาธรรมชัยเป็นการใหญ่ว่า เก่งมาก ๆ ๆ สามารถเอามือปิดกั้นขุมทองคำทั้งขุมไว้ได้ไม่ให้ท่านเห็น

ครูบาธรรมชัยได้กราบขอขมาหลวงพ่อสิมที่ล่วงเกินล้อเล่นในครั้งนี้

หลวงพ่อสิมหัวเราะชอบใจบอกว่า ไม่ถือ ๆ ๆ สนุกดี

หลวงพ่อฤาษีลิงดำถามหลวงพ่อสิมว่า ทำไมทองคำจำนวนมหึมานี้คนถึงขุดลงไปไม่พบ

หลวงพ่อสิมหลับตาใช้ญาณหยั่งรู้อยู่ครู่หนึ่งก็ลืมตาตอบว่า

“เมื่อถึงเวลาทองจำนวนนี้จะปรากฏขึ้นมาเอง เป็นทรัพย์ในดินของประเทศชาติ เป็นของคู่บุญญาบารมีของรัชกาลต่อไป ตอนนี้เทวดายังไม่ยอมให้ทองคำจำนวนนี้ปรากฏ เพราะยังไม่ถึงเวลา”

หลวงพ่อชุ่ม โพธิโก กล่าวว่า

“ทองคำที่นี่มีมากก็จริง แต่ยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับทองคำที่มีอยู่ในผืนแผ่นดินไทยอีกหลายแห่ง ต่อไปในอนาคตประเทศชาติของเราจะร่ำรวยใหญ่ ประชาชนก็จะร่ำรวยมีสุขตามดวงเมืองที่เจริญรุ่งโรจน์”

ครูบาธรรมชัยหลับตาใช้ญาณหยั่งรู้บ้าง ท่านกล่าวว่า

“ทองคำที่น้ำตกทรายขาวนี้เป็นของอาถรรพณ์ที่ฝังลึกอยู่ใต้ดินป้องกันไม่ให้ข้าศึกศัตรูมาครองได้ ข้าศึกศัตรูที่บังอาจล่วงล้ำก้าวข้ามขุมทองแห่งนี้เข้ามาจะพบกับความวิบัติฉิบหายในที่สุด”


เรื่องการเข้านิโรธสมาบัติ

หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มท่านเป็นพระนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้มาจากครูบาอาจารย์ต่างๆ หลายองค์ และได้นำมาปฏิบัติตั้งแต่เมื่อเป็นสามเณร สมัยอยู่กับ ครูบาอินตา วัดเจดีย์ขาว

ครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นผู้ที่วางขนบจารีตเกี่ยวกับการ “เข้านิโรธ” ไว้ ทำให้ครูบาอาจารย์และพระภิกษุทางภาคเหนือยึดถือปฏิบัติสืบๆ กันมา รวมถึงหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม ท่านมักหาวาระและโอกาสเข้านิโรธอยู่เนืองๆ เท่าที่ทราบกันเป็นวงกว้าง และมีหลักฐานบันทึกไว้ระบุว่า ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก เข้านิโรธสมาบัติมาแล้ว ๘ ครั้ง ครั้งหลังสุด เข้าเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๘ และออกจากนิโรธสมาบัติในตอนย่ำรุ่ง วันที่ ๒๑ มิถุนายน คือ ๗ วันต่อมา

การเข้านิโรธสมาบัติของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก ครั้งนี้ เป็นพิเศษยากยิ่งกว่าทุกครั้ง เพราะท่านเข้าด้วยอิริยาบถ ๔ โดยทรงอารมณ์อยู่ในจตุตถฌานตลอดเวลา นับว่ากำลังจิตท่านแข็งแกร่ง มีบุญบารมีสูงยิ่ง และการเข้านิโรธสมาบัติในครั้งนี้นี่เอง ที่มีประชาชนทราบกันแพร่หลายมากที่สุด

มีครั้งหนึ่ง ท่านไปเข้าอยู่กรรมที่วัดน้ำบ่อหลวง พระที่เข้าไปอยู่กรรมในครั้งนั้นมี ครูบาอินทจักร์รักษา, ครูบาชัยยะวงศา, ครูบาขันแก้ว และอีกหลายรูป หลังจากออกกรรมแล้ว ได้มาเข้านิโรธองค์เดียว ๗ วัน ที่วัดเก่า (วัดศรีสองเมือง) ก่อนที่จะเข้านิโรธ ท่านได้ตั้งสัจจะอธิษฐาน บอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์และครูบาอาจารย์ หลังจากนั้นได้คล้องบาตรไปรับน้ำ ๓ แก้ว จากลุงอ้าย และได้ฉันน้ำในบาตรจนพอสมควร จึงได้เดินเข้าไปในกระท่อมที่ศรัทธาได้สร้างไว้ที่วัดเก่า ตลอด ๗ วันนี้ จะไม่มีใครเข้าไปหา หรือรบกวนท่าน โดยจ่าสรสิทธิ์ ได้นำลูกน้องมาคุ้มครองดูแล จัดเวรยาม รักษาความสงบให้กับครูบาชุ่ม คนทั้งหมดจะอยู่ล้อมรอบบริเวณด้านนอกของเขตวัดทั้งหมด ห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปใกล้กระท่อม ตั้งแต่วันที่ท่านเข้านิโรธ จนถึงวันที่ท่านออก ปรากฏว่าด้านนอกวัด มีชาวบ้านวังมุยและประชาชนจากที่อื่น พากันมานอนเฝ้าชมบารมีของท่านเป็นจำนวนมากมายทุกวัน ในวันหนึ่ง ระหว่างที่ท่านข้านิโรธอยู่นั้น มีลูกศิษย์และคนทั่วไปที่อยู่ด้านนอก มองเห็นหลวงปู่ลงมาจากกระท่อม มาเดินจงกรม ยืนภาวนา และเดินไปนั่งสมาธิที่ใต้ต้นโพธิ์ในวัดห่าง พอได้เวลาท่านจะเดินขึ้นไปนั่งหรือนอนสมาธิบนกระท่อมอีกครั้ง

ลักษณะเช่นนี้ ตรงกับคำพูดที่หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง เคยกล่าวกับศิษยานุศิษย์ของท่านว่า

“หลวงปู่ชุ่ม ท่านเป็นพระสุปฏิปันโน เป็นพระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และเป็นพระน้อยองค์นักที่จะสามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ทุกอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน”

ออกจากนิโรธสมาบัติครั้งสุดท้าย

วันที่หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มออกจากนิโรธ ได้มีประชาชนทั่วไปทั้งใกล้และไกล ทราบข่าวแล้วพากันเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งทหาร ตำรวจ และประชาชน ในครั้งนี้มีพระผู้ใหญ่เดินทางมาร่วมงานบุญหลายรูปด้วยกัน คือ

ในวันที่ครูบาเจ้าชุ่มออกจากนิโรธนั้น ครูบาวงศ์ ได้นำคณะลูกศิษย์พร้อมชาวเขามาร่วมพิธี พร้อมกับนำเรือขนาดใหญ่มาถวายครูบาเจ้าชุ่ม โดยทำฐานเป็นล้อไม้รองรับเรือ แล้วเข็นมาจากวัดห้วยต้ม อ.ลี้ ใช้เวลาเดินทางบากบั่นมาราว ๑ เดือน จึงเข็นเรือมาถึงที่วัดชัยมงคล (วังมุย) การถวายเรือนี้มีเหตุว่า วัดวังมุยนั้นอยู่ในที่ลุ่ม จึงเกิดน้ำท่วมทุกปี ท่วมครั้งหนึ่งกินเวลานานหลายวัน เคยท่วมอยู่นานที่สุดถึง ๒ เดือน ระดับน้ำสูงเป็นเมตร พระเณรต้องลำบากอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ ครูบาวงศ์ และศรัทธาชาวเขา จึงได้นำเรือเดินทางรอนแรมมาถวาย

ตอนที่ครูบาเจ้าชุ่มออกนิโรธสมาบัติ ครูบาอาจารย์ท่านอื่น ได้ยืนคอยรับท่านอยู่แล้ว ต่างตรงเข้าประคองท่านขึ้นนั่งบนเสลี่ยง โดยมีบรรดาชาวบ้าน และชาวเขาพร้อมใจกันช่วยหามเสลี่ยง จากนั้น พระเถระทุกองค์เดินนำหน้าเสลี่ยง ตามมาด้วยศรัทธาชาวบ้าน แห่ครูบาเจ้าชุ่มมาจนถึงวัดใหม่ (วัดชัยมงคล-วังมุย) ระหว่างทาง ชาวบ้านและคนทั่วไปที่มาร่วมงาน ได้พร้อมใจกันทำบุญ โดยการโยนเงินขึ้นมาตรงบริเวณหน้าตักของครูบาเจ้าชุ่ม จนเงินที่หน้าตักของท่านได้ล้นตกลงมาตามทาง ในวันนั้น คณะศรัทธาทำบุญกับท่านนับได้ประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ บาท เงินจำนวนนี้ ต่อมาครูบาชุ่มได้นำมาบูรณะทำนุบำรุงวัดชัยมงคล (วังมุย) และใช้ในการศาสนาทั้งสิ้น

พอขบวนแห่มาถึงวัดใหม่ หลวงปู่หลวงพ่อทุกท่านต่างได้ป้อนข้าวทิพย์ให้แด่ครูบาเจ้าชุ่มองค์ละคำ ตามด้วยผู้ถือศีล ๘ (เทวบุตร) ได้ตักข้าวใส่บาตรท่าน จากนั้นเป็นชาวบ้านทั่วไปที่ถือศีล ๕ โดยลำดับ จากนั้น ทางวัดชัยมงคล (วังมุย) และชาวบ้านได้พร้อมใจกันจัดงานต่อ เพื่อฉลองศรัทธาของสาธุชนอีก ๘ วัน

ปัจฉิมวัยของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก

หลวงตาวัชรชัย หรือ พระครูภาวนาพิลาศ เป็นศิษย์ใกล้ชิดอีกท่านของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ผู้ได้เคยมีโอกาสใกล้ชิดและอุปัฏฐากหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม ในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๘ และได้เขียนหนังสือระลึกถึง “พระสุปฏิปันโน” ทั้งหลายที่เป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อฤๅษีลิงดำไว้ในหนังสือชื่อ “บนเส้นทางพระโยคาวจร” นามปากกา “สายฟ้า” เป็นหนังสือที่เขียนถึงพระอริยเจ้าหลายท่านได้อย่างซาบซึ้ง และก่อให้เกิดศรัทธาปสาทะต่อท่านเหล่านั้นได้ในทันที

จึงขออนุญาตนำความบางตอนจากเนื้อหาเกี่ยวกับ “หลวงปู่ชุ่ม” มาเสนอ ณ โอกาสนี้


“หลวงปู่ชุ่ม…หรือครูบาชุ่มของชาวหริภุญชัย เป็นศิษย์เอกขนานแท้ของของพระคุณหลวงปู่ครูบาศรีวิชัย พระมหาโพธิสัตว์สงฆ์ผู้เป็นประดุจเทพเจ้าของชาวลานนาทั้งผอง ที่ว่าเป็นศิษย์เอกขนานแท้ ก็เพราะครูบาศรีวิชัยเป็นผู้ประทานกำเนิดบวชเป็นสมณะให้ ครั้นตอนครูบาศรีวิชัยมรณภาพลงไป หลวงปู่ชุ่มองค์นี้แหละ…ที่เป็นทายาทผู้รับมรดกครอบครองไม้เท้าและพัดหางนกยูงอันเป็นตราสัญลักษณ์ ประจำองค์ครูบาศรีวิชัย แสดงถึงคุณธรรมที่ท่านปฏิบัติได้ถึงขนาดนั้นแหละ และที่สำคัญท่านมาเกี่ยวข้องกับพ่อเรา (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง) ตั้งแต่อดีตชาติ คือเป็นพี่ชายพ่อเรา คู่กับหลวงปู่คำแสนเล็ก สามองค์นี้แหละลูกหลานเอย… ที่เป็นต้นกำเนิดการสถาปนาแผ่นดินไทยสมัยเชียงแสน นานนักหนามาแล้วโน่น…

อดีตพูดถึง…ก็พิสูจน์แบบมนุษย์ให้คนทั้งหลายยอมรับยาก ก็ไม่เอาตรงนั้น… เอาตรงท่านทั้งสอง คือพ่อเรากับหลวงปู่ชุ่มพบกัน ก็ตอน พ.ศ. ๒๕๑๗ ต่างองค์ก็ต่างอายุเกิน ๖๐ ปีแล้ว พ่อก็นิมนต์ หลวงปู่ให้มางานฉลองวัดประจำปี ๒๕๑๘ – ๑๙ – ๒๐ ทั้งสามปีนี่แหละ ที่ผู้เขียนได้ย้ำประทับภาพอมตะแห่งขุนเขาุชุ่มบุญบารมีองค์นี้ไม่มีลืม

ปี ๒๕๑๘… ปีแรกที่หลวงปู่ชุ่มมาวัดท่าซุง ท่านก็มากับสามเณรน้อยอายุ ๘ ปีรูปหนึ่ง พักอยู่กุฏิทรงไทยหลังที่ ๖ ต้องบอกกันก่อนว่าเรื่องของหลวงปู่ชุ่มเขียนยากที่สุด เพราะท่านไม่ค่อยพูด ท่าทางเคร่งขรึมมั่นคงเยือกเย็น ก็เหมือนภูเขาชุ่มน้ำคลุมไปด้วยป่าเขียวสดอีกชั้นหนึ่ง นั่นแหละ ! ผู้เขียนไม่มีโอกาสได้ประจ๋อประแจ๋ ถามนั่นถามนี่เหมือนกับหลวงปู่่องค์อื่น คงได้แต่ดูแลปรนนิบัติ เหมือนชื่นชมทิวทัศน์ป่าเขาลำธารน้ำใสยังไงยังงั้น… ไม่ค่อยจะได้เนื้อนาหาเรื่องมาเขียนเล่าถนัดใจนัก ก็เล่าบอกตามลำดับมาก็แล้วกัน

พ่อบอกว่า…หลวงปู่ชุ่มเป็นพระอรหันต์ทรงปฏิสัมภิทาญาณ เวลาท่านมองเรานี่ มองเหมือนมองผ่านอากาศ โธ่เอ๋ย… จะให้ความสำคัญกับเราสักนิดเหมือนยิ้มกับลูกหมาก็ไม่ได้ นี่เป็นจริยาอาการปกติของท่าน ผู้เขียนนึกไปโน่น นึกถึงอากาสานัญจา วิญญานัญจา อากิญจัญญา เนวสัญญานาสัญญา…  แปลว่าอะไรก็ไม่รู้ล่ะ อรูปฌานทั้ง ๔ นั่นแหละ ใจท่านคงทรงอารมณ์นั้นๆ แหละจนชิน เวลาไม่มีธุระจะพูดคุยกับผู้คน ก็อย่างนั้นแหละ มองอะไรเป็นอากาศ ไม่มีเหลือเลย จะว่าจำได้ รู้จักมักคุ้นก็ไม่ใช่ โอย…ผู้เขียนเกรงหลวงปู่องค์นี้มาก จะว่าไม่รู้จักไม่สนใจก็ไม่ได้ เพราะเวลาท่านจะเอาธุระกับเรา ตาอย่างนี้มีประกายหมายมั่น เสียงติดดุ ๆ เอาด้วย…

ทีนี้..เอาเรื่องหลวงปู่ชุ่มโดยตรง เล่าเป็นเกร็ด ๆ ไปเลย คืนแรกที่มาถึง ท่านก็นั่งพักสบายที่ชั้นล่าง ก็มีศิษย์ผู้ใหญ่ของพ่อคนหนึ่ง จำได้ว่าชื่อคุณพงษ์ คุณากร เข้ามากราบหลวงปู่ พอเขากราบ ความปีติกระมังทำให้ตัวเขาลอย ลอยจริง ๆ ลอยขึ้นมาสักศอกหนึ่ง หลวงปู่ชุ่มจับหัวกดลงไปกับพื้น ก้นแกก็ลอยโด่ง ปากก็ออกเสียงเหมือนคำราม สักครู่ก็ราบกราบกับพื้นได้ หลวงปู่ว่า “ดี ดี ใช้ได้” แล้วก็มองคุณพงษ์กับผู้เขียนเหมือนมองอากาศตามเดิม ท่านคงเห็นเป็นขั้นตอนเล็ก ๆ ของภาวะพระกรรมฐาน

แต่ผู้เขียนนี่…ขนลุกผึ่งทั้งตัวเลย มันมีจริงนี่หว่า ปีติตัวลอยได้นี่ มองหลวงปู่มั่นหมายเลยว่าจะถามอะไร ให้พูดอะไรบ้าง แต่ไม่เปิดโอกาสเลย นั่งเคี้ยวหมากเฉย นั่งค้อมไหล่ตาจับพื้น ปากเคี้ยวเหมือนเคี้ยวกิเลส เคี้ยวขาดเลย นึกออกไหม ?

เดี๋ยวก่อน ! ลืมเล่าตอนท่านเข้าไปนั่งปรกพุทธาภิเษกวัตถุมงคล หลวงปู่อะไรล่ะ..ทางเหนือน่ะ หลายองค์นั่งเรียงกัน สักครู่หลวงปู่จากล้านนาไททุกองค์ รีบลุกขึ้นห่มจีวรพาดสังฆาฏิใหม่แบบภาคกลาง ค่อย ๆ ทำ งามตานัก แล้วนั่งลงหลับตาต่อ ไอ้เราก็สงสัยกัน ตอนหลังหลวงปู่ชุ่มเล่าให้ฟังว่า หลวงปู่ปานวัดบางนมโค มาปรากฏกายตรงหน้าท่าน ตั้งท่าท้าชกจรดมวยใส่ท่าน เสียงหลวงปู่ปานพูดว่า

“พระอะไรนี่ แต่งตัวไม่เหมือนชาวบ้านเจ้าของถิ่นเขานี่”

พอหลวงปู่ภาคเหนือห่มเสร็จแล้ว หลวงปู่ปานก็ยกมือไหว้เป็นเชิงโมทนาขอขมาโทษทำนองนั้น พอมาถามพ่อ พ่อหัวเราะเสียงดังเลย

“ข้าเห็นหลวงพ่อปานแต่แรกแล้ว ที่ท่านทำอย่างนั้น เพราะท่านเป็นพระโพธิสัตว์บารมีเต็ม รอเวลาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เรื่องระเบียบวินัยจารีตนี่ ท่านต้องเคร่งครัด ที่ท่านยกมือไหว้ ก็เพราะหลวงปู่ชุ่ม หลวงปู่คำแสน เป็นพระอรหันต์นับคุณธรรมปัจจุบัน หลวงปู่ก็ชื่อว่าบริสุทธิ์เต็มภูมิแล้ว ส่วนหลวงพ่อปานยังอยู่ชั้นดุสิต ยังไม่ใช่พระอริยะ ต้องรอเป็นพระพุทธเจ้าเสียก่อน จึงจะเหนือกว่า”

อย่างที่บอกแล้วว่าหลวงปู่ชุ่มเป็นพระปฏิสัมภิทาญาณ เป็นพระอรหันต์ที่มีญาณหยั่งรู้ประมาณไม่ถูก ยกตัวอย่างก่อนที่ในหลวงจะเสด็จ นี่ขอเล่าควบ ๓ ปี ที่หลวงปู่มาวัดท่าซุงเลย แต่ในหลวงเสด็จ ๒ ปี คือปี ๑๘ กับ ๒๐

ปี ๑๘ นี่ เททองหล่อรูปหลวงพ่อปานกับหลวงพ่อใหญ่

ปี ๒๐ ตัดลูกนิมิต และยกฉัตรศาลาจัตุรมุขหน้าพระอุโบสถ (ผู้เขียนนี่ท่าสติปัญญาจะอ่อน ขาดตอน เล่าเปะปะ ปี ๑๘ พ่อตั้งปะรำให้ในหลวงและพระบรมราชินีประทับทำพิธีเททอง พอในหลวงกลับ ก็สร้างศาลาจัตุรมุขแทนตรงนั้นเพื่อเป็นราชานุสรณ์ เมื่อท่านมาตัดลูกนิมิตปี ๒๐ อีก ก็เลยเชิญท่านยกฉัตร ยอดจัตุรมุขเสียเลย)

เอ้า! เล่าต่อ…ก่อนในหลวงจะเสด็จตัดลูกนิมิต ตอนนั้นหลวงปู่ชุ่มกำลังฉันเพลอยู่ ท่านหันมาพูดกับผู้เขียนว่า

“วันนี้ ในหลวงฉันก๋วยเตี๋ยวบนเรือบินนะ…”

เล่าให้ท่านเจ้ากรมเสริมฟัง (พล.อ.ท. ม.ร.ว. เสริม ศุขสวัสดิ์) ท่านตาลุกเลย บอกว่า

“จริง…จริง ราชองครักษ์ที่ตามเสด็จบอก” เจ้ากรมเสริมเล่าว่า ในหลวงเดินทางมาวัดท่าซุง เวลาจำกัด รับสั่งให้ซื้อก๋วยเตี๋ยวใส่ปิ่นโตเสวยบนเฮลิคอปเตอร์ แล้วลงต่อรถยนต์ที่นครสวรรค์เข้าวัดท่าซุง

บอกแล้วว่าเล่ายาก…จะขอสรุปผ่านงานทั้งสามปีไปเพราะกิจกรรมสงเคราะห์ญาติโยม ระหว่างช่วงงานก็เหมือนกับหลวงปู่องค์อื่นโน่น…ส่งจิตคิดตามไปที่วัดวังมุย ลำพูนเลย ท่านก็กลับวัดวังมุยไป พ่อกับหลวงปู่ท่าน จะคุยตกลงกันด้วยวาจา หรือด้วยใจ ก็อย่าไปรู้รายละเอียดของท่านเลย เอาเป็นว่าหลวงปู่ชุ่มจะ ‘นั่งหนัก’ หรือภาษาบาลีเรียกว่า ‘เข้านิโรธสมาบัติ’ เป็นเวลา ๗ วัน เพื่อจะให้พ่อพาศิษยานุศิษย์ไปทำบุญเพิ่มบารมีกัน

โอย…ตอนนี้ฟ้าจะถล่มทลาย ลูกหลานพ่อ ผู้เขียนด้วย ต่างก็ฮือฮาสาธุการ จัดหาสิ่งของเงินทองกันโกลาหล ล้นศรัทธา พอถึงเวลา (นี่จะเขียนหรือจะเทศน์ สำนวนมันจะมากไปหรือเปล่า) ก็เดินทางตามพ่อไป รถบัสกี่คันหนอ…ถึงลำพูน ฝนตกรินเป็นสายไม่ขาดเม็ด ต้องพักถ่ายผู้คนขึ้นรถสองแถว จากวัดจามเทวีไปวัดวังมุย คงจะเหมาสองแถวหมดเมืองลำพูนกระมัง พี่อรรณพ (พันตำรวจเอกพิเศษ อรรณพ กอวัฒนา) เป็นผู้จัดการอำนวยความสะดวกทั้งหมด ทางเข้าวัดวังมุยก็แคบ ฝนก็รินไหล แต่ผู้คนก็เดินทางไปถึงวัดวังมุยแบบทุลักทุเลเฮฮากันได้ทั้งหมด

หลวงปู่ชุ่มท่านเข้านิโรธสมาบัติในป่าช้า* ใกล้วัด ปลูกกระท่อมล้อมสายสิญจน์ กั้นรั้วกันผู้คนเข้าไปรบกวน พ่อขึ้นไปรอหลวงปู่บนกุฏิรับรอง ผู้เขียนเข้าไปจัดจีวรสิ่งของที่นำไปร่วมถวายมากมาย โบสถ์แทบแตก พระคุณหลวงปู่คำแสนเล็ก นั่งยิ้มเย็นใจคอยอยู่ในโบสถ์

* ป่าช้า – ในที่นี้หมายถึง “วัดห่าง” คือวัดวังมุยเก่าที่รกร้างไป

ณ ที่นั่นเอง…ในกาลเวลาขณะนี้เอง…ที่หลวงปู่ชุ่มเคลื่อนเสลี่ยงคานคนหามออกจากกระท่อม เมื่อตอนถอนจิตจากนิโรธสมาบัติ ฝนก็กลายเม็ดเป็นฟูฝอยละเอียดเนียนสายตาฉ่ำอารมณ์นัก คลื่นศรัทธามหาชนก็ร้องกระหึ่มโมทนา แย่งกันแข่งกันโยนดอกไม้ ธนบัตรปัจจัยขึ้นไปบนเสลี่ยงพระอริยสงฆ์ แม้โลกธรรม ลาภ สรรเสริญ ท่วมท้นเสลี่ยงอย่างไร หลวงปู่ชุ่มก็นั่งสงบเย็นใจ ประคองจิตรับรู้ศรัทธาเหล่านั้น ไม่มีอาการหวั่นไหว

องค์หนึ่งนั่งเหนือเสลี่ยงชัย ฉ่ำละอองฝน ห้อมล้อมด้วยฝูงชนดุจดาวล้อมเดือน

อีกองค์หนึ่งนั่งยิ้มสงบคอยอยู่ในพระอุโบสถ รอเวลาโมทนามหาทาน ที่จะถวายบูชาครูบาน้อง

อีกองค์หนึ่ง…องค์ที่ผู้เขียนกลัวที่สุด รักเหลือแสน กำลังกระทำสีหนาทลีลามาเป็นองค์ประธานในพิธี

ท่านผู้อ่านเอย…สามองค์พี่น้อง ที่เวียนว่ายบำเพ็ญบารมีมาจนครบจบกำลังแล้ว สามดวงประทีปแก้วกำลังจะมาร่วมในเขตพัทธสีมาพุทธเขตเดียวกัน เพื่อให้ลูกหลานได้ชื่นชมสมปรารถนา…

หลวงปู่ชุ่มหนึ่ง…หลวงปู่คำแสนเล็กสอง…พ่อ (หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง) รวมเป็นสามดวงแก้วสังฆรัตนะนี้ ตามที่ฟังพ่อเล่า ก็ทราบว่าท่านเกิดร่วมอุทรเดียวกันมาหลายชาติหนักหนา…แต่ละองค์ก็ทรงลักษณะเป็นพิเศษเฉพาะตน

หลวงปู่คำแสนเล็กจะเป็นพี่ใหญ่อัธยาศัยรักสงบ ขี้อาย รักน้องจนตนเองประมาณไม่ได้ว่ารักแค่ไหน จะยอมเสียสละทุกอย่างให้น้องได้ แม้จะเป็นบัลลังก์เศวตฉัตรตามสิทธิทายาทอันชอบธรรม ขออย่างเดียวให้น้องได้มีความสุข

หลวงปู่ชุ่มออกจะดุ มีความเด็ดเดี่ยว ทุ่มชีวิตจิตใจให้กับงานทุกอย่างที่รับผิดชอบ แต่วาสนาเอย..อานุภาพที่เด็ดขาดปานนั้น ก็มีไว้ทำเพื่อน้องที่ท่านรักและชาติตระกูลเท่านั้น จริง ๆ แล้วท่านรักความเป็นอิสระ ไม่ชอบนำคน แต่ก็ไม่ชอบให้คนมานำท่าน เสร็จจากภารกิจใดก็มอบความสำเร็จนั้นให้ส่วนรวม แล้วก็อยู่กับตัวเองและโลกของตัวเอง…อย่างนี้มาทุกชาติ

ทีนี้มาถึงพ่อ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง เขียนยากหน่อย เพราะอยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ใกล้เกินไปจนมองเห็นความดีเต็มที่ไม่ได้ หรืออีกอย่างหนึ่งเห็นความดีของพ่อจนบรรยายไม่สาสมใจรักของเรา

พระดี คนดี ก็เหมือนภาพวาด ฝีมือประณีตสมปรารถนา หากดูใกล้เกินไป ก็จะเห็นตำหนิลายเส้น เงาสีเป็นธรรมดา หากดูไกลเกินไป ก็เห็นความดีจุดเด่นไม่ชัดเจนทั่วถึง

ต้องอยู่ระยะไม่ใกล้ ไม่ไกลนัก นานๆ ดูที จึงจะเห็นค่าควรถนอม

พ่อของเราก็เหมือนกัน การดูใกล้ ดูไกล จะเอาไว้พูดตอนที่เป็นเรื่องของท่านโดยตรง ตอน “พระผู้เป็นเนื้อนาบุญ” ตอนนี้จะชวนท่านผู้อ่านดูในระยะพอดี

โน่น…เห็นพ่อเดินมาจากกุฏิที่พัก จะว่าเข้มแข็งปึงปังก็ไม่ใช่ จะว่าอ่อนโยนเหมือนคนไม่เคยลำบากก็ไม่เชิง ถ้าท่านเคยเห็น สมัยก่อน เขาเรียกสีหะ…ถ้าตัวที่เป็นจ่าฝูงเขาเรียก สีหราช คือราชสีห์ หรือสิงโตในหนังทีวีนั่นแหละ เคยเห็นไหม

หลวงปู่ชุ่มลอยเหนือศีรษะฝูงชนมาบนเสลี่ยง แต่พ่อเดินผ่านฝูงชนที่จงรักต่อท่านมาแบบธรรมดา แต่กลุ่มบุคคลผู้อิ่มบุญเหล่านั้นกลับเปิดทางให้ท่านเป็นสายน่าอัศจรรย์ เขาเหล่านั้นนั่งประนมมือสองข้างทาง แต่ตาจับจ้องหน้าพ่อด้วยความรักเทิดทูน จะว่าท่านใดได้น้ำใจจากปวงชนมากกว่ากันหนอ ระหว่างท่านลุงผู้ทรงเสลี่ยงกับท่านพ่อผู้กระทำสีหนาทลีลาในช่วงเอื้อมมือถึง ท่ามกลางคนที่ท่านรัก แต่ทั้งสองท่านก็มารวมกันอยู่ในพระอุโบสถวัดวังมุย ในกระแสสายตาที่ชื่นชมของท่านพี่องค์ใหญ่สุด..ท่านลุงคำแสน

ท่านผู้อ่านเอย…เมื่อทั้งสามท่านนั่งสามเส้ามีพ่อนั่งตรงกลาง เราจึงได้เห็นอำนาจวาสนาบารมีและภาระรับผิดชอบของพ่อ พ่อพูดนำให้ลูก ๆ ที่ตามขบวนไป ให้รู้จักอานิสงส์ของการทำบุญกับพระอรหันต์ที่ออกจากนิโรธ สมาบัติ พ่อพูดไม่มีติดขัด เสียงกังวานกินใจ หลวงปู่คำแสนนั่งยิ้มมองพ่อทำงานแบบ ‘โมทนาด้วย ช่วยเหนื่อยแทนหน่อย’ หลวงปู่ชุ่มนั่งสงบสำรวม เหมือนนั่งสบายคนเดียวในป่าร่มรื่นในโลกของท่านเอง…

ต่างองค์ต่างทำหน้าที่ ต่างองค์ต่างเป็นสุขอิสระตามธรรมชาติของตนเอง นาน ๆ ครั้ง ก็หันมามองทางญาติโยมลูกหลานที่มาทำบุญกับท่าน มองยิ้มสนิทใจ เหมือนยิ้มพรมไปบนดอกไม้ที่ท่านได้ปลูกฝังรดน้ำมากับมือ

ใจเราเอย…ขณะนั้นใจเราอยากจะเป็นพระอรหันต์ อยากบวช อยากยิ้มเย็นสนิทเหมือนท่าน แม้ต้องแลกด้วยทุก ๆ อย่างในโลกที่เราครอบครอง รวมทั้งชีวิตของเราด้วย เราจะยอมแลกกับผ้ากาสาวพัสตร์

เราปรารถนาจะบวชอุทิศแด่พระรัตนตรัย เราจะเดินตามรอยเท้าพ่อและพระอรหันต์ทั้งหลาย เราปรารถนาพระนิพพาน

จากวันนั้น..ถึงวันที่นั่งเขียนอยู่นี่กี่ปีแล้วหนอ…(๒๕๔๔) ๒๔ กว่าปีแล้ว เหตุการณ์นั้นแม้จะผ่านไปแล้ว แต่ภาพเหตุการณ์ของบุญวาสนานั้นยังสะอาดแจ่มใส ยังสามารถนึกถึงกลิ่นธูป กลิ่นจีวร กลิ่นน้ำหมาก…

นี่กระมังที่มีคำโบราณกล่าวไว้ว่า กลิ่นของศีลนั้นหอมทวนลม ขจรขจายไปได้ไกลแสนไกล ยิ่งมาได้ไออุ่นของพระธรรมจากใจของพระคุณเจ้าสามพี่น้องมาอบรมผสมผสานเข้าไปด้วย จึงได้หอมมานานขนาดนี้หนอ

จากพิธีออกจากนิโรธสมาบัติวันนั้น ผู้เขียนได้พบและปรนนิบัติหลวงปู่ชุ่มและหลวงปู่คำแสนเล็กอีกหลายวาระ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ ‘บ้านซอยสายลม’ ของพวกเรานั่นแหละ จะเล่าสู่กันฟังตามลำดับเหตุการณ์จริง เป็นต้นมา

ครั้งหนึ่งพ่อทำพิธียกฉัตรจำลองที่พระธาตุจอมกิตติ เมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เหตุผลที่ทำพิธีนั้น ท่านผู้อ่านก็คงจะได้ทราบจากหลวงพี่ชัยวัฒน์แห่งวัดท่าซุงเขียนเล่าและบอกเล่า ขณะนำท่านผู้อ่านไปเที่ยวนมัสการพระธาตุประจำทุกปีอยู่แล้ว ผู้เขียนจะเล่าเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับ ‘ความเป็นพระ’ ของครูบาชุ่มเท่านั้น

ก่อนจะเดินทางขึ้นไปทำพิธี เราได้จัดเตรียมการณ์ทุกอย่าง รวมทั้งกำหนดองค์พระสุปฏิปันโนที่จะเข้าร่วมบวงสรวงด้วย ทุกองค์จะต้องเคยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กู้ชาติเชียงแสนจากขอมโดยเฉพาะ ก็มี….

พ่อเรา

หลวงปู่คำแสนเล็ก

หลวงปู่ครูบาชุ่ม

หลวงปู่ครูบาวงศ์ และ

หลวงปู่ครูบาธรรมชัย

เหตุผลเป็นเพราะอะไรไม่ต้องเขียนแล้ว พ่อก็อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุสีแดงเป็นประกายดุจเพชรพลอย บรรจุในยอดพระธาตุจำลอง (พระเจดีย์องค์เล็ก ขณะนี้ตั้งอยู่ทางมุมซ้ายด้านในบริเวณพระธาตุจอมกิตติ) นำขึ้นไปจากซอยสายลม จูงเอาลูกหลานที่มากมายและยุ่งบ้างซนบ้าง เหมืือน​​​​​ลิง มีผู้เขียนรวมอยู่ด้วยตัวหนึ่ง ได้ฤกษ์อากาศดีตอนเช้า ก็เอาพระธาตุจำลองประดิษฐานตรงหน้าองค์พระธาตุจอมกิตติ หลวงปู่ครูบาทั้งหลายก็มาตามคำอาราธนาของคุณเฉิดศรี ศุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา (พี่อ๋อย) เจ้าของบ้านซอยสายลม แม่งานคนสำคัญสมัย ๒๐ กว่าปีที่แล้ว หลวงปู่ทั้งหลายนั่งตรงพระวิหารคู่พระธาตุ ซึ่งขณะนั้นเป็นศาลาไม้เก่ามาก พ่อก็ทำพิธีบวงสรวงยกฉัตร พอพ่อกล่าวคำบวงสรวงเสร็จก็จะยกฉัตรจำลองติดยอดพระธาตุ พ่อก็หันมาพูดเบา ๆ ว่า

“ไปบอก…”

เท่านั้นเอง…หลวงปู่ชุ่มซึ่งอยู่ในกลุ่มครูบาเจ้า…ห่างพ่อขนาดไม่ได้ยินเสียงสั่งนั้นแน่ ก็นำขึ้น

“ชยันโต โพธิยา….”

พ่อให้ท่านเจ้ากรมเสริม (พล.อ.ท. ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์ คู่บุญพี่อ๋อย) ยกก้านฉัตรติดยอดพระธาตุ แล้วหันมาพูดว่า

“ต้องอย่างนี้ พระดีต้องอย่างนี้ ต้องฟังคำสั่งพระพุทธเจ้าได้พร้อมกัน ถูกต้องอย่างนี้ !”

ตกลงก็ไม่ต้องไปบอกให้หลวงปู่ชุ่มขึ้นชยันโต…เพราะท่าน ‘รู้’ พร้อม ๆ กับที่พ่อรู้จากท่านผู้สั่งเบื้องบน พ่อถึงบอกว่า ‘พระดีต้องอย่างนี้’ อันที่จริงก็ทั้ง ๕ องค์นั่นแหละ เพราะฉะนั้นท่านจึงได้ถูกกำหนดให้มาร่วมพิธีใหญ่ของประเทศชาติได้

ข้อพิสูจน์ที่เห็นชัด มันจะแจ้งตั้งแต่ก่อนพ่อจะบวงสรวง ตอนที่หลวงปู่ต่าง ๆ ทยอยมาไม่พร้อมกัน หลังจากกราบพระธาตุจอมกิตติแล้ว ทุกท่านหันมากราบองค์เล็กที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุอย่างนอบน้อม กราบแล้วกอบเทินหัว ท่านนึกออกไหม นั่นแหละทำอย่างนั้นทุกองค์ ก็ตามเคยเหมือนกัน ที่ผู้เขียนเป็นต้องเข้าไปถามเสียจนได้

“หลวงปู่กราบอะไร?”

“หลวงปู่กราบพระบรมธาตุพระพุทธเจ้า แสงสวยเหลือเกิน เป็นบุญมากน้อ..”

ก็หายสงสัย หายคันหัวใจ

ตามปกติจริง ๆ แล้ว บ้านซอยสายลมจะมีงานยุ่งเฉพาะตอนที่พ่อมาสอนกรรมฐานเดือนละครั้ง เป็นเวลา ๓ วัน พี่อ๋อยจะเดินสั่งงาน จัดนั่นวางนี่ก่อนพ่อมาเพียง ๒ วันก็เสร็จเรียบร้อย แต่นับจากงานฉลองวัดท่าซุง ปี ๒๕๑๘ เป็นต้นมา การจัดแจงสถานที่ก็มีการเพิ่มเติมขึ้นบ่อยครั้ง เพราะหลวงปู่สุปฏิปันโนทั้งหลายจะโคจรมาพักเจริญศรัทธาตามคำนิมนต์ของท่าน เจ้าของบ้านครั้งละองค์ ก็จัดที่พักไม่ยาก

บางคราวมาพร้อมกัน ๓ – ๔ องค์ พี่อ๋อยก็สั่งงานเพิ่ม คือบริเวณที่พวกเรานั่งตรงหน้าท่านเจ้าอาวาสรับแขกทุกวันนี้แหละ เอาราวสลิงมาขึงรูดม่านกั้นเป็นห้อง คูหาละองค์ บางคราวก็จัดกั้นฉากกั้นสายตาตรงพื้นที่จำหน่ายสังฆทานปัจจุบันนี้แหละ หลวงปู่ทั้งหลายท่านไม่ติดความสุขสบายของเสนาสนะอยู่แล้ว แต่ท่านกลับแสดงท่าเป็นสุขสบายใจ สนิทสนมกับเสนาสนะเฉพาะกิจที่พี่อ๋อยสั่ง เนรมิตถวายเสียจริง ๆ

ยิ่งหลวงปู่ชุ่มกับหลวงปู่คำแสนเล็กละก็…จะนั่งสบายใจยิ้มอมความสงบสุขไว้ เต็มอกเต็มใจเต็มใบหน้า นึกเอาเองเถอะ พระชราภาพแล้ว นั่งหลังค้อมลงแล้ว..ใจปลงปลดโลกธรรม ความทุกข์ออกจากใจเป็นอิสระเบิกบานเสียแล้ว จับท่านไปนั่งตรงไหนก็เป็นสุข ซ้ำพลอยทำให้สถานที่เยือกเย็น คนในที่นั้นก็เป็นสุขอิ่มเอิบบุญไปด้วย อย่างวันนั้นท่านนั่งฉันหมากกัน ๒ องค์น้องพี่ ภายในฉากผ้าคูหาอาศัยสบายอิริยาบถ มีผู้เขียนนั่งประจบประคบนวดอยู่ มาดูพระแท้ฉันหมากดีกว่า….

เคยได้ยินใครหนอ…พูดว่าพระที่ฉันหมาก นัดยานัตถุ์ยังมีกิเลส ให้เหตุผลที่น่าเอ็นดูว่า ขนาดกิเลสปลายกิ่งแค่หมากกับยานัตถุ์ ก็ยังตัดไม่ได้ จะไปตัดกิเลสโลภ โกรธ หลงได้อย่างไร ก็คงจริงของเขา แต่ของหลวงปู่คำแสนกับหลวงปู่ชุ่มนี่ไม่จริงแน่ โธ่เอ๋ย…นั่งใจเย็น ทรงอิริยาบถกำหนดรู้สบายอารมณ์ หยิบหมากใส่ปากเคี้ยว ฟันก็ไม่ค่อยจะมี บางเคี้ยวก็ต้องตะแคงมุมฟันมุมปากช่วย…หัวเราะขำตัวเอง

“มันแข็งน่อ…”

เอ้าหยิบพลูป้ายปูน ช้าเชียว ทั้งสายตาทั้งอารมณ์ทะลุไปไหน ๆ ทะลุนะไม่ใช่ทะลวงเลอะเทอะฟุ้งซ่าน ท่ามือห่อพลูทำเหมือนตะล่อมอารมณ์เป็นคำเดียว ส่งใส่ปากเคี้ยวอารมณ์ กัดกิเลสให้ขาด หลวงปู่ชุ่มเคี้ยวไปครู่เดียวก็หันมาทางหลวงปู่คำแสน

“มีหมากมั้ย…”

“มี้…”

เอ้า…ยื่นกันหยิบกันแค่หมากแห้งซีกเดียว มันไม่พอเคี้ยวพอสูตรผสม เคี้ยวไปก็ยิ้มขำ ยิ้มขอบคุณ ยิ้มตอบรับ ไม่เป็นไรเอาอีกไหม…พอแล้ว ไม่เอาแล้ว เอ้า..บ้วนน้ำหมากกันดีกว่า ปากเคี้ยว..มือหยิบกระโถนรออารมณ์ พอใช้ได้ก็ขับน้ำหมากบ้วน ๒ บ้วน ๓ บ้วน แล้วก็วางกระโถน หลับตาเคี้ยว… องค์หนึ่งนั่งเงยหน้าหลับตายิ้มเย็นเป็นสุข อีกองค์ลืมตามองทะลุพื้นบ้านทะลุโลก ไม่เห็นสนใจน้ำหมากหรือกระโถนที่ท่านวางทิ้งแล้ว

กิเลสอยู่ตรงไหนหนอ….

ผู้เขียนก้มกราบชิดเท้าเจ้าประคุณ ไม่มีเหตุผล ไม่ต้องการเหตุผล ใจมันเป็นสุขอิ่มเอิบ

เนื้อนาบุญแห่งพุทธเกษตรเอย..เพียงพระคุณเคี้ยวหมาก ขับน้ำหมากวางกระโถน ก็บันดาลให้เกิดดอกงอกผลขึ้นในใจผู้เขียน ให้เบิกบานอิ่มเอิบด้วยความหวัง…เราจะต้องได้บวช..เราต้องได้เคี้ยวหมาก เราต้องยิ้มอย่างนี้บ้าง (อันหลังนี่เลวนะ วัดรอยเท้าช้างนะ)

หลวงปู่ชุ่มนี่ทรงอภิญญาสมาบัติแน่ แต่ไม่เคยเห็นแสดงชัดแจ้งแดงจัดอะไรสักครั้ง มีครั้งหนึ่งที่ท่านมาพักซอยสายลมอย่างนี้แหละ มากัน ๔ องค์ ตกค่ำท่านก็จะทำวัตรเย็นกัน….พระคุณเจ้าทางเหนือนี่ ท่านจะคุกเข่าสวดมนต์กัน พอวันแรกผ่านไปก็ต้องรีบแก้ไขปัญหา พื้นกระดานแข็ง เข่าพระแก่คุกบดพื้นก็ต้องเจ็บมาก พี่อ๋อยก็ให้เอาเบาะฟองน้ำมารองเข่าถวายท่าน ….โธ่เอ๋ย วันนั้นหลวงปู่บุดดาก็มาสมทบเหมือนเหาะมาไม่บอกกล่าว มาถึงพอดีกับที่ทั้ง ๔ องค์ กำลังจะคุกเข่าบนเบาะ หลวงปู่บุดดาก็จะคุกเข่าบนพื้นแข็ง โอย….หลวงปู่ชุ่มหันมามองตาผู้เขียน ตะคอกเสียงดุเชียว….

“นี่…ยังไงนี่ พระคุณท่านจะนั่งยังไงนี่!”

ก็ใครจะไปรู้ว่าท่านจะมา ละล้าละลัง เข่าก็จะคุก หลวงปู่ชุ่มเอาเข่าท่านกระทบเบาะ…เจ้าเบาะสีเหลืองลายน้ำตาลใบของหลวงปู่ชุ่ม ก็แล่นมาไม่เห็นเงา ไปรองรับเข่าหลวงปู่บุดดาพอดี! หลวงปู่ชุ่มก็คุกกับกระดานแทน

ผู้เขียนวิ่งแทบจะชนพี่อ๋อยที่เดินถือเบาะมายื่นให้เอาถวายหลวงปู่ชุ่ม คุกเข่าสบายอิริยาบถแล้ว ค่อยๆ นึก…ใช่อภิญญาหรือเปล่าหนอ หูก็ฟังเสียง ๕ พระสงฆ์ อายุรวมกันเกิน ๔๐๐ ปี สวด เสียงสำเนียงไพเราะแบบโบราณ เสียงคำเมืองกระแสคำพระ

“นะโม๋ ตัดซะ ภะตะวะโต๋ อาระหะโต๋ ซัมม้า ซัมพุด ต๊าดซะ…นะโม…”

ร้องไห้สนุกดีวันนั้น…

แล้วก็มาถึงเรื่องสุดท้ายที่จะเล่าให้ฟังกัน

เรื่องของหลวงปู่ชุ่ม ทำอะไรล่ะ ! ฟังเอาเองดีกว่า คือพอจะใกล้ทิ้งสังขาร หลวงปู่ชุ่มก็บอกความในใจกับท่านเจ้ากรมเสริมและพี่อ๋อย (ท่านพล.อ.ท. ม.ร.ว. เสริม ศุขสวัสดิ์ และคุณเฉิดศรี ศุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา เจ้าของบ้านซอยสายลม …เขียนย้ำ กลัวคนรุ่นหลังจะลืม) ว่าท่านเคยเกิดเป็นลูกของท่านพ่อท่านแม่คู่นี้

แล้วท่านก็ลงไปปักษ์ใต้กับพระคุณพ่อเราในงานสาธารณสงเคราะห์ของศูนย์สงเคราะห์ฯ วัดท่าซุงเรา ก่อนออกเดินทาง ก็บอกท่านพ่อท่านแม่ทั้งสองว่า ไปเที่ยวนี้ก็ต้องลาแล้ว ศพของท่านขอให้จัดที่ซอยสายลม ขอให้โยมพ่อโยมแม่จัดการเผาศพท่านด้วย ถ้าให้ทางวัดลำพูนไปจัดการศพจะเสียเปล่า ถ้าให้โยมพ่อโยมแม่จัดการ กระดูกท่านจึงจะเป็นพระธาตุ เอาไว้ให้คนรุ่นหลัง สักการะทัศนาเพื่อความมั่นคงในคุณพระรัตนตรัยได้

…ขอเล่าข้ามไปก่อนว่า เมื่อท่านกลับจากปักษ์ใต้ก็ป่วยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลอะไรหนอ… มีพี่อำไพ พวงทอง กับพี่หมอยุวดี เป็นผู้รับธุระถวายอุปการะ….

เอาล่ะ….กลับมาดู ย้อนไปสัมผัสเหตุการณ์ที่พวกเราปรนนิบัติร่างกายพระดีกันเป็นวาระสุดท้าย วันนั้นพอดีเป็นวันที่พ่อไปสอนพระกรรมฐานที่บ้านสายลม ปีไหนหนอ…๒๕๒๑ เวลาประมาณสองทุ่ม พี่อำไพ พวงทอง ก็โทรศัพท์มาบอกว่า หลวงปู่ชุ่มมรณภาพแล้วโดยอาการสงบ… คือลุกขึ้นมานั่งยิ้มสดชื่น สักครู่ก็นอน… สงบนิ่งไปเลย พ่อสั่งให้นำศพหลวงปู่มาตั้งที่บ้านสายลม ตั้งสรงน้ำกันตรงหน้าห้องที่พระสงฆ์พักเวลามาสอนพระกรรมฐาน ตรงที่จำหน่ายสังฆทานนั่นแหละ เอาเตียงมาวางร่าง เอาตั่งมารองขันน้ำสรงมือ

ร้องไห้กันทำไมหนอ… ท่านคงนอนยิ้มถาม ….ไม่มีใครตอบท่าน มีแต่ต่างก็ตอบสนองความเคารพอาลัยรักของตนเอง เอาขมิ้นมาทาฝ่าเท้า เอาผ้าขาวมาตัดพิมพ์แจกให้ทำบุญกัน… พิมพ์รอยเท้าทำไมหนอ… ท่านคงถาม ทำไมไม่พิมพ์น้ำคำประทับกระแสธรรมไว้ในดวงจิต ….เอาเถิดลูกหลานเอ๋ย ทำอะไรที่มันไม่ผิดศีลแล้วมีความสุขก็ทำเถิด เป็นบันได เป็นกำลัง ให้ก้าวไปสู่จุดที่ปู่เข้าถึงแล้ว จุดที่พ่อเธอเข้าถึงแล้ว เมื่อเธอเข้าถึงด้วยตัวเอง อามิสบูชาทั้งหลาย เธอก็ไม่ต้องทำแล้ว ตอนนี้ทำเถิดลูก ทำไปจนวันตาย…. วันที่ปู่ได้ครอบครองสมใจแล้ว

ผู้เขียนประจงเช็ดปากหลวงปู่ด้วยกระดาษซับ ตอนนี้ไม่กลัวโดนดุแล้ว ตามีอำนาจดุจสายฟ้าปิดสนิทแล้ว แต่กระแสอัศจรรย์อย่างหนึ่งแล่นเข้ามากระทบใจผู้เขียน

“ดูรูปปู่บนหัวนอนซี สวยไหม?” สวยครับ งามมาก ยิ้มงามสงบนัก

“ดูหน้าศพปู่ซิ สวยไหม?” ไม่สวย ปู่พ่นน้ำลายเป็นฟองทำไม ผมเช็ดให้…

“จะให้ดูไงลูก…ผลสุดท้ายปู่ก็เป็นอย่างนี้ เย็นเฉียบแข็งทื่ออย่างนี้ ทุกคนต้องเป็นอย่างนี้ พ่อเธอก็ต้องเป็นอย่างนี้ ตัวเธอก็ต้องเป็นอย่างนี้ ร่างกายหมดอายุใช้งานแล้ว ก็ไม่มีอะไรดีแล้ว เอามาทำกิจ เอามาโลภ โกรธ หลง อะไรไม่ได้แล้ว เธออย่าประมาทเลย รีบทำความดีเสียให้ถึงพร้อม รีบขจัดขัดล้างความชั่ว มลทินในใจให้หมดไปเสีย มันเป็นของไม่ดี แล้วใจของเธอก็จะผ่องใส ให้มันผ่องใสเสียก่อนตาย จะได้นั่งกินหมาก นั่งยิ้มเย็น นั่งคุยเป็นสุขได้…”

ครับ…ปู่ หลวงปู่…ลูกขอคุกเข่าปรนนิบัติ ขอมองหน้า ขอดูดซับกระแสใจของหลวงปู่ ของท่านลุงชุ่มโดยไม่ยกมือไหว้ ขอเอามือทำงาน เอาใจกราบเข้าไปในดวงจิตที่เลอเลิศด้วยความเมตตา อันเข้มแข็งดุจแสงสายฟ้าที่สะท้อนเงาลงในแผ่นน้ำอันสงบร่มรื่น ทิ้งร่างนี้ไว้เถิด…ขึ้นไปสถิตเป็นกำลังใจ คอยชี้ทางลูกด้วยเถิด…

หลวงปู่รู้ไหม…เคยมีใครบอกหลวงปู่ไหม ว่ามีพระดีองค์หนึ่งได้อุบัติมาในโลกมนุษย์ พระองค์นี้ใช้ความสงบอันเด็ดเดี่ยว สอนผู้คนได้โดยแทบไม่ต้องใช้วาจาภาพูด เพียงท่านเดิน ยืน นั่ง นอน ฉันหมาก แม้นอนตายหงายร่าง ก็ยังสามารถสั่งสอนผู้คนให้เข้าใจความจริงที่สวยงามได้ ลูกจะบอกให้ เพราะลูกรู้จักพระองค์นั้น เพราะลูกรักพระองค์นั้น ท่านชื่อ ครูบาชุ่ม โพธิโก พระดีศรีล้านนา หลวงปู่อย่าอิจฉาท่านนะ อย่ามาห้ามไม่ให้ลูกรักบูชาท่านนะ เพราะท่านได้พิมพ์จริยาพระลงไปในใจลูกเสียแล้ว จนตราบท้าวเข้าสู่พระนิพพานก็จะไม่ยอมลบให้เลือนหาย


วาจาสุดท้าย ณ บ้านวังมุย

พ่อเลื่อน กันธิโน ศิษย์ใกล้ชิดของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม เล่าถึงช่วงเวลาก่อนที่ท่านจะมรณภาพว่า ตอนที่ท่านจะตัดสินใจมากรุงเทพฯ นั้น ชาวบ้านวังมุยหลายคนขอร้องไม่ให้ท่านมา เพราะเห็นว่าท่านอาพาธอยู่

แต่ดูเหมือนหลวงปู่ท่านจะรู้วาระของท่านจึงได้เอ่ยวาจาว่า

“เฮาจะไม่ตายที่นี่ เฮาจะไปตายที่เมืองกรุงบางกอก”

นับได้ว่าเป็นวาจาประโยคสุดท้ายของท่านที่บ้านวังมุย

พ่อเลื่อนเป็นผู้พาหลวงปู่นั่งเครื่องบินเดินทางไปกรุงเทพฯ โดยท่านเจ้ากรมเสริม (พล.อ.ท. ม.ร.ว. เสริม ศุขสวัสดิ์) กับคุณอ๋อย (คุณเฉิดศรี ศุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา มารอรับที่สนามบินดอนเมือง เพื่อพาหลวงปู่ชุ่มไปรักษาที่โรงพยาบาลพร้อมมิตร คณะแพทย์ได้ตรวจรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์ผ่าตัดบริเวณต่อมลูกหมาก หลวงปู่ท่านกะว่าจะนอนพักผ่อนแค่ ๒ วันแล้วจะกลับวัดวังมุย แต่แพทย์ได้ห้ามไว้ เพราะหลวงปู่เพิ่งผ่าตัด ควรจะนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลต่อสัก ๔-๕ วัน พร้อมกันนี้ แพทย์ได้ขอร้องหลวงปู่ไม่ให้เดินเพราะเพิ่งจะผ่าตัด

แต่ด้วยความที่หลวงปู่ท่านเปี่ยมไปด้วยความเมตตาสูงส่ง เมื่อท่านนอนพักฟื้นได้สักระยะหนึ่ง จนพอมีแรงขึ้นมาบ้าง ท่านก็เมตตาเดินขึ้นไปตามชั้นต่างๆ ของโรงพยาบาลที่มี ๔ ชั้น เพื่อไปรดน้ำมนต์ให้กับบรรดาผู้ป่วยของโรงพยาบาล

ปรากฏว่าพอหลวงปู่กลับมาพักที่ห้องของท่าน เลือดได้ไหลออกมาจากตรงบริเวณแผลที่เพิ่งผ่าตัด พอคณะแพทย์พยาบาลทราบ ต่างตกใจและรีบช่วยกันเยียวยาหลวงปู่อย่างเต็มความสามารถ แต่เนื่องจากหลวงปู่เสียเลือดมาก ประกอบกับการที่ท่านชราภาพมากแล้ว จึงไม่สามาถต้านทานความเจ็บปวดเอาไว้ได้ ท่านจึงมรณภาพอย่างสงบในเวลาเย็น ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของศิษยานุศิษย์

พล.อ.ท. ม.ร.ว. เสริม ศุขสวัสดิ์ ได้นำสังขารของหลวงปู่ชุ่ม มาตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้านสายลม อันเป็นสถานที่ที่หลวงพ่อพระราชพรหมยานมาสอนกรรมฐาน เป็นเวลา ๑ วัน จากนั้นชาวบ้านวังมุยจึงพากันเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อขอนำสังขารของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มกลับไปสู่บ้านวังมุย เจ้ากรมเสริมจึงได้สั่งการให้ทหารเอารถจี๊บใหญ่นำสังขารของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มมาส่งถึงวัดชัยมงคล (วังมุย) โดยมีรถทหารนำขบวนมาด้วย

จากนั้นทางวัดชัยมงคล (วังมุย) ได้จัดงานบำเพ็ญกุศลตามประเพณีอีก ๗ วัน หลังจากนั้นจึงปิดโลงเก็บสังขารของท่านไว้เป็นแรมปี จนถึงปี ๒๕๒๑ จึงมีกำหนดการพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก โดยก่อนที่จะทำการเคลื่อนย้ายสังขารของท่านไปเผา ณ เมรุปราสาท นั้น ศิษยานุศิษย์บ้านวังมุยได้เปิดฝาดลงดูสังขารของท่านเป็นครั้งสุดท้าย จึงเห็นว่า สังขารของหลวงปู่ไม่ได้เน่า เพียงแต่ร่างกายแห้งลงเท่านั้น

ในวันงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก มีครูบาอาจารย์สายเหนือหลายรูป เช่น ครูบาพรหมา ครูบาธรรมชัย ไปร่วมงานด้วย

เปลวเพลิงได้เผาร่างสมมุติของท่าน เหลือไว้เพียงนามอันเป็นวิมุตติของ หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก พระอริยเจ้าแห่งหริภุญชัย

ครูบาชุ่ม โพธิโก
ครูบาชุ่ม โพธิโก

ดำเนินตามรอยบาท แผ่บารมีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์

หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม ได้เจริญตามรอยบาทของพระอาจารย์ที่เคารพอย่างครูบาเจ้าศรีวิชัย โดยการแผ่บารมี ช่วยเหลืองานสาธารณประโยชน์ไว้มากมายหลายแห่ง เท่าที่มีบันทึกไว้เพียงบางแห่ง มีรายละเอียดมากน้อยต่างกัน คือ

  • ร่วมสร้างทางขึ้นพระบรมธาตุดอยสุเทพ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘
  • ร่วมสร้างสะพานศรีวิชัย สานต่อภารกิจของครูบาเจ้าศรีวิชัย ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑
  • สร้างทางขึ้นพระธาตุดอยตุง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
  • สร้างสะพาน แม่น้ำขาน ที่หนองห้า อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
  • ร่วมสร้างวัดร่มหลวง ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
  • สร้างสะพานบ้านเหมืองฟู ต.ยุหว่า อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ สะพานยาว ๒๕ วา ๒ ศอก กว้าง ๘ ศอก ใช้เวลาก่อสร้าง ๓ เดือน จึงแล้วเสร็จ สิ้นเงิน ๘๐,๖๓๐ บาท
  • สร้างสะพานที่ ต.สันทราย อ.สารภี จ.เชียงใหม่ สะพาน กว้าง ๘ ศอก ยาว ๑๒ วา สิ้นเงิน ๔๘,๐๐๐ บาท
  • สร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง ที่ ต.ขัวมุง จ.เชียงใหม่ กว้าง ๘ ศอก ยาว ๕๕ วา ใช้เวลา ๗ เดือน ๑๕ วัน จึงเสร็จ สิ้นเงินประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาทเศษ
  • สร้างสะพานวัดชัยชนะ ข้ามลำน้ำแม่ปิงที่ ต.ประตูป่า จ.ลำพูน กว้าง ๘ ศอก ยาว ๑๐ วา ใช้เวลา ๑๐ เดือน สิ้นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาทเศษ
  • ชาวบ้านริมปิง อ.เมือง จ.ลำพูนได้อาราธนาท่านไปนั่งหนักสร้างสะพานให้อีก กินเวลา ๔ เดือน กว้าง ๘ ศอก ยาว ๑๕ วา ยังใช้อยู่ถึงทุกวันนี้
  • สร้างสะพานหน้าวัดวังมุย มีความกว้าง ๘ ศอก ยาว ๑๒ ศอก สิ้นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาทเศษ ใช้เวลาก่อสร้าง ๒ เดือนจึงเสร็จสิ้นสมบูรณ์
  • สร้างสะพานที่ห้องกาศ (ห้องแล้ง) อ.เมือง จ.ลำพูน
  • สร้างวัดสถานีรถไฟลำปาง (พระอุโบสถ) อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ปี พ.ศ. ๒๕๑๘
  • บูรณะพระธาตุจอมกิจจิ ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ และสร้างพระนอนที่วัดพระธาตุจอมกิจจิ (ปัจจุบันเรียกพระธาตุจอมกิตติ)

หลวงปู่เคยเล่าว่า ทุกครั้งที่ไปเป็นประธานการสร้างในที่ต่างๆ นายห้างบริษัท ธานินท์อุตสาหกรรม จำกัด จะส่งเงินมาร่วมสมทบทำบุญด้วยทุกครั้ง

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น