สมเด็จพระสังฆราช

องค์ที่ ๒๐ พระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระนามเดิม อัมพร ประสัตถพงศ์ ฉายา อมฺพโร เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยทรงเริ่มดำรงตำแหน่งในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ และทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม แม่กองงานพระธรรมทูต

พระประวัติ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ตรงกับแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีเถาะ ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี พระชนกชื่อนับ ประสัตถพงศ์ พระชนนีชื่อตาล ประสัตถพงศ์ เป็นบุตรคนที่ ๒ จากพี่น้องทั้งหมด ๙ คน มีพระน้องชายคือ พระเทพสุเมธี (ไสว วฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม จังหวัดราชบุรี ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ ๔ ตำบลโคกกระเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ แล้วมาศึกษาต่อที่โรงเรียนประชาบาลวัดพเนินพลูจนจบชั้น ป. ๔ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐

การบรรพชาอุปสมบท

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ พระองค์บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วย้ายไปอยู่วัดตรีญาติเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม

ต่อมาได้ทรงเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

การศึกษาพระปริยัติธรรม

ขณะจำพรรษาที่วัดตรีญาติ ตำบลพงสวาย สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ สอบได้นักธรรมชั้นโทในปีต่อมา ถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๖ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม ๓ ประโยค และสอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยคในปี พ.ศ. ๒๔๘๘

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ ทรงย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สกลมหาสังฆปริณายก ภายหลังอุปสมบท ท่านศึกษาพระปริยัติธรรมต่อในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จน พ.ศ. ๒๔๙๑ สามารถสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค และ พ.ศ. ๒๔๙๓ สามารถสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค

หลังเป็นเปรียญ ๕ ประโยค พระองค์ได้ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ ๕ จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ และได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ

สมเด็จพระสังฆราช

วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้เสด็จไปประกอบพระราชพิธีสถาปนาเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

งานปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบัน

  • สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
  • เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร
  • กรรมการมหาเถรสมาคม
  • แม่กองงานพระธรรมทูต
  • ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๔ – ๑๕ (ธรรมยุต)
  • ประธานกรรมการคณะธรรมยุต
  • กรรมการเถรสมาคมธรรมยุต
  • พระอุปัชฌาย์
  • นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและนายกกรรมการบริหารมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ด้านการศึกษา

  • เป็นอาจารย์สอนธรรมวินัยแก่พระภิกษุสามเณร
  • เป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรมและแผนกบาลี
  • เป็นประธานศูนย์ธรรมศึกษา ในสำนักเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนวัดราชบพิธ

ด้านการศึกษาสงเคราะห์

  • เป็นกรรมการฝ่ายการศึกษาสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ได้จัดมอบทุนสนับสนุนและส่งเสริมแก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทั้งสามัญศึกษาและปริยัติศึกษา เพื่อให้ศิษยานุศิษย์มีโอกาสได้รับการศึกษาชั้นสูงยิ่งขึ้น

ด้านสาธารณูปการ

  • เป็นประธานอำนวยการฝ่ายบรรพชิต พระมหาธาตุเจดีย์และเขตพุทธาวาสเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และฉลองมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ วัดธัมมธโร กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย
  • เป็นประธานสร้างวัดแหล่งทองแดงพรหมสราราม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม เป็นต้น
  • เป็นประธานกรรมการควบคุมดูแลการปฏิสังขรณ์เสนาสนะวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ให้มีสภาพมั่นคงสง่างามดังที่ปรากฏในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังได้อุปการะการสร้างและปฏิสังขรณ์ เสนาสนะให้แก่วัดต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

ด้านการสาธารณสงเคราะห์

  • ได้รับเป็นประธานมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
  • สนับสนุนช่วยเหลือทางราชการในการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยต่าง ๆ ตามเหตุการณ์ทุกครั้ง

ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

  • ได้รับอาราธนาแสดงธรรมเทศนาในวันธรรมสวนะให้แก่ผู้มารักษาศีลปฏิบัติธรรม
  • เป็นผู้บุกเบิกนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย
  • วางรากฐานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างมีรูปแบบ ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีความมั่นคงในไพรัชประเทศ มีวัดและพระสงฆ์ไทยอยู่ประจำที่เครือรัฐออสเตรเลียหลายแห่ง
  • เป็นผู้แทนมหาเถรสมาคมในคราวที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ณ สำนักงานใหญ่ องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ลำดับสมณศักดิ์

  • พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระปริยัติกวี
  • พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสารสุธี
  • พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเมธาภรณ์
  • พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมเมธาภรณ์
  • พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏหรือรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ พระสาสนโสภณ วิมลญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูษิต ธรรมนิตยสาทร ศาสนกิจจานุกร ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
  • พ.ศ. ๒๕๕๒ ทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์ วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี
  • พ.ศ. ๒๕๖๐ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย อัมพราภิธานสังฆวิสุต ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช

ที่มา: ราชกิจจานุเบกษา ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น