ความรู้เกี่ยวกับพระสงฆ์

สังฆเภทครั้งที่ ๒ พระวินัยธรและพระธรรมกถึก

เหตุเกิดในขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปประทับ ณ โฆษิตาราม นครโกสัมพี

การเกิดสังฆเภทครั้งนี้มาจากพระสงฆ์วัดโฆษิตาราม นครโกสัมพี โดยภิกษุทั้งสองฝ่ายคือ พระวินัยธร กับ พระธรรมธร หรือเรียกว่าพระธรรมกถึก ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็มีลูกศิษย์มากด้วยกันทั้งคู่ สาเหตุเกิดจากน้ำชำระในเว็จกุฏี หรือน้ำใช้ในกุฏีของพระธรรมกถึก พระธรรมกถึกนำน้ำไปชำระแล้วเหลือทิ้งไว้ซึ่งมีบัญญัติให้ใช้น้ำและไม่ให้เหลือน้ำทิ้งไว้ในภาชนะ ฝ่ายพระวินัยธรเข้าไปทีหลัง ไปพบน้ำที่เหลือนั้น จึงพูดว่าท่านเหลือน้ำทิ้งไว้ในภาชนะการทำอย่างนั้นต้องอาบัติทุกกฏ พระธรรมกถึกก็ตอบว่าท่านไม่รู้ว่าการทำอย่างนั้นเป็นอาบัติเพราะเหตุที่กระทำนั้น แต่ว่าเมื่อเป็นอาบัติท่านก็จะแสดงอาบัติคืน พระวินัยธรก็บอกว่าเมื่อไม่จงใจก็ไม่เป็นไร แล้วก็แยกจากกัน

ฝ่ายพระวินัยธรเมื่อกลับมาแล้วก็มาแจ้งแก่บรรดาลูกศิษย์ของตนว่า พระธรรมกถึกต้องอาบัติแล้วไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ และฝายลูกศิษย์ก็นำความนั้นไปบอกแก่ลูกศิษย์ของฝ่ายพระธรรมกถึกว่า อุปัชฌาย์ของพวกท่านต้องอาบัติแล้วไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ เมื่อลูกศิษย์พระธรรมกถึกได้ฟังดังนั้นก็นำเหตุนั้นกลับไปเล่าให้พระธรรมกถึกฟัง พระธรรมกถึกก็บอกว่า พระวินัยธรบอกแก่ตนแล้วว่าไม่เป็นอาบัติเพราะไม่ได้จงใจ แต่เหตุไรพระวินัยธรจึงกลับมาพูดว่าตนเองเป็นอาบัติ เท่ากับพระวินัยธรพูดมุสาวาท พวกลูกศิษย์พระวินัยธรได้ฟังดังนั้นก็นำเหตุนั้นไปเล่าสู่พระวินัยธรฟัง ทั้งสองฝ่ายก็เกิดการทุ่มเถียงกันจนแตกกันเป็นสองฝ่าย

ฝ่ายพระวินัยธรได้โอกาสจึงลง อุกเขปนียกรรม ลงโทษแก่พระธรรมกถึกในเหตุเพราะไม่เห็นเป็นอาบัติ เพื่อจะเอาชนะพระธรรมกถึก แต่ก็ทำไม่สำเร็จตามความมุ่งหมาย ฝ่ายพวกลูกศิษย์ของพระธรรมกถึกกลับเห็นว่าอาจารย์ของตนถูกลงอุกเขปนียกรรมโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่วนฝ่ายพระวินัยธรก็ยืนยันว่าพวกตนได้ทำกรรมนั้นไปโดยความชอบธรรม จึงเกิดการทะเลาะทุ่มเถียงกันวิวาทาธิกรณ์ซ้อนขึ้นมาอีกด้วยข้อที่ว่า “นี้เป็นวินัย นี้ไม่ใช่วินัย”

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบเหตุแล้วได้เสด็จไปยังสำนักของพระวินัยธร ทรงชี้โทษของการทำ อุกเขปนียกรรมง่าย ๆ แก่ภิกษุเหล่านั้นและตรัสแนะให้พิจารณาดูก่อนว่า ภิกษุที่ถูกลงอุกเขปนียกรรมนั้นเป็นเช่นไร ถ้าเห็นว่า ท่านเป็นพหูสูต มีคนเคารพมาก นับถือมาก มีบริวารมาก ถูกลงอุกเขปนียกรรมแล้ว สงฆ์จักแตกแยกกันหรือร้าวรานกัน ในกรณ๊เช่นนี้ไม่ควรลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุนั้น โดยมุ่งเอาความสามัคคีแห่งสงฆ์เป็นที่ตั้ง

จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เสด็จไปยังสำนักของพระธรรมกถึกและภิกษุผู้เป็นลูกศิษย์ ซึ่งถูกพระวินัยธรลงอุกเขปนียกรรม ทรงชี้โทษของความเป็นคนดื้อ ไม่ยอมรับผิด พร้อมกับตรัสแนะว่า พระวินัยธรนั้นเป็นผู้เช่นไร ถ้าเห็นว่าเป็นพหูสูต ทรงธรรม ทรงวินัย ก็คงไม่มีอคติต่อพวกท่านเป็นแน่

แม้ว่าพระองค์จะทรงไกล่เกลี่ยอย่างนั้นแล้ว ก็ไม่อาจทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจปรองดองกันได้ จึงทรงเบื่อหน่ายและได้เสด็จไปประทับอยู่ยัง ป่ารักขิตวัน เขตบ้านปาริเลยกะ ทรงประทับอยู่สำราญพระอิริยาบถแล้วก็เสด็จออกจากที่นั้น ไปประทับ ณ กรุงสาวัตถี

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จไปจากเมืองโกสัมพีแล้ว ชาวเมืองโกสัมพีได้พร้อมกันลงโทษพวกภิกษุที่ทะเลาะกันจนเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าเสด็จหนีไป ทำให้เสื่อมจากประโยชน์ของพวกตน ไม่ทำการอุปถัมภ์บำรุงด้วยข้าวปลาอาหารทำให้พวกภิกษุนั้นอดอยาก เมื่อภิกษุเหล่านั้นถูกลงโทษจากชาวเมืองก็ทนไม่ไหว กลับได้สติขึ้นมา พอออกพรรษาก็พากันไปสู่กรุงสาวัตถีอ้อนวอนพระอานนท์ให้พาไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยคณะพระภิกษุได้มากราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคให้เสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหารและทูลขอขมาพระผู้มีพระภาคเจ้าและระงับอธิกรณ์นั้น พระธรรมกถึกและพระวินัยธร พร้อมด้วยเหล่าศิษย์ก็ยินยอมขอขมาต่อกันไม่มีความเห็นแตกแยกกันเพราะได้รับโทษของความแตกแยกกันเป็นบทเรียนแล้วนั่นเอง

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น