ความรู้เกี่ยวกับพระสงฆ์

สังฆเภทครั้งที่ ๑ พระเทวทัต เป็นเหตุ

สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์อยู่ พระเทวทัตได้ชักชวนภิกษุผู้บวชใหม่เป็นพรรรคพวก ได้พากันแตกแยกออกไปจากคณะของพระพุทธเจ้า พระเทวทัตปรารถนาจะเลี้ยงชีพด้วยโกหัญญกรรม การหลอกลวงสืบไป เพื่อจะเเสดงว่าตนเป็นผู้เคร่งครัด ได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลขอวัตถุ ๕ ประการ เพื่อให้พระบรมศาสดาบัญญัติให้ภิกษุทั้งหลายปฎิบัติโดยเคร่งครัด คือ…

  1. ให้อยู่ในเสนาสนะป่า เป็นวัตร
  2. ให้ถือบิณฑบาต เป็นวัตร
  3. ให้ทรงผ้าบังสุกุล เป็นวัตร
  4. ให้อยู่โคนไม้ เป็นวัตร
  5. ให้งดฉันมังสาหาร เป็นวัตร

ในวัตถุทั้ง ๕ ภิกษุรูปใด จะปฎิบัติข้อใด ให้ถือข้อนั้นโดยเคร่งครัด คือให้สมาทานเป็นวัตร ปฎิบัติโดยส่วนเดียว

พระบรมศาสดาไม่ทรงอนุญาต ตรัสว่า “ไม่ควร ควรให้ปฎิบัติได้ตามศรัทธา” คือไม่เห็นชอบและไม่ยินยอมตามที่พระเทวทัตทูลขอ โดยตรัสตอบไปว่า “ภิกษุรูปใดปรารถนาจะอยู่ป่าก็ตาม บ้านก็ตาม จะถือบิณบาตรก็ตาม จะรับนิมนต์ก็ตาม จะรับคฤหบดีจีวรก็ตาม ทรงอนุญาตให้ทำได้ ยกเว้นแต่การอยู่โคนต้นไม้อนุญาตให้อยู่เพียง ๘ เดือน เป็นอย่างมาก (เพราะอีก ๓ เดือนนั้นต้องอยู่จำพรรษาในอาวาสหรือวิหารหรือวัด) ปลาและเนื้อต้องเป็นของบริสุทธิโดยส่วน ๓ คือ ไม่ได้เห็นเอง ไม่ได้ยินเอง ไม่ได้รังเกียจว่าเขาฆ่าสัตว์นั้นทำเป็นอาหารเฉพาะของตน หรือสหธรรมิกด้วยกัน ด้วยทรงเห็นว่า ยากแก่การปฎิบัติ เป็นการเกินพอดีไม่เป็นทางสายกลางสำหรับบุคคลทั่วไป พระเทวทัตโกรธแค้น ไม่สมประสงค์ กล่าวยกโทษพระบรมศาสดา ประกาศว่า คำสอนของตนประเสริฐกว่า ทำให้ภิกษุที่บวชใหม่ มีปัญญาน้อยหลงเชื่อ ยอมทำตนเข้าเป็นสาวก ครั้นพระเทวทัตได้ภิกษุยอมเข้าเป็นบริษัทของตนแล้ว ก็พยายามทำสังฆเภท แยกจากพระบรมศาสดา

เมื่อพระบรมศาสดาทรงทราบ ก็โปรดให้หาพระเทวทัตมาเฝ้า รับสั่งถาม พระเทวทัตก็ทูลตามความสัตย์ จึงทรงตรัสพระพุทธโอวาทห้ามปรามว่า “ดูก่อนเทวทัต ท่านอย่าพึงทำเช่นนั้น อันสังฆเภทนี้เป็นครุกรรมใหญ่หลางนัก” พระเทวทัตมิได้เอื้อเฟื้อในพระโอวาท ไปจากที่นั้น พบพระอานนท์ในพระนครราชคฤห์ ได้บอกความประสงค์ของตนว่า “ท่านอานนท์ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าเลิกจากพระบรมศาสดา ข้าพเจ้าเลิกจากหมู่สงฆ์ทั้งปวง ข้าพเจ้าจะทำอุโบสถสังฆกรรมเป็นการภายในแต่พวกของเราเท่านั้น” พระอานนท์ได้นำความนั้นมากราบทูลพระบรมศาสดา เมื่อทรงทราบแล้วก็บังเกิดธรรมสังเวช ทรงพระดำริว่า “พระเทวทัตจะกระทำอนันตริยกรรม อันจะนำตัวให้ไปทนทุกข์อยู่ในอเวจีมหานรก” แล้วทรงอุทานว่า “กรรมใดไม่ดีด้วย ไม่เป็นประโยชน์ด้วย กรรมนั้นทำได้ง่าย ส่วนกรรมใดดีด้วย มีประโยชน์ด้วย กรรมนั้นทำได้ยากยิ่งนัก”

ในวันอุโบสถวันหนึ่ง พระเทวทัตก็ประชุมภิกษุ ซึ่งส่วนมากเป็นชาววัชชีบวชใหม่ ในโรงอุโบสถ พระเทวทัตประกาศว่า วัตถุ ๕ ประการนั้น ท่านรูปใดเห็นชอบด้วย ก็จงจับสลากคือลงคะแนนให้ด้วย ปรากฏว่ามีภิกษุ ๓ หรือ ๔ รูปที่ระบุชื่อ กับภิกษุวัชชีอีก ๕๐๐ รูป เห็นด้วย จึงพากันหนึไปที่ตำบลยาสีสะประเทศ ตั้งคณะขึ้นมาใหม่ โดยไม่ขึ้นตรงต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกต่อไป

ครั้นพระบรมศาสดาได้ทรงทราบเหตุนั้นแล้ว ทรงดำรัสให้พระสารีบุตรเถระและพระโมคคัลลานะเถระ ไปนำภิกษุพวกนั้นกลับ อัครสาวกทั้งสองรับพระบัญชาแล้วไปที่คยาสีสะประเทศนั้น แนะนำพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้น ให้กลับใจ ด้วยอำนาจเทศนาปาฎิหาริย์และอิทธิปาฎิหาริย์ต่างๆ ให้ภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุอมตธรรม แล้วพาภิกษุเหล่านั้นกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา

พระโกกาลิกะ ซึ่งเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของพระเทวทัต มีความโกรธ กล่าวโทษแก่พระเทวทัต ที่ไปคบค้าด้วยพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ให้พระอัครสาวกทั้งสองพาภิกษุทั้งหลายกลับไปหมดสิ้น แล้วประหารพระเทวทัตที่ทรวงอก ด้วยเท้าอย่างแรงด้วยกำลังโทสะ เป็นเหตุให้พระเทวทัตเจ็บปวดอย่างสาหัส ถึงอาเจียนเป็นโลหิต ได้รับทุกข์เวทนาแรงกล้า

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จจากพระนครราชคฤห์ ไปประทับยังพระเชตวันวิหารพระนครสาวัตถีแล้ว ต่อมาพระเทวทัตก็อาพาธหนักลง ไม่ทุเลาถึง ๙ เดือน กลับหวลคิดถึงพระบรมศาสดา ใคร่จะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยแน่ใจในชีวิตสังขารของตนคงจะดับสูญในกาลไม่นานนั้นเป็นแน่แท้ จึงได้ขอร้องให้ภิกษุที่เป็นสาวกของตนให้ช่วยพาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุพวกนั้นกล่าวว่า

“ท่านอาจารย์เป็นเวรอยู่กับพระบรมศาสดาหนักนัก ข้าพเจ้าทั้งหลาย หาอาจพาไปเฝ้าได้ไม่

พระเทวทัตจึงกล่าวว่า

“ท่านทั้งปวงอย่าให้เราพินาศฉิบหายเสียเลย แม้เราจะได้ทำเวรอาฆาตในพระผู้มีพระภาค แต่พระผู้มีพระภาคจะได้อาฆาตตอบเราแม้แต่น้อยหนึ่งก็มิได้มี เราจะไปขมาโทษ ขอให้พระองค์อดโทษให้สิ้นโทษ ด้วยน้ำพระทัยพระผู้มีพระภาคเปี่ยมด้วยพระกรุณา ทรงพระการุญในพระเทวทัตก็ดี ในองคุลีมาลโจรก็ดี ในช้างนาฬาคีรีก็ดี ในพระราหุลผู้เป็นพระโอรสก็ดี เสมอกัน”

เหตุนั้น พระเทวัตจึงขอร้อง วิงวอนแล้ว วิงวอนเล่า ให้ภิกษุผู้เป็นศิษย์ ช่วยนำตัวไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า บรรดาภิกษุผู้เป็นศิษย์มีความสงสาร จึงพร้อมกันยกพระเทวทัตขึ้นนอนบนเตียงแล้วช่วยกันหามมา ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ จนถึงเมืองสาวัตถี

ครั้นพระสงฆ์ทั้งหลายรู้ข่าว จึงเข้าไปกราบทูลพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตได้ทำกรรมหนัก ไม่อาจเห็นตถาคตในอัตตภาพนี้ได้เลย”

แม้ภิกษุทั้งหลายจะได้เข้ากราบทูลให้ทรงทราบเป็นระยะ ๆ หลายหน ถึงครั้งสุดท้าย พระเทวทัตได้ถูกหามมาใกล้พระเชตวันวิหารแล้ว พระผู้มีพระภาค ก็ยังทรงรับสั่งเช่นเดิมอยู่อย่างนั้นอีกว่า

“ภิกษุทั้งหลาย แม้พระเทวทัต จะเข้ามาในพระเชตวัน พระเทวทัตก็จะไม่ได้เห็นตถาคตเป็นแน่แท้”

เมื่ออันเตวสิกทั้งหลาย หามพระเทวทัตมาถึงสระโบกขรณี ซึ่งอยู่นอกพระเชตวันวิหาร จึงวางเตียงลงในที่ใกล้สระ แล้วก็ชวนลงอาบน้ำในสระนั้น ส่วนพระเทวทัตก็ลุกขึ้นนั่งอยู่บนเตียง ห้อยเท้าทั้งสองถึงพื้นดิน ประสงค์จะเหยียบยันกายขึ้นบนพื้นปฐพี ในขณะนั้น พื้นปฐพีก็แยกออกเป็นช่อง สูบเอาเท้าทั้งสองของพระเทวทัตลงไปในแผ่นดินโดยลำดับ พระเทวทัตได้จมหายไปในภาคพื้น ตราบเท่าถึงคอ และกระดูกคาง วางอยู่บนพื้นปฐพี

ในเวลานั้น พระเทวทัตได้กล่าวคาถาสรรเสริญบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

“พระผู้มีพระภาค เป็นอัครบุรุษ ยอดแห่งมนุษย์และเทพดาทั้งหลาย พระองค์เป็นสารถีฝึกบุรุษอันประเสริฐ พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยบุญญลักษณ์ถึงร้อย และบริบูรณ์ด้วยสมันตจักษุญาณ หาที่เปรียบมิได้ ข้าพระองค์ ขณะนี้ มีเพียงกระดูกคางและศรีษะ กับลมหายใจเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ขอถึงพระพุทธเจ้า เป็นสรณะ”

นั่นจึงเป็นปฐมเหตุครั้งแรกที่พระเทวทัตได้ทำสังฆเภทต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า และทำสงฆ์ให้แตกแยกกัน และพระเทวทัตก็ได้ล่วงอนัตริยกรรม คือ กรรมอันหนักเทียบเท่ากับที่ทำร้ายพระพุทธเจ้า และมูลเหตุนี้ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่มีการสร้างพระพุทธรูปอีกปางหนึ่งเรียกว่า ปางพระเทวทัตถวายคาง

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น