ความรู้เกี่ยวกับพระสงฆ์

พระวินัย ๒๒๗ ข้อ และอาบัติแต่ละประเภท

พระภิกษุบิณฑบาต - ภาพจาก pixabay

พระวินัย ๒๒๗ ข้อ ของพระ เป็นกฎหมายหรือข้อห้ามของพระภิกษุสงฆ์เถรวาทตามพระวินัยบัญญัติ จัดอยู่ในส่วนอาทิพรหมจาริยกาสิกขา พระวินัย ๒๒๗ บทในพระปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าทรงวางข้อกำหนดไม่พึงละเมิดไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของคณะสงฆ์ และเพื่อเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานอันเอื้อเฟื้อต่อการประพฤติพรหมจรรย์ของพระภิกษุสงฆ์ มีโทษในการล่วงละเมิดร้ายแรงที่สุดถึงปาราชิก หรือขาดจากความเป็นพระสงฆ์

พระวินัย ๒๒๗ ไม่ใช่ศีลแต่เรียกว่า พระวินัย ผู้ทำผิดศีลเรียกว่า ล่วงพระวินัย เป็น อาบัติ ระดับชั้นต่าง ๆ ตามความหนักเบา สามารถแบ่งระดับอาบัติออกได้เป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นรุนแรงจนกระทั่งเบาที่สุด ในอาบัติระดับเบาจะต้องมีการเผยความผิด อาบัติระดับเบาเช่น ปาจิตตีย์ สามารถแก้ได้โดยกล่าวแสดงความผิดของตนกับพระภิกษุรูปอื่นเพื่อเป็นการแสดงถึงความสำนึกผิดและเพื่อจะตั้งใจประพฤติตนใหม่ หรือที่เรียกว่า การแสดงอาบัติ, ปลงอาบัติ แต่ถ้าถึงขั้นปาราชิกย่อมขาดจากความเป็นพระ และไม่สามารถบวชเป็นพระสงฆ์ได้อีก ซึ่งพระวินัย ไม่ใช่ศีล แต่เป็นเสมือนกฎหมายของพระภิกษุ แต่หากจะกล่าวถึงศีลพระนั้น มีเพียง ๔๓ ข้อ คือ จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล จึงจะเป็นศีลพระที่แท้จริงตามพุทธบัญญัติ

อาบัติ

อาบัติ แปลว่า การตกไป (จากความดี) การต้องโทษทางพระวินัย เพราะกระทำผิดต่อพระพุทธบัญญัติ หรืออภิสมาจาร (ธรรมเนียมประเพณี) ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามมิให้ประพฤติ ผู้ฝ่าฝืนต้องมีโทษตามกำหนดไว้ลดหลั่นกันไปตามโทษหรืออาบัติ

อาบัติ มี ๗ อย่าง แบ่งเป็น ๒ ประเภทคือ

  • ครุกาบัติ หมายถึงอาบัติหนัก อาบัติที่มีโทษร้ายแรง มี ๒ อย่างคือ อาบัติปาราชิก อาบัติสังฆาทิเสส
  • ลหุกาบัติ หมายถึงอาบัติเบา อาบัติที่ไม่มีโทษร้ายแรงเท่าครุกาบัติ มี ๕ อย่าง คือ อาบัติถุลลัจจัย อาบัติปาจิตตีย์ อาบัติปาฏิเทสนียะ อาบัติทุกกฎ อาบัติทุพภาสิต

การลงโทษทางพระวินัยไม่มีความยุ่งยาก ไม่ต้องสอบสวนหาผู้กระทำความผิด อาศัยสำนึกผิดชอบชั่วดีของพระภิกษุซึ่งพึงมีเป็นพื้นฐาน ยกเว้นอาบัติปาราชิก และอาบัติสังฆาทิเสส

อาการอาบัติ

อาการที่ภิกษุจะกระทำอาบัติ มี ๖ อย่าง คือ

  1. กระทำโดยไม่ละอาย
  2. กระทำโดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอาบัติ
  3. กระทำโดยสงสัย แต่ยังขืนทำ
  4. กระทำโดยสำคัญว่าควร ในเรื่องที่ไม่ควร
  5. กระทำโดยสำคัญว่าไม่ควร ในเรื่องที่ควร
  6. กระทำโดยลืมสติ

ภิกษุที่ไม่ต้องอาบัติ

ภิกษุไม่ต้องอาบัติ แม้กระทำเรื่องนั้น มี ๕ พวก คือ

  1. ภิกษุผู้ไม่รู้ตัว หรือถูกบังคับ
  2. ภิกษุผู้เป็นบ้า
  3. ภิกษุผู้เป็นบ้าชั่วขณะ หรือด้วยฤทธิ์ยา
  4. ภิกษุผู้เจ็บทรมานหนัก จนไม่รู้ตัว
  5. ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ

ปาราชิก ๔

ปาราชิก คือประเภทของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภท ครุกาบัติที่เรียกว่า อาบัติปาราชิก

คำศัพท์ว่า ปาราชิกนั้น แปลว่า ยังผู้ต้องพ่าย หมายถึง ผู้ต้องพ่ายแพ้ในตัวเองที่ไม่สามารถปฏิบัติในพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ให้ได้

ปาราชิก มี ๔ ข้อ ได้แก่

  1. เสพเมถุน แม้กับสัตว์เดรัจฉาน (ร่วมสัมพันธ์ทางเพศกับมนุษย์ หรืออมนุษย์ หรือสัตว์ แม้แต่ซากศพก็ไม่ละเว้น)
  2. ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ มาเป็นของตน จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี (ขโมย) ได้ราคา ๕ มาสก (๕ มาสกเท่ากับ ๑ บาท)
  3. พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน) แสวงหาและใช้เครื่องมือกระทำเอง หรือจ้างวานฆ่าคน หรือพูดพรรณาคุณแห่งความตายให้คนนั้น ๆ ยินดีที่จะตาย (โดยมีเจตนาหวังให้ตาย) ไม่เว้นแม้แต่การแท้งเด็กในครรภ์
  4. กล่าวอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่จริง อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้าในตัวเองว่า เรารู้อย่างนี้ เราเห็นอย่างนี้ (ไม่รู้จริง แต่โอ้อวดความสามารถของตัวเอง) ยกเว้นเข้าใจตัวเองผิด

อาบัติปาราชิกทั้ง ๔ นี้เป็นอาบัติหนักที่เรียกว่า อเตกิจฉา คือแก้ไขไม่ได้เลย

โทษของอาบัติปาราชิก

พระภิกษุต้องอาบัติปาราชิกสี่ข้อใดข้อหนึ่ง แม้จะไม่กล่าวลาสิกขาบท ก็ถือว่าขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที เมื่อความผิดสำเร็จ เมื่อขาดจากความเป็นพระแล้ว ก็ถือว่าไม่ใช่พระภิกษุอีกต่อไป ไม่สามารถอยู่ร่วมกับภิกษุอื่นหรือคณะหมู่สงฆ์ได้เลย ต้องลาสิกขาบทออกจากเป็นพระภิกษุทันที มิฉะนั้นจะกลายเป็นพวกอลัชชี (แปลว่า ผู้ไม่ละอาย) นอกจากนั้นจะไม่สามารถกลับเข้ามาบวชใหม่ได้เลยตลอดชีวิต แม้จะบวชเข้ามาได้ก็ไม่ใช่พระภิกษุที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย และไม่อาจเจริญในพระธรรมวินัยจนไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานใด ๆ เลยตลอดชีวิต (เพียงชาติที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น) เพราะเป็นมูลเฉทคือ ตัดรากเหง้า เปรียบเสมือนคนถูกตัดศีรษะ เป็นตาลยอดด้วน แต่ว่าไม่ห้ามขึ้นสวรรค์ซึ่งแตกต่างกับอนันตริยกรรมที่ห้ามทั้งสวรรค์และนิพพานเพราะอาบัติปาราชิกนั้นมีไว้สำหรับเพศบรรชิต ถ้าพระภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิกนั้นสำนึกผิดและลาสิกขาบทออกจากเป็นพระภิกษุแล้วทำบุญกุศลแล้วตายไปก็จะสามารถขึ้นสวรรค์ได้ แต่ถ้ายังดื้อด้านไม่ยอมลาสิกขาบทและครองอยู่ในผ้าเหลืองจนตาย ตายไปต้องตกนรกที่ลึกที่สุดคือ มหาขุมนรกอเวจี

อกรณียกิจ ๔

นอกจากอาบัติปาราชิกทั้ง ๔ ที่มีอยุ่ในพระวินัยนี้แล้ว ยังมีคำสอนต้องห้ามสำหรับพระภิกษุที่เหมือนกับอาบัติปาราชิกซึ่งก็คือ อกรณียกิจ ๔ คือกิจที่สมณะไม่ควรทำซึ่งอยู่ในส่วนของคำสอนอนุศาสน์ ๘ ประการ ภิกษุผู้เป็นอุปัชฌาย์จะต้องมีหน้าที่บอกอกรณียกิจ ๔ ประการแก่กุลบุตรผุ้ที่กำลังจะเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุใหม่ทันที เพราะมันล่อแหลมทำให้ต้องอาบัติง่ายๆจนขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที และนอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่คอยระลึกเตือนใจภิกษุเก่าผู้บวชมาก่อนว่าสิ่งนั้นทั้งสี่ข้อไม่ควรทำ

สังฆาทิเสส ๑๓

สังฆาทิเสสคือประเภทของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภท ครุกาบัติที่เรียกว่า อาบัติสังฆาทิเสส จัดเป็นอาบัติโทษรุนแรง (ครุกาบัติ) รองจากปาราชิก มีทั้งหมด ๑๓ ประการดังนี้

  1. ทำน้ำอสุจิเคลื่อน
  2. แตะต้องสัมผัสกายสตรี
  3. พูดเกี้ยวพาราสีสตรี
  4. พูดจาให้สตรีบำเรอกามให้
  5. ทำตัวเป็นพ่อสื่อ
  6. สร้างกุฏิด้วยการขอ
  7. มีเจ้าภาพสร้างกุฏิให้แต่ไม่ให้สงฆ์แสดงที่ก่อน
  8. ใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
  9. แกล้งสมมติแล้วใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
  10. ทำสงฆ์แตกแยก (สังฆเภท)
  11. เข้าข้างภิกษุที่ทำสงฆ์แตกแยก
  12. ภิกษุทำตนเป็นคนหัวดื้อ
  13. ประจบสอพลอคฤหัสถ์

คำว่าสังฆาทิเสสแปลว่าอาบัติที่ต้องอาศัยสงฆ์ในกรรมเบื้องต้นและกรรมที่เหลือ กล่าวคือเมื่อภิกษุต้องอาบัติดังกล่าวแล้ว ต้องแจ้งแก่สงฆ์ ๔ รูปเพื่อขอประพฤติวัตรที่ชื่อมานัต เมื่อสงฆ์อนุญาตแล้วจึงประพฤติวัตรดังกล่าวเป็นเวลา ๖ คืน เมื่อพ้นแล้วจึงขอให้สงฆ์ ๒๐ รูปทำสังฆกรรมสวดอัพภานให้ เมื่อพระสงฆ์สวดอัพภานเสร็จสิ้น ถือว่าภิกษุรูปนั้นพ้นจากอาบัติข้อนี้

ในกรณีที่ภิกษุต้องอาบัติข้อนี้แล้วปกปิดไว้ เมื่อมาแจ้งแก่หมู่สงฆ์แล้ว ต้องอยู่ปริวาสกรรมเท่ากับจำนวนวันที่ปกปิดไว้ก่อน เช่น ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้หนึ่งเดือน เมื่อแจ้งแก่สงฆ์แล้วต้องอยู่ปริวาสหนึ่งเดือน แล้วจึงขอประพฤติวัตรมานัตต่อไป

อนิยต ๒

อนิยต คือประเภทของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภทกึ่งกลางระหว่างครุกาบัติหรือลหุกาบัติที่เรียกว่า อาบัติอนิยต ซึ่งอาบัตินี้ขึ้นอยู่กับว่าพระวินัยธรจะวินิจฉัยว่าควรจะให้ปรับอาบัติแบบไหนตามแต่จะได้โทษหนักหรือเบาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีทั้งหมด ๒ ประการดังนี้

  1. นั่งในที่ลับตากับสตรีสองต่อสอง
  2. นั่งในที่ลับหูกับสตรีสองต่อสอง

คำว่า อนิยต แปลว่า อาบัติที่ไม่แน่นอนว่าจะให้ปรับเป็นอาบัติปาราชิก, สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ กล่าวคือเมื่อมีผู้พบเห็นหรือได้ยินว่าพระภิกษุอยู่กับสตรีด้วยกันสองต่อสองโดยที่ไม่มีบุคคลที่สาม(ชายผู้ที่รู้เดียงสา)อยู่ด้วย จึงได้ไปรายงานต่อพระวินัยธรให้ได้รับทราบ จากนั้นพระวินัยก็จะทำการไต่สวนกับพระภิกษุผู้ถูกกล่าวหา หากพระภิกษุนั้นยอมรับสารภาพว่าได้กระทำใดๆอย่างใดอย่างหนึ่งกับสตรีที่อยู่ด้วยกันตามที่โจกท์คฤหัสถ์ได้กล่าวหา ทางพระวินัยธรก็จะทำการวินิจฉัยว่าควรจะให้ปรับอาบัติแบบไหนตามแต่หนักหรือเบาตามทางของพระวินัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น

  • ถ้าพระภิกษุยอมรับว่าเสพเมถุนกับสตรี จึงให้ปรับอาบัติเป็นปาราชิก
  • ถ้าพระภิกษุยอมรับว่าแตะต้องหรือพูดจาเกี้ยวพาราณาสีกับสตรี จึงให้ปรับอาบัติเป็นสังฆาทิเสส
  • ถ้าพระภิกษุไม่ได้กระทำใดๆกับสตรี แต่อยู่ด้วยกันสองต่อสอง จึงให้ปรับอาบัติเป็นปาจิตตีย์

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐

นิสสัคคิยปาจิตตีย์คือประเภทของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภท ลหุกาบัติที่เรียกว่า อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ จัดเป็นอาบัติโทษเบา มีทั้งหมด ๓๐ ประการดังนี้

จีวรวรรค ๑๐

  1. ๑. เก็บจีวรที่เกินความจำเป็นไว้เกิน ๑๐ วัน
  2. ๒. อยู่โดยปราศจากจีวรแม้แต่คืนเดียว
  3. ๓. เก็บผ้าที่จะทำจีวรไว้เกินกำหนด ๑ เดือน
  4. ๔. ใช้ให้ภิกษุณีซักผ้า
  5. ๕. รับจีวรจากมือของภิกษุณี
  6. ๖. ขอจีวรจากคฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ เว้นแต่จีวรหายหรือถูกขโมย
  7. ๗. รับจีวรเกินกว่าที่ใช้นุ่ง เมื่อจีวรถูกชิงหรือหายไป
  8. ๘. พูดทำนองขอจีวรดีๆ กว่าที่เขากำหนดจะถวายไว้แต่เดิม
  9. ๙. พูดให้เขารวมกันซื้อจีวรดีๆ มาถวาย
  10. ๑๐. ทวงจีวรจากคนที่รับอาสาเพื่อซื้อจีวรถวายเกินกว่า ๓ ครั้ง

โกสิยวรรค ๑๐

  1. ๑๑. หล่อเครื่องปูนั่งที่เจือด้วยไหม
  2. ๑๒. หล่อเครื่องปูนั่งด้วยขนเจียม (ขนแพะ แกะ) ดำล้วน
  3. ๑๓. ใช้ขนเจียมดำเกิน ๒ ส่วนใน ๔ ส่วน หล่อเครื่องปูนั่ง
  4. ๑๔. หล่อเครื่องปูนั่งใหม่ เมื่อของเดิมยังใช้ไม่ถึง ๖ ปี
  5. ๑๕. เมื่อหล่อเครื่องปูนั่งใหม่ ให้เอาของเก่าเจือปนลงไปด้วย
  6. ๑๖. นำขนเจียมไปด้วยตนเองเกิน ๓ โยชน์ เว้นแต่มีผู้นำไปให้
  7. ๑๗. ใช้ภิกษุณีที่ไม่ใช้ญาติทำความสะอาดขนเจียม
  8. ๑๘. รับเงินทองที่ได้จากการถวายของคฤหัสถ์
  9. ๑๙. ซื้อ-ขายด้วยเงินทอง
  10. ๒๐. ซื้อขายโดยใช้ของแลก

ปัตตวรรค ๑๐

  1. ๒๑​. เก็บบาตรที่มีใช้เกินความจำเป็นไว้เกิน ๑๐ วัน
  2. ๒๒. ขอบาตรเมื่อบาตรเป็นแผลไม่เกิน ๕ แห่ง
  3. ๒๓. เก็บเภสัช ๕ (เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย) ไว้เกิน ๗ วัน
  4. ๒๔. แสวงหาและทำผ้าอาบน้ำฝนไว้เกินกำหนด ๑ เดือนก่อนหน้าฝน
  5. ๒๕. ให้จีวรภิกษุอื่นแล้วแต่กลับชิงคืนในภายหลัง
  6. ๒๖. ขอด้ายเอามาทอเป็นจีวร
  7. ๒๗. กำหนดให้ช่างทอทำให้ดีขึ้น
  8. ๒๘. เก็บผ้าจำนำพรรษา (ผ้าที่ถวายภิกษุเพื่ออยู่พรรษา) เกินกำหนด
  9. ๒๙. อยู่ป่าแล้วเก็บจีวรไว้ในบ้านเกิน ๖ คืน
  10. ๓๐. น้อมลาภสงฆ์มาเพื่อให้เขาถวายตน

คำว่า สัคคิยปาจิตตีย์ แปลว่า อาบัติประเภทที่พระภิกษุผู้กระทำผิดโดยการรับหรือได้ของอย่างหนึ่งมา จะต้องทำการสละของนั้นก่อนจึงจะแสดงอาบัติได้ กล่าวคือเมื่อพระภิกษุได้ทำการครองครอบสิ่งของจตุปัจจัย เช่น เงินทอง จีวร บาตร เป็นต้นอย่างมากเกินความจำเป็นจึงถือว่ามีโทษอาบัติ การจะปลงอาบัติสัคคิยปาจิตตีย์ได้นั้นจะต้องทำการสละสิ่งของที่มีอยู่ แล้วทำการปลงอาบัติได้

ปาจิตตีย์ ๙๒

อาบัติที่ไม่ต้องสละสิ่งของ

มุสาวาทวรรค ๑๐

  1. ๑. ห้ามพูดปด
  2. ๒. ห้ามด่า
  3. ๓. ห้ามพูดส่อเสียด
  4. ๔. ห้ามกล่าวธรรมพร้อมกับผู้ไม่ได้บวชในขณะสอน
  5. ๕. ห้ามนอนร่วมกับอนุปสัมบัน (ผู้ไม่ใช้ภิกษุ ได้แก่ สามเณร แม่ชี ฆราวาส) เกิน ๓ คืน
  6. ๖. ห้ามนอนร่วมกับผู้หญิง
  7. ๗. ห้ามแสดงธรรมสองต่อสองกับผู้หญิง
  8. ๘. ห้ามบอกคุณวิเศษที่มีจริงแก่ผู้มิได้บวช
  9. ๙. ห้ามบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่ผู้มิได้บวช
  10. ๑๐. ห้ามขุดดินหรือใช้ให้ขุด

ภูตคามวรรค ๑๐

  1. ๑๑. ห้ามทำลายต้นไม้
  2. ๑๒. ห้ามพูดเฉไฉเมื่อถูกสอบสวน
  3. ๑๓. ห้ามติเตียนภิกษุผู้ทำการสงฆ์โดยชอบ
  4. ๑๔. ห้ามทิ้งเตียงตั่งของสงฆ์ไว้กลางแจ้ง
  5. ๑๕. ห้ามปล่อยที่นอนไว้ ไม่เก็บงำ
  6. ๑๖. ห้ามนอนแทรกภิกษุผู้เข้าไปอยู่ก่อน
  7. ๑๗. ห้ามฉุดคร่าภิกษุออกจากวิหารของสงฆ์
  8. ๑๘. ห้ามนั่งนอนทับเตียงหรือตั่งที่อยู่ชั้นบน
  9. ๑๙. ห้ามพอกหลังคาวิหารเกิน ๓ ชั้น
  10. ๒๐. ห้ามเอาน้ำมีสัตว์รดหญ้าหรือดิน

โอวาทวรรค ๑๐

  1. ๒๑. ห้ามสอนนางภิกษุณีเมื่อมิได้รับมอบหมาย
  2. ๒๒. ห้ามสอนนางภิกษุณีตั้งแต่อาทิตย์ตกแล้ว
  3. ๒๓. ห้ามไปสอนนางภิกษุณีถึงที่อยู่
  4. ๒๔. ห้ามติเตียนภิกษุอื่นว่าสอนนางภิกษุณีเพราะเห็นแก่ลาภ
  5. ๒๕. ห้ามให้จีวรแก่นางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ
  6. ๒๖. ห้ามเย็บจีวรให้นางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ
  7. ๒๗. ห้ามเดินทางไกลร่วมกับนางภิกษุณี
  8. ๒๘. ห้ามชวนนางภิกษุณีเดินทางเรือร่วมกัน
  9. ๒๙. ห้ามฉันอาหารที่นางภิกษุณีไปแนะให้เขาถวาย
  10. ๓๐. ห้ามนั่งในที่ลับสองต่อสองกับภิกษุณี

โภชนวรรค ๑๐

  1. ๓๑. ห้ามฉันอาหารในโรงพักเดินทางเกิน ๓ มื้อ
  2. ๓๒. ห้ามฉันอาหารรวมกลุ่ม
  3. ๓๓. ห้ามรับนิมนต์แล้วไปฉันอาหารที่อื่น
  4. ๓๔. ห้ามรับบิณฑบาตเกิน ๓ บาตร
  5. ๓๕. ห้ามฉันอีกเมื่อฉันในที่นิมนต์เสร็จแล้ว
  6. ๓๖. ห้ามพูดให้ภิกษุที่ฉันแล้วฉันอีกเพื่อจับผิด
  7. ๓๗. ห้ามฉันอาหารในเวลาวิกาล
  8. ๓๘. ห้ามฉันอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน
  9. ๓๙. ห้ามขออาหารประณีตมาเพื่อฉันเอง
  10. ๔๐. ห้ามฉันอาหารที่มิได้รับประเคน

อเจลกรรค ๑๐

  1. ๔๑. ห้ามยื่นอาหารด้วยมือให้ชีเปลือยและนักบวชอื่นๆ
  2. ๔๒. ห้ามชวนภิกษุไปบิณฑบาตด้วยแล้วไล่กลับ
  3. ๔๓. ห้ามเข้าไปแทรกแซงในสกุลที่มีคน ๒ คน
  4. ๔๔. ห้ามนั่งในที่ลับมีที่กำบังกับมาตุคาม (ผู้หญิง)
  5. ๔๕. ห้ามนั่งในที่ลับ (หู) สองต่อสองกับมาตุคาม
  6. ๔๖. ห้ามรับนิมนต์แล้วไปที่อื่นไม่บอกลา
  7. ๔๗. ห้ามขอของเกินกำหนดเวลาที่เขาอนุญาตไว้
  8. ๔๘. ห้ามไปดูกองทัพที่ยกไป
  9. ๔๙. ห้ามพักอยู่ในกองทัพเกิน ๓ คืน
  10. ๕๐. ห้ามดูเขารบกันเป็นต้น เมื่อไปในกองทัพ

สุราปานวรรค ๑๐

  1. ๕๑. ห้ามดื่มสุราเมรัย
  2. ๕๒. ห้ามจี้ภิกษุ
  3. ๕๓. ห้ามว่ายน้ำเล่น
  4. ๕๔. ห้ามแสดงความไม่เอื้อเฟื้อในวินัย
  5. ๕๕. ห้ามหลอกภิกษุให้กลัว
  6. ๕๖. ห้ามติดไฟเพื่อผิง
  7. ๕๗. ห้ามอาบน้ำบ่อยๆเว้นแต่มีเหตุ
  8. ๕๘. ให้ทำเครื่องหมายเครื่องนุ่งห่ม
  9. ๕๙. วิกัปจีวรไว้แล้ว (ทำให้เป็นสองเจ้าของ-ให้ยืมใช้) จะใช้ต้องถอนก่อน
  10. ๖๐. ห้ามเล่นซ่อนบริขารของภิกษุอื่น

สัปปาณกวรรค ๑๐

  1. ๖๑. ห้ามฆ่าสัตว์
  2. ๖๒. ห้ามใช้น้ำมีตัวสัตว์
  3. ๖๓. ห้ามรื้อฟื้นอธิกรณ์(คดีความ-ข้อโต้เถียง)ที่ชำระเป็นธรรมแล้ว
  4. ๖๔. ห้ามปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่น
  5. ๖๕. ห้ามบวชบุคคลอายุไม่ถึง ๒๐ ปี
  6. ๖๖. ห้ามชวนพ่อค้าผู้หนีภาษีเดินทางร่วมกัน
  7. ๖๗. ห้ามชวนผู้หญิงเดินทางร่วมกัน
  8. ๖๘. ห้ามกล่าวตู่พระธรรมวินัย (ภิกษุอื่นห้ามและสวดประกาศเกิน ๓ ครั้ง)
  9. ๖๙. ห้ามคบภิกษุผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย
  10. ๗๐. ห้ามคบสามเณรผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย

สหธัมมิกวรรค ๑๒

  1. ๗๑. ห้ามพูดไถลเมื่อทำผิดแล้ว
  2. ๗๒. ห้ามกล่าวติเตียนสิกขาบท
  3. ๗๓. ห้ามพูดแก้ตัวว่า เพิ่งรู้ว่ามีในปาฏิโมกข์
  4. ๗๔. ห้ามทำร้ายร่างกายภิกษุ
  5. ๗๕. ห้ามเงื้อมือจะทำร้ายภิกษุ
  6. ๗๖. ห้ามโจทภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสที่ไม่มีมูล
  7. ๗๗. ห้ามก่อความรำคาญแก่ภิกษุอื่น
  8. ๗๘. ห้ามแอบฟังความของภิกษุผู้ทะเลาะกัน
  9. ๗๙. ให้ฉันทะแล้วห้ามพูดติเตียน
  10. ๘๐. ขณะกำลังประชุมสงฆ์ ห้ามลุกไปโดยไม่ให้ฉันทะ
  11. ๘๑. ร่วมกับสงฆ์ให้จีวรแก่ภิกษุแล้ว ห้ามติเตียนภายหลัง
  12. ๘๒. ห้ามน้อมลาภสงฆ์มาเพื่อบุคคล

รัตนวรรค ๑๐

  1. ๘๓. ห้ามเข้าไปในตำหนักของพระราชา
  2. ๘๔. ห้ามเก็บของมีค่าที่ตกอยู่
  3. ๘๕. เมื่อจะเข้าบ้านในเวลาวิกาล ต้องบอกลาภิกษุก่อน
  4. ๘๖. ห้ามทำกล่องเข็มด้วยกระดูก งา หรือเขาสัตว์
  5. ๘๗. ห้ามทำเตียง ตั่งมีเท้าสูงกว่าประมาณ
  6. ๘๘. ห้ามทำเตียง ตั่งที่หุ้มด้วยนุ่น
  7. ๘๙. ห้ามทำผ้าปูนั่งมีขนาดเกินประมาณ
  8. ๙๐. ห้ามทำผ้าปิดฝีมีขนาดเกินประมาณ
  9. ๙๑. ห้ามทำผ้าอาบน้ำฝนมีขนาดเกินประมาณ
  10. ๙๒. ห้ามทำจีวรมีขนาดเกินประมาณ

ปาฏิเทสนียะ ๔

ปาฏิเทสนียะคือประเภทหนึ่งของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภท ลหุกาบัติที่เรียกว่า อาบัติปาฏิเทสนียะ จัดเป็นอาบัติโทษเบา มีทั้งหมด ๔ ประการดังนี้

  1. ห้ามรับของคบเคี้ยว ของฉันจากมือภิกษุณีมาฉัน
  2. ให้ไล่นางภิกษุณีที่มายุ่งให้เขาถวายอาหาร
  3. ห้ามรับอาหารในสกุลที่สงฆ์สมมุติว่าเป็นเสขะ (อริยบุคคล แต่ยังไม่ได้บรรลุเป็นอรหันต์)
  4. ห้ามรับอาหารที่เขาไม่ได้จัดเตรียมไว้ก่อนมาฉันเมื่ออยู่ป่า

คำว่า ปาฏิเทสนียะ แปลว่า ที่พึงแสดงคืน

เสขิยวัตร ๗๕

เสขิยวัตร เป็นส่วนหนึ่งของวินัยบัญญัติของภิกษุ (ศีล ๒๒๗ ข้อ) กล่าวคือ วัตรที่ภิกษุจะต้องศึกษา จัดเป็น ๔ หมวด ได้แก่

สารูป ๒๖

ว่าด้วยความเหมาะสมแก่สมณเพศในการประพฤติปฏิบัติต่อชุมชน มี ๒๖ ข้อ

  1. นุ่งให้เป็นปริมณฑล (ล่างปิดเข่า บนปิดสะดือไม่ห้อยหน้าห้อยหลัง)
  2. ห่มให้เป็นปริมณฑล (ให้ชายผ้าเสมอกัน)
  3. ปกปิดกายด้วยดีไปในบ้าน
  4. ปกปิดกายด้วยดีนั่งในบ้าน
  5. สำรวมด้วยดีไปในบ้าน
  6. สำรวมด้วยดีนั่งในบ้าน
  7. มีสายตาทอดลงไปในบ้าน (ตาไม่มองโน่นมองนี่)
  8. มีสายตาทอดลงนั่งในบ้าน
  9. ไม่เวิกผ้าไปในบ้าน
  10. ไม่เวิกผ้านั่งในบ้าน
  11. ไม่หัวเราะดังไปในบ้าน
  12. ไม่หัวเราะดังนั่งในบ้าน
  13. ไม่พูดเสียงดังไปในบ้าน
  14. ไม่พูดเสียงดังนั่งในบ้าน
  15. ไม่โคลงกายไปในบ้าน
  16. ไม่โคลงกายนั่งในบ้าน
  17. ไม่ไกวแขนไปในบ้าน
  18. ไม่ไกวแขนนั่งในบ้าน
  19. ไม่สั่นศีรษะไปในบ้าน
  20. ไม่สั่นศีรษะนั่งในบ้าน
  21. ไม่เอามือค้ำกายไปในบ้าน
  22. ไม่เอามือค้ำกายนั่งในบ้าน
  23. เอาผ้าคลุมศีรษะไปในบ้าน
  24. ไม่เอาผ้าคลุมศีรษะนั่งในบ้าน
  25. ไม่เดินกระโหย่งเท้า ไปในบ้าน
  26. ไม่นั่งรัดเข่าในบ้าน

โภชนปฏิสังยุตต์ ๓๐

ว่าด้วยการฉันอาหาร มี ๓๐ ข้อ

  1. รับบิณฑบาตด้วยความเคารพ
  2. จะแลดูแต่ในบาตร
  3. รับบิณฑบาตพอสมส่วนกับแกง (ไม่รับแกงมากเกินไป)
  4. รับบิณฑบาตแค่พอเสมอขอบปากบาตร
  5. ฉันบิณฑบาตโดยความเคารพ
  6. ในขณะฉันบิณฑบาต และดูแต่ในบาตร
  7. ฉันบิณฑบาตไปตามลำดับ (ไม่ขุดให้แหว่ง)
  8. ฉันบิณฑบาตพอสมส่วนกับแกง ไม่ฉันแกงมากเกินไป
  9. ฉันบิณฑบาตไม่ขยุ้มแต่ยอดลงไป
  10. ไม่เอาข้าวสุกปิดแกงและกับด้วยหวังจะได้มาก
  11. ไม่ขอเอาแกงหรือข้าวสุกเพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน หากไม่เจ็บไข้
  12. ไม่มองดูบาตรของผู้อื่นด้วยคิดจะยกโทษ
  13. ไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่เกินไป
  14. ทำคำข้าวให้กลมกล่อม
  15. ไม่อ้าปากเมื่อคำข้าวยังมาไม่ถึง
  16. ไม่เอามือทั้งมือใส่ปากในขณะฉัน
  17. ไม่พูดในขณะที่มีคำข้าวอยู่ในปาก
  18. ไม่ฉันโดยการโยนคำข้าวเข้าปาก
  19. ไม่ฉันกัดคำข้าว
  20. ไม่ฉันทำกระพุ้งแก้มให้ตุ่ย
  21. ไม่ฉันพลางสะบัดมือพลาง
  22. ไม่ฉันโปรยเมล็ดข้าว
  23. ไม่ฉันแลบลิ้น
  24. ไม่ฉันดังจับๆ
  25. ไม่ฉันดังซูดๆ
  26. ไม่ฉันเลียมือ
  27. ไม่ฉันเลียบาตร
  28. ไม่ฉันเลียริมฝีปาก
  29. ไม่เอามือเปื้อนจับภาชนะน้ำ
  30. ไม่เอาน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวเทลงในบ้าน

ธัมมเทสนาปฏิสังยุต ๑๖

ว่าด้วยการแสดงธรรม มี ๑๖ ข้อ

  1. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีร่มในมือ
  2. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีไม้พลองในมือ
  3. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีของมีคมในมือ
  4. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีอาวุธในมือ
  5. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมเขียงเท่า (รองเท้าไม้)
  6. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมรองเท้า
  7. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในยาน
  8. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนที่นอน
  9. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งรัดเข่า
  10. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่โพกศีรษะ
  11. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่คลุมศีรษะ
  12. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนอาสนะ (หรือเครื่องปูนั่ง) โดยภิกษุอยู่บนแผ่นดิน
  13. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งบนอาสนะสูงกว่าภิกษุ
  14. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งอยู่ แต่ภิกษุยืน
  15. ภิกษุเดินไปข้างหลังไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่เดินไปข้างหน้า
  16. ภิกษุเดินไปนอกทางไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในทาง

ปกิณณกะ ๓

เป็นหมวดเบ็ดเตล็ด มี ๓ ข้อ

  1. ภิกษุไม่เป็นไข้ไม่ยืนถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
  2. ภิกษุไม่เป็นไข้ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในของเขียว (พันธุ์ไม้ใบหญ้าต่างๆ)
  3. ภิกษุไม่เป็นไข้ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในน้ำ

ตัวอย่างที่พบได้ทั่วไป เช่น ภิกษุจะไม่ยืนถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ, ภิกษุจะไม่ยืนดื่มน้ำ เป็นต้น

อธิกรณสมถะ ๗

อธิกรณสมถะ การทำอธิกรณ์ให้สงบระงับ หมายถึง วิธีระงับอธิกรณ์ตามพระธรรมวินัย ๗ อย่าง คือ

  1. สัมมุขาวินัย ตัดสินในที่พร้อมหน้าทั้ง โจทย์และจำเลยพร้อมพยาน ตามพยานหลักฐาน
  2. สติวินัย ถือสติเป็นหลัก การยกเลิกความผิดเพราะเป็นพระอรหันต์หรืออริยบุคคลที่จะไม่ทำผิดวินัยในข้อนั้นได้
  3. อมูฬหวินัย ผู้หายจากเป็นบ้า การเลิกความผิดเพราะผู้กระทำผิดนั้นวิกลจริตหรือเป็นบ้า
  4. ปฏิญญาตกรณะ ทำตามที่รับ การตัดสินตามการยอมรับผิด คำสารภาพของผู้กระทำผิด
  5. ตัสสปาปิยสิกา ลงโทษแก่ผู้ผิดที่ไม่รับ การลงโทษพยานผู้ที่ไม่ยอมพูดในการสอบสวนของคณะสงฆ์
  6. เยภุยยสิกา การตัดสินตามมติเสียงข้างมาก
  7. ติณวัตถารกะ ดุจกลบไว้ด้วยหญ้า วิธีประณีประนอม การตัดสินยกฟ้อง เลิกแล้วต่อกัน(ในกรณีทะเลาะกัน)
แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

2 ความเห็น

    • สวัสดีครับคุณนฤป เชาวลิต ขอบพระคุณมากครับ. เว็บไซต์พุทธะใช้ฟ้อนต์อัตลักษณ์สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา (PGVIM) ของผู้ช่วยศาสตราจารย์อาวิน อินทรังษี (facebook.com/arwinemon) เป็นฟ้อนต์หัวเรื่อง และฟ้อนต์ CM Prasanmit ของชมรมการจัดพิมพ์อิเล็กทรอนิกไทย (TEPC) สำหรับข้อความทั่วไปครับ.

แสดงความเห็น