ปรินิพพาน

ปัจฉิมบิณทบาตร ทรงรับอุทกังภัตตาหารมื้อสุดท้าย

เมื่อพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ากระทำนาคาวโลก ณ ประตูเมืองเวสาลีแล้ว ได้นำพระภิกษุสงฆ์เสด็จพุทธดำเนินมุ่งหน้าสู่บ้านภัตฑุคาม (ภัตฑคาม) หลังจากแสดงธรรมโปรดเหล่าพุทธบริษัทให้ตั้งอยู่ในอริยธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุต อันเป็นธรรมแห่งการหลุดพ้นจากอาสวะทั้งมวล ต่อจากนั้นจึงเสด็จไปสู่ บ้านหัตภีคาม อัมพุคาม ชัมพุคาม และโภคนครโดยลำดับ หลังจากแสดงธรรมโปรดชาวเมืองโภคนครแล้ว จึงเสด็จต่อไปยังเมืองปาวานครและได้ประทับ ณ อัมพวันสวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร

ในครั้งนั้นนายจุนทะผู้มีอาชีพช่างทองเมื่อทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาประทับในสวนของตนก็บังเกิดความยินดี รีบนำเครื่องสักการะมาถวาย พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด ยังผลให้นายจุนทะมีความชื่นชมโสมนัสได้บรรลุโสดาปัตติผลพร้อมทั้งกราบทูลให้เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตยังนิเวศน์ของตนพระบรมศาสดาทรงรับด้วย ดุษณีภาพ คือนั่งนิ่ง หมายถึง การรับนิมนต์ อันเป็นธรรมเนียมของสมณะ

ในเช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อพระผู้มีพระภาคนำภิกษุสงฆ์เสด็จมาถึงเรือน นายจุนทะได้จัดโภชนาหารอันประณีตไว้ถวายพร้อม สุกรมัททวะ พระพุทธองค์ตรัสแก่นายจุนทะว่าสุกรมัททวะจงอังคาส คือถวาย เฉพาะพระองค์เพียงผู้เดียว ที่เหลือให้ขุดหลุมฝังเสีย เพราะนอกจากพระองค์แล้วไม่มีผู้ใดสามารถย่อยได้ จงนำอาหารอื่น  ๆ จัดเตรียมไว้ถวายเหล่าภิกษุสงฆ์ นายจุนทะได้กระทำตามพุทธประสงค์ทุกประการ

สุกรมัททวะ แปลตามศัพท์ เนื้อหมูอ่อน แต่บูรพาจารย์ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า น่าจะเป็นอาหารหรือยาที่ปรุงขึ้นมาเป็นพิเศษ เหมาะสำหรับพระโรคของพระพุทธองค์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงตรัสให้นำที่เหลือไปฝัง พระองค์เสวยสูกรมัทวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง มีพระบังคนเป็นโลหิต แต่ทรงอดกลั้น มุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา เพื่อเสด็จให้ถึงสถานที่เพื่อ ดับขันธ์ปรินิพพาน

ในระหว่างนั้นพระพุทธองค์ทรงปริวิตกถึงนายจุนทะผู้ถวายสุกรมัทวะ จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า..

“ดูกรอานนท์ ! เมื่อเราปรินิพพานไปแล้ว อาจมีผู้กล่าวโทษจุนทะว่าถวายอาหารที่เป็นพิษ จนเป็นเหตุให้เราปรินิพพานหรือมิฉะนั้นจุนทะอาจจะเกิดวิปฏิสารเดือดร้อนใจตัวเองว่า เพราะเสวยสุกรมัทวะ อันตนถวายแล้วพระตถาคตจึงนิพพาน”

ดูกรอานนท์ ! บิณฑบาตทานที่มีอานิสงส์มาก มีผลไพศาล มีอยู่สองคราวด้วยกัน คือ เมื่อนางสุชาดาถวายเราก่อนจะตรัสรู้ครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งที่นายจุนทะถวายนี้ ครั้งแรก เสวยอาหารของสุชาดาเป็นเวลาที่ตถาคตถึงซึ่งกิเลสนิพพาน คือ การดับกิเลส ครั้งหลัง นี้เสวยอาหารของจุนทะบุตรนายช่างทองก็เป็นเวลาที่เราถึงซึ่ง ขันธนิพพาน คือ ดับขันธ์ อันเป็นวิบากที่เหลืออยู่ ถ้าใคร ๆ จะพึงตำหนิจุนทะ เธอพึงกล่าวให้เขาเข้าใจตามนี้ ถ้าจุนทะจะพึงเดือดร้อนใจ เธอพึงกล่าวปลอบใจให้เขาคลายวิตกกังวลเสีย อาหารของจุนทะเป็นอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับเรา”

ครั้นพระตถาคต พร้อมด้วยพระอานนท์และภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงเมืองกุสินารา เข้าสู่ สาลวโนทยาน คือ อุทยานที่เต็มไปด้วยต้นสาละที่ออกดอกสพรั่ง จึงทรงรับสั่งให้พระอานนท์จัดแท่นบรรทมระหว่างต้นสาละที่โน้มกิ่งเข้าหากันหันพระเศียรไปทางทิศอุดร แล้วทรงปรารภกับพระอานนท์ว่า

“ดูกรอานนท์ ! พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำสักการะบูชาด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลาย อันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน ของหอม เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่

ดูกรอานนท์ ! ผู้ใดปฏิบัติตามธรรม ปฏิบัติอันชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมอันเหมาะสม ผู้นั้นแลชื่อว่า สักการะบูชาเราด้วยการบูชาอันเยี่ยม”

ในรายละเอียดของเรื่องนี้ คือ ปัจฉิมบิณฑบาตร จะขออนุญาตนำเอาความเห็นและบทวิเคราะห์วิจารณ์ของท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตประเภทปรัชญาสาขาศาสนศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน ที่ท่านได้กรุณาวิเคราะห์วิจารณ์ไว้ในหนังสือ วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์ ของสำนักพิมพ์มติชน เพื่อเป็นประโยชน์และความรู้สำหรับผู้สนใจในการศึกษาพุทธประวัติ ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ โดยท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ท่านได้กรุณาวิเคราะห์วิจารณ์ไว้ดังนี้

จากโภคนคร พระพุทธเจ้าติดตามด้วยพระอานนท์พุทธอนุชาและพระสงฆ์ก็เสด็จดำเนินด้วยพระบาทไปยังเมืองปาวา ในระหว่างทางก็พักอยู่ที่สวนมะม่วงของนายจุนทะ กัมมารบุตร “กัมมาร-บุตร”แปลว่าบุตรนายช่างทอง นายจุนทะทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาพักที่สวนมะม่วงของตนก็เข้าไปเฝ้า ได้ฟังธรรมจากพระองค์แล้วก็กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมพระสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน เมื่อรู้ว่าพระพุทธองค์ทรงรับแล้วก็กลับบ้าน เพื่อเตรียมภัตตาหารถวายในวันรุ่งขึ้น สิ่งที่นายจุนทะตระเตรียมไว้ก็มี

  1. ของเคี้ยวของฉันอันประณีต (ปณีตํ ขาทนียํ โภชนียํ)
  2. สุกรมัททวะอย่างพอเพียง (ปหูตํ สุกรมททวํ)

ที่ท่านยกบาลีมากำกับ ก็เพื่อประโยชน์แก่การอภิปรายข้างหน้า วิธีเตรียมการของนายจุนทะน่าสนใจ พระบาลีในพระสูตรว่าไว้ดังนี้ “นายจุนทะ กัมมารบุตร ให้ตระเตรียมของเคี้ยว ของฉัน อันประณีต และสุกรมัททวะเป็นอันมากในนิเวศน์ของตน โดยกาลล่วงไปแห่งราตรี” (ตสฺสา รตฺติยา อจฺจเยน) คำว่า “โดยการล่วงไปแห่งราตรี” หมายความว่า นายจุนทะใช้เวลาทั้งคืนนั้นปรุงอาหาร และสิ่งที่เรียกว่า “สุกรมัททวะ” เพื่อถวายพระพุทธเจ้า พอรุ่งเช้าพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ไปที่บ้านนายจุนทะตามคำนิมนต์ นายจุนทะก็นำอาหารไปถวาย ซึ่งตรงนี้ท่านตีความไว้คือ

  1. อังคาส (ถวายอาหารให้ฉัน) พระพุทธเจ้าด้วยสุกรมัททวะที่เตรียมไว้เฉพาะ
  2. อังคาสภิกษุสงฆ์ด้วยของเคี้ยว ของฉัน อันประณีต

พระพุทธเจ้าเสวย “สุกรมัททวะ” แล้วก็รับสั่งให้นายจุนทะนำเอาที่เหลือไปฝังเสียในหลุมพร้อมรับสั่งว่า

“เราตถาคตมองไม่เห็นใครในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่บริโภคสุกรมัททวะแล้วจะย่อยได้ดีนอกจากเราตถาคต”

ซึ่งพุทวจนะตรงนี้ เมื่อเสวยสุกรมัททวะเสร็จแล้วไม่นาน ก็เกิดอาพาธอย่างแรงกล้า พระโรคที่เรียกว่า “ปักขันทิกาพาธ” ก็กำเริบ พระพุทธองค์ทรงประชวรลงพระโลหิต(ถ่ายเป็นเลือด) พระอาการเพียบหนัก แต่ทรงข่มไว้ด้วยพลังสมาธิ ตรัสเรียกพระอานนท์ว่า เรามาเดินทางต่อไปยังกุสินาราเถอะ

สุกรมัททวะ คืออะไร

ท่านให้ความเห็นว่า ตามที่เราแปลกันมาในสายเถรวาท สุกรมัททวะ หมายถึง เนื้อสุกรอ่อน แต่คือเนื้อสุกรอ่อนจริงหรือ ท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ท่านได้อภิปรายพร้อมยกหลักฐานมาประกอบ ดังนี้

สุกรมัททวะ คืออะไร ในหนังสือชั้นอรรถกถาชื่อ สุมังคลวลาสินี แต่งโดยพระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดียเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ได้ประมวลการตีความไว้ ๓ ทรรศนะด้วยกันดังนี้

  1. สุกรมทฺทวนฺติ นาติชิณฺณสฺส เอกเชฎกสูกรส ปวตฺตมํสํ สุกรมัททวะ ได้แก่ ปวัตตะมังสะ (เนื้อที่ขายตามตลาด) ของสุกรที่เจริญเต็มที่ ซึ่งไม่หนุ่มเกินไป ไม่แก่เกินไป ทรรศนะนี้บอกว่าเป็นเนื้อหมู่ และอธิบายเพิ่มเติมว่า เนื้อสุกรที่ไม่แก่เกินไป ไม่หนุ่มเกินไป นุ่มสนิทดี ปรุงอาหารอร่อย นายจุนนทะนำเนื้อชนิดนี้มาปรุงอาหารถวายพระพุทธเจ้า
  2. เอเก ภณนฺติ สุกรมทฺทวนฺติ ปน มุทุโอทนสฺส ปญฺจโครสยูสปาจนวินธานสฺส นาเมตํ ควปานํ นาม ปากนามนฺติ อีกมติหนึ่งว่าสุกรมัททวะ หมายถึง ชื่อแห่งวิธีการปรุงข้าวอ่อนด้วยเบญจโครส เหมือนชื่ออาหารที่ปรุงด้วยควปานะ มตินี้ตรงข้ามมติแรก คือแทนที่จะเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ กลับเป็นอาหารประเภทพืชไป คือข้าวหุงด้วยนมโค
  3. เกจิ ภณนฺติ สุกรมทฺทวํ นาม รสายนวิธี ตํ ปน รสายนยตฺตนฺติ อีกมติหนี่งว่า รสายนวิชื่อว่าสุกรมัททวะ รสายนวิธีนั้นมาในคัมภีร์รสายนศาสตร์ นายจุนทะ ตกแต่งอาหารตามคัมภีร์รสายนศาสตร์ เพื่อมิให้พระพุทธเจ้าปรินิพพาน

ในคัมภีร์ฝ่ายสันสกฤต (คัมภีร์มหายาน) ตีความสุกรมัททวะว่า ได้แก่เห็ดชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ไม้จันทร์ เรียกในภาษาจีนว่า “จับทับฉิ่วยื้อ” และว่าเห็ดชนิดนี้หมูชอบกิน จึงเรียกว่าสุกรมัททวะ มติฝ่ายมหายานนี้เข้ากันได้กับทรรศนะที่ ๓ ที่ว่าสุกรมัททวะ เป็นยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง

สรุปแล้ว สุกรมัททวะตีความกันได้ ๓ นัย คือ

  1. เนื้อสุกรอ่อนนุ่มที่ปรุงรสอย่างดี
  2. ข้าวอ่อนหุงด้วยนมโค
  3. ยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง (เห็ดไม้จันทน์)

ข้อที่น่าพิจารณาสำหรับพระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก็คือ ถ้าเป็นสุกรอ่อนจริงดังที่ชาวพุทธสายเถรวาทเข้าใจกัน ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่ให้นายจุนทะถวายแก่พระสาวกรูปอื่น ให้ถวายพระองค์ผู้เดียว ที่เหลือจากเสวยรับสั่งให้นายจุนทะเอาไปฝัง และตรัวว่า สุกรมัททวะนี้พระองค์เท่านั้นเสวยแล้วจึงสามารถย่อยได้

พิเคราห์จากข้อความนี้แสดงว่า สุกรมัททวะมิใช่อาหารธรรมดาที่ปรุงด้วยเนื้อหมูแน่นอน

มติที่สองที่บอกว่า หมายถึง ข้าวอ่อนหุงด้วยนมโค ก็มีข้อที่น่าสงสัยอีกเช่นกัน ในพระสูตรกล่าวว่า อาหารชื่อ สุกรมัททวะนี้ย่อยยาก พระพุทธองค์เท่านั้นที่สามารถย่อยได้ ถ้าเป็นข้าวหุงด้วยนมธรรมดาไม่น่าจะย่อยยาก และที่สำคัญไม่น่าที่พระพุทธองค์จะตรัสห้ามมิให้นำไปถวายพระสาวกรูปอื่นอีก การที่มิให้นายจุนทะถวายพระรูปอื่น แสดงถึงข้อพิเศษเฉพาะของสิ่งนี้อยู่ในตัวของมัน ไม่สาธารณะทั่วไป

มติที่สามที่บอกว่าเป็นโอสถพิเศษที่ปรุงด้วยตำรับ“รสายนศาสตร์”(ทางฝ่ายมหายานระบุว่าเป็นเห็ดแก่นจันทน์) ข้อนี้น่าพิจารณาและมีทางเป็นไปได้กว่าสองมติที่กล่าวมา ด้วยเหตุผลดังนี้

  1. นายจุนทะรู้ว่าพระพุทธองค์ประชวร จึงขวนขวายหาโอสถมาปรุงถวายพิเศษ การปรุงยาคงต้องตระเตรียมหุงต้มตลอดทั้งคืน ถ้าเป็นอาหารธรรมดา ก็ไม่น่าจะเสียเวลาตระเตรียมมากมายขนาดนั้น
  2. การที่พระองค์ห้ามมิให้นายจุนทะถวายสุกรมัททวะแก่พระสงฆ์อื่น ก็เนื่องจากพระรูปอื่นมิได้อาพาธเหมือนพระองค์ คนไม่ป่วยไข้ มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แล้ว ขืนรับประทานยา ก็จะกลายเป็นโทษมากกว่าคุณ มีตัวอย่างให้เห็นในปัจจุบัน คนไม่เป็นอะไร ชอบกินวิตามินบำรุง หนักเข้าเกิดโรคแพ้วิตามินก็มี ยาที่นายจุนทะปรุงนี้บางทีจะปรุงด้วยตัวยาหนักเบาสำหรับพระพุทธองค์โดยเฉพาะ อย่างตำราไทยโบราณของเราต้องมีการคูณธาตุ น้ำหนักยามีหนักมีเบามากน้อยตามความเหมาะสมแก่คนไข้เป็นราย ๆ ไป ใช่ว่ายาหม้อเดียวกันรักษาได้ทุกคนก็หาไม่ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงตรัสว่า พระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้นที่เหมาะจะเสวยสุกรมัททวะนี้ และย่อยมันได้ดี เข้าทำนอง “ลางเนื้อชอบลางยา”
  3. ถ้าสิ่งที่ว่านี้เป็นสมุนไพร หรือยาที่ปรุงพิเศษขนานหนึ่งสำหรับพระพุทธเจ้า ทำไมเรียกชื่อว่า สุกรมัททวะเล่า พูดง่าย ๆ ถ้าไม่เกี่ยวกับเนื้อหมูแล้วมีคำว่า สุกรมัททวะอยู่ด้วยทำไม ข้อนี้ท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ ท่านได้กรุณาวิเคราะห์วิจารณ์ว่า ดูตัวอย่างชื่อยาไทยโบราณยาไทยแต่ละขนานล้วนตั้งชื่อกันแปลก ๆ เช่น ยาจตุรพักตร์ ยาน้ำนมราชสีห์ ฯลฯ ซึ่งจริง ๆ อย่างยาน้ำนมราชสีห์ ก็มิได้เอา น้ำนมราชสีห์ จริง ๆ เป็นเพียงตั้งชื่อให้วิจิตรพิสดารอย่างนั้นเอง ชื่อสุกรมัททวะนี้ก็เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นเนื้อหมู และที่ปกรณ์ฝ่ายสันสกฤตระบุว่าเป็นเห็ด เกิดจากแก่นจันทร์ก็ฟังดูเข้าทีดี อาจเป็นเห็ดชนิดนี้ก็ได้ที่นายจุนทะนำมาปรุงตามตำรับ รสายนศาสตร์ถวายพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเมืองปาวา อาการประชวรก็กำเริบหนักขึ้น ถ้ามิได้เสวยยาของนายจุนนทะบางทีอาจไม่ทรงสามารถพยุงพระวรกายเสด็จไปถึงเมืองกุสินาราก็ได้ หลังจากเสวยพระกระยาหารมื้อนี้แล้ว ทรงทราบดีว่าอาจมีผู้เข้าใจผิดว่านายจุนทะวางยาพิษพระองค์ถึงกับดับขันธปรินิพพานก็ได้ จึงตรัสกับพระอานนท์เพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดแก่นายจุนทะในกาลข้างหน้าว่า

“ดูก่อนอานนท์ อาจเป็นไปได้ว่าใครคนหนึ่งพึงทำความร้อนใจให้เกิดแก่นายจุนทะกัมมารบุตรว่า นี่แนะนายจุนทะ ไม่เป็นลาภผลของท่านเสียแล้ว พระตถาคตเจ้าเสวยบิณฑบาตของท่านแล้ว เสด็จดับขันธปรินิพพาน อานนท์ พวกเธอควรดับความร้อนใจของนายจุนทะเสีย โดยชี้แจงว่า นี่แน่ะจุนทะ เป็นลาภผลของท่านนักหนา พระตถาคตเจ้าเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้าย แล้วดับขันธปรินิพพาน…. บิณฑบาตสองครั้ง มีวิบากเสมอกัน มีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตอย่างอื่น คือ ตถาคตเสวยแล้วตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณครั้งหนึ่ง เสวยแล้วปรินิพพานด้วย อนนุปาทิเสสนิพพานธาตุครั้งหนึ่ง กรรมที่ให้อายุ วรรณ สุข ยศ สวรรค์ และความเป็นใหญ่ ชื่อว่านายจุนทะได้สั่งสมไว้แล้ว”

ในทรรศนะของท่านราชบัณฑิตเสฐียรพงษ์ วรรณปก ท่านเห็นว่า สุกรมัททวะน่าจะหมายถึงยาสมุนไพรชนิดหนึ่งมากกว่าเนื้อสุกร ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

2 ความเห็น

  • การได้เรียนรู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ นับว่าเป็นความรู้ที่แตกขึ้นมาใหม่ ดังนั้นผลขอการเรียนรู้ธรรมะก็คือการเรียนรู้จิตใจของเรา นับว่าเป็นเว็บไซต์ที่ดีมากครับ ขอบคุณข้อมูลดีๆ ที่รับทราบสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน

แสดงความเห็น