ปรินิพพาน

ทรงพิจารณาชราธรรม

ในพรรษาที่ ๔๕ อันเป็นพรรษาสุดท้ายแห่งพระชมมายุ ในช่วงเหมันตฤดู พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จประทับ ณ บ้านเวฬุคาม เขตเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในพรรษานั้นเอง พระผู้มีพระภาคทรงพระประชวรหนักเกิดทุกขเวทนาแรงกล้าใกล้มรณชนม์ แต่พระพุทธองค์ทรงดำรงพระสติสัมปชัญญะมั่นคง ทรงอดกลั้นในทุกขเวทนาด้วยอธิวาสขันติ หรือความอดทนอย่างยิ่งยวด ทรงเห็นว่ายังมิควรที่จะปรินิพพานในเวลานี้ จึงบำบัดขับไล่อาพาธให้สงบระงับด้วยความเพียรในอิทธิบาทภาวนา

ครั้นดำรงพระกายเป็นปกติจากชราพยาธิทุกข์มีความสุขตามควรแก่วิสัยแล้ว วันหนึ่งขณะพระพุทธองค์ประทับเหนือพุทธอาสน์ซึ่งปูลาดอยู่ในร่มเงาพระวิหาร จึงทรงปราศรัยเรื่องชราธรรมประจำพระวรกายกับพระอานนท์พุทธอุปัฏฐากว่า

“ดูก่อนอานนท์ บัดนี้เราชราภาพล่วงกาลผ่านวัยจนชนมายุล่วงเข้า ๘๐ ปีแล้ว กายของตถาคตทรุดโทรมเสมือนเกวียนชำรุดที่ต้องซ่อม ต้องมัดกระหนาบให้อยู่ด้วยไม้ไผ่อัน มิใช่สัมภาระแห่งเกวียนนั้น”

“ดูก่อนอานนท์ เมื่อใดตถาคตเข้าอนิมิตตเจโตสมาธิตั้งจิตสงบมั่น คือไม่ให้มีนิมิตใด ๆ เพราะไม่ทำนิมิตทั้งหลายไว้ในใจ ดับเวทนาบางเหล่าเสีย และหยุดยั้งอยู่ด้วยอนิมิตตสมาธิ เมื่อนั้นกายแห่งตถาคตย่อมผ่องใส มีความผาสุกสบายตลอดกาย”

“ดูก่อนอานนท์ เพราะธรรมคือนิมิตตสมาธิ มีอานุภาพสามารถทำให้ร่างกายของผู้ที่เข้าถึง และหยุดอยู่ด้วยสมาธิธรรมนั้นมีความผาสุก ฉะนั้นท่านทั้งหลาย จงมีตนเป็นเกราะ มีธรรมเป็นที่พึ่งทุกอิริยาบถเถิด”

ครั้นตรัสดังนี้แล้ว พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงธรรมในข้อที่ว่ามีตนเป็นที่พึ่ง สามารถประกอบตนไว้ในสติปัฏฐาน  ๔  ทรงสั่งสอนภิกษุสงฆ์ใน เอกายมรรค คือ สติปัฏฐานภาวนา และ ปฏิณณกะเทศนาธรรม ทรงเทศนาสั่งสอนธรรมอันเป็นการบำเพ็ญพุทธกิจในครั้งนี้ ณ บ้านเวฬุคามนั้นจนกาลล่วงไปได้ถึงเดือนที่ ๓ แห่งเหมันตฤดูนั้นแล

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น