ตรัสรู้

ปาเลไลย์

ในกาลนั้นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จประทับ ณ โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี แคว้นวังสะ ในครั้งนั้นเหล่าภิกษุทั้งหลายที่เป็นผู้ว่ายากสอนยาก มักทะเลาะวิวาทกันอยู่เสมอ ไม่ยอมอยู่ในโอวาท พระพุทธองค์ห้ามปรามตักเตือนไม่ยอมเชื่อฟัง พระบรมศาสดาจึงเสด็จไปเอกจาริกวัตร คือ เสด็จไปเพียงลำพังพระองค์เดียวและได้ประทับ ณ ร่มไม้สาละ ในป่ารักขิตวัน

ในครั้งนั้น ยังมีพญาช้างเชือกหนึ่งนามว่า ปาลิไลยกะ เกิดเบื่อหน่ายความวุ่นวายของบรรดาบริวารจึงปลีกตัวออกมาตามลำพัง ครั้นได้พบพระบรมศาสดาบังเกิดความเลื่อมใส ถวายตัวอุปัฏฐากคอยหาน้ำ และภัตตาหารมาถวาย ทั้งยังใช้กิ่งไม้คอยปัดกวาดบริเวณและคอยพิทักษ์ความปลอดภัยมิให้สัตว์ร้ายมากล้ำกราย โดยมีพญาลิงเป็นผู้ช่วยหารวงผึ้งมาถวาย

เมื่อมหาชนในเมืองโกสัมพีทราบว่าบัดนี้พระบรมศาสนามิได้อยู่ในโฆสิตารามเพราะเบื่อหน่ายเหล่าภิกษุที่ไม่อยู่ในโอวาท จึงพากันงดการทำบุญถวายอาหารบิณฑบาต เหล่าภิกษุสงฆ์จึงได้รับความอดอยากและสำนึกตัว แต่เป็นฤดูเข้าพรรษาจึงไม่อาจติดตามหาพระบรมศาสดาได้ ต้องทนอยู่ด้วยใจอันเป็นทุกข์

ส่วนทางเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขามหาอุบาสิกา พร้อมทั้งเหล่าเศรษฐีตระกูลใหญ่ ได้พร้อมใจกันส่งหนังสือถวายพระอานนท์เถระพุทธอุปัฏฐาก เพื่อให้เชิญเสด็จพระบรมศาสดามาประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร เพื่อพวกตนจะได้ถวายอาหารบิณฑบาตและฟังธรรม ครั้นออกพรรษาแล้วพระอานนท์พร้อมเหล่าภิกษุจำนวน ๕๐๐ รูป ที่ปรารถนาจะฟังธรรมจากพระบรมศาสดาจึงเดินทางสู่ป่ารักขิตวัน พญาช้างปาลิไลยกะเห็นพระอานนท์ครั้งแรกไม่ยอมให้เข้าเฝ้า พระพุทธองค์ต้องทรงชี้แจงว่าเป็นพุทธอุปัฏฐากพญาช้างจึงยินยอม พระบรมศาสดาสั่งให้พระอานนท์นำพระภิกษุที่คอยอยู่ข้างนอกมาเข้าเฝ้าเพื่อฟังพระธรรมเทศนายังผลให้ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป บรรลุพระอรหันต์ เมื่อพระอานนท์เชิญพระพุทธองค์เสด็จสู่พระเชตวันมหาวิหาร พญาช้างไม่อาจขัดขืนก็เสียใจล้มลงขาดใจ ด้วยบุญกุศลจึงไปบังเกิดในสวรรค์ มีนามว่า “ปาลิไลยกะเทพบุตร”

ฝ่ายภิกษุผู้ว่ายากสอนยาก ครั้นทราบว่าบัดนี้พระบรมศาสดาเสด็จมาประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี จึงรีบเดินทางจากเมืองโกสัมพีมาเข้าเฝ้าเพื่อแสดงความสำนึกผิด ครั้นได้รับการอภัยจากพระพุทธองค์และทรงแสดงธรรมโปรดภิกษุทั้งหลายที่ประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้นก็ได้อริยผลเป็นอันมาก

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น