ตรัสรู้

กุมารปัญหา พระพุทธเจ้าทรงตั้งปัญหาถามสามเณรราหุล

อนึ่ง ในระยะเวลาที่พระราหุลมีพระชนม์พรรษาน้อยอยู่นี้ พระอรรถกถาจารย์ท่านแสดงว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงอบรมด้วย กุมารปัญหา คือ ปัญหาที่ผูกขึ้นสำหรับถามเด็ก หรือ สามเณรปัญหา ปัญหาที่ผูกขึ้นสำหรับสามเณร ปัญหานี้ในที่แห่งหนึ่งแสดงว่า พระพุทธเจ้าตรัสถามให้สามเณรรูปหนึ่งชื่อว่า โสปากสามเณร ตอบ แต่ท่านพระอรรถกถาจารย์ได้กล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสตั้งปัญหาอันเดียวกันนี้ถามพระราหุลด้วย มี ๑๐ ข้อ คือ

ถามว่า อะไรชื่อว่าหนึ่ง

ก็ทูลตอบว่า ที่ชื่อว่าหนึ่งก็คือสัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร

ถามว่า อะไรชื่อว่าสอง

ก็ตอบว่า ที่ชื่อว่าสองคือนามรูป

ถามว่าอะไรชื่อว่าสาม

ก็ตอบว่า คือเวทนาสาม

ถามว่าอะไรชื่อว่าสี่

ก็ตอบว่า อริยสัจสี่

ถามว่า “อะไรชื่อว่าห้า”

ก็ตอบว่า “อุปาทานขันธ์ คือ ขันธ์เป็นที่ยึดถือห้า”

ถามว่า “อะไรชื่อว่าหก”

ก็ตอบว่า “อายตนะภายในหก”

ถามว่า “อะไรชื่อว่าเจ็ด”

ก็ตอบว่า “โพชฌงค์เจ็ด”

ถามว่า “อะไรชื่อว่าแปด”

ก็ตอบว่า “อริยมรรคมีองค์แปด”

ถามว่า “อะไรชื่อว่าเก้า”

ก็ตอบว่า “สัตตาวาส คือ ที่อยู่ของสัตว์เก้าจำพวก”

ถามว่า “อะไรชื่อว่าสิบ”

ก็ตอบว่า “ท่านที่ประกอบด้วยองค์สิบ เรียกว่า พระอรหันต์”

ชื่อธรรมะเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันอยู่เป็นส่วนมาก สัตตาวาส ๙ นั้นเป็นภูมิภพของสัตว์ ๙ จำพวก ส่วนพระอรหันต์ประกอบด้วยองค์ ๑๐ นั้นก็คือ ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ คือความรู้ชอบ สัมมาวิมุตติคือความพ้นชอบ ซึ่งเป็นอเสขะคือเป็นองค์ที่เสร็จกิจจะต้องศึกษา อันเรียกว่าเป็นของพระอเสขะผู้ที่ไม่ต้องศึกษา ก็ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ และเพิ่มสัมมาญาณะ และสัมมาวิมุตติเข้าอีก ๒ รวมเป็น ๑๐

ปัญหาเหล่านี้เท่ากับว่า ตั้งขึ้นถามให้ตอบหรือว่าทาย และคอยแก้ก็เพื่อที่จะให้จดจำข้อธรรมะได้ ในตอนแรกก็อาจจะไม่เข้าใจ แต่เมื่อได้รับอบรมมากขึ้น ก็อาจเข้าใจในหัวข้อธรรมะเหล่านั้นมากขึ้น ในตอนแรกก็ตั้งให้ตอบพอจำได้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า กุมารปัญหา หรือว่า สามเณรปัญหา มี ๑๐ ข้อ ด้วยกัน

ในระหว่างพรรษาเหล่านี้ ครั้งหนึ่งได้ทรงแสดงโอวาทโปรดบุตรคฤหบดีผู้หนึ่ง ซึ่งชื่อว่า สิงคาลกะ เป็นพระโอวาทสั่งสอนทางคดีโลก นับว่าได้ทรงสั่งสอนผ่อนจากคดีโลกุตตรธรรมลงมา พระธรรมเทศนาที่แสดงมาในเบื้องต้นโดยลำดับนั้นเป็นเรื่องโลกุตตรธรรม หรือปรมัตถธรรมเป็นพื้น และผู้นับถือพระพุทธศาสนาก็ปรากฏว่าได้มีภิกษุมีสามเณรเป็นฝ่ายบรรพชิต ทางฝ่ายคฤหัสถ์ก็มีอุบาสกอุบาสิกา ปรากฏว่าได้ทรงอบรมด้วยอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ท่านแสดงว่าผู้ที่จะทรงอบรมดั่งกล่าวนั้น ต้องมีอุปนิสัยที่จะได้ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม ที่กล่าวว่าเป็นพระโสดาบัน  พระโสดาบันนั้น คฤหัสถ์ก็เป็นได้ พระสกทาคามีก็เหมือนกัน ส่วนพระอนาคามีนั้น ท่านแสดงว่าคฤหัสถ์ก็เป็นไปได้ แต่โดยมากเมื่อคฤหัสถ์เป็นพระอนาคามี ก็มักจะบวช ส่วนที่ไม่บวชมีตัวอย่างอยู่ ท่านอ้างว่า เพราะมีกิจต้องทะนุบำรุงมารดาบิดา ทิ้งไปบวชไม่ได้ แต่ว่าถ้าเป็นพระอรหันต์ต้องออกบวช จะอยู่เป็นคฤหัสถ์ต่อไปไม่ได้และมีกำหนดว่า ต้องบวชในวันนั้น  ด้วย กำหนดเป็นแบบธรรมดานิยม เพราะฉะนั้น คำสั่งสอนที่แล้วมา แม้จะสอนแก่คฤหัสถ์ก็สอนตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงอริยสัจ ส่วนที่สอนแก่สิงคาลกะนี้ เป็นการสอนทางคดีโลกโดยตรง

ที่มา : พระนิพนธ์ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก; วัดบวรนิเวศวิหาร

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น