หมวดที่ ๔ พุทธสถาน

หมู่บ้าน ตำบล เมืองและแคว้น

ชมพูทวีปในสมัยพุทธกาลมีหมู่บ้าน ตำบล เมือง และแคว้น ต่าง ๆที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา ซึ่งพอจะประมวลนำมาบันทึกไว้ ณ ที่นี้ได้ดังต่อไปนี้

๑. หมู่บ้าน

กัลลวาลมุตตคาม เป็นหมู่บ้านอยู่ในแคว้นมคธ เมื่อคราวประโมคคัลลานะอุปสมบทได้ ๗ วัน ไปทำความเพียรจนอ่อนใจนั่งสัปหงกโงกง่วงอยู่ พระพุทธเจ้าเสด็จไปเทศนาโปรด จนได้สำเร็จพระอรหัต ที่กัลลวาลมาตุคามนี้

โกลิตคาม เป็นหมู่บ้านเกิดของ “โกลิตะ” บุตรของตระกูลหัวหน้าหมู่บ้าน ภายหลังบวชในพระพุทธศาสนามีนามว่า พระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้าได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์มาก โกลิตคามตั้งอยู่ใกล้พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ

ถูนคาม เป็นเขตแดนบ้านที่กั้นถิ่นกลางหรือมัชฌิมประเทศกับเมืองชายแดนนอกหรือปัจันตประเทศ ถูนคามเป็นที่กำหนดเขตสุดแดนทางทิศตะวันตก นับแต่ถูกคามเข้ามาคือมัชฌิมประเทศ

นาลันถคาม อยู่ติดกับโกลิตคาม เป็นหมู่บ้านเกิดของ “อุปติสสะ”บุตรของตระกูลหัวหน้าหมู่บ้าน เป็นเพื่อนสนิทของโกลิตะ ภายหลังบวชในพระพุทธศาสนามีนามว่า พระสารีบุตร เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีปัญญามาก พระสารีบุตรเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระศาสนา และได้รับยกย่องว่าเป็นพระธรรมเสนาบดี นาลันถคามยังเป็นบ้านเกิดของน้องชาย ๓ น้องหญิง ๓ ของพระสารีบุตร ซึ่งต่อมาบวชในพระธรรมวินัยทั้งหมดและน้องชายทั้ง ๓ เป็นพระสาวกผู้ใหญ่จำนวน ๘๐ องค์ทุกคน นาลันถคามตั้งอยู่ใกล้พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ

ปาริเลยยกะ ในพรรษาที่ ๑๐ ระหว่างเวลา ๔๕ ปี แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจของพระพุทธเจ้า พระบรมศาสดาทรงจำพรรษาอยู่ที่แดนบ้านปาริเลยยกะใกล้เมืองโกสัมพี แคว้นวังสะ พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปอาศัยอยู่ในป่ารักขิตวัน ด้วยทรงปลีกพระองค์จากพระสงฆ์ที่แตกกันในกรุงโกสัมพี ตลอดระยะเวลาที่จำพรรษาอยู่ในป่ารักขิตวันนี้นมีพญาช้างปาริเลยยกะคอยปฏิบัติดูและพระพุทธเจ้า

ปิลินทวัจฉคาม เป็นหมู่บ้านของคนงานวัดจำนวน ๕๐๐ ที่พระเจ้าพิมพิสารพระราชทานให้เป็นผู้ช่วยทำที่อยู่ของประปิสินทวัจฉะ พระมหาสาวกผู้เป็นเอตทัคคะให้ทางเป็นที่รักของพวกเทวดา ปิลินทวัจฉคามอยู่ที่พระนครราชคฤห์ แว้นมคธ

เสนานิคม เป็นหมู่บ้านในตำบลอุรุเวลา ในแคว้นมคธ นางสุชาดาผู้ถวายข้าวปายาสแด่พระมหาบุรุษในเวลาเช้าวันเพ็ญ เดือน ๖ วันที่จะตรัสรู้อยู่ที่หมู่บ้านเสนานิคมนี้ ภายหลังนางสุชาดาได้เป็นปฐมอุบาสิกาพร้อมกับภรรยาเก่าของยสะบุตรชายของนาง

อันธกวินทะ เป็นหมู่บ้านอยู่ติดกับกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ

เอกนาลา หมู่บ้านพราหมณซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จประทับจำพรรษาในพรรษาที่ ๑๑ ระหว่างเวลา ๔๕ ปี แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ

ในกาลที่พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ พระนครไพศาลี (เวสาลี) ในวันเพ็ญเดือน ๓ พรรษาที่ ๔๕ ภายหลังตรัสรู้พระบรมศาสดาตรัสว่า แต่นี้ไปอีก ๓ เดือน พระตถาคตก็จักปรินิพพานกาลต่อมาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูปได้เดินทางออกจากพระนครไพศาลี เพื่อมุ่งหน้าไปยัง สาลวโนทยาน ในกรุงกุสินารา แคว้นมัลละ สถานที่ซึ่งพะพุทธองค์มีประสงค์จักปรินิพพาน ในระหว่างพุทธดำเนินจากพระนครไพศาลีไปกรุงกุสินาราทรงเสด็จผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ ดังนี้ พระพุทธเจ้าทรงพาพระภิกษุสงฆ์เสด็จไปยังบ้าน ภัณฑุคาม แสดงธรรมโปรดพุทธบริษัท ต่อจากนั้นเสด็จไปบ้าน หัตถีคาม อัมพุคามชัมพุคาม และโภคนคร โดยลำดับ ประทับอยู่ที่โภคนครแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทชาวเมืองนั้น ต่อจากนั้นจึงเสด็จไปยังเมืองปาวานคร เสด็จเข้าประทับอาศัยอยู่ที่อัมพวันสวนมะม่วงของจุนทกัมมารบุตรซึ่งอยู่ใกล้เมืองนั้น เสด็จจากปาวานครพร้อมกับทรงประชวรพระโรค “โลหิตปักขัณทิกาพาธ” (โรคท้องร่วงถึงพระโลหิต) เสด็จพระพุทธดำเนินข้ามแม่น้ำหิรัญญวดะ ในเมืองกุสินารา แล้วเสด็จเข้าไปยังสาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ใกล้เมืองกุสินารา

๒. ตำบล

กาฬศิลา ตำบลในชนบทสำคัญแห่งหนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ข้างภูเขาอิสิคิลิพระนครราชคฤห์ ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าเคยทำนิมิตต์โอภาสแก่คนร้าย ซึ่งรับจ้างจากพวกเดียรถีย์ไปลอบฆ่าด้วยการทุบตีจนร่างแหลก พระพุทธเจ้าโปรดให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ไกล้ซุ้มประตูวัดเวฬุวัน ในเขตเมืองราชคฤห์

คยาสีสะ เป็นตำบลเนินเขาแห่งหนึ่ง ริมแม่น้ำเนรัญชรา แคว้นมคธ เป็นสถานที่ซึ่งคยากัสสปน้องชายคนเล็กของนักบวชชฏิลแห่งกัสสปโคตร ตั้งอาศรมอยู่พร้อมบริวาร ๒๐๐ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาอาทิตตยปริยายสูตร (พระสูตรว่าด้วย อายตนะทั้ง ๖ ที่ร้อนติดไฟลุกทั่ว ด้วยไฟราคะ ไฟโทสะ และไฟโมหะ ตลอดจนร้อนด้วยทุกข์มี ชาติ ชรา มรณะ) ให้คณาจารย์ชฏิลสามพี่น้องและบริวาร ๑๐๐๐ ซึ่งพรรพชาเป็นพระภิกษุสงฆ์ แล้ว ทั้งหมดเคยเป็นชฏิลบูชาไฟมาก่อนหลังจากทรงแสดงธรรมเทศนาพระสูตรนี้ ทำให้ภิกษุเหล่านั้นบรรลุอรหัตตผล

โคตมนิโครธ ตำบลแห่งหนึ่งในพระนครราชคฤห์ นครหลวงของแคว้นมคธ ที่ตำบลนี้พระพุทธเจ้าเคยนิมิตต์โภาสแก่พระอานนท์

ปาริเลยยกะ ตำบลแห่งหนึ่งใกล้กรุงโกสัมพี นครหลวงของแคว้นวังสะ เป็นที่ตั้งของป่ารักขิตวันและแดนบ้านปาริเลยยกะ

เวฬุวคาม ตำบลหนึ่งใกล้แคว้นนครเวสาลี (ไพศาลี) แคว้นวัชชีพระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่ ๔๕ นับแต่ได้ตรัสรู้ที่เวฬุคามแห่งนี้เป็นพรรษาสุดท้ายที่จะเสด็จปรินิพพาน

เสตกัณณิกนิคม นิคมที่กั้นอาณาเขตมัชฌิมชนบท (ถิ่นกลางของอาณาเขต เป็นศูนย์รวมของความเจริญรุ่งเรืองนานาประการ) กับปัจจันตชนบทหรือปัจจันตประเทศ (หัวเมืองชั้นนอก ถิ่นที่ยังไม่เจริญ)ทางทิศใต้นับจากเสตกัณณิกนิคมเข้ามาถือเป็นมัชฌิมชนบท

อุกกลชนบท เป็นตำบลชนบทแดนไกลที่ ๒ พ่อค่าคือ ตปุสสะ กับภัลลิกะ นำกองเกวียนบรรทุกสินค้าเดินทางเข้ามาพบพระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ ณ ภายใต้ต้นราชาตนะ (ไม้เกต) ภายหลังพระบรมศาสดาทรงตรัสรู้ได้ ๗ สัปดาห์ และเพิ่งเสร็จสิ้นจากเสวยวิมุตติสุข ๒ พ่อค้าจากอุกกลชนบทได้ถวายเสบียงเดินทางคือ ข้าวสัตตุผง ข้าวสัตตุก้อน แล้วเสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระพุทธเจ้ากับพระธรรมเป็น ๒ สรณะ นับเป็นปฐมอุบาสกผู้ถึงสรณะ ๒ เรียกว่า “เทววาจิก”

อุรุเวลา เป็นตำบลใหญ่แห่งหนึ่ง ในแคว้นมคธ ตั้งอยู่ ณ ลุ่มแม่น้ำเนรัญชรา เป็นภูมิสถานที่สงบน่ารื่นรมย์ พระมหาบุรุษทรงเลือกตำบลอุรุเวลาเป็นที่บำเพ็ญเพียร ทรงประทับอยู่ที่ตำบลแห่งนี้นานถึง ๖ ปี จากพระชนมายุ ๒๙ พรรษา ถึง ๓๕ พรรษา ทรงบำเพ็ญเพียร และจากการบำเพ็ญทุกรกริยาเปลี่ยนมาทรงดำเนินในมัชฌมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) จนได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปีภายใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ภายในปาสาละ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลแห่งนี้

๓. เมือง

กบิลพัสดุ์ เมืองหลวงของแคว้นสักกะ พระพระพุทธบิดาคือ “พระเจ้าสุทโธนะ” เป็นกษัตริย์ ครองนครกบิลพัสดุ์ (บัดนี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล)

กัมปิลละ นครหลวงแห่งแคว้นปัญจาละ หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล เมืองกัมปิลละตั้งอยู่เหนือแม่น้ำคงคาตอนบน

กุกกุฏวดี อยู่ในปัจจันตประเทศหรือหัวเมืองชั้นนอกอันเป็นถิ่นที่ยังไม่เจริญ กษัตริย์ผู้ครองนครกุกกุฏวดีได้ทราบข่าวการอุบัติของพระพุทธเจ้า แล้วบังเกิดปีติศรัทธาสละราชสมบัติทรงม้าเดินทางไกล ๓๐๐ โยชน์ (ประมาณ ๔,๘๐๐ กิโลเมตร) มาเฝ้าพระพุทธเจ้า สดับธรรมกถาบรรลุประอรหัตแล้วได้รับอุปสมบท เป็นพระมหาสาวกนามว่า ” มหากัปปินะ” ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางให้โอวาทแก่ภิกษุส่วนพระอัครมเหสีชื่ออโนชา ทรงรถเสด็จมาเฝ้าพระบรมศาสดาเช่นกัน ฟังธรรมบรรลุโสดาปัตติผลแล้วรับพรรพชาจากพระอัครสาวิกาฝ่ายซ้ายอุบลวรรณาเถรี

กุสินารา เมืองหลวงแห่งหนึ่งของแคว้นมัลละ เดิมชื่อกุสาวดีภายหลังแยกเป็นกุสินาราและปาวา ทั้งสองนครเป็นเมืองหลวงของแคว้นมัลละ หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล กุสินาราเป็นเมืองเล็ก ๆ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเลือกเสด็จดับขันธปรินิพพานที่เมืองแห่งนี้ กุสินาราตั้งอยู่ในจะดที่บรรจบของแม่น้ำรับดิ และแม่น้ำคันธกะ

โกสัมพี นครหลวงของแคว้นวังสะ ตั้งอยู่เหนือฝั่งตอนใต้ของแม่น้ำยมุนา พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่ ๙ ที่วัดโฆสิตารามในกรุงโกสัมพี และทรงจำพรรษาที่ ๑๐ ที่ป่ารักขิตวัน ตำบลปาริเลยยกะ ใกล้กรุงโกสัมพี

จัมปา นครหลวงของแคว้นอังคะ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำจัมปา ซึ่งบรรจบกับปลายแม่น้ำคงคา แคว้นอังคะเป็นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล

ตักศิลา นครหลวงแห่งแคว้นคันธาระ หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ใน สมัยพุทธกาล ตักศิลาเป็นราชธานีที่มั่งคั่งรุ่งเรืองสืบต่อกันมาหลายศตวรรษตั้งแต่ก่อนพุทธกาล รุ่งโรจน์ด้วยศิลปวิทยาต่าง ๆ เป็นสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดในการศึกษายุตโบราณ เป็นศูนย์กลางการศึกษา มีสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สั่งสอนศิลปวิทยาต่าง ๆ แก่ศิษย์ที่เดินทางมาเล่าเรียนจากทุกถิ่นในชมพูทวีป บุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงหลายท่านในสมัยพุทธกาลสำเร็จการศึกษาจากนครตักศิลา เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศ(พระเจ้าแผ่นดินแคว้นโกศลครองราชสมบัติอยู่ที่พระนครสาวัตถี) เจ้ามหาลิลิจฉวี พันธุลเสนาบดี หมอชีวกโกมาภัจ (แพทย์ประจำประองค์ของพระพุทธเจ้า) และองคุลิมาล (มหาโจรผู้กลับใจเป็นพระอรหันต์มหาสาวก)

เทวทหะ หรือรามคาม นครของแคว้นโกลิยะ มีกษัตริย์โกลิยวงศ์ปกครอง พระนางสิริมมหามายาพุทธมารดา เป็นเจ้าหญิงแห่งเทวทหนคร เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าอัญชนะ นครเทวทหะ หรือรามคามเป็นที่ประดิษฐานสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแห่งหนึ่ง บัดนี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล

นาลันทา เป็นเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ประมาณ ๑ โยชน์ (ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร) ณ เมือง นี้สวนมะม่วงชื่อ “ปาวาริกกัมพวัน” หรือสวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐีซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับแรมหลายครั้ง

ปาฐา เป็นเมืองหนึ่งในมัธยมประเทศ ภิกษุชาวเมืองนี้คณะหนึ่งเป็นเหตุปรารถให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการกรานกฐิน

ปาวา นครหลวงของแคว้นมัลละ เดิมชื่อกุสาวดี ภายหลังแยกเป็นปาวาและกุสินารา ทั้งสองนครเป็นเมืองหลวงของแคว้นมัลละหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล

ปิปผลิวัน มีโมริกยกณัตริย์เป็นกษัตริย์ ผู้ครอบเมือง พระองค์ส่งทูตมาไม่ทันเวลาแจกพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า จึงได้แต่พระอังคาร(ถ่านเถ้าที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ) ไปบรรจุไว้ในพระสถูปในเมืองปิปผลิวัน อันมีนามว่า “อังคารสตูป”

พาราณสี เมืองหลวงของแคว้นกาสี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำคงคาพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัจจวัคคีย์ ที่ป่าอัสปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ณ สถานที่แห่งนี้เป็นที่ก่อให้เกิดพระรัตนตรัยครบถ้วนสมบูรณ์คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่ ๑ ภายหลังตรัสรู้ ณ ป่าอิสปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี

โภคนคร เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูปทรงประทับแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทชาวเมืองกุสินาราทรงดับขันธปรินิพาน

มหาศาลนคร เป็นนครที่กั้นถิ่นกลางหรือมัชฌิมประเทศกับเมืองชายแดน หรือปัจจันตประเทศ มหาศาลนครเป็นที่กำหนดเขตสุดแดนทางทิศตะวันออก นับจากมหาศาลนครเข้ามาคือ มัชฌิมประเทศ

มิถิลา เป็นนครหลวงของแคว้นวิเทหะ

ราชคฤห์ นครหลวงของแคว้นมคธ หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล เป็นนครที่มีความเจริญรุ่งเรือง เต็มไปด้วยคณาจารย์เจ้าลักธิพระพุทธเจ้าทรงเลือกพระนครราชคฤห์เป็นภูมิที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นปฐม พระเจ้าพิมพิสารราชาแห่งแคว้นมคธ ครองราชสมบัติ ณ ราชธานีแห่งนี้ พระองค์ทรงถวายพระราชอุทยานเวฬุวันเป็นสังฆาราม นับเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่ ๒-๓-๔-๑๗ และ ๒๐ ในระว่างเวลา ๔๕ แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ ที่พระเวฬุวัน พระนครราชคฤห์

วิราฏ นครหลวงแห่งแคว้นมัจฉะ หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล

เวรัญชา พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่ ๑๒ ภายหลังตรัสรู้ที่เมืองนี้

เวสาลี หรือไพศาลี นครหลวงของแคว้นวัชชี หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล ตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำคันธกะพระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่ ๕ ณ กูฎาคารในป่ามหาวัน นครเวสาลี และในพรรษาสุดท้ายคือพรรษาที่ ๔๕ พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่เวฬุคามใกล้นครเวสาลี

สังกัสสะ ตั้งอยู่ในแคว้นปัญจาละอันมีเมืองหลวงชื่อ “กัมปิลละ”เป็นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล ในพรรษาที่ ๗ พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่ดาวดึงสเทวโลก ทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดานานสามเดือน และเสด็จลงจากดาวดึงสเทวโลกที่นครสังกะสะแห่งนี้ นครสังกะสะอยู่ทางตอนใต้ของนครกัมปิลละ มีแคว้นกุรุอยู่ทางทิศตะวันตก มีแคว้นโศลอยู่ทางทิศตะวันออก

สาเกต เป็นมหานครแห่งหนึ่ง อยู่ในแคว้นโกศลอันมีนครสาเกตอยู่ห่างจากพระนครสาวัตถี ๗ โยชน์ (ประมาณ ๑๑๒ กิโลเมตร) ธนัญชัยเศรษฐีบิดาของนางวิสาขา มหาอุบาสิกาผู้สร้างวัดบุพพาราม ณ พระนครสาวัตถี เคียงคู่ใกล้กับพระเชตวันมหาวิหารถวายพระพุทธเจ้า

สาคละ นครหลวงของแคว้นมัททะ หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมียพุทธกาลตั้งอยู่ริมแม่น้ำสินธุกับ ยมุนาตอนบน

สาวัตถี นครหลวงของแคว้นโกศล หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งสมัยพุทธกาลเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษามากที่สุดถึง ๒๕ พรรษา ณ เชตวันมหาวิหาร และบุพพาราม พระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าแผ่นดินแคว้นโกศลซึ่งครองราชสมบัติอยู่ที่พระนครสาวัตถึเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ตั้งมั่นอยู่ในพระไตรสรณคมณ์ สองมหาอุบาสก อุบาสิกาคืออนาถบิณทิกเศรษฐี และนางวิสาขา มิคารมารดาก็พำนักอยู่ ณ พระนครแห่งนี้

สุงสุมารคีระ นครหลวงของแคว้นภัคคะ พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่ ๘ ภายหลังตรัสรู้ ที่เภสกลาวันในป่าไม่สีเสียดใกล้เมืองสุงสุมารคีระ แคว้นภัคคะ

โสตถิวดี นครหลวงแห่งแคว้นเจตี หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล

อาฬวี ในพรรษาที่ ๑๖ ระหว่างเวลา ๔๕ ปี แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับจำพรรษา ณ เมืองอาฬวี ทรงทรมานอาฬวกยักษ์สยบฤทธิ์เดชให้ยินดีในอริยธรรม ทรงช่วยให้ชาวนครอาฬวีตั้งอยู่ในกัลยาณธรรม ประทานธรรมให้เป็นสมาบัติ ปลุกให้เกิดความปรานีกันทั่วหน้า

อินทปัตถ์ นครหลวงของแคว้นกุรุ หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำยมุนาตอนบน

อุชเชนี นครหลวงแห่งแคว้นอวันตี หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล, พระเจ้าจัณฑปัชโชตเป็นราชาผู้ครองแคว้นอันตีครองราชสมบัติอยู่ที่กรุงอุชเชนี

กัมโพชะ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาลมีนครหลวงชื่อทวารกะ แคว้นกัมโพชะอยู่ทางตอนเหนือสุดของทวีป (บัดนี้ดินแดนแห่งนี้อยู่ในเขตประเทศอัฟกานิสถาน)

กาสี แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล นครหลวงชื่อพาราณสี ในสมัยพุทธกาลแคว้นกาสีถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นโกศล

กุรุ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล นครหลวงชื่ออินทปัตต์ พระเจ้าโกรัพยะเป็นราชาผู้ครองแคว้นกุรุ

โกลิยะ แคว้นโกลิยะหรือดินแดนของกษัตริย์โกลิยวงค์ มีนครหลวงชื่อเทวทหะหรือรามคาม พระนางสิริมมหามายาพุทธมารดา เป็นเจ้าหญิงแห่งโกลิยวงศ์ เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าอัญชนะผู้ครองนครเทวทหะ (บัดนี้ดินแดนแห่งนี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล)

โกศล แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล มีนครหลวงชื่อสาวัตถี แคว้นโกศลเป็นแคว้นใหญ่และมีอำนาจมาก พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นราชาผู้ครองแคว้นและเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่ง นครสาวัตถีเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล

คันธระ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาลมีนครหลวงชื่อตักศิลา เป็นนครที่รุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยา ต่างๆ เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา พระเจ้าปุกกุสาติเป็นพระราชาผู้ครองแคว้น (บัดนี้ดินแดนของนครตักศิลา อยู่ในเขตประเทศปากีสถาน)

เจตี แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล มีนครหลวงโสตถิวดี พระสารีบุตรอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าทรงตั้งสำนักที่ป่าปาจีนวังสทายวันในแคว้นเจตี

ปัญจาละ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล มีนครหลวงชื่อกัมปิลละ

ภัคคะ แคว้นัคคะมีนครหลวงช่อสุงสุมารคีระ ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาที่ ๘ ภายหลังตรัสรู้

มคธ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล มีนครหลวงชื่อราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารเป็นราชาผู้ครองแคว้น แต่ในตอนปลายพุทธกาลถูกประราชโอรสชื่ออชาตศัตรู ปลงพระชนม์และขึ้นครองราชย์สืบแทน แคว้นมคธเป็นแคว้นที่มีอำนาจมากแข่งกับแคว้นโกศล และเป็นที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนา ในสมัยพุทธกาล

มัจฉะ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล มีนครหลวงชื่อวิรฏ

มัททะ แคว้นมัททะมีนครหลวงชื่อสาคละ นครที่กำเนิดของพระมหาสาวิกา ภัททกาปิลานี

มัลละ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมียพุทธกาลมีนครหลวงชื่อกุสาวดี แต่ภายหลังแยกเป็น ๒ นครหลวงคือ นครกุสินารา กับนครปาวาแคว้นมัลละมีการปกครองแบบสามัคคีธรรม โดยมีพวกมัลลกษัติรย์เป็นผู้ปกครอง ภายหลังแยกเป็น ๒ นครหลวง คณะกษัตริย์แบ่งเป็นพวกหนึ่งปกครองที่นครกุสินารา อีกพวกหนึ่งปกครองที่นครปาวา

วังสะ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล มีนครหลวงชื่อโกสัมพี มีพระเจ้าอุเทนเป็นราชาผู้ครองแคว้น แคว้นวังสะเป็นแคว้นที่เจริญรุ่งเรือง และมีอำนาจมากแคว้นหนึ่ง

วัชชี แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล มีนครหลวงชื่อเวสาลี (ไพศาลี) แคว้นวัชชีปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรม พวกกษัตริย์ที่ปกครองเรียกว่า กษัตริย์ลิจฉวี แคว้นวัชชีเจริญรุ่งเรืองเข้มแข็งและมีอำนาจมาก ตลอดปลายพุทธกาลได้กลายเป็นคู่แข่งกับแคว้นมคธแต่ภายหลังพุทธกาลไม่นานก็เสียอำนาจแก่แคว้นมคธ

วิเทหะ แคว้นวิเทหะ มีนครหลวงชื่อ มิถิลา เป็นดินแดนพวกวัชชีอีกถิ่นหนึ่ง ตั้งอยู่บยฝั่งแม่น้ำคงคาตรงข้ามกับแคว้นมคธมีการปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรมเช่นเดียวกับแคว้นวัชชี

สักกะ แค้วนหนึ่งในชมพูทวีปตอนเหนือ มีนครหลวง ชื่อกบิลพัสดุ์มีการปกครองโดยสามัคคีธรรม พระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาทรงครองราชสมบัติที่นครกบิลพัสดุ์ (บัดนี้ดินแดนแห่งนี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล)

สุนาปรันตะ แคว้นสุนาปรันตะอยู่ในแดนไกล ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมัชฌิมประเทศ มีเมืองท่าใหญ่ชื่อสุปปารกะ อยู่ริมทะเล ชาวสุนาปรันตะชื่อว่าดุร้าย พระมหาสาวกปุณณสุนาปรันตะเกิดที่เมืองท่าในแคว้นนี้ พระพุทธเจ้าทรงประทับรอยพระบาทไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนันมทาและที่ภูเขาสัจจพันธ์ ในกาลที่เสด็จมาแสดงธรรมโปรดชาวแคว้นสุนปรันตะ ตามคำอาราธนาของพระมหาปุณณะ นับว่าเป็นประวัติการเกิดขึ้นของรอยพระพุทธบาท

สุรเสนะ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาลมีนครหลวงชื่อมถุรา

อวันตี แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมียพุทธกาล มีนครหลวงชื่ออุชเชนี พระเจ้าจัณฑปัชโชตเป็นราชาผู้ครองแคว้น

อังคะ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล มีนครหลวงชื่อจัมปา ในสมัยพุทธกาล แคว้นอังคะ ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นมคธ แค้วนอังคะตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแคว้นมคธ มีแม่น้ำจัมปากั้นแดน

อังคุตตราปะ แคว้นเล็กแคว้นหนึ่งในชมพูทวีปครั้งพุทธกาล เมืองหลวงเป็นเพียงนิคม ชื่ออาปณะ

อัสสกะ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล มีนครหลวงชื่อโปตลิหรือโปตนะ

อาฬกะ แคว้นอาฬกะ ตั้งอยู่ลุ่มแม่น้ำโคธาวรี ตรงข้ารมกับแคว้นอัสสะ

ที่มา: หนังสือ ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า โดย ภัทรวรรณ วันทนชัยสุข

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น