ปัญจกะ - หมวด ๕

[๒๔๗] อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕

[๒๔๗] อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕ (ข้อที่สตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ควรพิจารณาเนืองๆ — Abhiṇhapaccavekkhaṇa: ideas to be constantly reviewed; facts which should be again and again contemplated)

  1. ชราธัมมตา (ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ — Jarādhammatā: He should again and again contemplate: I am subject to decay and I cannot escape it.)
  2. พยาธิธัมมตา (ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้ — Byādhidhammatā: I am subject to disease and I cannot escape it.)
  3. มรณธัมมตา (ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ — Maraṇadhammatā: I am subject to death and I cannot escape it.)
  4. ปิยวินาภาวตา (ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจักต้องมีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น — Piyavinābhāvatā: There will be division and separation from all that are dear to me and beloved.)
  5. กัมมัสสกตา (ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาท ของกรรมนั้น — Kammassakatā: I am owner of my deed, whatever deed I do, whether good or bad, I shall become heir to it.)

ข้อที่ควรพิจารณาเนืองๆ ๕ อย่างนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อละสาเหตุต่างๆ มีความมัวเมา เป็นต้น ที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายตกอยู่ในความประมาท และประพฤติทุจริตทางไตรทวาร กล่าวคือ

  1. ข้อ ๑ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในความเป็นหนุ่มสาวหรือความเยาว์วัย
  2. ข้อ ๒ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในความไม่มีโรค คือ ความแข็งแรงมีสุขภาพดี
  3. ข้อ ๓ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในชีวิต
  4. ข้อ ๔ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความยึดติดผูกพันในของรักทั้งหลาย
  5. ข้อ ๕ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความทุจริตต่างๆ โดยตรง

เมื่อพิจารณาขยายวงออกไป เห็นว่ามิใช่ตนผู้เดียวที่ต้องเป็นอย่างนี้ แต่เป็นคติธรรมดาของสัตว์ทั้งปวงที่จะต้องเป็นไป เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้เสมอๆ มรรคก็จะเกิดขึ้น เมื่อเจริญมรรคนั้นมากเข้า ก็จะละสังโยชน์ทั้งหลาย สิ้นอนุสัยได้.

A.III.71.

องฺ.ปญฺจก.๒๒/๕๗/๘๑.

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น