ทสกะ - หมวด ๑๐

[๓๒๙] สังโยชน์ ๑๐ (๑)

[๓๒๙] สังโยชน์ ๑๐ (กิเลสอันผูกใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับวัฏฏทุกข์ หรือผูกกรรมไว้กับผล — Saṁyojana: fetters; bondage)

ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ (สังโยชน์เบื้องตํ่า เป็นอย่างหยาบ เป็นไปในภพอันตํ่า — Orambhāgiya~: lower fetters)

  1. ๑. สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นวิญญาณ เป็นตน เป็นต้น — Sakkāyadiṭṭhi: personality-view; false view of individuality)
  2. ๒. วิจิกิจฉา (ความสงสัย, ความลังเล ไม่แน่ใจ — Vicikicchā: doubt; uncertainty)
  3. ๓. สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงายเห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร — Sīlabbataparāmāsa: adherence to rules and rituals)
  4. ๔. กามราคะ (ความกำหนัดในกาม, ความติดใจในกามคุณ — Kāmarāga: sensual lust)
  5. ๕. ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งในใจ, ความหงุดหงิดขัดเคือง — Paṭigha: repulsion; irritation)

ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ (สังโยชน์เบื้องสูง เป็นอย่างละเอียด เป็นไปแม้ในภพอันสูง — Uddhambhāgiya~: higher fetters)

  1. ๖. รูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรือในรูปธรรมอันประณีต, ความปรารถนาในรูปภพ — Rūparāga: greed for fine-material existence; attachment to realms of form)
  2. ๗. อรูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน หรือในอรูปธรรม, ความปรารถนาในอรูปภพ — Arūparāga: greed for immaterial existence; attachment to formless realms)
  3. ๘. มานะ (ความสำคัญตน คือ ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ — Māna: conceit; pride)
  4. ๙. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน — Uddhacca: restlessness; distraction)
  5. ๑๐. อวิชชา (ความไม่รู้จริง, ความหลง — Avijjā: ignorance)

สังโยชน์ ๑๐ ในหมวดนี้ เป็นแนวพระสูตร หรือ สุตตันตนัย แต่ในบาลีแห่งพระสูตรนั้นๆ มีแปลกจากที่นี้เล็กน้อย คือ ข้อ ๔ เป็น กามฉันท์ (ความพอใจในกาม — sensual desire) ข้อ ๕ เป็น พยาบาท (ความขัดเคือง, ความคิดร้าย — ill-will) ใจความเหมือนกัน

ลำดับการละสังโยชน์ ๑๐ นี้ ให้ดู [๑๖๔] มรรค ๔.

S.V.61; A.V.13; Vbh.377.

สํ.ม.๑๙/๓๔๙/๙๐; องฺ.ทสก.๒๔/๑๓/๑๘; อภิ.วิ.๓๕/๙๗๖–๗/๕๐๙.

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น