ติกะ - หมวด ๓

[๗๕] ไตรปิฎก

[๗๕] ไตรปิฎก (ปิฎก ๓, กระจาด ตะกร้า กระบุง หรือ ตำรา ๓, ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย ๓ หมวด หรือ ๓ ชุด — Tipiṭaka: the Three Baskets; the Pali Canon) จัดพิมพ์ด้วยอักษรไทย มี ๔๕ เล่ม

  1. ๑. วินัยปิฎก (หมวดพระวินัย, ประมวลสิกขาบท สำหรับภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ — Vinayapiṭaka: the Basket of Discipline) แบ่งเป็น ๓ หมวด หรือ ๕ คัมภีร์ จัดพิมพ์อักษรไทยเป็น ๘ เล่ม คือ
    1. ก. วิภังค์ หรือ สุตตวิภังค์ (Vibhaṅga) ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ (ปาติโมกข์ ก็ใช้) แบ่งเป็น ๒ คัมภีร์ คือ
      1. ๑. อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก (อา) ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนัก ตั้งแต่ปาราชิกถึงอนิยต (Major Offences) จัดพิมพ์เป็น ๑ เล่ม
      2. ๒. ปาจิตติยะ (ปา) ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถึงเสขิยะ และรวมเอาภิกขุนีวิภังค์เข้าไว้ด้วย (Minor Offences) จัดเป็น ๒ เล่ม
    2. วิภังค์ นี้ แบ่งอีกอย่างหนึ่งเป็น ๒ เหมือนกัน คือ
      1. ๑. มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ (Rules for Monks) จัดเป็น ๒ เล่ม
      2. ๒. ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ (Rules for Nuns) จัดเป็น ๑ เล่ม
    3. ข. ขันธกะ (Khandhaka) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ รวมเป็นบทๆ เรียกว่า ขันธกะ หนึ่งๆ ทั้งหมดมี ๒๒ ขันธกะ ปันเป็น ๒ วรรค คือ
      1. ๓. มหาวรรค (; วรรคใหญ่ — Greater Section) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น มี ๑๐ ขันธกะ จัดเป็น ๒ เล่ม
      2. ๔. จุลวรรค (จุ; วรรคเล็ก — Smaller Section) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมข์ตอนปลาย มี ๑๒ ขันธกะ จัดเป็น ๒ เล่ม
    4. ค. ๕. ปริวาร (; หนังสือประกอบ; คู่มือ — Parivāra: Epitome of the Vinaya) คัมภีร์บรรจุคำถามคำตอบ ซ้อมความรู้พระวินัย จัดเป็น ๑ เล่ม
  2. ๒. สุตตันตปิฎก (หมวดพระสูตร, ประมวลพระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรม และเรื่องเล่าต่างๆ อันยักเยื้องตามบุคคลและโอกาส — Sutta-piṭaka: the Basket of Discourses) แบ่งเป็น ๕ นิกาย (แปลว่าประมวลหรือชุมนุม) จัดพิมพ์เป็น ๒๕ เล่ม คือ
    1. ๑. ทีฆนิกาย (ที) ชุมนุมพระสูตรที่มีขนาดยาว — Dīgha-nikāya: Collection of Long Discourses จัดเป็น ๓ วรรค ๓ เล่ม มี ๓๔ สูตร
    2. ๒. มัชฌิมนิกาย (ม) ชุมนุมพระสูตรที่มีความยาวปานกลาง — Majjhima-nikāya: Collection of Middle-length Discourses จัดเป็น ๓ ปัณณาสก์ ๓ เล่ม มี ๑๕๒ สูตร
    3. ๓. สังยุตตนิกาย (สํ) ชุมนุมพระสูตรที่รวมเข้าไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่า สังยุตต์ หนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน — Saṁyutta-nikāya: Collection of Connected Discourses จัดเป็น ๕๖ สังยุตต์ แล้วประมวลเข้าอีกเป็น ๕ วรรค ๕ เล่ม มี ๗,๗๖๒ สูตร
    4. ๔. อังคุตตรนิกาย (อํ) ชุมนุมพระสูตรที่รวมเข้าไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่า นิบาต หนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม — Aṅguttara-nikāya: Adding-One Collection; Collection of Numerical Sayings จัดเป็น ๑๑ นิบาต (หมวด ๑ ถึง หมวด ๑๑) รวมเข้าเป็นคัมภีร์ ๕ เล่ม มี ๙,๕๕๗ สูตร
    5. ๕. ขุททกนิกาย (ขุ) ชุมนุมพระสูตร ข้อธรรม คำอธิบายและเรื่องราวเบ็ดเตล็ด — Khuddaka-nikāya: Smaller Collection; Collection of Minor Works รวมคัมภีร์ที่จัดเข้าไม่ได้ในนิกายสี่ข้างต้น มีทั้งหมด ๑๕ คัมภีร์ จัดเป็น ๙ เล่ม คือ ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต (๑ เล่ม) วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา (๑ เล่ม) ชาดก (๒ เล่ม) นิทเทส (มหานิทเทส ๑ เล่ม, จูฬนิทเทส ๑ เล่ม) ปฏิสัมภิทามัคค์ (๑ เล่ม) อปทาน (๑ ๒/๓ เล่ม) พุทธวงส์ จริยาปิฎก (๑/๓ เล่ม)
  3. ๓. อภิธรรมปิฎก (หมวดอภิธรรม, ประมวลหลักธรรมและคำอธิบายในรูปหลักวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยเหตุการณ์และบุคคล — Abhidhamma-piṭaka: the Basket of Sublime, Higher or Extra Doctrine) แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ จัดพิมพ์เป็น ๑๒ เล่ม คือ
    1. ๑. ธัมมสังคณี หรือ สังคณี (สํ) รวมข้อธรรมเข้าไว้เป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายเป็นประเภทๆ — Saṅgaṇī: Enumeration of the Dhammas (๑ เล่ม)
    2. ๒. วิภังค์ (วิ) อธิบายข้อธรรมที่รวมเป็นหมวดหมู่ (เรียก วิภังค์ หนึ่งๆ ) แยกแยะออกชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด — Vibhaṅga: Analysis of the Dhammas (๑ เล่ม)
    3. ๓. ธาตุกถา (ธา) สงเคราะห์ข้อธรรมต่างๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ — Dhātukathā: Discussion of Elements (ครึ่งเล่ม)
    4. ๔. ปุคคลบัญญัติ (ปุ) บัญญัติความหมายบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ — Puggalapaññatti: Description of Individuals (ครึ่งเล่ม)
    5. ๕. กถาวัตถุ (ก) แถลงวินิจฉัยทัศนะต่างๆ ที่ขัดแย้งกันระหว่างนิกายทั้งหลายสมัยตติยสังคายนา — Kathāvatthu: Subjects of Discussion (๑ เล่ม)
    6. ๖. ยมก (ย) ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบโดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ — Yamaka: Book of Pairs (๒ เล่ม)
    7. ๗. ปัฏฐาน (ป) หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย ๒๔ โดยพิสดาร — Paṭṭhāna: Book of Relations (๖ เล่ม)

อนึ่ง ๓ ปิฎกนี้ สงเคราะห์เข้าใน [๓๕] ปาพจน์ ๒ คือ พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก จัดเป็น ธรรม พระวินัยปิฎกจัดเป็น วินัย

Vin.V.86.

วินย.๘/๘๒๖/๒๒๔.

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น