จตุกกะ - หมวด ๔

[๑๘๗] สังคหวัตถุของผู้ครองแผ่นดิน ๔ หรือ ราชสังคหวัตถุ ๔

[๑๘๗] สังคหวัตถุของผู้ครองแผ่นดิน หรือ ราชสังคหวัตถุ ๔ (สังคหวัตถุของพระราชา, ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชน, หลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครอง — Rāja-saṅgahavatthu: a ruler’s bases of sympathy; royal acts of doing favours: virtues making for national integration)

  1. สัสสเมธะ (ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร — Sassamedha: shrewdness in agricultural promotion)
  2. ปุริสเมธะ (ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ — Purisamedha: shrewdness in the promotion and encouragement of government officials)
  3. สัมมาปาสะ (ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมทุนไปสร้างตัวในพาณิชยกรรม เป็นต้น — Sammāpāsa: “a bond to bind men’s hearts”; act of doing a favour consisting in vocational promotion as in commercial investment)
  4. วาชเปยะ หรือ วาจาเปยยะ (ความมีวาจาอันดูดดื่มนํ้าใจ นํ้าคำควรดื่ม คือ รู้จักพูด รู้จักปราศรัย ไพเราะ สุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์ เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจอันดี และความนิยมเชื่อถือ — Vājapeya: affability in address; kindly and convincing speech)

ราชสังคหวัตถุ ๔ ประการนี้ เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา ส่วนที่แก้ไขปรับปรุงคำสอนในศาสนาพราหมณ์ โดยกล่าวถึงคำศัพท์เดียวกัน แต่ชี้ถึงความหมายอันชอบธรรมที่ต่างออกไป ธรรมหมวดนี้ ว่าโดยศัพท์ ตรงกับ มหายัญ ๕ (the five great sacrifices) ของพราหมณ์ คือ

  1. อัสสเมธะ (การฆ่าม้าบูชายัญ — Assamedha: horse sacrifice)
  2. ปุริสเมธะ (การฆ่าคนบูชายัญ — Purisamedha: human sacrifice)
  3. สัมมาปาสะ (ยัญอันสร้างแท่นบูชาในที่ขว้างไม้ลอดบ่วงไปหล่นลง — Sammāpāsa: pegthrown site sacrifice)
  4. วาชเปยะ (การดื่มเพื่อพลังหรือเพื่อชัย — Vājapeya: drinking of strength or of victory)
  5. นิรัคคฬะ หรือ สรรพเมธะ (ยัญไม่มีลิ่มสลัก คือ ทั่วไปไม่มีขีดขั้นจำ กัด, การฆ่าครบทุกอย่างบูชายัญ — Niraggaḷa or Sabbamedha: the bolts-withdrawn sacrifice; universal sacrifice)

มหายัญ ๕ ที่พระราชาพึงบูชาตามหลักศาสนาพราหมณ์นี้ พระพุทธศาสนาสอนว่า เดิมทีเดียวเป็นหลักการสงเคราะห์ที่ดีงาม แต่พราหมณ์สมัยหนึ่งดัดแปลงเป็นการบูชายัญเพื่อผลประโยชน์ในทางลาภสักการะแก่ตน ความหมายที่พึงต้องการซึ่งพระพุทธศาสนาสั่งสอน ๔ ข้อแรก มีดังกล่าวแล้วข้างต้น ส่วนข้อที่ ๕ ตามหลักสังคหวัตถุ ๔ นี้ว่าเป็นผล แปลว่า ไม่มีลิ่มกลอน หมายความว่า บ้านเมืองจะสงบสุขปราศจากโจรผู้ร้าย ไม่ต้องระแวงภัย บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน

S.I.76; A.II.42; IV.151; It.21; Sn.303; SA.I.145; SnA.321.

สํ.ส.๑๕/๓๕๑/๑๑๐; องฺ.จตุกฺก.๒๑/๓๙/๕๔; องฺ.อฏฺฐก.๒๓/๙๑/๑๕๒; ขุ.อิติ.๒๕/๒๐๕/๒๔๖; ขุ.สุ.๒๕/๓๒๓/๓๘๓; สํ.อ.๑/๑๖๙; อิติ.อ.๑๒๓.

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น