จตุกกะ - หมวด ๔

[๑๗๙] วุฒิ หรือ วุฑฒิธรรม ๔

[๑๗๙] วุฒิ หรือ วุฑฒิธรรม ๔ (ธรรมเป็นเครื่องเจริญ, คุณธรรมที่ก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม — Vuḍḍhi-dhamma: virtues conducive to growth)

  1. สัปปุริสสังเสวะ (เสวนาสัตบุรุษ, คบหาท่านผู้ทรงธรรมทรงปัญญาเป็นกัลยาณมิตร — Sappurisasaṁseva: association with good and wise persons)
  2. สัทธัมมัสสวนะ (สดับสัทธรรม, ใส่ใจเล่าเรียนฟังอ่านหาความรู้ให้ได้ธรรมที่แท้ — Saddhammassavana: hearing the good teaching)
  3. โยนิโสมนสิการ (ทำในใจโดยแยบคาย, รู้จักคิดพิจารณาหาเหตุผลโดยถูกวิธี — Yonisomanasikāra: analytical reflection; wise attention)
  4. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, ปฏิบัติธรรมถูกหลัก ให้ธรรมย่อยคล้อยแก่ธรรมใหญ่ สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของธรรมทั้งหลายที่สัมพันธ์กัน, ดำเนินชีวิตถูกต้องตามธรรม — Dhammānudhammapaṭipatti: practice in accord with the Dhamma, i.e. in such a systematic way that all levels and aspects of the Dhamma are in accord as regards their respective purposes; living in conformity with the Dhamma)

ธรรมหมวดนี้ ในบาลีที่มา เรียกว่า ธรรมที่เป็นไปเพื่อปัญญาวุฒิ [ปัญญาวุฒิธรรม] คือ เพื่อความเจริญงอกงามแห่งปัญญา (Paññāvuḍḍhi: virtues conducive to growth in wisdom)

อย่างไรก็ดี ในการเล่าเรียนธรรมในประเทศไทยที่สืบกันมา ได้รู้จักธรรมหมวดนี้ในชื่อสั้นๆ ว่า วุฒิ ๔ และอธิบายความหมายโดยมุ่งให้คนทั่วไปเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างๆ จึงจะแสดงความหมายแบบง่ายๆ ไว้ด้วยดังนี้

  1. สัปปุริสสังเสวะ คบหาสัตบุรุษ, เสวนาท่านผู้รู้ผู้ทรงคุณความดี มีความประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ
  2. สัทธัมมัสสวนะ ฟังสัทธรรม, ตั้งใจฟังคำ สั่งสอนของท่าน เอาใจใส่เล่าเรียน
  3. โยนิโสมนสิการ ทำในใจโดยแยบคาย, รู้จักคิดพิจารณาให้เห็นเหตุผลคุณโทษในสิ่งที่ได้เล่าเรียนสดับฟังนั้น จับสาระที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้
  4. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, นำสิ่งที่ได้เล่าเรียนและตริตรองเห็นแล้วไปใช้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลัก สอดคล้องกับความมุ่งหมายของหลักการนั้นๆ

A.II.245.

องฺ.จตุกฺก.๒๑/๒๔๘/๓๓๒.

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น