ธรรมศึกษาชั้นตรี

ธรรมศึกษา ชั้นตรี – ชมพูทวีปและประชาชน

วิชาพุทธประวัติ ธรรมศึกษา ชั้นตรี ปุริมกาล ปริเฉทที่ ๑

ชมพูทวีปและประชาชน

ชมพูทวีป เป็นดินแดนที่กําหนดหมายด้วยต้นหว้าในครั้งดึกดําบรรพ์ มีพื้นที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้แก่ ดินแดนประเทศอินเดีย เนปาล ปากีสถาน บังคลาเทศ อัฟกานิสถาน และภูฏาน ในปัจจุบันนี้

ชมพูทวีป เป็นดินแดนที่มีพื้นที่อยู่ทางตอนใต้ของเทือกเขาหิมาลัย มีความเจริญสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แบ่งลักษณะทางภูมิศาสตร์ออกเป็น ๒ ส่วน คือ

๑. มัชฌิมชนบท หรือมัธยมประเทศ เป็นที่ตั้งแห่งพระนครใหญ่ๆ เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ เจริญด้วยการค้า การศึกษา มีประชาชนและนักปราชญ์ราชบัณฑิตอาศัยอยู่มากมาย

๒. ปัจจันตชนบท คือเขตแดนรอบนอกมัชฌิมชนบทออกไป ทิศตะวันออกจรดมหาศาลนคร ทิศตะวันออกเฉียงใต้จรดแม่น้ำสัลลวดี ทิศใต้จรดหมู่บ้านเสตกัณณิกะนิคม ทิศตะวันตกจรดหมู่บ้านถูนคาม ทิศเหนือจรดภูเขาอุสีรธชะ

ประชาชนในชมพูทวีป แบ่งเป็น ๒ ชนชาติ

๑. ชาวอริยกะ ไม่ใช่เจ้าของถิ่นเดิม อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเทือกเขาหิมาลัย มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดเฉียบแหลม เจริญด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปวิทยา ต่างๆ

๒. ชาวมิลักขะ เจ้าของถิ่นเดิม มีการศึกษาน้อย อาศัยอยู่ในชมพูทวีปมาแต่เดิมก่อนพวกอริยกะจะย้ายเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐาน มีความเจริญในระดับหนึ่ง มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง แต่ไม่รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีในการปกครอง

ชาวอริยกะ ได้อพยพจากดินแดนทางตอนเหนือ ข้ามเทือกเขาหิมาลัยรุกไล่ชาวมิลักขะให้ถอยร่นลงมาทางใต้ของชมพูทวีป แผ่ขยายอํานาจ เข้ายึดครองดินแดนอันอุดมสมบูรณ์แทน ภายหลังกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองในทุกด้าน เช่น อารยธรรม เกษตรกรรม และพาณิชยกรรม เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงเรียกดินแดนที่ชาวอริยกะปกครองว่า มัชฌิมชนบท หรือมัธยมประเทศ เรียกดินแดนที่ชาวมิลักขะย้ายไปตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ว่า ปัจจันตชนบท

หลังจากชาวอริยกะเข้าปกครองมัธยมประเทศแล้ว ได้แบ่งการปกครองออกเป็นแคว้นใหญ่ ๑๖ แคว้น คือ อังคะ มคธะ กาสี โกสละ วัชชี มัลละ เจมี วังสะ กรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ กัมโพชะ นอกจากนี้ ยังมีแคว้นเล็กอีก ๕ แคว้น คือ สักกะ โกลิยะ ภัคคะ วิเทหะ อังคุตตราปะ แต่ละแคว้นมีการปกครองแตกต่างกันไป แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์บ้าง แบบสามัคคีธรรมบ้าง

วรรณะ ๔

การปกครองในสมัยนั้น ถ้าผู้ปกครองมีอํานาจมาก ก็สามารถแผ่ขยายอาณาเขตของตนออกไปได้มาก ถ้าผู้ปกครองเสื่อมอํานาจ ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของผู้อื่น ถูกจับเป็นเชลยหรือตกเป็นทาส ทําให้เกิดการรังเกียจกัน เป็นสาเหตุการแบ่งชนชั้น เรียกว่า วรรณะ ชาวชมพูทวีปในยุคนั้น จึงถูกแบ่งออกเป็น ๔ ชนชั้น คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร

กษัตริย์ หมายถึง ชนชั้นเจ้า ถือเป็นชนชั้นสูง ได้แก่ นักรบ นักปกครอง เสนาอํามาตย์ต่างๆ ศึกษาเรื่องยุทธวิธี มีหน้าที่ปกป้องรักษาและบริหารบ้านเมืองให้มีความสุข

พราหมณ์ หมายถึง เจ้าลัทธิ ถือเป็นชนชั้นสูงเช่นเดียวกับกษัตริย์ ได้แก่ นักบวช นักปราชญ์ ครูอาจารย์ ศึกษาเรื่องศาสนา คัมภีร์พระเวท และวิทยาการต่างๆ มีหน้าที่สั่งสอนศิลปวิทยาการ และประกอบพิธีกรรมตามลัทธิของตน ตลอดจนให้คําปรึกษาแก่กษัตริย์

แพศย์ หมายถึง พลเรือนทั่วไป ถือเป็นชนชั้นกลาง ได้แก่ เกษตรกร พ่อค้า ศึกษาเรื่องศิลปะ กสิกรรม และพาณิชยกรรม มีหน้าที่ทํานา ค้าขาย และฝีมือทางการช่าง

ศูทร หมายถึง คนใช้แรงงาน ถือเป็นชนชั้นต่ำ ได้แก่ กรรมกร คนรับใช้ ข้าทาส มีหน้าที่ในการรับจ้างและทํางานทั่วไป

กษัตริย์เป็นวรรณะสูงสุด แต่พวกพราหมณ์ก็ถือว่าตนมีวรรณะสูงเช่นเดียวกัน คนเหล่านั้น สําคัญตนว่าสูงกว่าวรรณะอื่น มีมานะถือตัวจัด รังเกียจคนวรรณะต่ำลงมา ไม่ยอมสมรสเป็นสามีภรรยา ไม่คบหาสมาคม ไม่ร่วมกินร่วมนอนด้วย เพราะฉะนั้น กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี จึงสมรสกันแต่ในพวกของตนเท่านั้น หากสมรสกับคนต่างวรรณะ เช่น พราหมณ์สมรสกับศูทร มีบุตรออกมา จัดเป็นอีกจําพวกหนึ่ง เรียกว่า จัณฑาล บุตรที่เกิดจากมารดาบิดาต่างวรรณะกันเช่นนี้ ถือเป็นชนชั้นต่ำสุด เป็นที่ดูหมิ่นเหยียดหยามของคนวรรณะอื่น

ลัทธิความเชื่อของคนในยุคนั้น สรุปลงเป็น ๒ อย่าง คือ พวกหนึ่งเชื่อว่าตายแล้วเกิด อีกพวกหนึ่งเชื่อว่าตายแล้วสูญ

พวกที่ถือว่าตายแล้วเกิด แบ่งออกไปอีก ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าชาตินี้เกิดเป็นอะไร ตายแล้วเกิดใหม่ ก็จะเป็นอย่างนั้นอยู่เช่นเดิม ไม่มีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าชาตินี้เกิดเป็นอะไร ตายแล้วเกิดใหม่ ย่อมเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้

พวกที่ถือว่าตายแล้วสูญ ก็แบ่งออกไปอีก ๒ ฝ่ายเหมือนกัน คือ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ตายแล้วสูญทุกสิ่งทุกอย่าง อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ตายแล้วสูญเฉพาะบางสิ่งบางอย่าง

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น