วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

วิสาขบูชา วันสำคัญของโลก

ขอขอบพระคุณภาพพุทธประวัติ โดย อ. กฤษณะ สุริยกานต์

“วันที่พระพุทธเจ้าทรงพระประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน” ตรงกับวันอังคารที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๔ วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖

“วิสาขะ” เป็นชื่อเรียกของเดือน ๖ ส่วนคำว่า “วิสาขบูชา” ย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๖” ดังนั้น วันวิสาขบูชาจึงตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (หรือขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ในปีอธิกมาส คือปีที่มีเดือน ๘ สองหน)

วันวิสาขบูชาเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายถือเอาความอัศจรรย์ ๓ ประการที่เกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้า โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างปี แต่พ้องวันกัน คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งความอัศจรรย์ทั้ง ๓ ประการ ที่เกิดในวันวิสาขบูชา หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ในสมัยพุทธกาล ได้แก่

๑. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ๓. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี

๑. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ

พระพุทธเจ้าทรงประสูติเมื่อวัน ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ก่อนการกำหนดใช้พุทธศักราช ๘๐ ปี โดยมีพุทธประวัติสังเขปดังนี้

สวรรค์ชั้นดุสิต

เป็นสวรรค์ชั้นที่ ๔ ชื่อว่า ตุสิตา หรือ ตุสิตะ หรือ ชั้นดุสิต แปลว่า ยินดีชื่นบาน คือมีปีติอยู่ด้วยสิริสมบัติของตนเทวราชผู้ ปกครองทรงพระนามว่า สันตุสิต ซึ่ง พระโพธิสัตว์ผู้สร้างโพธิสมภารที่จะลงมาตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในมนุษย์ย่อมสถิตอยู่ในชั้นนี้ เทพในชั้นนี้เป็นผู้รู้บุญรู้ธรรม เพราะพระโพธิสัตว์ได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอนเนือง ๆ

และความโกลาหลอย่างขนานใหญ่ของเหล่าเทวดาามีอยู่สามสมัย คือสมัยเมื่อโลกจะวินาศ สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น สมัยเมื่อพระเจ้าจักรพรรดิจะเกิดขึ้น ซึ่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่จะได้จุติในโลกได้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ประทับอยู่ที่สวรรค์ชั้นดุสิตนี้ ซึ่งกาลที่พระพุทธเจ้าจะทรงอุบัตินั้นเหล่าเทวดาก็เกิดโกลาหล จึงได้พากันไปเฝ้าทูลอารธนาพระโพธิสัตว์ให้จุติลงไปตรัส

เมื่อพระองค์ได้รับการกราบทูลอัญเชิญจากท้าวมหาพรหมและเทวราชในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น พระองค์ทรงพิจารณาปัญจมหาวิโลกนะ ได้แก่การพิจารณาถึงสิ่งสำคัญ ๕ ประการ หรือ กาลสมัยอันสมควรทั้ง ๕ ประการ ดังนี้

ปัญจมหาวิโลกนะ ทั้ง ๕ ประการได้แก่

  1. กาลเวลา
  2. ทวีป
  3. กาลประเทศ
  4. ราชตระกูล
  5. พระมารดา
  • กาลเวลา คือ กาลเวลาแห่งอายุของมนุษย์ คือ ถ้ามนุษย์มีอายุมากเกินแสนปีขึ้นไป หรือต่ำกว่าร้อยปีลงมาก็ไม่ใช่ กาลที่จะลงมาตรัสรู้เพราะยุคสมัยที่มนุษย์อายุมากเกินไป ก็ไม่อาจเห็นพระไตรลักษณ์ หรือหากอายุสั้นเกินไปก็มีกิเลสหนามากไม่อาจเห็นธรรม แต่ในยุคนี้เป็นยุคที่มนุษย์มีอายุร้อยปี จึงเป็นกาลที่จะลงมาตรัสรู้ได้
  • ทวีป ทรงเห็นว่าชมพูทวีปเป็นทวีปที่เหมาะสมที่จะลงมาตรัสรู้
  • กาลประเทศ ทรงเห็นว่า มัชฌิมประเทศ คือท้องถิ่นร่วมกลางชมพูทวีป (ซึ่งบัดนี้อยู่ในอินเดีย ปากีสถานเป็นส่วนมากเลยเข้าไปในเนปาลบ้าง เช่น สถานที่ประสูติอยู่ในเนปาล) เป็นสถานที่เหมาะที่จะลงมาตรัสรู้
  • ราชตระกูล ทรงเห็นวงศ์ สักยราชตระกูล และพระเจ้าสุทโธทนะจะทรงเป็นพระราชบิดาได้
  • พระมารดา คือ ทรงเห็นพระนางสิริมหามายามีศีลและบารมีธรรม สมควรเป็นพระมารดาได้ ทั้งจะมีพระชนม์สืบไปจากเวลาที่พระโอรสประสูติเพียงเจ็ดวัน สัตว์อื่นไม่อาจอาศัยคัพโภทร(ครรภ์)บังเกิดได้อีก

ครั้นพระโพธิสัตว์ทรงเห็นสถานะทั้ง ๕ มีครบบริบูรณ์แล้ว จึงทรงรับอารธนาจากเหล่าเทวราช เหตุที่จะรู้ว่าพระโพธิสัตว์เทพใกล้จะจุตินั้น เพราะได้เกิดบุพนิมิต ๕ ประการ แก่พระองค์ คือ

  • ทิพยบุปผาที่ประดับพระกายเหี่ยวแห้ง
  • ทิพยภูษาทรงมีสีเศร้าหมอง
  • พระเสโทไหลจากพระกัจฉะ (รักแร้)
  • พระสรีรกายปรากฏอาการชรา
  • มีพระหทัยเป็นทุกข์เหนื่อยหน่ายจากเทวโลก ไม่ยินดีที่จะสถิตในทิพยอาสน์

ครั้นเห็นว่าอยู่ในสถานะอันสมควรแล้ว จึงทรงรับคำทูลของท้าวมหาพรหม แล้วจึงได้เสด็จจุติลงมาปฏิสนธิในพระครรภ์ของ พระนางสิริมหามายาเทวี พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ซึ่งในคืนวันเพ็ญ เดือน ๘ พระนางสิริมหามายาทรงอธิษฐาน สมาทานอุโบสถศีล ในยามใกล้รุ่งได้ทรงสุบินนิมิตว่า ท้าวจตุมหาราชทั้งสี่ ได้ทูลเชิญพระนางเสด็จไปสรงน้ำในสระอโนดาต ชำระล้างมลทินแห่งมนุษย์ แล้วทรงผลัดด้วยผ้าทิพย์ ลูบไล้ด้วยของหอม ทรงประดับบุปผชาติอันเป็นทิพย์ แล้วเชิญเสด็จเข้าที่บรรทมบนพระแท่นในวิมานทอง ในภูเขาเงิน ทรงบ่ายพระเศียรไปยังทิศตะวันออก

ทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในวันเพ็ญวิสาขปูรณมี ขอขอบพระคุณภาพพุทธประวัติ โดย อ. กฤษณะ สุริยกานต์
ทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในวันเพ็ญวิสาขปูรณมี ขอขอบพระคุณภาพพุทธประวัติ โดย อ. กฤษณะ สุริยกานต์

๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

พระองค์ทรงตรัสรู้ในตอนเช้ามืด วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี (หลังจากออกผนวชได้ ๖ ปี) ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ปัจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้ เรียกว่า “พุทธคยา” เป็น ตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย

พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้อริยสัจสี่ หรือความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม ไม่มีผู้เสมอเหมือน ดังนั้น วันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจึงจัดเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันที่บังเกิดพระพุทธเจ้าพระนามว่า “โคตมะ” อุบัติขึ้นในโลกโดยมีพุทธประวัติสังเขป ดังนี้

พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียร ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่า การเข้า “ฌาน” เพื่อให้บรรลุ “ญาณ” จนเวลาผ่านไปจนถึง

  • ยามต้น : ทรงบรรลุ “ปุพเพนิวาสานุสติญาณ” คือทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่น
  • ยามสอง : ทรงบรรลุ “จุตูปปาตญาณ” คือการรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
  • ยามสาม : ทรงบรรลุ “อาสวักขญาณ” คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)

ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา

ภาพพุทธประวัติ โดย อ.กฤษณะ สุริยกานต์
ภาพพุทธประวัติ โดย อ.กฤษณะ สุริยกานต์

๓. วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

คือ การดับสังขารไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ทรงดับขันธ์ปรินิพพานเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็งก่อนพุทธศักราช ๑ ปี

คราเมื่อพระบรมศาสดาได้ทำการ “ปลงมายุสังขาร” ณ ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในวันมาฆบูชา ซึ่งการปลงมายุสังขารของพระบรมศาสดาในครั้งนี้ก็ทำให้อีก ๓ เดือนต่อมา พระพุทธองค์ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในวันวิสาขบูชาซึ่งในการปลงพระชนมายุสังขารในครั้งนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า..

“ดูกรอานนท์! เพราะอบรมอิทธิบาทสี่ มาอย่างดีแล้ว ทำจนแจ่มแจ้งแล้ว อย่างเรานี้ถ้าปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ถึงหนึ่งกัป (คือหนึ่งร้อยยี่สิบปี) ก็สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้”

พระพุทธองค์ตรัสเช่นนี้ถึง ๓ ครั้ง แต่พระอานนท์ก็คงเฉยมิได้ทูลอะไรเลย เมื่อเห็นพระอานนท์เฉยอยู่ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “อานนท์! เธอจงไปพักผ่อนเสียบ้างเถิด เธอเหนื่อยมากแล้ว แม้ตถาคตก็จะ พักผ่อนเหมือนกัน” พระอานนท์จึงหลีกไปพักผ่อน ณ โคนต้นไม้อีกต้นหนึ่ง ซึ่ง ณ เวลานั้นพระพุทธองค์ทรงรำพึงถึงกาลที่ทรงตรัสรู้ล่วงมา ๔๕ ปี ที่แรกเริ่มทรงท้อพระทัยในการที่จะประกาศธรรมสั่งสอนสัตว์ แต่ด้วยพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ จึงตกลงรับอารธนาแสดง ธรรม ทรงตั้งพระทัยว่าถ้าบริษัทสี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่เป็นปึกแผ่น พระธรรมยังไม่แพร่หลายเพียงพอ ตราบนั้นพระองค์จะทรงยังไม่เสด็จปรินิพพาน แต่ในกาลบัดนี้พระธรรมคำสอนของพระองค์แพร่หลายเพียงพอแล้ว เหล่าพุทธบริษัทสี่ ฉลาดสามารถพอที่จะดำรงพระสัทธรรมของพระองค์ให้เป็นปึกแผ่นได้ เป็นการสมควรแล้วที่พระองค์จะเข้าสู่มหาปรินิพพาน เมื่อทรงดำริเช่นนี้แล้วจึงทรงปลงมายุสังขาร คือ ตั้งพระทัยแน่วแน่ว่า พระองค์จะปรินิพพานในวันเพ็ญวิสาขปูรณมี เดือน ๖

ซึ่งการปลงมายุสังขารของพระพุทธองค์ ก่อให้เกิดความวิปริตแปรปรวนแก่โลกธาตุทั้งสิ้น มหาปฐพีมีอาการสั่นสะเทือนหมู่มวลแมกไม้แกว่งไกวด้วยแรงพายุแล้วกลับสงบนิ่ง ท้องนภากาศกลายเป็นสีแดงเพลิงประดุจโลหิต หมู่มวลสรรพสัตว์ร้องระเบงเซ็งแซ่สนั่นหวั่นไหว พระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก สังเกตเห็นความวิปริตแปรปรวนของโลกธาตุดังนี้จึงเข้าเฝ้าพระตถาคตทูลถามว่า

“พระองค์ผู้เจริญ! โลกธาตุวิปริตแปรปรวนผิดปกติ ไม่เคยมีไม่เคยเป็นได้เป็นแล้วเพราะเหตุอะไรหนอ”

“ดูกรอานนท์ ! อย่างนี้แหล่ะ คราใดที่ตถาคตประสูติ ตรัสรู้ หมุนธรรมจักร ปลงมายุสังขาร และ ปรินิพพาน ครานั้นย่อมจะมี เหตุการณ์วิปริตอย่างนี้เกิดขึ้น” พระอานนท์จึงทราบว่า บัดนี้พระพุทธองค์ทรงปลงมายุสังขารเสียแล้ว เมื่อทราบดังนั้นพระอานนท์จึงทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ขอพระองค์อาศัยความกรุณาในข้าพระองค์และหมู่สัตว์ จงดำรงพระชนม์ชีพต่อไปอีกเถิด อย่าเพิ่งด่วนปรินิพพาน เลย”…

“ดูกรอานนท์ ! เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ตถาคตกลับใจ ตถาคตต้องปรินิพพานในวันเพ็ญแห่งเดือน วิสาขะ อีกสามเดือนข้างหน้านี้ อานนท์ ! เราได้แสดงนิมิตโอภาสอย่างแจ่มแจ้งแก่เธอพอเป็นนัยมาไม่น้อยกว่าสิบหกครั้งแล้วว่า คนอย่างเรานี้มีอิทธิบาทภาวนาที่ได้อบรมมาด้วยดี ถ้าประสงค์จะอยู่ถึงหนึ่งกัปป์ คือ หนึ่งร้อย ยี่สิปปี หรือมากกว่านั้นก็พออยู่ได้ แต่เธอหาเฉลียวใจไม่ มิได้ทูลเราเลย เราตั้งใจไว้ว่าในคราวก่อน ๆ นั้นถ้าเธอทูลให้เรา อยู่ต่อไป เราจะห้ามเสียสองครั้ง พอเธอทูลครั้งที่สามเราจะรับอาราธนาของเธอ แต่บัดนี้ช้าเสียแล้ว เรามิอาจกลับใจได้อีก”

ดูกรอานนท์ ! เราเคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่า บุคคลย่อมต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พึงใจเป็นธรรมดา หลีกเลี่ยงไม่ได้ ชีวิตนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุด สิ่งทั้งหลายมีความแตกไป ดับไป สลายไป เป็นธรรมดา จะปรารถนามิให้เป็นอย่างที่มัน ควรจะเป็นนั้นเป็นฐานะที่ไม่พึงหวังได้ ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไป เคลื่อนไป สู่จุดสลายตัวอยู่ทุกขณะ”

เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมมาเป็นเวลา ๔๕ ปี ซึ่งมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๖ พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายได้ทรงเสด็จผ่านทางเมืองปาวา ประทับ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทะบุตรแห่งนายช่างทองนายจุนทะทูลอาราธนาพระพุทธองค์รับภัตตาหาร ณ บ้านของตน แล้วจัดแจงโภชนาหารอย่างประณีตถวายพระพุทธองค์ ทอดทัศนาการเห็นสุกรมัทวะ อาหารชนิดหนึ่งซึ่งย่อยยาก จึงรับสั่งให้ถวายแด่พระองค์แต่เพียงผู้เดียว มิให้ถวายแก่ภิกษุรูปอื่น เมื่อพระองค์เสวยแล้วก็รับสั่งให้ฝังเสีย พระองค์เสวยสูกรมัทวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง มีพระบังคนเป็นโลหิต แต่ทรงอดกลั้น มุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา เพื่อเสด็จให้ถึงสถานที่ เพื่อดับขันธ์ปรินิพพาน

ในระหว่างนั้นพระพุทธองค์ทรงปริวิตกถึงนายจุนทะผู้ถวายสุกรมัทวะ จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า.. “ดูกรอานนท์ ! เมื่อเราปรินิพพานไปแล้ว อาจมีผู้กล่าวโทษจุนทะว่าถวายอาหารที่เป็นพิษ จนเป็นเหตุให้เราปรินิพพาน หรือมิฉะนั้นจุนทะอาจจะเกิดวิปฏิสารเดือดร้อนใจตัวเองว่า เพราะเสวยสุกรมัทวะ อันตนถวายแล้วพระตถาคตจึงนิพพาน ดูกรอานนท์ ! บิณฑบาตทานที่มีอานิสงส์มาก มีผลไพศาล มีอยู่สองคราวด้วยกัน คือ เมื่อนางสุชาดาถวายเราก่อนจะตรัสรู้ครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งที่นายจุนทะถวายนี้ ครั้งแรกเสวยอาหารของสุชาดาเป็นเวลาที่ตถาคตถึงซึ่งกิเลสนิพพานคือการดับกิเลส ครั้งหลังนี้เสวยอาหารของจุนทะบุตรนายช่างทองก็เป็นเวลาที่เราถึงซึ่ง ขันธนิพพาน คือ ดับขันธ์อันเป็นวิบากที่เหลืออยู่ ถ้าใคร ๆ จะพึงตำหนิจุนทะ เธอพึงกล่าวให้เขาเข้าใจตามนี้ ถ้าจุนทะจะพึงเดือดร้อนใจ เธอพึงกล่าวปลอบใจให้เขาคลายวิตกกังวลเสีย อาหารของจุนทะเป็นอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับเรา”

ครั้นพระตถาคต พร้อมด้วยพระอานนท์และภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงเมืองกุสินารา เข้าสู่สาลวโนทยาน คือ อุทยานที่เต็ม ไปด้วยต้นสาละที่ออกดอกสพรั่ง จึงทรงรับสั่งให้พระอานนท์จัดแท่นบรรทม ระหว่างต้นสาละที่โน้มกิ่งเข้าหากันหันพระ เศียรไปทางทิศอุดร แล้วทรงปรารภกับพระอานนท์ว่า

“ดูกรอานนท์ ! พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำสักการะบูชาด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน ของหอม เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่ดูกรอานนท์ ! ผู้ใดปฏิบัติตามธรรม ปฏิบัติอันชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมอันเหมาะสม ผู้นั้นแล ชื่อว่า สักการะบูชาเราด้วยการบูชาอันเยี่ยม”ในเวลานั้น พระอานนท์ได้กราบทูลถามว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้วจะปฏิบัติเกี่ยวกับพระพุทธสรีระอย่างไร”

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

“อย่าเลยอานนท์ เธออย่ากังวลกับเรื่องนี้เลย หน้าที่ของพวกเธอคือคุ้มครองตนด้วยดี จงพยายามทำความเพียรเผาบาปให้เร่าร้อนอยู่ทุกอิริยาบถเถิด สำหรับเรื่องสรีระของเรานั้นเป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ที่จะพึงทำกัน กษัตริย์ พราหมณ์ และ คหบดีเป็นจำนวนมากที่เลื่อมใสตถาคตก็มีอยู่ไม่น้อย เขาคงทำกันเองเรียบร้อย” พระอานนท์ทูลว่า “พระเจ้าข้า” เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ก็จริงอยู่ แต่ถ้าเขาถามข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะพึงบอกเขาอย่างไร”

พระองค์ทรงตรัสว่า “อานนท์ !ชนทั้งหลายปฏิบัติต่อสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไร ก็พึงปฏิบัติต่อสรีระแห่งตถาคตอย่างนั้นเถิด” พระอานนท์ทูลถามว่า “ทำอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า” พระองค์ทรงตรัสว่า “อานนท์ ! คืออย่างนี้ เขาจะพันสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่ แล้วซับด้วยสำลี แล้วพันด้วยผ้าใหม่อีก ทำอย่างนี้ถึง ห้าร้อยคู่ หรือห้าร้อยชั้น แล้วนำวางในรางเหล็กซึ่งเต็มไปด้วยน้ำมัน แล้วปิดครอบด้วยรางเหล็กเป็นฝา แล้วทำจิตกาธานด้วยไม้หอมนานาชนิด แล้วถวายพระเพลิง เสร็จแล้วเชิญพระอัฐิธาตุ แห่งพระเจ้าจักรพรรดินั้นไปบรรจุสถูป ซึ่งสร้างไว้ ณ ทางสี่แพร่ง และสรีระแห่งตถาคตก็พึงทำเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อผู้เลื่อมใส จักได้บูชา และเป็นประโยชน์สุขแก่เขาตลอดกาลนาน”

และแล้วพระตถาคตทรงแสดง ถูปารหบุคคล คือ บุคคลผู้ควรบรรจุอัฐิธาตุไว้ในพระสถูปสี่จำพวก คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก และพระเจ้าจักรพรรดิ

ในราตรีนั้นได้มีนักบวชปริพาชกนอกพระพุทธศาสนาผู้หนึ่งชื่อ สุภัททะ ขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระอานนท์จึงขอร้องวิงวอนว่า อย่าได้รบกวนพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย ซึ่งปริพาชกสุภัททะก็ยังกล่าววิงวอน ขอเข้าเฝ้าเพื่อทูลถามข้อข้องใจบางประการ พระอานนท์ได้ห้ามว่า

“อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่ารบกวนพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย พระองค์ทรงลำบากพระวรกายมากอยู่แล้ว พระองค์ประชวรหนักจะปรินิพพานในยามสุดท้ายแห่งราตรีนี้แน่นอน” ท่านสุภัททะยังได้วิงวอนต่อว่า “โอกาสของข้าพเจ้า เหลือเพียงเล็กน้อย ขอท่านอาศัยความเอ็นดูโปรดอนุญาตให้ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระศาสดาเถิด” พระอานนท์ทัดทานอย่างเดิม และสุภัททะก็อ้อนวอนเช่นเดิมครั้งแล้วครั้งเล่า จนได้ยินถึงพระพุทธองค์ จึงรับสั่งว่า “อานนท์ ให้สุภัททะเข้ามาหาตถาคตเถิด”

เมื่อสุภัททะได้เข้าเฝ้าพระศาสดานั้น ก็ขอประทานโอกาสกราบทูลถามข้อข้องใจบางประการ ซึ่งพระพุทธองค์ก็อนุญาตให้ถาม โดยสุภัททะถามว่า “พระองค์ผู้เจริญ คณาจารย์ทั้งหกคือ ปูรณะกัสสปะ มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุทธะกัจจายนะ สัญชัย เวลัฏฐบุตร และนิครนถ์นาฏบุตร เป็นศาสดาเจ้าลัทธิที่มีคนนับถือมาก เคารพบูชามาก ศาสดาเหล่านี้ยังจะเป็นพระอรหันต์ หมดกิเลส หรือประการใด” พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

ภาพพุทธประวัติวัดพระรามเก้า
ภาพพุทธประวัติวัดพระรามเก้า

“เรื่องนี้หรือสุภัททะที่เธอดิ้นรนขวนขวายมาหาเราด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวด” พระศาสดาตรัสทั้งยังหลับพระเนตรอยู่แล้ว ทรงตรัสแก่สุภัททะว่า “อย่าสนใจกับเรื่องนี้เลย สุภัททะ เวลาของเราและของเธอเหลือน้อยเต็มทีแล้ว จงถามสิ่งที่เป็น ประโยชน์แก่เธอเองเถิด” “ถ้าอย่างนั้น..ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาสามข้อ คือ รอยเท้าในอากาศมีอยู่หรือไม่ สมณะภายนอกศาสนาของพระองค์มีอยู่หรือไม่ สังขารที่เที่ยงมีอยู่หรือไม่” พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “สุภัททะ ! รอยเท้าในอากาศนั้นไม่มี ศาสนาใดไม่มีมรรคมีองค์แปดสมณะผู้สงบถึงที่สุดก็ไม่มีในศาสนานั้น สังขารที่เที่ยงนั้นไม่มีเลย สุภัททะ ปัญหาของเธอมีเท่านี้หรือ” “มีเท่านี้ พระพุทธเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ทรงทราบอุปนิสัยของสุภัททะจึงตรัสว่า “สุภัททะ ! ถ้าอย่างนั้นจงตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงธรรมให้ฟังแต่โดยย่อ ดูกรสุภัททะ ! อริยมรรคประกอบด้วยองค์แปดเป็นทางประเสริฐ สามารถให้บุคคลผู้เดินไปตามทางนี้ถึงซึ่งความสุขสงบเย็น เต็มที่เป็นทางเดินไปสู่อมตะ ดูกรสุภัททะ ! ถ้าภิกษุหรือใครก็ตามจะพึงอยู่โดยชอบ ปฏิบัติดำเนินตามมรรคอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์แปดนี้อยู่ โลกก็จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์”

ตลอดราตรีนั้น พระภิกษุสุภัททะได้ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำกรรมฐาน เดินจงกรมอย่างไม่ยอมย่อท้อ ไม่คำนึงถึงความเหน็ด เหนื่อย เพื่อบูชาคุณแห่งพระบรมศาสดาผู้จะปรินิพพานในปัจฉิมยามนี้ ในขณะที่เดินจงกรมอยู่ภายใต้แสงจันทร์เต็มดวงในคืนวิสาขปุรณมีนั้น พระจันทร์ที่สุกสกาวเจิดจรัสเต็มท้องฟ้านั้น กลับถูกเมฆก้อนใหญ่ดำทมึนเคลื่อนคล้อยเข้าบดบังจนมิดดวงไป แต่ไม่นานนักก้อนเมฆนั้นก็เคลื่อนคล้อยออก แสงจันทร์นวลสุกสกาวกลับสว่างตามเดิม

นั่นเป็นเหตุให้ดวงปัญญาของพระภิกษุสุภัททะบังเกิดขึ้น เมื่อท่านเปรียบเทียบแสงจันทร์และก้อนเมฆนั้น “โอ.. จิตนี้เป็น ธรรมชาติที่ผ่องใส มีรัศมีเหมือนดวงจันทร์แต่อาศัยกิเลศที่จรมาเป็นครั้งคราว จิตนี้จึงเศร้าหมองเหมือนก้อนเมฆบดบังดวงจันทร์ให้อับแสง” แล้ววิปัสนาญานก็บังเกิดแก่พระภิกษุสุภัททะ สามารถขจัดอาสวะกิเลสทั้งมวล บรรลุอรหัตผลในคืนนั้นจึงนับเป็นพระอัครสาวกองค์สุดท้ายที่พระพุทธเจ้าทรงประทานบวชให้

เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทาน ปัจฉิมโอวาท ดังความว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าสังขารทั้งหลาย ย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดาท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตน และประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด ”

หลังจากนั้นก็เสด็จดับขันธุ์ปรินิพพานใต้ต้นสาละ ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ใน เมืองกุสีนคร) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย สิริรวมพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา

การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ถือเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะพุทธศาสนิกชน ได้สูญเสียดวงประทีปของโลก ซึ่งนับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ และครั้งสำคัญของพระพุทธศาสนา ดังมีพุทธประวัติสังเขปมานั้น

สุภัททะปริพาชก เมื่อได้ฟังพระดำรัสนี้แล้วเกิดความเลื่อมใส ทูลขออุปสมบทบรรพชา พระพุทธองค์ ทรงตรัสว่าผู้ที่เคยเป็นนักบวชในศาสนาอื่นมาก่อน ถ้าประสงค์จะบวชในศาสนาของพระองค์จะต้องอยู่ “ติตถิยปริวาส” คือ บำเพ็ญตนทำความดีจนภิกษทั้งหลายไว้ใจ เป็นเวลา ๔ เดือนก่อนแล้วจึงจะบรรพชา อุปสมบทได้ สุภัททะทูลว่าตนเองพอใจอยู่บำรุงปฏิบัตพระภิกษุ ทั้งหลาย ๔ ปี

องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของโลก

คณะกรรมมาธิการองค์การสหประชาติ ได้ร่วมพิจารณาและมีมติเห็นพ้องต้องกันประกาศให้ วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของโลกทั้งนี้ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวล มนุษย์ทั้งหลายในโลก จะเห็นได้จากการยกเลิกแบ่งชนชั้นวรรณะซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกด้วย กล่าวคือ ทรงสอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ ให้รู้จักช่วยเหลือสัตว์ เหตุผลสำคัญ อีกประการหนึ่งคือ พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธและทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณสอนโดยไม่คิดค่าตอบแทน

ในการประชุม International Buddhist Conference ณ กรุงโคลัมโบ ระหว่างวันที่ ๙ – ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากเข้าร่วม อาทิ บังคลาเทศ จีน ลาว เกาหลีใต้ เวียดนาม ภูฐาน อินโดนีเซีย เนปาล กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน และไทย ได้ตกลงกันที่จะเสนอให้สมัชชาสหประชาชาติรับรองข้อมติประกาศวันวิสาขบูชาให้เป็นวันหยุดของสหประชาชาติ

ในการเยือนของประเทศต่าง ๆ ในอินโดจีนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกา ในปี ๒๕๔๒ ก็ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือ และได้รัรบการสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ ได้ด้วยดี

คณะทูตถาวรศรีลังกาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กได้จัดเตรียมร่างข้อมติ และได้ขอเสียงสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ เพื่อให้มีการรับรองข้อมติเรื่องการประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดของสหประชาชาติในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๕๔

โดยที่สหประชาชาติประกาศวันหยุดเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และจะเป็นปัญหาในเรื่องงบประมาณและการบริหารแก่สหประชาชาติ หากประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุด ศรีลังกาจึงได้ตัดสินใจที่จะเสนอร่างข้อมติ ขอให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลที่สหประชาชาติ ทั้งที่สำนักงานใหญ่ และสำนักงานต่าง ๆ แทนการเสนอให้เป็นวันหยุดซึ่ง ออท. ผู้แทนถาวรประเทศต่าง ๆ รวม ๑๖ ประเทศ ได้แก่ ศรีลังกา บังคลาเทศ ภูฐาน กัมพูชา ลาว มัลดีฟส์ มองโกเลีย พม่า เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สเปน อินเดีย ไทย และยูเครน ได้ร่วมลงนามในหนังสือถึงประธานสมัชชาฯ เพื่อให้นำเรื่องวันวิสาขบูชาเข้าเป็นระเบียบวาระการประชุมของสมัชชาฯ

ต่อมาเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2542 General Committee ของสมัชชาฯ ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดย ออท.ผู้แทน ถาวรศรีลังกาได้กล่าวถ้อยแถลงสนับสนุนหนังสือร้องขอให้ที่ประชุมบรรจุระเบียบวาระดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของ ที่ประชุมสมัชชาเต็มคณะ ออท.ผู้แทนถาวรไทย อินเดีย สเปน บังคลาเทศ ปากีสถาน ไซปรัส ลาว และภูฐาน ได้กล่าวถ้อย แถลงสนับสนุน ซึ่งที่ประชุม General Committee ได้มีมติให้บรรจุเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสมัชชาเต็มคณะ

เมื่อ 15 ธันวาคม 2542 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 54 ได้พิจารณาระเบียบวาระที่ 174 International recognition of the Day of Visak โดยการเสนอของศรีลังกา

ในการพิจารณา ประธานสมัชชาฯ ได้เชิญผู้แทนศรีลังกาขึ้นกล่าวนำเสนอร่างข้อมติ และเชิญผู้แทนไทย สิงคโปร์ บังคลาเทศ ภูฐาน สเปน พม่า เนปาล ปากีสถาน อินเดียขึ้นกล่าวถ้อยแถลง สรุปความว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของ พุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ทรงตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรม ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของ สหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติ โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นที่สำนักงานใหญองค์การสหประชาชาติและที่ทำการสมัชชาจะจัดให้มีการระลึกถึง(observance) ตามความเหมาะสม

ที่ประชุมฯ ได้รับรองร่างข้อมติโดยฉันทามติ ถ้อยแถลงของเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรฯ ศรีลังกาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ถ้อยแถลงของนายวรวีร์ วีรสัมพันธ์ อุปทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก

(ข้อมูลจาก learttripitaka)

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น