วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

วันวิสาขบูชา

ภาพพุทธประวัติ โดย อ.กฤษณะ สุริยกานต์

วันที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (หรือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ในปีอธิกมาส) “วิสาขะ” เป็นชื่อเรียกของเดือน ๖ ส่วนคำว่า “วิสาขบูชา” ย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๖” ดังนั้น วันวิสาขบูชาจึงตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (หรือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ในปีอธิกมาส คือปีที่มีเดือน ๘ สองหน)

ภาพพุทธประวัติ โดย อ.กฤษณะ สุริยกานต์
ภาพพุทธประวัติ โดย อ.กฤษณะ สุริยกานต์

วันวิสาขบูชาเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายถือเอาความอัศจรรย์ ๓ ประการที่เกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้า

ความอัศจรรย์ ๓ ประการ ในวันวิสาขบูชา

โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างปี แต่พ้องวันกัน คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งความอัศจรรย์ทั้ง ๓ ประการ ที่เกิดในวันวิสาขบูชา หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ในสมัยพุทธกาล ได้แก่

  1. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี
  2. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี
  3. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช  ๑ ปี

๑. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ

พระพุทธเจ้าทรงประสูติเมื่อวัน ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ก่อนการกำหนดใช้พุทธศักราช ๘๐ ปี โดยมีพุทธประวัติสังเขปดังนี้

สวรรค์ชั้นดุสิต เป็นสวรรค์ชั้นที่ ๔ ชื่อว่า ตุสิตา หรือ ตุสิตะ หรือ ชั้นดุสิต แปลว่า ยินดีชื่นบาน คือมีปีติอยู่ด้วยสิริสมบัติของตนเทวราชผู้ปกครองทรงพระนามว่า สันตุสิต ซึ่ง พระโพธิสัตว์ผู้สร้างโพธิสมภารที่จะลงมาตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในโลกมนุษย์ย่อมสถิตอยู่ในชั้นนี้ เทพในชั้นนี้เป็นผู้รู้บุญรู้ธรรม เพราะพระโพธิสัตว์ได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอนเนือง ๆ

และความโกลาหลอย่างขนานใหญ่ของเหล่าเทวดาามีอยู่สามสมัย คือสมัยเมื่อโลกจะวินาศ สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น สมัยเมื่อพระเจ้าจักรพรรดิจะเกิดขึ้น ซึ่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่จะได้จุติในโลก ได้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ประทับอยู่ที่สวรรค์ชั้นดุสิตนี้ ซึ่งกาลที่พระพุทธเจ้าจะทรงอุบัตินั้นเหล่าเทวดาก็เกิดโกลาหล จึงได้พากันไปเฝ้าทูลอารธนาพระโพธิสัตว์ให้จุติลงไปตรัส

เมื่อพระองค์ได้รับการกราบทูลอัญเชิญจากท้าวมหาพรหมและเทวราชในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น พระองค์ทรงพิจารณา ปัญจมหาวิโลกนะ ได้แก่การพิจารณาถึงสิ่งสำคัญ ๕ ประการ หรือ กาลสมัยอันสมควรทั้ง ๕ ประการ ดังนี้

ปัญจมหาวิโลกนะ ทั้ง ๕ ประการได้แก่

  1. กาลเวลา
  2. ทวีป
  3. กาลประเทศ
  4. ราชตระกูล
  5. พระมารดา
  • กาลเวลา คือ กาลเวลาแห่งอายุของมนุษย์ คือ ถ้ามนุษย์มีอายุมากเกินแสนปีขึ้นไป หรือต่ำกว่าร้อยปีลงมาก็ไม่ใช่กาลที่จะลงมาตรัสรู้เพราะยุคสมัยที่มนุษย์อายุมากเกินไปก็ไม่อาจเห็นพระไตรลักษณ์ หรือหากอายุสั้นเกินไปก็มีกิเลสหนามากไม่อาจเห็นธรรม แต่ในยุคนี้เป็นยุคที่มนุษย์มีอายุร้อยปี จึงเป็นกาลที่จะลงมาตรัสรู้ได้
  • ทวีป ทรงเห็นว่าชมพูทวีปเป็นทวีปที่เหมาะสมที่จะลงมาตรัสรู้
  • กาลประเทศ ทรงเห็นว่า มัชฌิมประเทศ คือท้องถิ่นร่วมกลางชมพูทวีป (ซึ่งบัดนี้อยู่ในอินเดียปากีสถานเป็นส่วนมากเลยเข้าไปในเนปาลบ้าง เช่น สถานที่ประสูติอยู่ในเนปาล) เป็นสถานที่เหมาะที่จะลงมาตรัสรู้
  • ราชตระกูล ทรงเห็นวงศ์ สักยราชตระกูล และพระเจ้าสุทโธทนะจะทรงเป็นพระราชบิดาได้
  • พระมารดา คือ ทรงเห็นพระนางสิริมหามายามีศีลและบารมีธรรม สมควรเป็นพระมารดาได้ ทั้งจะมีพระชนม์สืบไปจากเวลาที่พระโอรสประสูติเพียงเจ็ดวัน สัตว์อื่นไม่อาจอาศัยคัพโภทร (ครรภ์) บังเกิดได้อีก

ครั้นพระโพธิสัตว์ทรงเห็นสถานะทั้ง ๕ มีครบบริบูรณ์แล้ว จึงทรงรับอารธนาจากเหล่าเทวราช เหตุที่จะรู้ว่าพระโพธิสัตว์เทพใกล้จะจุตินั้น เพราะได้เกิดบุพนิมิต ๕ ประการ แก่พระองค์ คือ

  • ทิพยบุปผาที่ประดับพระกายเหี่ยวแห้ง
  • ทิพยภูษาทรงมีสีเศร้าหมอง
  • พระเสโทไหลจากพระกัจฉะ (รักแร้)
  • พระสรีรกายปรากฏอาการชรา
  • มีพระหทัยเป็นทุกข์เหนื่อยหน่ายจากเทวโลก ไม่ยินดีที่จะสถิตในทิพยอาสน์
ภาพพุทธประวัติ พระโพธิสัตว์รับเชิญจุติ โดย อ.กฤษณะ สุริยกานต์
ภาพพุทธประวัติ พระโพธิสัตว์รับเชิญจุติ โดย อ.กฤษณะ สุริยกานต์

ครั้นเห็นว่าอยู่ในสถานะอันสมควรแล้ว จึงทรงรับคำทูลของท้าวมหาพรหม  แล้วจึงได้เสด็จจุติลงมาปฏิสนธิในพระครรภ์ของ พระนางสิริมหามายาเทวี พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ  ซึ่งในคืนวันเพ็ญ เดือน ๘ พระนางสิริมหามายาทรงอธิษฐาน สมาทานอุโบสถศีล ในยามใกล้รุ่งได้ทรงสุบินนิมิตว่า ท้าวจตุมหาราชทั้งสี่ ได้ทูลเชิญพระนางเสด็จไปสรงน้ำในสระอโนดาต ชำระล้างมลทินแห่งมนุษย์ แล้วทรงผลัดด้วยผ้าทิพย์ ลูบไล้ด้วยของหอม ทรงประดับบุปผชาติอันเป็นทิพย์ แล้วเชิญเสด็จเข้าที่บรรทมบนพระแท่นในวิมานทอง ในภูเขาเงิน ทรงบ่ายพระเศียรไปยังทิศตะวันออก

๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

พระองค์ทรงตรัสรู้ในตอนเช้ามืด วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี (หลังจากออกผนวชได้ ๖ ปี) ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ปัจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้ เรียกว่า “พุทธคยา” เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย

พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้อริยสัจสี่ หรือความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม ไม่มีผู้เสมอเหมือน ดังนั้น วันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจึงจัดเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันที่บังเกิดพระพุทธเจ้าพระนามว่า “โคตมะ” อุบัติขึ้นในโลกโดยมีพุทธประวัติสังเขปดังนี้

ภาพพุทธประวัติ โดย อ.กฤษณะ สุริยกานต์
ภาพพุทธประวัติ โดย อ.กฤษณะ สุริยกานต์

พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียร ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่า การเข้า “ฌาน” เพื่อให้บรรลุ “ญาณ” จนเวลาผ่านไปจนถึง

  • ยามต้น : ทรงบรรลุ “ปุพเพนิวาสานุสติญาณ” คือทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่น
  • ยามสอง : ทรงบรรลุ “จุตูปปาตญาณ” คือการรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
  • ยามสาม : ทรงบรรลุ “อาสวักขญาณ” คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)

ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา

๓. วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

คือ การดับสังขารไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ทรงดับขันธ์ปรินิพพานเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี

คราเมื่อพระบรมศาสดาได้ทำการ “ปลงมายุสังขาร” ณ ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในวันมาฆบูชา ซึ่งการปลงมายุสังขารของพระบรมศาสดาในครั้งนี้ก็ทำให้อีก ๓ เดือนต่อมา พระพุทธองค์ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในวันวิสาขบูชาซึ่งในการปลงพระชนมายุสังขารในครั้งนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า..

“ดูกรอานนท์! เพราะอบรมอิทธิบาทสี่ มาอย่างดีแล้ว ทำจนแจ่มแจ้งแล้ว อย่างเรานี้ถ้าปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ถึงหนึ่งกัป (คือหนึ่งร้อยยี่สิบปี) ก็สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้”

พระพุทธองค์ตรัสเช่นนี้ถึง ๓ ครั้ง แต่พระอานนท์ก็คงเฉยมิได้ทูลอะไรเลย เมื่อเห็นพระอานนท์เฉยอยู่ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

“อานนท์! เธอจงไปพักผ่อนเสียบ้างเถิด เธอเหนื่อยมากแล้ว แม้ตถาคตก็จะพักผ่อนเหมือนกัน”

พระอานนท์จึงหลีกไปพักผ่อน ณ โคนต้นไม้อีกต้นหนึ่ง ซึ่ง ณ เวลานั้นพระพุทธองค์ทรงรำพึงถึงกาลที่ทรงตรัสรู้ล่วงมา ๔๕ ปี ที่แรกเริ่มทรงท้อพระทัยในการที่จะประกาศธรรมสั่งสอนสัตว์ แต่ด้วยพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ จึงตกลงรับอารธนาแสดงธรรมทรงตั้งพระทัยว่าถ้าบริษัทสี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่เป็นปึกแผ่น พระธรรมยังไม่แพร่หลายเพียงพอตราบนั้นพระองค์จะทรงยังไม่เสด็จปรินิพพาน แต่ในกาลบัดนี้พระธรรมคำสอนของพระองค์แพร่หลายเพียงพอแล้วเหล่าพุทธบริษัทสี่ ฉลาดสามารถพอที่จะดำรงพระสัทธรรมของพระองค์ให้เป็นปึกแผ่นได้ เป็นการสมควรแล้วที่พระองค์จะเข้าสู่มหาปรินิพพาน เมื่อทรงดำริเช่นนี้แล้วจึงทรงปลงมายุสังขาร คือ ตั้งพระทัยแน่วแน่ว่า พระองค์จะปรินิพพานในวันเพ็ญวิสาขปูรณมี เดือน ๖

ซึ่งการปลงมายุสังขารของพระพุทธองค์ ก่อให้เกิดความวิปริตแปรปรวนแก่โลกธาตุทั้งสิ้น มหาปฐพีมีอาการสั่นสะเทือน หมู่มวลแมกไม้แกว่งไกวด้วยแรงพายุแล้วกลับสงบนิ่ง ท้องนภากาศกลายเป็นสีแดงเพลิงประดุจโลหิต หมู่มวลสรรพสัตว์ร้องระเบงเซ็งแซ่สนั่นหวั่นไหว พระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก สังเกตเห็นความวิปริตแปรปรวนของโลกธาตุดังนี้จึงเข้าเฝ้าพระตถาคตทูลถามว่า

“พระองค์ผู้เจริญ ! โลกธาตุวิปริตแปรปรวนผิดปกติ ไม่เคยมี ไม่เคยเป็น ได้เป็นแล้วเพราะเหตุอะไรหนอ”

“ดูกรอานนท์ ! อย่างนี้แหล่ะ คราใดที่ตถาคตประสูติ ตรัสรู้ หมุนธรรมจักร ปลงมายุสังขาร และ ปรินิพพาน ครานั้นย่อมจะมีเหตุการณ์วิปริตอย่างนี้เกิดขึ้น”

พระอานนท์จึงทราบว่า บัดนี้พระพุทธองค์ทรงปลงมายุสังขารเสียแล้ว เมื่อทราบดังนั้นพระอานนท์จึงทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ขอพระองค์อาศัยความกรุณาในข้าพระองค์และหมู่สัตว์ จงดำรงพระชนม์ชีพต่อไปอีกเถิด อย่าเพิ่งด่วนปรินิพพาน เลย”…

“ดูกรอานนท์ ! เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ตถาคตกลับใจ  ตถาคตต้องปรินิพพานในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ อีกสามเดือนข้างหน้านี้

อานนท์ ! เราได้แสดงนิมิตโอภาสอย่างแจ่มแจ้งแก่เธอพอเป็นนัยมาไม้น้อยกว่าสิบหกครั้งแล้วว่า คนอย่างเรานี้มีอิทธิบาทภาวนาที่ได้อบรมมาด้วยดี ถ้าประสงค์จะอยู่ถึงหนึ่งกัปป์ คือ หนึ่งร้อยยี่สิปปี หรือมากกว่านั้นก็พออยู่ได้ แต่เธอหาเฉลียวใจไม่ มิได้ทูลเราเลย เราตั้งใจไว้ว่าในคราวก่อน ๆ นั้นถ้าเธอทูลให้เราอยู่ต่อไป เราจะห้ามเสียสองครั้ง พอเธอทูลครั้งที่สามเราจะรับอาราธนาของเธอ แต่บัดนี้ช้าเสียแล้ว เรามิอาจกลับใจได้อีก”

“ดูกรอานนท์ ! เราเคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่า บุคคลย่อมต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พึงใจเป็นธรรมดา หลีกเลี่ยงไม่ได้ ชีวิตนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุด สิ่งทั้งหลายมีความแตกไป ดับไป สลายไปเป็นธรรมดา จะปรารถนามิให้เป็นอย่างที่มัน ควรจะเป็นนั้นเป็นฐานะที่ไม่พึงหวังได้ ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไป เคลื่อนไป สู่จุดสลายตัวอยู่ทุกขณะ”

เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมมาเป็นเวลา ๔๕ ปี ซึ่งมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๖ พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายได้ทรงเสด็จผ่านทางเมืองปาวา ประทับ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทะ บุตรแห่งนายช่างทอง นายจุนทะทูลอาราธนาพระพุทธองค์รับภัตตาหาร ณ บ้านของตน แล้วจัดแจงโภชนาหารอย่างประณีตถวาย พระพุทธองค์ทอดทัศนาการเห็นสุกรมัทวะ อาหารชนิดหนึ่งซึ่งย่อยยาก จึงรับสั่งให้ถวายแด่พระองค์แต่เพียงผู้เดียว มิให้ถวายแก่ภิกษุรูปอื่น เมื่อพระองค์เสวยแล้วก็รับสั่งให้ฝังเสีย พระองค์เสวยสูกรมัทวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง มีพระบังคนเป็นโลหิต แต่ทรงอดกลั้น มุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา เพื่อเสด็จให้ถึงสถานที่เพื่อดับขันธ์ปรินิพพาน

ภาพพุทธประวัติ โดย อ.กฤษณะ สุริยกานต์
ภาพพุทธประวัติ โดย อ.กฤษณะ สุริยกานต์

ในระหว่างนั้นพระพุทธองค์ทรงปริวิตกถึงนายจุนทะผู้ถวายสุกรมัทวะ จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า..

“ดูกรอานนท์ ! เมื่อเราปรินิพพานไปแล้ว อาจมีผู้กล่าวโทษจุนทะว่าถวายอาหารที่เป็นพิษ จนเป็นเหตุให้เราปรินิพพาน หรือมิฉะนั้นจุนทะอาจจะเกิดวิปฏิสารเดือดร้อนใจตัวเองว่า เพราะเสวยสุกรมัทวะ อันตนถวายแล้ว พระตถาคตจึงนิพพาน

ดูกรอานนท์ ! บิณฑบาตทานที่มีอานิสงส์มาก มีผลไพศาล มีอยู่สองคราวด้วยกัน คือ เมื่อนางสุชาดาถวายเราก่อนจะตรัสรู้ครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งที่นายจุนทะถวายนี้ ครั้งแรกเสวยอาหารของสุชาดาเป็นเวลาที่ตถาคตถึงซึ่งกิเลสนิพพาน คือ การดับกิเลส ครั้งหลังนี้เสวยอาหารของจุนทะบุตรนายช่างทองก็เป็นเวลาที่เราถึงซึ่ง ขันธนิพพาน คือ ดับขันธ์อันเป็นวิบากที่เหลืออยู่ ถ้าใคร ๆ จะพึงตำหนิจุนทะ เธอพึงกล่าวให้เขาเข้าใจตามนี้ ถ้าจุนทะจะพึงเดือดร้อนใจ เธอพึงกล่าวปลอบใจให้เขาคลายวิตกกังวลเสีย อาหารของจุนทะเป็นอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับเรา”

ครั้นพระตถาคต พร้อมด้วยพระอานนท์และภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงเมืองกุสินารา เข้าสู่สาลวโนทยาน คือ อุทยานที่เต็มไปด้วยต้นสาละที่ออกดอกสพรั่ง จึงทรงรับสั่งให้พระอานนท์จัดแท่นบรรทม ระหว่างต้นสาละที่โน้มกิ่งเข้าหากันหันพระเศียรไปทางทิศอุดร แล้วทรงปรารภกับพระอานนท์ว่า

“ดูกรอานนท์ ! พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำสักการะบูชาด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน ของหอม เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่

ดูกรอานนท์ ! ผู้ใดปฏิบัติตามธรรม ปฏิบัติอันชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมอันเหมาะสม ผู้นั้นแลชื่อว่า สักการะบูชาเราด้วยการบูชาอันเยี่ยม”

ในเวลานั้น พระอานนท์ได้กราบทูลถามว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้วจะปฏิบัติเกี่ยวกับพระพุทธสรีระอย่างไร”

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

“อย่าเลยอานนท์ เธออย่ากังวลกับเรื่องนี้เลย หน้าที่ของพวกเธอคือคุ้มครองตนด้วยดี จงพยายามทำความเพียร เผาบาปให้เร่าร้อนอยู่ทุกอิริยาบถเถิด สำหรับเรื่องสรีระของเรานั้นเป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ที่จะพึงทำกัน กษัตริย์ พราหมณ์ และ คหบดีเป็นจำนวนมากที่เลื่อมใสตถาคตก็มีอยู่ไม่น้อย เขาคงทำกันเองเรียบร้อย”

พระอานนท์ทูลว่า

“พระเจ้าข้า” เรื่องนี้เป็น หน้าที่ของคฤหัสถ์ก็จริงอยู่ แต่ถ้าเขาถามข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะพึงบอกเขาอย่างไร”

พระองค์ทรงตรัสว่า “อานนท์ ! ชนทั้งหลายปฏิบัติต่อสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไร ก็พึงปฏิบัติต่อสรีระแห่งตถาคตอย่างนั้นเถิด” พระอานนท์ทูลถามว่า “ทำอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า” พระองค์ทรงตรัสว่า

“อานนท์ ! คืออย่างนี้ เขาจะพันสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่ แล้วซับด้วยสำลี แล้วพันด้วยผ้าใหม่อีก ทำอย่างนี้ถึง ห้าร้อยคู่ หรือห้าร้อยชั้น แล้วนำวางในรางเหล็กซึ่งเต็มไปด้วยน้ำมัน แล้วปิดครอบด้วยรางเหล็กเป็นฝา แล้วทำจิตกาธานด้วยไม้หอมนานาชนิด แล้วถวายพระเพลิง เสร็จแล้วเชิญพระอัฐิธาตุแห่งพระเจ้าจักรพรรดินั้นไปบรรจุสถูป ซึ่งสร้างไว้ ณ ทางสี่แพร่ง และสรีระแห่งตถาคตก็พึงทำเช่นเดียวกันทั้งนี้เพื่อผู้เลื่อมใส จักได้บูชา และเป็นประโยชน์สุขแก่เขาตลอดกาลนาน”

และแล้วพระตถาคตทรงแสดง ถูปารหบุคคล คือ บุคคลผู้ควรบรรจุอัฐิธาตุไว้ในพระสถูปสี่จำพวก คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก และพระเจ้าจักรพรรดิ ในราตรีนั้นได้มีนักบวชปริพาชกนอกพระพุทธศาสนาผู้หนึ่งชื่อ สุภัททะ ขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระอานนท์จึงขอร้องวิงวอนว่า อย่าได้รบกวนพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย ซึ่งปริพาชกสุภัททะก็ยังกล่าววิงวอน ขอเข้าเฝ้าเพื่อทูลถามข้อข้องใจบางประการ พระอานนท์ได้ห้ามว่า

“อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่ารบกวนพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย พระองค์ทรงลำบากพระวรกายมากอยู่แล้ว พระองค์ประชวรหนักจะปรินิพพานในยามสุดท้ายแห่งราตรีนี้แน่นอน”

ท่านสุภัททะยังได้วิงวอนต่อว่า

“โอกาสของข้าพเจ้า เหลือเพียงเล็กน้อย ขอท่านอาศัยความเอ็นดูโปรดอนุญาตให้ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระศาสดาเถิด”

พระอานนท์ทัดทานอย่างเดิม และสุภัททะก็อ้อนวอนเช่นเดิมครั้งแล้วครั้งเล่า จนได้ยินถึงพระพุทธองค์ จึงรับสั่งว่า

“อานนท์ ให้สุภัททะเข้ามาหาตถาคตเถิด”

เมื่อสุภัททะได้เข้าเฝ้าพระศาสดานั้น ก็ขอประทานโอกาสกราบทูลถามข้อข้องใจบางประการ ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ถาม โดยสุภัททะถามว่า

“พระองค์ผู้เจริญ คณาจารย์ทั้งหกคือ ปูรณะกัสสปะ มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุทธะกัจจายนะ สัญชัย เวลัฏฐบุตร และนิครนถ์นาฏบุตร เป็นศาสดาเจ้าลัทธิที่มีคนนับถือมาก เคารพบูชามาก ศาสดาเหล่านี้ยังจะเป็นพระอรหันต์ หมดกิเลสหรือประการใด”

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

“เรื่องนี้หรือสุภัททะที่เธอดิ้นรนขวนขวายมาหาเราด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวด”

พระศาสดาตรัสทั้งยังหลับพระเนตรอยู่ แล้วทรงตรัสแก่สุภัททะว่า “อย่าสนใจกับเรื่องนี้เลย สุภัททะ เวลาของเราและของเธอเหลือน้อยเต็มทีแล้ว จงถามสิ่งที่เป็น ประโยชน์แก่เธอเองเถิด”

“ถ้าอย่างนั้น..ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาสามข้อ คือ รอยเท้าในอากาศมีอยู่หรือไม่ สมณะภายนอกศาสนาของพระองค์มีอยู่หรือไม่ สังขารที่เที่ยงมีอยู่หรือไม่”

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

“สุภัททะ ! รอยเท้าในอากาศนั้น ไม่มี ศาสนาใดไม่มีมรรคมีองค์แปด สมณะผู้สงบถึงที่สุดก็ไม่มีในศาสนานั้น สังขารที่เที่ยงนั้นไม่มีเลย สุภัททะ ปัญหาของเธอ มีเท่านี้หรือ”

“มีเท่านี้ พระพุทธเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ทรงทราบอุปนิสัยของสุภัททะจึงตรัสว่า

“สุภัททะ !  ถ้าอย่างนั้นจงตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงธรรมให้ฟังแต่โดยย่อ

ดูกรสุภัททะ ! อริยมรรคประกอบด้วยองค์แปดเป็นทางประเสริฐ สามารถให้บุคคลผู้เดินไปตามทางนี้ ถึงซึ่งความสุขสงบเย็น เต็มที่เป็นทางเดินไปสู่อมตะ

ดูกรสุภัททะ ! ถ้าภิกษุหรือใครก็ตามจะพึงอยู่โดยชอบ ปฏิบัติดำเนินตามมรรคอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์แปดนี้อยู่ โลกก็จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์”

สุภัททะปริพาชก เมื่อได้ฟังพระดำรัสนี้แล้วเกิดความเลื่อมใส ทูลขออุปสมบทบรรพชา พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ผู้ที่เคยเป็น นักบวชในศาสนาอื่นมาก่อน ถ้าประสงค์จะบวชในศาสนาของพระองค์ จะต้องอยู่ “ติตถิยปริวาส” คือ บำเพ็ญตนทำความดีจนภิกษุทั้งหลายไว้ใจ เป็นเวลา ๔ เดือนก่อนแล้วจึงจะบรรพชา อุปสมบทได้

สุภัททะทูลว่าตนเองพอใจอยู่บำรุงปฏิบัติพระภิกษุ ทั้งหลาย ๔ ปี

พระตถาคตเห็นความตั้งใจของสุภัททะ จึงรับสั่งให้พระอานนท์นำสุภัททะไปบรรพชาอุปสมบท พระอานนท์ทรงทำตามรับสั่ง นำสุภัททะปริพาชกไปปลงผม โกนหนวด บอกกรรมฐาน ให้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ศีล สำเร็จเป็นสามเณร บรรพชาแล้วนำมา เฝ้าพระตถาคตซึ่งทรงตรัสบอกกรรมฐานอีกครั้งหนึ่ง ตลอดราตรีนั้น พระภิกษุสุภัททะได้ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำกรรมฐาน เดินจงกรมอย่างไม่ยอมย่อท้อ ไม่คำนึงถึงความเหน็ด เหนื่อย เพื่อบูชาคุณแห่งพระบรมศาสดาผู้จะปรินิพพานในปัจฉิมยามนี้ ในขณะที่เดินจงกรมอยู่ภายใต้

แสงจันทร์เต็มดวง ในคืนวิสาขปุรณมีนั้น พระจันทร์ที่สุกสกาวเจิดจรัส เต็มท้องฟ้านั้น กลับถูกเมฆก้อนใหญ่ดำทมึนเคลื่อนคล้อยเข้าบดบัง จนมิดดวงไป แต่ไม่นานนักก้อนเมฆนั้นก็เคลื่อนคล้อยออก แสงจันทร์นวลสุกสกาวกลับสว่างตามเดิม นั่นเป็นเหตุให้ดวงปัญญาของพระภิกษุสุภัททะบังเกิดขึ้น เมื่อท่านเปรียบเทียบแสงจันทร์และก้อนเมฆนั้น

“โอ.. จิตนี้เป็น ธรรมชาติที่ผ่องใส มีรัศมีเหมือนดวงจันทร์แต่อาศัยกิเลศที่จรมาเป็นครั้งคราว จิตนี้จึงเศร้าหมองเหมือนก้อนเมฆบดบัง ดวงจันทร์ให้อับแสง”

แล้ววิปัสนาญานก็บังเกิดแก่พระภิกษุสุภัททะ สามารถขจัดอาสวะกิเลสทั้งมวล บรรลุอรหัตผลในคืนนั้น จึงนับเป็นพระอัครสาวกองค์สุดท้ายที่พระพุทธเจ้าทรงประทานบวชให้

เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทาน ปัจฉิมโอวาท ดังความว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าสังขารทั้งหลาย ย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตน และประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

หลังจากนั้นก็เสด็จดับขันธุ์ปรินิพพานใต้ต้นสาละ ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ใน เมืองกุสีนคร) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย สิริรวมพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา

การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ถือเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะพุทธศาสนิกชนได้สูญเสียดวงประทีปของโลก ซึ่งนับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ และครั้งสำคัญของพระพุทธศาสนาดังมีพุทธประวัติสังเขปมานั้น

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น