วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

วันมาฆบูชา

วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ (หรือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ในปีอธิกมาส)

“มาฆะ” เป็นชื่อเรียกของเดือน ๓ ส่วนคำว่า “มาฆบูชา” ย่อมาจากคำว่า “มาฆปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๓” ดังนั้น วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ (หรือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ในปีอธิกมาส) ถือเป็น “วันจาตุรงคสันนิบาต” นับจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาเป็นเวลา ๙ เดือนแล้ว

เมื่อถึงวันเพ็ญกลางเดือน ๓ พระองค์ได้เสด็จไปประทับ ณ เวฬุวนาราม เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ครั้งนั้นได้มีพระอรหันต์ จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งแบ่งเป็นพระอรหันต์ที่อยู่ในคณะของพระอุรุเวลกัสสปเถระ พระนทีกัสสปเถระ และพระคยากัสสปเถระ รวม ๑,๐๐๐ รูป กับพระอรหันต์ที่อยู่ในคณะของพระสารีบุตรเถระ และพระโมคคัลลานะเถระ ๒๕๐ รูป รวมทั้งสองคณะเป็น ๑,๒๕๐ รูป ได้พร้อมกันไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

การมาประชุมใหญ่ของ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าในครั้งนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์มหัศจรรย์ในสมัยพุทธกาล จึงเรียกเหตุการณ์ในคราวนั้นว่า จาตุรงคสันนิบาต แปลว่า “ความประชุมประกอบด้วยองค์ ๔” ในอรรถกถาทีฆนขสูตร ได้แสดงไว้ว่า องค์ ๔ คือ พระสาวกที่มาประชุมกันเป็นมหาสันนิบาต นั้นคือ

  1. พระสงฆ์ จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่าง ๆ เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันวนาราม  กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
  2. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เหล่านั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ และได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรงด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
  3. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เหล่านั้น ต่างมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้มีการนัดหมาย
  4. “วันเพ็ญเดือนมาฆะ” คือวันเพ็ญกลางเดือน ๓ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาติโมกข์” และ วันมาฆบูชา ในอีก ๔๕ พรรษา ต่อมาพระบรมศาสดาได้ทำการ “ปลงมายุสังขาร” ณ ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ซึ่งการปลงมายุสังขารของพระบรมศาสดาในครั้งนี้ ก็ทำให้อีก ๓ เดือน ต่อมา พระพุทธองค์ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในวันวิสาขบูชา

การมาประชุมใหญ่ของพระอรหันต์สาวกโดยมิได้มีการนัดหมายในครั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงเห็นเป็นนิมิตอันดี จึงได้เสด็จท่ามกลางพระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูปเหล่านั้นและได้ทรงประทานพระโอวาทที่เรียกว่า “โอวาทปาติโมกข์” (พุทธ.๒/๕-๖)

มหาสันนิบาตนี้ ได้มี ณ เวฬุวันวนาราม ในวันมาฆปุณณมี ในอรรถกถาแห่งพระสูตรดังกล่าว (ป.สู. ๓/๑๙๗) ได้กล่าวว่ามหาสันนิบาตนั้นได้มีในวันที่ พระสารีบุตร สำเร็จเป็นพระอรหันต์ คือ เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมแก่ปริพาชกชื่อทีฆนขะ พระสารีบุตรได้นั่งถวายงานพัด ได้ฟังอยู่ด้วย เมื่อทรงแสดงธรรมจบแล้ว พระสารีบุตรก็มีจิต พ้นจากอาสวะในขณะนั้น เวลายังเป็นกลางวันอยู่ พระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จลงจากเขาคิชกูฏ และเสด็จมาสู่พระเวฬุวัน ก็ทรงแสดงพระโอวาท ในมหาสันนิบาตดังกล่าวนั้นในวันมาฆปุณณมี ซึ่งเหตุการณ์นี้แสดงว่าท่านพระสารีบุตร ได้เป็นผู้เสร็จกิจ ในวันมาฆปุณณมีนั้น คือในวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง พระโอวาทปาติโมกข์

โอวาทปาติโมกข์ “หัวใจพระพุทธศาสนา”

พระโอวาท หรือ โอวาทปาติโมกข์ นี้ ประมวลพระพุทธวาทะ ประมวลพระพุทธศาสนา ด้วยข้อความเพียง ๓ คาถากึ่ง ฉะนั้น พระโอวาทนี้จึงเป็นที่นับถือว่า แสดงหัวใจพระพุทธศาสนา ตามที่ท่านพระธรรมสังคาหกาจารย์ได้ รวบรวมไว้ว่าดังนี้

  • ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ขันติคือความอดทน เป็น บรมตบะ
  • นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา พระพุทธะคือพระผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า นิพพานเป็นอย่างยิ่ง
  • น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหยนฺโต บรรพชิตคือนักบวช ผู้ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่ เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าสมณะ

นี้เป็นพระคาถาแรก พระคาถานี้แสดงพระพุทธวาทะคือวาทะของพระพุทธะ ที่แปลว่า พระผู้รู้ไว้ ๓ ข้อ ๑. ขันติ ความทนทาน เป็นบรมตบะ ๒. นิพพาน เป็นบรมธรรม ๓. บรรพชิตคือนักบวช ผู้ยังทำร้ายผู้อื่น เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ (มหาปทานสุตฺต ที. มหา. ๑๐/๕๗/๕๔.)

อ่านเพิ่มเติม โอวาทปาติโมกข์ หัวใจพระพุทธศาสนา

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธวาทะดั่งนี้แล้ว จึงได้ทรงย่อพระพุทธศาสนาในพระคาถาเพียงบทหนึ่งต่อไปว่า

  • สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง
  • กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม
  • สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว

เอตํ พุทธาน สาสนํ นี้เป็นพุทธศาสนา คือคำสอนของผู้รู้ทั้งหลาย

กิเลสชั้นหยาบคือวีติกกมกิเลส ก็ทำได้ด้วยหลักข้อที่ ๑ คือไม่ทำบาปทั้งปวง จัดเป็นสีลสิกขา สิกขาคือศีล

กิเลสชั้นกลางคือปริยุฏฐานกิเลส จะขัดสีได้ด้วยหลักข้อที่ ๒ คือ ทำกุศลให้ถึงพร้อม กุสลสฺสูปสมฺปทา แปลว่า การทำกุศลให้ถึงพร้อม ถ้าแปลทับศัพท์คืออุปสมบทกุศล เป็นการอุปสมบททางจิตใจ หลักข้อที่ ๑ นั้น เท่ากับเป็นการอุปสมบททางกาย คือด้วยศีล

ส่วนกิเลสชั้นละเอียด คือชั้นอนุสัยนั้น จะขัดสีได้ก็ด้วยหลักข้อที่ ๓ การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว สงเคราะห์เป็นปัญญาสิกขา อบรมปัญญาจนรู้แจ้งเห็นจริง การอบรมปัญญานั้น พระพุทธเจ้าก็ได้แสดงแล้ว ดังเช่นในอนัตตลักขณสูตร และในอาทิตตปริยายสูตร ที่ต้องอบรมให้เกิดความรู้เห็นตามที่เป็นจริง ในเบญจขันธ์หรือว่าในอายตนะ จนเกิดนิพพิทาเป็นต้น

พระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสหลัก ๓ ข้อนี้แล้ว ก็ได้ตรัสต่อไปอีกหนึ่งคาถากึ่งว่า

  • อนูปวาโท การไม่ว่าร้าย
  • อนูปฆาโต การไม่ทำร้าย
  • ปาติโมกฺเข จ สํวโร ความสำรวมในปาติโมกข์
  • มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ความรู้ประมาณในภัต
  • ปนฺตญฺจ สยนาสํ ที่นอนที่นั่งอันสงัด
  • อธิจิตฺเต จ อาโยโค ความประกอบในอธิจิตคือจิตยิ่ง
  • เอตํ พุทธาน สาสนํ นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

พระโอวาทในข้อนี้ เป็นเหมือนคำอธิบายประกอบของโอวาทที่เป็นหลัก ๓ ข้อดังกล่าว มีข้อสังเกตคือ ในเวลานั้นพระพุทธเจ้า ยังไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยปาติโมกข์ ฉะนั้นที่ตรัสให้สำรวมในพระปาติโมกข์จึงมีความหมายคือ ปาติโมกข์ที่เป็นตัวแบบฉบับ อันควรทีสมณะจะพึงปฏิบัติโดยทั่วไป พระโอวาททั้งหมดนี้เรียกว่า พระโอวาทปาติโมกข์ ปาติโมกข์ที่เป็นโอวาทพระพุทธเจ้า ได้ตรัสแก่พระอรหันต์ทั้งนั้น จึงมิได้มุ่งที่จะอบรมให้ท่านบรรลุมรรคผล แต่ว่ามุ่งที่จะวางแนวพระพุทธศาสนา เบื้องต้นก็ชี้ถึงวาทะของพระพุทธะ ๓ ข้อ  ต่อมาก็วางหลักปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างกว้าง ๆ ไว้ ๓ ข้อ และมีคำอธิบายประกอบอีกเล็กน้อย ท่านแสดงว่าในวันอุโบสถวันพระจันทร์เพ็ญ และวันพระจันทร์ดับ (วันพระข้างขึ้น ๑๕ ค่ำ และข้างแรม ๑๕ ค่ำ) พระพุทธเจ้าได้ประทับเป็นประธานหมู่พระสงฆ์ แล้วก็ทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์ขึ้นด้วยพระองค์เองทุก ๑๕ วัน แปลว่า ทรงทำอุโบสถร่วมด้วยภิกษุสงฆ์แล้วก็เรียกว่า ปาริสุทธิอุโบสถ คือ เป็นอุโบสถที่บริสุทธิ์ พระพุทธเจ้าก็ทรงบริสุทธิ์ พระสงฆ์ก็บริสุทธิ์

จนถึงมีเรื่องที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมามีเล่าไว้ในบาลีวินัย (วิ.จุลฺล. ๗/๒๘๓/๔๔๗-๘; ขุ.อุ. ๒๕/๑๕๐/๑๑๖.) ว่าพระสงฆ์มาประชุม พร้อมกันแล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลงมา จึงถึงเวลา ๑ ยาม พระอานนท์ก็ไปทูลเตือนว่า

ยามหนึ่งแล้วพระมานั่งรออยู่นานแล้วขอให้เสด็จลงทรงสวดปาติโมกข์ พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลง ครั้นถึงยามที่ ๒ พระอานนท์ ก็ไปทูลเตือนอีกพระพุทธเจ้าก็ ไม่เสด็จลง ครั้นถึงยามที่ ๓ พระอานนท์ก็ไปทูลเตือนอีก พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลง แต่ว่าในยามที่ ๓ นี้ได้มีพระพุทธดำรัสว่า บริษัทไม่บริสุทธิ์ คือว่ามีพระทุศีลมาปนอยู่ด้วยพระโมคคัลลานะจึงได้เที่ยวตรวจดู เมื่อไปพบภิกษุที่ทุศีลก็บอกให้ออกไปจากที่ประชุม ผู้นั้นก็ไม่ยอมออกไปต้องฉุดแขนออกไป แต่ก็สว่างเสียแล้ว พ้นเวลาที่จะทำอุโบสถก็เป็นอันว่าในอุโบสถนั้นไม่ได้ทำ(การสวดปาติโมกข์) พระพุทธเจ้าจึงทรงปรารภเรื่องนี้ (วิ.จุลฺล. ๗/๒๙๒/๔๖๖)

ตรัสให้พระสงฆ์ยกเอาพระวินัยที่ทรง บัญญัติขึ้นไว้ มาสวดเป็นปาติโมกข์แทน และให้พระสงฆ์สวดกันเอง พระพุทธเจ้าไม่เสด็จมาทำอุโบสถร่วมด้วยอีกต่อไป

เพราะฉะนั้น จึงมีการยกเอาวินัยขึ้นสวดเป็นปาติโมกข์ทุก ๆ ๑๕ วัน สืบต่อมาจนบัดนี้ ปาติโมกข์ที่ยกเอาพระวินัยขึ้นสวดนี้ เรียกว่า วินัยปาติโมกข์ (ซึ่งก็คือ คัมภีร์รวมวินัยสงฆ์ ๒๒๗ ข้อ ซึ่งต้องสวดทบทวนในที่ประชุมสงฆ์ หรือการลงอุโบสถทุกกึ่งเดือนในวันพระ)

ธรรมเนียมปฏิบัติในวันมาฆบูชา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๕) ทรงอธิบายเกี่ยวกับธรรมเนียมพิธีการมาฆบูชาไว้ว่า เดิมทีเดียวในประเทศไทยไม่เคยจัดพิธีวันมาฆบูชามาก่อน จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔)ได้ทรงถือตามแบบของโบราณบัณฑิตที่ได้นิยมกันว่า ‘วันมาฆะบูรณมี’ เป็นวันที่พระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์เป็นวันที่พระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า ๑,๒๕๐ รูป ได้ประชุมกันพร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์เป็นการประชุมใหญ่ และเป็นการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนานักปราชญ์จึงถือเอาเหตุนั้นประกอบการสักการบูชาพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวก ๑,๒๕๐ รูปนั้น ให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส

การประกอบพิธีมาฆะบูชา ได้เริ่มในพระบรมมหาราชวังก่อน ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้จัดให้มีพิธีการพระราชกุศลในเวลาเช้าพระสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดราชประดิษฐ์ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำ เสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็น เสร็จแล้วสวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วยสวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีการประโคมอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงมีการเทศนา โอวาท ปาติโมกข์ ๑ กัณฑ์ เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย เครื่องกัณฑ์ มีจีวรเนื้อดี ๑ ผืน เงิน ๓ ตำลึง และขนมต่าง ๆ เทศนาจบพระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์ ๓๐ รูป สวดรับ

การประกอบพระราชกุศลเกี่ยวกับวันมาฆบูชาในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออก ประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปีมิได้ขาด สมัยต่อมามีการเว้นบ้างเช่น รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกเองบ้าง หรือบางครั้งก็มิได้เสด็จออกเอง เพราะมักเป็นช่วงเวลาที่พอดีกับการเสด็จประพาสหัวเมือง แต่หากวันดังกล่าวตรงกับช่วงที่เสด็จไปประพาสบางปะอิน หรือพระพุทธบาทพระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง ก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้น ๆ ขึ้น อีกส่วนหนึ่งต่างหากจากในพระบรมมหาราชวัง

เดิมทีมีการประกอบพิธีในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาได้ขยายออกไปให้พุทธบริษัทได้ปฏิบัติตามอย่างเป็นระบบสืบมาจน ปัจจุบันมีการบูชา ด้วยการเวียนเทียน และบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ส่วนกำหนดวันประกอบพิธีมาฆบูชานั้น ปกติตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ หากปีใดเป็นอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหนจะเลื่อนไปตรงกับวันเพ็ญเดือน ๔

เมื่อวันมาฆบูชาเวียนมาบรรจบในแต่ละรอบปี พุทธบริษัทจะร่วมกันประกอบศาสนพิธี ซึ่งการปฏิบัตินั้นจะดำเนินไป เช่นเดียวกับวันวิสาขบูชา แต่ในวันนี้พระสงฆ์จะแสดงพระธรรมเทศนาในเรื่องโอวาทปาฏิโมกข์

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น