ปกิณกธรรม

แสงส่องใจ อันดับที่ ๑

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

รินรสพระธรรมแสดง แสงส่องใจ อันดับ ๑

ตนที่ฝึกดีแล้ว
เป็นเครื่องยังชีวิตให้สว่าง

พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

คำนำ

ตามที่ องค์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงพระเมตตาประทานชื่อให้ สำนักพิมพ์ “พระพุทธศาสนาประกาศ” เพื่อเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓ ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา สอดคล้องกับตามที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญ สากลของสหประชาชาติ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักพิมพ์ “พระพุทธศาสนาประกาศ” ได้จัดพิมพ์เผยแผ่หนังสือธรรมะ “พุทโธโลยี” และหนังสือธรรมะตามวาระพิเศษต่างๆ มาด้วยดีโดยตลอด ด้วยมีจุดมุ่งหมาย ร่วมกันจรรโลงพระพุทธศาสนา เพื่อสร้างสรรค์สังคมและเห็นว่าการจัดพิมพ์หนังสือธรรมะ นอกจากจะเป็นการจัดทำสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ที่คงอยู่ยืนนานแล้ว ยังเป็นการบำเพ็ญธรรมทาน คือการให้ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นทานอันยอดเยี่ยม ผู้ปฏิบัติได้ชื่อว่ามีส่วนเผยแผ่ธรรมอันจะอำนวยประโยชน์สุขที่แท้จริง

สำนักพิมพ์ “พระพุทธศาสนาประกาศ” ได้พิจารณาเล็งเห็นว่า พระนิพนธ์ รินรสพระธรรมแสดง “แสงส่องใจ” ของ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงคุณค่าอย่างยิ่งที่จะจัดพิมพ์เผยแพร่ เพราะเป็นเนื้อหาเรื่องที่ประกอบด้วยสารัตถุครบถ้วนบริบูรณ์ อ่านเข้าใจง่าย เหมาะสำหรับผู้อ่านทุกระดับ เหมาะสำหรับการนำไปเป็นประทีปธรรมส่องสว่างแก่ชีวิต

บุญกุศลอันเกิดจากการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ขอน้อมถวายเป็นพระกุศลในเจ้าพระคุณ สมเด็จญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระผู้ทรงงามพร้อมด้วยพระธรรม พระวินัยในพระพุทธศาสนา

สำนักพิมพ์ “พระพุทธศาสนาประกาศ” ขออนุโมทนา กราบขอบพระคุณทุกท่านที่มีกุศลจิตในการส่งเสริมบารมีธรรม ร่วมมือร่วมใจสนับสนุนในการจัดพิมพ์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จักอำนวยประโยชน์แก่ท่านตามสมควร

ด้วยสำนักมั่นในพระพุทธศาสนา

สำนักพิมพ์ “พระพุทธศาสนาประกาศ”

อิสฺวาสุรตนตตยํ รกฺขตุ ตฺวํ นิรนฺตรํ
โหตุ สุวฑฺฒโน สาธุ สพฺพตฺถ ญาณสํวโร

ขอรัตตะทั้งสาม คือ
อิติปิ โส ภควา
สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม
สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

จงรักษาท่านชั่วนิรันดร์
จงเป็นผู้เจริญดี เป็นคนดี
และจงเป็นผู้สำรวมในญาณทุกเมื่อแล

แสงส่องใจ อันดับ ๑

  • ผู้มีปัญญาเห็นค่าของตนที่ฝึกแล้วย่อมยินดีที่จะเผชิญความยาก ความยากแม้มากมายเพียงไรก็ตาม ย่อมให้ผลเป็นความมีค่าแห่งจิตใจตน เป็นความมีค่าแห่งตนเอง เป็นผลที่คุ้มกับความยากลำบากที่ต้องต่อสู้ เพื่อให้การฝึกตนเป็นไปด้วยดี มีผลสำเร็จสมดังความมุ่งมาดปรารถนา บัณฑิตหรือคนดีมีปัญญาย่อมกล้า ย่อมพร้อม ที่จะรับความยากทั้งหลายเพียงเพื่อได้มีโอกาสฝึกตน.
  • ผู้ที่เป็นคนดี ย่อมสามารถนำตนไปสู่ความดีงามต่างๆ ได้ นำตนไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้และสามารถนำผู้อื่นไปสู่ความดีงามต่างๆ ได้ นำผู้อื่นไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ด้วย ท่านจึงกล่าวว่าตนที่ฝึกดีแล้ว เป็นแสงสว่าง เป็นเครื่องส่องทางเป็นเครื่องนำชีวิต เป็นเครื่องยังชีวิตให้สว่าง ถ้าต้องการเป็นแสงสว่างทั้งของตนเองและของผู้อื่น ก็ต้องฝึกตนให้เป็นคนดี ไกลความโลภ โกรธ หลง ให้มากที่สุด.
  • กิเลสคือโลภะ โทสะ โมหะ หรือความโลภความโกรธความหลง เป็นเครื่องเศร้าหมอง มีอยู่ที่ใดย่อมทำให้ที่นั้นเศร้าหมอง มีอยู่ใกล้ผู้ใดย่อมทำให้ผู้นั้นเศร้าหมอง เปรียบดังฝุ่นละออง จับต้องเข้าที่ใดสิ่งใด ย่อมทำที่นั้นสิ่งนั้นให้หมองมัว กิเลสจึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกให้ไกล.
  • กระจกหน้าต่างประตูหรือกระจกเงา เป็นต้น ที่ใสสะอาดอยู่เดิม แต่ไม่ได้รับการเช็ดถูนานเข้า ฝุ่นละอองที่มีอยู่ทั่วไปแม้ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า จับมากขึ้นตามวันเวลาที่ล่วงไป ย่อมทำให้กระจกหน้าต่างประตูนั้นกระจกเงาเป็นต้นนั้น มีความสกปรกขุ่นมัวปกคลุมมากขึ้น จนปิดบังสภาพใสสะอาดเดิมได้ ฉันใด กิเลสที่มีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่งแม้ไม่อาจแลเห็นได้ด้วยตามเปล่า ก็จะปกคลุมจิตใจที่ไม่ได้รับการระวังรักษา ทำให้สภาพที่บริสุทธิ์ประภัสสรของจิตเดิมไม่อาจปรากฏได้ ฉันนั้น นึกภาพกระจกที่ฝุ่นจับหนา แล้วก็นึกถึงใจที่ไม่พยายามหนีให้ไกลกิเลส เป็นเช่นเดียวกัน.
  • จิตที่ความใสสะอาดบริสุทธิ์ประภัสสร ไม่อาจปรากฏได้เลย คือจิตของผู้ที่ยังเกลือกใกล้กับกิเลสมากหลาย กิเลสยังปกคลุมหุ้มห่อจิตอยู่แน่นหนามาก มากทั้งโลภะ มากทั้งโทสะ มากทั้งโมหะ ผู้มีจิตเช่นนี้ย่อมเป็นเหตุแห่งความเดือนร้อนนานาประการ ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น รวมเรียกได้ว่าแก่โลกจิตเช่นนั้นจึงเป็นที่รังเกียจ.
  • โลกมิได้มีความหมายเพียงดาวดวงหนึ่งในจักรวาล แต่โลกหมายถึงทุกคนทุกสัตว์ คือหมายถึงเรา หมายถึงเขานั่นเอง เราเดือดร้อน เขาเดือดร้อน นั่นก็กล่าวได้ว่าโลกเดือดร้อน จึงอย่าแยกเราแยกเขา พึงถือเป็นโลกด้วยกัน.
  • กิเลสเป็นเครื่องเศร้าหมอง ความเศร้าหมองไม่ทำให้ผู้ใดมีความสุข ทำให้มีความทุกข์ความร้อนเท่านั้น ที่ความร้อนยังมีอยู่ทั่วโลกทุกวันนี้ก็เพราะคนยังยอมให้กิเลสครอบงำจิตใจ อยู่อย่างหนาแน่น ความทุกข์ ความร้อนที่เกิดแก่โลกให้รู้ให้เห็นประจักษ์อยู่คือกระจกส่องให้เห็นความหนา แน่นของกิเลสที่เข้าห้อมล้อมจิตใจผู้คนทั้งหลาย การจะทำความทุกข์ความร้อนให้เบรรเทาเบาบางห่างจากโลกไปจึงอยู่ที่ต้องทำใจ ตนเองของแต่ละคนให้มีกิเลสเข้าครอบคลุมน้อยที่สุด เบาบางที่สุด.
  • ผู้ที่มีกิเลสครอบคลุมใจมาก ก่อความร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่นมาก เป็นที่เข้าใจกันว่าผู้นั้นเป็นคนไม่ดี แม้ตัวเองจะคิดว่าตนเป็นคนดี แต่ความจริงหาเป็นคนดีไม่ คนมีกิเลสห่อหุ้มใจมากจะเป็นคนดีไม่ได้ พึงสำนึกในความจริงนี้ และรู้จักตนเองให้ถูกต้อง เพื่อจะได้ปรับปรุงตนเองให้เป็นคนดีให้ได้ ไม่มีใครชอบคนไม่ดี ไม่มีใครปรารถนาจะเป็นคนไม่ดี เพียงแต่ไม่ทุกคนที่มีความเห็นชอบจึงไม่ทุกคนที่จะรู้ตัวว่าตนเป็นคนไม่ดี ทั้งๆ ที่ก่อความเดือดร้อนให้แก่โลกอยู่ ด้วยถูกกิเลสครอบงำชักจูงไป.
  • คนดีหรือคนไม่ดี มีความเหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง คือชอบคนอื่นที่ดี จึงชอบเลี้ยงดูบุตรหลานให้เป็นคนดี ให้คบคนดี มีสังคมที่ดี และตนเองก็ภูมิใจที่จะมีคนดีเป็นมิตรสหาย ภูมิใจที่จะได้อยู่ในสังคมคนดี โดยที่จะลืมความจริงที่สำคัญไปคือคนดีนั้น ย่อมไม่ปรารถนาจะมีคนไม่ดีอยู่ร่วม คนดีย่อมหลีกเลี่ยงคนไม่ดี เพราะคนดีย่อมรู้ว่าคนไม่ดีย่อมนำให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนวุ่นวาย ต่างๆ นานา ดังนั้น แม้ปรารถนาจะมีสังคมที่ดี จึงต้องอบรมตนเองให้เป็นคนดีให้กิเลสอยู่ใกล้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถ ทำได้.
  • คนไม่ดีเป็นคนให้ความทุกข์ความร้อน คนไม่ดีจึงเป็นที่พึ่งของใครไม่ได้ คนดีเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้ ทุกคนจำเป็นต้องมีที่พึ่งในเรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง การมีคนดีเป็นมิตรจึงจำเป็นอย่างยิ่ง.
  • ผู้ที่จะยอมเป็นที่พึ่งของผู้ใดผู้หนึ่ง คือจะให้ผู้ใดพึ่ง จะต้องเห็นสมควร นั่นก็คือจะต้องเห็นว่าผู้ที่ตนจะให้พึ่งให้ความช่วยเหลือนั้นมีความเหมาะสม ที่จะได้รับความช่วยเหลือในเรื่องใดหรือไม่ ถ้าไม่เห็นความสมควรก็คงไม่ช่วย นี้คือพุทธศาสนสุภาษิตกล่าวว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” ผู้มีปัญญาเห็นความหมายของพุทธสุภาษิตนี้จึงตั้งใจทำตนให้เป็นที่พึ่งของตน คือทำตนให้เป็นคนดีนั่นแหละเป็นประการสำคัญ.
  • คนดีนั้นท่านกล่าวว่าเป็นผู้ที่ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ นี่มิใช่เรื่องอภินิหาร ถ้อยคำที่ฟังแล้วเหมือนเป็นเรื่องของอภินิหารนั้น ความจริงมีความหมายธรรมดา แต่ความหมายนั้นแอบแฝงอยู่เบื้องหลังเท่านั้น ผู้ที่ตกน้ำไม่ไหลคือ น้ำไม่พัดพาไปถึงได้รับอันตราย ก็ไม่ได้หมายความว่าน้ำหยุดไหล แต่หมายความว่ามีผู้ช่วยนำขึ้นให้พ้นน้ำได้ ผู้ที่ตกไฟไม่ไหม้ ก็ไม่ได้หมายความว่าไฟไม่ไหม้เนื้อหนังร่างกายจริงๆ แต่หมายความว่ามีผู้ช่วยให้พ้นจากไฟหรือช่วยดับไฟให้ ตนจึงพ้นจากภัยอันเกิดจากไฟนั้น ความหมายที่แท้จริงของตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ ก็คือถึงคราวตกทุกข์ได้ยากมีอันตราย ก็จะมีผู้ช่วยหรือมีเหตุการณ์มาทำให้สวัสดีได้.
  • ผู้ที่มีความดีเพียงพอจะเป็นที่พึ่งของตนเองได้ย่อมสามารถมีผู้อื่นเป็น ที่พึ่งได้ ผู้ไม่มีผู้อื่นเป็นที่พึ่งคือผู้ที่ไม่มีความดีเพียงพอ ที่ผู้อื่นจะแลเห็นความดีนั้น ไม่แลเห็นความสมควรที่จะพึงให้ความช่วยเหลือ เมื่อผู้ไม่มีความดีเพียงพอนั้นได้รับความเดือดร้อนด้วยเรื่องใด ก็ย่อมไม่มีผู้ยินดีช่วยเหลือ ถ้าอย่างหนักแม้ถึงตาย ก็ย่อมขาดผู้ยื่นมือเข้ามาช่วยเปรียบดังตกน้ำก็ไหลตกไฟก็ไหม้ หมายความว่าเมื่อมอันตรายก็ไม่มีผู้ช่วย ดังนั้นจึงต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนก่อนที่จะหวังพึ่งผู้อื่น ไม่ว่าในเรื่องใดทั้งสิ้น.
  • ที่มักกล่าวว่าคนนั้นพาไปดีคนนี้พาไปไม่ดีนั้นไม่ถูก ไม่มีผู้ใดจะพาใครไปไหนได้ นอกจากเจ้าตัวจะเป็นผู้พาตัวเองไป ผู้อื่นเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น ถ้าตัวเองไม่พาตัวเองไปดีแล้ว ก็ไม่มีผู้อื่นใดจะสามารถนำตนไปดีได้อย่างแน่นอน เช่นมีผู้ชวนให้ทำบุญทำกุศล ถ้าตัวเองไม่ยอมเห็นด้วยก็จะไม่ทำบุญทำกุศล ต้องตัวเองยอมเห็นด้วยจึงจะทำ ไม่ว่าในเรื่องใดทั้งนั้น ถ้าตัวเองไม่เห็นดีเห็นงามตามไปด้วยแล้วก็ไม่มีผู้ใดจะมานำไปได้ ท่านจึงว่า “ตนเป็นคติของตน”.
  • ถ้าชอบจะพาตนเองไปสู่ที่ดีที่สว่าง ไม่ใช่ที่ชั่วที่มืด ก็ต้องรู้ว่าผู้นำคือตนเองนั้นจะต้องรู้ลู่ทางไปสู่ที่ดีที่สว่างให้ถนัดชัดแจ้ง ไม่เช่นนั้นก็จะพาไปไม่ถูก นั่นก็คือต้องรู้ว่าทำอย่างไรจะไปสู่ที่ดีที่สว่างได้ ไม่หลงไปสู่ที่ชั่วที่มืด.
  • พระพุทธศาสนาชี้ทางดีทางสว่างไว้ละเอียดลออหมดแล้ว ดีน้อยดีมาก สว่างน้อยสว่างมาก มีชี้ไว้ชัดเจนในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงตามประทีปไว้แล้ว เราต้องอย่าปิดตา แต่จงลืมตาดูให้เห็นแสงประทีปนั้น เห็นทางที่มีแสงประทีปนั้นส่องอยู่ แล้วดำเนินไปตามทางที่สว่าง เพื่อให้ไม่ประสบพบภยันตรายที่แอบแฝงอยู่ในความมืด พึงสังเกตว่าความสำคัญไม่ได้อยู่ที่แสงประทีปที่พระพุทธองค์ทรงจุดตามไว้ให้ เท่านั้น แต่ต้องอยู่ที่ตนเองของทุกคนด้วย ถ้าพากันปิดตา แล้วก็เดินไป ก็ย่อมจะไปสู่ที่มืด ไปสู่ที่ชั่ว มีอันตรายร้อยแปดประการได้ แต่ถ้าพากันลืมตาขึ้นดูให้เห็น แล้วก็เดินไปตามทางที่สว่าง ก็ย่อมจะไปสู่ที่สว่าง ไปสู่ที่ดีได้ นี่แหละที่ท่านกล่าวว่า “ตนเป็นคติของตน” คือเป็นทางไปของตน.
  • ไม่มีผู้ใดอยากมีหนทางชีวิตที่มืด มีแต่อยากมีหนทางชีวิตที่สว่างด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นก็ต้องอบรมตนให้รู้จักทางให้ดีทางมืดก็ให้รู้ ทางสว่างก็ให้รู้ ไปสู่ที่มืดก็ให้รู้ไปสู่ที่สว่างก็ให้รู้ จะรู้ได้ถูกต้องก็ด้วยอาศัยการศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอนไว้ เมื่อรู้แล้วก็พึงศึกษาวิธีเดินทางให้จงดี เดินทางสว่างท่านเดินกันอย่างไรต้องศึกษาให้ดี เดินอย่างไรจึงจะเป็นเดินทางมืดและขึ้นชื่อว่าทางมืดแล้วต้องมีอันตราย แอบแฝงอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย จึงไม่ควรเสี่ยงเดินส่งเดชไปอบรมใจให้ดี ให้ตาใจสว่างจะได้เดินทางถูกทาง สามารถทำตนให้เป็นคติของตนได้.
  • “ตนแลเป็นที่รักอย่างยิ่ง” พุทธศาสนสุภาษิตนี้เตือนให้ระลึกรู้ว่าต้องรักษาตนให้จงดี ให้เป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงไม่ใช่ได้รับโทษที่แฝงมาในรูปของ ประโยชน์อันประโยชน์ที่ปิดบังเร้นโทษไว้ภายในนั้นมีเป็นอันมาก แม้ไม่พิจารณาให้รอบคอบแล้วยากจะแลเห็นจะเห็นแต่ประโยชน์เพียงผิวเผินและแม้ จะได้รับประโยชน์ ก็จะได้เพียงเล็กน้อยชั่วครู่ชั่วยาม หลังจากนั้ก็จะได้รับโทษเป็นอันมาก ทำเช่นนี้กล่าวได้ว่าทำไปอย่างไม่คำนึงให้ถูกต้องว่าตนแลเป็นที่รักอย่างยิ่ง.
  • ผู้ที่เห็นว่าตนเป็นที่รักอย่างยิ่งมักจะมุ่งแสวงหาลาภยศให้แก่ตน คิดว่าเมื่อตนมีลาภมียศก็เท่ากับตนมีคุณสมบัติสมกับตนเป็นที่รักอย่างยิ่ง ถ้าเป็นลาภยศที่สุจริต ได้มาอย่างเหมาะสม ถูกต้องตามเหตุผล ก็เป็นการถูกต้องที่จะมอบให้กับผู้เป็นที่รักอย่างยิ่งคือตนนี้แล ถ้าแสวงหาลาภยศอย่างไม่สุจริต ไม่เหมาะสม เพื่อมอบให้แก่ตน ด้วยคิดว่าเป็นการแสดงความรักตน เช่นนี้ไม่ถูก เป็นการไม่รักตน เป็นการไม่ถือว่าตนแลเป็นที่รักอย่างยิ่ง.
  • รักตนต้องถนอมห่วงใยรักษา รักตนอย่างยิ่ง ต้องถนอมห่วงใยรักษาอย่างยิ่ง อย่าว่าแต่ความสกปรกมากมายเป็นความเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างมากเลย แม้ความมัวหมองเพียงเล็กน้อย ผู้ที่รักตนมีตนเป็นที่รักอย่างยิ่งก็ไม่พึงทำ ยิ่งกว่านั้น ผู้มีตนเป็นที่รักอย่างถูกต้องแท้จริง ยังไม่เพียงรักษาแต่ชื่อเสียงเกียรติยศอันเป็นความงามภายนอกเท่านั้น ยังเป็นการรักษาจิตใจอันเป็นสมบัติภายในให้งามล้ำค่าอย่างยิ่งอีกด้วย.
  • ผู้มีปัญญายิ่งทั้งหลายที่ท่านพยายามอบรมปัญญาที่ถูกที่ชอบ เพื่อให้ปัญญานั้นชำระล้างความสกปรกเศร้าหมองของใจออกให้หมดสิ้น ก็เพราะท่านเห็นว่าตนแลเป็นที่รักอย่างยิ่ง.
  • ความโลภความโกรธความหลง ล้วนเป็นเครื่องเพิ่มความสกปรกเศร้าหมองของจิต เมื่อรู้จริงว่าตนแลเป็นที่รักอย่างยิ่ง ก็ต้องพยายามชำระล้างความสกปรกนั้น เพื่อให้ลดน้อยจากจิตใจ จนถึงให้หมดไปในที่สุด.
  • ที่ท่านสอนให้ละความโลภความโกรธความหลง ก็เพราะท่านมุ่งให้รักษาตนให้มีค่าสมกับมีตนเป็นที่รักอย่างยิ่ง ผู้ใดไม่รู้สึกว่าตนแลเป็นที่รักอย่างยิ่งก็อาจจะไม่ต้องปฏิบัติตามที่ท่าน สอนไว้นี้ แต่ถ้าผู้ใดคิดว่าตนแลเป็นที่รักอย่างยิ่งก็พึงปฏิบัติละโลภโกรธหลงตามที่ ท่านสอนไว้เถิด.
  • “ความรักผู้อื่นเสมอด้วยตนไม่มี” นี้เป็นพุทธศาสนสุภาษิต มีความหมายว่าทุกคนล้วนมีตนเป็นที่รักที่สุดด้วยกันทั้งนั้น เรารักตัวเราที่สุด ผู้อื่นก็รักตัวเขาที่สุด จะคิดจะพูดจะทำอะไรทั้งนั้นต้องไม่ลืมนึกถึงพุทธศาสนสุภาษิตบทนี้ นึกให้ฝังมั่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจได้เพียงไร ก็จะยิ่งดีเพียงนั้น เรารักตัวเรา คนอื่นทุกคนก็รักตัวเขา เราไม่อย่ากให้ใครทำอะไรตัวเรา คนอื่นทุกคนก็ไม่อยากให้เราทำเช่นนั้นแก่ตัวเขาเหมือนกัน เราอยากให้ใครทำดีกับตัวเราอย่างไร คนอื่นทุกก็อยากให้เราทำดีกับตัวเขาอย่างนั้น.
  • ผู้ใดสามารถรักษาจิตใจ รักษาวาจา รักษาการกระทำให้เป็นไปเพื่อไม่เป็นการให้ทุกข์ให้ร้อนแก่ผู้อื่นนั้น ไม่เรียกว่าเป็นการทำเพื่อผู้อื่น ไม่เรียกว่าเป็นการถือผู้อื่นว่าเป็นที่รักของตน แต่เป็นการทำเพื่อตนเอง เป็นการถือว่าตนเป็นที่รักของตนอย่างยิ่ง ไม่มีความรักอื่นเสมอด้วยความรักตน.
  • เมื่อจะคิดชั่วพูดชั่วทำชั่วเมื่อใด ขอให้นึกถึงตนเอง นึกว่าตนเป็นที่รัก ไม่ควรทำลายตนเหมือนตนเป็นที่รังเกียจเกลียดชังอย่างยิ่งจนถึงควรต้องทำลาย เสียการคิดชั่วพูดชั่วทำชั่วคือการทำลายตนอย่างแน่แท้.
  • บาปนั้นส่วนหนึ่งเข้าใจกันว่าหมายถึงการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเขาเท่านั้น แต่ที่จริงมีความหมายกว้างไกลกว่านั้น การทำความเดือดร้อนให้เกิดแก่คนใดสัตว์ใดเป็นบาปทั้งสิ้น เป็นสิ่งไม่ควรทำทั้งสิ้น เพราะเมื่อทำแล้วย่อมเป็นไปตามพุทธศาสนสุภาษิตว่า “ตนทำบาปเองย่อมเศร้าหมองเอง”.
  • เมื่อจะทำบาป ไม่ว่าบาปมากบาปน้อยก็ตาม บาปมากคือการฆ่าเขา บาปน้อยคือการทำให้เขาเดือดร้อนทรมานด้วยประการต่างๆ หรือทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียง ทำให้เขาเจ็บช้ำน้ำใจ ดังนี้เป็นต้นเมื่อจะทำบาปดังกล่าว แม้เป็นเพียงก่อนลงมือทำเพียงคิดจะทำดำริจะทำ ขอให้ดูใจของตน ดูให้เห็นว่ามีความผ่องใสหรือว่ามีความขุ่นมัว มีความเย็นหรือว่ามีความร้อน ขอให้ดูแล้วก็จะเห็นแน่นอน ว่าใจเป็นเช่นไร เป็นความเศร้าหมองไม่ใช่หรือ เป็นความร้อนไม่ใช่หรือพอใจจะให้ใจเป็นเช่นนั้นหรือ ถ้าพอใจเช่นนั้นจงทำบาปกรรมนั้นเถิด ถ้าไม่พอใจจงอย่าทำบาปกรรมนั้นเลย.
  • ทุกคนจะดีหรือชั่วสำคัญที่ตนเอง ตนเองมีความดีพอจะยอมรับความไม่ถูกต้องไม่ดีงามของตน ย่อมยินดีฝึกตน ย่อมยินดีแก้ไขตน ย่อมมีโอกาสเป็นคนดียิ่งขึ้น.
  • การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เสมอ ย่อมมีความชำนาญในสิ่งนั้น มีความคุ้นเคยกับการทำสิ่งนั้น ย่อมทำได้ดีประพฤติดีเสมอก็จะเป็นผู้คุ้นเคยกับความดีคุ้นเคยการทำดีจะไม่ เกี่ยวข้องกับความไม่ดีไม่คุ้นเคยกับความไม่ดี.
  • ผู้ที่ประพฤติดีลุ่มๆดอนๆ คือบางทีก็ทำดี บางทีก็ไม่ทำดี เช่นนี้ก็จักเป็นคนดีไม่สม่ำเสมอ ถ้าทำดีมากครั้งกว่า ทำไม่ดีน้อยครั้งกว่า ก็จักเป็นคนที่มีโอกาสดีมากกว่าที่ไม่ดี คือคุ้นเคยกับความดีมากกว่าคุ้นเคยกับความไม่ดี เหมือนผู้ที่ติดต่อไปมาหาสู่กับบ้านใดมากก็จักคุ้นเคยกับบ้านนั้นและผู้คนใน บ้านนั้นมาก ติดต่อไปมาหาสู่บ้านใดน้อยก็จักคุ้นเคยกับบ้านนั้นและผู้คนในบ้านนั้นน้อย.
  • ผู้ที่อบรมสมาธิทำใจให้สงบมาก ก็เท่ากับฝึกใจให้คุ้นเคยกับความสงบมาก มีความสงบมาก ผู้ที่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านวุ่นวายไปกับเรื่องกับอารมณ์ต่างๆมาก ก็เท่ากับฝึกใจให้วุ่นวายฟุ้งซ่านมาก เพราะคุ้นเคยกับความวุ่นวายฟุ้งซ่านมาก ความสงบก็มีน้อย ผู้ที่อบรมปัญญามาก พยายามฝึกให้เกิดเหตุผลมาก ก็จะคุ้นเคยกับการใช้เหตุผล ไม่ขาดเหตุผล ผู้ที่มีเหตุผลก็คือผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่ขาดเหตุผลก็คือผู้ที่ขาดปัญญา เหตุผลหรือปัญญาก็ฝึกได้ เป็นไปตรงตามพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “บัณฑิตย่อมฝึกตน” และที่ว่า “ผู้ประพฤติดีย่อมฝึกตน” นั่นเอง.
  • ทุกคนควรพิจารณาดูใจตนเอง ให้เห็นความปรารถนาต้องการที่แท้จริง ว่าต้องการอย่างไร ต้องการเป็นคนฉลาด มีปัญญา มีเหตุผล ก็ต้องประพฤติคือคิดพูดทำ แต่สิ่งที่เป็นไปตามเหตุผล ถูกต้องด้วยเหตุผล ต้องการเป็นคนดีก็ต้องประพฤติดีให้พร้อมทั้งกายวาจาใจให้สม่ำเสมอ การคิดดีพูดดีทำดีเป็นครั้งคราวหาอาจทำตนให้เป็นคนดีได้ไม่หาอาจเป็นการ ประพฤติดีที่เป็นการฝึกตนไม่.
  • ผู้วางเฉย มีอุเบกขา ไม่ยินดียินร้ายเป็นผู้พอ พอใจในสภาพของตน ไม่ดิ้นรนเพื่อให้ตนสูงขึ้นด้วยประการทั้งปวง ไม่เห่อเหิมว่าตนสูงแล้ว เมื่อความไม่ยินดียินร้ายมีอยู่ ท่านจึงกล่าวว่า ผู้วางเฉยดังกล่าวเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้น.
  • ความพอใจในสภาพของตนเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง ความพอใจนั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือความพอ ผู้ที่มีความพอแล้วย่อมมีความพอในภาวะและฐานะของตน จนกระทั่งต้องไม่เห็นความสำคัญจนกระทั่งต้องนำตนไปเปรียบกับผู้อื่น ผู้อื่นจะสูงจะต่ำ จะดีจะไม่ดีอย่างไร ผู้ที่มีความพอแล้วย่อมไม่นำตนไปเปรียบ ย่อมไม่เกิดความรู้สึกเห่อเหิมว่าคนอื่นต่ำกว่า ตนสูงกว่า ไม่ดิ้นรนทะเยอทะยานที่จะยกฐานะของตนให้สูงขึ้น เพราะเห็นว่าผู้อื่นสูงกว่า ตนต่ำกว่า.
  • ผู้ที่ดูถูกผู้อื่นก็ตาม ผู้ที่ตื่นเต้นในความใหญ่โตของผู้อื่นก็ตาม ล้วนเป็นผู้ไม่อยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้วางเฉย” แต่เป็นผู้ขาดสติ เพราะผู้วางเฉยเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ ผู้วางเฉยเป็นผู้ไม่ดูถูกผู้อื่น เพราะไม่เห็นว่าผู้อื่นต่ำต้อยกว่าตน ไม่เห็นว่าตนสูงกว่าผู้อื่น ผู้วางเฉยมีสติทุกเมื่อย่อมไม่ตื่นเต้นในความใหญ่โตของผู้อื่น เพราะไม่เห็นว่าผู้อื่นสูงกว่าตน ไม่เห็นว่าตนต่ำกว่าผู้อื่น.
  • ความสำคัญตนว่าเสมอเขานั้นมีได้เป็นสองนัยคือ สำคัญตนว่าเสมอกับผู้ทีต่ำต้อยเมื่อมีความสำคัญตนนี้เกิดขึ้นก็ต้องมีความ น้อยเนื้อต่ำใจ มีความแฟบลงของใจ เพราะย่อมสำคัญตนเลยไปถึงว่าตนต่ำกว่าผู้มีภาวะฐานะสูง นี้เป็นนัยหนึ่งของความสำคัญตนว่าเสมอเขา ความสำคัญตนว่าเสมอเขาอีกนัยหนึ่งก็คือ สำคัญตนว่าเสมอกับผู้ที่สูงด้วยภาวะและฐานะ เมื่อความสำคัญตนเช่นนี้เกิดขึ้นก็ต้องมีความลำพองใจยกตนข่มท่าน มีความฟูขึ้นของจิตใจ เพราะย่อมสำคัญตนเลยไปถึงว่าตนสูงกว่าผู้ที่มีภาวะฐานะต่ำต้อย.
  • ความไม่วางเฉย ไม่มีสติทุกเมื่อ เป็นเหตุให้เกิดกิเลสเครื่องฟูขึ้นและแฟบลงของจิตใจ เพราะความไม่วางเฉยเป็นทางให้เกิดความสำคัญตนสามประการ คือสำคัญตนว่าเสมอกับเขา ดีกว่าเขา ต่ำกว่าเขา ความสำคัญตนทั้งสามประการมีแต่โทษสถานเดียวไม่มีคุณอย่างใด จึงควรอบรมความวางเฉยให้มาก พยายามตัดความรู้สึกสำคัญตนดังกล่าวให้สิ้น จะได้รับความสงบสุขยิ่งนัก.
  • ตนที่ฝึกแล้วดี หรือตนที่เป็นคนดีย่อมเป็นที่พึ่งที่ดีของตนเอง.
  • อันที่พึ่งที่ดีนั้น ผู้ใดไม่ยอมรับว่าคือตัวของตัวเองที่ดี ผู้นั้นจักยังต้องพยายามแสวงหาอยู่ กล่าวได้ว่าทุกคนปรารถนาจะมีที่พึ่งโดยเฉพาะที่พึ่งที่ดี แต่โดยมากพากันไปคิดว่าจะพึ่งคนนั้นคนนี้ที่มีบุญมีวาสนา มีอำนาจราชศักดิ์ยิ่งใหญ่ในวงการวงการนี้ เพื่อว่าตนจะได้มีความสวัสดีมีความปลอดโปร่งเมื่อต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง พัวพันกับวงการหนึ่งดังกล่าว ความคิดนี้ทำให้คนเป็นอันมากพากันเข้าไปห้อมล้อมผู้มีอำนาจวาสนา เกิดการกีดกันแก่งแย่งกันขึ้นอยู่เนืองๆ และบางทีเข้าไปห้อมล้อมก็เป็นการเข้าไปผิดคนผิดที่คิดนึกว่าเป็นคนที่ดีเป็น ที่ที่ดี แต่ก็หาได้เป็นจริงเช่นนั้นไม่ กลับกลายเป็นไปห้อมล้อมคนไม่ดีไปสู่ที่ไม่ดี ก่อให้เกิดความวุ่นวายยุ่งยากตามมาได้ต่างๆ นี่ก็เป็นเพราะแสวงหาที่พึ่งภายนอก จึงเป็นอันแน่นอนว่าที่พึ่งภายนอกนั้นไม่ใช่ว่าจะเหมาะสมกับตนเสมอไป ไม่ใช่ว่าจะช่วยตนจะเป็นที่พึ่งพิงของตนได้จริงเสมอไป ที่พึ่งที่สำคัญที่ให้คุณแน่แท้คือตนเองของทุกคนที่ฝึกดีแล้วนั่นแล.
  • ทำตนของตนเองนี้แหละให้เป็นที่พึ่งแก่ตนเองแล้วที่พึ่งภายนอกย่อมมีมา อย่างแน่นอน ถ้าตนเองไม่สามารถเป็นที่พึ่งของตนได้แล้ว ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะได้ที่พึ่งภายนอกที่ดี.
  • ผู้ใดไม่ฝึกตนให้เป็นคนดี ใครอื่นไหนเล่าจะสนใจมาให้ความช่วยเหลือมายอมเป็นที่พึ่ง คนดีมีปัญญานั้นจะให้ผู้ใดพึ่งจักต้องพิจารณาเห็นความเหมาะความควรก่อนเสมอ จะไม่ยอมตนให้เป็นที่พึ่งของใครอย่างไม่พินิจพิจารณา.
  • ผู้ที่ฝึกตนให้ดีได้แล้ว ย่อมเป็นที่พึ่งของตนเองได้ ใครรู้ใครเห็นย่อมจะยินดีจะให้ความอุปการะช่วยเหลือ ความขัดข้องย่อมยากจักเกิดแก่ผู้มีตนฝึกดีแล้ว.
  • ความดีนี้มีอานุภาพยิ่งใหญ่ จึงไม่ควรประมาทความดี ควรทำความดีไว้ให้เสมอ ให้มาก ให้เต็มสติปัญญาความสามารถ มีโอกาสใด มีช่องทางใด ที่จะทำความดีได้ พึงอย่าละเลยโอกาสนั้น พึงอย่าละเลยช่องทางนั้นแต่พึงรีบทำทันที ฝึกตนให้ดีได้เพียงไรจะเห็นด้วยตนเอง ว่าได้มีที่พึ่งที่ดีเพียงนั้น ไม่ต้องว้าเหว่ ไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะมีอุปสรรคใดๆ เกิดขึ้นได้ในชีวิต.
  • ความดีนั้นเปรียบได้เหมือนแก้วสารพัดนึก.
  • พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้มีความว่า “ผู้ใดรักษาตนได้ ภายนอกของผู้นั้นก็เป็นอันรักษาด้วย” ความหมายอีกชั้นหนึ่งของพุทธศาสนสุภาษิตนี้ก็คือ ผู้ใดรักษาตนได้ ผู้อื่นทั้งหลายก็จะรักษาผู้นั้นด้วยความหมายชั้นนี้น่าจะทำให้เกิดความ อบอุ่นปลอดภัยเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่รู้ตัวว่าตนสามารถรักษาตนได้แล้ว เพราะย่อมอบอุ่นว่าจะไม่มีเภทภัยใดเกิดกับตนได้ ด้วยมีผู้อื่นทั้งหลายช่วยรักษาอยู่ แต่การจะรักษาตนได้นั้นเป็นปัญหาสำคัญ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ง่าย ต้องมีสติมีความตั้งใจจริง จึงจะสามารถทำได้ดังนั้น แม้ต้องการจะมีความสวัสดีในชีวิต ต้องพยายามรักษาตนให้ได้.
  • ผู้ที่รักษาตนได้คือผู้ที่มีความดี ที่กล่าวว่ารักษาตนได้นั้นพูดให้ยาวออกไปคือ มีความดีรักษาตนอยู่นั่นเอง ไม่ได้หมายความเป็นอย่างอื่น ไม่มีผู้ใดจะสามารถรักษาตนได้ถ้าไม่มีความดี ถ้าไม่ได้ทำความดีอย่างเพียงพอ.
  • ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม คือผู้ประพฤติดีย่อมมีความดีรักษา ย่อมเป็นผู้ที่รักษาตนได้ ดังนั้นสิ่งซึ่งต้องทำที่เป็นความสำคัญสำหรับทุกคนที่ต้องการรักษาตนคือความ ดี.
  • อันการทำความผิดความชั่วนั้นไม่ว่ามากน้อยหนักเบาเพียงไร แม้ผู้ใดอื่นจะไม่รู้ไม่เห็นแต่ตัวเองต้องรู้ต้องเห็น ต้องรู้สึกในความผิด ความไม่ดีของตนอย่างแน่นอน ความรู้สึกนั่นแหละที่เป็นเครื่องทำให้ไม่เป็นสุข ตรงกันข้ามกับผู้ที่ทำความดีความชอบทั้งหลาย บุคคลประเภทหลังนี้แม้จะขาดลาภขาดยศ แต่ก็มีความสงบสุขของจิตใจที่มีค่าสูงกว่าลาภยศที่ได้มาโดยไม่ชอบ ที่อาจนำอาญาบ้านเมืองให้ติดตามมาได้ เรียกว่าผู้ทำความไม่ดีไม่ชอบไม่สุจริตทั้งหลายเป็นผู้รักษาตนไม่ได้ผู้อื่น ทั้งหลายก็ไม่ช่วยรักษาด้วย ผลย่อมเป็นความไม่สวัสดีทั้งทางกายและทางใจ คือใจก็วุ่นวายไม่สงบสุข กายก็อาจไปสู่ที่ชั่วที่เดือดร้อนได้ในวันหนึ่งอย่างแน่นอน.
  • จะเป็นคนดีได้ต้องสำคัญที่มีจิตใจดีก่อนเพราะใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ รักษาใจให้ดีได้เพียงไร ก็เรียกว่ารักษาตัวให้ดีได้เพียงนั้น ใจแวดล้อมด้วยความโลภความโกรธความหลงมากเพียงไร ตนที่มีใจนั้นครองอยู่ก็จะเป็นตนที่ดีไม่ได้พียงนั้น ความรักตนของผู้มีใจเช่นนั้นย่อมไม่เป็นความรักที่ถูกแท้ ไม่น่าให้เกิดผลดีแก่ตนอย่างไร ทำใจให้ไกลความโลภความโกรธความหลงได้มากเพียงไร แม้ไม่รู้สึกว่ารักตนแต่นั่นก็เป็นความรักตน เป็นการสามารถรักษาตนได้เพียงนั้น.
  • ความโลภความโกรธความหลงนี้สำคัญที่สุด รักษาไว้ใกล้ใจตนเพียงใด ก็เท่ากับมีศัตรูผู้ทำลายตนอยู่ใกล้เพียงนั้น.
  • กิเลสเป็นสิ่งที่มีเต็มโลกทุกยุคทุกสมัย ทำลายไม่ได้ แต่หนีไกลได้ ถ้าทำลายกิเลสได้ พระพุทธเจ้าจักทรงทำลายให้หมดสิ้นโลกไปแล้ว เพราะทรงเห็นโทษของกิเลส ว่าใหญ่ยิ่งนัก กิเลสเป็นศัตรูร้ายนัก.
  • หนีไกลความโลภความโกรธความหลงได้เพียงใด ก็เท่ากับทำลายศัตรูร้ายได้เพียงนั้น รักษาตนดีได้เพียงนั้น.
  • ความโลภความโกรธความหลงนั่นแหละเป็นความสำคัญ เราจะดีเราจะชั่วก็ที่กิเลสสามกองนี้นั่นเอง ฉะนั้นอย่าปล่อยกิเลสสามกองนี้ให้เป็นไปตามอำเภอใจ ต้องตั้งใจควบคุมให้อยู่ในอำนาจและต้องพยายามหนีไกลให้จงได้ ตั้งใจทำให้จริงจังแล้วจะได้ผล เป็นการรักษาตนให้ดีสมกับที่ตนเป็นที่รัก.
  • พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้มีความว่า “ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก ก็ควรรักษาตนนั้นให้ดี” เป็นการเตือนใจด้วยความไพเราะยิ่งนัก ควรยิ่งนักที่จะได้รับความสนใจอย่างยิ่งถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก ก็ควรรักษาตนนั้นให้ดี ขอให้ทบทวนคำเตือนนี้ให้เสมอ แล้วจะรู้สึกซาบซึ้งว่าเป็นคำเตือนที่สุภาพอ่อนโยนและไพเราะลึกซึ้ง เมื่อทบทวนคำเตือนนี้แล้วก็น่าจะนึกเลยไปว่า ผู้กล่าวคำเตือนได้เช่นนี้ย่อมมีความปรารถนาดีอย่างที่สุดต่อเราทุกคน จึงควรเคารพเทิดทูนท่าน ให้ความสนใจและปฏิบัติให้เป็นไปตามคำขอของท่าน เพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณและน้ำใจที่งดงามซึ่งมีต่อเราทั้งหลาย.

ขอจบบทศึกษา เรื่อง รินรสพระธรรมแสดง : แสงส่องใจ ด้วยพุทธมนต์บทนี้

สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี
พระพุทธเจ้าเป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า
ด้วยความกล่าวสัตย์นี้
ขอข้าพเจ้าพึงเจริญในพระศาสนาของพระศาสดา

สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี
พระธรรมเป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า
ด้วยความกล่าวสัตย์นี้
ขอข้าพเจ้าพึงเจริญในพระศาสนาของพระศาสดา

สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี
พระสงฆ์เป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า
ด้วยความกล่าวสัตย์นี้
ขอข้าพเจ้าพึงเจริญในพระศาสนาของพระศาสดา

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น