ปกิณกธรรม

ประวัติวันลอยกระทง

ลอยกะโหล้ง ย้อนอดีตประเพณีเก่าแก่ลำพูน

สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีนั้น มีพระราชพิธี “จองเปรียง” ในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นนักขัตฤกษ์ ชักโคม ลอยโคม ประชาชนพลเมืองชายหญิงต่างตกแต่ง โคมชัก โคมแขวน โคมลอย ทุกตระกูลทั่วทั้งพระนครเพื่อถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงสักการะ พระจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ส่วนพระสนมกำนัลฝ่ายใน ก็ทำโคมลอยด้วยบุปฝาชาติเป็นรูปต่างๆ ประกวดกัน เพื่อถวายให้ทรงอุทิศบูชารอยพระพุทธบาท ณ ฝั่งแม่น้ำ นัมทานที แต่ “นางนพมาศ” พระสนมเอกของ “พระร่วงเจ้า” นั้น ได้ประดิษฐ์โคมลอย (คือกระทง) อย่างงดงามเป็นพิเศษ

สมเด็จพระร่วงเจ้าทอดพระเนตรเห็นโคมงามประหลาดของนางนพมาศ ก็ทรงพอพระทัยมาก จึงรับสั่งให้ถือเป็นประเพณีว่า ในวันเพ็ญเดือน ๑๒ นี้ ให้ประดิษฐ์ “โคมลอย” เป็นรูป “ดอกบัว” ไปสักการบูชารอยพระพุทธบาท ณ ฝั่งแม่น้ำนัมทานที ซึ่งต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อเรียกว่า “ลอยกระทงทรงประทีป”

หลังจากนั้น พระมหากษัตริย์ก็ถวาย ดอกไม้เพลิง บูชาพระรัตนตรัยทุกพระอารามหลวงแล้วทรงทอด ผ้าบังสุกุลจีวร ถวายพระภิกษุสงฆ์ บรรดาขุนนางและประชาราษฏร์ก็ดำเนินตามพระยุคลบาท เป็นที่สนุกสนานกันทั่วหน้า เมื่อพระร่วงเจ้าทรงลอยกระทงแล้วลงเรือพระที่นั่งประพาสชมแสงจันทร์ และเสด็จทอดพระเนตรโคมไฟ โปรดให้ “นางนพมาศ” โดยเสด็จด้วย ทรงรับสั่งให้นางผูกกลอนให้พวกนางบำเรอขับถวาย

เมื่อทรงสดับบทกลอนแล้ว จึงรับสั่งถามว่าที่ต้องการให้พวก “เจ้าจอมหม่อมห้าม” มาด้วยนั้น เห็นว่าจะได้ประโยชน์อย่างใด..? นางก็กราบทูลสนองว่า เพื่อเปิดโอกาสให้นางเหล่านั้น ได้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าแพรพรรณที่สวยงาม ได้ออกหน้าสักครั้งหนึ่ง ก็จะชื่นชมยินดีมีความสุข และจะรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอยู่ไม่รู้วาย บรรดาเครื่องอาภรณ์ที่ได้ทรงโปรดพระราชทานไปแล้วนั้น ก็จะได้มีโอกาสตกแต่งกันในครั้งนี้

ครั้นได้ทรงสดับดังนั้นก็ทรงพอพระทัยในคืนต่อมาก็ทรงโปรดให้บรรดานางในได้ตามเสด็จโดยทั่วหน้ากัน และเป็นประเพณีนับแต่นั้นมา..

ประวัตินางนพมาศ

ประวัตินางนพมาศ

ตามประวัติ “นางนพมาศ” ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ บิดามีนาม “โชตรัตน์” มีบรรดาศักดิ์ว่า .. “ออกพระศรีมโหสถ ยศกมเลศ ครรไลยหงศ์ พงศ์มหาพฤฒาจารย์” มีเกียรติยศยิ่งกว่านักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งปวง รับราชการในฐานะเป็นปุโรหิต ณ กรุงสุโขทัย มีหน้าที่บังคับบัญชากิจการตกแต่งพระนคร มีการทำพระราชพิธี ๑๒ เดือน เป็นต้น

ส่วนมารดาชื่อ “นางเรวดี” เมื่อนางจะตั้งครรภ์นั้น ฝันว่าได้เยี่ยมพระบัญชรสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ชมแสงจันทร์จนตกใจตื่น แม้พระศรีมโหสถก็ฝันว่า ได้เห็นดอกไม้นานาพันธุ์แย้มบานเกสรอยู่สะพรั่งในมิใช่ฤดูกาล และมีกลิ่นหอมระรื่นตลบอบอวล

ความฝันทั้งสองนี้พยากรณ์ว่า จะได้บุตรเป็นหญิง จะมีวาสนาพรั่งพร้อมไปด้วยสติปัญญาและเกียรติยศ เป็นที่พึ่งแก่วงศ์ญาติทั้งหลายครั้นถึงวันจันทร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันเพ็ญ กลางเดือน ๓ ปีชวด อันเป็นเวลาที่ภาคพื้นอากาศปราศจากเมฆ พระจันทร์ทรงกลดแสงประภัสสร รัศมีขาวเจือสีเหลืองอ่อน กาลนั้นนางก็คลอดจากครรภ์มารดา

หมู่ญาติมิตรทั้งหลายก็นำเครื่องทองชนิดต่างๆ มาทำขวัญ เช่น ดอกไม้ทอง สนอบ เกล้าทอง จุฑาทอง ประวัตรทอง กุณฑลทอง ธุรำทอง วลัยทอง ของ ๗ สิ่งนี้เฉลิมขวัญ ท่านบิดาจึงให้นามว่า “นพมาศ” (มีผู้แปลว่า “ทองเนื้อเก้า”) แล้วอาราธนาพระมหาเถรานุเถระ ๘๐ องค์ จำนวน ๗ วัด มาเจริญพระพุทธมนต์ในบท “มงคลสูตร รัตนสูตร” และ “มหาสมัยสูตร” จนครบ ๗ วัน

แล้วอัญเชิญ “พราหมณาจารย์” ผู้ชำนาญในไตรเพทอีก ๖๐ คน มากระทำพิธีชัยมงคลอีก ๓ วัน เพื่อสมโภชธิดาผู้เกิดใหม่ให้มีความสวัสดิมงคล เสร็จแล้วก็ถวายไทยธรรมแก่พระเถระ ด้วยไตรจีวรกับของที่เป็นบริวารทั้งหลายและสักการะหมู่พราหมณ์ด้วยทรัพย์ เป็นอันมากในการเลี้ยงดูนางเมื่อเยาว์วัย บิดามารดาก็ได้คัดเลือกเอาแต่ผู้ที่มีความเฉลียวฉลาดในวิชาต่างๆ ให้เป็นผู้ดูแล พี่เลี้ยงก็จะสอนให้ร้อยกรองให้วาดเขียน เป็นต้น

ครั้นจำเริญวัยอายุได้ ๗ ปี บิดาก็ให้ศึกษาวิชาต่างๆ เป็นต้นว่า อักษรไทย อักษรสันสกฤต ภาษาบาลี พอแปลได้ เรียนคัมภีร์ไตรเพท แต่งกลบทกลอน กาพย์ โคลง ฉันท์และลิลิต เรียนตำรับโหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ และตำราพยากรณ์ จนอายุได้ ๑๕ ปี ก็มีความชำนิชำนาญเฉลียวฉลาด รู้คดีโลกและคดีธรรม นับเป็นสตรีนักปราชญ์ได้ผู้หนึ่ง

นางนพมาศจึงเป็นยอดหญิงสุโขทัย ที่มีความเฉลียวฉลาดในวิชาการต่างๆ มีความชำนาญในด้านภาษา วรรณคดี การขับร้องดนตรี บทกวีต่างๆ และมีรูปโฉมงดงามอีกด้วย จนเป็นที่ยกย่องสรรเสริญกันโดยทั่วไป มีความตอนหนึ่งที่ท่านได้บันทึกชีวิตส่วนตัวไว้ว่า…“..วันคลอดจากครรภ์มารดา พื้นอากาศก็ปราศจากเมฆ พระจันทร์ก็ทรงกลดแสงประภัสสร รัศมีขาวเจือสีเหลืองอ่อน เสวยฤกษ์บุษยวันเพ็ญ เดือน ๓ ปีชวด ประกอบกับมีฉวีวรรณเรื่อเรืองเหลือง ประดุจชโลมลูบด้วยแป้งสารภีทั่วทั้งกรัชกาย จึงให้นามข้าน้อยนี้ว่า “นพมาศ”

จากความงามทั้ง ๓ ประการของนางคืองามรูปสมบัติ งามทรัพย์สมบัติ และปัญญาสมบัติ จึงทำให้ชาวเมืองสุโขทัยต่างก็สรรเสริญทุกเช้าค่ำ กิตติศัพท์นี้ก็แพร่หลายเล่าลืมต่อๆ กันไป จนมีทิศาปาโมกข์ผู้หนึ่ง ได้ผูกกลอนสรรเสริญนางนพมาศขึ้นไว้ ๓ บท

ตำแหน่งพระสนมเอก

อันกลอนทั้ง ๓ บทนี้ บรรดาหญิงชายทั้งหลาย ต่างก็พากันขับร้องและดีดพิณยลโฉมคุณความดีของนางอยู่โดยทั่วไป จนแม้พนักงานบำเรอพระเจ้าแผ่นดินก็จดจำได้ จนกระทั่งถึงวันหนึ่งได้ขับเพลงพิณบทนี้บำเรอถวายสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ครั้นได้ทรงสดับก็พอพระทัยแล้วสอบถามว่า เป็นความจริงหรือแกล้งสรรเสริญกันไปเอง

ท้าวจันทรนาถภักดี ผู้เป็นใหญ่ฝ่ายในได้กราบทูลว่าเป็นความจริง นางอายุได้ ๑๕ ปี ควรจะได้เป็นพระพนมกำนัลอยู่ในพระราชฐานสมเด็จพระร่วงเจ้า จึงมีรับสั่งให้นำนางนพมาศเข้ามาเป็นพระสนมอยู่ในพระราชวัง เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ “ออกพระศรีมหโหสถ” ผู้บิดาท้าวจันทรนาถฯ รับพระราชบัญชาก็มาแจ้งให้พระศรีมโหสถทุกประการ

เมื่อพระศรีมโหสถได้ทราบดังนั้น ก็รู้สึกอาลัยธิดายิ่งนัก แต่ก็ได้ทราบมาแล้วแต่ต้นว่า นางนี้เกิดมาสำหรับผู้มีบุญ จึงยินยอมตามพระราชประสงค์ และจะได้เลือกหาวันอันเป็นมงคล เพื่อนำธิดาของตนขึ้นทูลถวายต่อไป นับตั้งแต่นั้นมาชีวิตของนาง จึงได้หันเหเข้ามาอยู่ในแวดวงของสตรีผู้สูงศักดิ์ เพื่อสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภายในพระราชสำนัก

ครั้นถึงวันอันเป็นมงคล พระศรีมโหสถได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ และเชิญพราหมณ์มาทำพิธีให้เป็นสวัสดิมงคล แล้วเชิญหมู่ญาติมิตรมาประชุม นางนพมาศก็ทำการเคารพหมู่ญาติมิตรมาประชุม นางนพมาศก็ทำการเคารพหมู่ญาติมิตรทั้งหลายนั้น บรรดาญาติมิตรต่างก็พากันอวยชัยให้พรแก่นางนพมาศนานาประการ

นกเบญจวรรณ ๕ สีแต่ก่อนที่นางจะเข้าไปเป็นบาทบริจาริกาในพระราชสำนักนั้น พระศรีมโหสถ ผู้เป็นบิดาได้ตั้งปัญหาถาม เพื่อจะทดลองสติปัญญาความสามารถของนางว่า..“นกเบญจวรรณอันประดับด้วยขน ๕ สี เป็นที่งดงามอยู่ในป่าใหญ่ ครั้นมนุษย์ดักเอามาได้ก็นำมาเลี้ยงไว้ในบ้านจนเป็นที่รัก เพราะมีขนสีงามถึง ๕ สี ก็เจ้าเป็นมนุษย์เมื่อเข้าไปอยู่ในพระราชฐาน จะประพฤติตนให้บรรดาคนทั้งหลายรักใคร่เจ้า เช่น “นกเบญจวรรณ ได้หรือไม่?….”

นางนพมาศก็ตอบว่า“ลูกสามารถจะประพฤติตนให้เป็นที่รักใคร่แก่บุคคลเหล่านั้น โดยยึดสุภาษิต ๕ ประการ เช่นเดียวกับสีของ “นกเบญจวรรณ” ทั้ง ๕ คือ:-

ประการที่ ๑ จะเจรจาถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน มิให้เป็นที่รำคาญระคายโสตผู้ใด

ประการที่ ๒ จะกระทำตนให้ละมุนละม่อม ไม่เย่อหยิ่งจองหอง ทั้งจะตกแต่งร่างกายให้สะอดาและสุภาพเรียบร้อย

ประการที่ ๓ จะมีน้ำใจบริสุทธิ์สะอาดไม่อิจฉาพยาบาทปองร้าย หรือดูหมิ่นดูแคลนผู้ใด

ประการที่ ๔ ถ้าปรากฏว่าผู้ใดเมตตารักใคร่โดยสุจริตใจ ก็จะรักใคร่มีไมตรีตอนบมิให้เกิดการกินแหนงแคลงใจได้

ประการที่ ๕ ถ้าได้เห็นผู้ใดทำความดีความชอบในราชการ และทำถูกต้องขนบธรรมเนียมทั้งคดีโลกคดีธรรม ก็จะจดจำไว้เป็นเยี่ยงอย่างแล้วประพฤติและปฏิบัติตามสิ่งที่ดีนั้น ถ้าได้กระทำอย่างนี้แล้ว ก็จะต้องมีผู้เอ็นดูรักใคร่ ขอท่านบิดาอย่าวิตกเลย…”

พระศรีมโหสถและบรรดาญาติมิตรทั้งหลาย เมื่อได้ฟังถ้อยคำนางนพมาศดังนั้นแล้วก็ชื่นชมยินดีชวนกันสรรเสริญอยู่ ทั่วไป ลำดับที่ ๒ พระศรีมโหสถได้ตั้งปัญหาถามต่อไปว่า

ข้อปฏิบัติให้มีผู้เมตตา ๑๒ ประการ

“การที่จะเข้าไปอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินนั้นจะสามารถประพฤติตนให้ถูกพระราชอัธยาศัยในขันติยประเพณี ซึ่งมีอยู่ในตระกูลอันสูงศักดิ์ได้หรือไม่ เพราะสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมีพระอัครมเหสีถึง ๒ พระองค์ และนางพระสนมกำนัลอีกเป็นอันมาก เจ้าจะกระทำตนให้ทรงพระเมตตาได้หรือ?…”

นางนพมาศตอบว่า “ลูกสามารถกระทำได้ แต่ใจหาคำนึงว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระเมตตาหรือไม่ แต่ว่าจะอาศัยสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ เป็นเครื่องช่วยเหลือให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเมตตาเองกล่าวคือ:-

  1. จะอาศัย “ปุพเพกะตะปุญญะตา” ซึ่งได้สร้างสมมาแต่ชาติก่อนสนับสนุน
  2. ตั้งใจจะประกอบความเพียรอย่างสุดความสามารถ ไม่เกียจคร้านในราชกิจการงานทั้งปวง
  3. จะใช้สติปัญญาพิจารณาสิ่งผิดและชอบ แล้วเว้นไม่กระทำสิ่งที่ผิด มุ่งแต่จะประพฤติในสิ่งที่ชอบ
  4. จะใช้ความพินิจพิจารณา สอดส่องให้รู้พระราชอัธยาศัย แล้วจะประพฤติให้ต้องตามน้ำพระทัยทุกประการ มิถือเอาใจตัวเป็นประมาณ
  5. จะประพฤติและปฏิบัติการงานโดยสม่ำเสมอ ไม่ทำงานลุ่มๆ ดอนๆ
  6. จะรักตัวของตัวเองยิ่งกว่ารักผู้อื่น
  7. จะไม่เกรงกลัวผู้ใดให้ยิ่งไปกล่าเจ้านายของตนเอง
  8. จะไม่เข้าด้วยกับผู้กระทำผิด
  9. จะเพ็จทูลข้อความใดๆ ลูกจะกราบทูลแต่ข้อความที่เป็นจริงเท่านั้น
  10. จะไม่นำพระราชดำริอันใด ที่เป็นความลับออกเปิดเผยเป็นอันขาด
  11. จะวางใจให้มั่นคงต่อกิจการงานทั้งปวง ไม่โลเลและแชเชือน
  12. จะจงรักภักดีต่อองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยไม่เสื่อมคลาย

คุณสมบัติ ๗ ประการอนึ่งลูกเป็นคนใหม่เพิ่งจะเข้าไปถวายตัว ยังหารู้ขนบธรรมเนียมสิ่งใดไม่ ฉะนั้นเพื่อสามารถปฏิบัติการงานในหน้าที่ให้ลุล่วงไปจนได้ ลูกจึงจะวางวิธีของลูกไว้ดังนี้

  1. ในขั้นต้น ลูกจะต้องระวังรกษาตัวกลัวต่อความผิด ไม่ทำอะไรวู่วามลงไป
  2. จะต้องคอยสังเกตผู้ที่โปรดปรานคุ้มเคยพระราชอัธยาศัย ว่าประพฤติและปฏิบัติอย่างไร จักได้จดจำนำมาปฏิบัติต่อไป
  3. เมื่ออยู่นานไป ได้รู้เช่นเห็นช่องในกิจการบ้างแล้ว ก็จะได้พากเพียรเฝ้าแหนมิให้ขาดได้
  4. เมื่อใดสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงดำรัสใช้การงานแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะตั้งใจกระทำให้ดีที่สุด สมพระราชหฤทัยประสงค์ให้จงได้
  5. ต่อไปถ้าได้เห็นว่าทรงพระเมตตาขึ้นบ้างแล้ว แม้สิ่งใดจะมิได้ทรงรับสั่งใช้แต่สามารถจะกระทำได้ ก็จะกระทำโดยมิได้คิดเหนื่อยากเลย
  6. เมื่อตระหนักแน่แก่ใจว่าทรงโปรดอย่างใดแล้ว ก็จะได้ชักชวนคนทั้งหลาย ให้ช่วยกันกระทำในสิ่งที่ชอบพระราชอัชญาสัย
  7. เมื่อได้กระทำดังนี้แล้ว หากจะไม่ทรงพระเมตตา ก็จะไม่น้อยเนื้อต่ำใจอย่างใดจะนึกเพียงว่าเป็น “อกุศลกรรม” ที่ได้กระทำไว้แต่ปางหลังเท่านั้น และจะคงกระทำความดีอยู่เช่นนั้น โดยมิเสื่อคลาย…”

แล้วนางได้ยกอุทาหรณ์นิทานเรื่อง นกกระต้อยติวิด และเรื่อง ช้างแสนงอน มาเล่าประกอบด้วย พระศรีมโหสถและบรรดาญาติมิตรทั้งหลาย ต่างได้ฟังก็มีความยินดีในสติปัญญาของนางเป็นอันมาก และพากันสรรเสริญอำนวยพรอยู่ทั่วกัน…

การกระทำเพื่อความมีชื่อเสียงในวาระสุดท้ายท่านบิดาได้ตั้งปัญหาถามต่อไปว่า…“ลูกจะคิดสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างไร ให้ตนเองมีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในแผ่นดิน?…”

นางนพมาศก็ตอบว่า“อันจะกระทำการสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดิน จนมีชื่อเสียงปรากฏเลี่ยงลือนั้น สำหรับสตรีกระทำได้ยากนัก ถ้าเป็นบุรุษอาจจะกระทำได้หลายประการ เช่น การทำรณรงค์สงคราม ทำกิจการงานพระนคร ในสิ่งที่ยากลำบากให้สำเร็จได้ด้วยดี หรือวินิจฉัยถ้อยความให้เป็นไปโดยยุติธรรม หรือจะหาของวิเศษอัศจรรย์มาทู่ลเหล้าถวาย เหล่านี้เป็นต้น

แต่ราชการฝ่ายสตรีที่สำคัญก็คือราชการในพระราชวัง ซึ่งก็ตกเป็นพระราชภาระของพระอัครมเหสีทั้งสองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในส่วนตัวของลูกก็จะมีแต่ความจงรักภักดี ตั้งใจสนองพระเดชพระคุณด้วยความกตัญญูกตเวทีอันสะอาดบริสุทธิ์

แม้ในการนั้นหากจำเป็นจะต้องเสียทรัพย์สินส่วนตัวมากเพียงใด หรือแม้ถึงกับจะต้องเสียสละเลือดเนื้อหรือชีวิตก็ดี ก็เต็มใจอุทิศถวายสนองพระเดชพระคุณโดยมิได้อาลัย

อนึ่งในการปฏิบัติให้ทรงพระเมตตานั้น ลูกปรารถนาที่จะให้ทรงโปรดปรานแต่ในความดีของลูกเท่านั้น การที่จะใช้เสน่ห์เล่ห์กลเวทมนตร์คาถา และกลมารยาต่างๆ เพื่อให้ทรงเมตตาโปรดปรานนั้น ลูกจะละเว้นไม่ประพฤติเป็นอันขาด หรือแม้ลูกจะได้ดีมียศถาบรรดาศักดิ์เพียงใดก็ดี ก็จะยิ่งกระทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จะไม่กำเริบใจว่าทรงรักใคร่แล้วเล่นตัวหรือกดขี่เหยียดหยามผู้อื่น…”

แล้วนางก็ยกอุทาหรณ์นิทานเรื่อง นางนกกระเรียนคบนางนกไส้ช่างยุ มาประกอบด้วย ในที่สุดนางก็สรุปว่า..

“อันนิทานที่ยกมาเล่านี้ ก็เพื่อให้ผู้ฟังจำไปสอนใจตนเองว่า อย่าประพฤติเป็นคนต้นตรงปลายคด และการคบมิตรก็ต้องคบที่เป็นกัลยาณมิตร นักปราชญ์จึงจะสรรเสริญ

อันว่าการคิดถูกและคิดผิด พูดจริงและพูดเท็จ ใจซื่อและใจคด ยั่งยืนและโลเล เรียบร้อยและเล่นตัว สุภาพและดีดดิ้น ปกติและมารยา มักตื่นและมักหลับ มีสติและหลงลืม อุตสาหะและเกียจคร้าน ทำดีและทำชั่ว หรือกัลยาณมิตรและบาปมิตร

บรรดาของคู่กันเหล่านี้ จะประพฤติอย่างหนึ่งและละเสียอย่างหนึ่งเช่นนี้ ลูกก็สามารถจะเป็นผู้มีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในแผ่นดินได้…”

พระศรีมโหสถและบรรดาญาติมิตรผู้นั่งฟังอยู่ ณ ที่นั่นก็แซ่ซ้องสาธุการอยู่ทั่วกัน ในคืนนั้น นางเรวดี ผู้มารดาก็ได้ให้โอวาทแก่นางอีกเป็นอันมาก กล่าวคือ .. มิให้ตั้งอยู่ในความประมาท ให้เคารพแก่ผู้ควรเคารพ ให้ประพฤติจริตกิริยาในเวลาเฝ้าแหนหมอบคลานให้เรียบร้อย ให้แต่งกายเรียบร้อยงามสะอาดต้องตาคต ประพฤติตนให้ถูกใจคนทั้งหลาย ฝากตัวแก่เจ้าขุนมุลนาย คอยระวังเวลาราชการอย่าให้ต้องเรียกหรือต้องคอย ต้องหูไวจำคำให้มั่น อย่าถือตัวหยิ่งจองหอง ให้เกรงกลัวอัครมเหสีทั้งสอง เป็นต้น นางนพมาศก็รับคำเป็นอันดี

ครั้นรุ่งเช้าเป็นวันศุกร์เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๖ ปีมะโรง ฉ ศก อันเป็นเวลาที่นางมีอายุนับปีได้ ๑๗ ปี นับเดือนได้ ๑๕ ปี กับ ๕ เดือน ๒๔ วัน นางเรวดีผู้มารดาได้ให้แต่งกายอันประดับด้วยอาภรณ์นานาชนิด มาคำนับลาบิดาและบรรดาญาติแล้วขึ้นระแทะไปกับมารดา มีบ่าวไพร่ติดตามไปพอสมควร เข้าไปในพระบรมมหาราชวัง

นางเรวดีได้นำไปยังจวน “ท้าวจันทรนาถภักดี” และ “ท้าวศรีราชศักดิ์โสภา” ซึ่งเป็นใหญ่ในชะแม่พระกำนัล เพื่อนำขึ้นเฝ้าสมเด็จพระร่วงเจ้า อันมีพานข้าวตอกดอกมะลิ พานข้าวาร พานเมล็ดพันธุ์ผักกาด พานดอกหญ้าแพรก ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายด้วย

สมเด็จพระร่วงเจ้าทรงรับและมีพระราชปฏิสันถารกับนางเรวดีพอสมควร และพระราชทานรางวัลพอสมควรแก่เกียรติยศ แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้นางนพมาศเข้ารับราชการในตำแหน่ง “พระสนม” นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา…

ฉะนั้น ด้วยคุณความดีที่นางได้นำมาเป็นหลักปฏิบัติดังกล่าวนี้ ต่อมานางนพมาศได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ตำแหน่งพระสนมเอก จึงได้รับการยกย่องเชิดชูว่า เป็นแบบอย่างของกุลสตรีไทย ที่สืบสอดวัฒนธรรมและจริยประเพณี เพื่อผูกพันกับสถาบันชาติศาสนา และพระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ก็ยังมีการจัดริ้วขบวนแห่นางนพมาศ ลอยกระทงทรงประทีปจุดดอกไม้เพลิง เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ริมฝั่งน้ำนัมทา โดยยึดถือเป็นประเพณีประจำชาติไทยกันตลอดมา

ผู้เขียนได้ลำดับประวัติ “รอยพระบาท” และ “การลอยกระทง” มาจนถึงประวัติความเป็นมาของ “นางนพมาศ” ก็เพื่อชี้แจงแสดงเหตุผลประกอบไปด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อันพอที่จะสรุปได้ว่าการลอยกระทงนั้น เป็นการลอยเพื่อบูชา “รอยพระพุทธบาท ณ นัมทานที” แต่เพียงประเด็นเดียวเท่านั้น ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันมา อันเป็นปริศนามานานหลายร้อยปีแล้ว

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น