ปกิณกธรรม

บทเรียนราคาแพงของผู้ปรารถนา พระนิพพาน

หลวงปู่ไดโนเสาร์ (พระญาณวิสาลเถร – หา สุภโร) ตอบปัญหาธรรม บทเรียนราคาแพงของผู้ปรารถนาพระนิพพาน ต้องการนิพพานจริงหรือนิพพานหลอกตัวเอง

พระญาณวิสาลเถร (หา สุภโร)
พระญาณวิสาลเถร (หา สุภโร)

โยม : หลวงปู่ครับ ทำไมผมยิ่งทำบุญ ยิ่งปฏิบัติธรรม ยิ่งทำสมาธิก็เหมือนยิ่งทุกข์เหลือเกินครับ ทั้งปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพ ปัญหาการเงิน ไม่รู้อะไรประดังประเดเข้ามาตลอดครับหลวงปู่

หลวงปู่ : เวลาคุณทำบุญ เวลาคุณปฏิบัติ มันกระทบกับเงิน ทอง หรือเวลาปกติของคุณหรือเปล่า

โยม : เปล่าครับผม เวลาผมทำบุญผมก็ไม่ได้ลำบาก เงินทองก็เป็นส่วนเหลือจากการเก็บการดูแลครอบครัว แล้วการปฏิบัติของผมก็กระทำโดยไม่กระทบกระเทือนใคร พ่อแม่ พี่น้อง ลูกเมียก็อนุโมทนา แต่มันก็มีปัญหาเรื่องอื่นๆ เข้ามาไม่ขาด

หลวงปู่ : คุณ เวลาคุณปฏิบัติคุณก็ต้องการพระนิพพานใช่หรือเปล่า นิพพานก็ต้องหนีโลก ต้องเบื่อโลก ถ้ามันไม่มีปัญหาเข้ามาคุณจะหนีโลกได้อย่างไร ถ้าคุณยังหวังสุขในโลกนี้ นิพพานของคุณก็เป็นนิพพานหลอกตัวเองหล่ะสิ

โลก เป็นโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุด ปัญหาที่เข้ามา คือ บทเรียน มารทั้งหลาย คือ ครูของเรา

เมื่อคุณปฏิบัติสูงๆขึ้นไป ปัญหามันก็จะสูงขึ้นไปด้วย ปัญญาคุณแค่อนุบาล ปัญหามันก็อนุบาล บทเรียนก็อนุบาลครูก็ครูสอนอนุบาล แต่เมื่อคุณเรียนปริญญา ปัญญาระดับปริญญา ปัญหามันก็ต้องปริญญา บทเรียนก็บทเรียนปริญญา ครูก็ครูสอนปริญญา คุณเรียนปริญญาจะเอาข้อสอบเด็กน้อยอนุบาลมาสอบคุณมันจะสมกับภูมิปัญญาคุณหรือ ปฏิบัติเพื่อแสวงหาปัญญา เมื่อปัญญาเราสูงขึ้น ปัญหามันก็สูงขึ้น บทเรียนมันก็ยากขึ้น มารมันก็เก่งขึ้น

คุณสอบตกจะหาว่า ครูออกข้อสอบยาก หรือจะโทษว่าตนเองเตรียมตัวสอบไม่ดี

คุณเอ้ย…โลกมันสอนเรา บางทีก็สนุกสำราญ บางทีก็เศร้าโศก บางทีก็ทารุณโหดร้าย คุณต้องได้เรียนทุกบท คุณจะบอกว่าไม่ชอบวิชานี้ไม่เรียนมันไม่ได้ เราชอบสุขเราเกลียดทุกข์ แต่เราก็ต้องเรียนทั้งสองอย่าง เมื่อคุณผ่านการสอบหนึ่งครั้ง คุณก็จะพัฒนาไปอีกขั้น บทเรียนบางบทมันอาจจะแพงไปสักหน่อย ต้องแลกมาด้วยเงินทอง อวัยวะ หรือแม้แต่ชีวิต แต่คุณอย่าลืมนะ วิชาดีราคามันต้องแพง โลกสอนให้คุณรู้จักโลกในทุกรูปแบบทุกรสชาติ คุณจะได้เบื่อโลกหน่ายโลกอย่างแท้จริง

นิพพานของคุณก็จะเป็นนิพพานจริง…

ที่มา : เว็บพลังจิต (http://palungjit.org), เฟซบุค BuddhaSattha​

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น