ประชาสัมพันธ์

หลวงปู่ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร วัดป่าหมู่ใหม่ จ.เชียงใหม่ ละสังขาร

หลวงปู่ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร วัดป่าหมู่ใหม่ จ.เชียงใหม่

องค์พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร แห่งวัดป่าหมู่ใหม่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ได้ละสังขารเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานแล้วเมื่อเวลา ๑๔.๒๓ น. ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ สิริอายุ ๗๕ ปี ๔ เดือน ๒๖ วัน ๕๕ พรรษา (พรรษานี้เป็นพรรษาที่ ๕๖)

น้อมส่งพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร

กราบขอขมาหลวงปู่ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร

มหาเถเร ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต
มหาเถเร ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต
มหาเถเร ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต

ลูกหลานกราบขอขมาหลวงปู่ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี หากเคยประมาทพลาดพลั้ง ด้วยความขาดสติรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งต่อหน้าหรือลับหลัง ทั้งอดีตหรือปัจจุบัน ลูกหลานกราบขอขมา ขอหลวงปู่ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร โปรดอโหสิกรรม และงดโทษล่วงเกินอันนั้น เพื่อความสำรวมระวังในการณ์ต่อไป และธรรมอันใดที่ท่านได้รู้แจ้งแล้ว ขอลูกหลานได้รู้ธรรม เห็นธรรมอันนั้นด้วยเทอญ

หลวงปู่ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร วัดป่าหมู่ใหม่ จ.เชียงใหม่
หลวงปู่ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร วัดป่าหมู่ใหม่ จ.เชียงใหม่

ประวัติหลวงปู่ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร โดยสังเขป

ถิ่นกำเนิด-ชาติสกุล

หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร เกิดที่บ้านหนองบัวบาน ตำบลหนองบัวบาน อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ บิดาชื่อ พ่อสนธิ์ มารดาชื่อแม่มุก นามสกุล สิมมะลี มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๗ คน เป็นชาย และหญิง ๔ คน

ชีวิตในวัยเด็ก

หลวงพ่อประสิทธิ์ เท่ากับเป็นลูกชายคนโตของครอบครัว เมื่อมีอายุ ๗ ปี ได้เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาล บ้านหนองบัวบาน ตำบลหนองบัวบาน อำเภอหนองวัวซอ สอบไล่ได้ตำแหน่งที่ ๑ หรือ ที่ ๒ เป็นประจำทุกปี ตลอดจนจบชั้นประถมปีที่ ๔ พอจบชั้นประถมแล้ว ครูใหญ่ชื่อ “ปรีชา” ให้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมพิทยานุกุล ในตัวจังหวัดอุดรธานี หลวงพ่อได้ถามบิดาว่า “จะเรียนดีหรือไม่เรียนดี” และเมื่อบิดาบอกว่า “ทำไร่ทำนาดีกว่า สบายใจดี” หลวงพ่อฯ จึงตัดสินใจช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนา

หลวงพ่อประสิทธิ์ เมื่อเยาว์วัย จึงเป็นแรงสำคัญช่วยงานบิดา มารดา อย่างเต็มความสามารถ ตั้งแต่ยังเรียนหนังสือชั้นประถม จนเข้าสู่วัยหนุ่มอายุ ๑๙ ปี จึงเกิดความคิดอยากเข้าวัด เนื่องจากวัดป่านิโครธาราม ของหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ อยู่ใกล้บ้าน ท่านได้ทบทวนชีวิตฆราวาส ผ่านมาได้ช่วยบิดามารดามา จนเป็นที่พอใจแล้ว ฐานะทางครอบครัวก็พอดีๆ ไม่รวยและไม่จน และพี่น้องต่างก็โต พอจะช่วยงานของครอบครัว พ่อแม่ได้แล้ว หลวงพ่อท่านคิดว่า ได้เกิดมาใช้หนี้บุญคุณพ่อแม่พอที่ได้อาศัย ท่านมาเกิดในชาตินี้แล้ว จึงคิดมองหา เส้นทางจิต ที่คิด ไม่อยากกลับมาเกิดเป็นหนี้ภพชาติอีกต่อไป โดยเกิดศรัทธาปัญญาในทางพระพุทธศาสนา คิดจะบวชไม่มีกำหนดตลอดชีวิต หวังอยู่ปฏิบัติตนเพื่อหลุดพ้น ความเกิดจนถึงอมตะพระนิพพาน

บรรพชาและอุปสมบท

ต่อมาครอบครัว ได้พาหลวงพ่อเข้าไปฝากตัวกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๓ เวลา ๑๙.๐๐ น. และได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๓ ณ วัดโพธสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี พ.ศ.๒๕๐๔ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี ในวันที่ ๑ มิถุนายน โดยมีพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูอุดรคณานุศาสน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

การปฏิบัติธรรม

หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร ได้บวชและอยู่ศึกษาอบรมธรรมะกับหลวงปู่อ่ออน ญาณสิริ วัดนิโครธาราม ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ภายหลังหลวงปู่อ่อน มรณภาพลง ท่านได้ไปปฏิบัติอยู่กับหลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ บ้านโคกมน ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

จากนั้นได้เดินธุดงค์ขึ้นสู่ภาคเหนือ มาอยู่ปฏิบัติธรรมร่วมกับหลวงปู่แหวน สุจิณฺโร วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ แล้วเดินธุดงค์ แสวงหาความวิเวก จนกระทั่งมาพบสถานที่ป่าสงบเงียบ หลังที่ทำการชลประทานแม่แตง จึงได้ขออนุญาตจัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ และยกฐานะเป็นวัดตามลำดับ

วัดป่าหมู่ใหม่ เป็นวัดป่าสายธรรมยุตที่สงบเงียบ หลวงพ่อประสิทธิ์ ได้อนุรักษ์สภาพพื้นที่ป่าเดิม พร้อมกับปลูกป่าเสริมเพิ่มต้นไม้ตลอดเวลา ทำให้วัดมีต้นไม้ใหญ่สมบูรณ์ร่มรื่น

การที่วัดป่าหมู่ใหม่มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง แต่ละกฏิไม่มีการสะสมสิ่งของ ไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าใดๆ เป็นวัดปฏิบัติธรรม จึงเป็นวัดป่าศักดิ์สิทธิ์ และมีเสน่ห์สำหรับผู้เข้าไปสัมผัส ทั้งนี้เพื่อ มรรค ผล นิพพาน อย่างแท้จริงนั่นเอง

ที่มา : เฟซบุค ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน

ภาพประกอบ : เว็บไซต์บ้านเรือนไทย

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น