คลังภาพ

ภาพบรรยากาศเททองหล่อพระประธานและปฏิบัติธรรม

พุทธศาสนิกชน เข้าร่วมปฏิบัติธรรมและร่วมพิธีเททองหล่อองค์พระประธานกันอย่างหนาแน่น

พุทธศาสนิกชน ให้ความสนใจเข้าร่วมปฏิบัติธรรมและร่วมพิธีเททองหล่อองค์พระประธาน ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช บริเวณทุ่งลุมพลี เจดีย์ภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๗-๒๙ มีนาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ได้รับเมตตาจาก พระราชสิทธิมงคล (หลวงปู่สวัสดิ์ จิตตะทศ) วัดศาลาปูน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จุดเทียนชัย และ พระครูสังฆรักษ์ (หลวงพ่อเฉลิม เขมทัสสี) วัดพระญาติการาม จ. พระนครศรีอยุธยา ดับเทียนชัย และพระสงฆ์ ๑๐๘ รูป เจริญพระพุทธมนต์ โดยมีคุณประชุม มาลีนนท์ ให้เกียรติเป็นประธานฝ่ายฆราวาส และนอกจากนี้ยังมีแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมพิธีเททองหล่อองค์พระประธาน อาทิ คุณสมทรง พันธ์เจริญวรกุล (นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) พันตำรวจเอก สมบัติ ชูชัยยะ (ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยา) คุณฤทธิเดช บัวเปล่งศรี (ผู้แทนสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) คุณสกลศรี มาลีนนท์ คุณรัตนา มาลีนนท์ เป็นต้น

ในการนี้ องค์พระประธาน จะนำไปประดิษฐานยังอุโบสถ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ จ.เชียงราย ทั้งนี้ได้รับพระเมตตา จากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงประทานพระบรมสารีริกธาตุ เพื่ออัญเชิญประดิษฐานภายในองค์พระประธาน ตามพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปตามโบราณราชประเพณี จำนวน ๗ ตำแหน่ง คือ

  • พระโมลี (มวยผม)
  • พระนาลาฏ (หน้าผาก)
  • พระกรขวา (มือข้างขวา)
  • พระกรซ้าย (มือข้างซ้าย)
  • พระชานุขวา (หัวเข่าข้างขวา)
  • พระชานุซ้าย (หัวเข่าข้างซ้าย)
  • พระอุระ (หน้าอก)

และทรงประทานพระนามองค์พระประธานว่า “พระพุทธสุวรรณติโลกนาถปุญญาวาสสถิต” และประทานพระอนุญาตให้อัญเชิญพระนามย่อ “ญสส” สำหรับประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถและบริเวณผ้าทิพย์องค์พระประธานด้วย

ทั้งนี้ เพื่อความเป็นศิริมงคลและเป็นที่สักการะแด่พระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ทั้งยังเป็นการสืบต่อและตั้งมั่นพระพุทธศาสนา ในอันที่จะเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทุกหมู่เหล่า นอกจากนี้เพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นพระกุศลแด่องค์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในปีประสูติครบ ๙๖ พรรษา และในมงคลวโรกาสที่พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชครบ ๒ ทศวรรษ ในศกนี้ด้วย

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น