วัดป่าธรรมแสงทอง ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของป่าแป๋ แม่แตง เชียงใหม่ รายล้อมด้วยป่าไม้อันเขียวขจี มีภูเขา ลำธาร ต้นน้ำอันสมบูรณ์ของแม่น้ำแม่ริม บนความสูงมากกว่าพันเมตรจากระดับน้ำทะเล ทำให้บรรยากาศโดยรอบวัดชุ่มชื้นเย็นสบายตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ จะมีอากาศหนาวเย็นมาก บางปีอุณหภูมิที่วัดจะลดลงเหลือเพียง ๓ องศาเซลเซียสเท่านั้น
ความเป็นมาของวัดป่าธรรมแสงทองเริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ เมื่อโยมมาโนช ภาวสันตานนท์ ได้นิมนต์หลวงพ่อรักศักดิ์ ฐิโตภาโส ให้มาจำพรรษาและพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นวัด เพื่อให้ชาวบ้านได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา มีโอกาสทำบุญ ถือศีล ปฏิบัติธรรม และเป็นที่พึ่งทางใจในยามทุกข์
หลวงพ่อรักศักดิ์ ฐิโตภาโส เดิมเป็นชาวกรุงเทพมหานคร อุปสมบทที่วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี ในช่วงที่หลวงปู่ชา สุภัทโท ยังมีชีวิตอยู่ และได้มีโอกาสอุปัฏฐากหลวงปู่ในช่วงที่ท่านอาพาธ ก่อนละสังขารด้วย
ก่อนที่หลวงพ่อจะรับนิมนต์มาจำพรรษาที่ป่าแป๋นี้ ท่านเคยธุดงค์ จำพรรษา และได้มีส่วนร่วมในการบุกเบิกพัฒนาวัดมาแล้วหลายแห่ง ดังนั้น ในวันแรกที่หลวงพ่อมาถึงป่าแป๋ แม้จะเป็นป่าดิบชื้น ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใด ๆ เลยก็ตาม ท่านเห็นชัดเจนในใจ และตั้งปณิธานว่าจะเริ่มทุกอย่างตรงนี้ ทั้งสร้างคน สร้างงาน สร้างโอกาส โดยไม่รบกวนธรรมชาติ ทุกสิ่งจะอยู่ร่วมกันได้ และยังคงสภาพความสมดุลของป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์อย่างยั่งยืน
หลวงพ่อเล่าว่า ในช่วง ๓ ปีแรก หลวงพ่อพำนักที่นี่องค์เดียว มีความยากลำบากมาก ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ ศรัทธาจากชาวบ้าน เพราะชาวบ้านแถบนั้น ยังคงนับถือผีสางมากกว่าพระสงฆ์ เส้นทางบิณฑบาตก็ต้องเดินเท้า ไปกลับ ๗ – ๘ กิโลเมตร ตามทางเดินไหล่เขาลาดชัน มีทากดูดเลือดมากมาย อาหารบิณฑบาตบางครั้งก็มีเพียงข้าวเหนียวกับแคบหมู ด้วยหลวงพ่อท่านไม่ฉันเนื้อสัตว์
จากเจตนารมย์อันแน่วแน่ กอปรกับการประพฤติ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ของหลวงพ่อรักศักดิ์ เป็นผลให้ชาวบ้าน ญาติโยม เห็นและเริ่มมีศรัทธาในสิ่งที่หลวงพ่อกำลังทำ จึงใส่ใจในความเป็นอยู่ของหลวงพ่อมากขึ้นเป็นลำดับ โดยพิถีพิถันกับการปรุงอาหารที่ไม่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ และถูกสุขอนามัย เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพพระสงฆ์ อีกทั้งศรัทธาจากที่ต่าง ๆ ก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามาร่วมกันสร้างเสนาสนะ ถวายยานพาหนะ สร้างถนนเชื่อมวัดกับหมู่บ้าน เพื่อให้ญาติโยมเดินทางมาทำบุญ และปฏิบัติธรรมที่วัดสะดวกขึ้น
หลวงพ่อให้ความสำคัญกับการเผยแผ่พระธรรมคำสอนที่ถูกต้องในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งการการเทศน์และการสอนปฏิบัติภาวนา วิปัสสนากัมมัฏฐาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาสถานที่ให้มีความเป็นสัปปายะ เกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์และญาติโยมมาโดยตลอด
หลวงพ่อท่านจะสั่งสอนลูกศิษย์ โดยการทำเป็นตัวอย่างและให้มีสติระลึกรู้อยู่เสมอว่า
ทำดี อย่าติดดี
ให้อดทน อดกลั้น
ปัญหาทุกอย่างมีทางออก
อย่าท้อแท้ มุ่งมั่น ตั้งใจ
สักวันต้องสำเร็จ
ซึ่งคำสั่งสอนของท่านนี้ เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้อยู่ในโลกนี้ได้อย่างไม่เป็นทุกข์นัก และมีโอกาสเห็นธรรมได้ สำหรับผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์
๑๒ ปีที่ผ่านมา หลวงพ่อได้ทุ่มเททั้งเวลา แรงกายและแรงใจ ด้วยการสนับสนุนของชาวบ้าน ศรัทธาญาติโยม เพื่อพัฒนาวัดป่าธรรมแสงทองแห่งนี้ ให้เป็นวัดที่สมบูรณ์ โดยปัจจุบัน วัดมีคณะสงฆ์ ประกอบด้วย พระภิกษุ ๕ – ๘ รูป แม่ชี ๑ รูป มีเสนาสนะ กุฎิที่พักสงฆ์ ที่พักผู้ปฎิบัติธรรม โรงครัว ศาลาการเปรียญ อาคารเอนกประสงค์ ห้องน้ำ และอื่น ๆ รวมถึงการจดทะเบียนเป็นวัด เป็นธรณีสงฆ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบวินัยทางพุทธศาสนา และมีพระอุโบสถ เพื่อปฏิบัติศาสนกิจ และประกอบพิธีบรรพชา อุปสมบท เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป
ขั้นตอนการดำเนินการจัดตั้งวัดใหม่ในพื้นที่ป่าแป๋ ที่เป็นป่าดิบต้นน้ำนั้น ประสบปัญหามากมาย แต่ด้วยสถานที่แห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อการเป็นพุทธศาสนสถานโดยเฉพาะ ในระหว่างการปรับพื้นที่ สำหรับการก่อสร้างพระอุโบสถ มีการขุดค้นพบร่องรอยของโบราณ สถาน ซึ่งนักโบราณคดีได้ทำการวิเคราะห์ และเป็นหลักฐานสำคัญ ในการขึ้นทะเบียนวัดป่าธรรมแสงทองว่าเคยเป็นวัดร้างมาก่อน ก่อนที่จะมีการสำรวจโบราณสถานอย่างจริงจัง ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ พระอุโบสถ วัดป่าธรรมแสงทอง เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗ โดยมีพระราชปริยัตโยดม (หลวงปู่โอภาส โอภาโส) เป็นประธานในพิธี
จากการสำรวจ พื้นที่เพื่อก่อสร้างฐานรากของพระอุโบสถ วัดป่าธรรมแสงทอง โดย คุณ ธนธร เหลี่ยมวานิช นักโบราณคดี กรมศิลปากร พบแนวโบราณสถานก่อด้วยอิฐจำนวน ๒ แนว วางตัวเป็นมุมฉากตามแกนทิศเหนือ – ใต้ และตะวันออก – ตะวันตก แต่ไม่ต่อเนื่องกัน มีลักษณะเป็นคานฐานรากอาคาร
คณะนักโบราณคดีได้เข้าสัมภาษณ์ผู้รู้ในพื้นที่ คือพระมงคล กมลวรรโณ อายุ ๕๒ ปี ๒๘ พรรษา เจ้าอาวาสวัดศรีมงคลธรรม หรือวัดผาลิ้น ตำบลป่าแป๋ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดป่าธรรมแสงทองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ทราบว่า ในตำบลป่าแป๋ มีวัดร้างที่อยู่บนภูเขาหลายวัด เช่น วัดร้างในวัดป่าธรรมแสงทอง วัดร้างขุนห้วยพระเจ้า วัดร้างแม่น้ำแขม วัดร้างป่าแป๋ วัดร้างม่อนเกต วัดร้างโป่งเดือด วัดร้างพระธาตุสองดวง เป็นต้น
และจากการสัมภาษณ์นายน้อย และนายคม อายุประมาณ ๗๐ ปี ชาวบ้านป่าแป๋ ทราบว่า วัดร้างในวัดป่าธรรมแสงทอง เคยมีผู้ลักลอบขุดหาโบราณวัตถุแล้วหลายครั้ง บางครั้งใข้เครื่องตรวจโลหะใต้ดินช่วยด้วย ที่เคยเห็นเป็น ตะปูจีนขนาดใหญ่ ยาวประมาณ ๒๐ – ๓๐ เซนติเมตร
ส่วนโบราณสถานที่พบทางทิศเหนือของวัดผาลิ้น เป็นแนวอิฐโบราณสถานที่ชาวบ้านก่อเจดีย์ครอบทับไว้ และก้อนอิฐ เศษอิฐจำนวนมาก
คณะนักโบราณคดีได้เข้าไปสำรวจที่วัดปางลัน ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของวัดป่าธรรมแสงทอง ประมาณ ๓ กิโลเมตร พบว่ามีผู้รวบรวมโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่รวบรวมได้จากวัดร้างในตำบลป่าแป๋มาไว้ที่นี่ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งสมัยล้านนา หินทรงกระบอกขนาดกระป๋องน้ำอัดลม มีการเจาะรูตรงส่วนกลาง ไม่ทราบหน้าที่การใช้งาน และแท่นหินสี่เหลี่ยผืนผ้าทรงสูง ลักษณะคล้ายฐานพระพุทธรูป เป็นต้น
จากวัตถุโบราณที่พบ และการสัมภาษณ์ผู้รู้ในพื้นที่ใกล้เคียง สันนิษฐานได้ว่า โบราณสถานแห่งนี้เป็นวัดในฝ่ายอรัญวาสี หรือ วัดป่า ซึ่งอยู่ร่วมกับวัดอรัญวาสีอื่น ๆ ในเขตอรัญญิกในสมัยโบราณ ประกอบกับโบราณวัตถุที่พบคือครกและสากบดยา ก็สอดคล้องกัน เพราะวัดฝ่ายอรัญวาสีในอดีต มักจะเป็นแหล่งความรู้ และบริการด้านยาสมุนไพรต่าง ๆ ด้วย
นักโบราณคดีสรุปในผลการวิเคราะห์โบราณสถาน ที่พบในวัดป่าธรรมแสงทอง ว่า น่าจะเป็นอาคารหลังคาคลุมขนาดเล็ก เช่น อุโบสถ หรือ วิหาร ของวัดฝ่ายอรัญวาสี ที่ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกของเมืองโบราณ เมืองใดเมืองหนึ่งในอดีต ร่วมกับวัดอื่น ๆ อีกหลายวัด ในสมัยล้านนา คือ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๔
พระอุโบสถ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เป็นอาคารชั้นเดียวมีขนาด กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๖ เมตร สูง ๑๒ เมตร โครงสร้างเป็นปูน ก่ออิฐ และตกแต่งด้วยไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ใช้เวลาในการก่อสร้างโครงสร้าง ๖ – ๘ เดือน ส่วนขั้นตอนการตกแต่ง คาดว่าจะใช้เวลานาน เพราะต้องอาศัยทักษะ ความละเอียด ประณีตอย่างมาก