วัดไทย

วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์

วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ - ภาพจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

วัดญาณสังวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด วรมหาวิหาร สังกัดธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นองค์ประธานจัดสร้างวัด เมื่อปี ๒๕๑๙ นายแพทย์ขจร และคุณหญิงนิธิวดี อันตระการ พร้อมด้วยบุตรธิดา ได้ถวายที่ดินแด่สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ที่ ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ ๓๐๐ ไร่เศษ ต่อมาคณะผู้ริเริ่มสร้างวัดได้ร่วมกันจัดซื้อที่ดิน ที่ติดต่อเขตวัดถวายเพิ่มเติมอีกประมาณ ๖๐ ไร่เศษ รวมเป็นเนื้อที่ดินทั้งหมด ๓๖๖ ไร่ ๒ งาน ๑๑ ตารางวา เพื่อขอให้สร้างวัด และขอใช้ชื่อว่า “วัดญาณสังวราราม” การสร้างวัดได้ดำเนินการมาโดยลำดับ

วัดญาณสังวราราม ได้รับอนุญาตให้สร้างเป็นสำนักสงฆ์ญาณสังวราราม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ และได้รับอนุญาตให้ดำเนินการสร้างเป็นวัดจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้รับการประกาศตั้งชื่อเป็นวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตามพระราชกฤษฎีกา ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๙ ตอนที่ ๔๓) ในปัจจุบัน วัดญาณสังวรารามมีเนื้อที่รวมทั้งหมด ๓๖๖ ไร่ ๒ งาน ๑๑ ตารางวา ไม่รวมถึงพื้นที่โครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ประมาณ ๒,๕๐๐ ไร่ โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก รักษาการเจ้าอาวาส การสร้างวัดญาณสังวราราม มีจุดมุ่งหมายให้เป็นสำนักปฏิบัติ คือ เน้นทางด้านสมถะและวิปัสสนาและเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ในทางการศึกษาอบรมพระธรรมวินัย รวมทั้งเพื่อให้เป็นที่ยังประโยชน์ในการบำเพ็ญอเนกกุศลต่างๆ ด้วย

เนื่องจากวัดญาณสังวราราม สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ ๒๐๐ ปี แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ อันเป็นสมัยที่ยอมรับทั่วไปว่า ความร่มเย็นเป็นสุขของไทย เกิดแต่พระบุญญาธิการแห่งองค์สมเด็จพระภัทรมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยแท้ และสืบเนื่องต่อขึ้นไปถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จบุรพบรมกษัตริยาธิราชเจ้า อีกสองพระองค์ พระผู้ทรงกอบกู้ไทยให้กลับเป็นไท สมัยที่เกี่ยวเนื่องใกล้ชิดกับสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พุทธสถาน/ถาวรวัตถุ/สถานที่สำคัญ

วัดญาณสังวราราม ได้วางแผนผังและรูปแบบในการสร้างวัด โดยแบ่งพื้นที่เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็น ๔ เขต คือ

  • เขตที่ ๑ เขตพุทธาวาส เป็นสถานที่ตั้งปูชนียสถาน โบราณวัตถุ มีพระอุโบสถ พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ พระมหามณฑป พระพุทธบาท ภปร.สก. ศาลาอเนกกุศล สว.กว. และศาลาอเนกกุศล มวก.สธ. เป็นต้น
  • เขตที่ ๒ เขตสังฆาวาส แบ่งเป็นสองส่วน คือ พื้นที่ส่วนล่างและพื้นที่ส่วนบน ประกอบด้วยพื้นที่เขาชีโอนและเขาชีจรรย์ และทั้ง ๒ พื้นที่ใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างเสนาสนะกุฏิน้อยใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุ สามเณร เป็นต้น
  • เขตที่ ๓ เขตโครงการพระราชดำริ เป็นสถานที่โครงการพระราชดำริ มีเรือนรับรอง อ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตรกรรม โรงพยาบาลศูนย์การฝึกอบรมพิเศษ วนอุทยาน บริเวณอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้ เป็นต้น
  • เขตที่ ๔ เขตอุบาสกอุบาสิกา เป็นสถานที่ตั้งศาลาโรงธรรม ที่พักอาศัยของบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มาอยู่ประพฤติธรรม รักษาศีลฟังธรรม ปฏิบัติจิตตภาวนา เป็นต้น

พระอุโบสถ

เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น ขนาดกว้าง ๑๓.๓๐ เมตร ยาว ๒๑.๐๐ เมตร ลักษณะทรงจีน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ หน้าบันลายปูนปั้น สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีมหาราช โดยดัดแปลงจากแบบพระอุโบสถเก่าคณะรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๒๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงตัดลูกนิมิตพระอุโบสถ ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และทรงวางศิลาพระฤกษ์พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๒๕ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ

พระอุโบสถ วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร
พระอุโบสถ วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร

พระพุทธปฏิมาประธานประจำอุโบสถ

ได้รับการถวายพระนามว่า “สมเด็จพระพุทธญาณนเรศวร์” สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีขนาดประมาณองค์พระพุทธชินสีห์ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร หน้าพระเพลา ๕ ศอก ๑ คืบ ๗ นิ้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเททองหล่อ เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๒๓ ณ บริเวณมณฑลพิธีหน้าพระอุโบสถเก่าคณะรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร

สมเด็จพระพุทธญาณนเรศวร์ พระพุทธปฏิมาประธานประจำอุโบสถ
สมเด็จพระพุทธญาณนเรศวร์ พระพุทธปฏิมาประธานประจำอุโบสถ

พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์

สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระบรมราชวงศ์จักรี มีฐานกว้าง ๓๙.๐๐ เมตร สูง ๓๙.๐๐ เมตร ได้เริ่มดำเนินการสร้างมาตั้งแต่วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๔ ชั้นล่างเป็นห้องโถงใหญ่ เพื่อการบำเพ็ญกุศลต่างๆ ชั้นทีสองประดิษฐานพระเจดีย์ทองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยมีชนวนจากพื้นปฐพีถึงที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ด้านนอกชั้นที่สามมีซุ้มประดิษฐาน พระพุทธรูปสำคัญ ๓ องค์ คือ พระภปร. ด้านหน้า พระไพรีพินาศ (ด้านขวาของพระภปร.) และพระชินราชสีหศาสดา (ด้านซ้ายของพระภปร.) ส่วนชั้นที่ ๒ เป็นซุ้มตราพระมหาจักรีซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงอัญเชิญขึ้นประดิษฐานเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘

พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ - ภาพจาก Christopher Snyder
พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ – ภาพจาก Christopher Snyder

เจดีย์พุทธคยา

เพื่อระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณทองใบ เร่งเพียร (เจ้าของร้านขายทองแม่ทองใบ) ได้มาขอเป็นเจ้าภาพสร้างสังเวชนียสถานในวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเจาะจงสร้างพระเจดีย์พุทธคยาจำลองสถานที่ทรงตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นสังเวชนียสถานในวัดญาณสังวรารามฯ

พระเจดีย์พุทธคยายังสร้างไม่เสร็จเรียบร้อย การก่อสร้างต้องหยุดชะงักไประยะหนึ่ง เนื่องจากเจ้าภาพป่วย และมีงานประดิษฐ์ตกแต่งประณีตจำนวนมาก การสร้างให้เสร็จต้องใช้เงินหลายสิบล้าน ต่อมาคุณบัณฑูร ล่ำซำ ได้ปวารณาขอสร้างต่อจนเสร็จเรียบร้อย เจดีย์พุทธคยาเป็นปูชนียสถานที่สวยที่สุดในวัดญาณสังวรารามฯ

พระเจดีย์พุทธคยา ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอ่างเก็บน้ำ ในบริเวณวัดญาณสังวรารามฯ มีทางรถยนต์เข้าถึงองค์พระเจดีย์ได้ในด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นทางเข้าหลักของอาคาร

พระเจดีย์พุทธคยาแห่งนี้ มีผังพื้นเป็นแบบสมมาตร รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความกว้างยาวเท่ากันด้านละ ๒๒.๕๐ เมตร ล้อมรอบด้วยพระระเบียง ซึ่งวัดในช่องฐานรอบนอกได้กว้างยาวเท่ากันด้านละ ๔๒ เมตร พื้นที่ระหว่างองค์พระเจดีย์กับพระระเบียงเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ให้แสงสว่างกับอาคารทั้งด้านในของพระระเบียงและด้านนอกขององค์พระเจดีย์ นอกจากนั้น ยังมีกำแพงแก้วย่อมุมไม้สิบสองล้อมรอบพระระเบียงอีกทอดหนึ่ง วัดความกว้างรอบนอกได้ กว้างด้านละ ๖๖ เมตร พระเจดีย์องค์นี้ มีทางเข้า ๔ ด้าน ซึ่งตั้งอยู่กลางพระระเบียงทั้ง ๔ ทิศ โดยทิศตะวันออกถือเป็นทางเข้าหลัก

เจดีย์พุทธคยา วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร - ภาพจาก Christopher Snyder
เจดีย์พุทธคยา วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร – ภาพจาก Christopher Snyder
แผนผังภายในวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร
แผนผังภายในวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร
แผนที่การเดินทางไปยัง วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร
แผนที่การเดินทางไปยัง วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร

ที่มา: หนังสือ วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ – พุทธสถาน ปูชนียวัตถุ ศาสนวัตถุ ถาวรวัตถุ และสถานที่สำคัญ, เว็บไซต์ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต http://phrasuchart.com/

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น