พระปรางค์

พระปรางค์

พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี - ขอบคุณภาพจาก tvpoolonline.com

พระปรางค์ : ชื่อเรียกงานสถาปัตยกรรมไทยประเภทหนึ่ง ที่ใช้เป็นหลักประธานของวัดเสมอด้วยพระเจดีย์หรือพระมณฑป ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหรือพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ดังจะเห็นได้จากชื่อเรียกวัดสำคัญในกลุ่มภาคกลาง ดังเช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี วัดมหาธาตุ จ.พระนครศรีอยุธยา

พระปรางค์ เดิมถือเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบลักษณะเฉพาะของขอม สร้างขึ้นบนพื้นฐานคติสัญลักษณ์แห่ง “เขาพระสุเมรุ” ซึ่งแทนความหมายของแกนหรือศูนย์กลางแห่งจักรวาลตามความเชื่อในศาสนาฮินดู

ศิลปสถาปัตยกรรมรูปแบบเช่นนี้ถูกใช้และพัฒนาเรื่อยมานับแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๔ เพื่อใช้แทนความหมายของพระมหากษัตริย์ของขอมในฐานะ “ผู้เป็นเจ้าแห่งจักรวาล” หรือนัยหนึ่งผู้ทรงเป็นภาคอวตารของพระผู้เป็นเจ้า ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นพระโพธิสัตว์ ตามคติพุทธศาสนาลัทธิมหายานที่เผยแพร่เข้าไปมีบทบาทในอารยธรรมเขมร ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ถึงแม้ว่าคติความเชื่อทางศาสนาจะเปลี่ยนไป แต่รูปแบบสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมโดยโครงสร้างหลักก็ยังคงไม่เปลี่ยนรูป เพียงแต่เปลี่ยนบทบาทจากเทวสถานเป็นพุทธสถานเท่านั้น เพราะต่างก็มีพื้นฐานความเชื่อเรื่องแผนภูมิจักรวาลคล้ายคลึงกัน ทางพุทธศาสนาเชื่อว่ามีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางจักรวาล ดังนั้นรูปแบบลักษณะและแผนผังของปรางค์ปราสาทซึ่งประดิษฐานเทวรูปหรือ ศิวลึงค์ จึงถูกนำมาใช้ได้กับแนวความคิดในเรื่องของศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนา ในฐานะหลักประธานของวัดในวัฒนธรรมของไทยได้อย่างกลมกลืน จัดเป็นพระเจดีย์รูปแบบหนึ่งเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุหรือพระพุทธรูป ภายใน ทั้งเรียกกันทั่วไปอีกชื่อหนึ่งว่า “พระพุทธปรางค์”

ลักษณะและรูปทรงของพระปรางค์

พระปรางค์ในประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากศิลปสถาปัตยกรรมของขอมมานับแต่ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ โดยถูกจัดให้อยู่ในรูปแบบสมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๘) ก่อนที่จะพัฒนารูปแบบสู่ศิลปสถาปัตยกรรมยุคสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ในที่สุด ภายใต้รูปแบบลักษณะที่จำแนกเป็น ๔ แบบ คือ

๑. ทรงศิขร หมายถึง รูปทรงพระปรางค์ที่เน้นแบบแผนรูปลักษณ์ตามต้นแบบเดิมทุกประการ กล่าวคือสร้างขึ้นตามแบบแผนเดิมของขอม ที่เน้นคุณลักษณะของรูปทรงให้เป็นไปตามอย่างคติ “จำลองภูเขา” และ “สวรรค์ชั้นฟ้า” บนภาพความคิดของเขาพระสุเมรุ มีรูปทรงที่เน้นมวลอาคารให้ดูหนักแน่นมั่นคงเสมือนขุนเขา และให้รายละเอียดในเรื่องของลำดับขั้นของสวรรค์อันเป็นที่อยู่ของเหล่าเทวดาประจำตามลำดับชั้น ทิศ และฐานานุศักดิ์อย่างชัดเจนที่สุด เช่น ปรางค์ทรงศิขร ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา, ปราสาทหินพนมรุ้ง บุรีรัมย์

ปราสาทหินพนมรุ้ง - ภาพโดย Niwetkumphet
ปราสาทหินพนมรุ้ง – ภาพโดย Niwetkumphet

 ๒. ทรงงาเนียม หมายถึง รูปทรงสถาปัตยกรรมของส่วนยอดพระพุทธปรางค์แบบหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายงาช้าง ซึ่งเรียกว่า “งาเนียม” คือรูปทรงส่วนยอดจะมีลักษณะที่ใหญ่แต่สั้น ตอนปลายจะมีลักษณะโค้งและค่อนข้างเรียวแหลม พระปรางค์ทรงงาเนียมนี้ถือเป็นประดิษฐกรรมของช่างไทยโดยแท้ เพราะเป็นสถาปัตยกรรมที่พัฒนารูปแบบเดิมจนมีลักษณะเฉพาะของตนเองสำเร็จใน สมัยอยุธยาตอนต้น มีคตินิยมการสร้างในลักษณะที่ทึบตัน หรือเหลือเพียงแค่ห้องคูหาเล็กๆ พอบรรจุพระพุทธรูปหรือสถูปจำลองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเท่านั้น ซึ่งคติทางไทยออกแบบเป็นเชิงสัญลักษณ์เพียงอย่างเดียว จึงไม่ให้มีการใช้สอยภายในเพื่อการประกอบพิธีกรรมเหมือนอย่างปราสาทขอม ช่างไทยจึงมุ่งเน้นให้พระปรางค์ดูสูงเด่นเป็นสง่า ด้วยการเสริมฐานเป็นชั้นให้ดูตระหง่านยิ่งขึ้น และปรับตัวเรือนธาตุและส่วนยอดให้บางและเพรียว ส่วนยอดนั้นลดการประดับตกแต่งที่ต้องการสื่อความหมายของที่อยู่แห่งเทวดา ทั้งปวงลง เพราะต้องการให้เน้นตรงเฉพาะความหมายแห่งพระพุทธองค์เป็นสำคัญ เช่น ปรางค์เหนือปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตศาสดาราม กรุงเทพฯ, พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร สุโขทัย

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุโขทัย - ภาพโดย Heinrich Damm
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุโขทัย – ภาพโดย Heinrich Damm

๓. ทรงฝักข้าวโพด หมายถึงรูปทรงของพระปรางค์ลักษณะหนึ่งที่มีรูปร่างผอมบางและตรงยาวคล้ายฝัก ข้าวโพด ส่วนยอดนั้นจะค่อยๆเรียวเล็กลงอย่างช้าๆก่อนรวบเป็นเส้นโค้งที่ปลาย พัฒนาการของรูปทรงพระปรางค์รูปแบบนี้ถือเป็นลักษณะเฉพาะตัวของพระปรางค์สมัย ต้นรัตนโกสินทร์ การใช้พระปรางค์ในฐานะอาคารประธานหลักของวัดเสื่อมความนิยมลงนับแต่สมัย อยุธยาตอนปลายแล้ว ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์จะหันมานิยมใช้อีกครั้ง แต่ส่วนใหญ่มักใช้เป็นอาคารรองอย่างปรางค์ทิศเท่านั้น การออกแบบงานสถาปัตยกรรมประเภทนี้จึงด้อยคุณลักษณะอันมีพลังลง รูปทรงที่ดูผอมบางจนขาดกำลัง ส่วนของเรือนธาตุปิดทึบตันไม่มีการเจาะเป็นช่องคูหาภายใน ส่วนยอดทำเป็นชั้นๆด้วยเส้นบัว กลีบขนุนและบัณแถลงไม่ทำรายละเอียดใดประดับ เช่น พระปรางค์ทิศทรงฝักข้าวโพด วัดเทพธิดาราม กรุงเทพฯ,พระปรางค์ทรงฝักข้าวโพด วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

พระปรางค์ทรงฝักข้าวโพด วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร - ภาพโดย Heinrich Damm
พระปรางค์ทรงฝักข้าวโพด วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร – ภาพโดย Heinrich Damm

๔. ทรงจอมแห หมายถึง รูปทรงของพระปรางค์ที่สร้างโครงรูปเส้นรอบนอก มีลักษณะแอ่นโค้งเหมือนอาการทิ้งน้ำหนักตัวของแหที่ถูกยกขึ้น รูปทรงเช่นนี้ความจริงถูกนำมาใช้กับการออกแบบพระเจดีย์สมัยต้นกรุง รัตนโกสินทร์มาก่อนแล้ว และต่อมาจึงพัฒนานำมาใช้กับรูปทรงพระปรางค์บ้าง เช่น วัดอรุณราชวราราม ธนบุรี, พระปรางค์แบบไทย

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร - ภาพโดย Somphop Nithipaichit
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร – ภาพโดย Somphop Nithipaichit
แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น