สังเขปประวัติพระภิกษุสงฆ์

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต

อัตตชีวประวัติ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต

๏ สำหรับชีวประวัติ จริยวัตร ปฏิปทา แห่งองค์หลวงปู่หล้า เขมปตฺโตนี้ นำมาจากหนังสือ พระหล้า เขมปตฺโต (ซึ่งเขียนโดยตัวท่านเอง) ด้วยศรัทธาในองค์ท่าน เป็นบทย่อ (น่าจะเรียกว่าคัดเลือก) จากหนังสือ เพราะหนังสือมีขนาดหนาประมาณ ๓๓๐ หน้า ถ้าจะนำมาทั้งหมดก็จะเป็นการไม่สะดวกสำหรับผู้อ่านเพราะบางท่านอาจจะหน่ายก่อนที่จะอ่านจนจบ ดังนี้ผู้จัดทำจึงย่อมาเฉพาะส่วนที่เห็นว่าสำคัญ ซึ่งคิดว่าคงจะไม่เป็นการระคายเบื้องบาทแห่งองค์ท่าน… ถ้าเป็นไปได้ แนะนำให้ท่านหาอ่านฉบับจริงจะได้อรรถรส อย่างดูดดื่ม (ยังมีสิ่งที่มิได้กล่าวไว้ในเวปไซต์นี้แต่เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือวิสัยปุถุชน ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งยวด) ได้ตามห้องสมุดประชาชน ISBN ๙๗๔-๘๙๑๑๖-๒-๔ :

ชาติกำเนิด

ด้านเผ่าพงศ์วงศาฝ่ายบิดา บิดาชื่อ นายคูณ เสวตร์วงศ์ คุณปู่ของท่านเป็นชาวนา อยู่บ้านงอย อำเภอหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี ด้านวงศาฝ่ายมารดา เป็นคนอำเภอปักธงชัย จังหวัด นครราชสีมา มารดาชื่อ แพง คุณตาชื่อวิเศษ คุณยายชื่อ ตุ้ม ท่านเกิดวันที่ ๑๙ ปีกุน เดือนกุมภาพันธ์ ขึ้น ๓ ค่ำ วันจันทร์เวลาตอนเช้า พ.ศ. ๒๔๕๔ ที่บ้านกุดสระ หมู่ที่ ๒ ตำบลกุดสระ อำเภอหมากแข้ง จังหวัด อุดรธานี ท่านเป็นคนที่ ๘ เรียงลำดับได้ดังนี้

  1. นายสิงห์ (ทิดสิงห์)
  2. นางสีดา
  3. นายทองดี (ทิดทองดี)
  4. นางบุญมี
  5. นางจันที
  6. นางแก้ว
  7. นางแหวน
  8. นายหล้า (หล้า เป็นภาษาอีสาน แปลว่า สุดท้อง)

เมื่ออายุย่างเข้า ๑๘ ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรในวัดบัวบานบ้านกุดสระ มีพระอุปัชฌาย์หนู ติสสเถโร พอพรรษาที่ ๓ ก็ลาสิกขาเพื่อเกณฑ์ทหารแต่จับสลากไม่ถูก หลังจากนั้นก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเดิม หลักจากสอบนักธรรมตรีได้ (ใบประกาศสองใบ) ก็ลาสิกขาจากพระภิกษุ

พอลาสิกขาได้ ๖ เดือน ก็แต่งงานมีบุตร ๑ คน เป็นเพศหญิง หลังจากนั้นก็เลิกกัน ห่างจากนั้นหนึ่งปี ก็แต่งงานอีก ที่เขตเทศบาลชานเมืองอุดร คือ บ้านเดื่อ ต.หนองบัว สถานีรถไฟหนองบัว ห่างจากแต่งงาน ๙ ปี มีบุตร ๓ คน เป็น ชายหัวปี คนที่สองเป็นหญิง(แต่ถึงแก่กรรม อายุ ๓ ปี) คนสุดท้ายเป็นชาย

คืนสู่เพศพรหมจรรย์

ตั้งแต่ทิ้งภรรยาคนก่อน ท่านจะปรารถนาที่จะบวชอยู่แล้ว และในขณะที่ภรรยาผู้ที่สองยังไม่มีท้อง บิดาท่านก็พูดทางลับคุมให้หนีไปบวช เพราะบิดาท่านรักบวชยิ่งกว่าจะแต่งงานให้ลูกชาย หลังจากภรรยาถึงแก่กรรม ท่านก็บวชมหานิกาย โดยมีพระอุปัชฌาย์ คือพระครูคูณ บ้านท่าตูม มีท่านอาจารย์เสาร์บ้านดงลิงเป็นอนุสาวนาจารย์ และหลวงพ่อทอง สุวัณณสโร เป็นกรรมวาจาจารย์

ไม่ไว้ในสังขารทั้งปวง

หลังจากฌาปนกิจศพมารดาเสร็จท่านก็กราบลาอุปัชฌาย์อาจารย์ สวดไปหาท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ส่วนอุปัชฌาย์อาจารย์เดิมท่านก็ห้าม แสดงความอาลัยเอนกปริยาย หลวงปู่หล้า จึงกราบเรียนท่านว่า “กระผมบวชเมื่อแก่อายุขั้นสามสิบลูกตายเสียเมียตายจาก ถ้าอยู่ใกล้บ้าน ไม่ได้ปฏิบัติสะดวก โลกจะกล่าวว่าบวชเลี้ยงชีวิต การบวชในคราวนี้ ก็เห็นภัยในสงสารอย่างเต็มที่ ไม่ไว้ใจในชีวิตเลย และไม่ไว้ใจในสังขารทั้งปวงด้วย อยากจะไปปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ในสงสารขอรับ”

ไปหาหลวงปู่มั่น

เมื่อจำพรรษาครบไตรมาสก็ลาหลวงปู่มีไปหาหลวงปู่มั่น เดินทางไปทางทิศใต้ ภาวนาพุทโธพร้อมก้าวเดินและวิจารณ์ใน พุทโธ ว่า ไม่เกิดไม่ดับไปไหน เป็นแต่จิตสังขารที่บริกรรม ถ้าจะภาวนาพระคุณออกไปข้างนอกก็ไม่มีที่สิ้นสุดได้เพราะมีมาก ถ้าจะภาวนาย่นเป็นสามก็พระวิสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ แต่ก็ใหญ่หลวงไม่มีประมาณอีกย่นลงในผู้รู้เล่าก็ไม่มีประมาณอีก ย่นลงในเอกคุณในปัจจุบัน ก็เป็นเอกคุณในปัจจุบันอันใหญ่หลวงอีก และธรรมเล่า สงฆ์เล่าก็กลมกลืนอยู่ในตัวแล้ว เป็นเชือกสามเกลียว เป็นเพียงใช้อักษรย่อบริกรรมเท่านั้น เมื่อตกลงในใจได้ดังนี้ ก็พอใจบริกรรมพุทโธพร้อมก้าวเดินไป

ถึงถ้ำพระเวศ

พอถึงถ้ำพระเวศแล้วจิตใจก็ดูดดื่มทวี เกิดปีติน้ำตาไหล จิตใจอ่อนโยน ศรัทธา สังเวชในพุทธ ธรรม สงฆ์ยิ่งขึ้นไม่มีที่เปรียบเทียบได้

สมัยนั้น ป่ารกชัฏในบริเวณแถบนั้นมากนักหนา มีสัตว์ป่านานา บ่ายสามโมงเย็น ก็ปัดกวาดรอบบริเวณพอได้ข้อวัตรแล้วก็สรงน้ำนั้นพอสะดวก อยู่ใกล้ไหลรินอยู่ไม่ขาดที่หน้าผา ตากผ้าไว้แล้วเดินจงกรมจนถึงมืด พอผ้าอาบน้ำแห้งแล้วก็เอาปูไว้นอน ผ้าคลุมหมอนก็อยู่ในตัว หมอนก็คือห่อผ้าสังฆาฏินั่นเอง ผ้าอาบน้ำที่ปูนั้นแหละเป็นสาดนอน ครุตักน้ำก็คือกา ไฟฉายและโคมไฟและเทียนขี้ผึ้งไม่ต้องถามหา ต้องถามเอาเดือนกับดาว เห็นหรือมืดเป็นเรื่องของตา

ปรากฏการณ์ที่ถ้ำพระเวส

ครั้นพักที่ถ้ำพระเวศคืนที่หกนั้นลมเข้าออกแห่งอานาปานสติเวลาประมาณ ห้าทุ่ม ลมละเอียดเข้าละเอียดเข้าแห่งหายใจออกเขาอันตั้งสติจ้องอยู่จนไม่ปรากฏหลอดลมที่คอหอย เพราะตั้งสติไว้ที่นั้น เสียงระเบิดตูมลงใกล้ใต้ที่พัก ปรากฏว่าภูพานทั้งลูกกระเด็นกระเทือน แต่ไม่ขนพองสยองเกล้าเลย ใจก็เป็นสมมุติว่าใจอยู่ตามเคย เย็นๆแล้วหวนทวนถอยหลังพิจารณาว่า วันนี้ก็ดี วันอื่นๆล่วงมาแล้วก็ดีข้อวัตรของเราไม่วิบัติอันใดดอก น้ำก็ตักใส่กาไว้แล้ว ตราดก็กวาดแล้ว จงกรมก็เดินภาวนาแล้ว ทำวัตรก็ทำแล้ว การฉันก็ฉันในบาตรรวมภาชนะเดียวทั้งหวานทั้งคาว ช้อนก็ไม่ได้ซดให้ถูกกับพญารสพญาลิ้น น้ำแกงผักหวานก็ไม่ได้ขโมยซดดอก เออ ทีนี้จะสมมติตนเป็นสอง ธรรมาสน์นะ

” มาอยู่นี้เพื่อประสงค์อะไร “

“เพื่อพ้นทุกข์ในสงสาร”

“จริงหรือ”

“จริงซี”

” ไม่มาอยู่พอได้ไปอวดคนหรือ “

“ไม่ ไม่ ไม่”

” เมื่อเทวดาเนรมิตพระพุทธรูปทองคำขึ้นตรงหน้าก็ดี หรือมีอยู่ในถ้ำนี้แต่เดิมก็ดีจะไม่แอบคิดว่า เอาไปให้คนบูชากราบไหว้ดีกว่าอยู่ในถ้ำนี้ จะไม่นึกอย่างนี้หรือ “

ตอบตนว่า ” เป็นบ้ารึ เป็นบ้ารึ เป็นบ้ารึ จึงจะคิดอย่างนั้น”

เมื่อถามตนตอบตนอยู่อย่างนั้น ปีติใหญ่เกิดขึ้นคล้ายกับ ว่าจะชนภูเขาทะเลชั่วลัดมือเดียว แต่ไม่หลงตัวว่าจะชนเพราะมีสติปัญญาสมดุลกันอยู่ว่าปีติๆอยู่ ไม่หลงลืมตัวได้ง่ายๆ รู้จักข่มปีติได้เพราะสุขก็ดี อุเบกขาก็ดี ปีติก็ดี อยู่ใต้ อำนาจอนิจจังเกิดขึ้นแล้ว แปรดับ ที่นี้ก็พูดกับตนต่อไปว่า ” ถ้าไม่นึกกลัวอะไรจริงก็นอนซะ ” แล้วก็นอนห่มผ้าจีวรเฉลียงบ่า แล้วก็นอนตะแคงข้างขวากำหนดลมต่อไปในอานาปานสติแล้วก็หลับไปไม่มีนิมิตและไม่ฝันเห็นอะไรตื่นแล้วร่างกายและจิตใจกระปรี้กระเปร่ารู้สึกเบามาก

มอบกายถวายชีวิตต่อพระอาจารย์มั่น

ขณะนั้นองค์ท่านกับคณะสงฆ์กำลังทำผ้ารองก้นบาตร องค์ท่านพระอาจารย์ก็รีบห่มผ้าเฉลียงบ่านั่งเรียบอยู่ วางบริขารไว้ที่ควรแล้วก็กราบองค์ท่าน องค์ท่านกรุณาถามว่า ” มาจากไหน” กราบเรียนว่า “มาจากถ้ำพระเวศ” ถามว่า “ภาวนาเป็นอย่างไร” กราบเรียนว่า “ยังไม่เป็นอะไร คงเป็นเพียงว่าศรัทธาเท่านั้น” แท้จริงอยากจะกราบเรียน เรื่องเสียงตูมลงจนภูเขาทั้งลูกกระเด็นนั้นอยู่ แต่ไปใหม่ก็ เก็บไว้เสียก่อน เพราะมีพระจ้องคอยฟังคำเรียนถวายอยู่มาก เพราะยังไม่คุ้นไม่เชื่องกับท่านองค์ใด คล้ายกับว่าอวดดีเกินไป พลิกจิตตั้งใจดีๆแล้วก็หมอบลงจรดพื้นกระดานศาลาไม่เงยหน้าขึ้น กล่าวว่า” ขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระอาจารย์ ผูกขาดทุกลมปราณ ตลอดทั้งคณะสงฆ์ในที่นี้ทุกๆองค์ด้วย ข้าน้อยว่าจะมาแต่ปีกลายนี้ แต่ท่านเจ้าคุณเทพกวีบอกว่าให้ไปหัดภาวนากับหลวงพ่อบุญมีวัดหนองน้ำเค็มเสียก่อนในปีนี้” องค์ท่านได้ฟังแล้วก็บอกพระเณรเอาบริขารไปที่กุฏิที่ว่าง กราบแล้วก็ตามบริขารไปที่พัก

อาจาริยวัตร

ข้อวัตรขององค์ท่านพระอาจารย์มั่น ตอนกลางคืนตีสาม ล้างหน้าบ้วนปากใส่กระโถนปากกว้างแบบเงียบๆ ห่มผ้าเฉลียงบ่า ไหว้พระสวดมนต์เงียบๆในห้องขององค์ท่าน บางวันก็สวดนานประมาณสามสิบนาที ครั้นสวดมนต์เสร็จแล้วก็นั่งภาวนา ภาวนาไปจนสว่างเป็นวันใหม่ได้อรุณ

ปรารภเรื่องอาหาร

เรื่องอาหารที่เข้ามาในวัดแล้วมารับในฤดูพรรษา เป็นมติของหลวงปู่มหาพาหมู่ทำเพื่อตัดรอนความยุ่งยากจุกจิกออกจากหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเพียงปรารภว่า ” อาหารที่ได้มาเป็นธรรมตกลงในบาตรแล้ว พระจะแจกกันในวัดหรือนอกวัดก็ไม่เป็นไรหรอก ครั้งพุทธกาลเบื้องต้นที่มีสาวกขึ้นใหม่ๆ ห้าองค์ มีโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ องค์หนึ่งจัดเฝ้าบริขาร นอกนั้นไปบิณฑบาตรมาเลี้ยงกันเป็นบางคราว เมื่อพระไม่แจกกันฉันกันใช้ จะให้ใครมาแจกให้เล่า แต่เราไม่บังคับในส่วนนอกวัดและในวัด แล้วแต่ศรัทธาเป็นเอง ” ดังนี้

ข้อปฏิบัติต่อหลวงปู่มั่น

ครั้นถึงเวลาบ่ายโมงกว่าๆ องค์ท่านก็ลงจากกุฏิเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง บ่ายประมาณสี่โมงเย็นก็กวาดวัดพร้อมกัน ข้อวัตรเกี่ยวกับลูกศิษย์ทำถวายองค์ท่านประจำวันประจำคืนจะก้าวก่ายกันไม่ได้ของใครของมัน

ข้าพเจ้ามีข้อวัตรโชกโชนอยู่กับองค์ท่านหลายอย่างมาก คือ

  1. ตื่นขึ้นมาแต่เช้ารีบติดไฟอั้งโล่เข้าไปไว้ใต้ถุนองค์ท่านให้ไอไฟส่งขึ้นเพื่อไล่อากาศหนาวเย็นไปบ้าง
  2. เมื่อองค์ท่านวิการในธาตุขันธ์ผิดปกติได้ถ่ายตอนกลางคืนลงที่หลุมใต้ถุน ได้รีบเก็บด้วยมือคือเอามือกอบใส่บุ้งกี๋ที่เอาใบตองรองแล้วเอาขี้เถ้ารองอีก กอบอุจจาระจากหลุมมาใส่บุ้งกี๋นั้น ส่วนหลุมนั้นเอาเถ้ารองหนาๆไว้แล้วมีฝาปิดไว้ตอนกลางวัน ค่ำมืดแล้วรีบไปปิดไว้ เช้ามืดรีบไปตรวจดูแบบเงียบๆเมื่อเห็นรอยถ่ายก็รีบเก็บ รีบล้างมือด้วยขี้เถ้าและน้ำมันก๊าด ตัดเล็บมือไว้ให้เรียบ ข้อที่เอามือกอบออกหลวงปู่มหาบอกแต่ว่าไม่ได้บอกต่อหน้าหลวงปู่มั่น บอกว่า “ครูบาอาจารย์ชั้นนี้แล้วไม่ควรเอาจอบเสียมนะ ควรเอามือกอบเอา” ดังนี้ย่อมเป็นมงคลล้ำค่าของข้าพเจ้า
  3. เมื่อท่านออกจากห้องตอนเช้า รีบยกอั้งโล่จากใต้ถุนขึ้นไปรอรับที่ระเบียง ทั้งคอยรับผ้าเช็ดหน้าองค์ท่านที่ท่านถือมาจากห้องนอน พอครูบาวันนุ่งผ้าถวายเสร็จแล้วยกสองมือส่งองค์ท่านคืน
  4. เมื่อองค์ท่านลงเดินจงกรมตอนเช้ารีบเอาไฟตามไปไว้ที่หัวจงกรม และคอยดูแลอยู่ตามแถบนั้นเพราะเกรงท่านจะล้มใส่ไฟ
  5. เมื่อองค์ท่านไปศาลาเตรียมตัวไปบิณฑบาต จึงยกอั้งโล่ตามหลังไปด้วย ตั้งไว้ใกล้ที่องค์ท่านนั่งพอสมควร
  6. กลับบิณฑบาตแล้วรีบมาตรวจดูไฟอั้งโล่แล้วรีบดูอาการของตนว่าอันไหนที่บิณฑบาตมาได้พอจะถูกกับธาตุองค์ท่านและรีบช่วยหมู่เพื่อนในเรื่องอาหารอย่านั่งเฝ้าบาตรของตนอยู่เหมือนกบงอยฝั่ง
  7. ฉันเสร็จแล้วรีบล้างบาตรตนรีบเช็ดเอาไปไว้กุฏิตนตอนเที่ยงโอกาสว่างจึงตากบาตร
  8. รีบเอาบาตรอาจารย์มหาบัวไปไว้กุฏิท่าน ท่านจะตากเอง
  9. รีบกลับมาเอาอั้งโล่ขึ้นไปที่พักขององค์หลงปู่ให้ทันกับเวลาอย่าให้องค์ท่านขึ้นไปก่อนอั้งโล่
  10. จงสังเกตให้ดีว่าองค์ท่านร้อนแล้วหรือหนาวอยู่ อย่ารีบด่วนแต่ทางจะเอามาดับท่าเดียว
  11. บางวันองค์ท่านหนาวจัดแต่พักอยู่เตียงนอกห้องท่านนอนอยู่แต่ไม่หลับ ภาวนาอยู่นิ่งๆต้องขยับไฟเข้าหาใกล้เตียง ถ้าท่านห้ามจึงถอยไฟออก ถ้าท่านไม่ห้ามท่านนิ่งภาวนาอยู่ เราต้องนั่งเฝ้าอยู่ใกล้เตียงนั้นนิ่งอยู่ ถ้าหากองค์ท่านพูดถามอะไร เราตอบเฉพาะตรงคำถามอย่าลามและก็ไม่แน่นอนบางทีได้เฝ้าอยู่จนเที่ยงวันก็มี ตอนหัวค่ำก็ต้องได้จุดได้รักษาวนๆเวียนๆอยู่นั้นแหละ สิ่งเหล่านี้มิใช่องค์ท่านและสงฆ์บังคบ ตนมีศรัทธาเอง
  12. เมื่อคราวซักหรือย้อมถวายองค์ท่านเราก็ต้องอยู่กองย้อม กองซัก กองตาก กองพับไว้ กองตัดหลวงปู่มหา กองเย็บ ท่านอาจารย์วัน กองถวายยาแก้โรคท่านอาจารย์วัน อาจารย์ทองคำ ปูที่นอนและเอาบาตรไว้ อาจารย์วัน อาจารย์ทองคำ

กรรมฐานที่หลวงปู่มั่นสอน

ด้านภาวนาสอนให้เลือกเอาตามจริตนิสัยที่สะดวกของจิตเป็นที่สบายของจริตในกรรมฐานสี่สิบห้องอันใดอันหนึ่งแล้วแต่สะดวก เมื่อบริกรรมและเพ่งอยู่พอก็ลงไปปรากฏรสชาติอันเดียวกันเช่น ขณิกสมาธิรวมลงไปขณะหนึ่งแล้วถอนออกมา อุปจารสมาธิรวมลงไปแล้วมักจะมีนิมิตต่างๆ เช่น แสงเดือนหรือดวงอาทิตย์ ดวงดาว ควันไฟ กงจักร ดอกบัว เทวบุตร เทวดา หรือร่างของตนปรากฏว่าพองขึ้นหรือเหี่ยวลง หรือปรากฏว่าเหาะเหินเดินอากาศโลดโผนต่างๆนานา เหล่านี้เป็นต้น..

ย้อนมาปรารภเรื่องกรรมฐานอีก หลวงปู่มั่นยืนยันว่า กรรมฐานสี่สิบห้องเป็นน้องอานาปานสติ อานาปานสติเป็นยอดมงกุฎของกรรมฐานทั้งหลายอยู่แล้ว ศาสนาอื่นๆนอกจากพุทธศาสนาแล้วไม่ได้เอามาสั่งสอนให้หัดปฏิบัติกันเลย เพราะกรรมฐานอันนี้บริบูรณ์พร้อมทั้งสติปัฏฐาน ๔ ไปในตัวด้วยและเป็นแม่เหล็กที่มีกำลังดึงกรรมฐานอื่นให้เข้ามาเป็นเมืองขึ้นของตัวได้….

พบพระอาจารย์ฝั้นที่ถ้ำบ้านไผ่

กราบลาองค์ท่านแล้วก็ลงภูเขามาพร้อมโยมที่ไปลัดใส่บาตรบนภูเขา พอลงมาถึงใกล้วัดป่าบ้านนาโสกก็เลยไม่เข้าพักวัด ให้โยมชาลีตามส่งทงล่องชายเขาตรงทิศตะวันตก โยมไปส่งประมาณหนึ่งกิโลเมตรพอจะไม่หลงแล้วก็ให้โยมกลับ

เดินองค์เดียวเปลี่ยวเปล่าตามชายภูเขาไม่เศร้าโศก

บริโภคภาวนาพร้อมกับขาก้าวหน่วงน้าวธรรม

บริกรรมติดต่อจดจ่อเป็นจังหวะ

ไม่ขาดระยะวิเวกวังเวง

จั๊กจั่นร้องเพลงตามต้นไม้เป็นระยะๆ

ไปพบปะเด็กจับจั๊กจั่น ถามเขาว่าไปทางนั้นถูกไหมหนู

เขายกมือชูชี้บอก ขอหลวงพ่ออย่าได้ปลีกออกจากทางเดิม

ทางเส้นนี้แหละผ่านบ้านมะนาวสีฯ

เดินถึงค่ำพอดีก็พักบ้านค้อ

ตื่นเช้าบิณฑบาตฉันเสร็จก็เดินต่อ พักวัดร้างบ้านนาสีนวลสองคืน

สมัยนั้นวัดดอยธรรมเจดีย์กำลังเริ่มสร้างมาในระหว่างสองปี ลาจากบ้านนาสีนวลเดินทางข้ามเขาบ้ายสามโมงเย็นถึงวัดป่าบ้านเต่างอย

ลาจากนั้นเป็นวันใหม่เสร็จเดินทางถึงบ้านไผ่ประมาณเที่ยงวัน ได้ทราบว่าพระอาจารย์ฝั้นมาพักอยู่ถ้ำบ้านไผ่หลายวันแล้วองค์ท่านย้ายจากถ้ำผาแด่น หมู่ของท่านกลับวัดหมดแล้วพอได้ยินเขาเล่าอย่างนั้นก็นึกในใจว่าเราจะผ่านไปถ้ำผาแด่นเลยก็ไม่เป็นธรรมอีก เราก็ต้องแวะองค์ท่าน เขาบอกล่วงหน้าว่า “จากบ้านนี้ขึ้นไปหาถ้ำพระอาจารย์ฝั้น ทางไกล ๗๐ เส้น” “เออ อาตมาก็จะขึ้นไปหาองค์ท่าน” ว่าแล้วเขาก็ไปส่งทางประมาณ ๒ เส้นกว่าๆ แล้วก็บอกเขากลับ เดินไปอีกนานพอสมควรก็ถึงถ้ำองค์ท่านอยู่

ขณะนั้นองค์ท่านกำลังสานครุไว้ตักน้ำอยู่องค์เดียว วางบาตรไว้ที่ควรแล้วห่มผ้าเฉลียงบ่าเข้าไปกราบองค์ท่าน องค์ท่านทักทายว่า “มาจากไหน” เรียนว่า “มาจากถ้ำมะเขือ นึกว่าจะไปถ้ำพระเวส แต่หลวงตามิ่งอยู่แล้วก็ไปหาถ้ำได้ถ้ำมะเขือ ค่ำๆจวนเวลาก็ยอมนอนแผ่นดินที่นอนเอียงมากและสถานที่ก็ไม่เหมาะสมนอนอยู่คืนหนึ่งก็เลยจากมาครับ”

องค์ท่านกล่าวว่า “เออ ผมย้ายจากถ้ำผาแด่นมานานแล้ว หมู่ท่านกว่าพากันกลับวัดหมดแล้ว ถ้าหากว่าท่านอยากอยู่กับผม ผมก็ไม่ขัดข้องเลย จงพิจารณาดูตามสะดวกเถิด” กราบองค์ท่านแล้วก็ไปหาที่พัก เลยได้หินดานกลางแจ้ง ไม่ได้กางกลดและมุ้งเลย ปูผ้านอนหินดานเลยและน้ำก็อดอีกไม่ได้อาบน้ำเลยวันนั้นเพราะเกรงจะหมดไปจากองค์ท่าน

ท่านพระอาจารย์มั่นถามภาวนาเป็นไง

ตั้งใจเดินตรงตามทางมาถึงวัดหนองผือ เอาบาตรไปไว้ศาลาพักอยู่สักครู่ เวลานั้นตะวันประมาณบ่ายโมงสามสิบนาที สายตาจับอยู่ที่กุฏิหลวงปู่ ไม่ช้าก็เห็นท่านออกมาที่ระเบียงขององค์ท่านจึงได้ห่มผ้าเฉลียงบ่า ถือฝาบาตรใส่เทียนที่เอามาจากบ้านคำข่าใส่ไม้สีฟันค่อยเดินไปหา องค์ท่านแลเห็นใกล้บันได องค์ท่านปรารภเย็นๆ เบาๆ ว่า ” ท่านหล้านี้มาจากไหนหนอ เดินย่องๆมาคนเดียวนิสัยก็แปลกหมู่ชอบไปคนเดียวมาคนเดียว ส้นเท้าก็แหลมๆเดินไปมาปรากฏดังตึงๆ” ที่ว่าแปลกหมู่นั้นองค์ท่านก็ไม่อธิบายว่าแปลกไปทางดีหรือทางชั่ว แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่เรียนตอบสักคำเลย เพราะเข้าใจว่าองค์ท่านพูดไปตามเรื่องขององค์ท่านและเป็นเรื่ององค์ท่านทดสอบเราว่าจะทั้งเดินทั้งพูดทั้งล้างทั้งเช็ดเท้าหรือไม่ พอกราบเสร็จแล้วท่านก็ถามกระหน่ำต่อไปทั้งคำเก่าและคำใหม่ปะปนกันไปตะพึดยกมือกราบเรียนว่า “มาจากถ้ำผาแด่น” “ภาวนาเป็นไงๆ” กราบเรียนว่า “รสชาติใจวิเวกวังเวง ความไหวการ ยืน เดิน นั่ง นอน สติอยู่กับกายและใจ เหลียวซ้ายแลขวา เหยียดแขน คู้แขนรู้อยู่แทบทุกอิริยาบถ จิตใจอ่อนโยนในพุทธ ธรรม สงฆ์ น้ำตาไหลไม่ค่อยขาด การกลัวสัตว์ร้ายหรือผีไม่ค่อยมี จะมีมาบางอารมณ์ก็งูใหญ่นึกในใจบ้าๆว่า ถ้านั่งภาวนาอยู่ มันมาคาบกลืนลงไปทีเดียวก็ได้ แต่อารมณ์ชนิดนี้มาครู่เดียวก็ขับมันหนีไปได้ แต่นานๆมันจึงจะมาอีก” องค์ท่านตอบว่า “กลัวมันทำไมงูมันกินเข้าก็ยันท้องมันซิ” ว่าแล้วองค์ท่านก็ยิ้ม….

ธรรมหลวงปู่มั่น

หันมาปรารภต่อไปว่า ในยุคบ้านหนองผือในวาระผู้เขียนไปอยู่ด้วยกับองค์ท่าน ได้ยินองค์ท่านยืนยันว่าองค์ท่านเป็นพระอรหันต์หรือไม่ ตอบได้อย่างผึ่งผายว่าองค์ท่านมิได้ยืนยันว่าองค์ท่านเป็นพระอรหันต์หรือปุถุชนใดๆเลย ชะรอยผู้เขียนจะไม่รู้จักอิโหนิอิเหน่แล้วองค์ท่านจะไม่เล่าคำลับให้ฟังก็อาจเป็นได้หรือเกรงว่าผู้ฟังประมาทและไม่เชื่อก็อาจะเป็นโทษแก่เขาก็อาจเป็นได้ องค์ท่านจึงไม่เล่าให้ฟัง ส่วนธรรมะขององค์ท่านแสดงบางคราวเป็นธรรมชั้นสูงมากเป็นต้นว่า “ไม่ว่าธรรมส่วนใด ถ้าสำคัญตนว่าเสวยเป็นอันผิดทั้งนั้น” ข้อนี้ประทับใจข้าพเจ้ามาก ในเวลาที่องค์ท่านเทศน์อย่างนี้ พระอาจารย์มหาบัวก็ฟังอยู่ที่นั้นด้วย มีพระสองสามองค์นั่ฟังอยู่ด้วย ไม่มีพระอาคันตุกะมาปน แต่แปลกอยู่ว่า ชีวประวัติของหลวงปู่มั่นได้พิมพ์มาหลายๆครั้ง ตรวจดูแล้วไม่เห็นธรรมข้อนี้ปนอยู่เลย ชะรอยต่างองค์ก็ต่างจำมาได้คนละบทคนละบาทอันสำคัญ

มุตโตทัยตีพิมพ์ฉบับต้นคราวถวายเพลิงของหลวงปู่มั่น ธรรมชันสูงในเล่มนั้นกล่าวว่า ” ถ้าไม่มีที่อยู่ ก็ไปอยู่ที่สูญสูญนั้น”ใจความในหนังสือเล่มนั้นทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับภาพพจน์ข้อนี้ นี้เป็นธรรมชั้นสูงในหนังสือเล่มนั้นทั้งหมด เหตุผลที่จะไปอยู่ที่สูญสูญนั้นหนังสือเล่มนั้นอธิบายว่า “ถ้าจะว่าสูญไม่มีค่าก็ไม่ได้ เพราะไปบวกกับเลขหนึ่งก็สิบ ร้อย พัน หมื่น แสน ล้าน ” ดังนี้ เป็นมติของผู้เขียนคืออาจารย์มหาเส็งและอาจารย์ทองคำ ในยุคนั้นพระอาจารย์มหาบัวกำลังรักวิเวกเที่ยวปฏิบัติโชกโชนอยู่ไม่สุงสิงในการเขียนหนังสือ ข้าพเจ้าพิจารณาอยู่แต่ไรๆว่าเหตุที่สูญจะเป็นองมีค่าก็เพราะมีผู้ไปยึดถือเอาเป็นเของ ถ้าไม่มีผู้ไปยึดถือเอาเป็นเจ้าของแล้วสูญก็กลายเป็นโมฆะไปตามสภาพที่สมมติ ไม่ว่าแต่สูญเลย ขี้เป็ดขี้ไก่ก็ดีถ้ามีผู้ไปยึดถือเอาเป็นเจ้าของแล้วย่อมเป็นของมีค่าทั้งนั้น ซื้อขายเอาไปใส่ผักก็ได้

พิธีปลุกเสกพระพุทธรูป

กล่าวเรื่องต่อไปอีก ปฏิปทาของหลวงปู่ทอดสะพานให้ลูกๆหลานๆยังมีอยู่อีกมากมายนัก การเรี่ยไรแผ่ๆ ขอๆ นางตรงและทางอ้อมและจัดงานขึ้นในวัดเพื่อหารายได้สมทบการก่อสร้างหรือซ่อมแซมที่เกี่ยวกับตัวเงินๆ ไม่มีในขันธสันดานขององค์หลวงปู่เลย ของรางของขลังไม่มีปฏิปทาเลย รูปเหรียญ ขายพระเล็ก พระน้อย พุทธาภิเษกไม่มีในปฏิปทาขององค์ท่านเลยนา วิชาปลุกเสก แกะหู แกะตา ให้พระพุทธรูปหรือทำพิธีบวชให้พระพุทธรูปไม่มีในสันติวิธีขององค์ท่าน

องค์ท่านกล่าวว่า “สมมติเป็นพระพุทธรูปแล้วก็เสร็จกัน เราดีอย่างไรจึงจะไปบวชให้องค์ท่าน องค์ท่านบวชก่อนเราแล้ว เราดีอย่างไรจึงจะไปปลุกเสกท่านให้ตื่น ท่านตื่นก่อนเราเข้าอนุปาทิเสสนิพพานแล้ว เราดีอย่างไรจึงจะไปแคะหู แคะตาให้องค์ท่าน ตานอก ตาใน หูนอก หูในขององค์ท่านดีกว่าเราแล้ว จะภิเษกภิษันให้องค์ท่านอะไรอีก องค์ท่านเป็นพระพุทธเจ้าเต็มภูมิแล้ว จะเอาไสยศาสตร์ไปพอกองค์ท่านทำไม นั่นแหละตัวบาป นั่นแหละขุมนรกมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดเต็มภูมิแล้วยังสำคัญว่าเห็นชอบ เข้าข้าบงตัวแต่ไม่เข้าข้างธรรมวินัย เพียงเท่านี้ก็ยังไม่รู้จักผิดรู้จักถูกแล้ว ธรรมอันละเอียดลออ ก็ยังมีขึ้นไปกว่านี้มาก ไฉนจะรู้ได้..

อาหารบิณฑบาตประเสริฐกว่า

ปรารภเรื่ององค์ท่านหลวงปู่ที่ได้เขียนข้ามไปบ้างเพราะระลึกได้ทีหลัง ในระหว่างท่านป่วยชราภาพซัดเซไปบิณฑบาตในบ้านอยู่นั้น วันหนึ่งครูบาทองคำกระซิบกับผู้เขียนด่วนๆว่า “ตอนองค์ท่านหลวงปู่ออกจากห้องแล้ว ตอนเช้าองค์ท่านลงไปจงกรมก่อนบิณฑบาตท่านเป็นผู้รักษาไฟอั้งโล่ที่เอาไปตั้งไว้ที่สุดของท่านจงกรมทางละอันเพราะระวังคอยดูแล เกรงองค์ท่านจะเซล้มใส่และก็ได้รักษาอยู่ใกล้องค์ท่าน ท่านจงกราบเท้าเรียนถวายว่า คณะสงฆ์ทุกถ้วนหน้าได้พร้อมใจกันแล้วว่า ขอกราบเท้าเรียนถวายองค์หลวงปู่ไม่ต้องลำบากไปบิณฑบาต คณะสงฆ์จะหามาเลี้ยง ดังนี้ เพราะเป็นเวลาสองต่อสองไม่มีองค์อื่นร่วมด้วยในกาละเทศะอย่างนั้น”

ตอบครูบาทองคำย่อๆว่า “เออ ผมก็ลองกราบเท้าเรียนถวายนิมนต์ดู แต่ร้อยเปอร์เซ็นต์ทีเดียว ผมเข้าใจว่าองค์ท่านคงไม่ยอมรับและผมเข้าใจว่าองค์ท่านคงไม่ยอมรับและผมเข้าใจว่าพระอาจารย์มหาคงได้พิจารณาแล้วถ้าหากว่ามีประตูจะได้ พระอาจารย์มหาคงกราบเรียนถวายท่านก่อนพวกเราแล้วและพระอาจารย์มหาคงจะไม่วิจารณ์พวกเราว่าอวดฉลาดข้ามกรายองค์ท่านดอกหรือ”

ครูบาทองคำตอบว่า “ไม่เป็นไรดอก ผมรับรองได้ผมจะแก้ช่วยดอก ถ้าหากว่าผิดพอคอขาดบาดตายต่อพระอาจารย์มหา ผมจะรับเอาว่าเป็นด้วยผมดอก ถ้าโอกาสนี้ไม่ทัน พรุ่งนี้จึงกราบเรียนนิมนต์ ในยามองค์ท่านจงกรมตอนเช้าที่อยู่สองต่อสองนั้นแหละเพราะไม่มีใครคอยฟังอยู่ด้วยเพราะหมู่เราคอยอยู่ศาลาหมดแล้วในตอนนั้น”

ครั้นเป็นวันใหม่ได้เวลาหมู่พระสงฆ์สามเณรไปรวมกันที่ศาลา รอคอยจะเตรียมตัวไปบิณฑบาต องค์หลวงปู่เดินจงกรมกลับไปกลับมาอยู่ เพราะเมื่อองค์ท่านป่วยทวีเข้าก็ได้รักษาไฟอยู่ใกล้เกรงจะล้มใส่ ยกมือประนมพร้อมทั้งคุกเข่าอยู่กับพื้นดินว่า “ขอโอกาสกราบเรียน ถวาย พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ คณะสงฆ์ พร้อมใจกันให้เกล้ากราบเท่าเรียนถวายพ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ ขอนิมนต์วิงวอนมิให้ไปบิณฑบาตเพราะชราภาพแล้ว เดินซัดไปซัดมา คณะสงฆ์จะรับอาสาบิณฑบาตมาเลี้ยงดอกขอรับ”

ทีนี้องค์หลวงปู่ยืนกางขาออกนิดหน่อย กรุณากล่าวบรรจงพร้อมทั้งแยบคายว่า “พวกเราเป็นขี้เท้าของพระองค์เจ้า ไปบิณฑบาตแต่ละวันมันได้ประโยชน์อยู่ เราก็ได้ข้อวัตร เขามาใส่บาตร เขาก็ได้จาควัตร ทานวัตรของเขา ข้าวก้อนใดอาหารกับอันใดตกลงไปในบาตร ข้าวและกับอันนั้นเป็นของประเสริฐกว่ารับนิมนต์ หรือเขาตามมาส่งในวัด ในมหาขันธ์และปฐมสมโพธิกถาได้กล่าวไว้ชัดแล้วและผัวเดียวเมียเดียวกับลูกน้อยบางคนเขาก็ได้ใส่บาตร ไม่ได้มีเวลามาวัด และลูกน้อยมันตามแม่มันมาใส่บาตรมันก็ได้กราบไหว้ก็เป็นบุญจิตบุญใจของมันก็เรียกว่า เราโปรดสัตย์อยู่ในตัวแล้วขึ้นธรรมาสน์จึงจะได้โปรดสัตว์มันก็ไม่ถูกละ อีกประการหนึ่งพระบรมศาสดาของพวกเราทรงฉันบิณฑบาตของนายจุนทะกัมมารบุตรแล้วก็ทรงเสด็จถึงเมืองกุสินาราในวันนั้น รุ่งเช้าก็ทรงสิ้นพระชนมายุเรียกได้ง่ายๆว่า พระองค์เสด็จบิณฑบาตจนถึงวันสิ้นลมปราณ ได้ทอดสะพานทองสะพานเงินสะพานอริยทรัพย์ไว้ให้พวกเราแล้ว ถ้าพวกเราไม่รับมรดกของพระองค์ท่านก็เรียกว่า ลืมตัวประมาทพวกเราก็ต้องพิจารณาคำนึงถึงให้ลึกซึ้ง “

หลวงปู่มั่นในนิมิต

วันหนึ่งประมาณ ๖ ทุ่ม สนใจในข้อวัตรของหลวงปู่มั่นในยุคบ้านหนองผือ สกลนคร ไม่อยากให้หลุดไปสักอันเลย แล้วก็พิจารณาสูญจากสัตว์จากบุคคลในเงื่อน ๒ พร้อมกับลมออกเข้าว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราติดต่ออยู่ไม่ขาดวรรคไม่ขาดตอนเงียบลงไป ได้ปรากฏเห็นองค์หลวงปู่มั่นมายืนบรรจง ห่มผ้าเฉลียงบ่าเอามือซ้ายหย่อนเหยียดลงใต้ท้อง เอามือขวาเหยียดลงประทับมือซ้ายทอดจักษุลงพอชั่วแอก สะพายย่ามทางขวา ท่าทางยืนจงกรมและท่าทางปลงธรรมสังเวชอีก ผินหน้ามาทางทิศใต้ ยืนอยู่ดินราบๆ ห่างจากกุฏิข้าพเจ้ามาทางทิศใต้ประมาณ ๕ วา ห่างจากกุฏิหลวงปู่เทสก์ทางทิศเหนือประมาณ ๑๒ วา ผินหน้ามาทางกุฏิหลวงปู่เทสก์ ในเวลานั้นข้าพเจ้าอยู่ที่กุฏิหลวงปู่เทสก์ทำกิจธุระอันใดอันหนึ่งอยู่และหลวงปู่เทสก์ก็อยู่ในกุฏิของท่าน แต่กุฏินั้นมิได้กั้น โล่งโถงอยู่ พอข้าพเจ้าเหลือบไปเห็นองค์หลวงปู่มั่นยืนในมรรยาทปลงธรรมสังเวช จิตใจก็เกิดปีติยินดีว่า อ้า องค์หลวงปู่ยืนผินหน้ามาใส่เรียบมากงดงามมาก นึกในได้โดยเร็วว่า เราต้องเหาะคุกเข่าพร้อมทั้งประนมมือไป ให้สูงประมาณบั้นเอว แล้วค่อยพยุงปลงลงต่อหน้าใกล้ฝ่าเท้าองค์หลวงปู่ พร้อมทั้งประนมมืออยู่เป็นนิจ นึกอย่างนี้ได้รวดเร็วแล้วก็เหาะพร้อมทั้งคุกเข่าพร้อมทั้งประนมมือไปโดยรวดเร็ว แต่พอเข้าใกล้องค์หลวงปู่ประมาณ ๑ ศอก ก็ค่อยพยุงเข่าลงจรดพื้นดินพร้อมทั้งแหงนคอขึ้นแลหน้าองค์หลวงปู่ แม้น้ำตาไหลออกมาด้วยซ้ำ

องค์หลวงปู่ถามว่า ” ท่านจะเปลี่ยนย่ามไหม” เรียนองค์ท่านว่า ” ไม่เปลี่ยนดอก ข้าน้อย เพราะย่ามอันใช้อยู่เดี๋ยวนี้ก็เป็นของ พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ให้ ” แล้วองค์ท่านก็ถามอีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า” เอาย่ามพร้อมทั้งเอื้อมมือให้” เรียนว่า “ข้าน้อยไม่เอาดอก ย่ามเดิมที่ใช้อยู่นี้ก็ยังดีๆอยู่ไม่ทันขาดและก็เป็นยามที่ พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ให้ “แล้วองค์หลวงปู่ก็หายตัวไปในขณะนั้น ข้าพเจ้าก็นั่งคุกเข่าประนมมือจิตพะวงอยู่ที่เก่ายังมิได้เคลื่อนที่ไปไหน อีกสักครู่ท่านก็มายืนที่ใกล้ๆที่เดิมนั้นอีก ” เอา เอาย่าม ” เรียนว่า ” ข้าน้อยไม่เอาดอก ” ยืนยันอย่างเดิมอยู่ องค์ท่านกล่าวว่า ” โยมกำลังจะมาหาเรามาก เราไปดอก” ว่าแล้วก็หายตัวไปเลย จิตก็ถอนออกมาเห็นลมหายใจออกเข้าอยู่พร้อมทั้งพิจารณาไม่เราไม่ใช่ของเราอยู่ แต่น้ำตาปรากฏเปียกแก้มใสแจ๋วอยู่ไม่ใช่หลับ รสชาติอันนี้จำได้ชัด ไม่มีเทวดามาร พรหม ใดๆ จะมาทำให้ลืมได้จนสิ้นลมไป

ลัทธิพิศดาร

สมัยข้าพเจ้าอยู่ภูเก้าเบื้องต้น ข้าพเจ้าอยู่องค์เดียว ๕ เดือน ได้มีโยมคนหนึ่งขึ้นไปหาข้าพเจ้าอายุประมาณ ๓๐ ปี เป็นคนรูปร่างขนาดกลาง ในสมัยนั้นเขามาหาถ่ายรูปเขาเลยขึ้นไปหาข้าพเจ้า เมื่อขึ้นไปหาแล้วจึงชักชวนข้าพเจ้าว่า “ญาครู ญาครู จะพูดอันหนึ่งให้ฟังจะเอาด้วยไหม ” ข้าพเจ้าเลยบอกว่า ” เออ เอาไม่เอาก็ขอให้จงพูดไปเสียก่อน อย่าเพิ่งรีบมาข่มเหงนัก ให้อาตมาฟังเสียก่อน ” เขาจึงพูดไปว่า ” เอาตั้งใจฟังให้ดีจะพูดให้ฟัง ศาสนาไม่มี พ่อแม่ไม่มี คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่มี ทำการทำงานได้ฟังแล้วให้ทำขึ้นสู่รัฐบาล ไม่ให้มีกรรมสิทธิ์ส่วนตัว ให้แต่พอเพียงได้กินได้อยู่ทำงานให้รัฐบาลหมด ให้คนเสมอกัน ญาครูจะยินดีด้วยไหม” ข้าพเจ้าเลยบอกว่า “ยินดีไม่ยินดีก็ขอให้จงพูดไปก่อนอาตมาจะฟังอย่าเพิ่งเร่งรัดมากนัก “เขาจึงพูดต่อไปว่า ” ไม่ให้มีผู้ใหญ่ไม่ให้มีผู้ต่ำ ไม่ให้มีผู้สูงให้เสมอกันหมด เงินเดือนให้เท่ากันมีความสุขเสมอกันหมด มีลูกออกมาให้รัฐบาลเอาไปเลี้ยงไม่ต้องลำบาก ของถ้าหากได้มาก็ให้เอาขึ้นรัฐบาลหมด ไม่ให้มีผู้หนึ่งผู้ใดเป็นเจ้าของ ให้แต่พอกินพอใช้ ให้คนเสมอกันไม่ให้มีชั้นวรรณะ ให้เป็นนายเหมือนกันหมด ไม่ให้มีผู้ใดเป็นใหญ่ ให้เสมอกันหมด ศาสนาไม่มี ญาครูเห็นดีด้วยไหม คุณพ่อคุณแม่ไม่มี ท่านเลี้ยงมาเป็นเรื่องของท่าน ท่านเป็นผู้ทำออกมาท่านก็ต้องเลี้ยง บาปไม่มี บุญไม่มี บุญก็คือกินได้นอนหลับนั่งเอง จะเอาด้วยไหม” ข้าพเจ้าเลยบอกว่า ” เออ หมดหรือยัง ถ้าหากหมดแล้ว อาตมาจะตอบ ถ้าหากว่ายังไม่หมดให้พูดต่อไป”

เขาบอกว่า “ขอพูดแค่นี้เสียก่อน ขอให้ญาครูตอบมา”

ข้าพเจ้าเลยพูดว่า “อาตมาจะถามบ้างหละ จะทำให้คนเสมอกันได้อย่างไร คนขาหักจะทำให้เป็นคนขาดีได้ไหม คนโง่ทำให้เป็นคนฉลาดได้ไหม คนมีกำลังน้อยจะทำให้มีกำลังมากได้ไหม”

เขาตอบยอมรับความเป็นจริงว่า “ทำไม่ได้”

ข้าพเจ้าจึงพูดต่อไปว่า “พ่อก็เป็นพ่อเต็มภูมิ แม่ก็เป็นแม่เต็มภูมิ จะไปพูดว่าเสี่ยวว่าสหายได้หรือ จะไม่ให้มีคุณมีค่าได้อย่างไรหน้าที่ท่านเลี้ยงมาแล้วก็เป็นหน้าที่ของเราที่เลี้ยงท่านตอบ ท่านได้เลี้ยงมาแล้วเลี้ยงตอบท่าน ทำกิจธุระของท่าน ดำรงวงศ์ตระกูล ประพฤติตนให้เป็นคนควรรับทรัพย์มรดก เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ท่าน เราต้องประพฤติอย่างนั้น เหมือนมีคนๆ หนึ่งมายกมือไหว้เราว่า สบายดีหรือ เราก็ยังได้ยกมือไหว้ ตอบว่า สบายดี เรื่องของท่านเลี้ยงเราเราก็ควรเลี้ยงท่านตอบ จะไปพูดอย่างนั้นก็ไม่ได้ อาตมาก็ไม่เลื่อมในด้วยถ้าพูดอย่างนั้น ทำคนให้เสมอกันจะทำอย่างไร มันไม่เสมอกันดอก เอ้า อาตมาจะพูดให้ฟัง อย่างโยมนี้เก่งทางช่างไม้เก่งทางช่างเหล็ก อาตมาเป็นแต่เพียงทุบหิน เขาก็ไล่อาตมานี้แหละไปทุบหิน โยมเป็นช่างไม้ก็ต้องไปอยู่ร่มอยู่เงา การกินการอยู่การหลับนอนก็ต่างกันหรืออย่างต่ำโดยก็คงเป็นผู้คุมอาตมา อาตมาเป็นผู้ทุบหิน ผู้คุมนั้นก็คงจะได้อยู่ในร่ม อาตมาก็ต้องได้ทุบหินตากแดดอยู่กลางแจ้ง มันจะเสมอกันได้อย่างไร คนเราพ่อก็ต้องเป็นพ่อเต็มภูมิ แม่ก็ต้องเป็นแม่เต็มภูมิ แผ่นดินก็ยังมีต่ำมีสูงจะให้เสมอกันได้อย่างไร เงิน ๕ บาท กับเงิน ๑๐ บาท อันไหนจะมีราคาสูงกว่ากัน เงินใบละ ๑๐๐ บาท กับใบละบาทอันไหนราคาสูงกว่ากัน”

เขาเลยตอบว่า “เงินใบละ ๑๐๐ บาท ราคาสูงกว่า”

ข้าพเจ้าเลยพูดต่อไปว่า “มันก็มีชั้นวรรณะอยู่ในตัวมัน ใครไปทำให้มัน ก็คุณสมบัติของมันมีของมันเอง ดินไม่มีปุ๋ยกับดินมีปุ๋ยมันก็ยังมีคุณสมบัติต่างกัน ไม้ยูงกับไม้ไผ่อันไหนมันดี น้ำหนักเท่ากันไม้ยูงก็ราคาสูงกว่า ก็คุณสมบัติมันต่างกัน มันก็สูงขึ้นตามคุณสมบัติของมัน พ่อก็เป็นพ่อเต็มภูมิ แม่ก็เป็นแม่เต็มภูมิ จะไปเตะตูดว่า สหาย หมดก็ไม่ได้ ตัวเองโง่แล้วจะมาสอนให้คนอื่นโง่ด้วย โยมเป็นบ้าแล้วยังจะมาสอนให้อาตมาเป็นบ้าด้วย อาตมาไม่ไปด้วยนะ ถ้าหากกว่าไม่มีชั้นวรรณะ ทำไมไม่ให้สตาลินมาทุบหินบ้าง ให้ทหารไปเฝ้าอยู่ทำไมร้อยชั้นพันหลืบ”

พรรษา ๑๔ ก่อตั้งภูจ้อก้อ

หันมาปรารภเรื่องภูจ้อก้อได้ ๓ พรรษา พรรษาที่ ๔ ก็รื้อกระต๊อบฟางทิ้ง ญาติโยมบ้านแวงมีพ่อศิลป์ก็ริเริ่มทำกุฏิสามัคคีขึ้นกว้าง ๓ เมตร ยาว ๔ เมตรกว่าๆ ต่อแต่นั้นก็ค่อยทยอยขึ้นปีละหลังบ้าง ๒ ปีต่อหลังบ้าง ๔ ปีต่อหลังก็มี ทีแรกก็นึกเอาเด็ดๆ เดี่ยวๆ จะไม่ก่อสร้างใดๆ ทั้งสิ้น แต่อยู่นานติดต่อกันไปหลายปี หมู่พระเณรมาพักอาศัยไม่มีที่พักก็จำเป็นได้ทำ แต่มิได้แผ่มิได้ขอ เรี่ยๆ ไรๆ ให้ปีนเกลียวของธรรม มีมาโดยชอบธรรมก็จึงทำ ไม่ได้ใช้อุบายจัดงานในวัดเพื่อหาเงินขูดๆ เกลาๆ มาก่อสร้าง ทำพอได้อยู่ได้พักเท่านั้นและก็อาศัยน้ำฝนจากหลังคาใส่ลงถังเพราะภูลูกนี้มิได้มีน้ำเป็นหลักก็จะเป็นจำไป และเมื่อไม่น้อมว่าเป็นสมบัติของตัวแล้ว กิเลสก็คงไม่กำเริบมากเท่าไรนักหนา น้อมเป็นของพระพุทธศาสนาแล้วกิเลสก็เบาลง คะนองตัวไม่ได้ จะน้อมเป็นตัวได้ชั่วคราวก็แต่เพียงบริขาร ๘ เท่านั้น แม้ถึงอย่างนั้นก็ยังได้สับเปลี่ยนให้องค์นั้นองค์นี้อยู่ ไม่ว่าแต่เท่านี้ แม้หนังหุ้มอยู่โดยรอบที่ยืมมาจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมก็จะได้ส่งคืนให้ ดิน น้ำ ไฟ ลมอยู่เพราะจะได้แตกสลายลงสู่ธาตุเดิมอยู่ ดินแตกไปเป็นดิน น้ำแตกไปเป็นน้ำ ไฟแตกไปเป็นไฟ ลมแตกไปเป็นลม ลงสุ่มหาธาตุเดิมคงที่ ด้านกิเลสคือความหลงไม่รู้เท่าปัญหาของตนที่มาหลงดินหลงน้ำ หลงไฟ หลงลมก็จะได้มาสร้างดินสร้างน้ำสร้างไฟสร้างลม เป็นเปรต เป็นผีเฝ้าดิน ผีเฝ้าน้ำเฝ้าลมเฝ้าไฟ ขันอยู่เหมือนนกเขาชวา ของกู ของกู ของกู ของกูอยู่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับกรรมและผลของกรรมอีก

พระพุทธศาสนาเป็นของลึกซึ้งไม่เป็นสิ่งที่ผู้หูหนาตาเถื่อนจะเข้าใจความหมายได้ง่ายๆ ฉะนั้นในโลกจึงมักจะเจอแต่คนตาบอดมาอวดสนเข็มกับตาดีเป็นส่วนมาก ฝ่ายแจวเรือพายเรือข้ามน้ำ เขาโค มีน้อย ขนโคเป็นฝ่ายกางขาลงโต้น้ำให้เรือวนเรือฝืด ด้านจิตใจหนักไปในทางกิเลส ด้านมันสมองก็มันไปทางกิเลส มอบให้ใจเป็นใหญ่ทั้งทางคว่ำทางหงาย มอบให้มันสมองเป็นใหญ่ทั้งทางคว่ำทางหงาย ใจมีกิเลสหรือไม่มีกิเลสก็ไม่มีกรรมการเลือกเฟ้นเลย เสือมันก็มีสติปัญญาอยู่ แต่สติปัญญาของมันมุ่งตะครุบเขามาใส่กระเป๋าท้องของมัน เมื่อจิตใจและธรรมยังไม่ถึงพระอริยบุคคลชั้นใดชั้นหนึ่งแล้วย่อมเป็นผู้กินไม่เลือกทั้งนั้น ธรรมะแท้เป็นทรัพย์สินของนักปราชญ์แต่เป็นหอกเป็นง้าวเป็นฟืนเป็นไฟของคนพาล หมายความว่าพวกคนพาลเข้าใจความหมายอย่างนั้น แต่ที่จริงแล้วหาได้เป็นฟืนเป็นไฟเป็นหอกเป็นง้าวกับใครไม่ เป็นจริงอยู่ตามธรรมชาติของ บาป บุญ มรรค ผล นิพพาน คงที่

ยุคภูจ้อก้อปัจจุบัน

ยุคภูจ้อก้อนี้นับแต่ยุคต้นมาจนถึงปัจจุบันที่เขียนอยู่นี้ก็ดี ไม่ว่าบรรพชิตและฆราวาสใกล้และไกล ต่างก็พากันดูแลช่วยเหลือตามสติกำลังของตนๆ อยู่เท่าที่ทำได้..

แต่ละคนก็ต้องทำความดีไว้ให้เรา ไม่อันหนึ่งก็ต้องอันหนึ่งให้จงได้ ถ้าชาตินี้ไม่มีชาติก่อนๆ ก็คงมีและชาติหน้าไปอีกเล่ายังอีกโข ถ้าเชื่อว่ามีชาติหน้า ภพหน้า ชาติก่อน ภพก่อนแล้วการทำคุณให้แก่กันและกันก็ดี การระลึกถึงคุณของกันละกันก็ดี การไม่ควรทำเวรแก่กันและกันก็ดี การเชื่อกรรมและผลของกรรมก็ดี การเชื่อพุทธ ธรรม สงฆ์ก็ดี การทำต่อกันและกันก็ดี เชื่อกรรมและผลของกรรมในปัจจุบันชาติก็ดี เชื่อว่าบาปบุญมี มรรค ผล นิพพานมี ในปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรมก็ดี ก็ได้มหาทรัพย์และปัญญาทรัพย์สมดุลกันแล้ว เป็นทรัพย์ที่ไม่สูญหายไปไหนด้วย มิได้หาบ มิได้หิ้ว มิได้แบก ไม่จากไป เป็นเงาจิตเงาใจ ไปตามตัวใจไปตามตัวธรรมเบามาก ข้อนี้ย่อมเป็นธรรมอันจริง เป็นใจอันจริง เป็นปัญญาอันจริงเป็นศรัทธาอันจริงของพระอริยบุคคล

ศาสนธรรมคุ้มครองโลก

พระพุทธศาสนาเป็นธรรมคุ้มครองสรรพโลกอยู่โดยตรงๆแล้ว ผ่านการบ้านการเมืองไปแล้ว ข้ามไปเป็นการคุ้มครองโลกเหนือไปกว่าการบ้านการเมืองไปอีก พระบรมศาสดาจึงยืนยันว่า ธรรมเป็นโลกบาลคือคุ้มครองโลกได้มีอยู่ ๒ ข้อ หิริ ความละอายต่อบาปทุจริต โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาปทุจริต ถ้าหากว่าธรรม ๒ ข้อ เท่านี้มีประจำใจมนุษย์อยู่ทุกๆ ท่าน ทุกๆ หัวใจ เป็นมหาอาจารย์กระซิบบอกและเตือนตนอยู่ทุกหัวใจแล้ว กฎหมายก็ดี ธรรมะก็ดีก็ไม่ต้องได้จำได้เรียนได้ท่องได้บ่นมากมายนัก เป็นหลักหัวใจของศีล ของธรรม ของกฎหมายอีก ถ้ามีมีหิริ-โอตตัปปะ แล้วจะเรียนจบไตรปิฎกก็ใบลานเปล่าเป็นถังก้นทะลุเทน้ำใส่เท่าใดก็เก็บไว้ไม่ได้ แม้จะเรียนกฎหมายจบทั้งนอกประเทศและในประเทศก็ตามก็เป็นถังก้นทะลุไม่รับน้ำไว้ (โลกๆ ก็ต้องเจอแต่ก้างอยู่ตามเคย) พวกเราชาวพุทธจะหวังเอาลูกระเบิดปรมาณูเป็นสรนังคัจฉามิไม่เป็นที่พึ่งอันเกษม กลายเป็นปรมาณูเวรภัย

ผู้น้อมธรรมบูชากิเลส

เมื่อวัยชะแรแก่ชรามาเท่าใดใกล้สิ้นลมปราณก็สนุกฟังเทศน์แห่งกองรูป นามขันธ์วิบาก แก่ เจ็บ ตายไม่ลงธรรมาสน์ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ไม่ลงธรรมาสน์ อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตาก็ไม่ลงธรรมาสน์ อกาลิโกมีอยู่ทุกกาล เทศน์อยู่ทุกกาล อริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ก็เทศน์อยู่ทุกกาล ผู้ฟังเทศน์ตามเป็นจริง ปฏิบัติและพิจารณาตามความเป็นจริง รู้ตามเป็นจริง พ้นจากความสงสัยตามเป็นจริงไปเป็นชั้นๆ ก็มีอยู่ทุกกาล ผู้ที่ถึงที่สุดทุกข์โดยชอบก็มีอยู่ทุกกาล ตรงกันข้ามผู้ไม่อยากฟังเทศน์เสียเลยก็มีอยู่ทุกกาล เช่น น้อมลงมาผูกเอาเลขเอาผาอันเห็นผิดเป็นชอบเข้าข้างกิเลสของตัวก็มีอยู่ทุกกาล ผู้ให้ทานรักษาศีลภาวนาเพื่อโลกีย์ ก็มีอยู่ทุกกาล ดอกบัว ๔ เหล่านี้ก็มีอยู่ทุกกาล อกาลิโกย่นลงมาโดยย่อ มี ๒ โลกิยะหนึ่ง โลกุตระ ๑ ปัจจัตตังก็ย่นลงมาเป็น ๒ มีความหมายเดียวกัน สฺวากฺขาโต ภควตา ธัมโมก็เหมือนกัน และโลกุตระกล่าวตามชั้นปฏิปทาของมนุษย์และเทวดา มาร พรหมผู้ปฏิบัติอันเป็นฝ่ายเหตุฝ่ายผลของผู้ปฏิบัติอันจะได้รับตามเหตุผลเท่าที่ตนสร้างขึ้นในมโนภาพ

ผู้ไม่ต้องระวังใจ

ธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมอันลุ่มลึกละเอียดมากกว่าศาสนาใดๆทั้งสิ้น ผู้มีอำนาจวาสนาน้อย อินทรีย์ ๕ พละ ๕ ยังอ่อนอยู่ย่อมเป็นไปได้ยาก อินทรีย์ ๕ พละ ๕ นั้น ท่านกล่าวไว้ว่าธรรมอันเป็นกำลัง ๕ ประการให้สมดุลกันคือ ศรัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อเช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อว่าบาปมี บุญมี มรรค ผล นิพพานมี เป็นต้น เชื่อว่า ศีล๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลมาในพระปาฏิโมกข์หรือพุทธบัญญัติและอภิสมาจารย่อมเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้รักษาและประพฤติได้ ย่อมเป็นทั้งโลกีย์และดลกุตระ ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละรายของบุคคลตามเหตุผลเฉพาะส่วนตัวเป็นรายๆไป แม้ศรัทธาเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อก็เหมือนกันเป็นได้ทั้งโลกีย์และโลกุตระ ขึ้นอยู่แต่ละรายของบุคคล อีก วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาก็เหมือนกัน ที่เอาศีลมาแทรกเข้านี้โวหารพิเศษ ความหมายของพระพุทธศาสนาโดยมากถ้ากล่าวถึง ศีล สมาธิ ปัญญาแล้วจะถือเป็นกฎเกณฑ์ เบื้องต้นของพระพุทธศาสนาได้ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญาของพระโสดาบันเป็นต้นไปเพราะเป็นศีล สมาธิ ปัญญา เข้าสู่โลกตรก้าวหน้าไม่ถอยหลังไม่วนเวียนเหมือนศีล สมาธิ ปัญญาของโลกีย์วิสัยเพราะข้ามโคตรโลกิยะแล้ว ไม่สงสัยในปฏิปทาทางดำเนินของตน

ทำดี ทำชั่ว ไม่ล้าสมัย

เขียนทั้งต่ำทั้งสูงทั้งลึกทั้งตื้นปะปนกันไป เมื่อมีเวลาชีวาททรงอยู่ก็เขียนซะซ้ำซากตามประสาของผู้รู้ งู ๆ ปลา ๆ ล้าสมัย แต่ก็ไม่มีท่านผู้ใดล้าสมัยในโลกนี้ ถ้าทำดีก็ไม่ล้าสมัยในทางดี ถ้าทำชั่วก็ไม่ล้าสมัยในทางชั่ว ถ้าพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้วก็ล้าสมัยจากพระอรหันต์ ไม่ล้าสมัยทั้งเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานด้วยการไม่ล้าสมัยก็ไปจบกันในที่นั้น ต่ำกว่านั้นลงมาการไม่ล้าสมัยขึ้นอยู่กับเหตุผลทางดีและทางชั่วที่สร้างขึ้น

หันย้อนคืนมาปรารภเจตนาของผู้ปฏิบัติพระพุทธศาสนาย่นลงมามี ๒ เจตนาคือ เจตนาโลกิยะหนึ่ง เจตนาโลกุตระหนึ่ง เจตนาก็ดี ความประสงค์ก็ดี ความต้องการก็ดี ความหมายก็ดี ความอธิษฐานก็ดี ความหวังก็ดี ก็มีความหมายแห่งใจความและรสชาติอันเดียวกัน จะผิดกันบ้างก็แต่ต้องการช้าหรือเร็วเท่านั้นแหละ

เจตนาโลกุตระก็แจกออกไปหลายประเภท ประเภทที่ ๑ เจตนาพุทธภูมิ ออกปากบ้างไม่ออกปากบ้าง ได้รับลัทธพยากรณ์บ้าง ยังมิได้รับบ้างตามเหตุผลที่ได้สร้างมาน้อยและมากในปุเรชาติ เป็นศรัทธาธิกะบ้าง ปัญญาธิกะบ้าง วิริยะธิกะบ้างตามเจตนาที่ชอบของตน พุทธภูมิจำพวกที่ได้รับลัทธพยากรณ์แลัวจึงเป็นการแน่นอนได้ พุทธภูมิจำพวกที่ได้รับลัทธพยากรณ์แล้วจึงเป็นการแน่ปรารถนาพุทธภูมินี้สามารถเปลี่ยนแปลงเจตนาของตนไปทางอื่นได้เช่น เจตนาเปลี่ยนแปลงลงมาเป็นปัจเจกภูมิหรือสาวกภูมิก็อาจเป็นไปได้ไม่แน่นอน ได้เลย บางจำพวกเมื่ออุปสมบทแล้ว ออกปฏิบัติเบื้องต้นก็เจตนาว่าจะปฏิบัติเพื่อพื้นทุกข์ในปัจจุบันชาตินี้ แต่เมื่อปฏิบัติไปๆก็คลายออกเพระเห็นว่าคงไปไม่รอด แล้วพลิกใจใหม่ว่าจะปรารถนาพุทธภูมิดังนี้ก็มี แล้วลาสิกขามาสู่ฆราวาสก็มี และไม่ลาก็ยังเป็นเพศบรรพชิตอยู่ จำพวกนี้ข้าพเจ้ายังไม่เข้าใจดีพิจารณายาก ขอฝากไว้ให้ท่านผู้รู้ทั้งหลายอธิบายให้ฟังแล…

ความดีมิใช่มาจาก ดิน ฟ้า อากาศ

การขีดๆ เขียนๆ เป็นเอกสารและตำรา ดีหรือชั่วขึ้นอยู่กับท่านผู้เลือกเฟ้นพิจารณาเอง กฎของการข่มเหงให้ยอมเชื่อไม่มีในทางธรรมของพระพุทธศาสนา แม้จะยอมเชื่อด้วยการแก้รำคาญก็ไม่นานย่อมขบถคืน จิตใจก็ไม่ชื่นเหมือนศรัทธา ที่ประกอบด้วย ปัญญาอันเป็นเอง มนุษย์จะเป็นผู้บริสุทธิ์เป็นชั้นๆ ของจิตใจได้ก็ด้วยใจอันเห็นชอบปฏิบัติชอบประกอบธรรมอันดีเป็นลำดับสูงส่งขึ้นไป ความดีและไม่ดีไม่มาจากดินฟ้าอากาศภายนอกที่ชาวโลกแสดง ถ้าหากว่ามาจากดินฟ้าอากาศภายนอกแล้วไปไหนฟ้าฝนแล้งหรือท่วมพระอริยเจ้าก็ต้องลดตำแหน่งมาเป็นปุถุชนคนหนาก่อน ปีไหนฟ้าฝนดีจึงสวมมงกุฎเป็นพระอริยเจ้า เมื่อไม่เล่าไม่ว่ากลอน กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขารก็พาไปพาเขียนวนๆเวียนๆกันอยู่อย่างนี้ ท่านผู้ที่ทรงพระสติปัญญาย่อมสนุกดื่มอุเบกขา แต่ถ้าติดอยู่แต่อุเบกขาในชั้นต่ำหรือชั้นวิปัสสนาแล้วก็จะกลายเป็นอุเบกขวางเพราะจะขวางทางอุเบกขาของอรหันต์ย่อมเป็นหน้าที่ของท่านผู้ต้องการเรียนจบ ปฏิบัติจบ พันจบจะโอนยิโก-ยิกะ ทั้งนั้น

ปรารภเรื่องใหม่ต่อไป แต่ก็เป็นเรื่องเก่าเพราะจิตสังขารอันเก่าธรรมก็อันเก่ามิได้อันใหม่มาจากไหนๆ เอส ธัมโม สนันตโน พระธรรมอันเก่า คำว่าเก่ามีทั้งดีและทั้งชั่วปะปนกันอยู่ต้องขึ้นอยู่กับท่านผู้เลือกเฟ้นเอา แต่บางท่านว่าจะเลือกเอาทางดีไปถูกทองเก๊ก็มี เลือกเอาผักดีแต่ไปถูกผักมีตัวบุ้งก็มี เลือกเอาของดีไปถูกของไม่ดีก็มีมากมาย และคำวาอรหันต์ก็เป็นศัพท์เก่า คำว่าปุถุชนก็เป็นศัพท์เก่า มืดกับสว่างก็เป็นศัพท์เก่า ผู้ดื่มสุราก็มีมาแต่เก่าแก่ ผู้เว้นจากสุราก็มีมาแต่เก่าแก่แล้ว ก็หายโต้แย้งในเรื่องของใหม่ การยืนยันว่าเป็นของเก่าเป็นฝ่ายธรรมปรมัตถ์ การยืนยันว่ามีทั้งเก่าทั้งใหม่เป็นฝ่ายสมมติเพราะสมมติมีการหมายความตื้นกว่าปรมัตถ์ (คล้ายกับน้ำลึกตื้นและใสสะอาดและจืดและเย็นดีต่างกันไป) ถ้าหากจะโต้แย้งได้แต่ไม่มีประโยชน์ แย้งว่าถ้ามีมีของเก่าของใหม่แล้วทำไมจึงไม่ไปกินอาหารที่บูดราเสียเล่า ทำไม่จึงไม่ไปเอาผ้าขี้ริ้วมาปะดับนุ่งห่มเล่า เอาผ้าใหม่มาใช้ทำไมและผู้กล่าวว่าเป็นของเก่านั้นเป็นธรรมอันลุ่มลึกมาก ไม่ใช่ผู้ยืนยันว่าของเก่านั้นเขาจะไม่รู้ของใหม่ตามสมมติเลย พูดเพื่อให้ชวนสำเหนียกด้านปัญญาเป็นอุบายเพื่อมิให้หลงของใหม่และของเก่าอยู่ในตัว

ธรรมดาคนมีกิเลสมากชอบจะติดอยู่ในของที่สมมติว่าใหม่ ๆ ล้าน ๆ เปอร์เซ็นต์ เมื่อหลงและติดของใหม่ก็หลงและติดของเก่าอยู่ในตัว เมื่อหลงสมมติก็ต้องหลงวิมุตติ เมื่อหลงได้ก็ต้องหลงเสีย เมื่อหลงหนังก็ต้องหลงกระดูก เมื่อไม่หลงหนังก็ไม่หลงกระดูกเลย ไม่ต้องกล่าวไปไยในตอนนี้ก็ได้ เรื่องหลงๆ ใหลๆ หลำๆ นี้ย่อมไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายอวิชชา ถ้าหากข้ามทะเลหลงด้วยพระสติพระปัญญาอันถ่องแท้โดยสิ้นเชิงได้แล้วชั่วลัดมือเดียวก็ข้ามโลกได้ จะเอาเครื่องยนต์กลไกหรือเหาะไปบินไปภายนอกเร็วเท่าใดสิ้นเวลาล้านๆ ปี ก็ข้ามโลกไม่ได้เลย….

คัดลอกจาก http://www.thai.net/laungphula/history.htm

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น