สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตโต) นามเดิม ประยุทธ์ นามสกุล อารยางกูร เป็นบุตรคนที่ ๕ ของนายสำราญ และนางชุนกี อารยางกูร เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๔๘๑ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีขาล ที่ตลาดใต้ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
เริ่มการศึกษาเบื้องต้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ ที่โรงเรียนอนุบาลครูเฉลียว ตลาดศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
พ.ศ. ๒๔๘๘ – ๒๔๙๐ ระดับประถมศึกษา ที่โรงเรียนประชาบาลชัยศรีประชาราษฎร์ (วัดยาง) จังหวัดสุพรรณบุรี
พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๔๙๓ ศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓ ที่โรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคา กรุงเทพมหานคร ได้รับทุนเรียนดีของ กระทรวงศึกษาธิการ
บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ที่วัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่ออายุย่าง ๑๓ ปี เริ่มเรียนพระปริยัติธรรม ณ วัดนั้น
พ.ศ. ๒๔๙๕ ย้ายไปอยู่ที่วัดปราสาททอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม และได้เข้าฝึกวิปัสสนา เมื่อจบการฝึกแล้ว พระอาจารย์ผู้นำการปฏิบัติได้ชวนไปอยู่ประจำในสำนักวิปัสสนา แต่โยมบิดาไม่ยินยอม เพราะเห็นว่าสามเณรบุตรชาย ควรได้ศึกษาปริยัติธรรมขั้นสูงต่อไป
พ.ศ. ๒๔๙๖ ย้ายมาจำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร เรียนพระปริยัติธรรมจนสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร นับเป็นสามเณรรูปที่ ๔ ในสมัยรัตนโกสินทร์ จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้อุปสมบทในฐานะนาคหลวง เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้นามฉายาว่า ‘ปยุตฺโต’ แปลว่า ‘ผู้เพียรประกอบแล้ว’
พ.ศ. ๒๕๐๕ สำเร็จการศึกษาปริญญาพุทธศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๑) จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสอบได้ วิชาชุดครู พ.ม. ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖
หลังจากสำเร็จการศึกษาเป็นอาจารย์ในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นผู้ช่วยเลขาธิการและต่อมาเป็นรองเลขาธิการ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๗ และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๙
นอกจากสอนวิชาพระพุทธศาสนาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยแล้ว ท่านได้รับนิมนต์ไปบรรยาย ณ University Museum แห่งมหาวิทยาลัย Pennsylvania ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ และที่ Swarthmore College สหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. ๒๕๑๙ ต่อมาได้รับนิมนต์ให้เป็น visiting scholar และได้รับแต่งตั้งเป็น research fellow ณ Divinity Faculty แห่งมหาวิทยาลัย Harvard
ท่านมีธรรมกถาที่เผยแพร่นับพันรายการ และมีผลงานหนังสือที่ใช้เป็นหลักอ้างอิงหลายร้อยเรื่อง เฉพาะอย่างยิ่งพุทธธรรม พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม และพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สถาบันการศึกษาชั้นสูงเกือบ ๒๐ แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ ได้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และตำแหน่งเชิดชูเกียรติต่างๆ มี ตรีปิฏกาจารย์กิตติมศักดิ์จาก นวนาลันทามหาวิหาร ประเทศอินเดีย และเมธาจารย์ (Most Eminent Scholar) จากมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก เป็นอาทิ
สำนักของท่านในปัจจุบัน คือวัดญาณเวศกวัน ตั้งอยู่ ในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
สมณศักดิ์
- พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีวิสุทธิโมลี
- พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวรมุนี
- พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเวที
- พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปิฎก
- พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ สุนทรธรรมสาธก ตรีปิฎกปริยัติโกศล วิมลศีลาจาร ศาสนภารธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
- พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลสุนทรนายก ปาพจนดิลกวรานุศาสน์ อารยางกูรพิลาศนามานุกรม คัมภีรญาณอุดมวิศิษฏ์ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี
งานเผยแผ่พุทธธรรม
ศาสนกิจ
- พ.ศ. ๒๕๐๕ – ๒๕๐๗ สอนในแผนกบาลีเตรียมอุดมศึกษา มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการและต่อมาเป็นรองเลขาธิการ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ขณะเดียวกัน ก็เป็นอาจารย์สอนในชั้นปริญญาตรี พุทธศาสตร์บัณฑิต ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ระหว่างนั้น บางปี บรรยายที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และในโครงการศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. ๒๕๑๕ – ๒๕๑๙ เจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์
- พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้รับอาราธนาไปบรรยายวิชาพุทธศาสนากับวัฒนธรรมไทยที่ University Museum, University of Pennsylvania
- พ.ศ. ๒๕๑๙ – ๒๕๒๑ ได้รับอาราธนาไปบรรยายวิชาการทางพระพุทธศาสนา ที่ Swarthmore College, Pennsylvania
- พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับอาราธนาเป็น Visiting Scholar ที่ Center for the Study of World Religions และบรรยาย วิชาการทางพุทธศาสนา สำหรับ Divinity Faculty และ Arts Faculty ที่ Harvard University
- พ.ศ. ๒๕๓๗ – ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
ประกาศเกียรติคุณ
ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
- พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๒๕
- ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาปรัชญา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๒๙
- ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาหลักสูตรและการสอน) มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. ๒๕๒๙
- ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศึกษาศาสตร์-การสอน) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๐
- อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๑
- ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาภาษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๓๑
- การศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาปรัชญาการศึกษา) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๓๓
- ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. ๒๕๓๖
- ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. ๒๕๓๗
- ตรีปิฏกาจารย์กิตติมศักดิ์ (สาขาปรัชญา) นวนาลันทามหาวิหาร รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย พ.ศ. ๒๕๓๘
- อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (จริยศาสตร์ศึกษา) มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๓๘
- วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๔๑
- ศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพุทธศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๔
- ครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพระพุทธศาสนา สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พ.ศ. ๒๕๔๔
- ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาวิชาการบริหารองค์กร มหาวิทยาลัยศรีปทุม พ.ศ. ๒๕๔๕
- ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. ๒๕๕๒
- ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ๒๕๕๒
- นิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. ๒๕๕๒
- ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พัฒนาทรัพยากรมนุษย์) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๓
- ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ พ.ศ. ๒๕๕๔
ประกาศเกียรติคุณและรางวัล
- พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้รับการประกาศเกียรติคุณ ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ในการฉลอง ๒๐๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์
- พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้รับรางวัลวรรณกรรมชั้นที่ ๑ ประเภทร้อยแก้ว สำหรับงานนิพนธ์พุทธธรรม จากมูลนิธิ ธนาคารกรุงเทพ
- พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับพระราชทานโล่รางวัล ‘มหิดลวรานุสรณ์’
- พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับโล่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อการศึกษา ในวาระครบรอบ ๒๐ ปี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ ‘สังข์เงิน’ สาขาเผยแผ่พระพุทธศาสนา
- พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก (UNESCO Prize for Peace Education)
- พ.ศ. ๒๕๓๘ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศเชิดชูเกียรติเป็น ‘ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม’
- พ.ศ. ๒๕๓๘ สถาบันนวนาลันทา ประเทศอินเดีย ถวายตำแหน่ง “ตรีปิฎอาจารย์” หมายถึงอาจารย์ผู้รู้แตกฉานในพระไตรปิฎก
- พ.ศ. ๒๕๔๑ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย ถวายรางวัล TTF Award สาขาสังคมศาสตร์และ มานุษยวิทยาสำหรับผลงานทางวิชาการดีเด่น หนังสือ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’
- พ.ศ. ๒๕๔๔ รางวัล ‘สาโรช บัวศรี ปราชญ์ผู้ทรงศีล’ จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- พ.ศ. ๒๕๔๔ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็น ‘ศาสตราจารย์พิเศษ’ ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- พ.ศ. ๒๕๔๗ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก ถวายตำแหน่ง ‘เมธาจารย์’ (Most Eminent Scholar) ในฐานะนักปราชญ์ ทางพระพุทธศาสนาสายเถรวาท
- พ.ศ. ๒๕๔๙ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็น ‘ราชบัณฑิต (พิเศษ)’
- พ.ศ. ๒๕๕๒ โล่วัชรเกียรติคุณ จาก คณะกรรมการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม
- พ.ศ. ๒๕๕๒ ‘ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย’ จาก คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- พ.ศ. ๒๕๕๕ เกียรติคุณสดุดี ‘พระสงฆ์ดีเด่นประจำปี’ จาก ศูนย์ประสานงานองค์การเอกชน จังหวัดนครปฐม
- พ.ศ. ๒๕๕๕ รางวัล ‘ศาสตรเมธี’ จาก มูลนิธิศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
- พ.ศ. ๒๕๕๕ ‘โล่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา’ ในวโรกาสที่สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช เจริญพระชนมายุ ๙๙ พรรษา
- พ.ศ. ๒๕๕๖ หนังสือ พุทธธรรม ได้รับรางวัล ‘TTF AWARD เกียรติยศ ประจำปี ๒๕๕๖’
- พ.ศ. ๒๕๕๖ รางวัล ‘บุคคลเกียรติยศของสมาคมแนะแนวแห่งประเทศไทย ประจำปี ๒๕๕๖’
- พ.ศ. ๒๕๕๘ รางวัล ‘๑๐๐ ปี ชาตกาล หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร บุคคลสำคัญของโลก’
- พ.ศ. ๒๕๕๙ ‘ผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐’ โดยประกาศคุรุสภา ณ ๒๘ ธ.ค. ๒๕๕๙
- พ.ศ. ๒๕๖๐ รางวัล ‘ผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นด้านทรัพยากรมนุษย์’ (Human Resource Excellence Award) ในโอกาสครบรอบ ๓๖ ปี การสถาปนาสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์