พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม วัดป่าสามัคคีธรรม อำเภอเมือง ร้อยเอ็ด จาก หนังสือที่ระลึกงานฉลองเจดีย์พิพิธภัณฑ์สองหลวงปู่ วัดป่าสามัคคีธรรม อำเภอเมือง ร้อยเอ็ด รศ.ดร.ปฐม เรียบเรียงโดย ภัทรา นิคมานนท์
พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๑)
พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๒)
พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๓)
พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๔)
๕๓ พระอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานองค์แรกของหลวงปู่
พระบุญนาค โฆโส
หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ได้เล่าถึงครูบาอาจารย์ของท่าน ดังนี้
“สำหรับชีวิตของอาตมาที่ผ่านมาแล้ว อาตมาก็ได้ครูบาอาจารย์หลายองค์ พอจะลำดับได้ ดังนี้
พระอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานองค์แรกของอาตมา คือ พระบุญนาค โฆโส (สามเณรบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน) อาตมาไปพบท่านที่จังหวัดมหาสารคาม วัดพูลศรีสารคาม เป็นชื่อวัดสมัยนั้น
พระอาจารย์บุญนาค นี่ ประวัติของท่านเดินธุดงค์มากมายทีเดียว (ท่านที่สนใจหาอ่านได้จากหนังสือสามเณรบุญนาคเที่ยวกรรมฐานซึ่งพิมพ์แพร่หลายทั่วไป)
อาตมาได้ออกธุดงค์กับท่านมาก่อน การปฏิบัติของท่านนี้ดีที่สุดละ อาตมาเคยไปกับท่าน พอมาระยะหลังอาตมาได้แยกทางกับท่านในครั้งที่ท่านเดินธุดงค์ที่ฝั่งลาวโน่น ท่านเป็นคนอีสานหรือเปล่าไม่รู้ แต่ท่านก็พูดอีสานได้ดี
ภายหลังมีคนเล่าให้ฟัง อาตมาก็ฟังแต่ไม่เชื่อ เขาว่าพบท่านที่กรุงเทพฯ สมัยนั้นนะ มีแม่หม้ายคนหนึ่งร่ำรวยมีห้องแถว แล้วมานิมนต์ท่านสึก จะยกห้องแถวให้ ถ้าไม่สึกจะได้มอบให้รัฐบาล ท่านก็บอกว่ายกให้รัฐบาลเสียเถิด
อยู่ต่อมาอีก มียายแก่ๆ คนหนึ่งในกรุงเทพฯ ขี้เหร่มาก กินหมากมีน้ำหมากไหลออกมามุมปากฟันก็เหยิน มีลูกสาวและลูกชายหน้าตาสวยงามโก้เก๋ ลูกสาวเป็นครู เงินเดือน ๘๐ บาท สมัยนั้นลูกชายนี่เป็นร้อยตรี แต่ก่อนไม่เคยเข้าวัด
ต่อมา พระอาจารย์บุญนาคนี่แหละ ไปได้ผ้าประเจียดของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล มาหนึ่งผืน เอามาให้ พอได้ผ้าแล้วลูกชายที่เป็นร้อยตรีไปสงครามอินโดจีน ขึ้นเครื่องบินไปต่อสู้กัน ลูกปืนข้าศึกยิงมาไม่ถูกเครื่องบินแม้แต่นิดเดียว พอกลับมาแล้วก็พากันมากราบพระอาจารย์บุญนาคกันทั้งบ้านนี่แหละ ทั้งแม่ ลูกสาว ลูกชาย
ปกติพระอาจารย์บุญนาค ท่านพูดตรงไปตรงมา เมื่อมาถึงท่านก็ทักถามว่า นี่ใครนะ ลูกสาวลูกชายหรือ ทำไมแม่ขี้เหร่แท้ ลูกสาวลูกชายโก้กว่า…
ก็ลูกสาวคนนี้แหละ ได้เข้ามาขอเรียนกรรมฐานกับท่าน ท่านอาจารย์บุญนาคพูดว่า ไม่ต้องหรอก เลยเวลา…”
(หมายความว่า ท่านคงรู้เจตนาซ่อนเร้นอะไรบางอย่าง ดูตามประวัติแล้ว มีเรื่องหญิงสาวพยายามจะสึกท่าน มีเรื่องพ่อแม่พยายามจะยกลูกสาวให้หลายครั้ง ท่านต้องหาอุบายหนีเรื่องมีครอบครัวอยู่หลายครั้ง- ผู้เขียน)
“พระอาจารย์บุญนาคนี้ รูปร่างเหมือนผู้หญิง สูงโปร่ง เดินเหินนี่เหมือนช้างเดิน คลุมผ้านี่เรียบร้อย สง่ามาก กิริยางดงามจริงๆ
ส่วนเรื่องสอนพระกรรมฐานนี่ ไม่มีอื่นไกล สอนให้ตั้งสติกำหนดนิ่งอยู่สงบเท่านั้น
อาตมาอยู่กับท่านนานเหมือนกันนะ ตอนหลังอาตมาป่วยตั้งแต่ไปอยู่ถ้ำพระเวส ท่านก็เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ เลยไม่รู้ว่าท่านไปยังไงมายังไงต่อไป บางกระแสบอกว่าไปเสียชีวิตที่เวียงจันทน์ฝั่งลาวบางกระแสบอกว่าไปเสียชีวิตที่บ่อศีรสมภาร
นี่อาจารย์องค์แรกในการสอนปฏิบัติให้อาตมา”
หมายเหตุ: จากหนังสือ สามเณรบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน นั้น พระอาจารย์บุญนาค เป็นผู้เขียนเอง เพราะได้รับบัญชาจากพระผู้ใหญ่ ที่วัดบรมนิวาสให้เขียนเนื่องจาก เจ้าจอมมารดาทับทิม ที่วังกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช พร้อมด้วย คุณนายอั๋น และ โยมเข็ม ขอประวัติ พระอาจารย์บุญนาค จึงจำเป็นต้องเขียน ทั้งๆ ที่เคยปฏิเสธคนอื่นมาก่อนแล้ว ท่านลงมือบันทึกเมื่อครั้งพำนักที่วัดบรมนิวาส เชิงสะพานยศเส กรุงเทพ เมื่อวันที่ ๑๖ เดือน๙ ขึ้น๙ ค่ำ วันจันทร์ พ ศ. ๒๔๘๐
กลางคืนก่อนได้รับบัญชา ท่านเกิดนิมิตว่า โยมชื่อ อะสะกรรมบุตรมาเตือนท่านว่า จงระวังกิจที่จะทำในวันต่อไป กลัวจะเป็นภัยแก่ท่าน พอตอนเช้ากลับจากบิณฑาตก็ได้รับบัญชาให้ท่านเขียนประวัติของท่านเองโดยละเอียดตามคำขอของโยม
ในระหว่างเขียน ท่านเกิดอาพาธ จึงเขียนไม่จบ จากคำนำของหนังสือ (ไม่มีชื่อผู้เขียน) บันทึกไว้ว่า “เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่บันทึกของท่าน มีอันเป็นต้องจบกลางคัน เพราะท่านอาพาธและถึงแก่มรณภาพในที่สุด ณ วัดบรมนิวาส จังหวัดพระนครนี่เอง ราว พ.ศ.๒๔๘๑”
หนังสือเรื่อง สามเณรบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน ติดต่อขอรับที่ศูนย์อบรมภาวนา สิริจันโท วัดบรมนิวาส และอีกที่ได้แก่ ”คุณยุทธนา เพ็งปาน วิทยุทหารอากาศ ๐๑ มีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพ ๑๐๕๑๐โทร ๐-๒๙๑๔-๖๓๐๗, ๐-๒๙๑๔-๖๕๑๗” รายหลังนี้เพิ่งพิมพ์เผยแพร่เป็น ส.ค.ส. ปีใหม่ ๒๕๔๕ นี้เอง-ผู้เขียน
๕๕ ภาวนาอยู่กับหลวงปู่คำดี ปภาโส
(อธิษฐานไม่นอน-ไม่พูด ตลอด ๒ พรรษา)
หลวงปู่คำดี ปภาโส (วัดถ้ำผาปู่ อ.เมือง จ.เลย) ถือเป็นพระอาจารย์สอนกรรมฐานองค์ที่ ๒ ของหลวงปู่เพ็ง ซึ่งท่านเล่าเรื่องราวดังต่อไปนี้
“องค์ต่อมาเป็นพระอาจารย์คำดี ปภาโส ตอนนั้นอยู่จังหวัดขอนแก่น วัดอรัญญวาสี ห่างจากจังหวัดขอนแก่น ๑๒ กม.”
(ดูจากบันทึกสถานที่จำพรรษาของหลวงปู่คำดี ปภาโส ท่านจำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี บ้านเหล่านาดี ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ ท่านจำพรรษาที่ขอนแก่นหลายแห่งระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๕๐๖ ก่อนไปพำนักประจำที่วัดถ้ำผาปู่ อ เมือง จ.เลย -ผู้เขียน )
“ปีนั้น อาตมาไม่ได้อะไรเลย นอกจากความกล้าหาญ อาตมาป่วยตลอดพรรษา พอออกพรรษาที่ ๒ ท่านได้พาไปที่ป่าช้าบ้านลานหญ้า..ที่บริเวณนี้ไม่มีคนเดินหรอก เขากลัวผีกัน ท่านก็ให้ปฏิบัติที่นั่น ไปทำกุฏิเองทุกอย่าง ไปอยู่ด้วยกัน ๘ องค์
อาตมาก็ได้อธิษฐานไม่นอน ๒ พรรษา หลังไม่แตะพื้น นั่งอยู่อย่างนั้นแหละ หลวงปู่คำดี ท่านไปตรวจพระ ไปทุกทีก็เห็นอาตมานั่งอยู่อย่างนั้นแหละ ท่านเรียกอาตมาว่า เจ้าเตี้ย นะ อาตมาไม่พูดอะไรทั้งหมดตลอด ๒ พรรษาเลย เพราะได้อธิษฐานไว้
เวลาเมื่อยก็จะเดินจงกรมภาวนาไป พอฝนตกลงมาเรานำพวกบริขารทั้งหมดมาไว้ตรงกลางกุฏิ หลังคากุฏิมีหญ้าคามุง ๗-๘ ตับเท่านั้น ส่วนพระ-เณรก็มานั่งรอบๆ ที่มันเล็กนะตรงนั่งนั่น เลยมาคิดว่า เราเอาความสะดวกเหล่านี้ให้เพื่อนดีกว่า เราออกเดินจงกรมดีกว่า
“ฝนตกๆ นั่นแหละ อาตมาเดินจงกรม ขนาดน้ำฝนท่วมครึ่งเข่า เดินไปเดินมานี่นะ มันได้ธรรมะมาไว้เต็มจิตใจจนต้องรำพึงว่า โอ…เรานี่ กุฏิ ๙ ห้องก็เคยได้อยู่ ๘ ห้องก็เคยได้อยู่ แต่หาความสุขไม่ได้ เวลามันจะมีความสุขขึ้นมา ก็มีความสุขได้อย่างนี้เองหรือ !
ฝนตก ๓ วัน ๓ คืน ก็ไม่รู้สึกว่าร้อนว่าหนาว ยังทำความเพียรได้สบายๆ เพราะใจมันสบาย
หมายเหตุ: ขออนุญาตยกประสบการณ์ของตัวเองมาประกอบด้วยเถอะขออภัยท่านผู้อ่านอย่างมาก
ประมาณปี ๒๕๓๕ เคยติดตาม หลวงปู่เพ็งไปปักกลดบนเขาทางภาคเหนือ ผมบอกตำแหน่งสถานที่ไม่ถูก ดูเหมือนจะเรียกว่า ปางห้วยเฮี้ย เข้าใจว่าอยู่เขตอำเภอแม่แตง เชียงใหม่ พวกเราแบกกลดตามหลวงปู่ เตรียมผ้านวม เสื้อหนาวไปเต็มที่ เพราะอากาศหนาว หลวงปู่เพ็ง เดินเร็วอย่างเหลือเชื่อ พวกเราหนุ่มๆ เดินตามจนเหนื่อยหอบ
ที่ตรงนั้นมีกระต๊อบมุงหญ้าคา มีฝาด้านเดียว มีพระพุทธรูป องค์เล็กๆ อยู่ ๑ องค์ หลวงปู่ท่านกางกลดภาวนาอยู่บนกระต๊อบนั้น พวกเรา ๕ คนแยกกันกางกลดห่างๆ พอมองเห็นกัน หลังสวดมนต์ทำวัตรเย็นเสร็จประมาณ ๓ ทุ่ม พวกเราก็แยกย้ายไปภาวนาในกลดของแต่ละคน
พอดับเทียนบริเวณนั้นมืดสนิท นอกกลดบนพื้นดินเห็นแต่แสงเรือง ๆ ของกิ้งกือหรือตัวบุ้ง หลวงปู่เตือนพวกเราให้ระวังอย่าไปโดนมัน เพราะจะคันมาก ทุกอย่างเงียบกริบ อากาศอบอ้าว ผมนั่งสมาธิอยู่ในกลด ทันใด ฝนตกลงมาชนิดไม่ลืมหูลืมตา ผ้าห่มและเสื้อหนาวเปียกหมด แข็งใจนั่งภาวนา เพราะไม่รู้จะหลบไปไหน ใจก็นึกสงสารตัวเองว่าอยู่บ้านสบายๆ แล้วไม่ชอบ ชอบรนมาหาความทุกข์ นึกรำพึงรำพันในใจ ฝนก็ตกหนัก น้ำนองพื้นสูงท่วมข้อเท้า
อีกใจหนึ่งมันถามตัวเองว่าถ้ากลัวลำบากแล้ว(เสือก)มาทำไม จึงตั้งใจว่าตายเป็นตาย ลุกออกจากกลด จากแสงฟ้าแลบ เห็นหลวงปู่นั่งหลับตานิ่งอยู่ในกลดของท่าน ผมออกมาเดินจงกรมบนเส้นทางที่เล็งเอาไว้แล้วตั้งแต่ก่อนมืด อาศัยแสงฟ้าแลบดูทาง เสียงเท้าลุยน้ำดังแจะๆ เดินไปเดินกลับอย่างไม่หวั่นไหวกว่า ๑ชั่วโมง ฝนหยุดสนิท น้ำแห้งอย่างรวดเร็ว ผมหยุดเดิน กลับเข้ากลด เอาผ้าพลาสติกที่เตรียมไปปูพื้นแล้วลงภาวนา
การภาวนาคืนนั้นรู้สึกสุข-สงบอย่างเหลือเชื่อ รำพึงในใจ (เหมือนที่หลวงปู่ท่านว่า) ว่า “โอ !…ความสุขเป็นอย่างนี้เอง ไม่เกี่ยวกับเงินทอง ยศ ตำแหน่ง อะไรเลย นี่เองที่เรียกว่าสุขที่ไม่อิงอามิส !”
เออ น่าแปลก ! ครั้งนั้นทุกคนสุขสบายดี ไม่มีใครเป็นไข้ เป็นหวัดเลยหมายเหตุอีกที : ผมได้รับประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่หลายครั้ง หลายโอกาสคงพอจะเป็นเหตุผลที่บอกว่าทำไมผมจึงเคารพและศรัทธาหลวงปู่สุดชีวิต กราบขออภัยอีกครั้งที่เอาเรื่องตัวเองมาเขียน ความจริงมีเยอะ แต่เกรงใจท่านผู้อ่าน – ผู้เขียนคนเดิม
๕๕ การพิจารณาธาตุ ๔
หลวงปู่เพ็ง เล่าถึงการภาวนาของท่าน เมื่อตอนอยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่คำดี ปภาโส เกี่ยวกับการพิจารณาธาตุขันธ์ ดังนี้
“ในการภาวนา อาตมาใช้คำบริกรรมว่า พุท-โธ นั่งก็ พุท-โธ เดินก็ พุท-โธ ยืนหรือนอนก็ พุท-โธ แม้กระทั่งฉันอาหารก็ พุท-โธ
หลวงปู่คำดี ปภาโส มองเห็นว่าอาตมาสามารถฝึกสติได้แล้วพอสมควร ท่านจึงให้อาตมาเปลี่ยนมาพิจารณาธาตุ ๔ ต่อไป
อาตมาก็มานั่งพิจารณาธาตุ ๔ จนมองเห็นชัดเจนทีเดียวว่า ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม มันมาอย่างไร มันตั้งอยู่อย่างไร มันกำหนดรู้เข้าไปเอง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะทั้งหก มันก็ออกมาจากธาตุ๔ นั่นเอง ถ้าไม่มีธาตุ ๔ อายตนะทั้งหกก็ไม่รู้ว่าจะเอามาจากไหน ไม่รู้จะไปตั้งไว้ตรงไหน ธาตุ ๔ เป็นที่ตั้งของสรพวัตถุทั้งปวง
แต่ธาตุ ๔ นี่ มันเกิดกิเลสไม่ได้หรอกนะ ที่มันจะเกิดกิเลสตัณหาได้นี่เพราะอายตนะทั้งหก อายตนะเป็นบ่อเกิดของกิเลสทั้งปวง กิเลสเกิดขึ้นมาแล้ว ความร้อนรนก็เกิดขึ้น ความร้อนของกิเลสจะได้ชื่อว่าไฟนรก ความเย็นไม่มี กิเลสได้ชื่อว่านรกหรือสวรรค์มันเกิดขึ้นก็ที่จิตเรานี้ทั้งนั้น
แต่ที่พวกเรามาติดหลังอยู่กับธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม อยู่นี่ก็เพราะว่า มีตัว อวิชชา ความไม่รู้ตามความเป็นจริง นี่เอง ไม่มีปัญญาพิจารณาให้ลึกซึ้งเข้าไปภายใน เรามาเพลินอยู่กับอาการภายนอกเสียต่างหากล่ะ มันถึงต้องเป็นทุกข์อยู่อย่างนี้
ดังนั้น ครูบาอาจารย์ทั้งหลายจึงได้คอยสอนเราให้พิจารณาเมื่อรู้แล้วให้ปล่อยวาง ไม่ให้ยึดถือกับสิ่งที่ไม่จริงจังนี้เสีย อาตมาจึงได้รู้ว่า ธรรมะทั้งหมดอยู่ในตัวของเราเองทั้งนั้น ธาตุ ๔ ไม่เคยง้อใครเลยเราไปทุกข์ก็เพราะไปยึดเขาเอง
ธรรมะก็เช่นกัน ไม่เคยเชิญใคร ไม่เคยง้อใคร ใครอยากพ้นทุกข์ก็ให้ปฏิบัติเอาเอง สติกำหนดรู้ทุกกิริยาอาการ
อาตมาปล่อยวางสัญญาในอดีต และไม่ยอมไว้ซึ่งอนาคต จะมีปรากฏแต่ผู้รู้ คู่กับอารมณ์ปัจจุบัน
อายตนะทั้งหกที่อาศัยธาตุ ๔ อยู่นี้ แต่ละอย่างมันมีความต้องการไม่เหมือนกันเลย อย่างหนึ่งต้องการสิ่งหนึ่ง ทุกคนต้องพร้อมกันทำสนองให้ตามความต้องการ หามายังไม่ทันจะสนองคนนี้ คนโน้นต้องการอีกแล้ว วิ่งอยู่อย่างนี้ ไปโน่นทีมานี่ที เดี๋ยวอย่างนี้เดี๋ยวอย่างนั้น ไม่มีสิ้นสุด วิ่งกันจนตาย เจ้านี่แหละเรียกว่ากิเลส
อาตมาพิจารณาดูมันจนละเอียด พระพุทธเจ้าของเราจึงตรัสไว้ว่า ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน นี่แหละพระพุทธเจ้าของเราจึงให้บำเพ็ญจิตเพียงดวงเดียว การทำทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา ก็ต้องอยู่ที่จิตดวงเดียวเท่านั้น สภาพสังขารร่างกายนี้อาศัยจิตดวงเดียวแท้ๆ
๕๖ มนุษย์ธรรมะ
หรือธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ได้
ธรรมที่หลวงปู่เน้นย้ำในการเทศน์สอนประชาชนทั่วไป ท่านเน้นเรื่องศีล ๕ หลวงปู่ เรียกว่า มนุษยธรรมะ คือ ธรรมะที่ทำให้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้
หลวงปู่ได้เล่าย้อนถึงการพิจารณาเรื่องศีล ในสมัยที่ท่านภาวนาอยู่กับ หลวงปู่คำดี ปภาโส ดังนี้ : –
“มนุษย์เรานี่ก็เหมือนกัน เขาเรียกว่า มนุษยธรรมะ คือธรรมที่จะทำให้เป็นมนุษย์ได้ ก็คือ ศีล ๕ นี่แหละ
ถ้าใครก็ตามมีศีล ๕ อยู่กับจิตใจแล้ว ทุกอย่างจะมีความสุขแต่ถ้าขาดศีล ๕ ก็จะไปเกิดในอบายภูมิ ดังนั้นท่านจึงให้เรามาพิจารณากาย ธาตุ ๔ นี่ เพราะการกระทำดีหรือชั่วมันแสดงออกทางรูปร่างสังขาร คือ ก้อนทีมาประชุมรวมตัวเป็นเรานี่แหละ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเน้นให้มองเข้ามาดูตัวเอง เพราะตัวของเราเป็นที่ประชุมของธรรมทั้งหลาย จะเจริญสมถะก็ได้ คือให้พิจารณากายนี้เป็นอสุภะ เป็นของไม่งาม น่าเกลียด น่าเบื่อหน่าย คลายสวยงาม แล้วจิตก็จะรวมลงเป็นเอกัคคตาจิต หรือจะพิจารณาให้เป็นปัญญาวิปัสสนาก็ได้เรื่องนี้ หลวงปู่คำดี ปภาโส เคยสอนว่า องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทรงสอนให้พวกเราพิจารณากายนี้ให้สักแต่ว่าเป็นธาตุ ๔ คือดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น มิใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง
ธาตุ ๔ มาประชุมกันในคราวหนึ่งๆ ก็เป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้นมาเราจึงพากันสมมติเรียกว่าคน เรียกว่าสัตว์
แต่ของเหล่านี้ เขาก็ได้รู้สึกอะไรเลยนะหากแต่ว่ามันเป็นไปตามสภาพของมัน มันมีหน้าที่เกิด ดับ มันก็ทำหน้าที่ของมันไปเมื่อมันดับสลายกลายเป็นดิน น้ำ ไฟ ลม ตามเดิมแล้ว ชื่อคน ชื่อสัตว์ มันก็สลายไปด้วยหมด
ดังนั้น คนเราเกิดมามีธาตุ ๔ มาประชุมกัน เกิดรูปร่างสังขารขึ้นมา มีอายตนะครบถ้วน ซึ่งเปรียบเหมือนบ้านที่ปลูกขึ้นมาใหม่ๆ แต่เดิมก็ไม่มีอะไรเกะกะให้รกตารกใจ อยู่ๆ เจ้าของก็เที่ยวหาสิ่งของมาประดับประดา มีเตียงไม่พอ เอาเก้าอี้ ตู้ ตั่ง จิปาถะ ยัดเยียดกันเข้าไป อายตนะของบ้านจำพวกประตู หน้าต่าง ก็นำอะไรต่อมิอะไรมาติดมาแปะเต็มบ้านเต็มช่อง
แต่ก่อนมันว่างดีอยู่หรอก แต่พอนานๆ ไป แทบไม่มีทางจะเดินจะนั่งฉันใด คนเราก็ฉันนั้น เกิดมาก็มาแย่ง เดี๋ยวเอามาจากคนนั้น เดี๋ยวแย่งมาจากคนนี้ กินก็แย่ง ถ่ายก็แย่ง นอนก็แย่ง เดินก็แย่งกัน จนเป็นเหตุให้คิดว่ากิเลสเหล่านี้ดี วิเศษ ไปชิงดีชิงเด่นชิงความเป็นใหญ่นายคนแย่งลาภ ยศ กลัวจะไม่ได้มาเป็นของตน
แท้จริงแล้ว กิเลสพวกนี้พระพุทธเจ้า และพระอริยเจ้าทั้งหลายท่านโยนทิ้งมานานแล้ว แต่เรายังเห็นว่ามันดี มันวิเศษ มันเพราะอะไรเพราะความโง่เขลาเบาปัญญานั่นเอง เป็นคนจิตตกต่ำ”
๕๗ จิตวาง คือ ว่าง
หลวงปู่เพ็ง ท่านเทศน์เกี่ยวกับคำว่าจิตว่าง ดังนี้ : –
“องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบธรรมในกายเรานี่เอง การเกิดรูปสังขารนี้มาจากไหน พระพุทธเจ้าค้นพบจากการปฏิบัติภาวนาว่า เพราะความไม่รู้ คือ อวิชชา
อวิชชา ตัวนี้ครอบงำเสมอ อวิชชามันหนุนเราจนไม่รู้ความเกิดแก่ เจ็บ ตาย
ดูเถิด อย่างการเกิดนี่ พอถึงเวลาลูกจะเกิด จิตใจไม่สบายเสียใจกลัวแม่เด็กจะตาย กลัวลูกจะตายในขณะที่คลอดยาก พอคลอดแล้ว อายุมากแล้ว เสียใจเพราะกลัวแก่ พอเจ็บก็เสียใจอีก ไม่อยากเจ็บ ในที่สุดตายก็เสียใจอีกแล้ว ร้องไห้เสียใจไปต่างๆ นานา
นี่เพราะตัวอวิชชามันครอบงำ ไม่รู้จักความเป็นจริง ถ้ารู้เรื่องสภาพธรรมของจริงแล้ว ว่าการเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องของโลก มันเป็นของธรรมดา พิจารณาให้เห็นชัดในจิตในใจแล้วมันก็จะสบาย จิตใจปล่อยวาง ว่างเปล่า
หลวงปู่คำดี ปภาโส กล่าวไว้ว่า นี่มันมีตัณหานะมันจึงเกิด ตัณหานี้จะว่าไม่ดีทั้งหมดก็ไม่ได้ ต้องพิจารณาให้ละเอียดลงไปอีกจึงจะถูก เพราะตัวตัณหานี่มันเป็นที่มาของความพ้นทุกข์เหมือนกัน อย่างเช่นเรามียศลาภสรรเสริญ อยู่ดีกินดีได้ก็เพราะตัณหา เราจะถือศีลกินเจ ทำบุญทำกุศลก็เพราะตัณหา เราจะบวชเรียนข้อวัตรปฏิบัติภาวนาธรรม หาทางหลุดพ้นได้ก็เพราะตัณหา
ท่านให้รู้เฉยๆ นะ แต่ไม่ให้หลงตัณหา ไปหลงไม่ได้ เพียงให้รู้ อาศัยตัณหาให้รู้หลักของที่เกิดตัณหาเท่านั้น ต้องรู้ว่าตัวนี้แหละที่พาเกิด พาแก่ พาเจ็บ พาตาย มันเป็นเหตุ เมื่อเรามีสติพร้อมควบคู่ไปกับจิต มันเกิดตัณหาขึ้นมา รู้ปั๊บ สติตอบ มันก็ดับ ต้องให้รู้นะ ถ้าไม่รู้มันก็ไม่ดับนะ เราปฏิบัติภาวนาต้องให้รู้ ต้องมีปัญญา อย่างนี้เพราะสติมั่นคง ปัญญาก็รู้แจ้ง
พวกเรานี้ก็เช่นกัน ขอให้อดทนบำเพ็ญบารมีไปเถิด ขอให้แก่กล้าจริงๆ เท่านั้น ทำให้เกิดฌาน เป็นญาณ ขึ้นมา มันก็จะได้รู้แจ้งแทงตลอดสักทีซิ เอาให้มันว่างดูสักหน
คำว่า ว่าง นี่ ต้องเข้าใจเสียก่อน ว่างตัวนี้มิใช่ว่ามันเวิ้งว้างไปหมดอย่างนั้นนะ หมายเอาว่า ว่างจากตัวตน เรา เขา ว่างจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน
ขอยกตัวอย่าง แต่ก่อนเราไม่รู้จักรักษาศีล ต่อมา เรามารักษาศีลจนบริบูรณ์เต็มเปี่ยม เราก็ว่างไปได้แล้ว ว่างจากคนทุศีล อย่างนี้เลยเกิดเป็นคนดีมีศีลธรรม เข้าวัดทำบุญไป เรียกว่า ว่างจากบาป นั่นแหละ
แต่ก่อนเราไม่เคยบำเพ็ญสมาธิ จิตใจมันก็ไม่ว่าง มีแต่ความทุกข์ความยาก มีแต่ความแปรปรวนตลอดเวลา ครั้นเราได้หันมาบำเพ็ญสมาธิ มันก็ว่างจากการแปรปรวน มันมีแต่ความสงบ เป็นเครื่องอาศัย สบายกาย สบายใจ
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ระยะแรกๆ พระพุทธองค์ได้สละความสุขและความทุกข์ที่สับสนวุ่นวาย ก็เพราะพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ ความสุขก็มี ความทุกข์ก็มี เหมือนๆ พวกเรานี้แหละ แต่พระองค์เป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐด้วยตบะบารมีมาก่อน มีสติปัญญา หาช่องทางเพื่อดับความสุขและความทุกข์ที่พระองค์มีอยู่ เข้าป่าหาโมกขธรรมด้วยพระองค์เอง
พระพุทธองค์ทรงทำอย่างไร?… พระองค์ก็ได้ประพฤติดำเนินศีล สมาธิ ปัญญา เท่านั้น ที่พึ่งของพระองค์ก็มีกำลังใจที่ตั้งมั่น เด็ดเดี่ยว ของพระองค์เอง และในระยะนั้นพระพุทธองไม่มีกิจการอะไรที่ต้องทำ ไม่มีการประกาศพระศาสนา ไม่มีการอบรมสั่งสอน ไม่มีการเทศนาให้ใครฟัง กิจการงานเดิมน้อยใหญ่ พระองค์สละออกหมด มุ่งหน้าบำเพ็ญเพียรอย่างเดียวในที่สุดก็ได้พบความว่าง ตามความเป็นจริงจากกายของพระองค์เอง นี่เรียกว่า เกิดปัญญาญาณ รู้แจ้งแทงตลอดในสามโลกจนสำเร็จพระโพธิญาณ
เมื่อพระพุทธองค์สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว งานของพระองค์โถมเข้ามากที่สุดในโลกเลยทีเดียว พระองค์สั่งสอนตลอดวันตลอดคืน เทศนาไปในที่ต่างๆ งานประกาศพระศาสนาก็มากมาย ไหนจะอบรมสั่งสอนพระสาวกทั้งหลาย อีกทั้งเวไนยสัตว์ทั้งปวง อย่างนี้ทางโลกจะมองเห็นว่าพระพุทธองค์ไม่ว่างเรื่องการงานเลย
ความเป็นจริงแล้ว พระองค์ทำงานไปตามหน้าที่เท่านั้น ทำงานก็สักแต่ว่าทำงาน ไม่ได้ยึดมั่น ไม่มีการปรุงแต่งในจิตใจ จิตใจของพระองค์ต่างหากที่ว่างจากตัวตน ว่างจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน เพราะพระองค์เลิศไปด้วยสติสัมปชัญญะ เลิศไปด้วยปัญญา รอบรู้ในกองสังขารทั้งปวง นี่เองแหละเรียกว่า ความว่าง
ธรรมชาติก็เป็นธรรมชาติอยู่นะ พระพุทธองค์รู้จักแยกแยะออกเป็นสิ่งๆ ไป ไม่ใช่ว่าได้ยินคำว่า ว่าง ก็คิดว่าว่างแบบเวิ้งว้างเป็นกลางทุ่งไปเลย มิใช่อย่างนั้น”
๕๘ มันหลงครับ หลวงปู่
ในพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อหลวงปู่เพ็ง กลับมาบวชครั้งที่สองแล้วไปกราบหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
“พวกเรานักปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อให้เกิดธรรมะขึ้นภายในจิตใจ เวลาครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอนก็ต้องนอบน้อมตั้งใจฟัง เมื่อฟังแล้วต้องทำความเข้าใจในธรรมนั้นด้วย ใช่ว่าสักแต่ฟัง อย่างนั้นไม่ถูกต้องเลย สติกับจิตอย่างให้คลาดเคลื่อน ถ้าคลาดเคลื่อนเมื่อไรจะหลงทางเมื่อนั้น
ฉะนั้น ทุกวันนี้ เมื่อไปฟังพระหรือครูบาอาจารย์เทศนา มาถึงบ้านแล้วไม่ปฏิบัติ หรือปฏิบัติเหมือนกันแต่นานครั้ง อย่างนี้จะเกิดความเข้าใจผิดก็ได้ อุปมาเหมือนรับประทานอาหารไม่ต่อเนื่อง รับไปได้หน่อยข้าวหมด ต้องหุงใหม่ ความอร่อยในรสชาติก็หมดไป
พวกเราจะทำอะไรก็ตาม ต้องให้มันต่อเนื่อง อย่าทำเล่นไม่ได้ มันจะเกิดความหลงดังเช่นว่า
ศึกษาธรรมมากก็หลงเพราะไม่ปฏิบัติ รู้มากก็หลง เพราะไม่ปฏิบัติ อ่านมากก็หลงเพราะไม่ปฏิบัติ สุขมากก็หลงเพราะเสียทีกิเลส กินมากก็หลงเพราะเสียทีตัณหา เป็นพระบวชนานก็หลงเพราะเสียทีอุปาทาน ทำสมาธิ สติไม่มี ปัญญาไม่เกิดก็หลง บางทีก็เลอะไปก็มีนะ พวกเราต้องระวังอย่าขาดสติ
อย่างเช่นอาตมานี่ เดิมทีเดียวออกบวช คิดว่าจะไม่สึกออกมา จะปฏิบัติอย่างเดียว เมื่อมีโอกาสก็จะออกช่วยพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ว่างั้น แต่ความจริงแล้ว กิเลสของอาตมายังไม่หมดเลยเวลานั้น
เรามันเรือลำเล็ก แต่ไปพ่วงเรือใหญ่หลายลำ มันก็พาจมเท่านั้นเอง มันหลงตัวหลงตนเป็นอย่างนี้
หลวงปู่ขาว อนาลโย จึงได้ถามอาตมาว่า ท่านเพ็ง… เมื่อก่อนนั้นนะ ทำไมจึงต้องสึกออกจากพระล่ะ?
อาตมาก็ตอบท่านไปว่า มันหลงครับ หลวงปู่
อาตมายอมรับ มันหลงจริงๆ มันหลงตัว หลงตน หลงดี หลงเด่น หลงที่ไม่มีมูลความจริง เพราะเปิดประตูให้กิเลสขี่คอ ฉะนั้นเราต้องระวังให้มากๆ เรื่องนี้
๕๙ สนทนาโต้ตอบกับหลวงปู่ขาว อนาลโย
หลวงปู่เพ็ง เล่าถึงคำสนทนากับหลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งเกี่ยวกับเรื่อง ความหลง ต่อจากหัวข้อที่แล้ว ดังนี้
อีกครั้งหนึ่งที่ท่าน (หลวงปู่ขาว อนาลโย) เคยพูดกับอาตมาเมื่อคราวที่ไปหาท่าน นำดอกไม้ธูปเทียนเข้ากราบ อาตมาก็ได้พูดกับท่านว่า
“ขอให้หลวงปู่อยู่นานๆ นะหลวงปู่”
ท่านตอบว่า “เฮ้อ !…ใครมาก็อยากให้อยู่นานๆ ความจริงมันจะตายอยู่แล้วนะ”
อาตมาก็ไปอยู่กับท่าน ทำความสะอาดต่างๆ ภายในกุฏิท่าน นำกระโถนท่านไปเท ล้างน้ำ ท่านมายืนมองอาตมา ท่านได้ถามขึ้นว่า
“ท่านนี่มาจากไหน? “
“กระผมมาจากจังหวัดร้อยเอ็ดครับ”
“มาอยู่กับใคร?”
“มาอยู่กับหลวงปู่บิดาผมครับ”
“บิดาของท่านคือใคร?”
“หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ครับ”
“อ๋อ… นี่หรือลูกชายของท่านบัว นี่หรือที่เขาลือว่าเทศน์ได้เก่ง คนนี้หรือ? นั่งภาวนาเป็นไหม?”
“หลวงปู่ครับ ถ้าผมภาวนาเป็นก็คงไม่ได้สึกออกไปหรอก”
“อ๋อ..ไม่น่าเชื่อนะ เจ้าสึกออกไปมีลูกกี่คน?”
“มี ๕ คนครับหลวงปู่”
“ช่างมันเถอะเนาะ ลูกกบลูกเขียดใครจะตัดหางให้มัน มันก็เป็นกบเป็นเขียดอย่างเดิม เราเองก็เหมือนกัน มีลูกตั้ง ๓ คน จึงเข้ามาบวช แต่เจ้าไม่เก่งเหมือนท่านบัวนะ ท่านบัวเป็นคนวิเศษ”
คุณดำรงค์ ภู่ระย้า ที่เคยนำเสนอบทสนทนานี้ในนิตยสารโลกทิพย์ ได้ให้ความเห็นดังต่อไปนี้
“พระอริยะเจ้าทั้งหลาย ท่านมักจะรู้วาระจิตของผู้สนทนาดี ความจริงท่านรู้ แต่ท่านต้องการพิสูจน์จิตใจผู้ตอบมากกว่าปัญหาที่ถาม ว่าจะมีความจริงใจ มีสัจจะ มีศีลแค่ไหน ถ้าแม้ผู้ไม่รู้ถึงการณ์ บางทีอาจโกหก ปกปิดความจริงของชีวิตของตน เกรงจะเกิดความอายถ้าเรื่องต่างๆ แผ่ขยายออกไปตามหมู่ชน
พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม เป็นพระที่กล้าพูด กล้าต่อความจริง จึงตอบท่านไปตามตรง
ดังนั้น พวกเรานักปฏิบัติ ควรสังวรเรื่องนี้ให้จงหนัก”
๖๐ การภาวนาเป็นของง่าย ๆ
หลวงปู่เพ็ง ท่านมักจะเน้น จะสอนให้ภาวนาให้มาก ท่านพูดเรื่องการภาวนาอย่างนี้ : –
“การภาวนาเป็นของง่าย ง่ายอย่างไร? เพราะมันไม่เลือกเวลาไม่ต้องเสียเงินเสียของอะไร ทำได้ทุกกรณี
การภาวนานี่ทำไปเถิด จะยืน เดิน นั่ง นอน ยิ่งวิ่งภาวนาได้ก็ยิ่งดี เรานึก พุท-โธ ก็ได้ ใช่ว่าคำบริกรรมมีอยู่เท่านี้นะ เราทำงานอยู่จะทำงานอยู่ จะบริกรรมก็ได้ หรือจะพิจารณาร่างกายก็ได้ ขณะเท้าย่างก้าว เรากำหนดดูเท้าเราเคลื่อนไหวก็ได้ มือเรายื่นออกไปจับอะไรก็พิจารณามือ ซึ่งมีกระดูก เอ็น น้ำเลือด น้ำเหงื่อ อะไรก็ได้ เราพิจารณาได้ตลอดเวลา
คนอื่นมาพูดกับเรา เราพิจารณาเสียงก็ได้ อ้าปากจะพูด เห็นฟัน ก็พิจารณาฟันก็ได้ พิจารณาให้เกิดธรรมะขึ้นมา เอาสติกำหนดรู้จิตของเราตลอดเวลา
เขียนหนังสือก็พิจารณาตัวหนังสือก็ได้ เวลามันร่าเริงก็พิจารณามันลงไป สาเหตุของการเกิดความร่าเริง ถ้ามันยุ่งยาก เป็นทุกข์เป็นร้อนอะไรขึ้นมา ก็พิจารณาทุกข์กับความยุ่งยากเหล่านั้นโดยปัจจุบันธรรมเลย อย่าปล่อยให้มันผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ทำจิตให้นิ่งแน่วแน่เป็นหนึ่ง ท่านเรียกว่าสมาธิภาวนา
พระพุทธเจ้าของเรา ทรงสอนเรื่องภาวนาเป็นส่วนมาก ท่านให้พิจารณา เพราะตัวพิจารณานี้เป็นองค์วิปัสสนาโดยตรงทีเดียว
ภาวนาไปเถิด อะไรที่มันเกิดขึ้นกับเรา พิจารณามันเรื่อยไป ขออย่างเดียว ทำอารมณ์ให้เป็นหนึ่ง อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
อย่างนี้เขาเรียกว่า ภาวนาเป็น
ภาวนาไม่เป็นล่ะ เป็นอย่างไร ?
คนที่ไม่ทำจิตเป็นหนึ่ง นั่งแล้วจิตฟุ้งส่งส่ายไม่อยู่กับอารมณ์ เที่ยววิ่งเข้ารกเข้าป่า วิ่งไปเปิด-ปิดประตู หน้าต่าง วิ่งไปดูตู้เซฟ มองดูเงิน นับเงินในตู้ เดี๋ยววิ่งเข้าครัว เดี๋ยววิ่งไปยังที่ทำงาน เดี๋ยววิ่งไปดูเมีย วิ่งไปดูผัวในสำนักงาน
วุ่นวายอย่างนี้นะ เขาเรียกว่า ภาวนาไม่เป็น ดีไม่ดีจะเป็นเปรตเอาเสียด้วย
การภาวนาไม่ต้องเลือกกาลเลือกเวลา ไม่ต้องมีพิธีรีตอง เมื่อสะดวกที่จะทำ ทำที่ไหนก็ได้ ทำได้ทุกอิริยาบถ ทำที่บ้านก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปทำที่วัด หรือทำต่อหน้าหลวงพ่อเท่านั้น
เวลามากรุงเทพฯ อาตมาจะได้ยินบ่อยๆ ว่า “หลวงพ่อเจ้าขาดิฉันไม่มีเวลาเลย ต้องทำงานตลอด บางทีวันเสาร์ อาทิตย์ ก็ไม่ค่อยได้หยุด คิดจะไปภาวนากับหลวงพ่อ ก็ได้แต่คิดเท่านั้น หาเวลาไม่ได้เลย คิดว่าสักวันหนึ่งคงมีโอกาสเดินทางไปที่วัดเทิงเสาหินและได้ภาวนาบ้างละ”
“หืย !…เหม็นขี้ฟัน ให้รอยุคพระศรีอาริย์เถอะพวกนี้”
๖๑ ข้อแนะนำการรักษาศีล
คุณดำรงค์ ภู่ระย้า แห่งนิตยสารโลกทิพย์ เคยไปกราบเรียนถามหลวงปู่เพ็ง ถามเกี่ยวกับการรักษาศีลสำหรับฆราวาสทั่วไป ได้เขียนบรรยาย ดังนี้
เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๒๖ ผู้เขียนได้มีโอกาสพบกับพระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม เป็นครั้งที่ ๓ ซื้อได้นมัสการแล้ว ผู้เขียน (คุณดำรงค์) ได้ถามปัญหาธรรมจากท่าน ลงท้ายก็ได้ถามเรื่องการรักษาศีลว่า
ฆราวาสโดยทั่วไปต้องมีภาระต่างๆ ซึ่งไม่เหมือนกัน ดังเช่นว่าข้าราชการ พ่อค้า ตลอดถึงกรรมกร หาเช้ากินค่ำ จะมุ่งรักษาศีลกันจริงๆ แล้ว เห็นเป็นการยากเหลือเกิน
ผู้เขียนจึงยกตัวอย่าง เช่น แม่ค้ามีสินค้าหลายชนิด แต่ละชนิดมีความประสงค์ที่จะขายให้หมด และในจำนวนสินค้าเหล่านั้น มีทั้งดีและไม่ดีปะปนกันอยู่ เมื่อมีผู้จะซื้อไปถามว่า ดีไหมของชนิดนี้ ผู้ขายต้องบอกว่าดี ทั้งๆ ที่รู้ว่าของที่ผู้ซื้อถืออยู่ไม่ได้ดีอะไรเลย ถ้าเป็นมะม่วงก็เปรี้ยว แต่ผู้ขายบอกว่าหวาน เป็นมะม่วงสวน รับรอง !
เหตุนี้เราจะทำอย่างไร? เราจะรักษาอย่างไร?
พระอาจารย์เพ็งท่านอธิบายว่า :-
“การรักษาศีลไม่ต้องเอามาก ให้รักษากันคนละข้อก่อน ใครจะเอาข้อไหน ใครจะรักษาข้อใดข้อหนึ่งก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเอาหมดทั้ง ๕ ข้อ ให้รักษาข้อเดียวก่อน ข้อใดที่ตนเองประพฤติผิด ล่วงละเมิดมากที่สุด เอาข้อนั้นรักษาให้ดี ตั้งสัจจะลงไปว่าจะไม่ทำ จะไม่ละเมิดอีก เอาให้จริง ไม่มีใครจะละเมิดทีเดียว ๕ ข้อพร้อมกันนะ ความจริงแล้ว ศีล ๕ มีอยู่ในตัวเองทุกคน แต่ว่าไม่รู้จักปฏิบัติ ไม่รู้จักศีลเท่านั้น”
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ท่านพูดอยู่เรื่อยว่า “เอาพระเป็นพยาน แล้วก็มาโกหกพระอีก บอกว่าจะรักษาศีล พอกลับบ้านไปแล้วก็ละเมิดศีลที่ตนรับมา”
ศีล ๕ ข้อ ๑ ไม่ฆ่าสัตว์ อะไรเป็นสัตว์ ไม่ฆ่าทั้งนั้น
ข้อ ๒ ไม่ลักทรัพย์ ขึ้นชื่อว่าของเขา เราไม่แตะต้อง
ข้อ ๓ ไม่ผิดลูกเมียใคร ตัวใคร อย่าไปข้องแวะ
ข้อ ๔ ไม่พูดปด ไม่โกหก มดเท็จ ตอแหล
ข้อ ๕ ไม่ดื่มสุราเมรัย เป็นเหตุให้ขาดสติ
ท่านให้เลือกเอา รับเอาก่อน ข้อใดก็ได้ เมื่อรักษาได้ข้อหนึ่งแล้ว บริสุทธิ์ผุดผ่องแล้ว ก็ค่อยไปรับข้อที่ ๒ มารักษาอีก เมื่อดีแล้วให้รับรักษาข้อที่ ๓ ต่อๆ ไป ไม่ช้าเต็มบริบูรณ์ มันก็บริสุทธิ์เท่านั้น
ข้อสำคัญต้องให้มีสตินะ เราจะทำอะไรผิด มีสติที่คอยเตือนซิว่า เจ้าอย่าทำผิดนะ อย่าล่วงละเมิดศีลข้อนี้นะ อย่างนี้
ได้ข้อหนึ่ง ข้ออื่นๆ มันก็ได้เอง บางทีไม่ได้คิดไว้ก็มาเอง ให้มีความตั้งใจจริง ไม่หนีที่จะสำเร็จได้แน่นอน
พระพุทธเจ้าของเราสอนให้ปฏิบัติ เราก็ต้องพยายามปฏิบัติซิน่า เรื่องศีลนี่ ยิ่งเป็นศีล ๒๒๗ ด้วยแล้ว พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ละเอียดทีเดียว จุดประสงค์ที่จะให้พระสงฆ์มีสติแก่กล้าในศีล ถ้าใครละเมิดก็เป็นโทษ มีบาป
พระพุทธเจ้าของเราชี้ให้เห็นอยู่แล้วนี่ รักษาศีลเป็นของดีมีความสุข ไม่รักษาศีล ละเมิดศีล เป็นบาปเป็นทุกข์ แล้วเราจะเลือกเอาของดีหรือ ของ ไม่ดี
แม่ค้าขายมะม่วงเปรี้ยวคนนั้นก็เหมือนกัน เรารู้ว่าเขาโกหกผิดศีลข้อ ๔ เราก็สอนให้เขารักษาซิ
สอนอย่างไร? ก็สอนด้วยวิธีไม่ซื้อ เมื่อไม่ซื้อเขา ของก็เหลือนานวันเขาก็เลิกหามะม่วงเปรี้ยวมาขาย เพราะเขารู้ว่าคนซื้อจับโกหกเขาได้ ต่อไปเขาก็หามะม่วงหวานมาให้เรา พอไปถามเขาใหม่ว่า มะม่วงหวานไหม? หวานค่ะ รับรองเลยคะ เอาดิฉันปอกให้ชิมเดี๋ยวนี้เลย
นี่แหละคนเรา เมื่อมีศีลอยู่ในจิตในใจแล้ว ความกล้าหาญ ความจริงใจ คำพูดคำจามันมีน้ำหนักมั่นคง ไม่หวั่นเกรงต่ออุปสรรคใดๆ
เพราะความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย มันจริงใจ เพราะต่างคนต่างมีศีล โลกเรานี้ก็สงบ
ปัจจุบันนี้ ทีวีมีข่าวลงหนังสือพิมพ์วุ่นวาย รบราฆ่าแกง ร้อยแปดพันประการ ก็เพราะไม่รู้จัก ศีล ไม่รักษาศีลนี่เอง พระผู้เป็นครูบาอาจารย์มากมาย เที่ยวสั่ง เที่ยวสอน ก็เพื่อให้มีศีลตัวนี้ มีศีลแล้ว สมาธิก็เกิดปัญญาก็บริบูรณ์_ เอาเท่านี้
๖๒ เดินธุดงค์ไปทำไม
เมื่อมีญาติโยมถามว่า ทำนพระป่าต้องเดินธุดงค์ เดินไปทำไมได้ อะไร ?
หลวงปู่เพ็ง ท่านตอบดังนี้
ประสบการณ์ชีวิตของอาตมา อาตมาอาจเล่าซ้ำนะ แต่ยิ่งซ้ำยิ่งแม่น พระพุทธเจ้าสอนสาวกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เห็นไหมล่ะ
ในสมัยก่อนนั้น มีแต่ความทุกข์ยากลำบากนะ ยิ่งดินแดนภาคอิสานด้วยแล้ว มันแห้งแล้งเหลือขนาด คนภาคอิสานนี่ก็มีความอดทนต่อสภาพเช่นนั้นได้
สมัยนั้น ทางรถทางเรืออย่าไปคิดให้วุ่นวายเลย จะไปไหนแต่ละทีนี่ต้องเดินเอง บางทีกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง ๒ วัน ๓ วันก็มี ต้องลุกขึ้นตอนตี ๔ ออกเดินทาง ไปถึงจุดหมายก็มืดค่ำ ก็เป็นส่วนมาก ระยะทาง ๔๐-๕๐ กม. เริ่มชีวิตแต่ตอนอาตมายังเป็นเด็กอยู่ ไปเรียนหนังสือแต่ละครั้งที่อำเภอธวัชบุรีนะ ไปกลับสัก ๑๐ กม. เดินอยู่อย่างนั้น ๒ ปี
พอบวชเป็นพระแล้ว ออกธุดงค์จากบ้านเกิดไปตามสถานที่ต่างๆ ตามครูบาอาจารย์แนะนำ เดินทางจากบ้านไปปฏิบัติที่จังหวัดร้อยเอ็ด จากร้อยเอ็ดไปถึงจังหวัดมหาสารคาม ๑๒๐ กม. เดินเอา สมัยนั้นป่าไม้นี่เป็นดงดิบ ทั้งหนาทึบ
บางแห่งมองไม่เห็นแสงตะวันเลยในยามเที่ยง เดินไปตามทางมืดสนิทเลยนะ อาหารการกินไม่ต้องไปคำนึงถึงมัน อ่อนเพลียก็พักตรงนั้น บางที ๓ วัน ๔ วัน ไม่มีข้าวแม้แต่เม็ดเดียวตกถึงท้อง
แต่พระธุดงค์สมัยนั้นท่านก็อยู่ได้ เพียงภาวนาไปเรื่อยๆ ความกล้าหาญเป็นเยี่ยม สติสัมปชัญญะเป็นยอดเลย
เดินไปจนถึงบ้านหมี่ จ.มหาสารคาม จึงได้ฉันอาหาร ๑ หน
บางทีพระธุดงค์ทั้งหลาย พอเดินมาถึงหมู่บ้านก็เป็นเวลาบ่าย ๒ โมงบ้าง ๔ โมงบ้าง มันเลยกำหนดที่จะฉันแล้วนี่ ก็ไม่ต้องไปฉันมัน เดินต่อไป
ครูบาอาจารย์สอนมาว่า ไม่ให้รับอะไรในยามวิกาล บำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างเดียว
การเดินของเรา เรารู้ว่าเดินทำไม มันมีประโยชน์อะไรใช่ไหมล่ะ ?
ถ้ามันเดินแล้วไม่เกิดอะไรขึ้นมา พระพุทธเจ้าก็ดี พระอริยเจ้าทั้งหลายก็ดี คงไม่ยอมรับและไม่โปรดข้อวัตรนี้แน่
พวกเราเป็นคนมีกิเลสหนา เลยต้องหาเวลามาขุด มาขัด มาถูล้างออกจากจิตใจของเราเสียบ้าง
เมื่อไปถึงจังหวัดมหาสารคาม ก็ไปพบพระอาจารย์บุญนาค แล้วท่านก็นัดไปพบกันที่ถ้ำพระเวส (อ.นาแก จ.นครพนม) เป็นการทดสอบน้ำใจของพวกเรากันเองว่า จะมีความอดทนต่ออุปสรรคได้มากน้อย เพียงไร
ชีวิตของอาตมานี่มันมีแต่ความสุขความสบายมาก อาตมาตอนที่เป็นฆราวาสอยู่ มีสมบัติมาก มีโรงสี ๒-๓ โรง เมื่อมีความสบายจนเคยตัว ก็ลองมาลำบากเสียบ้าง สมบัติมอบให้ลูกๆ เขา เราเข้าป่าแสวงหาโมกขธรรม หาทางพ้นทุกข์ ไม่อาลัยสมบัติที่เป็นของนอกกาย แม้ชีวิตของเราก็ยังไม่อาลัยเลย
ในขณะนั้นนะ อาตมาป่วยเสียก็มาก จะตายเสียก็หลายหน ขนาดหลวงปู่คำดี ปภาโส ท่านพูดว่า
“พระองค์นี้คงอยู่ไม่ยาวถึงเที่ยงนี้”
แต่มันยังไม่หมดกรรมนะ ยังทนอยู่จนบัดนี้
หลังจากนัดกับพระอาจารย์บุญนาคแล้ว อาตมาก็ออกเดินทาง ใครจะทักอย่างไรอาตมาไม่ฟังเสียง ขนาดโยมแม่ร้องไห้เลย เพราะอาตมาผอมมากนะ ผอมจนหลังติดกระดูกเลย โรคภัยมันเยอะ ไข้ป่า โรคท้องเดิน เชื้ออะไรต่างๆ มากมาย โรคเหน็บชา แขนขานี่ลีบเล็ก อาตมาไม่พะวงเลย
จิตใจของอาตมาได้ถวายให้พระพุทธเจ้าแล้ว ร่างกาย สังขาร ใครจะเอาไปทำอะไรอาตมาไม่สนใจ จะตายก็ช่าง ไม่ตายก็ช่าง
เดินธุดงค์มาจนถึงบ้านยอดแก่น จังหวัดกาฬสินธุ์แล้วเข้าถ้ำพระเวส ไปภาวนาอยู่นาน
ออกจากถ้ำพระเวสแล้วออกเดินไปเรื่อยๆ ผ่านบ้านหนองปุ้น บ้านห้วยโป่ง พักอยู่นานเหมือนกัน
การปฏิบัติรุดหน้าแก่กล้าขึ้น จิตใจของอาตมานี่มันเบาอย่างบอกไม่ถูก การปฏิบัติก็เป็นไปง่ายๆ ที่ไหนมีความสุขสบาย หมายถึง ที่นั่นเป็นที่เรามีความชุ่มชื่นในกระแสจิต อาตมาก็อยู่นาน
นั่งทำใจเฉย สติกำหนดรู้สิ่งใดเข้ามากระทบ ก็นำมาพิจารณาลมนอก ลมใน อาการ ๓๒ รูปร่างสังขาร มันรู้ได้แจ้งชัด เมื่อรู้แจ้งอย่างนี้คิดว่า : –
“โอ ไม่เอาอีกแล้วชีวิต น่าเบื่อหน่าย ไม่อยากกลับมาเกิดอีกแล้ว มันไม่มีอะไรเลยจริงๆ มองดูแล้วปรากฏเป็นความว่างของจิตมันไม่รู้ร้อน รู้หนาวอะไร”
๖๓ ธุดงค์หลงทาง
หลวงปู่เพ็ง เล่าเรื่องเดินธุดงค์ต่อ หลังจากออกจากถ้ำพระเวสแล้ว
“วันต่อมาก็เดินขึ้นเขา ภูลูกนั้นมันสูงมาก เมื่อไปถึงก็แยกกันตรงนั้น ต่างคนต่างไป ข้ามเขาไปเลย พอไปสุดก็ไม่มีที่จะไปอีกแล้ว
พอดีอาตมาไปพบพวกชาวบ้านป่า เขาเข้าป่าไปหาของป่ามากิน ก็มีพวกหน่อไม้ หัวเผือกหัวมัน ล่าสัตว์ไป อาตมาก็ไปถามทางจากเขาว่า
“ทางจะไปนี้ยังมีอีกไหม ควรไปทางไหนดี”
เขาบอกว่า “ขอให้ผมกินข้าวเสียก่อน แล้วจะไปส่ง”
ชาวบ้านป่าคนนั้นเขาพาขึ้นไปบนเขา แล้วชี้ให้ดูว่า
“ถ้าพระอาจารย์ไปทางนี้ จะไปถึงหมู่บ้านภายใน ๗ วัน ถ้าไปทางนี้ก็ ๓ วัน แต่ถ้าบุกไปทางนี้ก็ถึงวันนี้”
มันไม่มีทางนี่ ก็เลยให้เขาพาไป เดินไปตามคลองช้าง มันเป็นทางของช้าง ขี้ช้างนี่นะทั้งใหม่ทั้งเก่าเลย ท้องฟ้านี่มองไม่เห็นเลย มันทึบเป็นป่าดงดิบไปตลอด
แต่ก่อน บ้านห้วยบง นี่มันจะมีอะไร แต่ก่อนนะมีแต่ป่าไม้เต็มพืดไปหมด เดี๋ยวนี้นะ ลองไปดูเถิด เป็นทุ่งนา มีบ้านมีเรือน สุดหูสุดตาเลย จะหาไม้ไม่ มีเลยนะเดี๋ยวนี้
๖๔ หมูป่าบนภูค้อ
หลวงปู่เพ็ง เดินธุดงค์ไปองค์เดียวไปอยู่บนถ้ำภูค้อ ท่านเล่าดังนี้
“หลังจากนั้นไป อาตมาก็ไปอยู่บนถ้ำภูค้อ อาตมาเข้าไปกราบพระอาจารย์สอน ไปฟังเทศน์จากท่าน แล้วท่านไล่อาตมาให้ไปปฏิบัติอีกทีหนึ่ง
อาตมาไปเดินจงกรม นั่งภาวนา ๓ วัน ๓ คืน ได้ธรรมะมากนะ จิตลงนิ่งสงบร่วมเป็นสมาธิ และก็ไปนั่งเชิงเขา
ตอนเย็นวันหนึ่ง ขณะที่นั่งจิตสงบอยู่นั้น ก็ได้ยินเสียงดังตุบ ๆ ๆ อาตมาสงสัยว่ามันเสียงอะไรกันแน่ ดังเป็นจังหวะๆ อยู่นาน
ปรากฏว่า ที่อาตมานั่งอยู่นั่นเป็นก้อนหินกลมๆ พอชะเง้อมองดูเบื้องต่ำลงไปอีกนิด ก็เห็นหมูป่าฝูงหนึ่ง ประมาณ ๕๐-๖๐ ตัว มันแตกตื่นอะไรมากไม่รู้ มันวิ่งมาแล้วกระโดดก้อนหินข้ามไป วิ่งต่อกันเป็นแถว
อาตมาภาวนาอยู่ที่นี่ ๓ วัน ไม่ได้ฉันข้าวเหมือนกัน”
๖๕ เรื่องอดอาหารระหว่างธุดงค์
หลวงปู่เพ็ง เล่าถึงการอดอาหารในช่วงเดินธุดงค์ ท่านบอกว่าบ่อยมาก จนไม่รู้สึกแปลกอะไรเลย ดังนี้
“หลายต่อหลายครั้งนะ เรื่องไม่ฉันข้าวนี่ แต่มันก็อยู่ได้ บางพื้นที่ที่ไปอยู่ ชาวบ้านไม่ค่อยรู้จักประเพณีของพระ เวลาเขาได้อาหารมาจำพวกของขบฉันนี่ พอเขานำมา ก็ไม่ได้ถวาย ไม่ได้ประเคนเลย มาก็วางไว้ มาก็วางไว้ พอพระพวกอื่นที่เขาเคยอยู่มาก่อน พวกเห็น พอหิวก็ไปหยิบมาฉันกันเลย เป็นอยู่อย่างนั้นแหละ
อาตมาเห็นแล้วไม่เอา ไม่ฉันด้วย ทำสมาธิภาวนาเฉย เดินจงกรมปลงสังขารตนเอง แล้วมานั่งต่อ พอหลายวันก็ค่อยออกบิณฑบาตสักครั้ง
วันหนึ่ง อาตมาเดินถือบาตรไปยังหมู่บ้านชายแดน เขาไม่รู้จักใส่บาตรกัน อาตมาเดินไปเรื่อยๆ ได้ก็เอา ไม่ได้ก็กลับที่พัก ภาวนาต่ออาตมาบุกเดี่ยวเข้าป่าเป็นส่วนมากนะ จะมีบางโอกาสเท่านั้นที่ไปคู่กับเพื่อนพระและสามเณร”
๖๖ กลัวสุดชีวิต แต่พิชิตสำเร็จ
หลวงปู่เพ็ง เคยรู้สึกกลัวเสืออย่างที่สุดในชีวิต แล้วท่านก็สามารถพิชิตความกลัวได้ตั้งแต่บัดนั้น
“ครั้งหนึ่ง อาตมากลัวเสือ เมื่อครั้งไปอยู่ถ้ำชะมด มีเขาลูกหนึ่งมันมีไหล่เขา อาตมาไปอยู่ที่นั่น พอปักกลดแล้ว ก็เดินจงกรม เสร็จจากการเดินจงกรม ก็มานั่งภาวนาในกลด พอตกกลางคืน อาตมาเกิดกลัวเสือ
กลัวชนิดออกจากกลดไม่ได้เลย มันเกิดความกลัวมากมายเหลือเกินในชีวิต
เพราะสัญญาเก่า ที่ปู่ย่าตายายเคยเล่าให้ฟังแต่ตอนเป็นเด็กมันเกิดขึ้นมาว่า ถ้าได้ยินเสียงคล้ายเสียงลมก็เป็นเสือแหละ ท่านว่าอย่างนี้
อาตมาได้ยินเสียงฉับ ๆ ๆ ตรงไหล่เขา ก็คิดว่า เอ๊ะ ! เสือละกระมังนี่ อาตมาออกจากมุ้งไม่ได้ อยากจะไปดูก็อยากนะ อยากเห็นเสือมันทำอะไรของมัน แต่ไม่ถอนกลดหนี นั่งในกลดทั้งคืน ตอนเช้ามาดูก็ไม่เห็น คิดว่ามันไปแล้ว
เป็นอย่างนั้น คืนที่หนึ่ง…คืนที่สอง…พอคืนที่สาม มาคิดว่าเอาเถิด ! ตายเป็นตาย ข้าไม่กลัว ถ้าจะกินก็กินเลย
อาตมาตัดสินใจ แล้วก็ออกจากมุ้งกลด แล้วเก็บมุ้งมัดติดกับด้ามกลด แขวนไว้ ไม่กางมุ้งเลยทั้งคืน อาตมาเดินจงกรมทั้งคืน ก็ได้รู้ว่า เสียงที่เราได้ยินนั้นเป็นเสียงลม ที่มากระทบกับเขา พัดกรวดทรายมันก็ดังละซิ ลมมันแรงนี่ เสียงก็ดัง
“อ๋อ ! นี่เรามันโง่ไปเอง กลัวแม้กระทั่งลม”
สัญญากิเลสนี้มันร้ายกาจ มันหลอกเราจนแทบไม่ได้ภาวนาหาธรรม
ตั้งแต่นั้นมา อาตมาไม่กลัวอะไรเลย หมดความกลัว การเดินธุดงค์ก็เป็นไปอย่างปกติ ไม่หวาดหวั่นกับภัยอะไรเลยแต่บัดนี้
๖๗ พูดถึงวัดเทิงเสาหิน เชียงราย
พระพุทธพจนวราภรณ์
(จันทร์ กุสโล)
หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโมได้มาริเริ่มบูรณะวัดเทิงเสาหิน ขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ตอนแรกยังเป็นสำนักสงฆ์อยู่ ได้รับอนุมัติให้เป็นวัดที่สมบูรณ์ตามกฎหมายในปี พ.ศ.๒๕๓๐ ใช้เวลานานถึง ๑๒ ปี
หลวงปู่ เล่าถึงการมาที่วัดเทิงเสาหิน
“ครั้งแรกก่อนจะมาอยู่วัดนี้ ได้มาพบกับพระอาจารย์ทอง เป็นหัวหน้าวิปัสสนา จำพรรษาอยู่วัดเมิงมาง เมื่อท่านมาเห็นอาตมาเข้า ก็ชวนกันมาสร้างวัดอยู่ที่นี่
พออยู่มา พระอาจารย์ทองได้ถูกหมู่พวกโจมตี ท่านก็ออกจากวัด ตัดความวุ่นวายหายไป อาตมาไม่ได้พบท่านอีกเลย
วัดนี้ท่านเจ้าคณะภาค คือท่านเจ้าคุณพระธรรมดิลกเป็นผู้ตั้งชื่อให้ เรียกสั้นๆ ว่า วัดเทิง ท่านว่ามันพูดง่าย จำง่ายดี”
(ท่านเจ้าคุณพระธรรมดิลก ท่านอยู่วัดเจดีย์หลวง ในเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๒๕๔๕ ท่านได้รับพระราชทานสถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัณยบัฏที่ พระพุทธพจนวราภรณ์ )
วัดเทิงเสาหิน อยู่ในตัวอำเภอเมืองเทิง มีเนื้อที่กว้างขวางถึง ๘๐ ไร่ สภาพเป็นป่า มีความร่มรื่น สงบสงัดเหมาะแก่การภาวนา
เนื้อที่วัดแบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนใหญ่อยู่ด้านหน้า เป็นที่ตั้งของโบราณสถาน ศาลาอเนกประสงค์ วิหารพระเจ้าองค์ใหญ่ พระเจดีย์ และกุฏิพระสงฆ์ อีกส่วนอยู่ด้านหลัง เป็นเขตของแม่ชี
วัดเทิงเสาหิน ไม่ได้เน้นสิ่งปลูกสร้าง แต่เน้นการรักษาต้นไม้ อนุรักษ์โบราณสถาน และทำให้เป็นที่สงัดสำหรับการภาวนา
สำหรับวิหารและศาลา เน้นการสร้างเพื่อใช้ประโยชน์มากกว่าความสวยงาม กุฏิพระแต่ละหลังก่อสร้างด้วยไม้อยู่ห่างๆ กัน กระจายทั่วบริเวณ วัด
ผู้เขียนเคยนำหมู่คณะหาเจ้าภาพสร้างกำแพงรอบวัด ก่อด้วยศิลาแลงเพื่อดูให้กลมกลืนกับโบราณสถาน ทางวัดก่อสร้างไปสัก ๑๐๐ ช่องน่าจะได้ แต่…ไม่มีใครคาดฝันเลย เมืองเทิงถูกน้ำท่วม น้ำป่าไหลบ่ามาอย่างฉับพลัน กำแพงศิลาแลงถูกน้ำป่าพัดพังหายไปในพริบตา พวกเราได้แต่คิดในทางที่ดีว่า…เจ้าของเขาคงไม่อยากให้สร้าง ส่วนกำแพงที่พังก็พังไป เจ้าภาพไม่มีใครติดใจที่จะต่อว่า ผมก็เลยรอดตัวไป…สาธุ
ข้างหน้าวัด ติดกับถนน มีอาคารคอนกรีต ๒ ชั้น ตั้งตระหง่านอยู่ เป็นอาคารหอสมุดประชาชนอำเภอ ซึ่งทางหลวงปู่ ได้พาคณะศิษย์สร้างให้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของประชาชน รูปแบบอาคารใช้แบบของหอสมุดเฉลิมราชกุมารี บัดนี้ได้มอบให้เป็นสมบัติของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงราย เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งทางวัดได้บริจาคที่ดินรอบๆ หอสมุดประมาณ ๓ ไร่ด้วย
สภาพโดยรวม วัดเทิงเสาหิน จัดว่าเป็นวัดที่มีความสมบูรณ์และมีความมั่นคงเท่าที่วัดทั่วไปจะพึงมี การวิ่งเต้นบอกบุญเพื่อการก่อสร้างนั้นไม่มี นอกจากคณะญาติโยมจะจัดทอดกฐิน ทอดผ้าป่าตามโอกาสอันควร การจัดงานบันเทิง สนุกสนาน หรือจัดกิจกรรมหาเงินรับรองไม่มีโดยเด็ดขาด
หลวงปู่เพ็ง ท่านพำนักอยู่ที่วัดเทิงเสาหินติดต่อกันนานถึง ๒๒ ปี ตั้งแต่ พ ศ.๒๕๑๘-๒๕๔๐
ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ลูกหลานหลวงปู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ดได้นิมนต์ให้ท่านกลับจังหวัดร้อยเอ็ด บ้านเกิดของท่าน ท่านจึงรับนิมนต์ ได้สละตำแหน่งเจ้าอาวาสให้แก่ หลวงปู่พรหม สุพฺรหมฺญาโณ พระน้องชาย อายุ ๘๔ อ่อนกว่าหลวงปู่ ๓ ปี เป็นเจ้าอาวาส
แม้หลวงปู่จะย้ายไปจำพรรษาที่จังหวัดร้อยเอ็ดแล้วก็ยังได้รับนิมนต์ไปที่วัดเทิงเสาหิน ตามโอกาสสำคัญๆ อยู่เสมอ
๖๘ กลับร้อยเอ็ด ไปจำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัน
หลวงปู่เพ็ง ย้ายไปพำนักที่จังหวัดร้อยเอ็ด บ้านเกิด ราวๆ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐
ที่ต้องใช้คำว่า “ราวๆ ” เพราะผู้เขียนไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจน เนื่องจากในระยะหลังๆ นี้ หลวงปู่มีลูกศิษย์ลูกหามากขึ้น มีผู้นิมนต์ท่านไปพักที่บ้านหรือที่สำนักต่างๆ มากขึ้น การมาพักที่บ้านของผู้เขียนจึงห่างๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ท่านมาพักที่ร้อยเอ็ด นานๆ จึงจะมีโอกาสไปพักค้างคืนสักวันสองวัน ส่วนใหญ่เมื่อท่านเข้ากรุงเทพฯ เพียงแต่โทรศัพท์ส่งข่าวไปที่บ้านแล้วบอกว่า “มาเที่ยวนี้บ่ได้ไปบ้านเด้อ” ท่านก็บอกว่าคนนั้นคนนี้นิมนต์ไป
หลวงปู่มาร้อยเอ็ดครั้งแรก ได้จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัน ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมือง อยู่ใกล้ๆ สนามกีฬาของจังหวัด หลวงปู่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ทราบว่ามีพระอยู่จำพรรษาด้วยหลายองค์ ส่วนหนึ่งเป็นลูกศิษย์ติดตามมาจากเชียงราย
ที่วัดป่าศรีไพรวันแห่งนี้ หลวงปู่เคยเป็นเจ้าอาวาสมาก่อน หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ บิดาของท่านก็เคยพำนักอยู่ที่วัดนี้ ครูบาอาจารย์สายกรรมฐานองค์สำคัญๆ ที่เคยมาพำนัก ก็มี หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ศิษย์มือขวาของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต มีหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่คำดี ปภาโส เป็นต้น แม้แต่หลวงพ่อสมชาย ฐิตวิริโย แห่งวัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี ก็เคยเป็นเณรพำนักอยู่กับหลวงปู่ที่วัดนี้
ดังนั้นวัดป่าศรีไพรวัน จึงเป็นวัดธรรมยุติที่สำคัญวัดหนึ่งของจังหวัด ร้อย เอ็ด
๖๙ ได้รับการต่อต้านที่รุนแรง
ผู้เขียนต้องขอสารภาพก่อน ว่าข้อมูลและเรื่องราวต่างๆ ในช่วงที่หลวงปู่มาอยู่จังหวัดร้อยเอ็ดนี้ ส่วนใหญ่ผู้เขียนไม่ได้พบเห็นด้วยตนเอง เพียงได้รับฟังต่อมาอีกทีหนึ่ง วัน เดือน ปี ที่เหตุการณ์เกิดก็ไม่ทราบชัดเจน เพียงแต่ประมาณเอา ดังนั้นข้อมูลอาจคลาดเคลื่อนไปบ้างในเรื่องรายละเอียด แต่สาระสำคัญไม่น่าจะผิดพลาด
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากส่วนใดผิดพลาดคลาดเคลื่อนทำให้ผู้ใดเสียหายทั้งๆ ที่ไม่เป็นจริง ก็ขออภัยด้วย ถ้าท่านผู้ใดรู้เห็นว่าความจริงเป็นอย่างไร โปรดช่วยชี้แนะผู้เขียนได้เสมอ ทั้งชื่อ-ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ก็มีชัดเจนอยู่แล้ว จะได้นำเสนอสิ่งที่ถูกต้องในโอกาสต่อไป
ความจริงเรื่องที่ไม่ดีต่างๆ นั้น ผู้เขียนไม่อยากนำเสนอให้เสียบรรยากาศเลย แต่เป็นบันทึกเรื่องราวชีวิตของหลวงปู่ จึงพยายามทำเรื่องราวต่างๆ ให้สมบูรณ์ที่สุด
ถ้าเรามองในแง่ของธรรมะ ก็ต้องบอกว่าเรื่องร้ายต่างๆ นั้นเกิดขึ้นเพราะวิบาก และถ้ามารหรือปัญหาไม่มี บารมีก็ไม่เกิด เรื่องราวต่างๆ จึงถือเป็นธรรมอุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดี
ผมได้ยินมาว่า เมื่อหลวงปู่มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัน ท่านประกาศชัดเจนว่า สุรายาเมา การพนัน อบายมุข ตลอดจนการบันเทิงสนุกสนานและมหรสพต่างๆ ท่านไม่ให้มีในวัด จะให้มีแต่กิจกรรมด้านธรรมะด้านงานบุญ ให้สมกับที่เป็นวัดป่า วัดวิปัสสนากรรมฐานอย่างแท้จริง
ถ้าพิจารณาโดยความเป็นธรรม ก็น่าจะโมทนาสาธุ เพราะเป็นเจตนาที่ตรง ที่ถูกต้อง ของการจัดกิจกรรมในวัด เพราะจัดเป็นแหล่งบุญมิใช่แหล่งบันเทิง หรืออบายมุข
แม้สิ่งที่หลวงปู่ตั้งใจทำเป็นสิ่งที่ถูก แต่ก็มีการต่อต้านจากคนบางกลุ่ม เห็นว่า หลวงปู่ ทำผิดประเพณีที่ทางวัดเคยปฏิบัติกันมา เวลามีงานวัด จำเป็นต้องมีงานบันเทิงรื่นเริงด้วย ไม่งั้นคงไม่มีคำว่า “งานวัด” เป็นแน่
ความขัดแย้งทางความคิดจึงเกิดขึ้น แต่ยังไม่มีการแสดงออกที่ชัดเจน
ในส่วนที่ผู้เขียนเกี่ยวข้องโดยตรง เกิดขึ้นเมื่อผู้เขียนพาคณะนำกฐินมาทอดเมื่อออกพรรษาในปีแรกที่หลวงปู่มาอยู่ พวกเราทอดกฐิน ๕ วัดในปีนั้น เรียงมาจากจังหวัดสุรินทร์ แล้วมาพักค้างคืนที่วัดป่าศรีไพรวัน พวกเราได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี
พวกเราพักนอนในกลดบนศาลาใหญ่ ไม่มีมหรสพหรือการบันเทิงใดๆ มีการสวดมนต์ทำวัตร ฟังธรรม ปฏิบัติสมาธิภาวนาใครเหนื่อยก็นอน เหมือนๆ กันกับที่เราปฏิบัติในที่อื่นๆ ไม่ว่าไปทอดกฐินผ้าป่าที่ไหนเราก็ปฏิบัติอย่างนี้
ตอนเช้า มีการทอดกฐิน ขอกราบเรียนว่าเจตนาของการทอดกฐินครั้งนั้นเพื่อนำเงินไปสร้างห้องสมุดประชาชนที่วัดเทิงเสาหิน อ.เทิง จ.เชียงราย ที่คณะเราร่วมหาหุนก่อสร้างร่วมกับหลวงปู่ งานยังไม่เสร็จเรียบร้อยดีหลวงปู่ก็ย้ายมาร้อยเอ็ด พวกเราไม่ชอบให้มีการก่อสร้างที่ค้างคาอยู่ จึงตามมาทอดกฐินกับหลวงปู่
ผมประกาศเจตนานี้ชัดเจนต่อหน้าประชาชนที่มาร่วมทอดกฐินในวันนั้น พวกเราจัดการแบ่งเงินส่วนหนึ่งถวายเป็นค่าใช้จ่ายที่ทางวัดต้องใช้เพื่องานนี้ ผมจำไม่ได้แน่ชัด คงประมาณ ๑ หมื่นบาท ราวๆ นั้น แต่เงินส่วนใหญ่เกินแสนบาท ผมแจ้งแต่ตัวเลข ส่วนเงินนั้นผมโอนไปเข้าบัญชีวัดเทิง มีการแจ้งตัวเลขชัดเจน ทุกคนรับรู้ร่วมกัน และได้ให้สัญญาว่าปีหน้าคณะเราจะมาทอดกฐินเพื่อทำนุบำรุงวัดป่าศรีไพรวันโดยตรง และอาจต่อเนื่องหลายปีถ้าหลวงปู่อยู่
เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดเป็นประเด็นยกขึ้นโจมตีหลวงปู่ กล่าวหาว่าท่านยักยอกเงินกฐิน และเงินอื่นๆ ของวัด ทราบว่าที่วัดเองมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ยกพวกมาประท้วงใช้เครื่องกระจายเสียงขับไล่หลวงปู่ และได้ข่าวว่าหลวงปู่ท่านนั่งหลับตาฟังเขาด่าอยู่บนศาลา
ทางผู้เขียนได้รับหนังสือโจมตีหลวงปู่ ซึ่งพิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ใบปลิวนั้นส่งไปตามวัดและชมรมปฏิบัติธรรมต่างๆ เห็นเขาว่าทั่วประเทศ รวมทั้งที่กรมการศาสนาด้วย
ต่อจากนั้น กระบวนการใบปลิวพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ก็มีการกล่าวหาหลวงปู่อย่างต่อเนื่อง คนที่เชื่อใบปลิวก็น่าจะมี ในส่วนของผู้เขียนเพียงแต่อ่าน แล้วก็ทิ้งไป ไม่มีความรู้สึกอะไรทั้งนั้น ถ้าหลวงปู่ผิดจริง ท่านก็แก้เอง แต่ถ้าท่านบริสุทธิ์พวกที่กล่าวหาก็ต้องได้รับผลที่ตนเองทำ
ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จากรองอธิบดีกรมการศาสนาซึ่งไม่ได้ใส่ใจรู้ว่าท่านผู้นั้นชื่ออะไร ให้เลขาท่านโทรไปก่อน แล้วตัวท่านรองอธิบดีก็ซักถามผมโดยตรง เกี่ยวกับเรื่องเงินกฐิน ผู้เขียนก็กราบเรียนตามที่เขียนข้างต้น ยืนยันว่าเจตนาเพื่อนำเงินไปสร้างห้องสมุดประชาชนที่จังหวัดเชียงรายที่ยังคั่งค้างอยู่ และสัญญากับที่วัดว่าปีหน้าจะนำกฐินมาทอดอีก เพื่อบำรุงวัดป่าศรีไพรวันโดยตรง
ท่านรองอธิบดีฯ ท่านนั้นบอกว่า “ถ้าอาจารย์ยืนยันเช่นนั้นเรื่องข้อกล่าวหานี้ก็เป็นอันยุติได้ ผมคงไม่ต้องสอบอะไรอีก”
๗๐ หลวงปู่ถูกถอดจากตำแหน่งเจ้าอาวาส
ผู้เขียนยังได้รับใบปลิวพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์เป็นระยะๆ เข้าใจว่าที่อื่นๆ ก็คงได้รับเช่นกัน ประเด็นโจมตีมีต่างๆ นานา ข้อหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีบ่อยขึ้น ถ้อยคำก็ยิ่งหยาบคายมากขึ้น ใช้คำแทนหลวงปู่ ว่า “ไอ้…” หรือ “บัก…” หรือ “มัน”
ข้อกล่าวหามีต่างๆ นานา นับตั้งแต่ได้เสียกับแม่ชี เป็นชู้กับเมียคนอื่น ยักยอกทรัพย์ หลอกลวงโลก ฯลฯ ผู้เขียนไม่เคยใส่ใจ ขอบคุณที่เขาส่งไปให้ ทำให้เราได้รู้ข่าวความเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ อ่านแล้วก็ฉีกทิ้งทุกฉบับ
พวกเราไม่ได้ยื่นมือมาช่วยหลวงปู่ใดๆ ทั้งสิ้น หลวงปู่ก็ไม่เคยพูดให้ฟัง ผู้เขียนทราบเรื่องจากใบปลิวคอมพิวเตอร์ และจากปากคำของลูกศิษย์ลูกหาบางคนเท่านั้น
จริงอยู่ เรารัก เคารพ และ ศรัทธาหลวงปู่ แต่เราไม่สามารถรับประกันความบริสุทธิ์ของหลวงปู่แทนท่านได้ ท่านมีปัญหา เจอวิบากท่านก็ต้องแก้เอง เรื่องบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์นั้นเจ้าตัวย่อมรู้ดี ตามคำพระที่ว่า สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ ทั้งหลวงปู่ และฝ่ายผู้กล่าวหา น่าจะรู้แก่ใจตัวเองดี
ผลปรากฏว่า หลวงปู่ถูกถอดออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัน
หลวงปู่ ย้ายออกจากกุฏิเจ้าอาวาส ไปอยู่กุฏิพระลูกวัดทันทีไม่มีลังเล
เวลาพบหลวงปู่ ท่านว่า “เออดี ไม่ต้องยุ่งกับใครภาวนาได้เต็มที่ ค่าโทรศัพท์ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ และค่าใช้จ่ายในวัดก็ไม่ต้องรับภาระ”
ได้ข่าวว่าทั้งโทรศัพท์ ไฟฟ้า น้ำ ถูกตัดหมด เนื่องจากวัดเป็นหนี้ และไม่มีใครรับผิดชอบ ท่านผู้รักษาการเจ้าอาวาสก็อยู่วัดอื่น
ผมไม่ทราบว่าทางวัดแก้ปัญหาอย่างไร ไม่ได้ติดตามถาม
ลูกศิษย์บางคนขอนิมนต์หลวงปู่ไปอยู่ที่อื่นรวมทั้งทางเชียงราย ก็ขอนิมนต์ท่านกลับคืน และวัดไทยที่ออสเตรเลียก็นิมนต์ท่านไปจำพรรษาที่นั่นด้วย
ที่ออสเตรเลียทราบว่าหลวงปู่ ไม่ผ่านการตรวจโรค เนื่องจากน้ำหนักน้อย อาจทนความหนาวไม่ไหว วีซ่าจึงไม่ผ่าน ลูกศิษย์จะหาทางให้แต่ท่านไม่ยอม
หลวงปู่ปฏิเสธไม่ยอมย้ายไปไหน ถ้าปัญหาที่เกิดตรงนั้นยังแก้ไม่จบ
ท่านว่าอยู่ตรงนั้น เป็นพระลูกวัดสบายดี ไฟไม่มี น้ำไม่มี โทรศัพท์ไม่มี ไม่เดือดร้อน ออกธุดงค์ลำบากกว่านี่หลายร้อยเท่า
หมายเหตุ: คำสั่งถอดถอนหลวงปู่ออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสก็ถูกส่งสำเนาแจกไปทั่วเหมือนกัน
๗๑ ถูกตำรวจออกหมายจับ
ช่วงนี้ผู้เขียนไม่ค่อยได้ติดต่อหลวงปู่เพราะท่านไม่มีโทรศัพท์และลูกศิษย์ลูกหารายอื่นรับท่านไปพักบ้านเวลาท่านเข้ากรุงเทพฯ นานๆ หลวงปู่จะโทษไปส่งข่าวพวกเราที่บอกเพียงว่า “หลวงปู่มากรุงเทพฯ บ่ได้ไปบ้านเด้อ สบายดีกันทุกคนเนาะ”
ไม่ทราบว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร ทราบแต่ว่าหลวงปู่ย้ายไปอยู่วัดอรุณวิเวกธรรมาราม (วัดป่าบ้านแจ้ง) ตำบลและอำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด และหลวงปู่สุขภาพดี เป็นวัดเล็กๆ อยู่ริมลำน้ำ สถานที่ สงบ ภาวนาดี (เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๔ พวกเราเอากฐินไปทอดที่วัดนี้ รถบัสของเรา ๑ คัน ติดหล่มในวัดอยู่ตั้งหลายชั่วโมง)
ใบปลิวเที่ยวนี้มาแปลก เป็นหมายจับจากตำรวจข้อหาหลวงปู่เพ็งยักยอกรถของวัดป่าศรีไพรวัน และตำรวจไปยึดรถจากวัดป่าบ้านแจ้งไปไว้ที่โรงพัก
หมายจับเป็นของจริง รถถูกยึดไปไว้โรงพักจริง ตำรวจไปที่วัดจะจับหลวงปู่จริง
หลวงปู่ ยินยอมให้จับ บอกตำรวจว่า “พวกสูอยากจับก็จับไป อาตมาจะเอากลดไปปักที่หน้าโรงพักเอาให้ดังไปเลย” แต่ตำรวจก็ไม่จับ
ผู้เขียนได้ข่าวว่าภายหลังตำรวจต้องไปขอขมาหลวงปู่ ซึ่งท่านก็อโหสิกรรมให้ จบเรื่องกันไป
เกี่ยวกับเรื่องรถนั้น คุณยายท่านหนึ่งในร้อยเอ็ดได้ถวายรถเก่าให้หลวงปู่ไว้ใช้ตอนที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัน ทางลูกศิษย์หลวงปู่ก็ไปทำสติกเกอร์ชื่อวัดติดที่ตัวรถ ตามแบบที่วัดทั้งหลายนิยมกัน พอหลวงปู่ท่านย้ายไปอยู่วัดป่าบ้านแจ้ง รถคันนี้ก็ตามไปอยู่กับท่านด้วย สติกเกอร์ชื่อวัดป่าศรีไพรวัน ก็ยังติดอยู่ที่ตัวรถ
มีผู้แจ้งความ แล้วตำรวจตามไปยึดรถตามที่มีผู้แจ้ง คงไม่เจอรถกับไม่พบหลวงปู่ จึงออกหมายจับหลวงปู่ด้วยข้อหายักยอกรถของวัดดังกล่าว
หมายจับก็ถูกถ่ายสำเนาส่งไปตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศเช่นเคย
ทุกอย่างเข้าล็อกหมด หลายๆ คนแคลงใจสอบถามไปทางผู้เขียน ผู้เขียนก็ตอบได้เพียงคำว่า “ไม่ทราบ” เท่านั้น เพราะไม่ได้อยู่และไม่ได้เห็นเหตุการณ์
ข่าวที่ได้ภายหลัง ทราบว่าเจ้าของผู้ที่ถวายรถยืนยันว่า “ถวายไว้ให้หลวงปู่ใช้ เพราะศรัทธาหลวงปู่ ท่านจะเอาไปใช้ที่ไหนก็ได้”
ทั้งหมดนี้เป็นข่าวที่ผู้เขียนได้รับรู้มา จริงเท็จอย่างไรไม่ยืนยัน
เมื่อวันที่ผู้เขียนมาส่งศพหลวงปู่ที่วัดป่าสามัคคีธรรม ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ก็มีโยมจากรุงเทพฯ ท่านหนึ่ง ฝากเงินกับผู้เขียนมาหมื่นกว่าบาท บอกว่าให้ทางวัดเปลี่ยนยางล้อรถทั้ง ๔ ล้อ จะได้ไว้ใช้ในงานของหลวงปู่ ไม่ทราบว่าเป็นรถคันนั้นหรือเปล่า ?
๗๒ เขาว่าหลวงปู่ให้หวยแม่น
เขียนเรื่องหนักๆ มา ๒-๓ ตอน ขอเปลี่ยนเป็นเรื่องเบาๆ บ้าง
เรื่องเกิดมาหลายปีแล้ว ตอนสมัยที่ท่านหลวงตาจันทร์ วัดป่าชัยรังสี จังหวัดสมุทรสาคร กำลังดังอยู่
หลวงปู่เพ็ง ท่านไปพักที่บ้านผม โปรดญาติโยมตามปกติ ที่ท่านเข้ากรุงเทพฯ การสวดมนต์ทำวัตรและนั่งสมาธิภาวนาในคืนนั้นเสร็จแล้ว หลวงปู่ กับพระติดตามขึ้นห้องพักแล้ว แขกที่มาแยกย้ายกันกลับหมดแล้ว ผมนั่งทำงานของผมอยู่
เวลาคงราวๆ ๔ ทุ่ม เสียงโทรศัพท์ก็ดัง มีเสียงผู้ชายพูดสำเนียงออกจีน ถามว่า
“หลวงปู่เพ็ง พักที่บ้านอาจารย์ใช่ไหม?..หลวงปู่เป็นอาจารย์ผม แต่ผมยังไม่เคยพบหน้าท่านเลย ท่านให้หวยแม่นมาก ผมตามหาท่านมา ๓ ปีแล้ว !”
ผม (ผู้เขียน) งงมาก ถามกลับไป
“คุณไม่เคยพบหลวงปู่เลย ทำไมจึงบอกว่าเป็นอาจารย์ของคุณ และทำไมจึงว่าท่านให้หวยแม่น?”
คำตอบที่ได้คือ “ผมฝันเห็นท่านบ่อย ฝันเห็นทีไรถูกหวยทุกที ผมจึงนับถือท่านเป็นอาจารย์”
แล้วเขาก็แนะนำตัว ว่าเขาเป็นคนสิงคโปร์ มาได้เมียคนไทยเป็นเจ้าของบริษัทค้าวัตถุโบราณ เขาชอบแทงหวยใต้ดินมาก เขาเป็นนักเล่นหวยมืออาชีพด้วย
ผมขอคำอธิบาย เขาก็เล่าว่า เขาหย่ากับเมีย กลางคืนอยู่คนเดียว ก็มาคิดสูตรหาตัวเลขเด็ดทุกคืน เขาไม่มีปัญหาเรื่องการเงินลูก-เมียไม่มี จึงซื้อหวยได้เต็มที่ ถ้าได้เลขเด็ดๆ เลขละล้านบาทก็กล้าซื้อ ถูกผิดไม่สำคัญ ถ้าซื้อมากก็ได้ลุ้นสนุกในวันหวยออก !
แล้วเขาก็ขอมากราบหลวงปู่ที่บ้านผม เย็นวันรุ่งขึ้น เขามาตามนัด เขารู้ว่าหลวงปู่ท่านคุ้นเคยกับหลวงตาจันทร์ จึงขอให้ท่านพาไปกราบ ผมไปด้วย นั่งรถของเขาไป
ไปถึงวัดเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม ท่านหลวงตาอยู่กุฏิชั้นใน เคี้ยวหมากปากแดงแจ๋ มีโยมทั้งชายหญิงดูท่าทางระดับ วี.ไอ.พี. ๗-๘ คน นั่งข้างหน้าหลวงตาเรียงกันเป็นรูปครึ่งวงกลม หลวงตาถือแบบแปลนก่อสร้างอยู่
หลวงตาท่านพูดถึงงานก่อสร้างของท่านสลับกับถามโยมที่มาว่าต้องการอะไร จะให้ท่านช่วยอะไร ใครที่ถูกชี้ก็บอกความต้องการของตนไป
ช่วงที่ผมตื่นเต้นและขัดเคืองใจที่สุดก็ตอนที่หลวงตาท่านทักไอ้เจ้านักเล่นหวยมืออาชีพที่ไปกับเราว่า
“เอ้าโยม มากับหลวงพ่อ กับดอกเตอร์หรือ มีอะไรจะให้ช่วยว่ามา”
เจ้าหมอนักเล่นหวยคุกเข่าประนมมือ พูดเสียงดังฟังชัดด้วยประโยคสั้นๆ ว่า
“ผมมาขอหวยครับ”
ทุกคนมองเจ้าหมอนั่นด้วยแววตาตำหนิว่าไม่รู้จักกาลเทศะ
หลวงปู่ หัวเราะหึๆ ในลำคอ ผมรู้สึกขัดเคืองใจ และอายแขกเหล่านั้นมาก
ท่านหลวงตายกมือแบไปข้างหน้าในเชิงปฏิเสธแล้วพูดเสียงดังกึ่งตกใจว่า
“เฮ้ยไม่มี ถ้ามีก็ซื้อเองแล้ว”
เจ้าหมอนั่นแสดงอาการตื่นเต้นดีใจ ก้มกราบหลวงตาอย่างซาบซึ้ง พูดว่า
“ขอบพระคุณมาก ผมกราบลาท่านแล้วครับ”
มันชวนพวกเรากลับ ผมต้องยอมกราบลาหลวงตากึ่งงง กึ่งไม่พอใจ เดินตามมันออกมา หมายจะต่อว่ามันให้สมแค้น หลวงปู่ท่านสีหน้าปกติหัวเราะในลำคอ หึๆ แค่นั้นเอง
พอออกถึงข้างนอก ไอ้หมอนั่นมันชิงพูดก่อน ดูท่าทางชื่นชมหลวงตาเหลือเกิน มันบอกว่า
“หลวงตานี่ใจนักเลงจริงๆ เมตตาสูง ผมขอเลขปั๊บ ท่านก็ให้ปุ๊บเลย ผมศรัทธาท่านจริงๆ“
ผมนอกจากแค้น และอายแล้ว แถมงงเข้าไปอีก ! จนพูดออกกู-มึง อย่างจงใจว่า
“ท่านให้ตัวเลขมึงเมื่อไหร่วะ กูเห็นแต่ท่านดุมึง !”
มันพูดอย่างอารมณ์ดี แถมดูถูกเราด้วยว่า
“อาจารย์ไม่สังเกต ท่านบอกว่าที่นี่มี คือ เลขศูนย์ ท่านกางฝ่ามือมาข้างหน้า เหยียดนิ้วออกคือ เลขห้า ตัวท่านเองเป็นพระที่ยังหนุ่มต้องเลขแปด ถ้าเป็นพระแก่ต้องเลขเก้า
เอากับมันซิ ! สมกับเป็นนักเล่นหวยมืออาชีพจริงๆ แม่นหรือไม่แม่นผมมิได้สนใจติดตาม
เจ้าหมอนั่นขับรถมาส่งผมที่บ้าน นิมนต์หลวงปู่ไปค้างที่บ้านของมันแถวถนนสุรวงศ์ หลวงปู่คุยอะไรกับมัน หรือให้เลขหวยมันหรือไม่ผมไม่มีทางรู้ได้
หลังจากที่หลวงปู่ท่านกลับวัดไปแล้วได้สัก ๔-๕ วัน เจ้าหมอนักเล่นหวยก็โทรไปหาผม รายงานว่า
“หลวงปู่ ท่านสอนผมหลายอย่างที่มีคุณค่าที่สุดคือ ท่านบอกว่า ผมเป็นคนโชคดีและมีบุญที่เป็นคนร่ำรวยเป็นโอกาสดีที่จะได้ใช้ความรวยสร้างบุญให้มากขึ้น ท่านสอนให้ผมรู้จักทำบุญ และฝึกให้ผมนั่งสมาธิ ผมไม่เคยทำแบบนี้มาก่อนเลย ใจสงบและเป็นสุขดีมาก”
ถัดจากนั้นอีก ๒ เดือน มันโทรไปหาผมอีกครั้งเล่าเรื่องไปทำบุญ และบอกว่าเดี๋ยวนี้มันไปนั่งสมาธิที่วัดหลวงพ่อสด ที่อำเภอดำเนินสะดวก ราชบุรี-สาธุ
เรื่องหวยมันบอกว่าเลิกเล่นตั้งแต่วันที่หลวงปู่ไปค้างที่บ้านมัน จากนั้นมันและผมไม่เคยติดต่อกันอีกเลย
ถ้าเจอมัน ผมจะถามให้หายสงสัยว่า ไอ้เลข ๐๕๘ งวดนั้นมันได้กิน หรือถูกกิน?
จนบัดนี้ผมก็ยังไม่หายงง !
๗๓ เล่าเรื่องหวยอีกที
ไหนๆ พูดเรื่องหวยแล้ว ขออนุญาตพูดถึงอีกสักตอนก็แล้วกันกับขออนุญาตหลวงปู่ด้วยครับ
เรื่องหวยทั้งเถื่อนและไม่เถื่อนดูจะเป็นเรื่องธรรมดาในวิถีชีวิตของคนไทย (ไม่ใช่ทุกคน) และมักจะไม่พ้นมีพระสงฆ์มามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ในฐานะเป็น “ที่ปรึกษา”
ตัวอย่างเช่น หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด นครราชสีมา มีข่าวว่าคนชอบไปขอหวยท่านเหมือนกัน ราวกับท่านรู้ล่วงหน้า เขียนใส่กระดาษไว้ให้เรียบร้อย เคาะหัวให้คนละโป็กตามธรรมเนียม กำชับว่า
“ให้พวกมึงไปเปิดดูเองที่บ้านเด้อ”
คำสั่งหลวงพ่อถือเป็นประกาศิต ไปเปิดดูที่บ้าน ท่านเขียนให้อย่างชัดเจนว่า
“กูก็ไม่รู้เหมือนกัน”
งวดนั้นคงจะมีคนถูกหวย รวยกันเละแน่นอน !
เรื่องของหลวงปู่เพ็งก็มีเหมือนกัน สามารถระบุอ้างอิงพยานบุคคลได้ด้วย แต่ข่าวไม่ดังเหมือนหลวงพ่อคูณ
สัก ๔-๕ ปีมาแล้ว หลวงปู่ ได้รับนิมนต์ไปเทศน์ที่โรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง อยู่ย่านบางกะปิ เทศน์ให้ครูฟังและขอให้หลวงปู่ทำน้ำมนต์ ประพรมเพื่อเป็นศิริมงคลด้วย มีคนขอดูบาตรน้ำมนต์หลวงปู่ ข่าวว่าพวกเขาเห็นหยดเทียนไข เรียงตัวเป็นตัวเลขฝรั่งสองหลัก แล้วมีข่าวต่อไปว่า
“ครูถูกหวยงวดนั้นแทบทั้งโรงเรียน”
เท่านั้นยังไม่พอ ที่บ้านของผม ก็เคยขอให้หลวงปู่ประพรมน้ำมนต์ให้ ท่านก็ลงมือบริกรรม ทำน้ำมนต์ให้ในเวลานั้น ผมเองนึกสนุกขึ้นมา กระเซ้า คุณป้าเลียบ ว่าไม่ขอดูหยดน้ำตาเทียนในบาตรหรือ? คุณป้าเลียบก็กะย่องกะแย่งลุกขึ้นดู ผมเองก็พูดเล่นๆ ว่า
“เห็น ๓๕ ใช่ไหมป้า?”
เหลือเชื่อครับ งวดนั้นออก ๓๕ บนหรือล่างก็ไม่ได้ใส่ใจจำ รู้แต่ว่าบางคนถูกหวย และไม่พลาดไปจากคุณป้าเลียบ แฟนประจำ
คนไหนคือป้าเลียบเชิญดูเอาเอง
ขออภัยที่ยกตัวอย่างคุณป้าเลียบมาเป็นพยานบุคคล ไหนๆ ยกขึ้นมาแล้วก็ “เผา” ให้เรียบร้อยเลยด้วยความรักคุณป้าเลียบ เป็นอย่างยิ่ง
คุณป้าเลียบท่านซื้อหวยบ้างนิดๆ หน่อยๆ ตามประสาคนใจบุญ ถือเป็นการช่วยเหลือรัฐบาล และส่งเสียเงินทองช่วยให้เจ้ามือหวยได้ประกอบกิจการได้
คุณป้าเลียบมีดวงสมพงษ์กับหลวงปู่ของเราพอสมควรในเรื่องหวย แกก็ถูกของแกเรื่อยทั้งปีโดยเฉพาะเวลาเจอหลวงปู่ ไม่ว่าจะในฝัน หรือเจอองค์จริง คุณป้าแกมักโชคดี พอได้ถือเงินแก้อาการมือคันไม้ได้บ้าง
เช่น คุณป้าเลียบ ถามว่า “หลวงปู่อายุเท่าไรเจ้าคะ ?
หลวงปู่หัวเราะหึๆ ตามแบบของท่าน
“โอย…อายุเท่าไรไม่สำคัญหรอก ว่าจะอยู่สัก ๒๐๐ ปี”
เท่านั้นเองได้เรื่อง เย็นหลังวันหวยออก คุณป้าเลียบ ท่านกะย่องกะแย่งหิ้วถุงเป็ดพะโล้น่ากินมาให้พวกเรา พวกเรามัวแต่งงกับรสชาติอร่อยของเป็ดและลืมถามคุณป้าแกว่า
“เอาเป็ดมาให้เราในโอกาสอะไร?”
ขอยกหลักฐานมา “เผา” คุณป้าเลียบ ต่อ
คุณป้าเลียบ ท่านไปทอดกฐิน-ทอดผ้าป่ากับพวกเราเป็นประจำ แล้วก็สนใจยอดเงินทำบุญอย่างมาก ขากลับพวกเราได้เป็ดพะโล้กินบ่อยๆ กลับจากทอดกฐินที่วัดหลวงปู่ที่เพียงราย เราก็ได้กินเป็ดพะโล้อีก
ทนไม่ได้ ต้องถาม ! คุณป้าเลียบ บอกว่า
“ก็ถูกหวยนิดหน่อย”
มีคนถามว่า “บน หรือล่าง?”
คุณป้าตอบว่า “บนซิ..เพราะอาจารย์ประกาศยอดเงินทำบุญบนรถ ! ! !”
ยังอีกครับท่าน-หลวงปู่ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ อายุท่านย่างเข้าปีที่ ๘๘
หวยงวดวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ออก ๐๘๘ บนหรือล่าง ผมสารภาพว่าโง่มากในเรื่องนี้
สิ่งที่ค้างคาใจผมอยู่ คือ ในงวดนั้นคุณป้าเลียบยังติดค้างเปิดพะโล้ผมอยู่นะครับ
หมายเหตุ: กราบขออภัยคุณป้าเลียบด้วย ถ้าหากเรื่องนี้ทำให้ป้ากลายเป็นดาราโด่งดังไป ผมช่วยไม่ได้จริงๆ
พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๖ จบ)