สังเขปประวัติพระภิกษุสงฆ์

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๔)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม วัดป่าสามัคคีธรรม อำเภอเมือง ร้อยเอ็ด จาก หนังสือที่ระลึกงานฉลองเจดีย์พิพิธภัณฑ์สองหลวงปู่ วัดป่าสามัคคีธรรม อำเภอเมือง ร้อยเอ็ด รศ.ดร.ปฐม เรียบเรียงโดย ภัทรา นิคมานนท์

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๑)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๒)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๓)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม
พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม

๓๒ สอนเรื่องจิต เอาจิตอย่างเดียว

หลวงปู่เพ็งท่านย้อนระลึกลงที่เคยสอนญาติโยมในอดีต (และสืบเนื่องมาจนปัจจุบันด้วย) ดังนี้

“ในระยะที่อาตมาออกโปรดญาติโยม ส่วนมากอาตมาสอนเรื่องจิต เอาจิตอย่างเดียว ขอให้ สติ เราดีเถิด จิตนี้หมายถึงความระลึกรู้ ทางดีก็รู้ ทางชั่วก็รู้ ความระลึกรู้นี้ท่านเรียกว่า จิต สิ่งอื่นต่างๆ ไม่เอามาเป็นอารมณ์ สิ่งใดก็ตาม ถ้าเข้ามารบกวนจิตใจต้องปล่อยทิ้งให้หมด ภาวนาไปเอาตัวรู้ไว้กับเราอย่างต่อเนื่อง

จิต หรือ วิญญาณ ก็เป็นอันเดียวกัน เมื่อตาเห็นรูป รู้ดีรู้ชั่ว รู้สวยรู้ไม่สวย รัก-ไม่รัก สิ่งเหล่านี้มันลงมารวมที่จิต

หู ได้ยินเสียงก็เหมือนกัน จมูกได้กลิ่นก็เหมือนกัน ลิ้นได้ลิ้มรสก็เหมือนกัน กาย ถูกสัมผัสก็เช่นเดียวกัน

สิ่งที่ต่อเนื่องมาจากประสาทสัมผัสทั้งหลายเหล่านี้ เรียกว่าวิญญาณ มันจะต่อเนื่องมาถึงใจ จึงเป็นเหตุพอใจ กับไม่พอใจเกิดขึ้น และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นอาการของจิต ท่านจึงให้มีสติระลึกรู้ในอาการเคลื่อนไหวของจิต

จิตเคลื่อนไหวไปต่อเนื่องกับอารมณ์ หรือสิ่งที่มากระทบการพิจารณาอย่างนี้แหละเรียกว่า จิตตานุปัสสนา เพราะเราตามรู้จิตที่เคลื่อนไหว มีสติรู้ตาม

นี่เป็นบางส่วนที่อาตมาสอนญาติโยมในขณะนั้น”

๓๓ พ้นวิบากกรรม คิดบวชเป็นครั้งที่สอง

หลวงปู่บัว สิริปุณฺโน

วัดราษฎรสงเคราะห์

อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

มีเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้หลวงปู่กลับเข้ามาบวชอีกครั้งเป็นครั้งที่สอง ดังนี้

“อาตมาพ้นวิบากกรรม ตัดขาดโลกภายนอกได้และคิดบวชเป็นครั้งที่ ๒ สาเหตุมีอยู่ว่า อาตมาสึกออกมาทำกิจการส่วนตัว มีโรงสีข้าว ๓ โรง รับ ซื้อข้าวเปลือก ออกหาข้าวเปลือกมาสีนะ งานนี้เหนื่อยไม่เบาเลย ทำการค้าอีกหลายอย่างในเวลานั้นนะ

มีอยู่ครั้งหนึ่ง อาตมาไปโน่น…ข้ามไปลาว ความจริงต้องการไปติดต่อซื้อของเมืองเวียงจันทน์ ไปเห็นสภาพของการทำมาหากินแล้วโอย มันโกลาหลวุ่นวายเหลือกำลัง พวกเฒ่าๆ แก่ๆ นี่นะ ไม่มีอะไรเลยปล่อยชีวิตขาดทุนทุกวันๆ เขาได้เงินทองมาก็เข้าโรงเหล้า เข้าบาร์กัน มั่วสุมอยู่กับโลกีย์วิสัย มีครบนะความชั่วทั้งปวง เหล้า กัญชา เฮโรอีน ยาฝิ่น เป็นอยู่อย่างนี้ทุกวันไปเลย

มิหนำซ้ำ ลูกสาวเพื่อน เขาไปได้สามีอยู่ฝั่งลาว แล้วสามีของเขาไปติดคุกเสีย พออาตมาข้ามไป คิดดูเถิด ทั้งๆ ที่อาตมามีอายุเท่าพ่อของมัน อีกอย่างหนึ่งพ่อของมันก็เป็นเพื่อนของอาตมาด้วย มันยังจะมาเอาอาตมาไปเป็นผัวมัน อาตมาคิดในใจว่า โอ…มันจะลากคอเราลงนรกด้วยนี่

อาตมาก็หนีเลย ข้ามฝั่งกลับไปอยู่เมืองพ่อเมืองแม่เราจะดีกว่าแล้วเข้าไปหาหลวงปู่ของอาตมา (หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ) ท่านบวชแล้วนะ ตอนนั้น พอไปถึงก็ได้ฟังเทศน์ท่าน อาตมาก็ตั้งใจภาวนา ทบทวนธรรมที่เราเคยทอดทิ้งไป กิเลสนี่สำคัญนะ มันคอยหลอกล่อเราตลอดเวลา ๓ วัน ๓ คืน สู้กันให้สมใจกับความพ่ายแพ้มาแล้วครั้งหนึ่ง”

๓๔ วันตัดสินใจบวชก็มาถึง

หลวงปู่เพ็งนั่งภาวนาตัดสินใจอยู่ใต้กุฏิหลวงปู่บัว ๓ วัน ๓ คืน

“พอภาวนาไปๆ ก็มีทั้งพระทั้งเณรมาถามว่า นี่จะบวชอีกไหม อาตมาตอบว่า ต้องภาวนาเป็นเสียก่อนถ้าภาวนาเป็นก็จะบวช ถ้าภาวนาไม่เป็นก็จะไม่บวช อาตมาสู้กับมันอย่างไม่ยอมหลับยอมนอนเลย

อยู่ๆ ไปจิตใจมันโล่ง..โพลงอยู่อย่างนั้น ง่วงเหงาก็ไม่มี ไม่เอาหลังแตะพื้นกระดานเลย นั่งเมื่อยก็เดินจงกรม เพราะอาตมาก็เคยปฏิบัติมาก่อน อะไรๆ ก็รู้ ฉะนั้น ถ้ากิเลสมันลุกขึ้นมาอีกก็ขอยอมตาย

มันเอาเราออกจากผ้าเหลืองมาแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งนี้จะขอห่มผ้าเหลืองอีกเป็นครั้งสุดท้าย พอกันทีกิเลสเอ๋ย”

ในช่วงนั้นหลวงปู่ก็ยังทำงานอาชีพและทำหน้าที่พ่อบ้านอยู่

พอดีวันตัดใจมาถึง หลวงปู่เล่าว่า

“วันนั้นอาตมาแบกของหนัก แบกขึ้นรถ เพราะจะให้คนอื่นทำ คิดว่าไม่ดีเท่าเราทำเอง อาตมาแบกของจนเป็นลมล้มพับไป มันเป็นบทเรียนอันมีค่า เลยคิดว่า นี่ถ้าเราเป็นพระ เดินจงกรมล้มพับตายไปในขณะปฏิบัติ ก็คงได้ไปเกิดบนสวรรค์แล้ว นี่อะไรกัน”

หลวงปู่เพ็งปฏิบัติภาวนาในเพศฆราวาสติดต่อกัน ๓ เดือนเต็ม

“พอดีวันหนึ่ง อาตมาเข้าไปภาวนาใต้กุฏิหลวงปู่ (หลวงปู่บัว) จนแจ้ง พอลืมตาขึ้นมา อาตมาตัดสินใจเลย เอาละ วันนี้เราจะบวชเสียที”

เมื่อตัดสินใจแล้ว ท่านก็เดินขึ้นไปบนกุฏิหลวงปู่บัว

หลวงปู่บัวถามว่า “จะบวชหรือ”

หลวงปู่เพ็ง ตอบอย่างหนักแน่นว่า “บวชๆๆ”

หลวงปู่บัวยังไม่แน่ใจกับคำพูดของลูกชาย จึงขอให้หลวงปู่คำดี ปภาโส ซึ่งอยู่ที่นั้นด้วยถามอีกครั้ง ท่านถามว่า

“ว่าอย่างไรจะบวชจริงๆ หรือ ?”

หลวงปู่เพ็งตอบยืนยันว่า “บวช”

หลวงปู่ทั้งสององค์ถามว่า “แล้วการบวชจะทำอย่างไรล่ะ”

หลวงปู่เพ็งตอบว่า “แล้วแต่ครูบาอาจารย์จะเมตตาให้ เงินทองของกระผมไม่มี ไม่ได้เอาอะไรมาสักอย่างเดียวครับ”

หลวงปู่ทั้งสองท่านนิ่ง ไม่พูดอะไร

ท่านหลวงตามหาบัว แห่งวัดปาบ้านตาด ท่านพูดในเชิงตอกย้ำการตัดสินใจของหลวงปู่เพ็ง ในครั้งนั้นว่า

“อยากบวชให้กับคนที่ไม่สึกเท่านั้น”

ทีแรกหลวงปู่เพ็ง คิดจะไปบวชที่วัดหินหมากเป้งกับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี แต่หลวงปู่บัว ท่านเห็นว่าไปไกล จึงตัดสินใจให้บวชที่บ้านหนองบัวลำภู ที่ที่หลวงปู่บัว ท่านอยู่นั่นเอง

ต้องขออภัยที่ผู้เขียนมีเวลาน้อย จึงไม่ได้ค้นหาว่าท่านบวชเมื่อไร ที่ไหน อุปัชฌาย์ชื่ออะไร และก็ไม่เคยได้เรียนถามหลวงปู่ด้วย ช่วงที่เขียนก็หาหนังสือสุทธิของหลวงปู่ไม่พบ

๓๕ ตั้งใจแน่วแน่ ไม่ยอมพลาดอีก

ก่อนพิธีบวช และหลังจากการตัดสินใจว่าจะบวชแล้ว หลวงปู่เพ็ง ได้คิดถึงความผิดพลาดเมื่อการบวชครั้งก่อน

“อาตมาคิดเสียใจตนเอง และคิดว่า ความผิดพลาดเมื่อครั้งที่แล้วมันเป็นครู

มันน่าคิดว่า เราเคยบวชเรียนเป็นถึงอาจารย์แล้วต้องมาพลาดท่ากับเจ้ากิเลส เจ้าตัณหา เจ้าอุปาทานอย่างย่อยยับ อยู่ในที่สงบเยือกเย็นทำไมไม่ชอบ เมื่อไม่ชอบ ออกไปก็เป็นทุกข์

พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า โลกนี้เป็นอนิจจัง

โลกอยู่ที่ไหน ?

อ๋อ อยู่ในตัวเรา

มันเที่ยงไหม ?

ไม่เที่ยง เป็นทุกขัง

ทำไมจึงเป็นทุกข์ ?

เพราะสิ่งทั้งหลายไม่สามารถยืนยันอยู่ได้

ทำไมมันยืนยงอยู่ไม่ได้ล่ะ ?

มันเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีอะไรแน่นอนทั้งสิ้น

เราเรียนแล้ว ศึกษามามากแล้ว ทำไมไม่จดจำพระพุทธดำรัสบ้าง ทำไมเราต้องให้ตัวอวิชชาเข้าครอบงำจิตใจเรา

อาตมารำพึงในใจว่า “โอ้เราหนอ ต่อนี้ไปเราจะไม่ยอมพลาดท่าอีกต่อไป เราจะเรียนกรรมฐานอีก เราจะหาทางพ้นทุกข์อย่างเดียว ถึงแม้จะต้องตายเสียกลางทาง เกิดชาติใหม่ก็จะขอมุ่งตรงเดินต่อไป ไม่ยอมถอยหลังให้กับอะไรอีกแล้ว”

รูปภาพ

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

รูปภาพ

หลวงปู่ขาว อนาลโย

รูปภาพ

พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน

วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี

๓๖ ไปฟังเทศน์จากครูบาอาจารย์

ทราบแต่เพียงว่าหลวงปู่เพ็ง บวชครั้งที่สองในปี พ.ศ.๒๕๐๗ และสมณฉายาของท่านคือ พุทฺธธมฺโม หลวงปู่เล่าถึงการบวชครั้งที่สองว่า

“พอบวชแล้ว หลวงปู่บัว บิดาของอาตมาได้พาไปฟังเทศน์ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร (วัดป่าอุดมสมพร สกลนคร) และพาไปฟังเทศน์ หลวงปู่ขาว อนาลโย (วัดถ้ำกลองเพล หนองบัวลำภู)

เฉพาะพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน อาตมาไปฟังเทศน์ของท่านถึง ๒๓ วัน อาตมาได้รับธรรมะจากท่านมาก เรียกว่าเอามาใส่ใจหมดทีเดียว อาตมาช่วงนี้ ทำความเพียรได้เต็มที่ ในความรู้สึกของอาตมา“

หลวงปู่เพ็ง ท่านเคารพและศรัทธา ท่านหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด มาก ท่านพูดกับลูกศิษย์เสมอว่า “ถ้าอยากรู้ว่าหลวงปู่มั่นเป็นอย่างไร ก็ให้ดูได้จากพระอาจารย์มหาบัว วัดป่าบ้านตาด นี่แหละ”

๓๗ โดนหลวงปู่บัวเทศน์หนัก

หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณท่านเตือนพระลูกชายที่เพิ่งบวชครั้งที่สอง

“ทุกอย่างขอให้มีสติตัวเดียว ถ้ามีสติตัวเดียวแจ้งหมดโลก”

หลวงปู่เพ็ง ท่านว่าท่านเป็นคนดื้อ เรียนทางโลกก็มาก เรียนทางปริยัติธรรมก็มี เลยคิดสงสัยในคำของหลวงปู่บัว บิดาของท่านว่า “เอ๊ะ…หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ นี่ ธรรมะมีตั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ จะให้มีสติตัวเดียวนี้ แล้วมันจะแจ้งได้อย่างไรล่ะ ?”

หลวงปู่เพ็งนึกค้านในใจ แต่ไม่พูด นั่งสมาธิภาวนาจนสว่าง

หลวงปู่บัวถามว่า “เป็นอย่างไรล่ะภาวนา ?”

ท่านตอบบิดาของท่านว่า “มันเป็นอย่างนี้ครับ ที่หลวงปู่ว่า ถ้ามีสติตัวเดียวมันจะแจ้งหมดโลก แต่ของผมว่ามันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นหรอก”

หลวงปู่เพ็งท่านว่า ท่านพูดตรงไปตรงมา จิตรู้อย่างไรก็พูดอย่างนั้น เราเป็นผู้ภาวนา จิตก็เป็นของเรา เมื่อเรารู้อะไรก็ต้องพูดอย่างนั้น เอาตามความจริงที่จิตรู้

เมื่อหลวงปู่เพ็งพูดเช่นนั้น หลวงปู่บิดาของท่านก็เทศน์หนักเลยว่า

“เฮ้ย มันตัวเดียวนี้แหละ นั่งก็ให้มีสติ เดินก็ให้มีสติ ยืนนอนก็ให้มีสติ ให้สติแก่กล้าไปจริงๆ เถิด ทำให้มากๆ นั่งสมาธิเฉยๆ ถ้าไม่มีสติเป็นเครื่องระลึก แล้วปัญญาธรรมมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

มัวแต่เอาใจส่งส่ายไปที่อื่น ไปโน่น มานี่ แล้วปัญญาธรรมมันจะมีหรือ ธรรมะมิใช่ว่าเราจะเอามือไปคว้าได้จากอากาศนี่ ต้องให้มีสติซิทำจริงๆ เอ้า…ทำดู”

หลวงปู่เพ็ง เล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านโดนหลวงปู่ผู้บิดากระหนาบอย่างนั้นแล้ว : –

“อาตมาก็ได้ทำดูอย่างที่ท่านว่า พอภาวนาไปๆ มันเกิดตัวรู้ขึ้นมาทันทีว่า โอ…เรื่องทั้งหมดนี้มันมารวมกันที่ใจ ขอเพียงให้สติกำหนดรู้อย่าคลาดเคลื่อนเท่านั้น

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สิ่งทั้งหลายใจถึงก่อน สิ่งดีสิ่งชั่วมันมาอยู่ที่ใจหมด เมื่อมันมีสติ ก็จะกลั่นกรองว่า อันไหนดีอันไหนชั่ว สติมันเป็นเครื่องกรอง

จิตของอาตมาตอนนั้นมันลงได้ เกิดธรรมปีติขึ้นมาแน่นหนายิ่งขึ้นอีก”

๓๘ เกิดธรรมปีติเมื่อหลวงปู่คำดีทัก

เมื่อหลวงปู่เพ็ง กำหนดพิจารณาเรื่องสติ และรู้ว่าเป็นดังที่หลวงปู่ผู้บิดาของท่านว่าไว้จริงแล้ว หลวงปู่คำดี ปภาโส ก็มาทักอีกว่า

“เป็นไงละเพ็ง ภาวนาถึงไม่ลง ?”

หลวงปู่เพ็งเล่าว่า “อาตมาตอบว่า ลงแล้วครับ ขณะที่พูดกับท่าน จิตมันปุ๊บขึ้นมา คล้ายๆ กับสะอื้นหรือจะร้องไห้ก็ไม่เชิง น้ำตามันจะร่วงออกมา อาตมากราบท่านแล้วหนีเลย ลงมาเดินจงกรมข้างนอก

อาตมายิ่งคิดเรื่องเมื่อสักครู่อยู่ อันนี้มันเป็นอะไรกัน พอจิตสงบมันจึงรู้ขึ้นมาว่า นี่แหละธรรมปีติ มันได้ตรงนี้ โอโฮ…มันเกือบจะทำให้เราขายหน้าเสียแล้วซิ อาตมาเลยตั้งใจตัดขาดตั้งแต่บัดนั้นมาปีติหายหมด“

๓๙ จิต สติ และ ฌาน

หลวงปู่เพ็ง ท่านเล่าถึงการภาวนาในช่วงแรกของท่าน ดังต่อไปนี้

“อาตมาฟังเทศน์จากท่าน (หลวงปู่บัว) แล้วมานั่งภาวนาเอาตัวสติ ๕ วัน ๕ คืน ไม่ยอมหลับ ไม่นอน ใจมันสว่างไสว ไม่โงกไม่ง่วง

อาตมาไปภาวนาที่เขาน้อย ๙ วัน มันก็ไม่หลับเลยนะ ตอนที่ไปฟังธรรมจากพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ก็เช่นกัน บรรดาหมู่พระสงฆ์ท่านจะทำอย่างไรก็ช่าง พอดีปีนั้นหนาวมาก ท่านเอาผ้าสักหลาดมาให้ห่ม ให้ ๓-๔ ผืน อาตมาไม่ยอมห่ม ทำไปตามธรรมดา เอาจีวรและผ้าสังฆาฏิเท่านั้นห่มคลุมกาย มีผ้าปูนั่งผืนหนึ่งรองตัว อาตมานั่งบ้าง เดินจงกรมบ้าง อาตมาได้ธรรมะเกิดขึ้นในจิตใจมากมาย ร่างกายก็ไม่เป็นอะไร นั่งสบายๆ

อาตมาได้ข้อคิดว่า

ครูบาอาจารย์ทั้งหลายส่วนมาก ท่านมักสอนเรื่องสติ กับ จิต พอปฏิบัติไปจนแก่กล้าแล้ว มันจะเกิดเป็นฌาน เพราะสติตัวนี้ และฌานนี่ เวลามันแก่กล้าแล้ว มันจะเพ่งเผากิเลสตัณหาอาสวะต่างๆ ไปเอง สัญญาทั้งหลายมันจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ ตัวสติ ตัวฌานมันจะเพ่งเผาเอง พอมันเผาอารมณ์สัญญาไปหมดแล้ว ความรู้มันจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ อาตมาได้เข้าใจมาแต่บัดนั้น”

หมายเหตุ: เขาน้อย ที่หลวงปู่พูดถึงข้างต้น ผู้เขียนเข้าใจว่า อาจจะหมายถึง วัดป่าเขาน้อย อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ก็ได้ หลวงปู่เพ็ง ท่านธุดงค์ไปพักที่เพชรบูรณ์ ก่อตั้งวัดเขาเจริญธรรม แล้วธุดงค์ต่อไปทางพิจิตรก่อตั้งวัดป่าเขาน้อย เมื่อ หลวงปู่จันทา ถาวโร มาอยู่แทนแล้ว ท่านก็ธุดงค์ขึ้นเหนือต่อไป ไปสร้างวัดที่ลำปาง และพำนักยาวนานที่เชียงราย

รูปภาพ

หลวงปู่จันทา ถาวโร

๔๐ ออกธุดงค์ไปทางจังหวัดเพชรบูรณ์

รูปภาพ

ในการบวชครั้งที่สองนี้ หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ได้เร่งบำเพ็ญภาวนาอย่างเอาจริงเอาจัง ท่านได้อุบายธรรมจากครูบาอาจารย์หลายองค์ ประกอบกับมีทุนเดิมที่สะสมไว้ตั้งแต่การบวชครั้งแรกอยู่ไม่น้อย การปฏิบัติภาวนาจึงก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ได้รู้ธรรมเห็นธรรมพอสมควรและจิตใจมั่นคงดีแล้ว ท่านจึงกราบลาครูบาอาจารย์ ออกท่องธุดงค์ไปเรื่อยๆ อธิษฐานจิตขอเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ขอปฏิบัติธรรมอยู่จนตายคาผ้าเหลือง

หลวงปู่เริ่มมาปักหลักประจำที่แถบภูเขาสูง ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ท่านเล่าถึงการธุดงค์ครั้งนั้น ดังนี้

“อาตมาได้กราบลาครูบาอาจารย์ ออกธุดงค์ไปเรื่อยๆ สุดท้ายมาอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ในสมัยที่อาตมาไปอยู่ใหม่ๆ มันลำบากมากนะ คนที่นั่นเขาฆ่ากันวันละ ๓-๔ ศพ ทุกวันๆ อาตมาไปรู้มาว่าเขาไปขัดแย้งกันเรื่องที่ดิน

อาตมาไปนั่งบำเพ็ญภาวนาบนเขา เดี๋ยวๆ ก็ได้ยินเสียงโป้ง ถ้าไปดูนะ ต้องมีคนตาย พอตายแล้วเขาก็เอามาไว้ที่อาตมาอยู่นั่นแหละ

ภูเขาที่อาตมาอยู่นั้นสูงมาก พอมองลงมาก็จะเห็นบ้านหนองไผ่ ซับสมอทอด อย่างชัดทีเดียว และที่อาตมาอยู่เขาเรียกว่า ซับชมภู

คนที่นั่นน่าสงสารนะ เขาทำเวรทำกรรมซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา แต่เขาก็ทำบุญนะ ใส่บาตรกันทุกเช้าแหละ

“อาตมาไปทำความเพียรอยู่ ๒ พรรษาเต็มๆ เลย นั่งภาวนาไม่เกี่ยวข้องกับใคร น้ำชากาแฟไม่มี หยูกยาจะรักษาโรคไม่มี มีแต่นั่งภาวนาอย่างเดียว ได้กำลังใจมากมายนะ ตอนนี้ เรียกว่าบุกเดี่ยว เอาชีวิตเข้าแลกเลยละ

นั่งแล้วพยายามทบทวนกระแสจิต ดูจิตของตนเอง จำคำพูดของหลวงปู่บัว และพระอาจารย์มหาบัว วัดป่าบ้านตาด ว่า ไปอยู่ที่ใดก็ตาม ต้องตัดปัจจัยให้ขาด เพราะคำว่าปัจจัย แปลว่าเครื่องต่อ

มันเป็นเครื่องต่อจริงๆ ต่อลูกต่อหลาน ต่อทรัพย์สมบัติ ต่อตู้ต่อเตียง ตู้เย็นโทรทัศน์ ต่อรถต่อเรือ ตลอดถึงบ้านเรือน มันไม่มีสิ้นสุด

พระอาจารย์มหาบัว ท่านเตือนว่าให้เราพิจารณาปัจจุบันธรรม ต้องพิจารณาวันนี้ให้ได้ ถ้าไม่ได้ จะคอยไปปีหน้าชาติหน้า มันไม่รู้ ต้องเอาเดี๋ยวนั้น”

๔๑ สร้างวัดและทำหน้าที่ทูตให้ชาวบ้าน

หลวงปู่เพ็งพำนักปฏิบัติภาวนาอยู่ที่เพชรบูรณ์เป็นพรรษาที่ ๓ ท่านเริ่มสร้างวัด สร้างโรงเรียน และเป็นทูตไกล่เกลี่ยให้ชาวบ้านเลิกการฆ่าฟันกัน

“พอปีที่ ๓ อาตมาสร้างวัดที่นั่น พวกที่เคยฆ่ากันนั้นค่อยสงบลง อาตมาเป็นทูต ไปนอนบ้านเขา ไปพูดให้เขาประนีประนอมกัน สอนธรรมะให้เขา ให้เลิกรบราฆ่าฟันกัน ฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองท่านเข้าใจอาตมาผิดไป แท้ที่จริงอาตมาไปโปรดคนพวกนี้ ให้รู้จักบุญรู้จักบาปและให้หันมาปฏิบัติธรรม

(หมายเหตุ : หลวงปู่ท่านเคยเล่าถึงการทำตนไม่เหมาะสม การมุ่งผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่มีอำนาจบางคน ทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับความยุติธรรม ก่อให้เกิดปัญหากับประชาชนตามที่กล่าวมา เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นแทบทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่ จึงงดเว้นการนำมากล่าวให้เป็นการเจาะจง – ผู้เขียน)

หลวงปู่พยายามบอกชาวบ้านว่า “จะฆ่าจะแกงกันไปถึงไหน มันจะได้ประโยชน์อะไร คนด้วยกัน มาทำมาหากินด้วยกันไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเราไปฆ่าเขา เราเองจะกินจะนอนเป็นสุขไหม ในเมื่อต้องคอยระวังตัวตลอดคืนตลอดวัน ขอให้เลิกเสียเถิดนะ อาตมาขอบิณฑบาต

ในที่สุด พวกบ้านหนองแก่ง โคกยาว ซับชมภู ก็เป็นมิตรกันได้ตั้งแต่บัดนั้น เขามาเห็นดีตอนสร้างวัดให้ได้ทำบุญ สร้างโรงเรียนให้ลูกๆ เขาเรียน ทำถนนหนทางให้สำเร็จ

อาตมาเป็นคนชอบพิสูจน์ ยิ่งแถบถิ่นอย่างนี้ต้องตั้งใจทำให้ได้ แม้จะมีอุปสรรคอย่างไร อาตมาก็ไม่เกรงภัย ไม่หวั่นไหวเลย”

หลวงปู่เคยเล่าถึงเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นเรื่องอิทธิฤทธิ์ พลังจิตที่มีในช่วงนั้น รวมทั้งเหตุการณ์ที่ท่านถูกปองร้ายต่างๆ ด้วย ทำให้ชาวบ้านศรัทธาเลื่อมใสและยอมรับท่านที่เป็นพระธุดงค์ต่างถิ่น เผอิญไม่ได้บันทึกไว้ จึงลืมเลือนไป วัดที่หลวงปู่ตั้งขึ้นนั้นชื่อว่า วัดเขาเจริญธรรม และโรงเรียนประถมศึกษาชื่อ โรงเรียนวัดเขาเจริญธรรม

หลวงปู่ท่านมีความเชื่อมั่นในพระศาสนาอย่างแนบแน่น

“…นี่เพราะอำนาจความเชื่อว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องช่วยดลจิตใจของอาตมาให้พ้นภัย และสำเร็จผล

บิดา คือ พุทโธ พระองค์เป็นนักต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงชนะทุกอย่าง แม้จำพวกที่ไม่เห็นตัว เช่นกิเลสก็ชนะได้อย่างราบคาบ แล้วไปกลัวอะไรกับคน ที่มีตัวตนสังขารอยู่ จะเอาชนะไม่ได้

เราเป็นลูกของพระองค์ ทำใจเสาะไม่ได้ ทำใจอ่อนแอไม่ได้ สู้เป็นสู้ ตายเป็นตาย เกิดใหม่สู้อีก ต้องเป็นอย่างนั้นนะ จึงจะเรียกว่านักปฏิบัติ คือสู้ด้วยความดีนั่นเอง สู้ด้วยธรรมะ สู้ด้วยใจเมตตา สู้ด้วยจิตมีความสงสาร”

๔๒ เรื่องราวของวัดเขาเจริญธรรม

หลวงปู่เพ็งกับพระอาจารย์บุญทัน ฐิตสีโล

ที่วัดเขาเจริญธรรม อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์

ผู้เขียนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวัดเขาเจริญธรรม เป็นกระดาษหนึ่งแผ่น เขียนด้วยลายมือของ พระวีระโชติ ติสสวังโส ศิษย์อุปัฏฐากซึ่งเขียนตามคำบอกเล่าของหลวงปู่เห็นว่าน่าสนใจ จึงขอคัดลอกมาเสนอดังนี้

“เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ หลวงปู่เพ็งได้เดินทางมาจากจังหวัดอุดรธานีมุ่งไปทางเหนือ แวะที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มุ่งหวังแต่ด้านภาวนา มิได้หวังจะสร้างวัดวาอะไรเลย ตลอดปีนั้น ท่านปฏิบัติอยู่ตามลำพังองค์เดียว ต่อมาปีที่สอง มีพระมาบวชอยู่กับท่าน ๑ รูป พอปีที่สาม มีญาติโยมมาขออาราธนาที่จะให้มีวัด ท่านก็เลยรับตามประสงค์ ได้สร้างศาลากว้าง ๗ วา ยาว ๑๐ วาขึ้น และได้กุฏิ ๑ หลัง

ต่อมาท่านเห็นความลำบากของเด็กๆ ที่ไปเรียนหนังสือที่ไกลเพราะที่นั่นไม่มีโรงเรียน ระยะทางหมู่บ้านหนึ่ง ๘ กิโลเมตร อีกหมู่บ้านหนึ่ง ๔ กิโลเมตร ยิ่งหน้าฤดูฝนยิ่งลำบากมาก ท่านสงสารเด็กเป็นกำลัง เหมาะกับจังหวะชาวบ้านอยากได้โรงเรียนด้วย

ท่านได้นำชาวบ้านสร้างโรงเรียนขึ้น มี ๑๒ ห้อง (๑๒ ช่องเสา) มีนักเรียน ๓ ชั้น

ตอนสร้างเสร็จหาครูที่จะสอนไม่ได้ ติดต่อขอหน่วยงานทางจังหวัดไม่ได้ครูสักคนเลย ท่านต้องเดินทางไปเข้าพบคุณประภาส จารุเสถียร (ไม่ทราบยศตำแหน่งในตอนนั้น) จึงได้ครูมาสอน

ต่อมาวัดได้ซื้อที่สร้างทาง ระยะทาง ๘ กิโลเมตร เพราะท่านเห็นความลำบากของชาวบ้านในการนำผลผลิตทางการเกษตรออกไปขาย หากพ่อค้ามาซื้อถึงที่ก็ถูกกดราคา พอสร้างทางเสร็จ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชได้เอาหินลูกรังมาเทให้ ปัจจุบันเป็นทางราดยางอย่างดี

ในระยะ ๔ ปี ก่อนหลวงปู่มาอยู่ วัดซับชมภู ร้างไม่มีพระอยู่ เส้นทางโคจรบิณฑบาตก็รกรุงรัง ไกลถึง ๔ กิโลเมตร หลวงปู่ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่นั่น ๔ ปี มีญาติโยมถวายที่ดินให้ ๔๒ ไร่ ก็เลยยกให้ท่านอาจารย์สม หรือพระครูกิตติสาธุราธรณ์ เจ้าคณะอำเภอหนองไผ่ องค์ปัจจุบันเป็นผู้สร้างและดำเนินการต่อ และตั้งชื่อวัดที่สร้างใหม่นั้นว่า วัดน้ำตกซับชมภู

ส่วนที่วัดเขาเจริญธรรมนั้นมี พระอาจารย์บุญทัน ฐิตสีโล เป็นเจ้าอาวาสต่อจากหลวงปู่ วัดนี้อยู่ตำบลหนองแจง อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์”

พระอาจารย์บุญทัน ฐิตสีโล

๔๓ ไปพำนักที่ถ้ำแควสวรรค์ ลำปาง

หลวงปู่ได้เล่าถึงการภาวนาเมื่ออยู่เพชรบูรณ์ และการเดินธุดงค์ขึ้นภาคเหนือต่อไป ดังนี้

“ช่วงอยู่เพชรบูรณ์ อาตมาได้รับธรรมะความรู้ทั้งดีและชั่วมาก เมื่อสัมผัสมาก็พิจารณาเป็นธรรมะหมด กลั่นกรองแต่สิ่งที่ดีไว้กับจิตใจ ส่วนความชั่วร้ายนั้นโยนลงเขาหมด ไม่เอาไว้ แล้วมาเผาด้วยสติปัญญาอีกครั้งจนหมดไม่เหลือ

เดินธุดงค์ต่อไป เมื่อได้พระสงฆ์ที่สามารถปกครองวัดได้แล้ว อาตมาถือว่าได้สร้างความเจริญให้กับแถบถิ่นนั้นแล้ว บัดนี้หมดหน้าที่ของอาตมา”

หลวงปู่ได้มอบภาระการปกครองวัดที่เพชรบูรณ์ แล้วท่านก็ออกเดินธุดงค์ขึ้นเหนือต่อไป

“ไปถึงจังหวัดลำปาง เดินไปเรื่อยๆ และไปพบที่เหมาะแก่การปฏิบัติชื่อว่า ถ้ำแควสวรรค์ ตอนไปอยู่ได้ ๓ วันแรก อาตมาได้พบกับสิ่งล้ำค่าอย่างหนึ่ง คือ ตัดอารมณ์สัญญาขาดหมด อาตมาจำพรรษาที่นั่น ภาวนาที่นั่น รู้สึกสงบเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เล่นวสีได้คล่องแคล่ว

ปีแรกอยู่คนเดียว พอปีที่ ๒ มีสามเณรมาอยู่ด้วยอีกหนึ่งองค์ ปีที่ ๓ มีคนขึ้นไปตามอาตมาแล้วบอกว่า หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ บิดาของอาตมาป่วยหนัก ขอให้อาตมาไปดูอาการป่วยของบิดาด้วย

อาตมาคิดจะอยู่ ๕ ปี ที่ถ้ำแควสวรรค์นี้ แต่เมื่อบิดาป่วย อาตมาก็ต้องไปเฝ้าไข้ แล้วท่านได้มรณภาพลงในปี พ.ศ.๒๕๑๘ นี้เอง

หลังจากทำการเผาศพหลวงปู่บิดา โดยมีพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นผู้ดำเนินการแล้ว อาตมาได้ย้อนกลับขึ้นเหนือไปใหม่และสุดท้ายไปปักหลักที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย”

หมายเหตุ : ยังขาดข้อมูลในส่วนที่หลวงปู่เพ็งไปภาวนาแถวจังหวัดพิจิตร แล้วก่อตั้งวัดป่าเขาน้อย อำเภอวังทรายพูน ซึ่งหลวงปู่เคยเล่าให้ฟัง แต่ไม่แน่ใจว่าอยู่ในตอนที่เดินทางออกจากเพชรบูรณ์หรือตอนขึ้นเหนือครั้งที่สองเมื่อเสร็จงานศพของหลวงปู่บัว บิดาของท่านแล้ว ขอท่านที่ทราบข้อมูลโปรดช่วยเติมเต็มตรงนี้ด้วย – ผู้เขียน

๔๔ วัดเทิงเสาหิน เชียงราย

หลวงปู่เพ็ง เดินธุดงค์ขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ จนไปถึงอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย พบโบราณสถานซึ่งเป็นวัดสมัยขอมเรืองอำนาจ มีซากวิหาร เจดีย์ และพระพุทธรูป ถูกขุดค้นกระจุยกระจาย ที่ดินแทบทุกส่วนเป็นหลุมบ่อแสดงร่องรอยของการขุดค้นหาวัตถุสิ่งของที่มีค่า หลวงปู่เกิดความสลดสังเวชมาก จึงตัดสินใจบูรณะวัดเทิงขึ้นมาใหม่ เป็นงานที่ยากลำบาก ต้องผจญกับแรงต่อต้านอย่างมากมายมหาศาล ทั้งด้านเจ้าหน้าที่บ้านเมือง นายทุนที่ดินนักขุดคุ้ยของโบราณ รวมทั้งฝ่ายศาสนาซึ่งอยู่คนละนิกาย

หลวงปู่ได้ยืนหยัดต่อสู้แบบยอมตาย จนกระทั่งสามารถจัดตั้งเป็นวัดขึ้นมาได้สำเร็จ เป็นวัดวิปัสสนากรรมฐานที่เป็นที่รู้จักดีในแวดวงนักปฏิบัติภาวนา และกรมศิลปากรก็ได้ยื่นมือเข้ามาสำรวจ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ

สรุปโดยย่นย่อ เอาแค่เพียงว่าหลวงปู่ สามารถยืนหยัดสร้างวัดเทิงเสาหินขึ้นมาจนสำเร็จ ส่วนเรื่องข้อขัดแย้งกับกลุ่มต่างๆ จำเป็นต้องของดไว้ เพราะไม่อยากให้กระทบกระเทือนบุคคลต่างๆ ซึ่งยังมีชีวิตตัวตนอยู่ เป็นการสร้างความแตกแยกเปล่าๆ ไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติภาวนาแต่ประการใด

เอาเป็นว่า หลวงปู่เพ็ง ได้บำเพ็ญขันติบารมี และวิริยะบารมีอย่างเต็มที่ สมกับคำพระที่ว่า “มารไม่มี บารมีไม่เกิด”

๔๕ ประวัติวัดเทิงและเมืองเทิงเก่า

โบราณสถานวัดเทิงเสาหิน จ.เชียงราย

ที่เรียกชื่อว่า วัดเทิงเสาหิน วัดเทิง วัดเสาหิน หรือ วัดเทิง (เสาหิน) เป็นชื่อที่เรียกขานกันในสมัยใหม่ ภายหลังที่หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโมท่านเริ่มบูรณะ จนเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ชื่อเดิมในยุคโบราณสมัยขอมเรืองอำนาจชื่อว่า วัดดงแหน (ห – สระแอ -น สะกด) หรือที่เรียกว่าต้นสมอพิเภก นั่นเอง

ส่วนคำว่า เทิง แปลว่า ที่สูง เป็นชื่อเมืองในสมัยโบราณ ส่วนคำว่า เสาหิน ก็คือเสาวิหารที่สกัดมาจากหินทั้งแท่งจริงๆ แต่ละแท่งเป็นเสาเหลี่ยมยาว หนักแท่งละ ๒-๓ ตัน (๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ กิโลกรัม) มีเดือยสวมต่อกัน ยกตั้งตรงจากพื้นถึงหลังคา ทำหน้าที่เหมือนเสาบ้านเรือนทั่วไป

เรื่องราวของเมืองเทิงโบราณพบในจารึกสมุดข่อยที่วัดพระเจ้าตนหลวง (วัดศรีโคมคำ) จังหวัดพะเยา

(ที่เขียนนี่ว่าตามเขา ไม่ได้ไปศึกษาด้วยตนเอง – ผู้เขียน)

ในหลักฐานจารึกว่า เมื่อปีมหาพุทธศักราช ๒๙๙ สมัยนั้นแผ่นดินไทยทั้งหมดอยู่ใต้การครอบครองของขอมโบราณ ต่อมาเมื่ออาณาจักรขอมเริ่มอ่อนแอ เสื่อมอำนาจลง พวกชนเผ่าไทยจึงได้รวมตัวก่อร่างสร้างเมืองขึ้นมา ก็มีเมืองเชียงแสน เชียงราย เชียงของ เชียงคำ เมืองเทิง เมืองพุกาม (พะเยา) แล้วก็มีการก่อร่างสร้างตัวเป็นปึกแผ่นขึ้นจนพัฒนามาเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน

นี่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของไทยอย่างย่นย่อที่สุด และที่กล่าวมาก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าเมืองเทิงเคยรุ่งเรืองมาในอดีต แล้วก็ร้างราไปเมื่อไรไม่ปรากฏชัด

สำหรับวัดดงแหน ก็ปล่อยให้เป็นวัดร้างมาตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ กลายมาเป็นวัดมีพระสงฆ์อีกครั้งก็ต่อเมื่อหลวงปู่เพ็ง เดินธุดงค์มาถึงได้พำนักปักกลดอยู่ที่นั่น แล้วก็ตัดสินใจสร้างวัดเทิงเสาหินขึ้นมา

เคยเรียนถามหลวงปู่ ว่าท่านเกี่ยวข้องอะไรกับวัดเทิง หรือเมืองเทิงในอดีต ท่านก็บอกว่า มี “ถ้าอยากรู้ก็ให้เร่งภาวนา แล้วจะเห็นด้วยตัวเองไม่ต้องถาม” ท่านว่าอย่างนั้น

๔๖ พระยาจามปางตอย เจ้าเมืองเทิง

โบราณสถานวัดเทิงเสาหิน จ.เชียงราย

เจ้าเมืองเทิงโบราณชื่อว่า พระยาจามปางตอย เป็นชื่อที่เรียกเพี้ยนตามสำเนียงคนไทย

มีผู้สันนิษฐานว่า “จามปาง” ถ้าเทียบกับภาษามอญและขอมน่าจะแปลว่า “ยกมือทั้งสองขึ้นเหนือศีรษะ” และ “ตอย” แปลว่า “แล้ว” ถ้าการสันนิพานนี้ถูกต้อง “จามปางตอย” ก็น่าจะแปลว่า ผู้ที่ยกมือทั้งสองขึ้นเหนือหัวแล้ว แปลต่อไปว่า มือของข้าพเจ้าทั้งสองข้างเป็นมือสำหรับไหว้พระ ไม่ใช่มือสำหรับจับอาวุธอีกแล้ว

มีผู้สันนิษฐานอีกว่า ถ้าดูตามชื่อแล้ว พระยาจามปางตอย ไม่ใช่ชนเผ่าไทย น่าจะเป็นมอญ หรือขอมโบราณ ที่หมดสิ้นอำนาจไปแล้ว พระยาจามปางตอย พร้อมด้วยธิดาสาวชื่อ นางอุทา และ พระฤๅษีที่ชาวเมืองเคารพบูชาชื่อ สิงถละ ได้อพยพมาจากที่อื่น หนีข้าศึกมามาพบแผ่นดินที่เป็นที่ราบสูง มีเขาล้อมรอบ จึงก่อร่างสร้างเมืองขึ้นที่นี่และชื่อว่า เมืองเทิง

ตรงบริเวณวัดเทิงเสาหินปัจจุบันนั้นได้ก่อสร้างเป็นวัดดงแหน สร้างในเนื้อที่ ๙๐ ไร่ให้เป็นที่พำนักของฤๅษีสิงถละ สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญได้แก่เจดีย์ และวิหารหลังใหญ่ เสาของวิหารสร้างด้วยแท่งหินตัน สกัดเป็นแปดเหลี่ยม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ คืบ ยาวแท่งละ ๒ ศอก หินแต่ละแท่งหนัก ๒-๓ ตัน ปลายด้านหนึ่งเจาะเป็นรู อีกด้านหนึ่งสกัดเป็นเดือยสำหรับสอดใส่ไปในรูของอีกต้นหนึ่ง นำแท่งหินเหล่านั้นมาตั้งต่อกันขึ้นเป็นเสาวิหาร มี ๓๙ ต้น สูงประมาณ ๗ ศอก ตรงกลางวิหารมีพระพุทธรูปก่ออิฐฉาบปูนและยางไม้ หน้าตักกว้าง ๓ ศอก สูง ๖ ศอก แต่ถูกทุบทำลายเสียหายไปแทบหมด จากฝีมือของนักขุดคุ้ยหาของเก่า

ซากสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับวัด ได้แก่ร่องรอยที่เป็นที่พำนักของพระยาจามปางตอย ตำหนักนางอุทา เจดีย์บรรจุอัฐิของนางอุทาบนดอยอุทา คลองส่งน้ำและคูเมือง เป็นต้น เป็นที่น่าเสียดายที่โบราณสถานเหล่านี้ถูกทำลาย ชาวบ้านเข้าไปแผ้วทางไถที่ กลายเป็นไร่ข้าวโพด และที่อยู่อาศัยหมด ที่เหลืออยู่เป็นหลักฐานก็มีเจดีย์วิหาร และคูน้ำในบริเวณวัด

มีการสันนิษฐานว่าบริเวณวัดดงแหน ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ปี ก่อนที่หลวงปู่จะเข้ามาบูรณะ จนเป็นวัดที่ร่มรื่นเหมาะแก่การภาวนา และกรมศิลปากรได้มาบูรณะ และอนุรักษ์เป็นโบราณสถานแห่งชาติ ไว้เป็นที่ศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์

สำหรับนักปฏิบัติภาวนา ใครสนใจจะไปนั่งดูเรื่องราวในอดีตก็น่าจะลอง เพื่อจะรู้ว่าในอดีตเราเป็นลูกหลานของพระยาจามปางตอยด้วยหรือไม่

สำหรับหลวงปู่ท่านไม่แนะนำให้พวกเราทำอย่างนั้น ท่านให้ “ดูจิตใจเจ้าของ ถ้าจะรู้เห็นอดีตมันก็เห็นเอง ไม่ใช่อยากรู้อยากเห็นมัน”

๔๗ เจดีย์และกรุสมบัติบนดอยอุทา

ในตำนานไม่ได้เอ่ยถึงภรรยาของพระยาจามปางตอยซึ่งเป็นเจ้าเมืองเทิงเลย จึงสันนิษฐานว่านางคงเสียชีวิตก่อนมาอยู่เมืองเทิง นางอุทาน่าจะกำพร้าแม่ ท่านเจ้าเมืองจึงรักลูกสาวมาก

นางอุทา ได้ล้มป่วยและเสียชีวิตเมื่ออายุเพียง ๑๕ ปี ขณะนั้นพระยาจามปางตอยอายุ ๗๐ ปี อัฐิของนางอุทาได้นำไปบรรจุที่เจดีย์บนยอดเขาด้านทิศใต้ของเมือง จึงเรียกดอยลูกนี้ว่า ดอยอุทา

เชื่อกันว่าพระยาจามปางตอย ได้นำทรัพย์สมบัติที่มีค่าของนางอุทาทั้งหมดไปฝังไว้ให้ฐานเจดีย์ ดังนั้นที่เจดีย์แห่งนี้จึงถูกขุดเจาะเป็นหลุม เป็นรูพรุนไปหมด อย่างน่าเสียดาย แม้องค์พระพุทธรูปปูนก็ถูกทุบแขน ทุบเอว ค้นหาสมบัติจนพังพินาศ

คุณดำรงค์ ภู่ระย้า นักเขียนแห่งนิตยสารโลกทิพย์ ได้รับคำบอกเล่าจากชาวบ้านว่า

“เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๖ เวลาประมาณ ๔ ทุ่ม ชาวบ้านเห็นดวงไฟสว่างสุกใสลอยเด่นอยู่บนดอยอุทา แล้วค่อยๆ ลอยสูงขึ้นไปประมาณ ๑ กม. จากนั้นลอยย้อนมาทางทิศเหนือ สว่างสุกใสอยู่ประมาณ ๑ ชั่วโมง แล้วแยกเป็น ๒ ดวง สุกใสมาก สว่างกว่าไฟฟ้าจนสามารถมองเห็นต้นไม้ และไร่ข้าวโพดได้ชัดเจน ดวงไฟนั้นตกลงที่บริเวณกว้างของไร่ข้าวโพดนั้นเอง รวมเวลาที่มองเห็นทั้งหมดนาน ๒ ชั่วโมง”

๔๘ บริเวณวัดก็ถูกคุ้ยจนพรุน

โบราณสถานวัดเทิงเสาหิน จ.เชียงราย

ช่วงที่หลวงปู่เพ็ง ท่านไปถึงในช่วงแรกๆ จะเห็นว่าเจดีย์ วิหารจะมีร่องรอยถูกทุบ ถูกรื้อ ถูกงัดแงะจนพรุน บริเวณวัดก็เต็มไปด้วยหลุม เห็นมูลดิน ก้อนอิฐ ที่บ่งบอกถึงการขุดค้นหาสมบัติที่มีค่าไปทั่วทั้งวัด

พระพุทธรูปต่างๆ ก็ถูกขุดขึ้นมาแล้วทุบทิ้งกองไว้ หลวงปู่กับพระได้เก็บรวบรวมไว้ ผู้รู้บอกว่าส่วนมากเป็นพระพุทธรูปหินศิลปแบบขอม ที่มีเชื้อสายพวกแขกจาม พวกนี้มีรูปร่างสูงใหญ่งดงามเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ช่วงที่หลวงปู่ไปอยู่ใหม่ๆ การขุดคุ้ยล่าสมบัติโบราณยังมีอยู่มีผู้เรียนถามหลวงปู่ว่า ทำไมไม่ห้ามเขา

หลวงปู่ตอบว่า “เราจะไปห้ามอะไรเขาได้ เขาไม่เห็นคุณค่าของวัตถุโบราณ แม้องค์พระพุทธรูปซึ่งสร้างขึ้นแทนองค์พระพุทธเจ้า พวกเขายังตัดคอทุบองค์ท่านจนแหลกเหลว ถ้าพระสงฆ์เข้าไปยุ่งเขาคงเอารถมาไถกุฏิทิ้งลงขยะหมด

อีกอย่างหนึ่ง อาตมาคิดถึงกฎอนัตตา ทุกอย่างเกิดขึ้นมาก็ต้องดับไปสูญไป เราอย่าว่าเขาเลย ต่อให้วัดนี้ล้อมกำแพงสูงลิบ แล้วนำลูกกรงเหล็กกล้ามาล้อมอีก มันก็ไม่วายพังลงสักวัน

อะไรจะมาสู้กับตัณหา ตัวนี้มันร้ายกาจมาก มันทำลายได้แม้กระทั่งบิดามารดาของมัน เมื่อเกิดตัณหาขึ้นมา

คนพวกนี้เขาไม่รู้อะไรดีอะไรชั่วนะ อาตมาฟังเขาเล่าว่า เขาขุดไปพบผอบที่บรรจุพระธาตุไว้ แต่ผอบนั้นเป็นทองคำ เขาเอาเฉพาะทองคำ ส่วนพระธาตุเขาเททิ้ง ไม่รู้ว่าตกอยู่ที่ใด

อาตมาสังเวชใจเหลือเกิน เหมือนไก่ได้พลอย ไม่รู้คุณค่าของพระธาตุภายในผอบ เขาเอาแค่เปลือกนอกคือทองคำไป ส่วนภายในพระธาตุแท้ๆ กลับเหวี่ยงทิ้ง นี่เรียกว่าอะไรดีนะ”

๔๙ ถ้าใจสบาย อะไรก็สบาย

หลวงปู่เพ็ง เล่าถึงการมาอยู่วัดเทิงเสาหิน เทียบกับการภาวนาอยู่กลางป่ากลางเขาที่จังหวัดเพชรบูรณ์

“ไปอยู่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงรายใหม่ๆ มันยิ่งร้ายกว่าอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ดีที่อาตมาได้อารมณ์จิต เรื่องตัดสัญญา ที่นี่มันต้องอดทนจริงๆ จึงจะอยู่ได้

เพราะอาตมานี้คิดถึงคำว่า พระ ถ้าเป็นพระต้องทำให้สมกับเป็นพระ ถ้าเป็นพระแต่รักษาใจก็ได้มันก็เลวไปกว่าปุถุชน เพราะเอาเปรียบชาวบ้านเขากิน

อาตมาตัดอารมณ์สัญญา ไม่ข้องไม่แวะกับอะไรทั้งหมด มันจะวุ่นวายอย่างไร มันจะมีอุปสรรคอย่างไร อาตมาไม่เกี่ยว ทำจิตใจสบายๆ ตามคำสอนของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่ว่า ทุกข์ก็สบาย สุขก็สบาย อะไรๆ สบาย ทั้งนั้น

เมื่อใจเราสบายแล้ว ไปอยู่ดงเสือดงช้างมันก็สบาย อะไรจะมาสู้ธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ ธรรมะนี้นะ ถ้าแม้ผู้ใดมีธรรมะอยู่กับจิตใจแล้วมันมีความกล้าจริงๆ

สมัยอยู่ป่า ลมมันมานะ พัดเอาต้นไม้บนภูเขาล้มตึงตึงไปหมด เสียงลมนี้น่ากลัว มันดังชนิดขนพองสยองเกล้าทีเดียว สัตว์ป่านี่เงียบยังกับถูกมนต์ ต้นไม้บนภูเขา บางทีมันไม่มีรากแก้วซิเล่า รากมันออกไปข้างๆ ต้น พอมันถูกลมพัด มันก็ล้มลงมาข้างๆ ตัวอาตมาที่นั่งภาวนาอยู่ มองขึ้นไปข้างบนแล้ว ต้นไม้นี่เหมือนกับมันจะหมุนได้ เหวี่ยงไปโน้นเหวี่ยงวนมาทางนี้ ถ้าคนกลัวมองขึ้นไปไม่ได้หรอกเวลามีลม มันเหมือนเปลที่เราไกวไปมา จิตใจมันไม่กลัวนะ มันกล้าชนิดบอกไม่ถูกนะ ถ้าตายก็เผาตรงนั้นแหละ ว่างั้น

อาตมานั่งภาวนา เลยไม่ทุกข์ไม่ร้อนอะไร เราตัดสินใจมาแต่ต้นแล้วนี่ เราต้องการขัดเกลากิเลส ต้องการศึกษาหาความรู้ทางด้านจิตใจ เราไม่มีอะไรป้องกันตัว นอกจากพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า

เมื่อใดเรามีธรรม เมื่อนั้นเรายังมีสติคุ้มครองจิตใจ ถ้าเวลาใดเราลืมธรรมะ เมื่อนั้นแหละเราขาดสติ

ถ้าเรายังน้อมนึกคำสั่งสอน สติเราก็ดีเท่านั้น นั่งก็มีสติ ยืนก็มีสติ เดินก็มีสติ นอนก็มีสติ แม้จะกินก็ต้องมีสติ นี่ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้รู้อย่างนี้นะ”

๕๐ ตายเป็นตาย ถ้าเชื่อมั่นในพระธรรม

หลวงพ่อใหญ่ วัดเทิงเสาหิน จ.เชียงราย

หลวงปู่เพ็ง เล่าถึงการได้รับทุกขเวทนาอย่างสาหัสขณะท่องธุดงค์อยู่ในป่า แทบเอาชีวิตไม่รอด แต่ถ้าเรามีใจมั่นคงในพระธรรม ใจเราก็ไม่หวั่นไหว ตายเป็นตาย

“ครั้งหนึ่งที่อาตมาป่วย ถ่ายท้อง โอ…มันทรมานทุกขเวทนาไม่ต้องพูดถึงละ ยาก็ไม่มีฉัน ก็อยู่ป่านี่ วันหนึ่งถ่ายท้อง ๙-๑๐ ครั้ง บางทีในป่ายามค่ำคืน อาตมาต้องเดินคลำทางไป ไฟฉายก็ไม่มี คลำไปเรื่อยๆ ถ้าไปเหยียบงูเข้า มันตกใจมันก็กัดเอา

เอ้า..กัดก็กัด ตายไปแล้วช่างมัน อยู่ในป่าไม่มีใครเห็นซากศพ เราจะได้ทานแก่มดปลวกต่อไป บางทีเราจะได้อานิสงส์ของทานอีกด้วย คิดอโหสิกรรมแก่เขาล่วงหน้าเลย__ มันก็ยังพูดอยู่นี่ไม่ยักตายแน่ะ

อาตมาถึงบอกว่า มีความมั่นใจและเชื่อในพระธรรมจริงๆ เรามั่นเสียอย่างเดียวเท่านั้น กิเลสก็มาทำอะไรไม่ได้ จิตหมดการปรุงแต่ง วิธีตัดนี้ เอากายทิ้งเลย ตายเป็นตาย”

๕๑ ต้นไม้ใหญ่โค่นทับก็ไม่หวั่นไหว

มีหลายครั้งที่หลวงปู่ เจอพายุใหญ่ในระหว่างภาวนา ต้นไม้ใหญ่เคยโค่นลงมาใกล้ตัวท่าน แต่ท่านนั่งภาวนาเฉยไม่สะดุ้งสะเทือน หลวงปู่บอกว่าถ้าใจมั่นซะอย่าง อะไรก็ทำอันตรายเราไม่ได้

“เวลาต้นไม้ใหญ่ๆ มันหักล้มลงมานี่ เราทำสมาธิภาวนา ทำใจให้ดีๆ เถิด มันมีอำนาจจริง อาตมาจึงมาเห็นว่า นั่นแหละความจริงของพระพุทธศาสนา มันเห็นมันรู้ มันพ้นภัยได้จริงๆ

ท่านผู้อ่านคงจำได้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อหลวงปู่บำเพ็ญเพียรอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อพายุมา ต้นไม้โค่นล้มแต่ท่านไม่ได้หวั่นไหวเลย

เหตุการณ์ที่ผู้เขียน (ปฐม นิคมานนท์) ประสบมาด้วยตนเองในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ตอนใกล้ๆ จะออกพรรษา ในปีนั้นหลวงปู่เพ็งไปจำพรรษาที่วัดจำปาทอง อ.เมือง จ.พะเยา อยู่ใกล้ๆ น้ำตกจำปาทอง ช่วงนั้น เจ้าอาวาสวัดชื่อ พระอาจารย์ศักดิ์ ตอนนี้ได้ลาสิกขาไปแล้ว ปัจจุบัน พระอาจารย์ธวัชชัย ลูกศิษย์ท่านหลวงตามหาบัว มาเป็นเจ้าอาวาสแทน

ที่วัดจำปาทองนี้ หลวงปู่พำนักอยู่ในกุฏิหลังเล็กๆ คืนหนึ่งตอนกลางดึก มีฝนตกหนัก พายุแรง พวกเราได้ยินเสียงดังสนั่น ปานฟ้าถล่มทลาย เสียงดังมาจากทางที่กุฏิหลวงปู่ตั้งอยู่ ทั้งพระทั้งโยมต่างนิ่งเงียบอยู่ในกุฏิของตนเอง ต่างคนต่างภาวนา ไม่มีใครลุกขึ้นไปดู ผมเองก็ภาวนาสงบนิ่งอยู่ใจ เชื่อมั่นว่า หลวงปู่คงไม่เป็นอะไร แต่ถ้าท่านเป็นอะไร พวกเราก็ต้องช่วยกันเผาร่างท่านตรงนั้น ท่านเคยบอกเสมอว่า ถ้าท่านตายให้เผาให้เร็วที่สุด ไม่ต้องมีพิธีอะไร ไม่ต้องห่วงอาตมา ห่วงพวกสูเองก็แล้วกัน

เช้ามืดวันรุ่งขึ้น ทั้งพระทั้งโยมต่างห่วงหลวงปู่ ถือไฟฉายตรงไปที่กุฏิที่ท่านอยู่ โอ้โฮ !…ต้นไม้ใหญ่ขนาดสองคนโอบ ผมไม่ได้ดูว่าเป็นต้นอะไร ถึงดูก็ไม่รู้จักชื่อ รู้แต่ว่าต้นไม้ใหญ่ก็พอ โค่นลงชนิดถอนรากออกมา ล้มเฉียดกุฏิหลวงปู่ ชนิดที่กิ่งก้านล้อมกุฏิหลวงปู่แทบทุกด้าน ปิดบังจนมองไม่เห็นกุฏิ

พวกเราตะโกนเรียกหลวงปู่

ท่านตอบว่า “เออ ได้ยินแล้ว”

ทางเดินเข้ากุฏิถูกปิดหมด ต้องอ้อมไปด้านหลัง แล้วช่วยประคองหลวงปู่เดินออกมา พอดีได้เวลาออกบิณฑบาต ทั้งหลวงปู่และพระก็ออกบิณฑบาตตามปกติ ตอนกลางวันพวกลูกศิษย์ช่วยกันเลื่อยกิ่งไม้ออก เปิดทางให้หลวงปู่เข้ากุฏิได้ ส่วนลำต้นใหญ่ยังคงทิ้งไว้ให้นอนบนดิน ขนานไปกับกุฏิหลวงปู่และห่างออกไปไม่ถึง ๑๐ เมตร ใครๆ ไปเห็นก็ว่าอัศจรรย์

ถามหลวงปู่ว่าท่านไม่ได้ยินเสียงหรือ

ท่านว่า “ได้ยิน แล้วจะทำอะไรได้ ถ้าจำเป็นต้องตายมันก็ตาย”

หลวงปู่สอนว่า “เมื่อพวกเรามีจิตใจที่ได้อบรมจากสมาธิแล้ว มีความบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว สิ่งต่างๆ ที่เป็นทางลบ เราจะเอาความดีของเราต่อสู้ ความชั่วทั้งหลายก็จะสลายไปเอง พระพุทธเจ้าของเราตรัสไว้ไม่ผิดหรอกว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อย่างแน่นอน”

๕๒ เรื่องของวัดจำปาทอง

วัดจำปาทองเป็นวัดร้าง อยู่ในป่าเขาใกล้น้ำตกจำปาทอง เดี๋ยวนี้เป็นวนอุทยานแห่งชาติน้ำตกจำปาทอง ตั้งอยู่ตำบลต๋อม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา อยู่ไม่ไกลจากวัดอนาลโย ของหลวงพ่อไพบูลย์ สุมงฺคโล ซึ่งรู้จักทันดีในนาม ดอยบุษราคัม

พูดถึงวัดจำปาทอง เคยเป็นวัดมาก่อน แล้วปล่อยให้ร้างไปตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ สิ่งที่เหลืออยู่ก็มีเจดีย์เล็กๆ ไม่ทราบว่าบรรจุอัฐิท่านผู้ใด มีบันไดนาคเตี้ยๆ ขึ้นสู่วัด มีสิ่งก่อสร้างเก่าคล้ายกับโบสถ์หรือวิหาร ชิ้นส่วนพระพุทธรูปและเศษอิฐเศษปูนกระจายอยู่ทั่วไป แสดงร่องรอยชัดเจนว่าเคยเป็นวัดมาก่อน

ผมไม่มีโอกาสสืบค้นประวัติของวัดในอดีต ที่นำมาเขียนเพราะหลวงปู่เพ็ง เคยไปจำพรรษาอยู่ ๑ พรรษา ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ตอนนั้น พระอาจารย์ศักดิ์ มาริเริ่มบูรณะ มีลูกศิษย์ลูกหาจากกรุงเทพฯ นำโดยคุณธานินทร์ – มล.นิตยา ธณีวุฒิ ได้พาคณะไปทอดกฐิน – ผ้าป่า หาเงินมาพัฒนาวัด ได้สร้างศาลาอเนกประสงค์หลังเล็กๆ ๑ หลัง กุฏิ ๕-๖ หลัง โรงครัว และห้องน้ำ บรรยากาศในวัดสงบร่มเย็น มีต้นไม้ต้นใหญ่ๆ เต็มบริเวณวัด มีธารน้ำซึ่งไหลมาจากน้ำตกจำปาทองไหลผ่านวัด บรรยากาศเหมาะแก่การภาวนามาก แต่.. ขอเตือนว่าไม่ว่าพระหรือฆราวาส ถ้าใครไม่ภาวนาจะอยู่ที่นั่นไม่ได้ จะถูกแกล้งถูกกวนจากผู้ที่เราไม่เห็นตัว จนไม่ได้หลับไม่ได้นอนทีเดียว

ในอดีต สมัยที่ท่านภาวนาพุทโธ กำลังดัง ท่านเคยพาสานุศิษย์ไปปักกลดภาวนา เดินทางด้วยรถบัส เรื่องเกิดขึ้นตอนขากลับ ผู้ควบคุมรถพูดว่า

“เอ้าใครจะไปด้วยรีบขึ้นรถ”

เมื่อสมาชิกพร้อมรถก็เคลื่อนที่ เส้นทางไปวัดเป็นทางแคบ คดเคี้ยว มีสะพานไม้แคบๆ เก่าๆ อยู่แห่งหนึ่ง

พอรถมาถึงเชิงสะพาน เกิดเครื่องยนต์ดับอย่างไม่คาดฝัน ผู้ควบคุมรถก็ขอให้สมาชิกลงช่วยเข็น โดยพูดว่า

“ขอแรงให้ทุกคนช่วยลงไปเป็นรถด้วย”

สมาชิกทุกคนลงหมด แต่เป็นรถไม่เคลื่อนเลย หนักมาก

ท่านภาวนาพุทโธ นั่งรถเล็กตามมาถึงพอดี แล้วท่านก็พูดว่า

“เอ้า นั่งอยู่ทำไม ทั้งคน และไม่คน ลงมาให้หมด ลงมาช่วยกันเข็นรถ”

แล้วให้ทุกคนช่วยกันเข็นอีก ปรากฏว่ารถเบามาก และสตาร์ทเครื่องติดอย่างเรียบร้อย โล่งใจกันทุกคน

ท่านภาวนาพุทโธ พูดว่า “เอ้า; เฉพาะคนเท่านั้นให้ขึ้นรถ นอกนั้นให้กลับไปที่ที่ตนอยู่”

แล้วท่านก็แผ่เมตตา ให้ศีลให้พรไปตามระเบียบ

เรื่องนี้ไม่สรุป แต่ขอพูดถึง อดีตท่านภาวนาพุทโธ เพียงนิดเดียว เพราะผมเคยกราบ เคยพบท่านเพียงครั้งเดียว ตอนที่ท่านกำลังดัง เรานิมนต์ท่านมาที่ พุทธธรรมปฏิบัติ ซอย ๑๑ หมู่บ้านสหกรณ์ ถนนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม กทม. เป็นสำนักปฏิบัติของท่านอาจารย์เบญจางค์ โกศิน

เท่าที่ได้สัมผัส อดีตท่านภาวนาพุทโธ ท่านมีพลังจิตกี่แรง ผมขอถ่ายรูปไม้เท้าหัวมังกรของท่าน โดยเอามือขวาจับที่โคนแล้วยกไม้เท้าชูขึ้น ให้ตากล้องถ่ายรูป ผมรู้ดีกว่ามีพลังบางอย่างทำให้มือสะท้านและขนลุกไปทั้งตัว รู้แต่ว่ามีพลัง จะเป็นอะไรไม่ได้ติดใจสงสัย เพราะไม่ใช่สาระสำคัญของการศึกษาธรรม แต่ก็มีส่วนปรุงรสชาติของการปฏิบัติภาวนาให้น่าตื่นเต้น น่าสนใจได้

ขอย้อนกลับมาที่วัดจำปาทอง ผมมีส่วนในการวิ่งเต้นทำเรื่อง

“ขอยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุอาศัยอยู่” คือ ขออนุญาตตั้งเป็นวัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับการต่อต้านอย่างชนิดที่ถ้าไม่เกิดกับตัวเองแล้วจะไม่เชื่อเลย โดยเฉพาะการต่อต้านจากพระผู้ใหญ่ในจังหวัด ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องกลัวเกรงไปหมด รวมไปถึงทางป่าไม้ก็พยายามหาทางขับไล่ด้วยวิธีการต่างๆ เอาเป็นว่าจนผมเองก็ต้องถอย

แต่ก็ขอตำหนิทางวัดด้วยเหมือนกัน ที่ไม่อนุรักษ์ของเก่า คือพระท่านเอารถมาไถบันไดนาคทิ้งหมด ทำเป็นทางให้รถขึ้นถึงวัดอย่างสะดวกสบาย

ขณะเดียวกันก็ขอยืนยันว่า พระไม่ได้ตัดโค่นต้นไม้ แต่กลับรักษาต้นไม้ไว้ทุกต้นเป็นอย่างดี

ไม่เหมือนกับการสร้างสถานที่ราชการ ท่านต้องตัดต้นไม้จนหมด ไถที่จนราบเรียบ แล้วค่อยเริ่มปลูกต้นไม้ใหญ่อย่างเป็นแถวเป็นแนวสวยงาม แล้วก็อ้างว่าท่านไม่ได้ทำลายป่าแต่ท่านปลูกป่า

วัดอนาลโย จ.พะเยา

อยากขอเชิญชวนทุกท่านไปดูที่ดอยบุษราคัม วัดอนาลโย โดยเฉพาะที่กุฏิของหลวงพ่อไพบูลย์ เจ้าอาวาส ท่านเจาะพื้นให้ต้นไม้ที่มีอยู่เดิม แทงทะลุขึ้นไป รวมทั้งชายคาก็ยังปล่อยให้เป็นล่องให้ยอดไม้โผล่ขึ้นไปรับแดดได้ตามธรรมชาติ ท่านพูดว่า

“ต้นไม้เขาอยู่ก่อน เรามาทีหลังอย่าไปเบียดเบียนเขา ตัดออกบ้างเท่าที่จำเป็นและเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ”

จนบัดนี้ วัดจำปาทอง ก็ยังไม่ได้เป็นวัด ยังเป็นเพียงสำนักสงฆ์ พระอาจารย์ธวัชชัย เป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ทางกรมป่าไม้ยังมีป้ายคัดค้านขับไล่วัดอยู่ แต่ก็ยอมให้วัดอยู่ตรงนั้นต่อไปได้ พระท่านบอกว่า แค่นั้นท่านพอใจแล้ว จะเป็นวัดหรือไม่ไม่สำคัญ มีที่สงบให้พระป่าได้ภาวนาก็แล้วกัน

ถือเป็นบุญที่ท่านหลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโนได้เมตตามาพักค้างคืนที่วัด ๒ ครั้ง ทำให้คนในจังหวัดพะเยาให้ความสนใจมากขึ้น แรงต่อต้านก็เบาบางลงไปมาก

ขอถือโอกาสนี้เชิญชวนท่านที่สนใจ อยากหาที่เหมาะๆ สำหรับการปฏิบัติภาวนาไปทดลองดู ส่วนท่านที่ไม่ภาวนาอย่าไปพักค้างคืนเลย…หรือจะลองดูก็ได้ !

ขอฝากความถึง ทันตแพทย์หญิงมัลลิกา ตัณฑุลเวศน์ แห่งกระทรวงสาธารณสุข ท่านเป็นคนพะเยา เคยรับเป็นเจ้าภาพผ้าป่าที่วัดจำปาทอง ถ้ามีโอกาสขอให้แวะไปสัมผัสบรรยากาศของวัดบ้างนะครับ

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๕)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๖ จบ)

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น