สังเขปประวัติพระภิกษุสงฆ์

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๓)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม วัดป่าสามัคคีธรรม อำเภอเมือง ร้อยเอ็ด จาก หนังสือที่ระลึกงานฉลองเจดีย์พิพิธภัณฑ์สองหลวงปู่ วัดป่าสามัคคีธรรม อำเภอเมือง ร้อยเอ็ด รศ.ดร.ปฐม เรียบเรียงโดย ภัทรา นิคมานนท์

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๑)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๒)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม
พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม

๒๓ ส่งข่าวให้โยมบิดามาพบ

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ กับ หลวงปู่ขาว อนาลโย

พอหลวงปู่ออกจากกรรมฐาน คือสิ้นสุดการเดินธุดงค์ในครั้งนั้น ก็เดินทางไปกราบหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย กราบเรียนเรื่องความคิดที่อยากให้โยมบิดาของท่านบวช หลวงปู่อ่อน ท่านเห็นด้วย และรับปากจะช่วยดูแลสั่งสอนให้

เมื่อหลวงปู่เพ็ง กลับมาถึงวัดป่าศรีไพรวัน จังหวัดร้อยเอ็ด ก็รีบเขียนจดหมายถึงโยมบิดา ความว่า

“โยมพ่อ ในระยะแรกที่อาตมาเป็นฆราวาสอยู่ โยมพ่อให้อะไรก็ตาม อาตมาเต็มใจทำตามทุกอย่าง เป็นต้นว่า อยากให้อาตมาบวช อาตมาไม่ขัดข้อง ออกบวชให้ ต้องการให้ศึกษา อาตมาก็ศึกษาธรรม ต้องการให้ปฏิบัติกรรมฐาน อาตมาก็เดินธุดงค์กรรมฐานให้ จนบัดนี้สมความปรารถนาของโยมพ่อแล้ว

ส่วนเวลานี้ อาตมาไม่ต้องการอะไรแล้ว บาตร จีวร สบง อะไรก็แล้วแต่ อาตมาไม่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องการอะไรอีก

ขอเพียงอย่างเดียว ให้โยมพ่อบวชเป็นพระ ขอให้โยมพ่อมาวันนี้เลย ที่วัดป่าศรีไพรวัน”

หลวงปู่เพ็ง ให้โยมวัดนำจดหมายไปให้โยมบิดาและเตือนผู้ไปส่งว่า

“อย่าให้หายนะ ต้องส่งกับมือ อย่าลืม อย่าพลาด ถ้าไม่มีคนอยู่ก็ให้อ่านให้ท่านฟังด้วย เพราะท่านอ่านหนังสือไม่เป็น”

หลวงปู่กำชับอย่างแข็งแรง

หลวงปู่เล่าเหตุการณ์ที่สุดแสนยินดีในวันนั้นว่า

“พอดีวันนั้นเป็นวันพระ อาตมานั่งคอย เวลาบ่ายคล้อยประมาณ ๓-๔ โมงเย็น อาตมามองเห็นแต่ไกล ท่านนุ่งขาวห่มขาวมาเลย เดินตรงมายังวัด อาตมาเวลานั้นมันตื้นตันใจ ดีใจมาก ถ้าเป็นฆราวาสก็คงกระโดดเต้นทีเดียว อาตมาคิดว่าสำเร็จแน่คราวนี้ ไม่เสียทีที่นึกคิดไว้ อาตมาจดจำวันบุญที่บันดาลนั้นเท่าทุกวัน อยู่ก็เป็นสุข ตายก็เป็นสุข”

๒๔ ฝากโยมบิดาไปกับหลวงปู่อ่อน

เหตุการณ์ในวันนั้นช่างเหมาะเจาะลงตัวไปทุกอย่าง หลวงปู่เพ็งท่านเล่าว่า

“วันนั้น หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม ตำบลหนองบัวบาน อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี (ในขณะนั้น) ท่านเป็นองค์แสดงธรรมพอดี อาตมาดีใจและได้กราบเรียนท่านว่า กระผมอยากจะฝากโยมบิดาให้ไปอยู่กับหลวงปู่ด้วย

หลวงปู่อ่อน ท่านบอกว่า โอดีแล้ว เอาเลย แล้วท่านก็รับโยมบิดาของอาตมาไปอยู่ด้วย แต่ขณะนั้นท่านได้รับมอบหมายจากพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ไปอบรมธรรมที่โคราชโน่น จังหวัดนครราชสีมา บิดาของอาตมาก็ได้ติดตามหลวงปู่อ่อนไปตลอด จากวัดป่าสาละวัน ก็มาอยู่ที่อำเภอสีคิ้ว หลวงปู่อ่อนได้รับคำสั่งให้ไปประจำอยู่ที่นั่น ๓-๔ พรรษา ประมาณนั้นแหละ”

๒๕ การปฏิบัติธรรม ไม่ต้องเลือกเวลาและพิธีรีตรอง

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

หลังจากที่หลวงปู่เพ็งได้ฝากโยมบิดาให้เป็นตาผ้าขาวติดตามหลวงปู่อ่อนญาณสิริ แล้ว ต่างองค์ต่างก็แยกกันไป ท่านเล่าถึงการปฏิบัติในฝ่ายของท่านเอง ดังนี้

“ส่วนอาตมานี่เข้าป่าบ้าง สอนกรรมฐานให้ญาติโยมบ้าง เพราะตอนนั้นอาตมาเป็นนักเทศน์ ไปเรื่อยๆ มีเวลาเป็นต้องทำสมาธิกันเลย นิสัยนี้จึงติดตัวอาตมา คือไม่มีพิธีรีตองอะไร นั่งได้หลับตาแล้วกำหนดไปเลย สะดวก ได้ทุกกาล เรื่องภาวนานี่

พระพุทธเจ้าของเรานี้ เก่งมากจริงๆ ท่านรู้ว่าคนขี้เกียจมีมากพวกผัดวันประกันพรุ่งนี้เกือบล้นโลก พระองค์จึงสอนธรรมะว่าเป็นอะกาลิโก เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และเห็นผลได้ ไม่จำกัดกาลเวลา นี่ท่านว่าอย่างนี้ยังไม่สะดวกอีกหรือ”

๒๖ อาพาธหนักให้หลวงปู่คำดีช่วยรักษา

ในพรรษาที่ ๖ หลวงปู่เพ็ง เกิดอาพาธ

“ตอนนั้นอาตมาได้ ๖ พรรษาแล้ว ขณะเดินธุดงค์ในป่า อาตมาป่วยมาก แต่จะเรียกโรคอะไรไม่ได้ เพราะมันรุงรังไปหมด หลังจากนั้นอาตมาเจ็บมือ นี่ตรงแขนนี่นะ เป็นแผลร่องแก้ว ผอมก็ผอม ๓ วันป่วย ๔ วันหาย โรคเวรโรคกรรมนะ

หลวงปู่คำดี ปภาโส

อาตมารู้ว่าเป็นโรคเวรโรคกรรมก็ปล่อยใจสบาย ไม่ต้องทุกข์ ทุกข์ไปก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าเขาจะเอาตาย เราก็ไม่มีทางแก้ไข หาหมอวิเศษอย่างไร เลิศอย่างไรก็ต้องตาย แต่ถ้าเขาไม่เอาตายทันที มันก็ต้องหาย เราไม่กินยามันก็ต้องหายวันหนึ่งละ”

หลวงปู่เพ็ง ได้เดินทางไปอยู่กับหลวงปู่คำดี ปภาโส และอยู่ปฏิบัติธรรมกับท่าน

ช่วงนั้นน่าจะเป็นปี พ.ศ ๒๔๘๑ ตามประวัติ หลวงปู่คำดีอธิษฐานจำพรรษาที่วัดถ้ำกวาง บ้านหินร่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากเป็นที่ทุรกันดารมาก ไข้ป่าชุกชุม ท่านจึงตั้งสัจจะอธิษฐานอยู่ที่ถ้ำกวางนี้ ๕ พรรษา

หลวงปู่เพ็ง ได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่คำดี

“หลวงปู่คำดี ท่านรักษาโรคให้อาตมา ๑ พรรษาเต็ม จนหายขาดมาถึงบัดนี้ พรรษาต่อมาอาตมาได้ปฏิบัติอยู่กับท่าน เข้าอยู่ป่าช้าพร้อมกับพระอีกรวม ๘ องค์”

๒๗ จัดการบวชพระให้โยมพ่อ

ในช่วงที่หลวงปู่พำนักปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่คำดี ปภาโส ที่ถ้ำกวางนั้น ท่านได้รับจดหมายจากหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ จากจังหวัดนครราชสีมา มีข้อความสั้นๆ ว่า

“ท่านเพ็ง โยมผ้าขาวของท่านนี้ จะให้ผมจัดการบวชให้ หรือท่านจะจัดการบวชเอง”

หลวงปู่เพ็ง เขียนตอบกลับไปว่า

“กระผมจะจัดการบวชโยมบิดาเองครับหลวงปู่”

จากนั้นหลวงปู่เพ็งท่านก็จัดการเตรียมเครื่องบวช ลงมือด้วยตัวท่านเอง ทำการเย็บจีวร สบง สังฆาฏิ และอื่นๆ เสร็จในเวลา ๓ วัน ๓ คืน

ในปี ๒๔๘๒ หลวงปู่เพ็ง ก็ได้บวชโยมบิดาของท่าน เป็นหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ สถานที่ทำพิธีบวช ณ พัทสีมา วัดบึงพระลานชัย อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ทราบแต่เพียงว่าเวลา ๑๕.๑๘ น มีคณะสงฆ์ร่วมพิธี ๑๑ รูป โดยมี ท่านพระครูคุณสารพินิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ปลัดแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ปีนั้น หลวงปู่บัว อายุได้ ๕๓ ปีพอดี

หลังจากพิธีบวชแล้ว ทั้งหลวงปู่เพ็ง และหลวงปู่บัว ไปพำนักอยู่ที่วัดป่าศรีไพรวันในจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งหลวงปู่เพ็ง เป็นเจ้าอาวาสวัดในขณะนั้น ท่านพักอยู่ด้วยกันตลอด ๑ พรรษา

๒๘ หลวงปู่บิดาของท่านไปภาวนาที่มหาสารคาม

หลวงปู่เพ็ง เล่าเหตุการณ์ในช่วงนั้นว่า

“ช่วงนี้ ปี พ.ศ.๒๔๘๗ อาตมามีภาระมากมาย ออกเทศน์โปรดญาติโยมในถิ่นใกล้ไกลโดยส่วนมาก หาเวลาว่างยากทีเดียว ตอนกลางคืนสอนพระกรรมฐาน ที่ได้รับความรู้ต่างๆ จากครูบาอาจารย์และประสบการณ์ที่ได้รับมาด้วยตัวเอง และเห็นว่าอาตมาคงไม่มีเวลาแนะนำหลวงปู่ผู้บิดาเป็นแน่แล้วอาตมาจึงพาหลวงปู่ผู้บิดาเดินทางไปทางพระอาจารย์คูณ เพื่อฝากฝังไว้กับท่าน

พระอาจารย์คูณองค์นี้ ท่านเก่งทางด้านปฏิบัติภาวนามาก วัดที่ท่านอยู่ชื่อ วัดพูลศรีสารคาม จังหวัดมหาสารคาม เป็นวัดเก่า ชื่อเก่าแต่ขณะนี้ไม่ทราบว่าเปลี่ยนเป็นชื่ออะไร แต่ชื่อเก่าว่า วัดพูลศรีสารคาม

เมื่อไปพบฝากฝังกับท่านอาจารย์คูณแล้ว บิดาของอาตมาได้เที่ยวธุดงค์ไปกับท่านอาจารย์ไปเรื่อยๆ อยู่ป่านะ บิดาของอาตมาได้กรรมฐาน จากท่านมาก อาตมาเคยร่วมธุดงค์กับท่านคราวหนึ่งแล้ว ที่วัดนี้แหละ อาตมาได้มีโอกาสพบกับพระบุญนาค

“พระบุญนาค นี้ พวกโยมคงรู้จักชื่อเสียง ในหนังสือพระบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน ที่เคยอ่านประวัติท่านนั่นแหละ อาตมาพบท่านที่วัดนี้ และได้ออกเที่ยวธุดงค์กัน”

๒๙ เที่ยวกรรมฐานกับพระอาจารย์นาค

พระบุญนาค โฆโส

“สามเณรบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน”

หลังจากหลวงปู่บัวพระผู้บิดาของหลวงปู่เพ็ง อยู่ปฏิบัติภาวนากับพระอาจารย์คูณ ที่จังหวัดมหาสารคามแล้ว หลวงปู่เพ็งก็ออกเที่ยวกรรมฐานไปกับท่านพระบุญนาค โฆโส หรือที่ หลวงปู่ท่านเรียกว่า อาจารย์นาค นั่นเอง

หลวงปู่เพ็ง เล่าถึงพระอาจารย์บุญนาคว่า

“ท่านเก่งเรื่องธุดงควัตรมาก ชำนาญป่า ป่าดงสมัยก่อนนั้นไม่มีโปร่งอย่างทุกวันนี้ มืดมิดจริงๆ ทางเดินนี่ไปเป็นช่องเท่านั้นแหละ แสงตะวันไม่ต้องมองหรอก เอาจริงนะสมัยนั้น”

จากบันทึกด้วยลายมือของหลวงปู่เพ็ง ท่านเขียนเล่าไว้ดังนี้ (ข้อมูลส่วนนี้สับสนไปหน่อยไม่ยืนยันว่า จากบันทึกข้างล่าง กับเหตุการณ์ข้างต้นเป็นการออกธุดงค์ครั้งเดียวกันหรือไม่ ด้วยความเร่งรีบจึงไม่มีเวลาตรวจสอบความชัดเจนของข้อมูลได้ ต้องขออภัยด้วย – ผู้เขียน)

“…พอรู้ว่าสอบได้ ก็ลาอุปัชฌาย์ออกเดินธุดงค์จากสำนักเรียนเข้าร้อยเอ็ด เดินทางต่อถึงมหาสารคาม มีพระอาจารย์นาค โฆโส ก็เข้าศึกษาปฏิบัติกรรมฐานกับท่าน

มีพระด้วยกัน ๔ รูป สามเณร ๑ รูป คือ พระมหาแก่นจันทร์ ประโยค ๖ พระอาจารย์นาค พระเพ็ง เมตโย พระพัน สามเณรสุวะ อยู่ไม่นานท่านก็พาเดินธุดงค์ไปถ้ำพระเวส จังหวัดนครพนม อำเภอนาแก แต่แยกกันไปทีละรูปสองรูป ไม่ได้ไปด้วยกัน ต่างคนต่างไป

มหาแก่นจันทร์ ไปรูปเดียว อาจารย์นาคไปกับสามเณร พระเพ็งไปกับพระพัน ไปพบพร้อมที่ถ้ำพระเวส ก่อนจะถึงถ้ำพระเวสก็ผ่านถ้ำภูค้อ ของอาจารย์สอนก่อน

อาจารย์นาค กับสามเณร ถึงก่อน พระเพ็ง พระพัน ถึงที่ ๒ มหาแก่นจันทร์ถึงทีหลัง พักอยู่ถ้ำพระเวส ภายใน ๑๐ กว่าวัน ก็เดินทางกลับทางจังหวัดขอนแก่น เดินทางธุดงค์หนึ่งเดือนจึงถึง

มาพักปฏิบัติธรรมอยู่ป่าช้าบ้านเหล่างา สักพักหนึ่ง ก็เดินทางต่อ ไปปฏิบัติธรรมอยู่วัดป่าชัยวัน บ้านสีถาน พักอยู่หลายวัน”

น่าเสียดายอย่างยิ่ง บันทึกของหลวงปู่ หมดลงเพียงแค่นี้

๓๐ หลวงปู่บัวไปเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

หลวงปู่เพ็งได้เล่าถึงเหตุการณ์ทางด้านหลวงปู่บัว บิดาของท่านที่อยู่ปฏิบัติภาวนากับพระอาจารย์คูณที่จังหวัดมหาสารคาม ว่า

“ต่อมาพระอาจารย์คูณ ได้มรณภาพลง พระอาจารย์ส่วน ได้พาพระบิดาของอาตมาไปพบหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่บ้านหนองผือ (ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร)

เมื่อบิดาอยู่กับหลวงปู่มั่น เรียบร้อยแล้วอาตมาเห็นว่าหลวงปู่ผู้บิดาได้ครูบาอาจารย์ผู้เลิศด้วยปัญญาแล้ว จากนั้นอาตมาจึงค่อยห่างเหินท่านไป

สำหรับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต นี้อาตมาไม่มีวาสนาได้พบกับท่านเลย สู้หลวงปู่ผู้บิดาไม่ได้ ท่านมีวาสนาที่ได้เป็นศิษย์ของท่าน ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าหลวงปู่มั่น จำพรรษาอยู่ที่นั่นก็ตาม อาตมาแข่งบารมีท่านบิดาไม่ได้หรอก เพราะท่านมีคุณวิเศษหลายอย่าง”

๓๑ วิบากมาพรากออกไปครองเพศฆราวาส

ในพรรษาที่ ๒ หลวงปู่เพ็งพบวิบาก ต้องสึกออกไปครองเพศฆราวาสอยู่หลายปี ท่านได้เล่าเรื่องนี้ว่า

พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม อ.ท่าใหม่

จ.จันทบุรี มาคารวะศพหลวงปู่

“ในชีวิตก็ได้บวชเรียนเข้ามา อาตมาได้นำกาย วาจา ใจ เข้ามาหมดสิ้นเพราะรู้ดีว่าพระพุทธศาสนาเรานี้ ถ้าผู้ใดมีสติปัญญา ย่อมค้นคว้าได้ของดีติดตามไป เราอยู่ในเพศบรรพชิต ก็ต้องเพียรพยายามรักษากายวาจาใจ ในขอบข่ายของพระธรรมวินัย ส่วนการประพฤติในทางจิตแล้วเราต้องฝึกฝนด้วยตนเอง ไม่มีใครจะมาบังคับเรา ดีหรือชั่ว เราคนเดียวเท่านั้นจะได้รับ เราจะรู้ด้วยตัวเราเอง ใครบอกไม่ได้ หรือจะไปถามใครก็ไม่ได้เช่นกัน…

อาตมาบวชมาในครั้งแรก ทั้งพระและเณรรวมแล้ว ๑๓ พรรษา แต่เป็นที่น่าเสียดาย วิบากกรรมที่อาตมาหนีไม่พ้น มาพรากออกไปครองเพศฆราวาสเสียหลายปี อาตมาเสียทีกิเลสไปพักหนึ่ง

เรื่องนี้พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม อำเภอท่าใหม่จังหวัดจันทบุรี ท่านรู้ประวัติของอาตมาดี อาตมาเคยไปพักอยู่กับท่านหลายครั้งหลายหนนะ

ในสมัยที่ท่านอาจารย์สมชายออกบวชเป็นสามเณร อาตมาเคยเป็นผู้สวดให้ท่าน และหลังจากอาตมาออกบวชเป็นครั้งที่ ๒ อาตมาไปเยี่ยมท่านที่วัดเขาสุกิม จะทำความเคารพท่าน (กราบ) แต่ท่านไม่ยอม ท่านไม่ยอมให้อาตมาทำอย่างนั้น อาตมาต้องให้เหตุผลต่อท่าน อาตมาพูดจนผลสุดท้ายท่านยอม แต่ท่านก็เป็นพระดี ไม่ถือตัวนะ หลวงปู่ของท่าน อาตมาไปกราบอยู่เสมอๆ อาตมารู้จักกับท่านมานาน…”

หลวงพ่อสมชาย วัดเขาสุกิม กับหลวงปู่เพ็งท่านรักใคร่และเคารพนับถือซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี หลวงพ่อสมชาย ท่านนับถือหลวงปู่ในฐานะเคยเป็นครูอาจารย์ท่าน ทางฝ่ายหลวงปู่ก็นับถือหลวงพ่อสมชายตามพระธรรมวินัยที่อาวุโสพรรษามากกว่า ในการทำบุญวันเกิดของหลวงพ่อสมชาย กลางเดือนเมษายนทุกปี หลวงปู่เพ็ง ได้รับนิมนต์ไปร่วมเป็นประจำ ผู้เขียน (ปฐม นิคมานนท์) เคยขับรถไปส่งหลวงปู่หลายครั้ง

เมื่อหลวงปู่เพ็งมรณภาพ ศพของท่านได้ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดป่าสามัคคีธรรม จังหวัดร้อยเอ็ด หลวงพ่อสมชาย ยังได้มาคารวะศพด้วยตัวท่านเอง ทั้งๆ ที่ท่านกำลังอาพาธ และอยู่ในความดูแลของหมอ

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๔)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๕)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๖ จบ)

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น