สังเขปประวัติพระภิกษุสงฆ์

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๒)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม วัดป่าสามัคคีธรรม อำเภอเมือง ร้อยเอ็ด จาก หนังสือที่ระลึกงานฉลองเจดีย์พิพิธภัณฑ์สองหลวงปู่ วัดป่าสามัคคีธรรม อำเภอเมือง ร้อยเอ็ด รศ.ดร.ปฐม เรียบเรียงโดย ภัทรา นิคมานนท์

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๑)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม
พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม

๑๑ ต้องการโปรดโยมบิดาให้ละไสยศาสตร์

หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโมสมัยที่ยังอยู่เชียงรายได้เล่าประวัติของท่านในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับบิดาของท่านในสมัยที่ยังเป็นฆราวาสซึ่งได้รับการถ่ายทอดในนิตยสารโลกทิพย์ ดังต่อไปนี้

“บิดาของอาตมานี่ แต่เดิมท่านมีความรู้ทางด้านไสยศาสตร์มาก่อน เรื่องนี้บิดาศึกษามาตั้งแต่ยังหนุ่มๆ เลย ท่านเก่งมากเรื่องคุณไสยนี่นะ สมัยนั้นเขานิยมกันมากเรื่องนี้ บิดาก็เก่งมากในตำบลทีเดียว แต่มันก็อาศัยจิตใจที่เข้มแข็งของท่านนั่นแหละ

ทีนี้อาตมาต้องการให้ท่านได้ศึกษาทางธรรมบ้างเพื่อว่าท่านจะได้เลิกละเรื่องผีสางได้ อีกอย่างหนึ่งชาวบ้านแถบถิ่นอีสานโดยทั่วไปเขานับถือผีปีศาจอะไรพวกนี้นะ งมงายในเรื่องนี้มากทีเดียวละ

ตอนได้พรรษาที่ ๒ นี่ อาตมาก็ไม่เก่งในการสอนอะไรมากนัก เพราะเพียงรู้ทางด้านปริยัติบ้างเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติภาวนานั้นยังอ่อนมาก ด้วยความเพียรมุมานะภาวนามากเข้าๆ เป็นเหตุให้รู้ว่าการศึกษาจากตำราก็เป็นเพียงการเรียนรู้เนื้อหาธรรมะเท่านั้น ยังมิใช่เป็นการเรียนรู้เพื่อละเพื่อวาง

หมายความว่ารู้เพียงจำนวนจำกัด คือรู้หน้านั้น รู้หน้านี้ หมวดนั้น หมวดนี้ ใบนั้นใบนี้ แล้วต้องมาท่องจดจำให้ได้ อย่างนี้ภาษาธรรมเป็นเพียง สุตะ และ จินตมยปัญญา ยังไม่ได้เป็น ภาวนามยปัญญา ซึ่งเป็นความรู้ที่เกิดจากใจ ถ้ามีปัญญาอย่างตัวหลังนี้แล้วก็สามารถรู้ได้อย่างสารพัดทีเดียว พระพุทธเจ้าของเราจึงสามารถเป็นผู้รู้โลกได้แจ่มแจ้ง

อาตมายิ่งภาวนาก็ยิ่งมีกำลังใจ แรกๆ นี่นะมันตื่นเต้นเรื่องเดินธุดงค์ อาตมาไปทุกแห่งในละแวกเขตอำเภอต่างๆ ในจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดขอนแก่น ไม่ว่าในป่าช้า ป่ารกใดๆ อาตมาไม่ย่อท้อ ไม่เกรงอันตรายที่จะเกิดขึ้น เพราะได้แน่ใจแล้วว่า พระธรรมคำสอนเป็นความจริง และธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

ศีล ที่เรารักษาอยู่ ก็ช่วยเราได้จริง

สมาธิภาวนา ก็มีจริง เพราะสามารถทำจิตใจของตนเองให้เกิดสมาธิได้ สงบได้

ปัญญา ก็มีจริง เพราะเราได้ทำสมาธิภาวนาเสมอๆ ความรู้ความนึกคิด มันเกิดขึ้นเอง โดยที่ตนเองไม่เคยคิดมาก่อน

เมื่อได้ปัญญาความรู้ที่เห็นนี่ เวลาอาตมาสอบนักธรรมโทก็ไม่เป็นของยาก เพราะมันรู้มาก่อนแล้ว อาตมาพยายามมากจริงๆ เพราะเริ่มเข้าใจ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้ว

อาตมามีความคิดว่า มันรู้ชัดตามความเป็นจริง จนเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนาแล้ว อาตมาจึงย้อนกลับวัดมุ่งหวังจะมาเทศนาโปรดบิดาให้ออกเสียจากคุณไสย และพวกผีปีศาจให้ได้”

๑๒ เทศน์ชักจูงโน้มน้าวใจโยมบิดาทั้งคืน

พอตกเย็น หลวงปู่เพ็ง (อายุพรรษา ๒) ได้ไปที่บ้านโยมบิดาเป็นครั้งแรก เพราะตั้งแต่บวชแล้วไม่เคยเข้าบ้านเลย โยมบิดามารดาต่างตื่นเต้นดีใจที่เห็นพระลูกชายมาโปรดถึงบ้าน

บรรดาเพื่อนบ้านที่รู้จักมักคุ้นต่างทยอยกันมาพูดคุย ถามถึงทุกข์สุขต่างๆ จนได้เวลาอันสมควรก็ทยอยกันลากลับ

เมื่อแขกเหรื่อกลับไปหมดแล้ว ยังเหลือเฉพาะพระลูกชายและโยมบิดา อยู่กันสองต่อสอง ทางพระจึงเปิดฉากเทศน์ชักจูงบิดาตามที่ตั้งใจมา ว่า

“วันนี้ อาตมามีความประสงค์ขอร้องโยมพ่อสักเรื่องหนึ่ง อาตมาหวังว่าโยมพ่อคงให้ได้ สำหรับตัวอาตมาเองได้รับฟัง และทำตามโยมพ่อมาตลอด อาตมาทำตนตรงตามความประสงค์ของโยมพ่อแล้ว คือ ต้องการให้บวชเรียน อาตมาก็บวชเรียนแล้ว เรื่องนี้โยมพ่อเข้าใจดี ตั้งแต่บวชเรียนมา อาตมาได้หันมาประพฤติปฏิบัติภาวนา จนมีความรู้ความเห็นเป็นความจริงทุกประการ

อาตมาอยากให้โยมพ่อกระทำตนอยู่ในพระรัตนตรัย โดยถือหลักพระไตรสรณาคมน์ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ

ขอให้โยมบิดาจงเลิกนับถือเรื่องผีปีศาจ และจงละความเชื่อถือคุณไสยนั่นเถิด ภูตผีปีศาจไม่ได้ให้คุณประโยชน์อะไรแก่เราเลย ของพวกนี้มันไม่จ่ริงหรอก มันไม่สามารถทำให้พวกเราพ้นทุกข์ได้ นอกจากจะขาดจากพระไตรสรณาคมน์แล้ว ยังเป็นโทษแก่เราอีกด้วย

โยมพ่อเชื่อถือเรื่องพวกนี้ เป็นเหตุให้ต้องกักขังวิญญาณต่างๆ ไว้ เขาได้รับความทุกข์ เขาจะไปเกิดก็ไม่ได้ เขาจะไปไหนก็ไม่ได้ เพราะเราไปบังคับข่มขู่เขาไว้ มันไม่ดีเลยนะโยมพ่อ

ถ้าหากวันใดจิตใจเราไม่เข้มแข็ง หรือวิบากกรรมติดตามเรามาถึง พวกนี้จะย้อนกลับมาทำลายเรา โยมพ่อคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า หมองูตายเพราะงู”

๑๓ น้อมกายใจเข้าหาพระรัตนตรัย

พระลูกชาย เทศน์โน้มน้าวใจโยมบิดาให้หันเข้าหาพระรัตนตรัยดังนี้

“สิ่งที่จริงแท้ คือ คำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเมตตาสั่งสอนอบรมเวไนยสัตว์ให้กระทำความดี ถ้าผู้ใดมีทาน ศีล ภาวนา แล้วชีวิตจะไม่เป็นหมัน คือไม่สูญเปล่า ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ จะพบกับความสุขสงบในชีวิต

มนุษย์เราในโลกนี้ โยมพ่อโปรดตรองดูเถิดว่า ทำไมจึงต้องรับทุกขเวทนากันนัก ต้องตรากตรำการงานอย่างหนัก แม้ไม่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ก็ต้องได้มาด้วยความทุกข์ของผู้อื่น

คนเราแม้จะดิ้นรนอย่างไรก็ตาม ก็ยังเกิด ยังแก่ ยังเจ็บ ยังตาย ไม่สุดสิ้น ตายสลับซับซ้อน ถมทับลงดิน คนแล้วคนเล่า

เมื่อเกิดมาแล้ว มองหาความสุขของแต่ละคนไม่ได้เลย ต่างดิ้นรนเพื่ออยู่รอดตลอดกาล บางคนเกิดมาแล้วเป็นคนทุกข์ ยากจน บางบ้านจะหาของมากินก็แสนจะลำเค็ญ เลี้ยงปากท้องตนเองแทบไม่มีอยู่แล้ว ลูกที่เกิดมายังต้องได้รับทุกข์ไปด้วย ถึงกระนั้นคนก็ยังอยากเกิด

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะอะไร เพราะไม่เชื่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่น้อมจิตใจให้เข้ามาอยู่ในพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั่นเอง ถ้าเข้ามาจริงแล้ว มีพระรัตนตรัยในจิตใจแล้ว จะไม่เป็นเช่นนี้ บางคนฆ่ากันติดต่อกันไปจนถึงลูกหลานของตนเอง บางทีฆ่ากันแต่ละครั้ง ๓-๔ ศพ ก่อเวรก่อกรรมไม่สิ้นสุด นี่เพราะอะไร เพราะไม่เชื่อพระพุทธเจ้าสอน

โยมพ่อเองก็มีความรู้เรื่องพระศาสนาดี ถ้าไม่รู้ก็คงไม่ให้อาตมาบวช ความผิดความถูกโยมบิดาก็รู้ ลัทธิพราหมณ์ขอให้โยมบิดาเลิกเสียเถิด จงน้อมกายใจเข้าหา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกถึง จะดีกว่า เรื่องลัทธิพราหมณ์ พระพุทธเจ้าของเราเคยศึกษามาแล้ว

พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า ไม่เป็นทางออกของจิตใจ มันจะพากันหมักหมมในดวงจิตดวงใจ มันเป็นทางโลกียะทั้งนั้น ไม่เป็นทางโลกุตระ

หมายเหตุ :ในแถบที่หลวงปู่อยู่ มีลัทธิพราหมณ์ ลัทธิฮินดู แพร่หลายอยู่ ตัวอย่างเช่น หลวงพ่อสมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ก็มาจากครอบครัวพราหมณ์ ถือศาสนาฮินดูอย่างเคร่งครัดมาก่อน ด้วยท่านเป็นครูผู้นำประกอบพิธีการในลัทธิศาสนาฮินดู ต่อมาภายหลังท่านเดินทางไปที่วัดป่าศรีไพรวัน อ เมืองร้อยเอ็ด เข้าถวายตัว บวชเณรอยู่กับเจ้าอาวาส คือ พระอาจารย์เพ็ง เมตโย ในขณะนั้นซึ่งก็คือหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ในภายหลัง เมื่อท่านบวชครั้งที่ ๒

ข้อมูลจากหนังสือ ๘๐ พระกรรมฐานของนิตยสารโลกทิพย์

๑๔ เราคนไทย มีพระพุทธศาสนาประจำชาติ

พระลูกชาย เทศน์โปรดโยมบิดาต่อไปว่า : –

“เราเป็นคนไทย มีพระพุทธศาสนาประจำชาติ อีกทั้งยังมีครูบาอาจารย์ที่สามารถอบรมสั่งสอนเอาให้ได้รับความรู้ก็มีมาก สู้เราไปศึกษากับท่าน แล้วนำพระธรรมมาประพฤติปฏิบัติเสีย จะไม่ดีกว่าหรือ

อย่างอาตมา แต่ก่อนไม่เคยมีความรู้อะไรเลย ไม่มีวิชาอะไรเลย แต่เวลาออกป่า เดินธุดงค์ไปอยู่ตามป่าเขาราวไพร อาตมาก็เดินไปโดดเดี่ยว ไม่มีอะไรป้องกันตัว อาตมาไม่กลัวภูตผีปีศาจอะไร แม้กระทั่งสัตว์ ด้วยเหตุนี้อาตมาไปเพื่อศึกษาโมกขธรรม ออกเที่ยววิเวก

พระพุทธเจ้าของเรานี่ พระองค์ทรงเป็นถึงพระมหากษัตริย์พระองค์จะหาธรรมยังต้องหลบหนีเข้าอยู่ป่า แม้จะดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน พระองค์ก็ดับขันธ์ในป่า

อนึ่ง อาตมามีแต่ความดี มีศีลรักษาตัวเท่านั้น สัตว์เล็กสัตว์น้อยก็ไม่คิดเบียดเบียนเขา เราไม่ไปทำร้ายเขา แล้วอยู่เป็นสุข ตายก็เป็นสุข ด้วยกันทั้งสิ้น

อาตมาเคยเห็นชาวบ้านที่เข้าป่า แล้วถูกเสือถูกช้างฆ่าเอาตาย นั่นเป็นเพราะอะไรกัน ก่อนออกป่า เขาก็ได้บวงสหลวงเทวดา ทำการไล่สิ่งที่เป็นเสนียดจัญไรออกจากตัว แถมยังขอน้ำมนต์ ลงยันต์ สะเดาะเคราะห์ ไหว้ผีไหว้สางก่อนเข้าไป

เมื่อเข้าไปแล้ว อยู่ในป่าก็เที่ยวหาสัตว์ ฆ่าสัตว์ เอามาหุงหากิน นั่นแทนที่จะเอาเสนียดจัญไรออกจากตัว กลับนำเสนียดจัญไรใส่ตัวเสียอีก ในที่สุดก็ต้องตาย เข้าไปเบียดเบียนเขา แล้วอะไรจะช่วยเราได้”

๑๕ เข้าป่าเดินธุดงค์เพื่อขัดเกลากิเลส

พระลูกชาย เทศน์รุกโยมบิดาต่อไปว่า : –

“อาตมาเข้าป่าเดินธุดงค์ เพื่อขัดเกลากิเลสตัณหาออกจากใจ ไม่ได้ไปเบียดเบียนเขา สัตว์ร้ายจำพวกเสือ ช้าง งูพิษ ก็ไม่เห็นจะทำอะไร อยู่อย่างสงบ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเดิน ต่างคนต่างไป อยู่ด้วยกัน นอนด้วยกันในป่าเขา เอาธรรมชาติเป็นที่อยู่ เอาธรรมเป็นที่พึ่ง เอาบารมีเป็นที่นำทาง

นอนโคนไม้ ไม่มีหน้าต่าง ประตู ถ้าเขาจะมาทำร้าย อาตมาก็ไม่ว่า ไม่พยาบาท ไม่จองเวร ทำจิตใจสบาย ไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความหลง ไม่มีความรัก แม้แต่ตัวเอง นอกจากความดีมีไว้ประจำตน

พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายสอนว่า ให้ระงับเวรด้วยการไม่จองเวร ฉันใด ความดีของเราที่ได้กระทำขึ้นไว้ในจิตใจ ก็ย่อมมีบารมีเกื้อกูลรักษา ไม่นำเราไปตกในที่ชั่วหรอก

พระพุทธเจ้าของเราพูดไว้ไม่ผิดหรอก คำสั่งสอนของพระทุกองค์เป็นหนึ่งไม่มีสอง ขอให้โยมบิดาโปรดพิจารณาเอาเองเถิด”

๑๖ อ่อนใจแต่ไม่ท้อใจ

หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ได้เล่าให้ลูกศิษย์ฟังถึงความพยายามในครั้งนั้นว่า

“คืนนั้น อาตมาพูดให้โยมบิดาเข้าใจ พูดให้ท่านออกจากภูตผีปีศาจ อาตมาหวังให้ได้ แต่ท่านไม่ยอมเชื่ออาตมา ท่านว่า เรียนหนังสือเพียงเล่มเดียวไม่เชื่อ ท่านว่าอาตมาศึกษานวโกวาทมาเพียงเล่มเดียว

อาตมากับโยมบิดาทะเลาะกันอยู่อย่างนั้นทั้งคืน คือตั้งแต่หัวค่ำไปจนยันแจ้ง ท่านก็ไม่ยอม อาตมาอ่อนใจมาก แต่ในใจคิดว่าต้องพยายามให้ท่านเชื่อไม่วันใดก็วันหนึ่ง ต้องการให้ท่านปฏิบัติให้ได้

เอาเถิด วันนี้ยังไม่ยอม สักวันหนึ่งจะต้องเอาให้ได้ อาตมาไม่ลดละความพยายาม เพราะคิดจะดึงบิดา มารดาให้ออกจากการยึดถือเรื่องคุณไสยให้ได้”

๑๗ โยมบิดาพ้นวิบาก

หลวงปู่สีโห เขมโก

วัดป่าวิเวกธรรม จ.ขอนแก่น

หลวงปู่ได้เล่าเรื่องการชักจูงโยมบิดาให้เลิกเรื่องไสยศาสตร์จนสำเร็จในเวลาต่อมา ดังนี้

“ต่อมา พ้นพรรษาที่ ๓-๔ เหมือนบิดาของอาตมาจะหมดวิบากกรรม บังเอิญ พระอาจารย์สุภี แห่งวัดบ้านหนองบุ้ง จังหวัดขอนแก่น ได้เดินทางมาพักที่วัดอาตมา” (วัดป่าศรีไพรวัน จ ร้อยเอ็ด)

พระอาจารย์สุภี เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ศรี มหาวีโร ต่อมาได้ไปศึกษาปฏิบัติพระกรรมฐานกับหลวงปู่สีโห เขมโก ที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย (ภายหลังหลวงปู่สีโห ไปพำนักประจำอยู่กับหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ที่ป่าช้าบ้านเหล่างา ซึ่งต่อมาเป็นวัดป่าวิเวกธรรม อ.เมือง จ.ขอนแก่น)

หลวงปู่เพ็ง เล่าถึงเหตุการณ์ว่า

“พระอาจารย์สุภี เดินทางมายังหมู่บ้านที่อาตมาอยู่ และได้ไปพักที่วัดของอาตมา จึงได้รับบารมีจากท่านให้เทศนาโปรดบิดา ไม่ทราบว่าอะไรมาดลใจโยมของอาตมา ท่านเชื่อเลย จนเลื่อมใสพระฝ่ายปฏิบัติพระกรรมฐาน รวมทั้งโยมมารดาก็เชื่อถือ ยอมรับฟัง ตอนที่อาตมาไปเทศน์ให้ท่านฟัง ท่านไม่เชื่อ แถมยังเถียงแทบล้มตาย ชักแม่น้ำหมดเมืองไทยท่านก็ยังไม่ลดถอย

พอพระอาจารย์สุภีมาเทศน์ให้ฟัง ท่านยอมเชื่อทั้งบิดามารดา เมื่อท่านเชื่อแล้ว ก็มาปฏิญาณตนเข้าถือพระไตรสรณาคมน์เป็นที่พึ่ง ท่านเลยทิ้งภูตผีปีศาจคุณไสยจนหมดสิ้น ตั้งแต่บัดนั้นมา ท่านรับศีล นุ่งขาวห่มขาว”

“แหม…กว่าจะดึงท่านออกได้ มันเป็นเวลานานพอดูทีเดียว” หลวงปู่สรุปในตอนท้าย

๑๘ ตัดสินใจออกท่องธุดงค์

หลวงปู่เพ็ง มีความคิดที่จะออกท่องธุดงค์ โยมบิดาก็สนับสนุน ท่านเล่าเหตุการณ์ ดังนี้

“หลังจากนั้นมา อาตมาไม่ประสงค์จะศึกษาทางด้านปริยัติธรรมต่อไปแล้ว อยากเข้าป่าเดินธุดงค์เพียงอย่างเดียว เพราะรักที่จะเดินธุดงค์มากกว่า ได้ตัดสินใจไว้ล่วงหน้า สู้หันมาปฏิบัติไม่ได้ ขอเป็นพระกรรมฐานดีกว่า สิ่งที่เราได้รับได้เห็นมาจากจิตใจ มันชัดแจ้งยิ่งกว่าท่องในหนังสือมากมายนัก

เราอยากจะรู้อยากจะเห็น ก็นั่งภาวนาไป จิตภายในมันจะค้นคว้าสอนเราเองตลอดเวลา จนบางครั้งยังมานึกเลยว่า เอ…นี่เรารู้ได้อย่างไรกัน เราไม่ได้อ่านหรือศึกษาที่ใดมาก่อนนี่นา ทำไมมันจึงรู้อย่างดีเสียอีก นั่นแหละอาตมาเอาชีวิตจิตใจเข้าโถมเลย สู้ตาย

เมื่ออาตมาดึงบิดา มารดาเข้ามาได้แล้ว ก็วางจิตใจลงไป ออกเที่ยวธุดงค์ทันที ฝ่ายโยมบิดา โยมมารดาทราบข่าวก็มานิมนต์ให้อาตมาออกธุดงค์”

หลวงปู่ขาว อนาลโย

หลวงปู่ได้เล่าถึงความเป็นคนเอาจริงของบิดา ท่านว่า : –

“ตอนแรกท่านให้อาตมาเรียนพระปริยัติธรรม แต่พอท่านมารู้เรื่องพระกรรมฐานจากพระอาจารย์สุภี ท่านเห็นว่าเป็นทางวิเศษ เป็นทางที่สามารถจะพาไปให้พ้นทุกข์จริง ท่านจึงนิมนต์ให้อาตมาออกกรรมฐาน

โยมบิดาของอาตมานี่ท่านมีความศรัทธาจริง ไม่ว่าเรื่องอะไร ถ้าเกิดศรัทธาขึ้นมาละก็ ท่านเอาเป็นเอาตายทีเดียว เช่นว่าให้อาตมาบวช พอบวชแล้วก็ให้ศึกษาด้านปริยัติธรรม พอรู้เรื่องภาวนา ท่านเกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า ก็มานิมนต์ให้อาตมาเข้าป่าไปเลย

นี่จิตใจท่านเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว ใจนักเลง ท่านจึงทำอะไรก็ตามจะต้องสำเร็จผลไปหมด ท่านไม่ยอมถอยหลังให้อุปสรรค จนหลวงปู่ขาว อนาลโย เคยพูดกับอาตมาภาพว่า พ่อของพระเพ็งเป็นคนวิเศษ

ก่อนที่อาตมาจะเข้าป่าเดินธุดงค์ โยมบิดาได้ซื้อหาบาตรลูกใหม่ แล้วนำมาถวายอาตมา อาตมาจึงต้องออกธุดงค์เรื่อยมา”

หมายเหตุ : ทำไมพระสายกรรมฐานจึงใช้บาตรใบใหญ่?

เพราะท่านใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการบิณฑบาตตามปกติ เช่นท่านฉันในบาตร (แบ่งเท่าที่ฉันหมด ยกเว้นครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ ท่านจะเผื่ออาหารให้ลูกศิษย์ ถือเป็นข้าวก้นบาตรด้วย) ใช้ใส่สัมภาระเวลาเดินทาง จำพวกหยูกยาไม้ขีด มีดโกน และของใช้ที่จำเป็น รวมทั้งใช้เก็บจีวร สังฆาฏิ ผ้าต่างๆ ป้องกันไม่ให้เปียกเวลาฝนตกด้วย – ผู้เขียน

๑๙ ตั้งใจปฏิบัติภาวนาในป่าเขา

หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ได้บันทึกด้วยลายมือของท่านเอง ดังนี้ : –

“ปี ๒๔๗๙ พอรู้ว่าสอบ (นักธรรมชั้นโท) ได้ ก็ลาอุปัชฌาย์ ออกเดินธุดงค์จากสำนักเรียนเข้าร้อยเอ็ด เดินทางต่อถึงมหาสารคาม เป็นสำนักปฏิบัติป่าช้าจังหวัดมหาสารคาม มีพระอาจารย์นาค โฆโส ก็เข้าศึกษาปฏิบัติกรรมฐานกับท่าน

มีพระด้วยกัน ๔ รูป สามเณร ๑ รูป คือ พระมหาแก่นจันทร์ ประโยค ๖ พระอาจารย์นาค พระเพ็ง เมตโย พระพัน สามเณรสุวะ อยู่ไม่นานท่านก็พาเดินธุดงค์ไปถ้ำพระเวส จังหวัดนครพนม อำเภอนาแก…”

หมายเหตุ: พระอาจารย์นาค โฆโส ได้บันทึกเรื่องราวของท่านไว้ในหนังสือชื่อ สามเณรบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน ตามประวัติ พระอาจารย์นาคเป็นพระกรรมฐานที่มีใจเด็ดเดี่ยว ออกท่องธุดงค์ตามป่าเข้าอย่างมอบกายถวายชีวิต เรื่องราวของท่านเข้มข้นมาก ท่านเป็นพระตรง พูดตรง ทำจริง ท่านมีกิตติศัพท์ในการต่อสู้ฟาดฟันกับพระผู้ประพฤตินอกรีตนอกรอย ไม่ว่าพระผู้ใหญ่หรือผู้น้อยก็ตาม ท่านก็ไม่ละเว้น

หลวงปู่เพ็งได้รับการถ่ายทอดบุคลิก และนิสัยบางส่วนจากพระอาจารย์นาคได้แก่ ความเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นทำจริงพูดตรง ในกรณีพระดังๆ ที่มีเรื่องราวทางสื่อมวลชน หลวงปู่จะพูดก่อนสื่อเหล่านี้ไว้นาน บอกว่า “ให้คอยดูบักนั่นเด้อ มันไปได้บ่นานดอก…” และก็เป็นจริงทุกรายเท่าที่ผ่านมา – ผู้เขียน

๒๐ ดิฉันขอลาเพื่อไปแต่งงาน

หลวงปู่ เล่าถึงการปฏิบัติภาวนาในครั้งนั้นของท่านว่า

“ในพรรษานี้ อาตมายิ่งตั้งใจมาก อาตมาเพียรภาวนาตามถ้ำผาป่ารกตลอดพรรษา ในใจของอาตมานี่มันโปร่งเบาอย่างบอกไม่ถูก อารมณ์นี้นะมันเกิดขึ้นมาอย่างประหลาด

อาตมานั่งบำเพ็ญเพียร เดินจงกรม ขนาด ๓ วัน ๓ คืน นี่เฉยไปเลยไม่หิวไม่โหยอะไร ขยันปฏิบัติมาก ความเพียรไม่อ่อนแรงเลย มันยิ่งรุดหน้าไปไกล

ขณะที่พิจารณาภายในกลด อาตมาเกิดมีความรู้สึกว่าโยมบิดานี่ สมควรจะให้บวช เพราะท่านมีอายุมากแล้ว การงานใดๆ ก็สมควรปล่อยมือได้แล้ว สมบัติเงินทองนี่ทำไปเท่าไรๆ มันก็ไม่พออยู่นั่นเอง

ตัณหา ความทะยานอยาก ถ้ามันเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้ว ขนาดแก่จะตายก็ยังดิ้นรน การดิ้นรนนี้ ถ้าใครมีแรงมากก็ดิ้นรนไปไกล ถ้าคนมีกำลังน้อยหรือแทบไม่มีเลยนี่ซี มันน่าสมเพชเวทนา อาตมาเคยตั้งใจไว้ถ้าออกจากการเดินธุดงค์ กลับไปถึงบ้าน ต้องให้ท่าน (โยมบิดา) บวชเป็นพระให้ได้

อาตมาย้อนกลับวัดบ้านเกิด พอมาถึงวัดแล้ว โยมผู้หญิงที่เคยมีสัมพันธ์ตั้งแต่อดีต สมัยที่รู้จักกันตอนฆราวาส เขามาหาอาตมา

พอมาถึง เขาก็บอกว่า ดิฉันขอลาเพื่อไปแต่งงาน โอ้…เขาอดทนจริงนะ รออาตมา ๕ ปี อาตมาก็ให้พรให้เขาไปมีความสุข”

๒๑ เห็นกิเลสตัณหา เป็นกระจกเงาส่องตนเอง

หลวงปู่ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องตัณหาราคะที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมให้เจริญก้าวหน้า ว่า

“เรื่องตัณหานี้สำคัญนะ ถ้าคิดจะปฏิบัติภาวนาแล้ว ควรละเรื่องรัก เรื่องโลภ เรื่องหลงให้ได้เด็ดขาด เราจะมาสุมไว้ทำไม ไม่มีประโยชน์อะไร ตัวนี้มันบั่นทอนกำลังสมาธิมาก เพราะมันร้อนรน มันทำให้จิตใจแส่ส่ายไปมา ภาวนาก็ไม่เกิดผล จิตใจมันไม่สงบ ถ้าอยากให้สงบต้องฝึกละฝึกวาง

ตัวตัณหาราคะนี้ มันทำให้คนเราหลงทางได้เป็นคนขาดสติ…

อาตมาไปเห็นมาที่เมืองลาว เวียงจันทน์โน่น มันน่าสงสารนะ คนเราอายุ ๕๐-๖๐ ปี แต่ไม่พิจารณาให้เห็นความเสื่อมโทรมในร่างกายของตน อาตมาว่าสู้เด็กเกิดในวันนั้นไม่ได้ ปล่อยตัวปล่อยใจเข้าคลุกกับตัณหาราคะ เข้าบาร์ไปเต้นย็อกแย็กๆ อาตมาดูแล้วเหมือนไส้เดือนถูกขี้เถ้า หนังก็เหี่ยวย่น ฟันก็หัก ตาฝ้ามัว โอ…ไปอยู่ได้อย่างไรในสถานที่อย่างนั้น

ทำไมอายุขนาดนั้นแล้ว เขาไม่ยอมพิจารณาดูตัวเองว่ามีความเกิด-ดับของสังขารเลย ไปมั่วกับพวกเด็กผู้หญิงอายุ ๑๖-๑๘ ปี เอาเด็กพวกนี้มาขี่คอไว้ เมากันนะ เหล้ายาฝิ่น กัญชา ของเลวทั้งนั้นแหละ

ของอย่างนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงถือเอาว่าผู้ทรงคุณธรรมนั้นประเสริฐกว่าผู้มีอายุมากแต่ไม่มีคุณธรรม พวกนี้ไม่มองสภาพร่างกายของตน เก่าแก่ชำรุดทรุดโทรมอยูทุกวัน จิตใจไม่มีสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่า เกิดมาไม่มีประโยชน์แก่ตนเองเลยแม้แต่นิด

อาตมามองเห็นสิ่งนี้เป็นกระจกเงา เลยดูตนเองบ้าง โอย..รีบข้ามโขงมาเลย อยู่ไม่ได้ เวลาจะหมดเอา นี่มันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ ตั้งใจว่าตายในผ้าเหลืองเลยในชาตินี้”

๒๒ ชีวิตนี้ลำบาก อยากให้บิดาบวช

หลวงปู่ได้เล่าถึงคำปรารภของท่านที่คิดอยากให้โยมบิดาของท่านบวชเป็นพระภิกษุ

“อาตมาเห็นว่าภาคอีสานของเรานี่มีสิ่งชี้บอกธรรมะมาก ความหลงน้อยในสมัยนั้น เพราะมันกันดาร สมัยนั้นอีสานแล้ง ชาวอีสานเหมือนมีกรรม ชีวิตมันเกิดมาพร้อมกับความอับเฉา อีสานบ้านเรา หน้าฝนนี่ พอเกิดความชุ่มชื้นขึ้นมา ก็โน่น…น้ำท่วมไปถึงชื่อถึงแปบ้าน อาหารการกินก็ต้องลำบาก วัวควายเลี้ยงไว้หนีน้ำไม่ทันก็ล้มตายลงไป ท่วมทุกปี ต้นข้าวกำลังจะเก็บเกี่ยวได้ น้ำก็มาท่วม น้ำตาตกในกันทั่วหน้า

พอถึงหน้าแล้ง จะหาน้ำดื่มก็แสนลำบาก น้ำดื่มนี่หายากกว่าทองคำนะ ออกไปหาน้ำกันแต่ละทีเป็นกิโลๆ เลยนะ แล้วแล้งติดต่อกันได้ ๖-๗ ปี

อาตมาสงสารชาวบ้าน สงสารโยมบิดามากทีเดียว แต่ละปีอาตมาก็ไม่รู้ว่าท่านเลี้ยงลูกมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ท่านถือศีล ๘ มาตลอด หน้าแล้งท่านไปหาอะไรมาให้ลูกกิน หน้าน้ำท่วม กุ้ง ปลา ท่านก็ตกหรือหากินไม่ได้ แล้วท่านทำอย่างไร มันน่าอนาถใจ

นี่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ มนุษย์เกิดมามีกรรมเป็นเครื่องอาศัย มีกรรมเป็นมรดก ทำดีก็ได้รับผลดี ทำชั่วก็ได้รับผลชั่ว เราจะได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป

อาตมาคิดว่า บัดนี้เราได้มาพบกับทางแห่งความสุข ทางแห่งพระอริยเจ้าทุกๆ องค์ปรารถนา ไม่มีทางใดจะประเสริฐกว่าทางนี้อีกแล้ว สมควรให้โยมบิดาได้บวชเป็นพระสงฆ์ เรื่องการเป็นอยู่ทางบ้านก็ไม่ต้องเป็นห่วงอะไรอีก ทรัพย์สมบัติต่างๆ มอบให้มารดาและพี่น้องเขาปกครองกันเอง ให้คนที่เขายังต้องการอยู่”

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๓)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๔)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๕)

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม (ตอนที่ ๖ จบ)

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น