คำว่า อิทธิบาท แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ หรือ ธรรมที่ทำให้บรรลุสำเร็จผล ๔ ประการ หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรม เครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๔ ประการได้แก่
- ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
- วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น
- จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
- วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น
ธรรม ๔ อย่างนี้ ย่อมเนื่องกัน แต่ละอย่างๆ มีหน้าที่เฉพาะของตน
ฉันทะ คือ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น ความพอใจ ในฐานะเป็นสิ่งที่ตนถือว่าดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้ ข้อนี้เป็นกำลังใจอันแรกที่ทำให้เกิดคุณธรรมข้อต่อไปทุกข้อ
วิริยะ คือ ความพากเพียรในสิ่งนั้น ความพากเพียร หมายถึง การการะทำที่ติดต่อ ไม่ขาดตอน เป็นระยะยาวจนประสบความสำเร็จ คำนี้ มีความหมายของความกล้าหาญเจืออยู่ด้วยส่วนหนึ่ง
จิตตะ หมายถึง ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ความไม่ทอดทิ้งสิ่งนั้นไปจากความรู้สึกของตัวทำสิ่งซึ่งเป็นวัตถุประสงค์นั้นให้เด่นชัดอยู่ในใจเสมอ คำนี้ รวมความหมายของคำว่าสมาธิอยู่ด้วยอย่างเต็มที่
วิมังสา หมายถึง ความสอดส่องใน เหตุและผลแห่งความสำเร็จเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ให้ลึกซึ้งยิ่ง ๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้รวมความหมายของคำว่าปัญญาไว้อย่างเต็มที่