ปฐมบทเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า

พระเจ้าสิบชาติ – พระมโหสถ (ในราชสำนัก)

พระเจ้าสิบชาติ - พระมโหสถพระเจ้าสิบชาติ - พระมโหสถ

ในราชสำนัก

แก้วมณีในรังกา

ในด้านทิศใต้ไม่ไกลจากประตูเมืองนัก มีสระใหญ่อยู่สระหนึ่ง ใกล้ๆ สระนั้นก็มีต้นตาลขึ้นอยู่ด้วย มีสิ่งประหลาดเกิดขึ้นภายในสระ ยามแสงอาทิตย์ส่องจะปรากฏมีรัศมีพร่างพรายภายในสระ ประชาชนพากันพิศวงไม่รู้ว่าอะไรแน่ แต่ก็คิดว่าคงเป็นของดีแน่ บางคนถึงกับลงไปงมในสระ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้อะไรขึ้นมา พอหมดแสงอาทิตย์ รัศมีอันเลื่อมพรายนั้นก็หายไป

จึงได้เกิดเป็นข่าวเล่าลือกันไปถึงว่าน้ำในสระเป็นของวิเศษกินแก้โรคภัยไข้เจ็บได้ทุกชนิด ใครมีเคราะห์หามยามร้ายอย่างไร เอาน้ำในสระไปรดจะหาย หรือบรรเทาเบาบางไป

ประชาชนบางคนหัวคิดดี ก็นำเอาภาชนะสำหรับใส่น้ำเป็นต้นว่า ขวดหรือกระป๋องมาไว้จำหน่ายจ่ายแจกแก่พวกที่จะต้องการนำน้ำในสระไปฝากพรรคพวกเพื่อนฝูง

ที่นั่นเลยกลายเป็นชุมนุมชน กลิ่นธูปควันเทียนก็ตลบอบอวลไปทั่วทั้งบริเวณ

ข่าวประหลาดพิสดารนี้ ก็ทราบไปถึงพระเจ้าวิเทหราช จึงได้เสด็จไปทอดพระเนตรเพื่อพิสูจน์ความจริง พร้อมกับนักปราชญ์ทั้งหลายด้วย

เมื่อเสด็จไปถึงสระ ก็ได้ทอดพระเนตรแสงเลื่อมพรายอันเกิดจากแก้ว ก็ให้พิศวงในพระทัย แต่ยังไม่ทราบว่าแสงนั้นเกิดจากอะไรแน่นอน จึงทรงหันไปถามนักปราชญ์ทั้ง ๔ พลางตรัสว่า

“ท่านอาจารย์พอสังเกตเห็นว่าแสงนี้เกิดจากอะไร?”

“ขอเดชะ” เสนกะกลาบทูล “ข้าพระพุทธเจ้าคาดว่าคงจะเป็นแสงเกิดจากแก้ววิเศษพระเจ้าค่ะ”

“ท่านพอจะนำมาได้หรือไม่?”

“ขอเดชะ ข้าพระองค์อาจนำมาได้”

“ถ้าเช่นนั้น ท่านอาจารย์ไปนำมาดูทีหรือว่าแก้วนั้นจะวิเศษขนาดไหน?”

เสนกะได้รับอนุมัติจากพระเจ้าวิเทหราช แล้วก็สั่งให้ทหารวิดสระนั้นให้แห้ง เพื่อจะนำแก้วมณีจากก้นสระมาถวายพระราชา แต่เมื่อวิดน้ำจนแห้งก็แล้วก็หาแก้วมณีไม่พบ เมื่อมีน้ำแสงแก้วก็เกิดขึ้นอีก แต่ก็เวียนวิดอยู่เป็นหลายครั้งก็ไม่พบแก้ว เสนะกะจอมปราชญ์ถึงกับหมดปัญญา

“ขอเดชะ เหลือวิสัยพระเจ้าค่ะ พอวิดน้ำแห้งก็หาแก้วไม่พบ แต่มีน้ำแก้วก็ปรากฏอีก ข้าพระองค์หมดปัญญาจะนำมาถวายแล้วพระเจ้าค่ะ”

“แล้วท่านนักปราชญ์ทั้ง ๓ ล่ะ พอจะจัดมาถวายได้หรือไม่”

“เมื่อท่านเสนกะยังจัดหาถวายไม่ได้ พวกข้าพระองค์ก็ไม่สามารถจัดหาถวายได้พระเจ้าค่ะ”

เมื่อนักปราชญ์ทั้ง ๔ หมดปัญญาแล้ว ก็ทรงหันไปตรัสถามมโหสถว่า

“พ่อมโหสถ พ่อจะจัดหามาได้หรือไม่?”

“ข้าพระองค์ขอออกไปพิจารณาก่อนพระเจ้าค่ะ”

เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว มโหสถก็ออกไปพิจารณายังสระน้ำ ก็เห็นแสงแก้วกระทบน้ำเลื่อมพราย จึงได้พิจารณาไปก็เห็นต้นตาลสูงต้นหนึ่ง ขึ้นอยู่ใกล้สระจึงสั่งให้คนใช้นำขันน้ำมาให้แล้วแลดู ปรากฏแสงนั้นอยู่ในน้ำ ก็แน่ใจได้ทีเดียวว่าแก้วนั้นไม่ได้อยู่ในสระ แต่อยู่บนต้นตาล จึงกลับมาเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช

พอเข้าเฝ้า พระเจ้าวิเทหราชก็ตรัสถามว่า

“ยังไง พ่อมโหสถได้ความว่าอย่างไร พอจะได้แก้วไหม?”

“ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า แก้วนั้นข้าพระองค์อาจจะเอามาถวายได้”

“ได้จริง ๆ หรือ?” ทรงถามด้วยความดีพระทัย

“ได้พระเจ้าค่ะ”

“แล้วจะต้องวิดน้ำอีกใหม?”

“ไม่ต้องพระเจ้าค่ะ”

“ทำไมล่ะ?”

“เพราะแก้วไม่ได้อยู่ในสระพระเจ้าค่ะ”

“แล้วอยู่ที่ไหนล่ะ?”

“อยู่บนต้นตาลพระเจ้าค่ะ ขอพระองค์ใช้ให้ใครขึ้นไปเอาคงจะได้สมประสงค์พระเจ้าค่ะ”

พระเจ้าวิเทหราชจึงสั่งให้ราชบุรุษขึ้นไปบนต้นตาล ก็พบว่าแก้วมณีอยู่ในรังกาบนต้นตาลนั้นเอง จึงนำมาถวายพระเจ้าวิเทหราช ซึ่งพระองค์ก็ทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ทรงชมเชยมโหสถเป็นอันมาก เป็นอันว่าเสนกะจอมปราชญ์ต้องขายหน้ามโหสถอีกวาระหนึ่ง

กิ้งก่าได้ทอง

วันหนึ่งพระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปประพาสพระราชอุทยาน พอถึงประตูก็เห็นกิ้งก่าตัวหนึ่งลงมาจากซุ้มประตู หมอบอยู่เบื้องหน้า จึงตรัสถามมโหสถว่า

“พ่อมโหสถ เจ้ากิ้งก่ามันทำอะไรของมัน”

“ขอเดชะ กิ้งก่ามันถวายตัวพระเจ้าค่ะ”

ทรงพระสรวลด้วยความขบขัน แล้วตรัสดังๆ เป็นที่รำพึงกับพระองค์เองว่า

“อะไร กิ้งก่าก็รู้จักถวายตัวเหมือนกันหรือ?” แล้วตรัสถามมโหสถต่อว่า

“เมื่อมันมาถวายตัวก็ดีแล้ว ก็ควรจะได้รับรางวัลบ้างควรจะให้อะไรมันดีล่ะ”

“ขอเดชะ กิ้งก่าเป็นสัตว์ไม่ควรให้อะไรพระเจ้าค่ะ ควรให้แต่อาหารเท่านั้น”

“มันกินอะไร?”

“กินเนื้อพระเจ้าค่ะ”

“ควรจะให้มันสักวันละเท่าไรดี?”

“สักวันละเฟื้องก็เห็นจะพอพระเจ้าค่ะ”

“ของพระราชทานเฟื้องเดียวดูไม่สมควร เอาสักบาทเถอะ”

แล้วหันไปตรัสกับราชบุรุษว่า

“นับแต่นี้ต่อไป จ่ายค่าเนื้อให้เจ้ากิ้งก่าวันละบาท แล้วนำมาซื้อให้มันกิน”

พนักงานคลังก็มอบหน้าที่ให้พนักงานสวนเป็นผู้จ่ายและหาเนื้อให้กิ้งก่า

และนับตั้งแต่นั้นมา เจ้ากิ้งก่าก็ได้กินเนื้อซึ่งได้รับพระราชทานจากพระเจ้าวิเทหราชเป็นนิตย์ วันหนึ่งเป็นวันพระที่ตลาดไม่มีเนื้อขาย นายอุทยานบาลจึงเอาเงิน ๑ บาท มาเจาะรูผูกคอกิ้งก่าตัวนั้นแทน

พอได้เงินผูกคอเท่านั้น กิ้งก่าก็เกิดผยองขึ้นมาทันที

“ใครมีทรัพย์ เราก็มีทรัพย์เหมือนกัน จะต้องไปอ่อนน้อมถ่อมตนกับใครกัน เสมอกันทั้งนั้น”

เจ้ากิ้งก่าขึ้นไปชูคอร่อนบนซุ้มประตู ทำเอาคนรักษาสวนแสนจะหมั่นไส้ แต่เพราะเป็นสัตว์ที่โปรดปรานของเจ้านาย ก็ต้องอดทนไว้

วันหนึ่งพระเจ้าวิเทหราชเสด็จประพาสพระราชอุทยานอีก คราวนี้เจ้ากิ่งก่าหาได้ลงมาหมอบถวายบังคมอย่างเคยไม่ ซ้ำกลับขึ้นไปชูคอทำหัวผงก ๆ อยู่บนซุ้มประตูเสียอีก

พระเจ้าวิเทหราชสงสัยในอากัปกิริยาของเจ้ากิ้งก่านั้นเป็นประมาณ จึงตรัสถามมโหสถว่า

“พ่อมโหสถ พ่อดูทีเจ้ากิ้งก่ามันชูคอทำผงกๆ อยู่ซุ้มประตูน่ะ มันทำอะไรของมัน”

มโหสถพิจารณาดูกิ้งก่า ก็เห็นว่าที่คอมันมีเงินผูกคออยู่ก็ทราบได้ทันทีว่า เพราะมันมีทรัพย์จึงได้ถือตัว จึงได้กราบทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า

“ขอเดชะ กิ้งก่ามันผยองในทรัพย์ที่มันมี จึงไม่ลงมาถวายบังคมพระเจ้าค่ะ”

“ชะ! ชะ! อ้ายสัตว์กระจ้อยร่อยชนิดนี้มันควรตายได้แล้ว ให้นายสวนฆ่าเสียดีกว่ากระมัง”

“ได้โปรดพระเจ้าค่ะ” มโหสถทูลขึ้น

“ว่าอย่างไรล่ะ”

“มันเป็นสัตว์ไร้ปัญญา โปรดอภัยโทษมันเถิดพระเจ้าค่ะ เพียงแต่ไม่พระราชทานเนื้อให้มันก็พอเพียงแล้ว”

พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงตรัสให้งดเนื้อแก่เจ้ากิ้งก่าที่แสนจะจองหองนั้นเสียนับแต่บัดนี้ เจ้ากิ้งก่าที่แสนจะจองหองก็ปราศจากลาภแต่นั้นมา

พระนางอุทุมพร

ปิงคุตตระไปเรียนวิชายังเมืองตักสิลา อันนับว่าเป็นมหาวิทยาลัยอย่างเยี่ยมเหมือนกับเมืองนอก เป็นมหาวิทยาลัยที่เยี่ยมที่สุดของคนในยุคนี้ ดูเหมือนว่าจะโผล่พ้นเมืองไทยออกไป การศึกษาของเขานับว่าเยี่ยมที่สุด กลับมามีคนนับหน้าถือตา จะเข้าทำราชการงานเมืองใดมีแต่คนต้อนรับ ปิงคุตตระคำนึงเหตุนี้แหละจึงต้องเข้าไปเรียนที่เมืองตักสิลา เขาเรียนได้ดีเพราะสติปัญญาของเขาใช้ได้ เพียงไม่กี่ปีเขาก็สำเร็จการศึกษา

เมื่อเขาลากลับ เขาได้ของแถมมาจากอาจารย์ ไม่ใช่แต่วิชาการเท่านั้น แต่กลับเป็นหญิงสาวผู้งดงามซึ่งเป็นบุตรคนโตของอาจารย์ของเขาเอง

เพราะเป็นกฎที่ถือว่า ถ้าศิษย์คนใดเรียนดี อาจารย์มักจะยกบุตรสาวให้ แต่ความจริงคงเป็นว่าอาจารย์เห็นว่าศิษย์คนใดเรียนดีสามารถจะไปดำเนินกิจการได้ และเห็นว่าศิษย์คนนี้คงจะเลี้ยงธิดาของท่านได้ จึงได้มอบให้ก็อาจเป็นได้

แต่อย่างไรก็ตามเป็นอันว่าปิงคุตตระจะได้รับมอบธิดาแสนสวยจากท่านอาจารย์ให้พากลับบ้านด้วย แม้เขาจะไม่พอใจแต่ก็ต้องรับ เขารู้สึกว่าหญิงคนนี้ไม่ค่อยชอบมาพากลเสียแล้ว เห็นหน้าก็ไม่พอใจเสียแล้ว แถมเข้าใกล้ยังร้อนเสียอีกด้วย แบบนี้มันคล้ายๆ กับเรื่องทศกัณฐ์ที่ไปทำความชอบชะลอเขาพระเมรุ ได้รับพรให้ขอของที่ชอบใจได้ ก็เลยขอเมียพระอิศวรเสียเลย แต่แล้วก็ทำอะไรไม่ได้ เข้าใกล้ก็ร้อนจะจับจะต้องที่ใดมันร้อนไปหมด จนกระทั่งเดินทางอุ้มก็ไม่ได้ ต้องเทินศีรษะไป กรรม…กรรม

พ่อนี่ก็เช่นเดียวกัน กลางคืนก็นอนร่วมกันไม่ได้ เมื่อขึ้นไปนอนบนที่นอน พ่อปิงคุตตระเป็นต้องโดดลงมานอนข้างล่าง มันร้อน มันร้อนจริงๆ ใครจะทนไหว เขาได้แต่ร่ำร้องเช่นนี้

เรื่องนี้เป็นเพราะว่ากาลกิณีกับสิริมันร่วมกันไม่ได้เท่านั้นเอง จึงเป็นเหตุให้ปิงคุตตระกับธิดาอาจารรย์อยู่ร่วมกันไม่ได้ ใครล่ะเป็นกาลกิณีและใครเป็นคนมีสิริ

เดินทางมาได้ตั้ง ๗ วัน ไม่พบโจรป่าอย่างจันทโครพ และก็ไม่ได้เจอยักษ์ลักพาเมียไปอย่างในเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ทั้งหลายเวลานอนก็อย่างเช่นที่กล่าวแล้ว แม้จะพูดจากันในวันหนึ่งๆ ก็แทบหาไม่ได้ ถ้าเป็นสมัยนี้สงสัยว่าพ่อปิงคุตตระจะเป็นกระเทยเสียกระมัง ต่างคนต่างเดินจนมากระทั่งถึงกรุงมิถิลา

ทางที่เขาเดินผ่านมีต้นมะเดื่อใหญ่ขึ้นอยู่ มีพวงผลดกห้อยระย้ากำลังสุกเสียด้วย เขาเดินทางมากำลังเหน็ดเหนื่อยหิวโหย พอมาพบมะเดื่อเข้าก็ดีใจ เออ! ได้แก้หิวล่ะ เขานึกอยู่ในใจ พอถึงก็ไม่ฟังเสียง ปีนขึ้นไปบนต้นได้ก็เก็บกินเอาๆ จะนึกถึงเมียสาวที่อยู่โคนต้นบ้างก็หาไม่

นางเห็นเช่นนั้นจึงร้องขึ้นไปว่า “พี่จ๋า โยนมาให้น้องกินแก้หิวบ้างสิคะ”

แทนที่นายปิงคุตตระจะโยนลงมาให้อย่างที่นางบอกกลับตอบว่า

“มีตีนมีมือเหมือนกันก็ขึ้นมาเก็บเอาสิ จะหวังกินแรงคนอื่นทำไม?”

ถ้าเป็นหญิงสมัยนี้เห็นจะร้องไห้กระฟือกระฟาดทีเดียว แต่นี่เป็นธิดาของอาจารย์ตักสิลา นางไม่ร้องให้เลย ปีนขึ้นไปบนต้นมะเดื่อเก็บผลที่สุกๆ กินแก้หิว

เจ้าผู้ชายไร้ความคิด ควรจะเรียกเจ้าปิงคุตตระว่าอย่างนี้ เพราะไม่เห็นแก่เพศที่อ่อนแอแล้วยังแถมประพฤติสิ่งอันส่ออัธยาศัยเป็นอันธพาลเสียด้วย เมื่อเขาเห็นนางขึ้นไปบนต้นมะเดื่อเขาก็รีบลงมา แทนที่จะทำอย่างอื่น เขากลับเอาหนามมาสะต้นมะเดื่อไว้โดยรอบ แล้วบอกกับนางว่า

“เชิญอยู่ให้สบายเถอะ พี่ไปล่ะ” แล้วเขาก็เดินลับตาไป

นางลงไม่ได้ก็ต้องนั่งอยู่บนต้นมะเดื่อนั่นเอง

วันนั้นเผอิญพระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปประพาสราชอุทยานตกเวลาเย็นผ่านทางนั้นก็พบนางอยู่บนต้นมะเดื่อ พอเห็นเท่านั้นก็เกิดความรักขึ้นทันที

พระพุทธเจ้าตรัสว่าความรักมี ๒ อย่าง คือ เคยอยู่ร่วมกันมาแต่ปางก่อน ๑ และทำประโยชน์ให้ในปัจจุบันอย่าง ๑ จึงจะเกิดได้

พระเจ้าวิเทหราชอาจจะเป็นเพราะชาติปางก่อนได้เคยเป็นคู่สมัครรักใคร่กันมา พอเห็นกันจึงเกิดความรักทันที พระองค์ก็ให้คนเข้าไปถามว่า

“แม่หนู แม่น่ะมีคนหวงแหนบ้างหรือเปล่า”

นางได้เล่าความจริงให้ราชบุรุษฟังตั้งแต่ต้น พร้อมกับเสริมว่า

“บัดนี้สามีดิฉันหนีไปแล้ว ดิฉันเลยไม่รู้ว่าจะไปไหนจึงนั่งอยู่ที่นี่”

เมื่อราชบุรุษกราบทูลความนั้นให้พระเจ้าวิเทหราชทราบ พระองค์ตรัสว่า

“เออ! เดี๋ยวนี้นางไม่มีพันธะ เราจะเลี้ยงดูนางเอง” จึงรับนางลงจากต้นมะเดื่อแล้วนำไปตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี

ท่านดูเอาเองก็แล้วกันว่า ฝ่ายหญิงหรือชายเป็นคนมีสิริหรือกาลกิณี

นับตั้งแต่นั้นมา ประชาชนก็ขนานนามพระนางว่าพระนางอุทุมพร เพราะได้นางมาจากต้นมะเดื่อ นางได้รับความสำราญอย่างล้นเหลือ

และเมื่อพระเจ้าอยู่หัวชอบเสด็จพระพาสพระราชอุทยานพวกข้าราชบริพารจึงต้องแผ้วถางทางที่จะเสด็จผ่านให้เรียบร้อย ที่ใดรกรุงรังก็จัดแจงให้เตียนสะอาด ที่ไม่เสมอก็ให้ถมให้เสมอ

เพราะต้องการจะให้งานเสร็จเร็วทันการเสด็จประพาสครั้งต่อไป จึงมีการจ้างให้บุคคลภายนอกมาทำความสะอาด ตัดต้นไม้ เกลี่ยถนน ขุดตอออกยั้วเยี้ยไปหมด แต่พระเจ้าวิเทหราชเสด็จเร็วกว่ากำหนด ในขณะเสด็จไปถึงจึงพบเห็นคนงานเหล่านั้นกำลังปฏิบัติงานอยู่

ในพวกคนงานเหล่านั้น มีเจ้าหนุ่มปิงคุตตระผู้ละทิ้งแก้ววิเศษเสีย มารับจ้างทำงานเกลี่ยถนนอยู่ด้วย

เมื่อขบวนเสด็จซึ่งมีพระเจ้าวิเทหราชกับพระนางอุทุมพรเทวีเสด็จไปด้วยกันผ่านไป พระนางก็ทอดพระเนตรเห็นนายปิงคุตตระกำลังถางดินอยู่ข้างทาง ก็นึกขำในพระทัยว่า ช่างกระไรเลยหนอ มาทิ้งสิริเสียได้ วิสัยกาลกิณีก็เป็นเช่นนั้นไม่อาจจะทรงสิริไว้ได้ นึกขำมากเข้าก็ถึงกับทรงพระสรวลออกมาเบาๆ

พระเจ้าวิเทหราชทรงสนเท่ห์ในพระทัย จึงตรัสถามว่า

“น้องหญิง สรวลอะไร?”

พระนางจึงกลาบทูลว่า

“ขอเดชะ ตามที่กระหม่อมฉันเคยได้ทูลไว้ว่า กระหม่อมฉันมีสามี และสามีนั้นได้ทอดทิ้งหนีกระหม่อมฉันไป บัดนี้กระหม่อมฉันได้เห็นเขามาทำงานอยู่ที่ข้างทาง จึงคิดว่าวิสัยคนกาลกิณีไม่อาจจะทรงสิริไว้ได้ จึงได้ทรงสรวล”

พระเจ้าวิเทหราชคิดว่าพระนางไม่ตรัสตามความเป็นจริงก็กริ้ว เพราะไม่เชื่อว่าผู้ชายอะไรจะสละทิ้งหญิงที่สวยงามอย่างพระนางได้ จึงไม่เชื่อว่าสามีของพระนางมาทำงานอยู่จึงตรัสว่า

“น้องหญิงเธอไม่ตรัสจริงกับพี่ มันเป็นความจริงไปได้อย่างไร ถ้าเธอไม่ตรัสความจริง เธอจะต้องตาย…ตาย”

ทรงคำรามพร้อมกับพระแสงดาบ

เออ! อาชญานี่มันร้ายจริงหนอ เพียงพูดไม่พอใจก็ถึงกับจะฆ่าแกงกัน แต่ก็ได้เคยกล่าวไว้แล้วว่า

“มหากษัตริย์ทรงฉัตรไชย ถ้าแม้นใครประมาทอาจตายเอย”

นี่ก็เป็นเช่นนั้น คิดเสียว่านางไม่พูดความจริงทั้งที่นางก็พูดความจริงก็ไม่ยอมเชื่อแถมจะฆ่าเสียด้วย

นางกลัวความตายจึงทูลพระราชาว่า

“ขอเดชะ ก่อนจะทำอะไรลงไปขอทรงตรัสถามพวกนักปราชญ์ก่อน”

“ก็ได้” แล้วก็หันไปถามเสนกะว่า

“จริงไหม? ท่านอาจารย์”

“ไม่น่าเป็นไปได้ ว่าชายจะละทิ้งหญิงเช่นพระนางเสียได้ กระหม่อมฉันยังสงสัยอยู่”

“นั่นสิ” รับสั่งอย่างเห็นด้วย “ต้องฆ่า”

พระนางก็ขอให้ตรัสถามผู้อื่นอีกก่อน

พระราชาจึงทรงรำลึกได้ว่า ควรจะต้องถามมโหสถ จึงหันไปถามมโหสถว่า

“พ่อมโหสถ จริงอย่างพระนางว่าหรือเปล่า?”

“ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า กระหม่อมฉันว่าจริงพระเจ้าข้า เพราะกาลกิณีกับสิริไกลกันดุจฟ้ากับดิน หรือเหมือนทะเลฟากนี้กับฟากโน้น”

“เออ! จริงสินะ เราเกือบจะผลุนผลันฆ่าฟันนางไปเสียแล้ว” แลัวตรัสกับมโหสถว่า

“เพราะเจ้า เราจึงไม่เสียนางแก้วประจำใจไป” แล้วพระราชทานเงินทองให้กับมโหสถเป็นอันมาก

เมื่อมโหสถได้ลาภก็เป็นที่เขม่นของเสนกะบัณฑิตเจ้าเล่ห์มากขึ้น แต่เมื่อยังไม่สามารถทำอะไรได้ ก็ต้องเงียบไว้ก่อน

และนับตั้งแต่นั้นมา พระนางได้ขอพรจากพระเจ้าวิเทหราชในการที่จะส่งข้าวของต่าง ๆ ไปให้มโหสถโดยไม่เลือกกาลเวลา และขอพระบรมราชานุญาตตั้งมโหสถไว้ในฐานะน้องของนาง ซึ่งพระเจ้าวิเทหราชก็พระราชทานให้ตามคำขอของพระนาง

แพะ กับ สุนัข

วันหนึ่งพระเจ้าวิเทหราชประทับอยู่ ณ ที่มุมปราสาท ทอดพระเนตรสิ่งต่างๆ ก็ได้แลเห็นสุนัขกับแพะคู่หนึ่งมาอยู่ร่วมกัน และได้เห็นอีกว่าเจ้าสุนัขนั้นไปคาบหญ้ามาให้เจ้าแพะกิน ส่วนเจ้าแพะคาบเอาปลามาให้สุนัขกิน

ความเป็นไปของสุนัขกับแพะมีอย่างนี้

สุนัขตัวหนึ่งอยู่ในพระราชวังนั้น พวกวิเสทได้ให้อะไรกินอยู่เสมอ จนมันเข้านอกออกในอาศัยอยู่ในโรงครัวนั้นเสมอ วันหนึ่งพวกช่างเครื่องตบแต่งเครื่องแล้วก็ออกไปรับลมข้างนอก ปล่อยสำรับไว้บนโต๊ะ

เจ้าสุนัขตัวนั้นกำลังแทะกระดูกอยู่ ได้กลิ่นของกินอันโอชะก็น้ำลายสออยากกินเป็นกำลัง และเห็นเป็นโอกาสเหมาะเพราะคนครัวออกไปข้างนอกก็เลยทิ้งกระดูกที่แทะเสีย สูดกลิ่นเข้าไปหาสำรับ เอาปากดุนฝาชามเพื่อจะกินอาหารในชามนั้น

เสียงชามกับฝากระทบกัน คนครัวซึ่งออกไปยืนรับลมอยู่หน้าครัวเกิดสงสัยก็รีบเข้ามาดู

เจอผู้ร้ายตัวฉกาจเข้าพอดี หน็อย ให้กินเศษอาหารและกระดูกไม่พอ เอื้อมอาจมากินของเสวย เอ้าเสวยเสีย แล้วเขาฉวยได้ไม้ฟืนแพ่นหลังสุนัขตัวนั้นเสียหลังแอ่น วิ่งร้องครวญครางออกไปจากโรงอาหาร ไปแอบอยู่ข้างพระตำหนักหลังหนึ่ง

ส่วนเจ้าแพะเล่าก็โดยอาการทีเดียว แต่ว่าไม่ไปขโมยอาหาร แต่ไปขโมยหญ้าช้าง เลยถูกคนเลี้ยงช้างฟาดเสียหลังแอ่น วิ่งมาหลบมุมอยู่ที่เดียวกัน เจ้าสุนัขเข้ามาหลบอยู่ก่อนเห็นเจ้าแพะหลังแอ่นมาก็ถามว่า

“สหายเป็นอะไร ไม่สบายไปรึไง?”

“ไม่เป็นไรหรอก”

“แล้วทำไมทำหลังคดๆ ยังงั้นเล่า?”

“พวกเลี้ยงช้างน่ะสิ”

“มันทำไมล่ะ?”

“มันไม่ทำไมหรอก แต่มันฟาดด้วยกระบองลงที่กลางหลัง แล้วทำไมหลังเราจะตรงอยู่ได้ หักหรือเปล่าไม่รู้สิ”

“ก็สหายไปทำอะไรเข้าล่ะ?”

“เราก็ว่าไม่ได้ทำนะ แต่กินหญ้าช้างนิดหน่อยเท่านั้นเอง”

เจ้าสุนัขหัวเราะชอบใจ

“เออ! จะบอกตรงๆ ว่าไปลักหญ้าช้างมากินเลยถูกคนเลี้ยงมันฟาดเอาด้วยตะบอง มันก็จะหมดเรื่อง”

“เจ็บ เจ็บจริงๆ” เจ้าแพะบ่น “ไม่แต่เจ็บเท่านั้น ต่อไปก็อดหญ้าอีกด้วย”

“ทำไมล่ะ?”

“เพราะเราเข้าไปที่โรงช้างไม่ได้อีกแล้ว ถ้าเข้าไปทีนี้คนเลี้ยงช้างบอกว่าจะตีให้ตายเลย” แล้วมันก็กลับถามสุนัขบ้างว่า

“แล้วสหายล่ะ ทำไมมาแอบอยู่ข้างตำหนักนี่เล่า”

“มันก็เรื่องเหมือนกันนั่นแหละสหาย”

“เรื่องอะไรล่ะ? เล่าให้ฟังบ้างไม่ได้รึ?”

“ได้สิ คือเรื่องมันมีอยู่ว่า เดิมเราก็พักอาศัยหลับนอนกินอยู่เสร็จที่โรงครัว อาหารการกินแสนจะบริบูรณ์ กระดูกเป็ดไก่หมูหมาอะไรก็มีทั้งนั้น เออ…ขอโทษ กระดูกหมาไม่มีพูดผิดไป แต่อ้ายเรามันไม่ค่อยจะพอใจ เกิดไปชอบอ้ายที่เขาใส่สำรับไว้เพื่อให้พระเจ้าแผ่นดินเสวย ฮ่ะๆ สหายเป็นไง รสนิยมเราสูงส่งเทียวล่ะ

พอเขาเผลอเราก็รี่ไปเปิดสำรับนึกว่าจะได้สักคำ ที่ไหนได้ สหายเอ๋ย ยังกับฟ้าผ่ากลางวันแสกๆ ทีเดียว อะไรเสียอีกล่ะ ไม่อยากจะพูด แต่เมื่อสหายอยากฟังก็จะต้องเล่าให้ฟัง ดุ้นฟืนน่ะสิ อันเบ้อเร่อเชียวล่ะ เปล่า! สหายอย่าต้องสงสัยว่าดุ้นฟืนมันจะมาทำไม แต่เป็นเพราะว่าคนครัวน่ะสิ มันถือดุ้นฟืนอันเบ้อเร่อฟาดเราลงมากลางหลัง โอย! หลังแทบหัก มันแรงจริงๆ เห็นดาวกลางวันทีเดียว เราว่าจะไม่ร้องแต่ปากนั่นสิมันร้องออกไปได้ เจ็บใจจริงๆ เสียเกียรติหมาอย่างเราจัง และมันไม่หยุดเท่านั้น แถมฟาดอย่างไม่เลือกที่เสียด้วย ฟ้าผ่านั่นแหละสหายใครจะไปทนอยู่ได้ เราจึงต้องเลยเผ่นแน่บออกจากโรงครัวแล้วมาแอบอยู่ข้างตำหนักนี่แหละ โรงครัวน่ะไม่มีหวังได้เข้าไปอีกแล้ว ขืนเข้าไปคนครัวมันบอกว่าจะตีให้ตาย สหายเอ๋ย เราเห็นจะต้องอดตายเสียเป็นแน่”

เจ้าสุนัขเล่าเรื่องให้แพะฟัง พร้อมกับพูดอย่างท้อแท้ในตอนท้าย

“สหายก็ต้องอด เราก็ต้องอด เรามันหัวอกเดียวกัน”

“ทำอย่างไรเราจึงจะไม่อดตาย”

ในที่สุดเจ้าแพะก็คิดขึ้นได้ จึงบอกกับสุนัขว่า

“สหาย เราเห็นช่องทางที่จะไม่อดตายแล้ว”

“ทำอย่างไรล่ะ?” เจ้าสุนัขถามขึ้น

“คือยังงี้” เจ้าแพะเริ่ม “สหายไม่กินหญ้า หากไปที่โรงช้างคนเลี้ยงช้างก็คงจะไม่สงสัยและคงจะไม่ขับไล่สหายออกมา เพราะสหายก็ไม่ใช่หมาบ้า หรือวิกลจริต และเมื่อเป็นเช่นนั้น พอเห็นคนเลี้ยงช้างเผลอ สหายก็จัดการคาบหญ้าออกมาเผื่อเรา แล้วเราก็จะมาแอบกินกันตรงนี้ ยัง! สหายอย่าเพิ่งพูด รอให้เราพูดจบเสียก่อน เราเองเป็นสัตว์ไม่กินเนื้อ เมื่อเข้าไปในโรงครัวก็คงไม่มีใครสงสัยและรังเกียจ เมื่อเห็นคนครัวเผลอ เราก็จะคาบอาหารเป็นต้นว่าปลาหรือเนื้อมาฝากสหาย เราต่างอาศัยกันและกันเช่นนี้เราก็จะไม่อดตาย สหายว่าอย่างไรล่ะ”

“ความคิดของสหายวิเศษจริง อาหารเราก็จะมีกิน และแถมไม่ถูกตีอีกด้วย”

และนับแต่นั้นมาสหายทั้งสองก็ดำเนินอย่างคิด แพะก็ไปโรงครัว ขากลับก็คาบปลาบ้าง เนื้อบ้างมาให้สุนัข ส่วนเจ้าสุนัขเล่าก็ไปโรงช้าง ขากลับก็คาบหญ้ามาฝากเจ้าแพะ

เรื่องเป็นมาอย่างนี้ พระเจ้าวิเทหราชทรงเห็นอากัปกิริยาและความเป็นไปของสัตว์ทั้งสองนั้น ก็ทรงดำริว่า

“เจ้าหมาและเจ้าแพะปกติมันก็เป็นศัตรูกัน แต่นี่มันกลับมาเป็นสหายช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ เราจะต้องผูกปัญหาถามบัณฑิตดู ใครตอบได้จะเพิ่มสินจ้างรางวัลให้ ใครไม่รู้ก็ไม่ควรจะเลี้ยงไว้”

รุ่งขึ้นเสด็จออกขุนนางแล้ว จึงทรงตั้งปัญหาว่า

“สัตว์ที่เป็นศัตรูกัน ไม่เคยคิดร่วมทางกันเลย มาร่วมทางกันได้เพราะอะไร?”

พร้อมกับสำทับว่า

“วันนี้ถ้าตอบไม่ได้จะขับเสียจากแว่นแคว้น เราไม่ต้องการคนเขลาไว้ในบ้านเมือง”

พวกปราชญ์พากันคิดก็ไม่เห็น ได้แต่แลดูตากันอยู่

มโหสถคิดว่า “พระราชาคงจะทรงเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นแน่ จึงมาตั้งปัญหาเช่นนี้ ถ้าท่านเสนกะจักให้พระเจ้าวิเทหราชผ่อนเวลาไปอีกสักวันหนึ่ง ก็คงจะได้ความบ้าง” จึงได้แลดูตาเสนกะๆ ก็ทราบในทันที จึงทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า

“ขอเดชะ ถ้าตอบไม่ได้พระองค์จักขับพวกข้าพระองค์จากแว่นแคว้นจริงๆ หรือ”

“จริงๆ เราขับแน่”

“พระองค์ตั้งปัญหามีแง่เงื่อนที่จะต้องคิด เพราะฉะนั้นข้าพระองค์ขอผัดเวลาเป็นพรุ่งนี้ แล้วข้าพระองค์จักแก้ให้ทรงสดับ”

“ทำไมจะแก้เดี๋ยวนี้ไม่ได้หรือ?”

“ตามธรรมดาคนฉลาดจำเป็นต้องอาศัยความสงบสงัดช่วยในการตรึกตรอง หากพระองค์ทรงผัดผ่อนไปได้พรุ่งนี้แน่พระเจ้าค่ะ ที่ข้าพระองค์จะถวายคำเฉลยปัญหานี้ได้”

พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงผัดผ่อนตามคำขอของเสนกะ

เมื่อออกจากเฝ้าแล้ว แทนที่มโหสถจะกลับบ้านไปนอนคิดปัญหา ก็เลยเข้าไปเฝ้าพระนางอุทุมพรแล้วทูลถามว่า

“ขอเดชะ เมื่อวานหรือวันนี้ พระราชาเสด็จประทับที่ใดนานมาก”

พระนางอุทุมพรทรงนิ่งนึกอยู่ครู่หนึ่ง จึงตรัสตอบ

“เมื่อวานนี้พระเจ้าพี่ประทับอยู่ที่หน้ามุขเป็นเวลานานพอสมควรทีเดียว และได้ยินทรงพระสรวลเบาๆ เสียด้วย”

มโหสถจึงได้ไปที่หน้ามุข ดูไปทางโน้นทางนี้ก็พอดีพบเจ้าแพะกับสุนัขกำลังกินอาหารของตนอยู่ในที่เดียวกัน พอเห็นก็ทำให้ตีปัญหาออกทีเดียว จึงได้ทูลลาพระนางอุทุมพรกลับบ้าน

ส่วนบัณฑิตทั้ง ๔ นั้นคิดอะไรไม่ออกเลย เสนกะไปถามทั้ง ๓ ท่าน ต่างก็บอกว่าคิดอะไรไม่ออก ไม่รู้ว่าจะแก้ปริศนาของพระราชาได้อย่างไร เสนกะจึงกล่าวชวน

“งั้นไปดูลาดเลามโหสถดูทีหรือ เขาเป็นคนฉลาดอาจจะคิดได้”

แล้วก็พากันไปบ้านมโหสถ เมื่อมโหสถได้เห็นก็รู้ว่านักปราชญ์ทั้ง ๔ มาเพราะปริศนานั้น แต่แกล้งทำเป็นไม่รู้ แสดงอาการดีอกดีใจต้อนรับนักปราชญ์ทั้ง ๔ อย่างดี และไม่ถามอะไรทั้งหมด

เสนกะเมื่อเห็นมโหสถไม่ถามก็อดไม่ได้ เลยถามออกไปตรงๆ ว่า

มโหสถ ที่พวกเรามาหาท่านก็เพราะปริศนาของพระเจ้าอยู่หัวนั่นแหละ พวกเราคิดกันแล้วแต่ไม่อาจจะตีความหมายของปัญหานั้นได้ ท่านล่ะพอจะคิดได้บ้างไหม?”

มโหสถยิ้มพลางพูดเรื่อยๆ

“ท่านอาจารรย์ ปัญหาชนิดนี้เป็นเรื่องง่ายเสียเหลือเกิน ข้าพเจ้าคิดว่าท่านอาจารย์คิดได้แล้วเสียอีก ข้าพเจ้าน่ะคิดเห็นได้ตั้งแต่ออกจากที่เฝ้ามาแล้ว”

“เมื่อท่านทราบ ก็ควรจะบอกให้พวกเราได้ทราบไว้บ้าง”

มโหสถคิดว่า “ถ้าเราไม่บอก พวกนี้ก็จะถูกขับจากแว่นแคว้น เสื่อมจากลาภยศ เราเองแม้จะเจริญด้วยชื่อเสียงลาภยศ ก็ปรากฏไปได้ไม่กี่วันเชียว อีกอย่างหนึ่งถ้านักปราชญ์เหล่านี้ไม่มี คุณค่าปัญญาของเราก็คงไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้ยังไม่ควรจะต้องถูกขับไล่ ควรอยู่ร่วมรับราชการด้วยกันไปก่อน” จึงพูดตอบว่า

“ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าไม่รังเกียจเลยในการที่จะบอก แต่ข้าพเจ้าจะบอกให้ทีละคนเท่านั้น”

“ก็ได้ แล้วแต่ท่านเถิด”

มโหสถจึงให้นักปราชญ์เหล่านั้นเรียนคาถาคนละบทแล้วจึงให้กลับไป

รุ่งขึ้นในขณะที่เข้าเฝ้า พอพระเจ้าวิเทหราชเสด็จออก ทรงตรัสถามเสนกะทีเดียวว่า

“ว่ายังไงท่านอาจารย์ ปัญหานั้นไปนั่งคิดนอนคิดมาดีแล้วหรือยัง”

“ขอเดชะ คิดได้แล้วพระเจ้าค่ะ” และยังแถมท้ายต่อไปอีกว่า “คนอย่างเสนกะคิดไม่ได้แล้ว อย่ามีคนอื่นคิดได้เลยพระเจ้าค่ะ”

พระเจ้าวิเทหราชทรงพระสรวลอย่างชอบพระทัย

“เอ้า! ท่านอาจารย์ลองแก้มาฟังดู”

เสนะกะก็เลยกล่าวคาถาที่มโหสถบอกให้ ทั้งๆ ที่ตนไม่รู้อะไรกันแน่ว่า

“เนื้อแพะเป็นที่ชอบใจของประชาชนพลเมือง แต่เนื้อสุนัขหามีคนประสงค์ไม่ ครั้งนี้แพะกับสุนัขจึงเป็นเพื่อนกันได้”

เพียงเท่านี้พระเจ้าวิเทหราชก็ดำริว่า

“เออ ท่านอาจารย์เสนกะก็รู้” แล้วตรัสถามปุกกุสะต่อไป เขาทูลตอบอย่างที่ตนเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า

“ธรรมดาโลกเขาจะขี่ม้า ใช้หนังแพะเป็นเครื่องลาด แต่ไม่มีใครใช้หนังสุนัขปูลาดเลย ครั้งนี้สุนัขกับแพะก็เป็นสหายกันได้”

พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงดำริเช่นนั้นอีก แล้วตรัสถามกามินทร์ต่อไป ท่านปราชญ์กามินทร์ก็ท่องคาถาอย่างนกแก้วนกขุนทองออกมาว่า

“แพะมีเขาโค้งงอ แต่หมาไม่มีเขา ทั้งหมาและแพะจึงเกิดเป็นสหายกันได้”

จึงได้ตรัสถามเทวินทร์ต่อไป เทวินทร์ก็ร่ายโศลกอย่างอาจารย์ทั้ง ๓ ท่านร่ายมาว่า

“แพะกินหญ้า กินใบไม้ สุนัขไม่กินหญ้า และไม่กินใบไม้ แต่จับกระต่ายหรือแมวกิน ประหลาดแพะกับสุนัขก็เป็นเพื่อนกันได้”

“เอ๊ะ! ท่านปราชญ์ ๔ นี่สำมะคัญ” ทรงนึกในพระทัยลองถามมโหสถดูทีจะได้หรือมิได้ประการใด

“ยังไงพ่อมโหสถ พ่อจะแก้ปัญหาว่าอย่างไร”

“ขอเดชะ ปริศนานี้ข้าพระองค์แก้ดังนี้ แพะมี ๔ เท้า และสุนัขก็มี ๔ เท้า ทั้งสองแม้จะมีอาหารต่างกัน คือแพะกินหญ้า สุนัขกินปลาและเนื้อ แต่สัตว์ทั้งสองต่างก็นำอาหารก็นำอาหารมาฝากกันและกัน เพราะฉะนั้นมิตรธรรมจึงบังเกิดแก่สัตว์ทั้งสอง”

ทรงพระสรวลลั่น

“เออ! เก่งๆ ยังงั้นสิ นักปราชญ์ในราชสำนักวิเทหราชมันต้องยังงี้ เอ้า! เจ้าพนักงานเบิกเงินมารางวัลให้ท่านนักปราชญ์ทั้ง ๕ สักคนละ ๑๐ ชั่ง”

ก็เป็นอันว่าทุกคนรอดพ้นจากการต้องถูกขับออกจากพระราชนิเวศ และยังแถมได้เงินรางวัลเสียอีกด้วย

ธรรมดาว่างูพิษ แม้ใครจะทำคุณสักเพียงไรก็ไม่รู้จักคุณอยู่เพียงนี้ นักปราชญ์ ๔ ท่าน คือ เสนกะ ปุกกุสะ กามินทร์ และเทวินทร์ ก็เช่นเดียวกับงูพิษ แม้เจ้ามโหสถจะช่วยให้รอดพ้นเช่นนี้ก็ยังหาคิดถึงคุณไม่ กลับหมายมั่นปั้นมือจะเล่นงานเจ้ามโหสถให้ได้

นี่แหละที่โบราณเขาว่า ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด อยากให้คนอื่นเดือดร้อน นั่นแหละเป็นความพอใจของท่านเหล่านั้น

“ไม่มีก็แล้วกัน ถ้ามีโอกาสเมื่อไรมึงหัวหลุด”

เจ้ามโหสถไม่ได้เฉลียวใจถึงเหตุร้ายเหล่านี้เลย เพราะถือความซื่อสัตย์สุจริตเป็นประมาณ เพราะฉะนั้นจึงตกเป็นเหยื่อของปราชญ์อธรรมเหล่านั้น ซึ่งก็ขอยืมมือคนอื่นเล่นงานเจ้ามโหสถแทบเป็นแทบตายไปทีเดียว ดูกันต่อไป

เมื่อพระเจ้าวิเทหราชเสด็จเข้าข้างใน ได้ตรัสบอกเรื่องนี้ให้พระนางอุทุมพรทราบ พระนางจึงทูลถามว่า

“ใครแก้ปัญหาของพระองค์?”

“นักปราชญ์ทั้ง ๕ แก้”

“นักปราชญ์ ๔ คนไม่รู้อะไรเลย มาถามเจ้ามโหสถจึงทราบความเอาไปกราบทูลพระองค์ได้”

“เราก็พลั้งให้ของรางวัลไปแล้ว”

“ไม่เป็นธรรมพระเจ้าพี่”

“งั้นจะทำอย่างไร?”

“งั้นก็พระราชทานเพิ่มเติม ให้เจ้ามโหสถมากกว่านักปราชญ์เหล่านั้น”

พระเจ้าวิเทหราชก็คิดจะพระราชทานเพิ่มเติม เเต่จะให้เฉย ๆ ก็น่าเกลียด จึงตั้งปัญหาให้นักปราชญ์ทั้ง ๕ ท่านตอบ เพราะทราบดีแล้วว่าใครจะเป็นผู้มีปัญญากว่าใคร ปัญหานั้นมีว่า

คนมีปัญญาแต่ไร้ทรัพย์ดี หรือคนมีบริโภคทรัพย์แต่ไร้ปัญญาดีกว่า

ทรงตรัสถามตั้งแต่เสนกะเป็นลำดับไป

เสนกะทูลตอบว่า “ขอเดชะ คนมีปัญญาแม้จะล้นฟ้าแต่หาอาจสู้คนมีทรัพย์ไม่ได้ เพราะไม่ต้องดูอื่นไกลเศรษฐีจะมีปัญญาสู้ที่ปรึกษาไม่ได้ แต่คนมีปัญญาจะต้องเข้าไปรับใช้เป็นคู่ปรึกษา ฉะนั้นจึงเห็นว่าทรัพย์ดีกว่าปัญญา”

แต่เมื่อเสนกะทูลตอบว่าแล้ว ถามข้ามลำดับไปถึงมโหสถเลยว่า

“พ่อมโหสถเล่า พ่อเห็นว่าอย่างไร ทรัพย์ดีหรือปัญญาดี”

มโหสถทูลตอบ “ขอเดชะ ข้าพระองค์เห็นว่าทรัพย์สู้ปัญญาไม่ได้ เพราะคนไร้ปัญญาปรารถนาทรัพย์ก็อาจทำความชั่วต่างๆ ฉะนั้นจึงเห็นว่าปัญญาดีกว่าทรัพย์”

เสนกะหัวเราะเยาะเย้ย พลางทูลบ้างว่า

มโหสถไม่รู้อะไร เพราะยังเด็กเกินไปจะพูดง่ายๆ ว่าปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม เธอเห็นโควินทเศรษฐีไหม เศรษฐีคนนี้รวยแต่ทรัพย์อย่างเดียว แถมเวลาจะพูดน้ำลายยังไหลออกมาจากมุมปาก ต้องมีคนเอาตัวดอกบัวเขียวมารองรับน้ำลายแล้วโยนทิ้งไป พวกนักเลงพากันเก็บมาล้างน้ำ แล้วเอามาประดับตัวและแถมแกมีคนรับใช้ใกล้ชิดอีกมากมายนั้น จึงเห็นว่าทรัพย์ดีกว่าปัญญา เพราะคนมีปัญญายังต้องเข้าไปเป็นข้าช่วงใช้ของเศรษฐีนั่น”

พระเจ้าวิเทหราชเมื่อได้ทรงสดับก็คิดสนุก จึงตรัสกับมโหสถว่า

“ว่าไงพ่อมโหสถ อาจารย์เสนกะอ้างเหตุผลอย่างนี้ พ่อจะคัดค้านอย่างไร?”

“ข้าแต่สมมุติเทพ ท่านอาจารย์เสนกะจะรู้อะไร เห็นแก่ยศอย่างเดียว ไม่รู้ว่าค้อนจะลงบนหัวเมื่อไหร่ เสมือนกาอยู่ในที่เขาเทเศษอาหาร เพ่งเฉพาะแต่จะกินเท่านั้น หรือมิฉะนั้นก็เป็นเสมือนหมาจิ้งจอกที่คิดจะดื่มนมท่าเดียว

ธรรมดาคนมีปัญญาน้อย ได้รับความสุขเข้าแล้วก็มักจะประมาทพบทุกข์บ้างพบสุขบ้างก็หวั่นไหวไปตามกัน เหมือนปลาที่เขาโยนขึ้นบนบกย่อมดิ้นรนกระเสือกกระสนไป ข้าพระองค์ขอยืนยันว่าปัญญานั่นแหละดีกว่าคนเขลาที่มีแต่ยศ”

“ว่าไง ท่านอาจารย์จะแก้ตัวอย่างไร?”

“ขอเดชะ เจ้ามโหสถเด็กวานซืนจะรู้อะไร ลองคิดดูนกในป่าตั้งร้อยตั้งพัน ยังต้องมาที่ต้นไม้ที่อุดมไปด้วยผล นี่ก็เช่นกัน คนมีทรัพย์ใครๆ ก็ต้องมาพินอบพิเทาด้วยทรัพย์ของเขา จึงเห็นได้ว่าทรัพย์ดีกว่าปัญญา”

“ขอเดชะ หน้าท่านอาจารย์ดูจะมีสีโลหิตแจ่มใสดีเหลือเกิน เพราะอะไร ท่านอาจารย์ก็ต้องคิดเรื่องเงินก่อน”

“คนสมบูรณ์พูนสุขมันก็ต้องเป็นอย่างนั้น มโหสถลองคิดดู แม่น้ำทั้งหลายไหลไปที่ใด ทั้งหมดก็ย่อมจะไหลลงไปสู่มหาสมุทร เหมือนคนมีปัญญาไปถึงคนมีทรัพย์ก็จะต้องหมอบราบคาบแก้วให้คนมีทรัพย์”

“ท่านอาจารย์อย่าเพิ่งตีขลุมเอาง่ายๆ แม่น้ำไหลไปสู่มหาสมุทร แต่ขอถามสักหน่อยเถิดว่ามหาสมุทรแม้จะมีคลื่นสักเท่าไหร่ๆ ก็ไม่สามารถจะชนะฝั่งไปได้ คนมีปัญญาเช่นเดียวกับฝั่งนั้นเพราะเที่ยงธรรมยั่งยืน เสมอต้นเสมอปลายอยู่เช่นนั้น เพราะเช่นนั้นคนมีทรัพย์จึงดีกว่าคนมีปัญญาไม่ได้”

“ท่านอาจารย์จะแก้อย่างไรล่ะ?”

“ขอเดชะ มโหสถเด็กรุ่นคะนองก็เห็นไปต่างๆ ตามอารมณ์ของคนหนุ่ม โดยไม่ใคร่ครวญให้ถ่องแท้แน่นอน ทิ้งคำโบราณที่ว่าเดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัดเสียสิ้น จึงเห็นว่ามโหสถจะเป็นคนดีต่อไปไม่ได้ เรื่องทรัพย์กับปัญญานี้ข้าพระองค์จะเปรียบให้ฟัง ข้าพระองค์นักปราชญ์ทั้ง ๕ รวมทั้งมโหสถจัดว่าเป็นนักปราชญ์เป็นคนมีปัญญา แต่ยังต้องอาศัยพระองค์เลี้ยงชีพอยู่ ต้องมาเข้าเป็นข้าราชบริพารของพระองค์จึงเห็นได้ชัดว่า ทรัพย์นั้นดีกว่าปัญญาอย่างแน่แท้พระเจ้าค่ะ ทีนี้ถ้ามโหสถแก้ได้ข้าพระองค์ยอมแพ้”

“ท่านอาจารย์ ไม่มีทางจะเอาชนะข้าพเจ้าได้หรอก เพราะถึงอย่างไรผู้มีปัญญาก็ต้องดีกว่าผู้มีทรัพย์ เพราะผู้มีปัญญาไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนและคนอื่น คนเขลาชอบสร้างความชั่วเพื่อตนเองและผู้อื่น ไม่ต้องดูอื่นไกล การปฏิบัติราชกิจหากไม่มีปัญญาหรือไม่ใช้ปัญญาก็จะปฏิบัติงานผิดๆ พลาดๆ และยังแถมโลภทรัพย์ ก็อาจจะฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ทุกประการ นี่แหละจึงเห็นว่าผู้มีปัญญาดีกว่าคนมีทรัพย์แต่เป็นคนเขลา”

พระเจ้าวิเทหราชทรงพระสรวลด้วยความชอบพระทัย นักปราชญ์ทั้ง ๔ ต่างเงียบไปตามๆ กัน จึงพระราชทานทรัพย์ให้มโหสถเป็นอันมาก ลาภไหลมาเทมาที่มโหสถยังกับน้ำไหลจากกระบอก นักปราชญ์ทั้ง ๔ ท่านเหมือนถ่านไฟจะดับมิดับแหล่

มงคลสมรส

เมื่อมโหสถมีอายุได้ ๑๖ ปี สมควรจะมีภริยาได้แล้ว พระนางอุทุมพรจึงทูลพระเจ้าวิเทหราชๆ ก็ดำริจะจัดการมงคลสมรสให้มโหสถ แต่มโหสถขอตัวไปเลือกหาผู้ที่ถูกใจก่อนสัก ๒ – ๓ วันก่อน ถ้าหาได้จะมากลาบทูลให้ทรงทราบ ถ้าหาไม่ได้ก็จะกลับมาสมรสกับผู้ที่พระเจ้าวิเทหราชทรงเลือกให้

พระเจ้าวิเทหราชก็ยินยอม มโหสถจึงเดินทางออกไปนอกเมืองเพื่อแสวงหาสตรีที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะกัลยาณี

แต่ว่าที่มโหสถไปนั้นไปอย่างปลอมแปลงเป็นนายช่างซ่อมแซมเสื้อผ้า หาได้ไปอย่างมโหสถไม่

เขาเดินทางออกไปทางด้านอุดรของพระนคร ก็ไปถึงหมู่บ้านอุตตรวยมัชฌคาม

ในบ้านนั้นมีตระกูลเก่าตระกูลหนึ่ง แต่บัดนี้ตกยาก ยังคงเหลือแต่สามี ภรรยากับบุตรสาวอีกคนหนึ่งเท่านั้น บุตรของท่านทั้งสองสมบูรณ์สวยลักษณะของหญิงที่ดี มีผู้ประสงค์จะได้ไปเป็นแม่บ้านแม่เรือนมากด้วยกัน แต่นางก็หาไยดีกับใครไม่ นางมีชื่อว่า อมร

บิดาของนางต้องออกไปไถนาแต่เช้าทุกวัน นายช่างซ่อมเสื้อผ้ามโหสถ เดินทางนั้นผ่านมาก็พอดีพบกับนางซึ่งจะไปส่งข้าวบิดาซึ่งกำลังไถนาอยู่

มโหสถเห็นดำริว่า หญิงผู้นี้สวยงามจริงจังทั้งกิริยา ทั้งมารยาทก็สมเป็นกุลสตรีโดยแท้ พอเห็นก็เกิดความรัก นางอมรก็เช่นกัน พอเดินสวนกันเท่านั้นนางก็เกิดพอใจเสียแล้ว

มโหสถคิดจะลองปัญญานางดู ว่านางจะรู้หรือไม่ จึงยืนอยู่ แล้วยื่นมือออกไปกำมือ

นางอมรตีความหมายออกทันทีว่าบุรุษนี้ถามเราว่ามีสามีแล้วหรือยัง นางก็หยุดยืนพร้อมกับแบมือซึ่งเป็นเครื่องบอกว่ายังไม่มี

มโหสถทราบความแล้ว จึงเดินไปใกล้นางพลางถามว่า

“ขอโทษเถิดนาง นางชื่ออะไร?”

นางอมรตอบว่า “สิ่งที่ข้าพเจ้าไม่มีในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต นั่นแหละเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า”

ดูเอาสิหนู คนมีปัญญาเขาเล่นสำนวนกันน่าดูเหมือนกัน

พอพูดเท่านั้น มโหสถก็ทายได้เลยว่านางชื่อ “อมร”

เพราะอมรแปลว่าไม่ตาย คำว่าไม่ตายไม่เคยมีใครมี ไม่ว่าจะเป็นกาลล่วงแล้ว หรือกำลังเป็นอยู่ หรือในเบื้องหน้า จึงพูดกับนาง

“ชื่ออมรหรือ?”

“นั่นแหละเป็นชื่อของข้าพเจ้า”

“แล้วนางจะเอาข้าวไปให้ใคร?”

“ให้บุพเทพ”

“ถ้าจะเอาไปให้บิดา”

“ถูก”

“ท่านทำอะไรอยู่ล่ะ?”

“ทำสิ่ง ๑ โดยส่วนสอง”

“คงจะไถนาล่ะสิ”

“ถูก”

“อยู่ที่ไหนล่ะ?”

“อยู่ที่คนไปแล้วไม่กลับ”

“อ๋อ! ก็คงจะข้างๆ ป่าช้านั่นเอง”

“นางไปแล้วจะกลับหรือไม่กลับวันนี้”

“ถ้ามาข้าพเจ้าจะไม่กลับ ถ้าไม่มาข้าพเจ้ากลับ”

มโหสถรู้ได้แน่นอนว่า บิดาของนางไถนาอยู่ใกล้ๆ ป่าช้าแถบริมน้ำ เพราะถ้าน้ำขึ้นนางจะข้ามกลับมาไม่ได้จึงบอกได้ว่า ถ้ามาจะไม่กลับ ถ้าน้ำไม่ขึ้นนางก็จะกลับจึงบอกความนั้นแก่นาง นางก็รับว่าถูกต้อง

นางอมรจึงเชื้อเชิญให้มโหสถบริโภคอาหาร

มโหสถก็บริโภคตามคำเชิญ ซึ่งนางก็แบ่งอาหารให้มโหสถทานส่วนหนึ่ง

ครั้นรับประทานเสร็จแล้ว ถามถึงทางที่ไปบ้านของนาง นางก็บอกเป็นปริศนาซึ่งไม่เหลือวิสัยของมโหสถแล้วนางก็รีบเอาอาหารไปส่งบิดา

มโหสถก็เดินไปตามทางที่นางอมรบอก จนกระทั่งถึงบ้านซึ่งมีแต่มารดาของนางอยู่คนเดียว

นางเชื้อเชิญมโหสถให้บริโภคอาหาร แต่มโหสถกลับบอกว่า

“นางอมรให้ข้าพเจ้าทานแล้ว”

นางก็รู้ทันทีว่าชายผู้นี้พอใจธิดาของนางจึงมาถึงบ้าน

มโหสถรู้ว่าตระกูลนี้ยากจน จึงบอกว่า

“คุณแม่ ผมเป็นช่างซ่อมแซมเสื้อผ้า ใครมีเสื้อผ้าที่จะซ่อมแซมบ้าง ผมคิดราคาย่อมเยาจริงๆ”

“เสื้อผ้าเก่าๆ ขาดๆ น่ะมี แต่เงินที่จะจ้างไม่มี”

“เอามาเถอะคุณแม่ ผมจะทำเอง”

มารดาของนางไปขนเสื้อผ้าขาดๆ มาให้มโหสถซ่อมแซมพักเดียวเท่านั้นก็เสร็จเรียบร้อย พวกชาวบ้านรู้ก็พากันนำเสื้อผ้ามาซ่อมแซมบ้าง

พักเดียวมโหสถก็ทำเสร็จ ได้ค่าจ้าง ๔,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่มากโขอยู่

ตกตอนเย็นนางอมรก็แบกฟืนกลับมาบ้าน บิดาของนางกลับเย็นกว่านางอีก

ในฐานะเป็นแขก มโหสถได้บริโภคอาหารก่อนคนอื่นแล้วบิดามารดาของนางจึงกินภายหลัง

มโหสถพักอยู่ที่นั่น ๒ – ๓ วัน พยายามพินิจพิจารณาดูนางอมรว่าจะเป็นอย่างไร ยิ่งอยู่ใกล้ยิ่งเห็นความดีของนางอมรจึงคิดจะทดลองว่านางจะฉลาดเฉลียวอย่างไรบ้าง

“แม่อมร วันนี้เอาข้าวสารกึ่งทะนานหุงเป็นข้าวสวยต้มข้าวต้ม และทำขนมด้วยนะ”

นางรับคำ แล้วเอาข้าวครึ่งทะนานไปตำเอาที่เป็นตัวดีต้มข้าวต้ม และเอาที่หักนิดหน่อยหุงเป็นข้าวสวย และปลายทำขนม

เวลากิน แม้จะอร่อยมโหสถก็แกล้งเป็นว่าไม่อร่อย

“แย่จริง แม่อมรหุงข้างก็ไม่ได้ความ ยิ่งข้าวต้มก็เละเทะไปหมด ขนมก็ไม่น่ากิน เข้ามานี่”

นางก็เดินเข้ามา รู้ไหมว่ามโหสถทำอย่างไร เขาข้าวสวย ข้าวต้ม และขนม ผสมกันขยำๆ ดีแล้วเอามาทาตัวนางอมรตั้งแต่เท้าถึงศรีษะ

“ไป ออกไปทีเดียว”

โดยไม่ต่อล้อต่อเถียง นางอมรก็ออกไปโดยมิได้แสดงอาการโกรธเคือง

เห็นนางไม่โกรธ มโหสถก็ยิ่งพอใจ จึงเรียกนางเข้ามา

“แม่อมร”

พอเรียกนางก็เข้ามา เขาเอาผ้าเนื้อดีให้ ๑ ผืน

“เอ้า! เอาไปอาบน้ำอาบท่าผลัดเปลี่ยนเสีย แล้วจึงเข้ามา” พร้อมกับเอาเงินให้บิดามารดาของนางอมรรวมได้ถึง ๘,๐๐๐ บาท แล้วกล่าวว่า

“คุณพ่อคุณแม่ครับ ผมขอรับอมรไปอยู่ด้วยกันล่ะ ขอคุณพ่อคุณแม่จงเป็นสุขเถิด”

บิดามารดาของนางอมรก็ยินยอม พร้อมกับให้ศีลให้พรเป็นอันมาก

เมื่อทั้งสองออกเดินทางจากบ้านมาแล้ว มโหสถก็ให้ร่มและรองเท้าแก่นางอมร

แต่แล้วมโหสถก็คิดสงสัย เพราะในขณะแดดร้อนจัดนางอมรหุบร่มเสียเดินตากแดดไป พอถึงใต้ร่มสิ กลับกางร่ม และรองเท้าก็เหมือนกัน ในที่ดอนนางอมรถอดรองเท้าเดินเท้าเปล่าไป ยามจะลุยน้ำนางจึงสวมรองเท้า เห็นอาการออกจะไม่เข้าที อดไม่ได้เลยต้องถาม นางตอบว่าอย่างไรรู้ไหม? นางตอบว่า

“ที่ข้าพเจ้ากางร่มภายใต้ต้นไม้ เพราะไม่ทราบว่าไม้แห้งไม้ผุอะไรจะหักตกลงมาประทุษร้ายร่างกายบ้าง และในขณะเดินบนดอนข้าพเจ้าไม่สวมรองเท้า เพราะเห็นว่าที่แจ้งอาจเห็นหนามได้ แต่ในน้ำที่ต้องสวมเพราะอาจมีภัยอันตรายต่างๆ ได้”

เมื่อไปถึงบ้าน มโหสถก็ยังไม่แสดงตนให้นางทราบว่าตนคือมโหสถ จึงพานางไปฝากไว้ที่ประตู แล้วกระซิบบอกผู้เฝ้าประตูให้ดูไว้ แล้วตนก็เข้าไปภายในบ้าน พร้อมกับส่งคนในบ้านออกมาเกี้ยวพาราสีนาง แต่นางก็ไม่ยินดีด้วย จนสุดท้ายให้คนไปฉุดนางมาจากประตู

นางมาเห็นมโหสถ ซึ่งแต่งตัวอย่างผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ มิได้กำหนดให้แน่นอนก็จำไม่ได้ พอนางแลเห็นก็หัวเราะแล้วร้องไห้

มโหสถจึงให้คนถามนางว่าเหตุไรนางจึงหัวเราะแล้วร้องไห้

นางก็บอกว่า

“ที่นางหัวเราะเพราะดีใจที่เห็นสมบัติของท่านมากมาย ท่านคงได้สั่งสมไว้แต่ก่อนมาก ชาตินี้จึงได้ร่ำรวยนักหนา แต่ที่ข้าพเจ้าร้องไห้ก็เพราะเห็นว่าตายไปท่านจะตกนรก ก็เลยพลอยเสียใจด้วย”

มโหสถทำเป็นโกรธนาง

“ปากดี ชะ นางนี่ ชนิดนี้ต้องส่งโรงสีทำงานหนักเสียจึงจะสมควร” แล้วสั่งให้คนใช้พานางกลับไปที่เดิม

พอตกตอนเย็นก็ปลอมตัวเป็นช่างชุนผ้าไปแรมคืนอยู่กับนางอีก

รุ่งขึ้นก็ได้กราบทูลให้พระนางอุทุมพรทราบว่าตนได้นางที่ตนพอใจแล้ว พระนางก็ได้กราบทูลให้พระเจ้าวิเทหราชทรงทราบ

พระองค์ได้สั่งจัดการแต่งงานคนทั้งสองอย่างยิ่งใหญ่ สมเกียรติที่พระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าภาพทุกประการ

และนับแต่นั้นเจ้ามโหสถก็อยู่ร่วมกับภรรยาเป็นสุขสำราญ

ยังไม่จบเรื่องของเจ้ามโหสถ ยังมีต่อไปอีก…นักปราชญ์เฒ่าหัวงูทั้ง ๔ อันมีเสนกะเป็นหัวหน้า เห็นมโหสถได้รับความเอ็นดูจากพระเจ้าแผ่นดินเกินหน้าพวกตนก็เกิดความไม่ชอบใจ และเห็นว่าถ้ามโหสถยังอยู่ตราบใดพวกตนก็คงจะยังด้อยความนิยมนับถืออยู่ตราบนั้น และอีกประการหนึ่งมันมีเมียสวยและฉลาดเสียด้วย ถ้าได้กับพวกเราคนใดคนหนึ่งก็จะดี จึงนัดประชุมปรึกษาหารือกันวางแผนทำลายมโหสถพร้อมกับจะได้นางอมรด้วย

“พวกท่านทั้งสามมีความเห็นอย่างไรในการจะทำลายอ้ายเด็กปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมคนนี้”

“ยังงี้มันต้องความคิดอาจารย์ พวกกระผมคิดไปไม่ตลอดหรอกครับ”

“เรามีความคิดอย่างหนึ่ง แต่ว่าพวกท่านจะเห็นด้วยหรือไม่”

“ลองบอกก่อนสิครับ ถ้าเป็นเรื่องไม่รุนแรงนัก พวกผมเป็นตกลงเลย”

“คือว่าเราทั้ง ๔ ต้องลักพระราชสมบัติแล้วเอาไปไว้ที่บ้านเจ้ามโหสถ แล้วกล่าวหาว่ามันขโมยพระราชทรัพย์ เท่านั้นมันจะต้องตาย หรืออย่างน้อยก็ถูกเนรเทศ แล้วเมียมันจะไปไหนเสีย ก็จะต้องเป็นเมียเรา เอ๊ย! ไม่ใช่ คือว่าเป็นเมียพวกเราคนใดคนหนึ่ง ยังงี้ดีไหม?”

“ดีจริงครับ อาจารย์”

“ถ้าเช่นนั้นเราวางแผนกันเลยนะ เราเองจะลักปิ่นปักผมของพระเจ้าแผ่นดิน ท่านปุกกุสะลักดอกไม้ทอง ท่านกามินทร์จงเอาผ้าคลุมบรรทมมา ส่วนท่านเทวินทร์จงเอาฉลองพระบาททองมา แล้วให้คนนำไปขายที่บ้านมัน แล้วทีหลังเราก็เอาคนไปค้นจับมันเลย”

ทุกคนลงความเห็นชอบด้วยกัน และเริ่มดำเนินตามแผนโจรกรรมที่วางไว้ เมื่อได้มาแล้วเสนกะก็วางอุบายต่อไปคือให้หญิงคนใช้ของตนคนหนึ่ง เอาเปรียงใส่หม้อไปขายให้คนในบ้านมโหสถ ถ้าคนอื่นซื้อไม่ขาย ถ้าคนในบ้านมโหสถล่ะก็ให้ขายไปเลยทั้งหม้อด้วย พร้อมกับเอาปิ่นทองใส่ก้นหม้อด้วย หญิงคนใช้ก็เอาไป

“เปรียงแม่เอ๊ย อย่างดี ใหม่ สด ดีไม่มีสอง” แล้วแม่ค้าก็เดินกลับไปกลับมาอยู่หน้าบ้านมโหสถ

นางอมรอยู่ภายในบ้านมองเห็นความผิดปกติของชาวค้าชาวขาย ทำไมมาเดินวนๆ เวียนๆ อยู่แถวหน้าบ้านตนเช่นนี้ คงจะมีอะไรผิดปกติเป็นแน่ จึงให้คนใช้หลบไปเสียก่อน นางเองออกไปเรียกคนขายเปรียงมา พอนางเผลอก็ล้วงมือลงไปในหม้อก็เจอเอาปิ่นทอง แต่นางทำเป็นไม่รู้ เสทำเป็นถามโน่นถามนี่

“เปรียงของแม่ค้าดีจริงหรือเปล่าคะ?”

“ดีแน่เชียวค่ะ เป็นของใหม่และสดจริงๆ และเป็นของที่มาจากนมบริสุทธิ์จริงๆ”

“แม่ค้าอยู่ไกลไหมคะ?”

“ดิฉันอยู่บ้านท่านอาจารย์เสนกะค่ะ”

“แล้วทำไมมาขายของล่ะคะ?”

“หาพิเศษน่ะค่ะ” แม่ค้าตอบอย่างไม่ค่อยเต็มคำ

“ถ้าดีจริงๆ ฉันจะซื้อไว้เอง”

“ค่ะ ดิฉันจะคิดให้ถูกๆ และขี้เกียจจะเอาหม้อกลับไปเลยแถมให้เสียด้วย”

นางอมรก็จัดแจงจดเป็นลายลักษณ์อักษรไว้

รุ่งขึ้น ปุกกุสะให้นางทาสีเอาดอกไม้ใส่กระเช้ามาขายพร้อมกับเอาดอกไม้ทองใส่ก้นกระเช้ามาด้วย

นางคนค้าขายคนนั้น ก็แสดงอาการพิรุธคือมาเดินวนเวียนอยู่ที่หน้าบ้านมโหสถ นางอมรเห็นเข้าก็นึกรู้ว่าคงมีอะไรอีกเป็นแน่ ก็เลยเรียกเข้ามาซึ้อ และสอบถามได้ความว่าอยู่บ้านปราชญ์ปุกกุสะ นางได้พบดอกไม้ทองก็เก็บไว้ พร้อมกับจดเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ด้วย

ส่วนกามินทร์ใช้ให้ทาสีในบ้านเอาผ้ามาขาย แต่ก็เอาผ้าคลุมบรรทมซ่อนใส่มาข้างล่างด้วย ซึ่งนางอมรก็รู้และได้สอบถามจดไว้ด้วย

เทวินทร์เอาข้าวโพดมาขาย พร้อมกับเอารองเท้าทองซ่อนใส่ในมัดข้าวโพดมาด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่พ้นการพิจารณาของนางอมรไปได้ ซึ่งนางก็ทำเป็นจดหมายเหตุไว้อีก

เมียดีเป็นศรีแก่ผัวเห็นจะเป็นอย่างนางอมรนี่เอง ไม่ปล่อยให้สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ผ่านเข้ามาในบ้านรอดหูรอดตาไปได้ ถ้าปล่อยไปมโหสถเห็นจะแย่เหมือนกัน

เมื่อบัณฑิตทั้ง ๔ ท่านส่งของเหล่านั้นไปเข้าบ้านมโหสถเสร็จแล้ว คราวนี้จะต้องถึงคราวที่จะติดตามของเหล่านั้นมาล่ะ

ตาย! ตายแน่ๆ ทั้ง ๔ คน คิดเหมือนๆ กัน

ประวัติศาสตร์ของไทยเราเคยมีมาแล้ว ดำเนินนโยบายเหมือนเรื่องนี้ แต่เรื่องสำเร็จเพราะถูกคนใส่ความต้องหัวขาดโดยราชอาญา แม้ใครจะรู้ภายหลังก็ธุระไม่ใช่

สมัยแผ่นดินพระเพทราชา หลังจากเปลี่ยนแผ่นดินเสร็จเรียบร้อย เฉลิมฉลองยกย่องให้เกียรติแก่ผู้ช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว พระราชวังหลัง (นายจบคชประสิทธิ์) ก็มีอันเป็นไปต้องราชอาญาฐานลักพระราชทรัพย์ คือ ถาดทอง ค้นของกลางได้ที่วัง ก็เป็นอันว่าตำแหน่งพระราชวังหลังต้องลงไปเสวยตำแหน่งในปรโลก ดูเอาเถอะครับ พระราชวังหลังขโมยถาดทอง นี่เป็นเรื่องประวัติศาสตร์นะครับ ถ้าไม่มีลายลักษณ์อักษรก็คงไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว

ทั้งสองเรื่องนี้ใครเอาอย่างใคร แต่เรื่องของมโหสถนี้เก่ากว่าประวัติศาสตร์ของเราแน่

ปราชญ์ทั้ง ๔ คอยหาโอกาส

วันหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวกำลังทรงสำราญพระหฤทัยหลังจากออกขุนนางแล้ว ก็เสด็จมาสนทนากับนักปราชญ์ผู้ไม่อยากเห็นผู้อื่นดีกว่าตัว เสนกะได้ท่าจึงทูลถามว่า

“ขอเดชะ เดี๋ยวนี้พระองค์ไม่ทรงพระจุฑามณีเลยพระเจ้าค่ะ”

“ฮ่ะ! ฮ่ะ! ท่านนักปราชญ์สังเกตสำคัญจริง เราไม่ค่อยได้หยิบจุฑามณีมาใช้เลย ท่านอาจารย์เตือนขึ้นก็ดีแล้ว จะได้ใช้เสียที”

“เฮ้ย! ใครอยู่ข้างในหยิบจุฑามณีมาให้ข้าที” ทรงหันไปร้องสั่งมหาดเล็ก แล้วก็หายเงียบไปพักใหญ่ มหาดเล็กคนหนึ่งก็ออกมากราบทูล

“ขอเดชะ พระจุฑามณีไม่ได้อยู่ในที่พระเจ้าค่ะ พวกเถ้าแก่คิดว่าพระองค์ทรงเอาออกมาเสียอีก”

“อุวะ!” ทรงอุทานด้วยความฉุนเฉียว “ไปดูให้ดีใหม่ พร้อมทั้งรองเท้าและของใช้ประจำตัวของข้าด้วย”

เจ้ามหาดเล็กหายเข้าไปอีกพักใหญ่ ก็กลับมากราบทูลว่า

“ท่านท้าวนางบอกว่าค้นหาแล้วไม่พบ และยังมีของที่หายไปจากที่อีก ๓ อย่างด้วยกัน”

“อะไรอีกล่ะ?” ทรงถามสวนขึ้นมา

“มีรองพระบาท ดอกไม้ทอง และผ้าคลุมบรรทม พระเจ้าค่ะ”

“เอ! ของในวังมันจะหายไปได้ยังไง? ไปเรียกท้าวนางมา”

มหาดเล็กก็ไปตามรับสั่ง

เมื่อท้าวนางมาแล้ว พระองค์ก็สอบถามแต่ก็ไม่ได้ความ อาจารย์เสนกะจึงกราบทูลขึ้นว่า

“ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้าฯ เรื่องนี้คนใกล้ชิดเห็นจะไม่มีใครกล้า เพราะของเหล่านั้นตนเป็นผู้รักษาอยู่เอง เห็นจะเป็นคนนอกมากกว่า เพราะคนที่เข้านอกออกในได้ก็ไม่เห็นจะมีใครนอกจากพวกข้าพระองค์ ๕ คน และข้าพระองค์เคยได้ยินคนใช้มันพูดกันว่า มโหสถมีอาภรณ์เหล่านี้ใช้ เดิมข้าพระองค์ไม่เชื่อ แต่เมื่อมารู้ว่าของเหล่านี้หายไป ข้าพระองค์ก็เลยเชื่อว่ามโหสถเอาไปแน่พระเจ้าค่ะ มโหสถเห็นจะไม่ซื่อเสียแล้วพระเจ้าค่ะ”

สายของมโหสถซึ่งวางไว้ก็รีบนำความไปแจ้งแก่มโหสถถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

มโหสถรีบแต่งตัวเข้าวัง เพื่อจะไปแก้ข้อกล่าวหาของอาจารย์ทั้ง ๔ แต่เมื่อไปถึงกลับถูกพระราชาไม่ให้เข้าเฝ้า เลยต้องกลับ และเมื่อมโหสถกลับออกไป โดยไม่ต้องไต่สวนทวนความให้แน่ชัดก็สั่งจับมโหสถทันที

เมื่อมโหสถรู้ข่าว เห็นว่าไม่มีทางแก้ตัวได้เลย ต้องหลบไปเสียก่อน

การกระทำของพระเจ้าวิเทหราชเช่นนี้ ตรงกับคำของครูเทพได้ว่าไว้ว่า

“ก็สมควรจะป่วนเปิง เพราะใช่เชิงตุลาการ
จะตัดสินจะตั้งศาล จะต้องโจทก์จำเลยสม
แม้ไต่สวนมิควรข้อง ก็ยกฟ้องนิรารมย์
จะชอบเชิงวิชิตชม เผชิญดุลวินิจฉัย”

ก็จริงอย่างว่า ถูกฟ้องก็เชื่อโดยไม่ได้ตรึงตรองให้แน่ชัด ใครอยู่ใกล้พูดให้ถูกใจ ถูกเป็นผิด ผิดเป็นถูก ปั้นเข้าเป็นได้ความ เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว เอส ธมฺโม สนนฺตโน พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เรื่องเคยมีมาแล้ว ไม่ใช่ของใหม่” ไม่แปลกเขาทำกันยังงี้ทั้งนั้น

เมื่อราชบุรุษที่ไปจับกลับมากราบทูลว่า ไม่พบตัวมโหสถไม่ทราบว่าหายไปที่ไหน ก็รับสั่งให้จับให้ได้

ฝ่ายท่านอาจารย์ทั้ง ๔ ผู้เป็นมนุษย์ที่ไม่ยอมให้ใครดีกว่าตน รู้ว่ามโหสถหนีไปแล้วก็ดีใจ ก้างขวางคอหมดไปเสียได้ ผงในนัยน์ตาหลุดไปเสียได้ดีใจจริงๆ จึงปรึกษากัน

“เจ้ามโหสถหนี หากโผล่ออกมาเป็นถูกจับ นับแต่นี้พวกเราก็สบาย ไม่มีใครจะมาชิงดีชิงเด่นกับพวกเราทั้ง ๔ คน อีกประการหนึ่ง เมียเจ้ามโหสถมันสวยกว่ายายแก่ของเราเป็นไหนๆ พวกเราลองไปเกลี้ยกล่อมดู บางทีนางจะเห็นดีด้วยบ้างก็ได้”

“แต่ใครจะไปก่อนล่ะ?”

ก็หาคนไปไม่ได้ เพราะต่างคนก็ต่างจะไปโดยไม่ให้ใครล่วงรู้เลย เป็นอันตกลงกันไม่ได้

แต่ทั้ง ๔ คน ก็ส่งของกำนัลไปให้นางอมร ซึ่งนางก็รู้เท่าทันจึงนัดหมายให้อาจารย์ทั้ง ๔ มาคนละเวลา โดยไม่ให้พบกันได้ แล้วนางก็จัดแจงทำกระดานหกที่หลุมส้วม

คอยดูต่อไปว่านางอมรจะจัดการกับตาแก่อยากมีเมียสาวอย่างไรบ้าง

เมื่อนัดให้อาจารย์เสนกะมาหาในเวลาค่ำ แล้วนางก็จัดแจงแต่งตัวไว้รับหน้าอย่างงามพริ้งทีเดียว พออาจารย์เสนกะโผล่เข้ามาพบ

“แม่เจ้าโว้ย! นางฟ้าหรืออะไรกันแน่ เดี๋ยวก็คงจะรู้ดีแน่”

แต่นางอมรกลับบอกให้ไปอาบน้ำอาบท่าเสียให้ดีก่อน จะได้คุยกันอย่างสบาย แล้วก็ให้สาวใช้พาอาจารย์เสนกะไปเข้าห้องน้ำ นางสาวใช้ก็พาไปที่ทำกระดานหกไว้

พออาจารย์เสนกะก้าวเข้าไปกระดานก็หก อาจารย์ก็หล่นลงไปในหลุมอุจจาระทั้งหัวหูดูไม่ได้ เต็มไปด้วยอุจจาระทั้งนั้น จะขึ้นก็ไม่ได้ แลดูไปทางไหนก็มืดไปหมด ต้องเกาะข้างหลุมรอความตาย

จากนั้นอีกราวชั่วโมง ปุกกุสะซึ่งได้รับการนัดหมายจากนางอมรก็มา แล้วก็ตกลงไปในหลุมคูด้วยประการฉะนี้ เป็นอันว่าอาจารย์ทั้ง ๔ ไม่มีใครรอดไปจากหลุมที่เต็มไปด้วยอุจจาระเลย

พอรุ่งเช้านางอมรก็ให้คนไปเปิดกระดานหก จับเอาตัวอาจารย์ทั้ง ๔ ซึ่งทอดอาลัยในตนแล้วขึ้นมา พอเห็นแสงสว่าง เหมือนเทวดามาโปรด นางอมรให้คนพาไปอาบน้ำอาบท่าเสร็จแล้ว บังคับให้โกนหัวเสียหมดทั้ง ๔ คน ยังไม่พอเท่านั้น นางอมรยังให้ทำอีก เพื่อจะให้สมแค้น เพราะมโหสถถูกอาจารย์เหล่านี้ทำเล่ห์กล จนต้องหนีไปจากบ้าน

นางให้สาวใช้กวนแป้งเปียก แล้วเอามาชะโลมตัวอาจารย์ทั้ง ๔ ซึ่งได้แต่มองตากันปริบๆ โดยไม่รู้จะพูดจาอย่างไรถูก อายเสียตนหน้าชาแทบจะหยิกไม่เจ็บอยู่แล้ว พอชะโลมเสร็จแล้วก็ให้เอานุ่นมาโรยทั่วตัว แลดูขาวโพลนไปหมดด้วยกัน

มาถึงตอนนี้ทำให้นึกถึงเรื่องรามเกียรติ์ตอนหนุมานเผาลงกา ทศกัณฐ์สั่งให้เสนาเอาหนุมานไปคลุกนุ่นจนขาวไปทั้งตัวแล้วก็จุดไฟ เป็นยังไงรู้ไหมลงกาวอดไปทั้งเมือง แต่นี่ไม่ถึงกับมิถิลาวอด

เท่านั้นยังไม่พอ นางให้เอาใส่กระชุ แล้วเอาเสื่อลำแพนหุ้ม มัดด้วยเชือกให้แน่น เสร็จเรียบร้อยแล้วนางก็เอาสิ่งของที่รับซื้อไว้ พร้อมกับให้คนแบกอาจารย์ทั้ง ๔ คน ตามไปในพระราชวัง

พอเป็นเวลาเสด็จออกขุนนาง นางอมรเข้าไปถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า

“ขอเดชะ เกล้ากระหม่อมฉันได้อาศัยพระบารมีของพระองค์อยู่เป็นสุขนึกถึงพระคุณ จึงได้นำเอาเครื่องบรรณาการมาถวายพระองค์”

แล้วให้คนยกกระชุ ซึ่งหุ้มด้วยเสื่อลำแพนเข้าไปถวาย

“อะไรล่ะ แม่อมร?”

“ขอได้โปรดทอดพระเนตรเองเถิดพระเจ้าค่ะ”

ก็รับสั่งให้ราชบุรุษเปิดขึ้น ครั้งแรกมองไปคล้ายลิงเผือก แต่ดูๆ ไปก็ไม่ใช่ ครั้งแรกจำไม่ได้ว่าเป็นใคร ภายหลังพิจารณาไปก็จำได้ว่าเป็นอาจารย์ทั้ง ๔ ถึงกับทรงนิ่งอึ้ง “นี่มันอะไรกัน?” ทรงถามตัวเองในพระทัย

แต่ส่วนราชบริพารที่เฝ้าอยู่ พอเห็นว่าเป็นอาจารย์ก็อดขำไม่ได้ ปล่อยกันเสียครืนใหญ่ ลืมคิดไปว่าหน้าพระที่นั่งไปชั่วขณะ

จากนั้นนางก็ได้ถวายสิ่งของต่างๆ ที่อาจารย์เหล่านั้นให้คนนำไปขายให้นาง พร้อมกับนำหลักฐานที่นางบันทึกไว้ถวายให้ทอดพระเนตร

ถึงเช่นนั้นพระเจ้าวิเทหราชก็หาได้จัดการอย่างไรไม่ กลับให้อาจารย์ทั้ง ๔ กลับไปบ้านได้ตามสบาย นี่คือความอยุติธรรมที่บุคคลจะได้รับจากผู้ใหญ่เหนือตนที่มีแต่อารมณ์เท่านั้น มโหสถตกอยู่ในสภาพมีปากก็เหมือนปากหอยปากปู พูดไม่ได้ โลกหนอโลกเป็นเช่นนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ยังมีคนเช่นนี้อยู่เชื่อเถอะว่าความอยุติธรรมเช่นนี้ต้องมีอยู่แน่ๆ

หลังจากนั้นเทพเจ้าผู้รักษากัมพูฉัตรเห็นว่าจะไปกันใหญ่ บ้านเมืองจะไม่มีขื่อไม่มีแป เพราะคนสอพลอมีมาก ผิดก็ไม่ผิด ส่วนคนไม่ผิดบังคับให้ผิด คืนวันหนึ่งจึงปรากฏตัวในที่บรรทมของพระเจ้าวิเทหราช ตรัสถามปัญหา ๔ ข้อ

ข้อ ๑ ว่า ผู้ที่ตบตีผู้อื่นด้วยมือด้วยเท้า ตบปากผู้อื่น ผู้นั้นยิ่งเป็นที่รักของผู้ถูกตี คือใคร?

ข้อ ๒ ว่า ผู้ที่ด่าว่าผู้อื่น แต่ไม่อยากให้เขาเป็นไปตามนั้น และคนถูกด่าเป็นคนที่รักของคนด่า คือใคร?

ข้อ ๓ ว่า ผู้ที่โกหกกันเหลาะเเหละไม่เป็นความจริง แต่คนโกหกนั่นแหละเป็นที่รักของกันและกัน คือใคร?

ข้อ ๔ ว่า ผู้ที่มาเอาพัสดุสิ่งของ ข้าวน้ำผ้าผ่อนไป แต่ผู้นั้นกลับเป็นผู้ที่ชอบใจของเจ้าของพัสดุเหล่านั้น ผู้นั้นคือใคร?

รวมเป็นปัญหา ๔ ข้อด้วยกัน

ถ้าพระเจ้าวิเทหราชตอบไม่ได้ตายแน่ๆ ทีเดียว

พระเจ้าวิเทหราชทรงกลัวเทวดานั้นมาก รุ่งเช้าจึงเรียกนักปราชญ์ทั้ง ๔ มา แต่ทั้ง ๔ ท่านกลับตอบมาว่า

“ขอเดชะ ข้าพระองค์ออกจากบ้านไม่ได้ เพราะถูกโกนศรีษะเป็นที่น่าอับอายขายหน้าแก่ประชาชน”

พระเจ้าวิเทหราชจึงทรงส่งหมวก (หมวกแขก) ไปให้ใส่เข้ามา นักปราชญ์ทั้ง ๔ จึงเข้ามาได้

เมื่อท่านปราชญ์ทั้ง ๔ เข้ามาแล้วจึงตรัสถามปัญหา ๔ ข้อนั้น ทั้ง ๔ ก็จนปัญญาไม่สามารถจะตอบได้ เพิ่มความปวดเศียรให้แก่พระเจ้าวิเทหราชเป็นอเนกประการ

ตกกลางคืนเทวดาก็มาออกมาซักถามว่า ตอบได้หรือยัง ก็ได้ตรัสตอบว่ายังตอบไม่ได้ แถมนักปราชญ์ประจำราชสำนักก็ตอบไม่ได้

“พระองค์น่ะ มีเพชรใช้กลับไปเห็นว่าพลอยดีกว่า ก็ช่วยไม่ได้ เรื่องนี้มันต้องมโหสถ แต่ถ้าพระองค์ยังตอบไม่ได้ที่สุดคือ ความตาย”

พอรุ่งเช้า ก็รับสั่งให้ออกค้นหามโหสถทั้ง ๔ ทิศ พร้อมกับสั่งไปด้วยว่า ยกโทษให้หมดทุกอย่าง ให้รีบมาเฝ้าเร็วที่สุด

พวกราชบุรุษก็ออกตามไปพบมโหสถที่โรงช่างหม้อที่หมู่บ้านทิศใต้ มีเนื้อตัวเปียกมอมไปด้วยดินที่ปั้นหม้อ เขากำลังทำหน้าที่เป็นคนใช้ ซึ่งนายช่างปั้นหม้อได้ใช้ให้เขาทำอยู่ พอพบราชบุรุษเข้าไปกราบไหว้แล้วบอกให้ทราบถึงว่าพระราชายกโทษให้แล้ว ขอให้รีบกลับไปเฝ้า

มโหสถพอเห็นราชบุรุษก็รู้ว่าหมดเคราะห์แล้ว จึงรีบทิ้งข้าวที่ตนกำลังจะกินออกเดินทางมาเฝ้า เมื่อพระเจ้าวิเทหราชทราบว่า มโหสถมาเฝ้าทั้งที่กำลังมีเนื้อตัวเปื้อนเปรอะดินทรายเต็มไปหมด จึงสั่งให้ไปอาบน้ำอาบท่าเสียก่อน แล้วจึงมาเฝ้า มโหสถก็ทำตามรับสั่ง

เมื่อเข้ามาเฝ้า พระเจ้าวิเทหราชจึงได้ตรัสเล่าถึงปัญหาของเทวดา ๔ ข้อ ให้ฟัง และถามท้ายว่าถ้าพระองค์ตอบไม่ได้จะสิ้นพระชนม์

มโหสถได้ฟังก็หัวเราะ

“ง่ายพระเจ้าค่ะ”

“พิโธ่! เราเป็นทุกข์เป็นร้อนจะตายไป แม้ท่านปราชญ์ทั้ง ๔ ผู้เก่งกล้าสามารถก็ยังไม่สามารถจะตอบได้ยังมาพูดเป็นเล่นเสียอีก”

“มิได้พระเจ้าค่ะ ไม่เป็นเล่น กระหม่อมทูลจริงๆ ว่าปัญหานี้ง่ายมาก”

“เออ! ถ้าอย่างนั้นก็โล่งใจ พ่อช่วยแก้ดูทีว่าอะไรเป็นอะไร”

“ขอเดชะ ปัญหาข้อที่ ๑ ที่ว่า ผู้ที่ตบตีผู้อื่นแต่ผู้ถูกตีกลับรักผู้ตีนั้น ก็ได้แก่เด็กน้อยกับมารดาบิดา เด็กน้อยแม้จะหยิกทึ้งตบตีมารดาบิดาอย่างไร มารดาบิดาก็กลับรักเด็กนั้นมากยิ่งขึ้น”

พอแก้ปัญหาจบเทวดาก็ให้สาธุการ

“ดีจริงพ่อมโหสถ

จึงแก้ข้อ ๒ ต่อไป “ข้อที่ ๒ ที่ว่า ผู้ที่ด่าผู้อื่นแต่ใจไม่คิดร้าย และผู้ถูกด่าก็เป็นที่รักของผู้ด่า ก็ได้แก่มารดาบิดาและบุตรพระเจ้าค่ะ เพราะว่าเวลาบุตรขัดใจ มารดาบิดาจะด่าว่า แต่ใจนั้นมิได้คิดร้ายไปด้วยเลย เพราะความรักแท้ๆ จึงได้ด่าว่าต่างๆ นานา”

“ดีจริง มโหสถ” เทวดาให้สาธุการอีก

“ข้อที่ ๓ ที่ว่า ผู้ที่โกหกกันเหลาะแหละไม่เป็นความจริง แต่คนโกหกนั้นเป็นที่รักของกันและกัน ก็ได้แก่สามีภรรยาที่อยู่ในที่รโหฐาน ก็เย้าหยอกกันด้วยถ้อยคำที่ไม่จริง ซึ่งต่างก็รู้กันว่าไม่จริง แต่ก็โกหกกันและต่างก็รักกัน”

พระเจ้าวิเทหราชถึงกับทรงพระสรวล “ง่ายจริงนะพ่อมโหสถ ทีเราเองคิดหัวแทบแตกแก้ไม่ได้เลย”

เทวดาก็ให้สาธุการอีก

“ส่วนข้อที่ ๔ ที่ว่า ผู้ที่เอาพัสดุสิ่งของข้าวปลาผ้าผ่อนไป ผู้นั้นกลับเป็นที่รักของเจ้าของเสียอีก ก็ได้แก่สมณชีพราหมณ์ผู้มารับไทยทานจากสัตบุรุษซึ่งถวาย แม้จะรับไปสักเท่าใดก็ไม่โมโหโกรธเคือง มีแต่จะถวายมากขึ้นเสียอีก”

“ดีจริง” เทวดาให้สาธุการ

และนับตั้งแต่นั้นมโหสถก็หมดไปจากความระแวงของพระเจ้าวิเทหราชจะแย่งราชสมบัติ จึงพระราชทานเงินทองและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เจ้ามโหสถอีกมากทาย

ความริษยาบังเกิดขึ้นแก่อาจารย์ทั้ง ๔ เป็นอันมาก เขาได้ปรึกษาหารือกันถึงการที่จะกำจัดเจ้ามโหสถ เมื่อคิดขึ้นได้จึงไปกราบทูลพระเจ้าวิเทหราช

“ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้า ผู้ที่มีจิตใจจะคิดการใหญ่อยู่เสมอแล้ว เขาจะไม่ยอมบอกความลับของตนแก่ใครเลย พวกข้าพระองค์พิจารณาดูมโหสถแล้วเห็นว่าไม่น่าไว้วางใจเสียเลย เพราะเขาไม่ยอมบอกความลับของเขาแก่ใครเลย หากพระองค์ไม่เชื่อโปรดสอบถามดูก็จะได้ความจริง”

พระเจ้าวิเทหราชไม่อยากจะเชื่อ แต่เห็นว่าพระองค์พอจะวินิจฉัยได้ จึงคิดว่าจะลองดูก่อนว่าจะเหมือนถ้อยคำของอาจารย์ทั้ง ๔ หรือไม่

ในเวลาเสด็จออกขุนนาง จึงปรารภเหตุอันควรไว้ใจและมิควรจะไว้ใจ และตรัสถามปราชญ์ทั้ง ๔ ท่านเป็นลำดับกัน

“ท่านอาจารย์เห็นว่าควรจะบอกความลับแก่ใคร?”

“ข้าพระองค์เห็นควรบอกแก่มิตร เพราะแม้นักปราชญ์แต่ปางก่อนก็ให้บอกความลับแก่มิตร”

“ท่านปุกกุสะเล่า?”

“ข้าพระองค์เห็นว่าควรบอกแก่พี่ชายน้องชาย”

“ท่านกามินทร์เล่า เห็นควรบอกแก่ใคร?”

“ข้าพระองค์เห็นว่าควรบอกแก่บุตร”

“ท่านเทวินทร์เล่า”

“ข้าพระองค์ถือภาษิตของปราชญ์แต่โบราณว่า มิตรในเรือนคือแม่ของเรา จึงควรบอกความลับแก่มารดาของตน”

แล้วจึงทรงหันไปทางมโหสถ พลางตรัสถามว่า

“พ่อมโหสถเล่า เห็นว่าอย่างไร ความลับควรจะบอกแก่ใครดี”

ด้วยความซื่อมิได้คิดว่าจะมีเล่ห์กลอันใด มโหสถจึงทูลตอบออกไปว่า

“ขอเดชะ สำหรับความคิดของข้าพระองค์แล้ว เห็นว่าความลับของตนไม่ควรบอกใครทั้งหมดพระเจ้าค่ะ จนกว่าความคิดนั้นสำเร็จแล้วจึงค่อยบอกกับคนทั้งปวง”

พระเจ้าวิเทหราชได้ฟังก็ทรงเสียพระทัยว่ามโหสถจะเป็นอย่างนักปราชญ์ทั้ง ๔ บอกเสียเป็นแน่

ภาษิตที่ว่า “อันเสาหินแปดศอกตอกเป็นหลัก ไปมาผลักบ่อยเข้าเสายังไหว” ยังเป็นความจริงที่ใช้ได้อยู่ทุกกาลสมัย

เมื่อจิตใจคิดอย่างนั้น สีหน้าก็แสดงปรากฏชัดออกมา เสนกะมองดูพระราชา และพระราชาก็มองดูเสนกะ

มโหสถเมื่อตอบออกไปแล้วเห็นพระราชาและเสนกะทำอาการพิรุธก็ชักเอะใจ “คงมีอะไรอีกแล้ว”

พอดีเป็นเวลาเย็นแล้ว มโหสถจึงกราบถวายบังคมลาไปบ้าน ในขณะกลับเดินคิดถึงเรื่องที่ปราชญ์ทั้ง ๔ ตอบพระราชา คิดอยากจะรู้ และทราบว่าทั้ง ๔ ท่านเมื่อออกจากที่เฝ้าก็มักจะชอบมานั่งคุยกันที่ข้างประตูซึ่งมีถังข้าววางคว่ำไว้ และปราชญ์ทั้ง ๔ ก็มานั่งคุยกันบนก้นถังเสมอๆ จึงรีบไปยังที่นั่น และให้คนตะแคงถังข้าวขึ้นแล้วตนเข้าไปนั่งใต้ถังข้าวนั้น พร้อมกับสั่งบังคับให้คนสนิทไว้ว่า เมื่อเขาเข้าไปเรียบร้อยแล้วก็ให้หลบไปอยู่เสียให้ห่าง ต่อเมื่อเห็นอาจารย์ทั้ง ๔ กลับไปแล้วจึงค่อยมาตะแคงถังข้าวให้มโหสถออกมา

มโหสถเข้าไปอยู่ใต้ถังข้าวไม่นานนัก อาจารย์ทั้ง ๔ ออกจากที่เฝ้าแล้วก็มาประชุมกันอยู่ที่นั้น

เสนกะจึงได้ถามอาจารย์ทั้ง ๓ ว่า ที่ท่านบอกกับพระเจ้าอยู่หัวว่าควรบอกความลับของตนแก่คนนั้น ท่านได้รับบอกเล่ามาจากผู้ใดหรือว่าท่านได้เคยประพฤติมาแล้ว

อาจารย์ทั้ง ๓ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า

“ท่านอาจารย์ ความลับเหล่านั้นพวกเราได้ปฏิบัติกันมาแล้ว และถ้าหากว่าพระราชารู้เข้าพวกเราจะพากันสิ้นชีวิตไปตาม ๆ กัน”

“ใครมันจะรู้นะ ก็มีพวกเรา ๔ คนเท่านั้นที่มา”

“ว่าไม่ได้นา มโหสถอาจจะมาอยู่ใต้ถังนี้ก็ได้”

เสนกะพูดเล่นเป็นเชิงเย้าอาจารย์ทั้ง ๓ พร้อมกับเอานิ้วมือเคาะถังข้าว

“คนเมายศอย่างเจ้ามโหสถ คงไม่ทำอย่างนี้เป็นแน่”

เสนกะจึงเอ่ยขึ้น “ความลับของข้าพเจ้าถ้าใครรู้เข้าข้าก็มีหวังเป็นตายแน่”

“บอกมาเถอะน่า ไม่มีใครเลยนี่นา”

“พวกท่านจำหญิงโสเภณีที่ชื่อสิริมาได้หรือเปล่า”

“อ๋อ! แม่คนสวยที่ติดจะหยิ่ง ยังแถมเลือกรับแขกน่ะเรอะ”

“เออ คนนั้นล่ะ”

“ทำไมล่ะ?”

“เดี๋ยวนี้พวกท่านเห็นนางบ้างหรือเปล่า?”

“เออ! เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยพบนางเลย หรือจะถูกเนรเทศไปทางไหนเสียแล้ว”

“ไม่มีใครเนรเทศนางหรอก”

“แล้วนางหายไปไหนเล่า?”

“ก็เรานี่แหละที่ทำให้นางหายไป”

“ท่านอาจารย์ทำยังไงล่ะ?”

“คือว่าวันหนึ่งเราให้คนไปรับนางมาที่สวนแห่งหนึ่ง นางก็แต่งตัวมาเสียสวยทีเดียว เราเกิดไปชอบใจจี้ห้อยคอของนางเข้า เมื่อร่วมกับนางเสร็จแล้วเลยบีบคอนางเสียตาย แล้วแถมเอาศพฝังเสียด้วย เครื่องประดับของนางเรายังเอามาห่อเก็บไว้ในเรือนไม่กล้าเอาออกใช้ เพราะกลัวคนจำได้ นางเลยหายสาปสูญไป และเราได้บอกความลับนี้แก่สหายคนหนึ่ง เราจึงได้ทูลพระเจ้าอยู่หัวว่าควรบอกความลับของตนแก่เพื่อน เรื่องนี้ถ้าพระเจ้าอยู่หัวรู้เข้า เราเป็นถูกประหารแน่ๆ”

“ข้าพเจ้าก็เหมือนกับท่านอาจารย์”

“เป็นอย่างไรลองเล่าไปทีรึ?”

“ข้าพเจ้าเป็นโรคเรื้อนที่ขา ไม่มีใครรู้เลยนอกจากน้องชายน้อยของข้าพเจ้า เขาได้ทายาทำความสะอาดแผลและเอาผ้าพันแผลไว้ และท่านคงสังเกตเห็นแล้วว่าพระราชาโปรดข้าพเจ้ามาก บางทีถึงกับเอาพระเศียรพาดตักข้าพเจ้าบ่อยๆ ถ้าพระราชารู้ข้าพเจ้าคงตายแน่ คนอื่นไม่มีใครรู้นอกจากข้าพเจ้าคนเดียว ข้าพเจ้าจึงทูลว่าควรบอกความลับแก่น้องชาย”

“ท่านกามินทร์ล่ะ มีอะไรจึงทำให้ท่านทูลพระราชาอย่างนั้น”

“สำหรับข้าพเจ้าน่ะรึ มีโรคประจำตัวอยู่อย่างหนึ่ง เวลาเป็นแล้วจะร้องเหมือนอย่างกับหมาบ้า บุตรข้าพเจ้ารู้ พอถึงเวลาข้าพเจ้าเป็นซึ่งจะต้องเป็นในแรม ๘ ค่ำ ก็จัดหามหรสพมาเล่นที่หน้าบ้าน ปิดประตูห้องข้าพเจ้าเสีย เสียงการเล่นก็ดังกลบเสียงข้าพเจ้าที่ร้องได้ ท่านทั้งหลายคงจะเห็นแล้วว่าที่หน้าบ้านข้าพเจ้ามีการเล่นทุกเดือน นี่เป็นเพราะเหตุนี้ และความนี้ไม่มีใครรู้เลยนอกจากบุตรชายคนเดียวของข้าพเจ้า จึงได้ทูลพระราชาไปอย่างนั้น”

“แล้วท่านเทวินทร์ล่ะ?”

“สำหรับข้าพเจ้า ถ้าความนี้ทราบถึงพระกรรณพระเจ้าอยู่หัวแล้วเป็นตายแน่นอน”

“เพราะอะไรล่ะ?”

“เพราะพระราชทรัพย์ซึ่งเป็นของวิเศษน่ะสิ”

“เอ้า ลองเล่าไปดูทีรึ”

“สมัยพระเจ้ากุสราชได้รับแก้ววิเศษไว้ดวงหนึ่งจากพระอินทร์ พอใกล้จะสิ้นรัชกาลข้าพเจ้าได้โอกาสก็เลยลักเอาแก้วดวงนี้ไปฝากมารดาไว้ แล้วอาศัยแก้วดวงนี้จะทำอะไรก็ประกอบด้วยสิริเช่นการจะตรัส พระเจ้าอยู่หัวจะต้องตรัสกับข้าพเจ้าก่อนคนอื่น และได้รับพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเนืองๆ ก็เพราะแก้วดวงนี้ ข้าพเจ้าจึงทูลแก่พระราชาให้บอกความลับแก่มารดา”

“พวกเรารู้กันแล้วอย่าประมาท ช่วยกันฆ่ามโหสถเสียให้ได้”

แล้วต่างคนก็พากันแยกย้ายกลับไป

มโหสถก็ออกจากถังข้าวกลับบ้านไป และสั่งคนให้ไปคอยฟังข่าวจากพระนางอุทุมพร

พระเจ้าวิเทหราชตั้งแต่ได้ทรงรับสั่งให้อาจารย์ทั้ง ๔ ฆ่ามโหสถแล้ว ทรงคำนึงว่า มโหสถตั้งแต่เข้ามายังไม่เคยปรากฏว่าทำร้ายพระองค์เลย แม้จะมีข่าวอย่างโน้นอย่างนี้ก็เป็นเพราะผู้อื่นทั้งนั้น เพียงอาจารย์ทั้ง ๔ บอกเล่าเราก็ทิ้งคติโบราณที่ว่า

“จะตัดสินจะตั้งศาล จะต้องโจทก์จำเลยสม
แม้ไต่สวนมิควรข้อง ก็ยกฟ้องนิรารมย์
จะชอบเชิงวิชิตชม เผชิญดุลวินิจฉัย”

เมื่อทรงรำพึงทำให้ไม่สบายพระทัย เราออกจะหูเบามากทีเดียว ใครฟ้องอย่างไรก็เชื่อมันตะบันเลย เออ! มโหสถเห็นจะตายเสียแล้วเป็นแน่ เลยทำให้พระองค์ทรงบรรทมไม่หลับกระสับกระส่ายไปมา

พระนางอุทุมพรเห็นพระสวามีพลิกกระสับกระส่ายจึงทูลถามถึงเหตุที่ไม่สบายพระทัย พระองค์ก็ตรัสบอกที่ได้ข่าวว่า มโหสถจะคิดกบฎจึงได้สั่งให้ประหารชีวิตเสียแล้ว พระนางถึงกับตกพระทัยแต่แล้วก็คุมสติได้ เพราะได้ทราบว่ายังมิได้ประหารเจ้ามโหสถ จึงทูลเล้าโลมให้คลายพระทัย

“พระองค์ตั้งเจ้ามโหสถไว้ในตำเเหน่งยิ่งใหญ่แล้วกลับคิดกบฎทรยศ ก็สมควรแล้วที่พระองค์จะตรัสให้ประหารเสีย”

จึงทำให้พระราชาคลายวิตกบรรทมหลับไปได้

พระนางจึงเขียนสาส์นให้คนถือไปให้เจ้ามโหสถ

“อย่าเข้ามาพรุ่งนี้เช้า ถ้าจะเข้ามาจงเอาประชาชนมาด้วย”

ข้อนี้ทำให้นึกถึงประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งพระยากลาโหมสุริยวงศ์ถูกสั่งให้จับตายจมื่นศรีสรรักษ์ได้มีจดหมายถึงว่า “ถ้าจะเข้ามาให้คาดเชือกเข้ามา” ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าจะเข้ามาก็ต้องขึ้นเวที เมื่อขึ้นเวทีก็ต้องเตรียมเครื่องมาให้พร้อม

แต่เพียงคล้ายคลึงกัน เพราะครั้งนั้นเข้ามาชิงเอาราชสมบัติเลย เจ้ามโหสถมิได้ทำเช่นนั้น ดูต่อไปดีกว่า

เจ้ามโหสถได้รับข่าวจากราชบุรุษที่วางใจ ก็รีบจัดแจงออกไปยังบ้านเก่า เกณฑ์ประชาชนที่เคารพนับถือได้เป็นจำนวนพันแห่แหนมาพระราชวัง

อาจารย์ทั้ง ๔ ไปคอยดักฆ่าเจ้ามโหสถตั้งแต่เช้า แต่เมื่อไม่เห็นเจ้ามโหสถมาก็เสียใจ กลับออกไปคอยทีอยู่ว่าเมื่อไรเข้ามาหัวจะหลุดจากบ่าทันที

มโหสถพร้อมด้วยประชาชนพากันแห่แหนเข้าไปยังพระราชวัง เมื่อถึงเห็นพระเจ้าวิเหราชประทับอยู่ที่พระแกลก็ลงจากรถถวายบังคม

พระเจ้าวิเทหราชเห็นมโหสถลงมาถวายบังคมก็ค่อยใจชื้น เพราะรู้แน่ว่ามโหสถไม่ชิงราชสมบัติ จึงทรงรับสั่งถามอย่างไม่รู้ไม่ชี้ว่า

“พ่อมโหสถ เมื่อวานกลับแต่วัน เพิ่งมาเดี๋ยวนี้เอง จะบอกเล่าเก้าสิบบ้างก็ไม่ได้”

“ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ เรื่องอะไรรู้อยู่แก่พระทัยของพระองค์สิ้นแล้ว อย่าให้หม่อมฉันต้องทูลซ้ำเลย”

มโหสถ เธอออกจะดูหมิ่นฉันเสียแล้ว”

“ขอเดชะ กระหม่อมฉันมิได้ดูหมิ่น แต่ว่าความลับของท่านอาจารย์ทั้ง ๔ น่ะ พระองค์รู้แล้วหรือ?” และได้ทูลต่อไปว่า “อาจารย์ทั้ง ๔ ได้ทูลข้อความนั้น ข้าพระองค์ได้ทราบความลับของท่านอาจารย์ทั้ง ๔ แจ่มแจ้งแล้ว จะขอทูลถวายให้ทรงทราบ”

“ลองว่าไป”

“อาจารย์เสนกะได้ล่อลวงหญิงแพศยาไปกระทำเสวนกิจแล้วฆ่าฝังศพไว้ ที่อาจารย์เสนกะทูลว่า ข้าพระองค์เป็นกบฎนั้น เสนกะนั่นแหละพระเจ้าค่ะที่จะทำการกบฎล่ะ”

“จริงหรือเสนกะ ที่เจ้าฆ่าหญิง?”

เสนกะเหงื่อแตกโซมหน้า จะปฏิเสธก็ใช่ที่ เพราะหลักฐานมี จึงอ้อมแอ้มตอบว่า

“จริงพระเจ้าค่ะ”

“ชะ! ชะ! ไอ้พวกนี้ เฮ้ย! ราชมัลจับเจ้าเสนกะไปจำคุกไว้ก่อน”

อาจารย์เสนกะก็ต้องก้มหน้าก้มตาเดินเข้าคุกไปโดยดี ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว

“ส่วนปุกกุสะ เป็นโรคที่สังคมรังเกียจคือโรคเรื้อน ซึ่งทางราชการก็ไม่เลี้ยงคนเช่นนี้ พระองค์ยังแถมเคยหนุนแข้งปุกกสะด้วย”

พระเจ้าวิเทหราชตรัสตวาดถามว่า

“จริงหรือปุกกุสะ”

“ขอเดชะ จริงพระเจ้าค่ะ” ปุกกุสะตอบอย่างไม่เงยหน้ามองผู้ใด

“เอามันไปใส่คุกไว้ก่อน”

“อาจารย์กามินทร์ถูกผียักษ์สิงพระเจ้าค่ะ เวลาสิงจะร้องเหมือนหมาบ้า ซึ่งพระองค์ไม่ควรจะเลี้ยงไว้ให้เป็นเสนียดแก่พระราชฐาน”

“จริงไหม?”

“จริงพระเจ้าค่ะ”

“จับมันขังคุก”

“อาจารย์เทวินทร์ลักพระราชทรัพย์ โทษถึงสิ้นชีวิตพระเจ้าค่ะ”

“เขาลักอะไรล่ะ?”

“ลักแก้วมณีพระเจ้าค่ะ”

“จริงหรือ?”

“จริงพระเจ้าค่ะ”

“เอามันไปขังคุกไว้”

เป็นอันว่าอาจารย์ทั้ง ๔ ต้องเข้าไปประดิษฐานอยู่ในคุกเพราะความอิจฉาริษยา พยายามทำร้ายคนที่ไม่ทำร้ายตอบ สาธุ ถ้าความยุติธรรมยังมี

รุ่งขึ้นพระเจ้าวิเทหราชทรงปรึกษามโหสถ นักปราชญ์ทั้ง ๔ ให้เฆี่ยนคนละ ๑๐๐ แล้วประหารเสีย

เมื่อนำอาจารย์ทั้ง ๔ มาเฆี่ยนเรียบร้อยแล้ว ราชมัลก็จะนำไปสู่ที่ประหาร

มโหสถจึงกราบทูลว่า

“ขอเดชะ อาจารย์เหล่านี้เป็นคนเก่าคนแก่ของพระองค์ ที่เป็นไปเช่นนั้นเพราะความริษยาข้าพระองค์ผู้เดียวเท่านั้น พูดถึงความฉลาดเฉียบแหลมแล้วหาตัวจับได้ยาก หากพระองค์พระราชทานชีวิตไว้ จะมีประโยชน์แก่แผ่นดินอีกมากพระเจ้าค่ะ”

“เขาคิดจะฆ่าเจ้านะมโหสถ

“ข้าพระองค์ไม่คิดพยาบาทพระเจ้าค่ะ”

“ถ้าเช่นนั้นเรายกให้เจ้า” และบังคับให้นักปราชญ์ทั้ง ๔ เป็นทาสของมโหสถ

มโหสถก็ได้ยกให้เป็นไทในเวลาต่อมา และขอให้พระราชทานอภัยโทษด้วย ซึ่งก็ได้รับตามประสงค์ นักปราชญ์ทั้ง ๔ รอดตายเพราะมโหสถ เลยเลิกคิดเคียดแค้น และนับแต่นั้นมา มโหสถก็เป็นอำมาตย์ว่าราชกิจการบ้านเมืองทุกอย่างเต็มที่

ผจญศึก

ตั้งแต่ปราบอาจารย์ทั้ง ๔ เสร็จเรียบร้อยแล้ว มโหสถเป็นที่ปรึกษาในกิจราชการทุกอย่าง แม้กระทั่งการจะป้องกันพระนคร เขาได้ตระเตรียมซ่อมแซมป้อมคูประตูหอรบ โดยขุดลอกคูเมือง และกักเก็บน้ำไว้บริโภคสั่งสมเสบียงอาหาร พร้อมกับส่งราชบุรุษคือแนวที่ห้าไปไว้ทุกเมือง ที่มโหสถทำดังนี้เข้าคติที่ว่า

“แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์

ศัตรูกล้ามาประจัญ ก็อาจสู้ริปูสลาย”

แม้จะมีผู้อื่นทัดทานในการที่สิ้นเปลืองทั้งกำลังแรงงานและกำลังทรัพย์ แต่มโหสถเห็นภัยข้างหน้ามากกว่า จึงพยายามชี้แจงให้ผู้คัดค้านนั้นเชื่อถือและยินยอม

ต่อมาไม่ช้าราชบุรุษที่ส่งไปไว้กับปิลรัฐ ก็ส่งข่าวมาว่าเห็นพระเจ้าสังขพลกะ ตระเตรียมกองทัพช้างม้าไม่รู้ว่าจะไปก่อศึกกับประเทศใด หากท่านอยากทราบความละเอียดโปรดส่งนกแก้วแสนรู้ไปสืบความดู

มโหสถเลี้ยงนกแก้วแสนรู้ไว้ตัวหนึ่ง จึงได้ส่งนกแก้วไปสอบสวนดูพฤติการณ์แห่งนครนั้น ทราบความแล้วให้ตรวจต่อไปทุกเมืองด้วย

เจ้านกแก้วก็บินจากไปดูการตระเตรียมทัพของพระเจ้าสังขพลกะ แล้วบินไปถึงอุดรปัญจาลนคร

ในแคว้นปิลรัฐเมืองใหญ่คืออุดรปัญจาละ พระเจ้าจุลนีพรหมทัตเป็นผู้ครอบครอง มีรี้พลพหลโยธามากมาย แถมมีผู้ปรึกษาที่แสนจะเฉียบแหลมชื่อเกวัฏด้วยผู้เหนึ่ง เกวัฏจอมเจ้าเล่ห์ พยายามใช้อุบายยกกองทัพไปล้อมเมืองน้อยต่างๆ บังคับให้ส่งบรรณาการแก่พระเจ้าจุลนีถึง ๑๐๐ หัวเมือง นับว่าแผนการยุทธของเกวัฏไม่เลว แต่ยังไม่เป็นที่พอใจของเกวัฏ คิดจะยึดครองเมืองเหล่านั้นเสียทั้งหมด โดยจะวางยาพิษให้ดื่มในคราวประชุมเลี้ยงฉลองชัย

แต่ความคิดเหล่านี้ล่วงรู้ไปถึงมโหสถ จึงให้ตระเตรียมไว้รับทัพกับปิลรัฐอย่างแข็งแรง

เกวัฏยังรู้จักคนอย่างมโหสถน้อยไป

มโหสถรำพึง “เราจะต้องทำให้รู้จักเราให้ได้”

เขาจะทำยังไงที่จะทำให้เกวัฏรู้จักเขาได้ ดูกันต่อไป

ทัพพระเจ้าจุลนียกไปล้อมเมืองเล็กเมืองน้อยต่างๆ ตามอุบายของเกวัฏ กระทั่งได้ถึง ๑๐๑ หัวเมือง มาจนกระทั่งถึงมิถิลานคร ซึ่งพระเจ้าจุลนีจะตีเอา แต่อำมาตย์กลับทูลคัดค้าน เพราะเห็นว่ามีคนสำคัญคือมโหสถอยู่ด้วย สมบัติในแผ่นดินทั้งหมดเว้นมิถิลานครเท่านั้น พระองค์ก็ได้หมดแล้ว จะมาคิดโลภสมบัติมิถิลานครอีกดูไม่สมควร และได้สั่งให้พระราชา ๑๐๑ กลับพระนคร

แต่ก่อนจะกลับควรฉลองชัยชนะเสียก่อน ซึ่งพระราชาเหล่านั้นมิได้ระแวง ก็ไปพร้อมกันในอุทยานซึ่งจะเป็นที่เลี้ยง

ในขณะนั้นเองก็ได้เกิดอลเวงเพราะมีเสียงทหารก่อวิวาทกันเป็นโกลาหลไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และไหเหล้าที่เตรียมไว้เลี้ยงถูกมือมืดบ้างลูกหลงจากการวิวาทบ้างทุบตีแตกเสียหายหมด น้ำเหล้าที่เจือยาพิษไหลนองส่งกลิ่นฟุ้งไปทั่วทั้งอุทยาน การเลี้ยงฉลองชัยต้องเป็นอันระงับไป

เหตุที่เป็นดังนี้ เพราะมโหสถจะช่วยพวกกษัตริย์เหล่านั้นให้รอดจากการถูกปลงพระชนม์ จึงได้ส่งทหารปลอมแปลงเป็นไพร่พลของท้าวพระยาเหล่านั้น เข้าไปก่อวิวาททำลายพิธีเสีย

มิใช่แต่เท่านั้น เมื่อเห็นว่าทำลายพิธีฉลองชัยเรียบร้อยแล้ว กลับประกาศเสียด้วยว่า “เราเป็นทหารของมโหสถ ใครอยากจะพบกับมโหสถก็เชิญที่มิถิลา”

ผู้ที่เคียดแค้นที่สุดก็คือเกวัฏกับพระเจ้าจุลนี เพราะโครงการวางไว้กลับถูกทำลายโดยสิ้งเชิง

พวกพระราชา ๑๐๑ องค์ แทนที่จะนึกถึงคุณของมโหสถที่ช่วยให้รอดชีวิต กลับโกรธเคือง กูจะกินเลี้ยงสักหน่อยก็มาเป็นก้างขวางคอ แม้พวกไพร่พลก็เคียดแค้นไปตามๆ กัน เพราะอดกินนั่นเอง

เมื่อพระเจ้าจุลนีบอกว่า ให้ติดตามไปดูหน้าเจ้ามโหสถทุกองค์และทุกคนก็พอใจไปทั้งนั้น แต่เกวัฏเป็นคนฉลาด ตนเองไม่แน่ใจว่าจะเอาชนะมโหสถได้ ถ้ายิ่งเกิดพ่ายแพ้ก็จะให้เสื่อมเสียความนับถือ จึงออกอุบายไม่ให้พระราชาทั้ง ๑๐๑ องค์ ไปด้วย ก็คงไปแต่เฉพาะพระเจ้าจุลนีเท่านั้น

เมื่อทัพของพระเจ้าจุลนีเดินทางมาถึงมิถิลาแล้ว ก็สั่งให้ล้อมพระนครไว้อย่างแน่นหนา

ท่านปราชญ์ทั้ง ๔ พากันตกใจ แต่มโหสถหาได้ตกใจกลัวไม่ เพราะได้เตรียมการไว้พร้อมแล้ว

กองทัพที่ล้อมไว้แลดูไพร่พลหนุนเนื่องกันอย่างแน่นขนัด ปานประหนึ่งแถวคลื่นที่วิ่งไล่กันเป็นระยะๆ มิได้ขาดสายเลย แลไปทางไหนก็ล้วนแต่ข้าศึกสลอนไปทั้งนั้น อย่าว่าแต่มนุษย์จะออกไปเลย แม้แต่นกบินผ่านก็จะถูกยิงด้วยธนูสิ้นชีวิตเสียก่อนที่จะผ่านกองทัพไปได้

มิถิลาแย่เสียกระมัง พระเจ้าวิเทหราชเองก็รู้สึกขวัญไม่ค่อยจะดีนัก ทรงตรัสถามปราชญ์ทั้ง ๔ ท่านเพื่อหาทางออก ปราชญ์ทั้ง ๔ ก็จนปัญญาไม่สามารถจะช่วยเหลืออะไรได้ จึงต้องทรงปรึกษากับมโหสถ ซึ่งมโหสถก็ทูลให้เบาพระทัยในการจะสู้ศึก

พระเจ้าจุลนีทรงล้อมเมืองเพื่อจะให้ยอมแพ้ แต่เมื่อเห็นชาวเมืองไม่ยอมแพ้ ก็คิดจะกักน้ำโดยทำทำนบกั้นน้ำที่ไหลเข้าไปในเมืองเสีย

แต่มโหสถก็แสดงให้ทราบว่าในเมืองมีบ่อมีสระที่ลึกและกว้างใหญ่มากมาย แม้จะล้อมทั้งปี ผู้คนพลเมืองก็ไม่อด

กักเพื่อให้อดข้าวและฟืน แต่มโหสถก็สำแดงให้ทราบว่า ฟืนและข้าวเปลือกในเมืองมีพอกับประชาชนพลเมือง แม้จะต้องล้อมอยู่กี่ปีก็ไม่อดตาย

เมื่อคิดว่าจะให้ยอมแพ้ไม่สำเร็จ เกวัฏจึงทูลพระเจ้าจุลนีขอตัดศึกโดยทำธรรมยุทธกับมโหสถ โดยกำหนดว่าถ้าใครไหว้คนนั้นจะต้องพ่ายแพ้

โดยอาจารย์เกวัฏเห็นว่า มโหสถเป็นคนมีปัญญามีสัมมาคารวะ เมื่อพบตนซึ่งสูงอายุกว่า ก็จะต้องทำความเคารพฐานผู้ใหญ่กับเด็ก

มโหสถจะแก้ไขอย่างไรล่ะ

พอได้รับคำท้าเรื่องธรรมยุทธ มโหสถก็เห็นทางชนะทีเดียว เขาเข้าไปขอยืมแก้วมณีวิเศษมาจากพระเจ้าวิเทหราช เพื่อใช้ประกอบในการสงครามกับฝ่ายศัตรู

ในสนามรบได้จัดตั้งที่ประทับให้พระราชาทั้งสองฝ่ายได้ประทับอยู่ด้วย ไพร่พลให้ยืนอยู่บริเวณพลับพลาของแต่ละฝ่าย ส่วนปราชญ์ทั้งสองจะต้องไปยืนประจันหน้ากันกลางสนาม ซึ่งก็ออกจะไกลจากที่ประทับทั้งสองฝ่ายหน่อย

วันทำสงความได้เริ่มขึ้น โดยอาจารย์เกวัฏแต่งตัวอย่างแบบนักปราชญ์ออกไปยืนคอยมโหสถอยู่ในสนามก่อน มโหสถก็ถือแก้วมณีออกไปกลางสนาม เมื่อประจันหน้ากัน เขาได้กล่าวกับอาจารย์เกวัฏว่า

“ท่านอาจารย์คงได้เคยเห็นแก้วมณีดวงนี้ หรือเคยทราบกิตติศัพท์ในความวิเศษมาบ้างแล้ว”

อาจารย์เกวัฏยิ้มพยักหน้า

“เคยเห็นและเคยทราบกิตติศัพท์ว่าเป็นแก้ววิเศษดวงหนึ่งในแผ่นดิน”

“ที่ข้าพเจ้าถือมาในวันนี้ ท่านอาจารย์ทราบไหมว่าข้าพเจ้าถือมาทำไม”

“ไม่ทราบ”

“ข้าพเจ้าจะให้ท่านอาจารย์”

เกวัฏแสดงอาการลิงโลดอย่างเห็นได้ชัด

“ท่านจะให้ข้าพเจ้าทำไม?”

“เพราะท่านอาจารย์ทำให้บ้านเมืองข้าพเจ้ารอดพ้นจากการโจมตี จนไม่ต้องเสียชีวิตไพร่พลและบ้านเมือง”

“ท่านจะให้ข้าพเจ้าจริง ๆ หรือ?”

“จริง ๆ ขอได้โปรดมารับเอา”

พออาจารย์เกวัฏเดินมารับแก้วมณีซึ่งมโหสถส่งให้ พอถึงมือความหนักของแก้วมณีทำให้หล่นจากมือเกวัฏลงไปยังพื้นดิน ด้วยอารามเสียดายเกวัฏก็ก้มลงไปเก็บ

และในขณะนั้นเองมโหสถก็กดศรีษะเกวัฏไว้ พลางหัวเราะพร้อมกับพูดว่า

“ท่านอาจารย์ อย่าได้เคารพข้าพเจ้าผู้เป็นเด็กรุ่นลูกหลานเลย โปรดลุกขึ้นเถิด”

ใครๆ ก็เห็นทั่วกันว่าเกวัฏก้มลงไปแทบเท้ามโหสถ ก็นึกเสียว่าไหว้เท้า เกวัฏเองจะดิ้นก็ไม่ไหวเพราะกำลังสู้มโหสถไม่ได้ จะสะบัดก็ไม่หลุด

“เล่นบ้า ๆ” ได้แต่บ่นพึมพำอยู่เท่านั้น

มโหสถเห็นว่าคนทั้งปวงเห็นทั่วกันแล้ว ก็ไสศรีษะเกวัฏไปข้างหลังถึงกับหงายท้อง

ลุกขึ้นได้ก็เปิดหนี ไพร่พลก็แตกตื่นกระจัดกระจาย พระเจ้าจุลนีถึงกับพระพักตร์เสีย อะไรยอมเขาง่ายๆ เช่นนี้

โดยมิได้ตรัสอะไรเลย เสด็จกลับเมืองทันที

มโหสถไม่ปล่อยนาทีทองให้ผ่านไปง่ายๆ

เขาได้สั่งไพร่พลโจมตีซ้ำเติมข้าศึกซึ่งกำลังเสียขวัญอยู่ให้แตกกระเจิดกระเจิง หนีกลับเมืองของตนอย่างทุลักทุเล

กว่าเกวัฏจะติดตามกองทัพทันก็ไปไกลเต็มที อาวุธยุทธภัณฑ์ทั้งหลายถูกข้าศึกกวาดไปได้มากมาย เกือบจะพูดได้ว่าเหลือแต่ตัวเท่านั้นกลับไป

ซ้อนกล

พระเจ้าจุลนีเห็นเสียท่าเขาเสียแล้ว เลยพากันกลับพระนคร คิดหาทางเล่นงานทางอื่นต่อไป

อาจารย์เกวัฏเองหัวหูดูไม่ได้ เพราะถูกมโหสถกดลงไปกับพื้นดิน ยิ่งคิดก็ยิ่งแค้น

“ถ้ามีโอกาสมึงตาย” เขาได้แต่คิดว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป

เขาเห็นว่าพระเจ้าจุลนีมีพระราชธิดาแสนสวย จึงคิดจะล่อให้พระเจ้าวิเทหราชมา แล้วจะจับกุมเอาตัวไว้บังคับให้ยอมถวายบรรณาการ มิฉะนั้นจะประหารเสีย พระเจ้าจุลนีก็ชอบใจในความคิดของเกวัฏ จึงได้ส่งฑูตสันติไปยังมิถิลา ขอทำสัมพันธไมตรีไม่มีการรบพุ่งกัน และเพื่อกำชับสัมพันธไมตรีให้แน่นแฟ้น จึงใคร่ถวายพระราชธิดาเป็นบาทบริจาริกา ซึ่งพระเจ้าวิเทหราชจะต้องไปจัดการพิธีอภิเษก ณ ปัญจาลนคร

ทูตได้เดินทางมาถึงมิถิลา ได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติจากมโหสถผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และเมื่อได้ทราบความแล้ว เขาก็วิตกอยู่ในใจ แต่นิสัยนักสู้จะต้องพยายามแก้ไขเอาตัวรอดให้ได้

แบบเอาเหยื่อล่อปลาเข้าไปกินเบ็ดนี้ ในเรื่องของจีนก็มีสามก๊ก ตอนเอาบีฮูหยินน้องซุนกวนล่อเอาเล่าปี่ไปเพื่อจะจับฆ่าเสีย แต่ในเรื่องนั้นมีขงเบ้งช่วยแก้ไข ตลอดจนได้ตัวบีฮูหยินมา ซึ่งซุนกวนไม่ได้อะไรเลย แถมเสียน้องสาวเปล่าๆ เสียด้วย

นี่ก็เช่นเดียวกัน มีเจ้ามโหสถเป็นผู้ช่วย มโหสถตระเตรียมการโดยไปตั้งเมืองใหม่ใกล้เขตปัญจาลนคร เพื่อจะได้ต้อนรับพระเจ้าวิเทหราช และได้ทำการขุดอุโมงค์จากเมืองมาถึงในพระราชวัง ตระเตรียมการที่จะซ้อนกลไว้อย่างเสร็จสรรพ

เมื่อพระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปพักยังเมืองใหม่เพียงคืนเดียว เมืองก็ถูกล้อมด้วยพระเจ้าจุลนีและพระราชาทั้ง ๑๐๑ หัวเมือง เจ้ามโหสถหาได้ตื่นตกใจไม่ ขณะที่พระเจ้าจุลนีทิ้งมเหสีโอรสธิดาไว้ทางข้างหลังนั่นเอง มโหสถคุมคนเดินตามอุโมงค์ทะลุขึ้นภายในพระราชวัง จับกุมเอาคนเหล่านั้นไปไว้ในอุโมงค์ และยังแถมลำเลียงส่งไปยังมิถิลาเสียด้วย เมื่อการทั้งปวงเสร็จเรียบร้อยแล้ว รุ่งเช้าเจ้ามโหสถก็โผล่หน้าออกไปยังหอรบ และทูลพระเจ้าจุลนีซึ่งคุมทหารมาประจันหน้าอยู่ข้างหลัง

“พระองค์อย่าเล็งผลเลิศ คิดว่าจะจับข้าพเจ้าและพระราชาของข้าพเจ้าได้ พระมเหสี โอรส ธิดา ของพระองค์อยู่ในมือของข้าพเจ้าแล้ว”

“ขู่เรอะ!” พระเจ้าจุลนีตรัส

“จริงๆ ไม่ได้ขู่ ไม่เชื่อส่งคนไปดู”

เมื่อพระเจ้าจุลนีส่งคนไปดูทางในเมืองก็ได้ทราบว่าถูกจับไปหมดแล้ว ความแกล้วกล้าหมดไปทันทีที่คิดถึงมเหสีและโอรสธิดาจะถูกฆ่า

เจ้ามโหสถกลับปลอบว่า จะไม่ทำอันตรายคนเหล่านั้น เพียงจับตัวไว้เป็นตัวประกันเท่านั้น และแถมแสดงเมืองใต้ดินให้ดูเสียด้วย

เวียดกงชนะฝรั่งเศสด้วยการขุดอุโมงค์เข้าไปถึงภายในค่าย มโหสถเก่งกว่าเพราะทำมาก่อน เข้าใจว่าแม่ทัพเวียดกงคงจะได้อ่านเรื่องมโหสถเป็นแน่

ที่คำโบราณเขาว่า อดีตคือสิ่งที่ล่วงไปแล้วเป็นกระจกเงาของปัจจุบันจะเห็นได้ว่าจริงแค่ไหน เพราะอะไรที่ว่าดีนั้นล้วนมาจากสิ่งที่เป็นอดีตทั้งนั้น ตั้งแต่วัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนการรบการปกครองการอุตสาหกรรม เพียงแต่ปัจจุบันมาส่งเสริมเพิ่มเข้า จนกลายเป็นสภาพที่เรียกว่าเหล่าเก่าในขวดใหม่เท่านั้น

พระเจ้าจุลนีตื่นใจในความสามารถของมโหสถมาก ถึงกับเสด็จประพาสดูเมืองใต้พิภพของมโหสถ ซึ่งเขาก็พาไปทัศนาจรทุกแห่งหน

มโหสถวางนโยบายที่จะให้พระเจ้าจุลนียอมแพ้อย่างจริงจัง จึงได้พาลงไปทั้งพระยา ๑๐๑ หัวเมืองด้วยและขังพระราชา ๑๐๑ นั้นไว้ในอุโมงค์ ก็เป็นอันว่าเหลือพระเจ้าจุลนีกับมโหสถเพียงสองต่อสองเท่านั้น

เขาได้เงือดเงื้ออาวุธ ทำทีจะพิฆาตองค์พระเจ้าจุลนีเสีย ซึ่งทำเอาแทบสิ้นสติไปกับความกลัวตาย เขาได้เอาคำมั่นสัญญาจากพระเจ้าจุลนีว่า จะไม่คิดร้ายต่อไป แล้วก็ปล่อยให้พระราชาทั้ง ๑๐๑ กับพระเจ้าจุลนีออกมา พร้อมกับส่งมเหสีและโอรสคืน ส่วนพระราชธิดานั้นก็ได้เป็นมเหสีของพระเจ้าวิเทหราช

เป็นอันว่าพระเจ้าจุลนีต้องเสียพระธิดาไปเปล่าๆ เพราะความที่ขุดบ่อล่อปลาของเกวัฏ

ศึกสงครามระหว่างปัญจาลนครกับมิถิลา ก็เป็นอันหมดสิ้นลงไป

เมื่อรับมเหสีกับโอรสกลับมาแล้ว ก็ได้พบว่ามโหสถจัดการรับรองและเลี้ยงดูระหว่างจับไปอย่างดีที่สุด โดยให้เกียรติในฐานะเป็นกษัตริย์ทุกประการ คิดถึงคุณว่ามโหสถประกอบไปด้วยคุณธรรมดีจริงๆ ถึงกับชวนไปอยู่ด้วย แต่มโหสถมิใช่คนข้าสองเจ้าบ่าวสองนายจึงไม่รับ ต่อเมื่อพระเจ้าวิเทหราชสิ้นพระชนม์เมื่อไรจึงจะไปอยู่ด้วย

ด้วยเชิงปัญญาอันเลิศล้น มโหสถอยู่ในฐานะคนเหนือคนตราบจนสิ้นชีวิต

ได้อ่านมโหสถมานานจนพอสมควร ได้รับอะไรจากเรื่องนี้บ้าง ปัญญาแก้ไขเฉพาะหน้า พร้อมกับรอบคอบในกิจการทุกอย่างเป็นคุณสมบัติของมโหสถ แม้ในการหาทรัพย์ท่านก็กล่าวไว้ว่าต้องใช้ปัญญา ขอจบเรื่องนี้ด้วยคำว่า

“ทรัพย์นี้มีอยู่ใกล้
ใครปัญญาไว หาได้บ่นาน
แว่นแคว้นแดนดิน มีสิ้นทุกสถาน
ถ้าใครเกียจคร้าน บ่พานพบเลย”

อ่านตอนก่อนหน้า พระเจ้าสิบชาติ – พระมโหสถ (ปฐมวัย)

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น