ปฐมบทเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า

พระเจ้าสิบชาติ – พระพรหมนารท

พระเจ้าสิบชาติ - พระพรหมนารทพระเจ้าสิบชาติ - พระพรหมนารท

เรื่องพระพรหมนารท หรือตามชาวบ้านเรียกกันว่า

พรหมนารท จัดเป็นชาติที่ ๘ ในจำนวนสิบชาติ และในชาตินี้ได้สั่งสอนให้พระเจ้าแผ่นดินดำรงตนอยู่ในสัมมาทิฐิ คือความเห็นที่ถูกต้อง เรื่องมีอยู่ว่า

พระเจ้าอังคติราช เสวยราชสมบัติในมิถิลานคร ในแคว้นวิเทหรัฐ ท้าวเธอมีราชธิดาองค์หนึ่งพระนามว่า รุจา และก็มีเพียงองค์เดียวเท่านั้น แม้ท้าวเธอจะมีสนมกำนัลจำนวนเป็นร้อยเป็นพัน พระองค์เสวยราชสมบัติด้วยทศพิธราชธรรม พระราชธิดาเล่าก็ประกอบไปด้วยลักษณะสวยงาม และมั่นอยู่ในศีลธรรม ทุกกึ่งเดือนนางจะต้องจำแนกแจกทานเป็นนิจไป

อำมาตย์ผู้ใหญ่ของพระราชามีอยู่ ๓ คนด้วยกัน คนหนึ่งชื่อ วิชัย คนหนึ่งชื่อ สุนามะ คนหนึ่งชื่อ อลาตะ

เมื่อถึงคราวเทศกาลเพ็ญเดือน ๑๒ ในปีหนึ่ง อันเป็นฤดูกาลที่น่าเพลิดเพลินเจริญใจ พระจันทร์เต็มดวงลอยในท้องฟ้า น้ำก็เปี่ยมตลิ่งใสซึ้งลงไป พันธุ์ผักน้ำ เป็นต้นว่า สายบัวก็ชูดอกสะพรั่งไปทั้งสองฟากน้ำ แลดูเป็นเครื่องเจริญตายามเมื่อแลดูพระเจ้าอังคติราชก็ให้มีการเฉลิมฉลองฤดูกาล มีมหรสพเอิกเกริกทั่วพระนคร

ส่วนองค์พระเจ้าอังคติราช พระองค์เสด็จประพาสในพระนครแล้วกลางคืนก็เสด็จออก อำมาตย์ตรัสถามว่า

“วันนี้เป็นวันดี เราควรจะทำอย่างไรดี?”

อลาตะอำมาตย์จึงกราบทูลว่า

“กระหม่อมฉันเห็นว่าในฤดูกาลอันเป็นที่น่ารื่นรมย์นี้ ควรจะได้จัดทัพออกเที่ยวตระเวนตีบ้านเล็กเมืองน้อยไว้ในพระราชอำนาจ”

ทรงหันไปยิ้ม พร้อมตรัสว่า

“ก็ดีอยู่ แต่เรายังไม่นึกอยากจะทำ แล้วต่อไปใครเห็นควรจะทำอะไรดี”

สุนามะอำมาตย์จึงกลาบทูลว่า

“ท่านอลาตะเป็นฝ่ายทหารเลือดนักรบ ก็คิดแต่จะรบเพราะกีฬาอะไรจะสนุกเท่ากีฬารบเป็นไม่มี นี่เป็นความคิดของผู้ที่เป็นนักรบ แต่กระหม่อมฉันเห็นว่าเป็นเรื่องเดือดร้อนทั้งฝ่ายเราผู้ยกไป และฝ่ายเขาซึ่งต้องรับทัพของเรา กระหม่อมฉันเห็นว่าถ้าพระองค์จะตกแต่งมัชบานในราชอุทยาน จัดงานราตรีสโมสรสันนิบาต มีมโหรีขับกล่อม มีสนมกำนัลฟ้อนรำขับร้องเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล และปลุกปลอบพระทัยของพระองค์ ซึ่งต้องวุ่นกับราชกิจมาตลอดวัน ก็เห็นจะดีพระเจ้าค่ะ”

พระเจ้าอังคติราชก็ตรัสว่า

“ก็ดีอยู่ แต่ยังไม่ชอบใจเรา ใครจะว่ายังไงอีกล่ะ?” วิชัยอำมาตย์เห็นว่าพระทัยของพระเจ้าอังคติราชไม่มีการทะเยอทะยาน ความโลภก็ไม่มี และมิใคร่ในกามคุณ ควรเราจะชักชวนในทางสงบจึงจะดี จึงกราบทูลว่า

“ขอเดชะ กระหม่อมฉันเห็นว่าในราตรีกาลอันแสนจะเบิกบานนี้ หากเสด็จไปสู่สำนักของปราชญ์สนทนาปราศรัยสดับธรรมก็จะดีพระเจ้าค่ะ”

พระเจ้าอังคติราชพอพระทัยทันที

“เออดี ท่านวิชัย แต่เราจะไปสำนักใครล่ะถึงจะดี”

“ขอเดชะ กระหม่อมฉันรู้จักท่านคุณาชีวก ผู้ไม่มีกิเลสและไม่อยากได้ใคร่ดีอะไรทั้งนั้น แม้เสื้อผ้าก็ไม่ต้องการ หากไปสนทนาอาจจะได้อะไรดี ๆ พระเจ้าค่ะ”

พระเจ้าอังคติราชจึงสั่งให้จัดพลเสด็จไปยังสำนักของคุณาชีวกซึ่งเป็นชีเปลือย เมื่อถึงเข้าไปถวายนมัสการถามทุกข์สุขซึ่งกันและกันแล้ว พอมีโอกาสก็ตรัสขึ้นว่า

“พระมหากษัตริย์ ควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรในประชาชนพลเมือง เสนา ข้าราชบริพาร พระชนกชนนี อัครมเหสีและโอรสธิดา ยามตายไปแล้วจึงจะได้ไปสู่สุคติ และคนที่ตายไปตกนรกเพราะทำอะไร”

คุณาชีวกไม่รู้ว่าจะทูลตอบอย่างไรดี แต่ก็ทูลลัทธิตนขึ้นว่า

“มหาบพิตร สุจริต ทุจริต จะได้มีผลอะไรก็หามิได้ บุญก็ไม่มี บาปก็ไม่มี มหาบพิตรให้ทาน มหาบพิตรก็เสียของไปเปล่าโดยไม่ได้อะไรตอบแทนเลย รักษาศีลเล่ามหาบพิตรได้อะไร หิวข้าวแสบท้องเปล่าประโยชน์ สวรรค์นรกมีที่ไหนกัน บิดามารดาไม่มี เพราะเป็นธรรมชาติ ๗ อย่างประชุมกันเท่านั้น ธรรมชาติ ๗ อย่างอะไรบ้าง คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ สุข ทุกข์ ชีวิต การจะได้ดีได้ชั่วก็ได้ดีได้ชั่วเอง ไม่มีใครบันดาลให้ เมื่อทั้ง ๗ แยกกัน สุขทุกข์ชีวิตก็ไปลอยอยู่บนอากาศ ไม่มีใครทำลายชีวิตนั้นได้ สรุปความว่าไม่มีอะไรทั้งนั้น ล้วนแต่เป็นธาตุประชุมกัน และแยกสลายออกจากกันเท่านั้น

อีกประการหนึ่ง คนที่จะต้องวนเวียนอยู่นั้นก็เพียง ๘๔ กัลป์เท่านั้น ไม่เกินไปได้ จะทำดีทำชั่วอย่างไรก็หมดที่ ๘๔ กัลป์เท่านั้น”

ขณะนั้นเอง อลาตะเสนาบดีผู้ระลึกชาติได้ก็กล่าวรับสมอ้างคุณาชีวกว่า

“จริงอย่างท่านอาจารย์ว่า ข้าพเจ้าเองก็เมื่อชาติก่อนเป็นคนฆ่าโคชื่อปิงคละ ข้าพเจ้าฆ่าโคเสียไม่รู้ว่ากี่ร้อยกี่พันตัว ตายจากชาตินั้นมาเกิดในตระกูลเสนาบดี ได้เสวยสุขจนกระทั่งบัดนี้ ถ้านรกมีจริงข้าพเจ้าคงจะได้ไปเกิดในนรก ไม่ได้มาเกิดเป็นเสนาบดีดังนี้ ผลบาปต้องไม่มีแน่ ๆ ข้าพเจ้าจึงเกิดมาดังนี้”

ความจริงนั้น อลาตะเสนาบดีเกิดในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า ได้บูชาพระเจดีย์ด้วยพวงอังกาบพวงหนึ่ง ตายจากชาตินั้นแล้วได้ท่องเที่ยวไป ๆ มา ๆ จนเกิดเป็นปิงคละ และด้วยอานิสงส์ได้บูชาพระเจดีย์ จึงได้มาเกิดเป็นเสนาบดี แต่เพราะแกระลึกได้เพียงชาติเดียว จึงเห็นว่าตนฆ่าสัตว์มากมายแต่กลับได้เสวยความสุข จึงทำให้เข้าใจผิดไปว่าแกทำบาปแต่กลับได้ดี อันผิดวิสัยความจริงที่ว่า

“อันปวงกรรมทำไว้ในปางหลัง

เป็นพืชยังปางนี้ให้มีผล

หว่านพืชดีมีผลดีแก่ตน

หว่านพืชชั่วกลั้วผลที่ค่นแค้น

อันความจริงข้อนี้มีมาแล้ว

ไม่คลาดแคล้วเป็นอื่นทุกหมื่นแสน

หว่านพืชชั่วผลดีมีมาแทน

ถึงแม้นแมนแม่นไม่เปลี่ยนได้เลย”

หากจะพูดอย่างง่าย ๆ ก็ว่า ทำกรรมอย่างไรก็ให้ผลอย่างนั้น ทำกรรมดีย่อมได้ผลดี ทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว เทวดาก็เปลี่ยนจากชั่วเป็นดีไม่ได้

เวลานั้น มีบุรุษยากจนคนหนึ่งชื่อวิชกะ นั่งฟังอยู่ด้วย เขาได้รับฟังคำของอลาตะเสนาบดีแล้วอดใจอยู่ไม่ได้ ถึงกับน้ำตาไหลออกมานองหน้า พระเจ้าอังคติราชเห็นเข้าก็ให้ประหลาดพระทัยจึงตรัสถามว่า

“เจ้าวิชกะ เจ้าร้องไห้ทำไม?”

“ขอเดชะ เพราะข้าพระพุทธเจ้าระลึกชาติได้ว่าเมื่อชาติก่อนข้าพระพุทธเจ้าเป็นเศรษฐี มีจิตใจเป็นบุญ จำแนกแจกทานแก่สมณชีพราหมณ์และยาจกวณิพกตลอดมา แต่เมื่อตายแล้วแทนที่จะได้ไปสวรรค์ กลับต้องมาเกิดในตระกูลจัณฑาลอันได้รับความลำบากยากเข็ญอยู่ในบัดนี้ เพราะฉะนั้นที่ท่านอลาตะกล่าวว่าบุญไม่มีผล บาปไม่มีผลเป็นความจริงแน่นอน ถ้ามิฉะนั้นแล้วกระหม่อมฉันจะตกระกำลำบากไม่ได้”

แต่ความจริงแล้วเรื่องมันเป็นอย่างนี้ คือก่อนชาติที่เขาระลึกได้นั้น เขาได้เกิดมาเป็นคนเลี้ยงโค และได้ติดตามโคไปบังเอิญพบพระหลงทางองค์หนึ่ง ท่านก็เข้ามาถามหนทาง เพราะเขากำลังขุ่นใจอยู่เรื่องตามโค จึงเลยไม่ตอบท่าน ท่านเข้าใจว่าเขาไม่ได้ยินเลยถามอีก เขาตวาดไปว่า

“พระขี้ข้าอะไรเซ้าซี้น่ารำคาญ” เพราะกรรมนี้เองจึงทำให้เขาเกิดในตระกูลจัณฑาล แต่เพราะเขาระลึกชาติไปไม่ถึง จึงเห็นแต่เพียงชาติที่เขาเป็นเศรษฐีเท่านั้น

พระเจ้าอังคติราชได้ทรงฟังถ้อยคำของวิชกะ ก็เห็นไปตามคำอลาตะและคุณาชีวกทันที เพราะมีพยานรับรอง ทำให้ข้อความนั้นน่าเชื่อถือขึ้นอีกมาก ถึงกับตรัสกับวิชกะว่า

“ท่านอย่าเสียใจไปเลย เราเองก็ถือผิดมาเช่นท่านเหมือนกัน เราเคยทำความดีโดยปกครองประชาชนด้วยทศพิธราชธรรม แต่ผลไม่เห็นบังเกิดดีอย่างไร ตั้งแต่นี้เราจะหาความสุขส่วนตัว และแม้พระคุณเจ้าคุณาชีวกข้าพเจ้าก็จะไม่มา เพราะไม่มีประโยชน์อะไร”

เมื่อตรัสดังนั้นแล้วก็เสด็จกลับพระราชวังทันที และนับแต่นั้นก็ปล่อยพระองค์ให้ตกอยู่ในกามสุขสนุกสนานเพลิดเพลินกับสุรานารีดนตรีอบายมุขไปตามเรื่อง กิจราชการน้อยใหญ่มอบให้เป็นธุระของอำมาตย์ผู้ใหญ่ทั้ง ๓ คือ วิชัย สุนามะ และอลาตะโดยเด็ดขาด ศาลาโรงทานที่เคยได้ตั้งให้ก็ตรัสให้เลิกทั้งหมด ไม่มีผลทำไปทำไม หาความสุขดีกว่า สุรา นารี เออมันช่างแสนสุขสำราญจริง ๆ

ถึงวัน ๑๕ ค่ำเป็นวันพระ พระราชธิดารุจาเคยขึ้นเฝ้าพระราชบิดาและเคยได้รับเงินทองพระราชทานไปเพื่อแจกจ่ายแก่สมณชีพราหมณ์และผู้ยากจนค่นแค้น เมื่อขึ้นไปเฝ้าตอนจะกลับก็ได้รับเงินพระราชทานมา ๑,๐๐๐ ตามที่เคยให้จิตใจที่เคยสละให้ทานไม่มีเลย

ความประพฤติของพระเจ้าอังคติราชคือ มิจฉาทิฐิ ก็แพร่สะพัดไปทุกมุมเมือง ราษฎรชาวเมืองทั้งปวงก็รู้ทั่วกันว่า พระราชาของตนไม่ตั้งตนไว้ในทศพิธราชธรรม เพราะได้รับคำสั่งสอนจากคุณาชีวก

เพราะพระราชธิดามิได้ใกล้ชิดพระองค์ จึงไม่ค่อยจะรู้เรื่องของพระบิดานัก ตราบจนนางสนมกำนัลมาเล่าให้ฟังถึงกับอัดอั้นตันพระทัย

“ทำไมหนอพระบิดาจะสั่งสนทนากับใคร ๆ จึงไม่เลือกคน จึงได้รับคำสั่งสอนอันตรงกันข้ามเช่นนี้ ข้อความที่ควรจะถามนั้นน่าจะถามสมณะมากกว่า เราเองก็ระลึกชาติได้ถึง ๑๔ ชาติ ทำอย่างไรจึงจะแก้พระบิดาจากทิฐิผิดอันนี้ได้”

เมื่อถึงวันกำหนดเข้าเฝ้า ก็พร้อมด้วยหญิงบริวารแต่งกายหลายหลากชนิดพากันขึ้นไปเฝ้า พระเจ้าอังคติราชก็โสมนัสตรัสสนทนากับพระราชธิดาเป็นอันดี พร้อมทั้งถามถึงความทุกข์สุขที่ได้รับ ซึ่งพระราชธิดาก็ทูลตอบให้ชื่นชอบพระทัยเป็นอันดีจึงถึงเวลาเสด็จลากลับ ซึ่งพระองค์เคยพระราชทานทรัพย์เพื่อเอาไปจำเเนกแจกทาน แต่คราวนี้ทรงเฉยเสีย พระราชธิดารุจาจึงต้องทูลขอทรัพย์จำนวน ๑,๐๐๐ เพื่อไปทรงแจกจ่าย กลับได้ยินพระราชบิดาตรัสว่า

“รุจา ตั้งแต่เราให้ทานมาก็นานแล้ว ไม่เห็นจะได้อะไรขึ้นมา นอกเสียจากทรัพย์จะหมดเปลืองไปเท่านั้น ถึงเวลารักษาอุโบสถก็เป็นการทรมานร่างกายโดยเปล่าประโยชน์  อดกินอดนอนจนกระทั่งทรมานจิตใจไม่ให้ได้รับความบันเทิงเริงรมย์ เราจะลำบากไปทำไม คราวก่อนพ่อไม่รู้จึงให้เจ้าทำ เดี๋ยวนี้พ่อรู้แล้วสิ่งเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ เลิกทำเสียเถอะ หาความสุขไปเรื่อย ๆ ดีกว่า เจ้าจะเอาเงินทองไปใช้จ่ายบำรุงความสุขแล้ว พ่อไม่ขัดข้องเลย

ถ้าจะเอาไปจำแนกแจกทานแล้วพ่อว่าหาประโยชน์มิได้ เท่ากับเจ้าช่วยให้พวกนั้นมันขี้เกียจขึ้นเสียอีก เวลานี้สันดานมันขี้เกียจอยู่แล้ว เจ้าอย่าได้ไปส่งเสริมให้มันขี้เกียจเพิ่มขึ้นอีกเลย คุณาชีวกน่ะแกเป็นเจ้าลัทธิที่เห็นว่าบุญบาปไม่มีอะไรผลทั้งนั้น แกจึงไม่ต้องการอะไรแม้แต่ผ้านุ่งแกยังไม่เอาเลย ไม่ใช่แต่แกว่าคนเดียว แม้แต่อลาตะเสนาบดีก็เห็นเช่นนั้น ตลอดจนวิชกะเขาระลึกชาติได้ เขาก็ว่ายังงั้นเหมือนกัน”

พระราชธิดาได้ฟังก็เศร้าพระทัย เออ! พระราชบิดาเราช่างเป็นไปมากเหลือเกิน มาเชื่อคนที่ระลึกชาติได้เพียงชาติเดียว ๒ ชาติ ก็วางตนเป็นคนประพฤติผิดไป เราเองระลึกได้ถึง ๑๔ ชาติ จะต้องให้พระบิดากลับความประพฤติให้ได้

เมื่อพูดถึงการระลึกชาติ ทำให้นึกถึงเรื่องที่เกิดในหนังสือพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้เอง เด็กชายผู้หนึ่งระลึกชาติได้ว่าตนเคยเป็นงูเหลือมใหญ่ ถูกฆ่าตายจึงได้เกิดมาเป็นคน อ้างสถานที่ต่าง ๆ อย่างน่าเชื่อถือ เหตุการณ์ล้อมรอบตัวก็ทำให้น่าเชื่อถือ แม้ผู้ใหญ่ก็ให้ความเชื่อถือ แต่จะเชื่อได้เพียงใดนั้นก็อยู่ที่คนจะเชื่อหรือไม่ การระลึกชาติได้มีปรากฏบ่อย ๆ ถ้ามีโอกาสอาจจะนำเอาเรื่องการระลึกชาติได้มาเล่าสู่กันฟังก็ได้

พระราชธิดารุจาคิดตกลงใจในการจะแก้ทิฐิของพระราชบิดา จึงได้ทูลพระราชบิดาคัดค้านพระราชดำรัสขึ้นว่า

“ข้าแต่พระบิดา เรื่องที่ควรถามสมณะสิไปถามอาชีวกก็ได้อย่างนี้แหละ เข้าลักษณะคบคนพาล ๆ พาไปหาผิด คบบัณฑิต ๆ พาไปหาผลแน่ทีเดียว ตัวคุณาชีวกเองปฏิบัติตนไม่น่าเชื่อถือ ถือเปลือยแต่ก็ยังกินอาหาร ไหนว่าบุญไม่มีบาปไม่มีแกจะบำเพ็ญบ้า ๆ เช่นนั้นเพื่ออะไรกัน ยังอยากให้คนอื่นเคารพบูชา จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นคนบ้ามากกว่าคนดี แกออกมาถือบวชทำไม คำพูดกับการปฏิบัติมันผิดกันราวฟ้ากับดิน พระบิดาก็มาเชื่อไอ้คนเช่นนี้ได้ พระบิดาโปรดละทิฐิผิดนั้นเสียเถิด อลาตะและวิชกะนั้นระลึกชาติได้เพียงชาติเดียวเท่านั้น กระหม่อมฉันเองระลึกได้ถึง ๑๔ ชาติ แลเห็นการบุญที่ตนปฏิบัติได้เพียงนิดเดียวเท่านั้น ก่อนที่หม่อมฉันจะลงมาบังเกิดเป็นบุตรีของพระองค์

กระหม่อมฉันได้บังเกิดเป็นอัครมเหสีแห่งชวนะเทพบุตร เพียงชวนะเทพบุตรไปเอาดอกไม้มาเพื่อประดับร่างกายกระหม่อมฉัน กระหม่อมฉันก็จุติลงมาเกิดในเมืองมนุษย์เสียแล้ว ชั่วพริบตาเดียวจริง ๆ เมื่อข้าพระองค์จุติจากชาตินี้แล้วจะได้ละเพศเทพธิดากลายเป็นเทพบุตรีมีศักดานุภาพมาก ขอพระองค์อย่าได้เชื่อคนหลอกลวงทั้งหลายเลย โปรดปฏิบัติพระองค์ตามทศพิธราชธรรมตามเคยเถิด”

พระเจ้าอังคติราชได้ทรงสดับ ก็ชื่นชมยินดีในพระดำรัสของพระธิดา แต่ก็ยังคงปฏิบัติเช่นเคย มั่วสุมอยู่กับสนมกำนัลอย่างไร ก็ยังคงปฏิบัติเช่นนั้นไม่ทรงละเลิก และก็ไม่ได้ต่อว่าพระธิดาอีกเลย

พระราชธิดาเห็นว่าตนเองพูดเท่าไรก็ไม่มีน้ำหนัก จึงตั้งสัจจาธิษฐานว่า

“ถ้าว่าคุณของพระบิดายังมีอยู่ ก็ให้สมณพราหมณ์ผู้ทรงคุณธรรมมาช่วยกำจัดทิฐิผิดของพระบิดาข้าพเจ้าด้วยคำสัตย์นี้ด้วย”

การตั้งความสัตย์นี้มีตัวอย่างมากมาย อย่างในวรรณคดี เรื่องสังข์ทอง ตอนนางรจนาเสี่ยงพวงมาลัยให้เจ้าเงาะก็ตั้งสัตย์ว่า

“ถ้าบุญญาธิการเคยสมสอง

ขอให้พวงมาลัยนี้ไปต้อง

เจ้าเงาะรูปทองจงประจักษ์

เสี่ยงแล้วโฉมยงนงลักษณ์

ผินพักตร์ทิ้งพวงมาลัยไป”

เจ้าเงาะก็ได้พวงมาลัย เพราะเคยเป็นคู่กันมาแต่ชาติก่อนในพระราชพงศาวดารไทย เราก็มีการเสี่ยงเทียนอธิษฐานในแผ่นดินพระเฑียรราชา และการเสี่ยงสัตย์นี้มีอีกมากมายหลายแห่งนัก รวมความกล่าวว่าการตั้งสัตย์ให้สำเร็จประโยชน์ได้ พระพุทธเจ้าของเราตอนเป็นลูกนกคุ่มที่ไฟเกิดขึ้นในที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วย ก็เลยต้องตั้งสัตย์ไฟก็ดับไปไม่ไหม้ เลยใช้เป็นมนต์กันไฟจนกระทั่งบัดนี้

เมื่อพระราชธิดาตั้งสัตย์ดังนั้น ก็ร้อนขึ้นไปบนสรวงสวรรค์ แต่ก็ไม่ใช่พระอินทร์ดอกนะ กลายเป็นมหาพราหมไป

พระนารทมหาพรหมได้ทราบสัจจาธิษฐานของพระราชธิดารุจาจึงดำริว่า

“ถ้านอกจากเราแล้วใคร ๆ ก็ไม่สามารถจะแก้ไขให้พระเจ้าอังคติราชสละทิฐินั้นได้ จำเราจะต้องลงไปแก้ไขช่วยพระราชธิดารุจา เพื่อความสงบสุขของประชาชนพลเมือง”

จึงได้จัดแจงแปลงเพศเป็นมาณพหนุ่มน้อยห่มผ้าที่ทำด้วยทอง แล้วหาบทองเท่าลูกฟักท่าลอยอยู่ ณ ท่ามกลางอากาศเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าอังคติราช

พอได้เห็นว่ามีคนเหาะได้ พระเจ้าอังคติราชก็หวั่นไหว

“เอ! เราท่าจะแย่ สมบัติเห็นจะเปลี่ยนผู้ปกครองเสียล่ะกระมัง”

แต่พระราชธิดากลับคิดปลื้มใจ

“การอธิษฐานของเราเห็นจะได้ผลดี ผู้ที่มาคงจะมีมหิทธิฤทธิ์มาก คงสามารถขจัดทิฐิของพระราชบิดาได้” พระเจ้าอังคติราชไม่สามารถจะประทับอยู่บนราชบัลลังก์ได้ เพราะทรงเกรงกลัวมาก ต้องเสด็จลงมาอยู่กับพื้นดิน พลางดำรัสถามว่า

“ท่านผู้มหิทธิฤทธิ์ ท่านมาจากไหน และจะต้องการอะไร”

นารทมหาพรหมจึงตอบว่า

“อังคติราช ข้าพเจ้ามีนามว่านารท คนรู้จักโดยโคตรว่ากัสสปโคตร และข้าพเจ้ามาจากสวรรค์”

พอได้ฟังคำว่ามาจากสวรรค์ ท้าวเธอก็ดำริขึ้นว่า

“ไหนอาชีวกว่าปรโลกไม่มี แล้วท่านนารทมาจากโลกอื่น แต่จะต้องไว้ถามขณะอื่น ขณะนี้ต้องถามเรื่องทำไมจึงเหาะมาได้” จึงตรัสถามว่า

“ท่านพระนารท ท่านมีร่างกายและเครื่องนุ่งห่มงดงามและมีฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศ เพราะอาศัยอะไรจึงเป็นเช่นนี้ได้”

“ข้าแต่พระเจ้าอังคติราช การที่ข้าพเจ้ามีร่างกายและเครื่องนุ่งห่มอันงดงาม ประกอบด้วยฤทธิ์เหาะไปในอากาศ ก็เพราะข้าพเจ้าได้ทำคุณงามความดีไว้ เป็นต้นว่า ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในลูกเมียเขา ไม่กล่าวปด  และไม่ดื่มสุราเมรัยอันเป็นเหตุให้เสียสติอารมณ์ จึงได้สมบัติและมีมหิทธิฤทธิ์เช่นนี้”

แม้พระนารทจะบอกความจริง แต่พระเจ้าอังคติราชก็หาเชื่อไม่ กลับแย้งว่า

“ข้าแต่พระนารท ได้ยินเขาว่าสวรรค์มี นรกมี เทวบุตรมี เทวธิดามี โลกนี้มี โลกหน้ามี จะจริงหรือประการใด”

“ที่ท่านถามนั้นทั้งหมดมีจริงทั้งนั้น”

พระเจ้าอังคติราชกลับตรัสต่อไปว่า

“เมื่อท่านว่าโลกหน้ามี ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าขอยืมเงินท่านสัก ๑,๐๐๐ ถึงชาติหน้าจึงชดใช้ให้”

“ไม่ได้”

“เพราะอะไร?”

“ก็เพราะเหตุว่าท่านเป็นคนไม่มีศีลธรรม ประพฤติแต่ความชั่ว ชาติหน้าท่านอาจจะไปเกิดในอบาย ในนรกน่ะ ข้าพเจ้าไม่อยากจะลงไปทวงเงินจากท่าน เพราะร้อนเหลือประมาณ และท่านก็ไม่สามารถจะออกจากนรกเพื่อเอาเงินมาคืนเงินข้าพเจ้าได้ และเมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านเห็นสมควรไหมว่าข้าพเจ้าควรจะให้ท่านยืมเงิน แต่ถ้าท่านเป็นคนปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมประพฤติปฏิบัติแต่ในทางดี อย่าว่าแต่ ๑,๐๐๐ เดียวเลย ๒,๐๐๐ – ๓,๐๐๐ ข้าพเจ้าก็ให้ได้”

เล่นเอาพระเจ้าอังคติราชเงียบงันพูดไม่ออก ได้แต่กรอกหน้า แล้วนั่งเฉย

นารทจึงกล่าวต่อไปว่า

“ถ้าพระองค์ยังคงขืนปฏิบัติตนอยู่เช่นนี้แล้ว เป็นแน่ที่พระองค์ต้องไปสู่นรก อันมีเครื่องทรมานหลายอย่างหลายประการ มีกาปากเหล็กโตกว่าตัวเกวียน เที่ยวจิกกินสัตว์นรก มีหมาขนาดวัวตัวใหญ่คอยไล่กัด มียมบาลคอยเอาหอกไล่ทิ่มแทง บางพวกก็ต้องขึ้นต้นงิ้วอันมีหนามคมเป็นกรด ดังในพระมาลัยกล่าวไว้ว่า

“หนามงิ้วคมยิ่งกรด โดยโสฬส ๑๖ องคุลี

มักเมียท่านว่ามันดี หนามงิ้วยอกทั่วทั้งตัว”

บางพวกก็ถูกภูเขาไฟกลิ้งมาทั้ง ๔ ทิศ บดให้ละเอียดแล้วก็กลับเป็นขึ้นอีก ภูเขาก็กลิ้งมาทับอีก แบนแล้วก็แบนอีกจนกว่าจะหมดกรรม บางพวกก็ถูกยมบาลเอาคีมลุกเป็นไฟลากลิ้นเอาออกมา แล้วเอาน้ำทองแดงที่ละลายเทลงไปในคอ ไหม้ตับไตไส้พุงขาด แล้วกลับเป็นขึ้นมาผจญกรรมต่อไปอีก จนกว่าจะหมดกรรม บางพวกก็ถูกสุนัขกัดทึ้งกินทั้งร่างกายแล้วก็กลับเป็นขึ้นมาอีก

บางพวกก็ถูกยมบาลจับโยนลงไปในกระทะทองแดง ที่มีน้ำทองแดงเหลวคว้างอยู่ไหม้หมดร่างกายแล้วกลับเป็นขึ้นมาอีกเล่า บางพวกก็มีมือโตเท่าใบตาล จะเดินไปทางไหนมาทางไหนก็แสนจะยากเย็น บางพวกก็มีปากเท่ารูเข็ม จะบริโภคน้ำและอาหารก็มิได้ ล้วนแต่แสนจะสยดสยอง ถ้าพระองค์ไม่ละเลิกมิจฉาทิฐิ พระองค์จะต้องไปประสบกับสิ่งเหล่านี้อย่างแน่นอน บางทีอาจจะถูกเอาเบ็ดเกี่ยวลิ้นห้อยโตงเตงขาดตกลงมาเกี่ยวห้อยไว้ใหม่ ดู ๆ ก็น่าสนุกนะ”

เมื่อนารทพรหมพรรณนานรกให้ พระเจ้าอังคติราชสดับนั้น พระองค์ก็เกิดกลัวภัยในขุมนรก จึงตรัสกับพระนารทว่า

“ข้าแต่ท่านนารท ข้าพเจ้าไม่อยากที่จะลงไปในนรกทำอย่างไรเล่าจึงจะพ้นได้”

ตอนนี้ความกลัวเข้าจับจิตใจเสียแล้ว เลยทำให้เชื่อว่าโลกนี้มีโลกหน้ามี ผลดีผลชั่วมี บิดามารดามี

พระนารทจึงสอนให้ตั้งตนอยู่ในศีล ๕ ประการ ดำเนินราโชบายตามทศพิธราชธรรม และนับแต่นั้นมาประชาชนพลเมืองทั้งหลายก็อยู่เย็นเป็นสุข เพราะพระเจ้าแผ่นดินแผ่เมตตาไปให้พสกนิกร ตราบจนกระทั่งสิ้นพระชนมายุ เรื่องพระนารทก็เป็นอันจบลงด้วยการสั่งสอนพระเจ้าอังคติราชให้ละมิจฉาทิฐิดำรงตนอยู่ในสัมมาทิฐิ

ท่านเล่าอ่านจบแล้วได้อะไรบ้างในเรื่องนี้ สิ่งที่ควรกำหนดคืออย่าถือว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว เพราะผลดีผลชั่วย่อมมีอยู่ สัตว์โลกทั้งหมดย่อมเป็นไปตามกรรมทั้งนั้นใครจะไปฝืนไม่ได้ อยากจะได้ดีจงทำดี ถ้าอยากได้ชั่ว เอาเลย สิ่งชั่วทั้งหลาย ประพฤติเข้า แล้วท่านจะพบผลชั่ว การคบหาสมาคมด้วยคนเลว ก็จะทำให้เขาเป็นคนเลวไปด้วย คบคนเช่นไรก็จะเป็นคนเช่นนั้น เรื่องนี้ก็เป็นอันจบเพียงนี้

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น