ปฐมบทเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า

พระเจ้าสิบชาติ – พระจันทราช

พระเจ้าสิบชาติ - พระจันทราชพระเจ้าสิบชาติ - พระจันทราช

เรื่องนี้นับเป็นเรื่องที่ ๗ ในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ เรื่องมีอยู่ว่าสมัยเมื่อพระเจ้าเอกราชครองราชสมบัติอยู่ในบุปผวดีนคร ท้าวเธอมีมเหสีพระนามว่า โคตมี และมีราชโอรสนามว่า จันทกุมาร มีปุโรหิตชื่อ กัณฑหาลพราหมณ์

กัณฑหาลพราหมณ์เป็นคนโลภ เมื่อได้ยศโดยพระเจ้าเอกราชมอบอำนาจให้พิพากษาอรรถคดีต่าง ๆ ก็ชอบกินสินบน เข้าแบบที่มูลบทบรรพกิจสอนเด็กไว้ว่า

“ใครเอาข้าวปลามาให้สุภาก็ว่าดี
ที่แพ้แก้ชนะไม่ถือพระประเพณี
ขี้ฉ่อก็ได้ดี ไล่ด่าตีมีอาญา”

นี่เป็นแบบเดียวกัน มีเรื่องความอะไรมา ถ้าใครอยากชนะ เงิน-เงิน-เงิน เท่านั้นเป็นพระเจ้า ภายในร่างกายของกัณฑหาลพราหมณ์ดูจะเต็มไปด้วยเงิน เลือดคงจะกลายเป็นสีน้ำเงินไปด้วย

การกินการโกงเป็นของมีมาแล้วแต่ดึกดำบรรพ์ แม้เมื่อกัณฑหาลพราหมณ์เข้ามาเสวยอำนาจก็เลยเข้าแบบที่ว่า

“อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า ก็หาเยาว์นารี
ที่หน้าตาดีดี ทำมโหรีที่เคหา
ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ เข้าแต่หอล่อกามา
หาได้ให้ภริยา โลโภพาให้บ้าใจ
ไม่จำคำพระเจ้า เหไปเข้าภาษาไทย
ถือดีมีข้าไทย ฉ้อแต่ไพร่ใส่ขื่อคา”

เป็นเรื่องเลื่องลือกระฉ่อนไปหมดในสมัยนั้น ไม่มีใครสามารถจะจัดการได้ หากใครร้องเรียนจะต้องถูกลงโทษฐานะบ่อนทำลายสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์เสียด้วย เลยพวกปากหอยปากปูทั้งหลายต้องนิ่งเงียบปล่อยให้ลือตามใจชอบ

วันหนึ่งตอนจะเกิดเรื่อง กัณฑหาลพราหมณ์ตัดสินคดี อย่างที่เคยมาแล้ว คือให้คนที่เอาสินบนมาถวายชนะไป ผู้ที่แพ้ก็ได้แต่ก้มหน้าเดินออกจากศาลไปนั่งร้องไห้อยู่ข้างหนทาง

พอดีพระมหาอุปราชจันทกุมารเสด็จผ่านมาเห็นเข้า สงสัยจึงเรียกไปตรัสถาม ชายผู้นั้นก็เล่าความให้ฟังตั้งแต่ต้นจนสุดท้าย ถูกบังคับให้แพ้จนตลอดเรื่อง พระจันทกุมารฟังดูแล้วรู้สึกว่าเป็นการอยุติธรรมมากเกินไป จึงเสด็จไปยังศาลพร้อมกับเรียกเรื่องนั้นออกมาดู ซึ่งกัณฑหาลพราหมณ์ก็หยิบมาให้อย่างเสียมิได้ พระจันทกุมารก็เรียกโจทก์จำเลยมาสอบสวนทวนพยานกันเสียใหม่ แม้ตาพราหมณ์แกจะไม่ชอบก็ต้องนิ่ง เพราะอำนาจอุปราชเค้นคอแกอยู่ เลยได้แต่นั่งทำตาปริบ ๆ ฟังเรื่องไป

เมื่อไต่สวนแน่นอนแล้ว เจ้าจันทกุมารก็ตัดสินให้ฝ่ายถูกเป็นฝ่ายชนะ ฝ่ายผิดเป็นฝ่ายแพ้ กลับตรงกันข้ามกับคำตัดสินที่ตัดสินมาแล้ว

ประชาชนพลเมืองที่ถูกกัณฑหาลพราหมณ์กดไว้ในอำนาจก็ดีใจ คิดว่าได้พ้นจากภัยมืดอันกดคอตนอยู่แล้ว ก็พากันดีใจให้สรรเสริญพระจันทกุมารเป็นการใหญ่ เสียงคนไชโยโห่ร้องดังไปทั่วเมือง ศาลเกิดความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นแล้ว พระเจ้าเอกราชทรงสดับเสียงโห่ร้องก็สงสัยสอบถามดู ได้ความว่าเจ้าจันทกุมารมหาอุปราชตัดสินความยุติธรรมให้ราษฎรพอใจ จึงไชโยโห่ร้องให้ศีลให้พรพระจันทกุมาร

พอรุ่งขึ้นก็รับสั่งให้มหาอุปราชว่าการตัดสินคดีของประชาชนพลเมืองแทนกัณฑหาลพราหมณ์สืบไป

ถ้าเป็นจิวยี่ก็รากเลือดลงแดงตายไปแล้วเพราะความแค้นใจ แต่นี่เป็นกัณฑหาลพราหมณ์แกนิ่งเฉยโดยไม่โต้ตอบอะไรทั้งนั้น และส่งเสริมด้วยว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง แกเองแก่แล้วอยากจะพักผ่อนเสียบ้าง แต่ยังเห็นแก่แผ่นดินอยู่ จึงต้องถ่อสังขารร่างกายมาทำงาน เมื่อพระจันทกุมารทำได้แกก็พอใจ

แต่ในใจของแกสิ แกคิดอย่างไร “เจ้านี่อวดดี มึงทุบหม้อข้าวกู ดีล่ะ! ไม่มีโอกาสบ้างก็แล้วไป ถ้าได้โอกาสเมื่อไรหัวไม่ขาดก็ดูอีตาพราหมณ์บ้าง”

นับแต่นั้น พราหมณ์ก็อดลาภสักการะที่จะพึงได้จากการทุจริตเช่นเดิม ทำให้แกเคียดแค้นแทบจะรากเลือดตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ก็จำต้องนิ่งรอโอกาสต่อไป

ประชาชนพลเมืองก็ได้รับความยุติธรรมกันอย่างเสมอหน้าเสมอตา แต่เผอิญเกิดเรื่องใหม่ขึ้นทำให้ลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงตาย ดูกันต่อไป

วันหนึ่งพระเจ้าเอกราชเสด็จบรรทม และเผอิญทรงสุบินว่าได้ขึ้นไปเที่ยวบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้ทอดพระเนตรเห็นสมบัติของพระอินทร์ อันล้วนเป็นทิพย์ทั้งนั้น นางฟ้านางสวรรค์ล้วนแต่งาม ๆ พอเห็นก็ใคร่จะได้ ในขณะที่กำลังเที่ยวชมอยู่นั้นเองก็บังเอิญตกพระทัยตื่น รู้สึกเสียดายมากอยากจะฝันต่อ เสียดายเหลือเกิน แต่จะทำยังไง ๆ มันก็ไม่ฝัน กลับพระเขนยก็แล้ว ข่มตาให้หลับก็แล้วทั้งเพไม่ได้ฝันต่ออีกเลย

สมบัติของพระอินทร์ติดอกติดใจพระเจ้าเอกราชเป็นที่ยิ่ง รุ่งเช้ารีบออกท้องพระโรงแต่เช้า พอเห็นกัณฑหาลพราหมณ์ปุโรหิตคนโปรด ผู้ที่ได้เคยบอกไว้แล้วว่าสมบูรณ์พูนสุขไปด้วยเลือดสีน้ำเงิน หน้าตาแดงก่ำไปด้วยโลหิต ก็ตรัสเล่าสุบินให้ฟังและยังแถมท้ายว่า

“ทำยังไงถึงจะได้สมบัติเหล่านั้นบ้าง”

ตาพราหมณ์ผู้เป็นพราหมณ์แต่ร่างกาย เข้าทำนองความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด เพราะใจกังวลอยู่ด้วยโทสะและราคะ พอได้ฟังพระเจ้าอยู่หัวเล่าพระสุบิน และได้ยินดำรัสเช่นนั้น ใจก็คิด

“หวานกูล่ะที่นี้ จันทรกุมารเคยเล่นงานกูอย่างเจ็บแสบนัก ทุบหม้อข้าวของกู ทีนี้จะได้เห็นกันล่ะ มึงต้องตาย ตายอย่างหมาขี้เรื้อนที่ไม่มีใครใครแยแส”

แกจึงกราบทูลว่า

“ขอเดชะ พระสุบินของพระองค์เป็นลางสังหรณ์ว่า พระองค์จะได้สมบัติเหล่านี้ แต่ทำไมจึงจะได้ ก็ได้เป็นเหตุให้พระองค์มาตรัสถามกระหม่อมฉัน ต้องบูชายัญพระเจ้าค่ะจึงจะได้”

“บูชายัญเขาทำยังไงล่ะ?”

“ไม่ยากพระเจ้าค่ะ แต่ก็ดูยาก”

“เอ๊ะ! ว่ายังไงไม่ยาก แต่ดูยาก”

“คือว่า การกระทำบูชายัญที่จะมีผลมากได้รับสมบัติทิพย์ ต้องเสียสละของที่รักออกบูชายัญพระเจ้าค่ะ”

“ของที่รัก” พระเจ้าเอกราชรำพึง “อะไรนะ?”

“ก็พระมเหสี บุตร ธิดา ช้างแก้ว ม้าแก้ว สิพระเจ้าค่ะ”

“ถ้ายังงั้นเห็นพอจะได้”

กัณฑหาลพราหมณ์จึงทูลให้ทราบว่า จะต้องใช้เลือดในลำคอของพระมเหสี โอรส ธิดา ช้างม้า และเศรษฐีประจำพระนครมาทำการบูชายัญจึงจะเห็นผล

พระเจ้าเอกราชผู้งมงาย หวังแต่สมบัติทิพย์ก็เชื่อถือถ้อยคำของตาพราหมณ์เจ้าเล่ห์ โดยสั่งให้ตาพราหมณ์จัดการเรื่องการบูชายัญโดยด่วน

ข่าวได้แพร่สะพัดไปทุกมุมเมืองบุปผวดีว่าพระเจ้าเอกราชจะฆ่ามเหสี โอรส ธิดา ช้างแก้ว ม้าแก้ว แล้วเศรษฐีประจำเมืองอีก ๔ คน บูชายัญ เพื่อหวังจะได้สมบัติอย่างพระอินทร์

แม้พระจันทรกุมารจะเข้าไปทัดทานอย่างไรก็ไร้ผล พระองค์มิได้ทรงเชื่อเลย ทรงมุ่งหวังแต่สมบัติบ้าที่ตาพราหมณ์ป้อยอเท่านั้น

กัณฑหาลพราหมณ์ไปจัดการให้คนขุดหลุมเพื่อการบูชายัญภายนอกเมือง เมื่อการจวนจะสำเร็จ พระเจ้าเอกราชเกิดใจอ่อน ทนการอ้อนวอนของโอรสธิดามิได้ จะเลิกการบูชายัญ ตาพราหมณ์ได้ทราบก็รีบแล่นมา

“ข้าพระองค์ได้บอกแล้วว่างานนี้ยากมาก เมื่อจัดทำขึ้นแล้วจะเลิกเสียนั้น พระองค์จะมิได้สมบัติดังกล่าว และแถมจะถูกครหานินทราว่าเป็นกษัตริย์ตรัสแล้วไม่ค่อยจะอยู่กับร่องกับรอยเสียด้วย”

พอได้ยินเท่านั้นพระทัยเดือดปุดๆ “ทำสิวะ ทำไมจะไม่ทำ ใครว่า ตัดหัว”

อำนาจบาตรใหญ่พลุ่งออกมาทันที อนิจจา ทศพิธราชธรรมสำหรับพระเจ้าเอกราชผู้งมงายหามีไม่ กลับสั่งให้จับตัวมเหสี ๔ องค์ โอรส ๔ ธิดา ๔ ช้าง ๔ ม้า ๔ เศรษฐีอีก ๔ ไปควบคุมไว้รอบูชายัญ

พระเจ้าหลวงผู้ชนกของพระเจ้าเอกราชได้ทราบเรื่องก็ห้ามปรามมิให้ทำ แต่จะทำให้พระเจ้าเอกราชเชื่อฟังก็หาไม่ สมบัติทิพย์ใครจะไม่อยากได้ ต้องฆ่าพวกนี้เพื่อสมบัติทิพย์

แม้พระจันทรกุมารจะทูลว่า

“ขอเดชะพระราชบิดา หากว่าการบูชายัญด้วยของรักเป็นเหตุให้ได้สมบัติแล้วไซร้ ทำไมกัณฑหาลพราหมณ์จึงไม่เอาบุตรธิดาของตนเองบูชายัญเพื่อจะได้สมบัติทิพย์บ้างเล่า นี่ก็เป็นเหตุให้เห็นได้ว่าเป็นความไม่จริง ตาพราหมณ์แกโกรธเคืองกระหม่อมฉันที่ทำให้แกกดขี่ข่มเหงประชาชนพลเมือง รีดเอาทรัพย์สินเงินทองจากเขาเหล่านั้นไม่ได้ จึงอยากจะฆ่าหม่อมฉันเสีย หากจะให้สมใจของตาพราหมณ์ ได้โปรดฆ่าข้าพระองค์แต่เพียงผู้เดียวเถิด อย่าให้ใครลำบากยากแค้นด้วยข้าพระองค์เลย”

ถึงเช่นนี้พระองค์ก็หาฟังไม่

“เขาจะทำพิธีกรรมมาแก้ตัวว่าเขาเกลียดแกทำไม แกมันเสือกไม่เข้าท่า เห็นคนอี่นเขาทำดีเข้าหน่อยก็พลอยผยองไป แกจะทำให้พิธีของข้าเสีย ไม่ได้ ต้องบูชายัญให้หมด”

แม้ใครจะอ้อนวอนอย่างไร…พอใจอ่อนสั่งปล่อยตาพราหมณ์ก็มาทัดทานไว้ต้องสั่งจับใหม่ โดยอาการเช่นนี้ถึงหลายพักหลายครา สุดท้ายตาพราหมณ์เห็นว่ายิ่งรอช้าไปพระจันทรกุมารอาจไม่ตายก็ได้ เพราะพระทัยของพระเจ้าเอการชไม่สู้จะแน่นอนนัก จึงได้รีบเร่งให้ขุดหลุมและจัดบริเวณพิธีให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อจะประหารเสียเร็ว ๆ

เมื่อบริเวณพิธีและหลุมเสร็จเรียบร้อยแล้ว พราหมณ์ก็สั่งให้นำคนและสัตว์ที่จับไว้นั้นออกนอกประตูพระนครไป พร้อมกับปิดประตูห้ามคนคนในออกคนนอกเข้า เพราะกลัวประชาชนจะติดตามไปทำลายพิธี เพราะคนอย่างมหาอุปราชและเศรษฐีก็ย่อมมีพรรคพวกเพื่อนฝูงมากมาย เดี๋ยวเกิดจะมีคนดีขึ้นมาบ้าง

พอถึงโรงพิธีคนแรกที่ต้องสังเวยคือจันทกุมาร ตาพราหมณ์ก็นำไปนั่งข้างปากหลุม เตรียมถาดที่จะรองเลือดไว้เรียบร้อย ตนเองก็ตระเตรียมดาบไว้ พระจันทกุมารตอนนี้วางใจเป็นอุเบกขาแล้วแต่เวรกรรม

แต่พระจันทาเทวีผู้ชายาของมหาอุปราช ซึ่งได้ตามอ้อนวอนพระราชบิดาขอให้ยกโทษพระจันทรกุมาร และเอาตัวพระนางเองบูชายัญแทนก็ไม่สำเร็จ จึงตั้งสัจจาธิษฐานคือตั้งความสัตย์ว่า

“ขอฝูงเทพยดาทั้งหลายจงเป็นพยานด้วยความสัตย์ของข้า กัณฑหาลพราหมณ์เป็นคนคิดมิชอบต่อราชการแผ่นดิน ไม่มีศีลธรรม แกล้งจะทำลายล้างผู้อื่น ด้วยความสัตย์ ขอให้กัณฑหาลพราหมณ์จงพินาศไป และขอให้พระจันทรกุมารสวามีแห่งข้าจงได้รอดชีวิตด้วยเถิด”

ด้วยสัจจาธิษฐานของนาง ทำให้อาสนะพระอินทร์แข็งนั่งไม่สบาย คงจะเป็นอย่างเรื่องสังข์ทองที่ว่า

“ทิพย์อาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา กระด้างดังศิลาประหลาดใจ จะมีเหตุมั่นแม่นในแผ่นดิน อมรินทร์เร่งคิดสงสัย จึงสอดส่องทิพย์เนตรดูเหตุภัย ก็แจ้งใจในนางรจนา” แต่เห็นจะต้องขอแก้นางรจนาเป็นจันทรกุมาร แม้นมิช่วยจะม้วยมอด ด้วยไม่รอดจากประหาร ต้องเหาะลอยระเห็จล่องฟ้ามาช่วยทันที มีมือถือค้อนเหล็กลุกเป็นไฟ พอเหาะมาถึงบริเวณพิธีก็ร้องตวาดลงมาว่า

“ไอ้พระยาอธรรม์ เคยมีเยี่ยงอย่างจากไหนที่สั่งสอนว่าฆ่าคนจะได้สมบัติทิพย์และจะได้ไปสวรรค์ ทศพิธราชธรรมสำหรับกษัตริย์ละเลิกหรืออย่างไร ถ้าหากจะขืนทำพิธีบูชายัญให้ได้ เราจะตีเศียรท่านให้ย่อยยับไปเป็นจุณไป”

และไม่เพียงแต่พูด แถมฟาดราชวัติฉัตรธงในบริเวณพิธีพังล้มระเนระนาดไปเสียด้วย

ในขณะนั้นเองประชาชนก็ฮือกันเข้าไปจับตัวกัณฑหาลพรามหณ์เจ้าพิธีซึ่งกำลังยืนตะลึงอยู่ ลากออกมาข้างนอก แล้วทีนี้ไม่รู้ว่ามือใคร เท้าใคร พักเดียวเงียบกริบ ไม่มีเสียงร้องเลย ร่างแหลกเหลวแทบดูไม่ได้ ประชาทัณฑ์กันอิ่มหมีพีมันไปเลย คนชั่วเช่นนี้ตายไปเสียได้ก็ทำให้แผ่นดินสูงขึ้นได้เป็นกอง

เมื่อพราหมณ์ตายแล้ว ความโกรธแค้นของประชาชนยังไม่หยุดเพียงนั้น ยังบุกถึงเจ้าหน้าที่ซึ่งคอยอารักขาพระเจ้าเอกราชอยู่ เพื่อจะเอาตัวมาลงทัณฑ์เสียอีก

จันทรกุมารต้องโดดเข้าไปกั้นกลางประชาชน กอดพระชนกเอาไว้ไม่ให้คนทำร้าย

“เราไม่ต้องการคนโหดร้ายทารุณ ฆ่ากระทั่งลูกเมียเพื่ออยากได้สมบัติทิพย์ ออกไป ออกไป”

เสียงประชาชนโห่ร้องขับไล่

และได้เเสดงให้พระองค์ทรงทราบว่า แม้จะไว้ชีวิตพระองค์ก็จริง แต่ก็ไม่อาจให้อยู่ในเมืองได้ และได้ปลดออกจากราชสมบัติ ทำโทษขับไล่ไปอยู่บ้านจัณฑาล ซึ่งในสมัยนั้นเทียบได้กับหมู่บ้านคนขอทานในสมัยนี้ แม้จะไม่เหมือนกันแต่เห็นจะพอใกล้เคียงกันได้ แล้วได้ทำการอภิเษกเจ้าจันทรกุมารให้ครองราชสมบัติในบุปผวดีนคร

เมื่อพระเจ้าจันทรกุมารเสด็จประพาสอุทยาน ก็เสด็จไปเยี่ยมพระบิดาเสมอ ได้รับพรจากพระเจ้าเอกราชให้สมบูรณ์พูนสุขชนมายุยืนนาน ก็ได้เสวยราชสมบัติอยู่ในทศพิธราชธรรม บ้านเมืองก็เป็นสุขสบายปราศจากศัตรูหมู่ร้ายจะมารบกวนตราบจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ เรื่องนี้เป็นอันจบลงเพียงนี้

เราจะได้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง ความโลภทำให้คนดีกลายเป็นคนชั่ว ความอาฆาตพยาบาททำให้เป็นคนเลว ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว ได้แก่พราหมณ์ ซึ่งจะฆ่าพระจันทกุมาร แต่ตัวเองก็กลับต้องตาย ความมัวเมาในอำนาจและอยากได้สิ่งพึงประสงค์เช่นสมบัติทิพย์ ทำให้หน้ามืดตามัวไม่เห็นความผิดถูก อย่างพระเจ้าเอกราช อนิจจาความชั่วไม่ช่วยให้คนดีได้

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น