ตรัสรู้

นางวิสาขาสร้างวิหารชื่อ โลหะปราสาท

วันหนึ่งนางวิสาขาแต่งตัวด้วยเครื่องมหาลดาปสาธน์ไปในงานมหรสพที่ได้รับเชิญพร้อมหญิงรับใช้ชื่อ สุปปิยา และเลยไปฟังธรรมที่พระเชตวันมหาวิหาร โดยถอดเครื่องมหาลดาปสาธน์ฝากไว้กับนางสุปปิยา หลังจากฟังพระธรรมเทศนาแล้วจึงเดินไปเยี่ยมภิกษุที่อาพาธ

พระอานนท์เห็นเครื่องหมายมหาลดาปสาธน์เข้าใจว่านางวิสาขาลืมไว้จึงนำไปคล้องไว้ที่ข้างบันไดตามรับสั่งของพระพุทธเจ้า นางวิสาขาเมื่อทราบว่าพระอานนท์เถระจับต้องเครื่องประดับของตนแล้วจึงตั้งใจถวายแด่พระสงฆ์ แต่เห็นว่าพระสงฆ์คงเก็บรักษาไว้ลำบากจึงนำออกจำหน่ายเพื่อนำเงินมาสร้างวัด โดยช่างทองตีราคาเครื่องมหาลดาปสาธน์ในราคา ๙ โกฏิ รวมทั้งค่ากำเหน็จ คือค่าทำ อีกหนึ่งแสน แต่หาหญิงมีบุญที่จะแต่งเครื่องประดับนี้ไม่ได้ นางวิสาขาจึงต้องซื้อเอาไว้เองแล้วนำเงินจำนวน ๙ โกฏิ ๑ แสน สร้างปราสาทแบบ ๒ ชั้น ชั้นล่างมี ๕๐๐ ห้อง ชั้นบนมี ๕๐๐ ห้อง ยอดปราสาททำด้วยทองคำและทองสัมฤทธิ์มีความวิจิตรพิสดารมาก จึงเรียกว่า โลหะปราสาท โดยพระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธดำรัสให้พระโมคคัลลานะเถระเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง

ในสมัยต่อมาพระเจ้าทุฏฐคามินิแห่งศรีลังกา ได้นำแบบไปก่อสร้างเพื่อเป็นการฉลองเอกราชที่ลังการบชนะพวกทมิฬ (ราวสองพันปีที่ผ่านมา) เป็นปราสาทแบบ ๙ ชั้น ขนาดยาวด้านละ ๑๐๐ เมตร มี ๑,๐๐๐ ห้องเช่นกัน นับเป็นโลหะปราสาทหลังที่ ๒ ของโลก ส่วนหลังที่ ๓ คือ โลหะปราสาทที่วัดราชนัดดา กรุงเทพมหานคร สร้างในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี เป็นปราสาทแบบ ๓ ชั้น ชั้นที่ ๑ มียอดสวยงาม ๒๔  ยอด ชั้นที่  ๒ มี ๑๒ ยอด ชั้นที่ ๓ มี ๓๗ ยอด อันหมายถึงหลักธรรมะสำคัญ ๓๗ ประการ เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมเป็นที่ไปในทางปัญญาเครื่องตรัสรู้ ประกอบด้วยธรรม ๗ หมวด

นางวิสาขามหาอุบาสิกาได้ชักนำให้มิคารเศรษฐีผู้เป็นพ่อสามีหันมานับถือพระพุทธศาสนาเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาได้รับรสธรรมอันซาบซึ้ง มิคารเศรษฐีเห็นว่านางวิสาขาเป็นผู้นำตนเข้าสู่ธรรมจึงนับถือเป็นมารดา นางวิสาขาได้นามว่า มิคารมาตา คือมารดาของมิคาร นับแต่นั้นมา

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น