เมื่อพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งพุทธปณิธานที่จะแสดงธรรมสั่งสอนเหล่าเวไนยสัตว์ทั้งปวงด้วยพระมหากรุณาธิคุณ จึงทรงพิจารณาว่าบุคคลผู้ใดสมควรจะได้ฟังพระธรรมเทศนา ลำดับนั้นพระพุทธองค์ทรงนึกถึง อาฬารดาบส กาลามโคตร และ อุทกดาบส รามบุตร ซึ่งพระองค์เคยเสด็จไปทรงศึกษาหาความรู้ก่อนที่สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ แต่มีเทพยดาองค์หนึ่งได้เข้ามากราบทูลว่าบัดนี้อาฬารดาบสได้ดับขันธ์สิ้นชีพล่วงไปได้ ๗ วันแล้ว
สมเด็จพระชินสีห์จึงส่องทิพยจักษุฌานดูก็ทรงประจักษ์ว่าเป็นจริงตามนั้น และบัดนี้พระดาบสได้ไปบังเกิดในอากิญจัญญาตนอรูปภพ อรูปพรหมชั้นที่ ๓ จึงมีพุทธดำริว่าหากพระดาบสยังมีชีวิตอยู่ต่ออีก ๑ วันก็จะได้สดับพระสัทธรรมและสามารถบรรลุมรรคผลสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้อย่างแน่นอน ด้วยเป็นบัณฑิตชาติอุดมด้วยสติปัญญาและกมลสันดานเบาบางจากกิเลสมลทิน
ลำดับต่อมาพระพุทธองค์ได้ทรงรำลึกถึงเหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ อันได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานมะ และอัสสชิ ซึ่งเคยอุปัฏฐากปรนนิบัติพระองค์มา ทรงพิจารณาด้วยพระญาณจึงทราบว่าบัดนี้เหล่าปัญจวัคคีย์สถิตอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสีแห่งแคว้นกาสี อันอยู่ห่างจากตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเป็นระยะเวลาประมาณ ๑๘ โยชน์ ทรงเห็นว่าเหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จะสามารถบรรลุธรรมได้
และเบื้องแรกสมเด็จพระสัพพัญญูจะเหาะเสด็จไปทางอากาศ แต่พิจารณาว่าควรเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางปฐมพีเพื่อจะได้สงเคราะห์แก่อุปกาชีวก ซึ่งต่อไปภายหน้าจะได้บรรพชาในพระพุทธศาสนาศึกษาธรรม จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ทั้งนี้ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณซึ่งมีต่อมวลมนุษย์และเหล่าสรรพสัตว์อันหาที่สุดมิได้
พระผู้มีพระภาคจึงเสด็จพุทธดำเนินโดยพระบาทไปในเวลาเช้าของวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๘ เมื่อพบและทรงแสดงธรรมแก่อุปกาชีวกพอเป็นแนวทางแห่งการบรรพชาในเบื้องหน้า และเสด็จพุทธดำเนินต่อจนถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวันในเวลาเย็น
การที่เสด็จจากตำบลพระศรีมหาโพธิ์ จนกระทั่งถึงกรุงพาราณสี แสดงให้เห็นพระวิริยอุตสาหะอันแรงกล้า และการตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะประทานปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์เป็นพวกแรกอย่างแท้จริง เพราะระยะทางระหว่างตำบลพระศรีมหาโพธิ์ถึงพาราณสีนั้นไกลมาก ซึ่งการเสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่าอาจใช้เวลาหลายวัน แต่ปรากฏว่าพอตอนเย็นวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน อาสาฬหะ นั้น พระพุทธองค์ก็เสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี อันเป็นที่อยู่ของปัจจวัคคีย์
เมื่อเหล่าปัญจวัคคีย์มองเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล ก็นัดหมายกันว่าจะไม่ทำการลุกต้อนรับ ไม่ให้ทำการอภิวาทและไม่รับบาตรจีวร แต่ให้ปูอาสนะไว้ ถ้าทรงประสงค์จะนั่งก็นั่ง แต่ถ้าไม่ประสงค์ก็แล้วไป แต่ครั้นพระองค์เสด็จถึงต่างก็ลืมกติกาที่ตั้งกันไว้ พากันลุกขึ้นและอภิวาทกราบไหว้ และนำน้ำล้างพระบาท ตั่งรองพระบาท ผ้าเช็ดพระบาทมาคอยปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าได้เสด็จประทับบนอาสนะ ทรงล้างพระบาทแล้ว เหล่าปัญจวัคคีย์ก็เรียกพระองค์ด้วยถ้อยคำตีเสมอ คือเรียกพระองค์ว่า อาวุโส ที่แปลว่า ผู้มีอายุ หรือแปลอย่างภาษาไทยว่า คุณ โดยไม่มีความเคารพ พระองค์ตรัสห้ามและทรงบอกว่าพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว จะแสดงอมตธรรมให้ท่านทั้งหลายฟัง เมื่อท่านทั้งหลายตั้งใจฟังและปฏิบัติโดยชอบก็จะเกิดความรู้จนถึงที่สุดทุกข์ได้
เหล่าปัญจวัคคีย์ก็กราบทูลคัดค้านว่า เมื่อทรงบำเพ็ญทุกรกิริยายังไม่ได้ตรัสรู้ เมื่อทรงเลิกเสียจะตรัสรู้ได้อย่างไร พระพุทธเจ้าก็ยังตรัสยืนยันเช่นนั้น และเหล่าปัญจวัคคีย์ก็คงคัดค้านเช่นนั้นถึง ๓ ครั้ง พระพุทธองค์จึงตรัสให้ระลึกว่า แต่ก่อนนี้พระองค์ได้เคยตรัสพระวาจาเช่นนี้หรือไม่ เหล่าปัญจวัคคีย์ก็ระลึกได้ว่า พระองค์ไม่เคยตรัสพระวาจาเช่นนี้
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้ยินยอมเพื่อจะฟังพระธรรม พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเห็นว่า เหล่าปัญจวัคคีย์พากันตั้งใจเพื่อจะฟังพระธรรมของพระองค์แล้ว จึงได้ทรงแสดง ปฐมเทศนา คือ เทศนาครั้งแรก โปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ พระองค์ได้ทรงแสดงปฐมเทศนานี้ในวันรุ่งขึ้นจากที่เสด็จไปถึง คือ ได้ทรงแสดงในวันเพ็ญของเดือน อาสาฬหะ หรือ เดือน ๘ ก่อนวันเข้าพรรษาหนึ่งวัน ซึ่งเป็นวันที่ประกอบพิธี อาสาฬหบูชา ดังที่ได้กำหนดตั้งขึ้นเป็นวันบูชาวันหนึ่ง
ไห้ความรู้ดีมากค่ะ