ปกิณกธรรม

ใจของคนเราทุกคนนี้ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

เราทุกคนที่เป็นคนหรือเป็นมนุษย์ ก็มีส่วนประกอบทั้งหมดด้วยอาการสามสิบสองอย่าง เริ่มจากผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่ตอนที่เราเข้าพิธีอุปสมบทน่ะ ต้องบอกกรรมฐานก่อนที่จะ ครองผ้ากาสาวพัสตร์ นี้คือหน้าที่การงานที่เราจะต้องประพฤติต้องปฏิบัติในชีวิตประจําวัน ของเราทุก ๆ คน สําหรับผู้ที่บวชมาในพระพุทธศาสนา หรือผู้ที่ไม่ได้มาบวชก็ต้องพิจารณา อย่างนี้เหมือนกัน

คนเราทุก ๆ คนน่ะถ้าแยกออกทีละชิ้นส่วนมันจะไม่เหลือที่เป็นตัวเป็นตน ที่มันเป็นตัว เป็นตนได้เพราะว่ามันประกอบด้วยอาการสามสิบสองที่มันเป็นส่วนประกอบของร่างกาย

พระพุทธเจ้าให้เราพิจารณาเป็นของไม่สะอาด เป็นของปฏิกูล ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน

พระพุทธเจ้าให้เราพิจารณาอย่างนี้ทุก ๆ วันน่ะ นิมิตทางธรรมมันจะได้เกิดที่ใจของเรา

เดี๋ยวนี้เราทุกคนน่ะ นิมิตทางธรรมมันไม่ได้เกิดที่ใจของเรา เราหลงในกายตัวเอง และหลงในกายคนอื่น เค้าเรียกว่าหลงในนิมิต นิมิตที่มันเป็นอัตตาตัวตน เป็นเราเป็นเขา เป็นผู้หญิงผู้ชาย ถ้าเราพิจารณาบ่อย ๆ พิจารณาประจํา พิจารณามาก ๆ นิมิตทางธรรม มันจะเกิดขึ้นแก่เรา

นิมิตทางธรรม คืออะไร? นิมิตทางธรรม ก็คือ ปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง ถ้านิมิตทางธรรมเกิดขึ้นแก่เราน่ะ ใจของเราก็จะเป็นส่วนหนึ่ง กายของเราก็จะเป็นส่วนหนึ่ง ใจของเราเปรียบเสมือนเจ้าของรถยนต์ ร่างกายของเราก็เปรียบเสมือนรถยนต์ รถยนต์น่ะต้อง ดูแลรักษา ต้องเติมน้ำมันถึงใช้ขับขี่ได้ มนุษย์เรานี้ก็เหมือนกันน่ะ ต้องเติมน้ำมันเหมือนกัน น้ำมันก็ได้แก่ อาหารที่เรารับประทาน รถก็ต้องพักผ่อน ร่างกายของเราก็พักผ่อนเหมือนกับ รถนี้แหละ ใจของเราก็เปรียบเหมือนเจ้าของรถ

มันคนละอย่าง… เพราะกายของเรานั้นมันเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก ใจของเรานั้น เป็นธาตุผู้รู้ ถ้าเรารู้ด้วยปัญญา เห็นด้วยปัญญานั้นน่ะ ใจของเราก็จะไม่แก่ เจ็บ ตาย ไปตามร่างกาย

ใจของคนเราทุกคนนี้ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายนะ แต่ที่มันแก่ มันเจ็บ มันตายก็คือร่างกาย ถ้าเราเอาร่างกายนั้นมาเป็นตัวเป็นตน ใจของเรามันถึงเกิดปัญหา เพราะเรายังไม่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง

งานของพระจึงเป็นงานพิจารณาร่างกาย การที่เรามาบวช คือการมาพัฒนาทางจิตใจโดยเฉพาะ ให้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องแล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง มันถึงจะแก้ปัญหาได้ หยุดปัญหาได้ ถึงจะเข้า พระนิพพานได้เมื่อเรายังไม่ตาย มันเป็นสิ่งที่ดีมาก ดีพิเศษ

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า การเจริญกรรมฐานนี้เป็นงานของพระที่ทําให้ผู้ที่มาบวชน่ะ เพื่อที่จะเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอรหันต์ และเมตตาตรัสอริยมรรคมีองค์แปดประการ ให้ทุกคนพากันประพฤติปฏิบัติ อริยมรรคมีองค์แปดทุกข้อต้องประกอบด้วยความเห็นชอบ ทุก ๆ ข้อ อย่างการเสียสละต้องประกอบด้วยปัญญา ความอดทนนี้ต้องประกอบด้วยปัญญา การทําความเพียรก็ต้องประกอบด้วยปัญญา สมาธิก็ต้องประกอบด้วยปัญญา ความกรุณา ความเมตตาก็ต้องประกอบด้วยปัญญา สัจจอธิษฐานต้องประกอบด้วยปัญญาอริยมรรค ทุกข้อต้องประกอบด้วยปัญญาทั้งหมด

ทําไมเราบวชมาน่ะ เราไม่มีปัญญาเหมือนพระพุทธเจ้า เพราะมีความเห็นยังไม่ถูกต้อง มีความเข้าใจยังไม่ถูกต้อง เราเลยปฏิบัติไม่ถูกต้อง มันจะได้ปัญญาได้อย่างไร

พระพุทธเจ้าถึงให้เราพิจารณาร่างกายอยู่ตลอดเวลา ทั้งวัน ทั้งคืน ถ้าพิจารณาเหนื่อย ก็พักผ่อนสมอง พักผ่อนร่างกาย การทําสมาธินั้นคือการพักผ่อน คือการพักผ่อนร่างกาย เพื่อให้สมองมันได้ซ่อมแซม เพื่อให้ร่างกายมันได้ซ่อมแซม

การปฏิบัติธรรมน่ะ ให้ทุกรูปทุกท่านเข้าใจนะ ถ้าเราเข้าใจถูกต้องมันถึงจะปฏิบัติ ถูกต้อง เพราะว่ามันเป็นเหตุเป็นปัจจัย เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนั้นมันถึงมี ถ้าเราเข้าใจไม่ถูกต้อง อริยมรรคทุกข้อมันจะผิดหมด ถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ปัญญามันถึงจะเกิด อริยมรรคมีองค์แปดน่ะ คือการดําเนินชีวิตของพระอริยเจ้า ส่วนใหญ่เราไม่เข้าใจน่ะ เราจะคิดเอาแบบง่าย ๆ ลวก ๆ เราจะไปเอาตั้งแต่ความสงบ เราทิ้งอริยมรรคไปตั้งหลายข้อ ชื่อว่าเราไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ มันแก้ไม่ได้ เพราะเรามีความเข้าใจผิด มันเดินไปคนละทาง กับพระพุทธเจ้าเลย

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นั้นอยู่ในอริยมรรคมีองค์แปด ประการปัญหาต่าง ๆ น่ะมันไม่ได้เกิดจากที่อื่น มันเกิดขึ้นจากใจของเราที่ไม่เข้าใจถูกต้อง ไม่มีความเห็นที่ถูกต้อง มันสร้างปัญหาให้กับตัวเอง เหมือกับบุรุษคนหนึ่งที่เกิดมาเป็นหนุ่ม เมื่อเป็นหนุ่มแล้วก็ทําตามสัญชาตญาณ อยากจะมีภรรยา เมื่อมีภรรยาแล้วมันก็ต้องมีลูก เมื่อมีลูกแล้วมันก็ต้องมีบ้าน มีที่อยู่อาศัย ที่นี้แหละปัญหาต่าง ๆ มาเป็นระเนระราดเลย มันเกิดจากที่เรามีความเห็นไม่ถูกต้อง เข้าใจไม่ถูกต้อง ที่เราทําอะไรผิดที่ผ่าน ๆ ทั้งหมดน่ะ คือเรามีความเห็นไม่ถูกต้อง เข้าใจไม่ถูกต้อง

ปัญญาของทุกคนที่จะเกิดได้ มันจะเกิดได้ต้องจากภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ภาคประพฤติปฏิบัติก็ได้แก่เอาบารมีทั้งสิบทัศออกมาทํางาน ออกมาใช้งาน เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง

เราทุกคนน่ะมันไม่ได้เอาธรรมะออกมาใช้งานเลย ทุกท่านทุกคนต้องเข้าใจ หรือเอามาใช้ก็เอามาใช้น้อยมาก ไม่สมควรแก่ธรรม ในการประพฤติปฏิบัติธรรม เรียกว่า ไม่พอกินไม่พอใช้

หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้ไว้ ณ วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๑

แสดงความคิดเห็น

แสดงความเห็น