บทความวิชาการ

นิทานธรรมบท หนทางทำความดีหลีกหนีความชั่ว

พระพุทธโฆสะ นำคัมภีร์วิสุทธิมรรค ที่รจนาแล้ว ๓ ชุด ถวายพระสังฆเถระ ท่ามกลางชุมนุมสงฆ์คณะมหาวิหาร - ภาพจิตรกรรม ณ กัลยาณีวิหาร ศรีลังกา

รรมบท แปลตรงตัวว่า ทางแห่งความดี (The Path of Virtue) หัวใจของ นิทานธรรมบท อยู่ที่การทำความดีละหลีกความชั่ว แต่การทำความดีเพื่อละความชั่วนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าความดีคืออะไร และความชั่วเป็นอย่างไร ดังที่ วศิน อินทสระ ได้แสดงความเห็นไว้ว่า

“บุคคลแม้ปรารถนาความเป็นคนดี แต่เมื่อไม่รู้จักทางแห่งความดี ก็ไม่อาจให้ความปรารถนานั้นเต็มบริบูรณ์ได้ ทำนองเดียวกันบุคคลแม้ต้องการหลีกความชั่ว แต่เมื่อไม่รู้จักความชั่ว ไม่เห็นโทษของความชั่ว เขาจะละเว้นความชั่วได้อย่างไร”[1]

ความดีทำได้ไม่ยากถ้าเราเรียนรู้วิธีทำความดี และรู้จักจุดพอดีว่าอยู่ที่ใด[2] ดังที่พระพุทธอุทานว่า “ความดีคนดีทำได้ง่าย ความดีคนชั่วทำได้ยาก ความชั่วคนชั่วทำได้ง่าย ความชั่วพระอริยเจ้าทั้งหลายทำได้ยาก ฯ”[3] ดังนั้นถ้าฝึกตนให้เดินอยู่บนถนนแห่งความดี เรื่องของการทำความดีหลีกหนีความชั่วก็ไม่ใช่เรื่องยาก

นิทานธรรมบท ของพระพุทธโฆษาจารย์ มีนิทานประกอบหมวดธรรมทั้ง ๒๖ หมวด จำนวน ๓๐๒ เรื่อง  นิทานทุกเรื่องแสดงถึงตัวอย่างของความดี และ ความชั่วควบคู่กันไป เพื่อให้ผู้ศึกษาได้มองเห็นประโยชน์อนันต์ของการทำความดี และโทษมหันต์ของการทำความชั่ว โดยการชี้ให้เห็นหนทางแห่งความดี และหลุมพรางแห่งความชั่วไปพร้อม ๆ กันเพื่อให้เห็นความแตกต่างของความดีและความชั่วอย่างชัดเจน เช่น หมวดคนพาลและหมวดบัณฑิต หรือนำเสนอหมวดอื่น ๆ ที่สามารถพัฒนาตนไปสู่หนทางของความหลุดพ้น เช่น หมวดที่ว่าด้วยการฝึกจิต หมวดที่ว่าด้วยมรรค หมวดที่ว่าด้วยพระอรหันต์ เป็นต้น

นิทานธรรมบท จึงเป็นประโยชน์ต่อบุคคลในวงกว้างทั้ง นักบวช พระราชา นักการเมือง  นักการปกครอง จนกระทั่งถึงผู้ครองเรือนทั่วไป วิธีการสื่อนิทานธรรมบทก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจใคร่ศึกษา เนื่องจากเนื้อเรื่องหลากหลายชวนติดตาม ทำให้ผู้อ่านสนุกสนานเพลิดเพลิน ทั้งยังแสดงข้อคิดเป็นสุภาษิตที่ไพเราะลึกซึ้งกินใจ นับว่านิทานธรรมบทเปี่ยมด้วยอรรถและรสอันงดงาม

ที่มาของธรรมบท

อรรถกถาธรรมบทเกิดจากผลงานของพระพุทธโฆษาจารย์และพระเถระอื่น ๆ ในพุทธศตวรรษที่ ๕ ตามประวัติซึ่งปรากฏในคัมภีร์มหาวงศ์และสัทธัมมสังคหะ ได้บันทึกไว้ว่าอรรถกถาเดิมนั้นพระมหินทเถระโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้เป็นผู้นำมาสู่ประเทศศรีลังกา และได้ทำการแปลสู่ภาษาสิงหล อรรถกถาที่มีอยู่ในอินเดียได้สูญหายหรือมีอยู่แต่ไม่สมบูรณ์ ท่านพระเรวตะได้แนะนำให้พระพุทธโฆษาจารย์เดินทางไปประเทศศรีลังกา เพื่อทำการศึกษา และแปลกลับสู่ภาษามคธดังเดิม[4]

พระพุทธโฆสะ (รูปยืน) ถวายคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาพจิตรกรรม ณ กัลยาณีวิหาร ศรีลังกา
พระพุทธโฆสะ (รูปยืน) ถวายคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาพจิตรกรรม ณ กัลยาณีวิหาร ศรีลังกา

อรรถกถาธรรมบทเป็นคัมภีร์อธิบายความพระไตรปิฎกหมวดหนึ่ง ปรากฎอยู่ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เล่มที่ ๒๕ พระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นคำประพันธ์เรียกว่าคาถา มี ๔๒๓ คาถา มีนิทานประกอบจำนวน ๓๐๒ เรื่อง เรียกว่า นิทานธรรมบท[5] อรรถกถาธรรมบทเป็นวรรณกรรมบาลี ที่พระพุทธโฆษะ ปราชญ์ชาวอินเดียแปลจากภาษาสิงหลโบราณ มีโครงสร้างที่เขียนไว้อย่างเป็นระบบ มีแบบแผนเป็นภาษากวี แปลจากภาษาสิงหลเป็นตันติภาษา (ตนฺติ ภาสํ มโนรม) คือภาษาบาลี

ท่านผู้รจนา อรรถาธิบายหลักธรรม ในคัมภีร์ธัมมบท ขุททกนิกาย พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย ในเล่มที่ ๒๕ มีเนื้อความไพเราะ สั้น คมคาย เหมาะจะนำไปประยุกต์เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ธัมมปทัฏฐกถาแต่งขึ้นยุคหลังวรรณคดีพระไตรปิฎก (Post-Canonical Literature) จัดไว้ในกลุ่มเดียวกันกับมิลินทปัญหา วรรณกรรมของพระพุทธทัตตะ วรรณกรรมของพระพุทธโฆษะ และวรรณกรรมของพระธรรมปาละ ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่เขียนขึ้นตามหลักวรรณกรรมไวยากรณ์บาลี[6] ลักษณะการเล่าเรื่องแต่ละเรื่องจะมีเอกลักษณ์ประจำไปตลอดทุกๆเรื่อง แต่ละเรื่องประกอบด้วยหลักธรรมคติธรรม และพุทธวิธีการสอนอันเป็นหัวใจของพุทธจริยศาสตร์ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างครอบคลุม เหมาะแก่คนทุกเพศทุกวัย ง่ายต่อการเข้าใจ มีเนื้อความที่ไม่ลึกลับซับซ้อน

อรรถกถาธรรมบท มี ๔ สำนวน (๔ ฉบับ) สำนวนที่ ๑ เป็นสำนวนสิงหลโบราณ สำนวนที่ ๒ เป็นสำนวนที่พระพุทธโฆษะแปลจากสำนวนที่ ๑ คือภาษาสิงหลโบราณตันติภาษา สำนวนที่ ๓ พระธรรมเสนมหาเถร แปลมาจากสำนวนที่ ๒ เป็นภาษาสิงหลชื่อว่าสัทธรรมรัตนาวลี ในศตวรรษที่ ๑๓ และสำนวนที่ ๔ ปราชญ์นามว่า จุลละพุทธโฆษะ เขียนขึ้น อาศัยเนื้อหาสำนวนที่ ๓ เขียนอีกส่วนหนึ่งในลังกา[7]

อรรถกถาธรรมบทได้มาปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในประเทศไทย ที่พอมีหลักฐานประมาณ พ.ศ. ๒๐๖๐ คือ เมี่อพระศิริมังคลาจารย์รจนาคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ท่านได้อ้างขอความจากคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท ได้รับการจารจารึกเป็นอักษรล้านนาในใบลานบ้าง เป็นอักษรขอมบ้างในกาลต่อ ๆ มา จนมาได้รับการคัดลอกเปลี่ยนจากอักษรขอมเป็นอักษรไทย จัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือตามที่ปรากฏในสถิติการพิมพ์ประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๙ เป็นฉบับของมหามกุฎราชวิทยาลัยและได้รับการจัดพิมพ์เรื่อยมา[8]

สุภาพรรณ ณ บางช้าง กล่าวว่า “อฏฐกถา มีความหมายเดียวกันกับคำว่า อตฺถกถา แปลว่า การอธิบายความหมาย (exposition of the sense, explanation commentary) ไทยเรานิยมเขียนว่า อรรถกถา หมายถึงหนังสือ ๒ ประเภท

  1. แต่เดิมหมายถึงหนังสือบาลีเรื่องใดก็ตาม ที่แต่งหลังยุคพระไตรปิฎก ได้แก่คัมภีร์ที่อธิบายความหมายของคำและความในพระไตรปิฎก คัมภีร์มิลินทปัญหา คัมภีร์มหาวงส์ เป็นต้น ส่วนหนังสือที่อธิบายหนังสือเหล่านี้อีกทีเรียกว่า ฎีกา ดังนั้นหนังสือที่อธิบายมิลินทปัญหา จึงเรียกว่ามิลินทปัญหาฎีกา หนังสือที่อธิบายมหาวงส์ จึงเรียกว่า มหาวงส์ฎีกา และเพื่อจะแยกประเภทงานที่เขียนอธิบายความหมายของคำ และความในพระไตรปิฎกจากงานอื่นพระอรรถกถาจารย์ มักจะเรียกงานของท่านว่า “สังวรรณา” แปลว่า การบรรยายพร้อม
  2. ต่อมา คำว่าอัฏฐกถา หรือ อรรถกถา ได้มีความหมายแคบลง คือ หมายเฉพาะหนังสือที่อธิบายความหมายของคำ และความในพระไตรปิฎกเท่านั้น และได้เรียกชื่อหนังสืออื่น ๆ ที่แต่งหลังยุคพระไตรปิฏกเป็นแบบต่างๆ ตามลักษณะหนังสือ เช่น ประเภทปกรณ์พิเศษ ประเภทพงศาวดารประเภทสัททาวิเศษ เป็นต้น[9]

อรรถกถาธรรมบท หมายถึง อรรถกถาอธิบายความในธรรมบท แบ่งเป็นตอนเรียกวรรค มี ๒๖ วรรค ดังนี้

ตารางแสดงหมวดธรรมในอรรถกถาธรรมบท

วรรคที่ชื่อวรรคว่าด้วยเรื่องจำนวนเรื่องจำนวนคาถา
๑.ยมกวรรคหมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่กัน๑๔๒๐
๒.อัปมาทวรรคหมวดว่าด้วยความไม่ประมาท๑๒
๓.จิตตวรรคหมวดว่าด้วยการฝึกจิต๑๑
๔.ปุปผวรรคหมวดว่าด้วยดอกไม้๑๒๑๖
๕.พาลวรรคหมวดว่าด้วยคนพาล๑๕๑๖
๖.บัณฑิตวรรคหมวดว่าด้วยบัณฑิต๑๑๑๔
๗.อรหันตวรรคหมวดว่าด้วยพระอรหันต์๑๐๑๐
๘.สหัสวรรคหมวดว่าด้วยหนึ่งในพัน๑๔๑๖
๙.ปาปวรรคหมวดว่าด้วยบาป๑๒๑๓
๑๐.ทัณฑวรรคหมวดว่าด้วยการลงฑัณฑ์๑๑๑๗
๑๑.ชราวรรคหมวดว่าด้วยความชรา๑๑
๑๒.อัตตวรรคหมวดว่าด้วยคน๑๐๑๐
๑๓.โลกวรรคหมวดว่าด้วยเรื่องโลก๑๑๑๒
๑๔.พุทธวรรคหมวดว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้า๑๘
๑๕.สุขวรรคหมวดว่าด้วยความสุข๑๒
๑๖.ปิยวรรคหมวดว่าด้วยสิ่งที่เป็นที่รัก๑๒
๑๗.โกธวรรคหมวดว่าด้วยความโกรธ๑๔
๑๘.มลวรรคหมวดว่าด้วยมลทินทางใจ๑๒๒๑
๑๙.ธัมมัฏฐวรรคหมวดว่าด้วยผู้ตั้งอยู่ในธรรม๑๐๑๗
๒๐.มัคควรรคหมวดว่าด้วยมรรค๑๐๑๗
๒๑.ปกิณณกวรรคหมวดว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ด๑๖
๒๒.นิรยวรรคหมวดว่าด้วยคนทำกรรมชั่ว๑๔
๒๓.นาควรรคหมวดว่าด้วยช้าง๑๔
๒๔.ตัณหาวรรคหมวดว่าด้วยตัณหา๑๒๒๖
๒๕.ภิกขุวรรคหมวดว่าด้วยภิกษุ๓๙๒๓
๒๖.พราหมณวรรคหมวดว่าด้วยพราหมณ์๓๙๔๑
รวม

๓๐๒๔๒๓

ความเป็นมาของอรรถกถาธรรมบทนั้น หากยอมรับว่าอรรถกถาได้มีมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล อรรถกถาก็เป็นคัมภีร์ร่วมยุคเดียวกับพระไตรปิฏก แต่ถ้ายึดตามประวัติของวรรณคดีบาลีอรรถกถาก็เป็นอีกยุคหนึ่งที่สืบต่อจากยุคพระไตรปิฎก[10]

สรุปความว่าธรรมบทฉบับเดิม เป็นพุทธภาษิตล้วน ๆ อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ ระหว่างหน้า ๑๕ – ๗๑ รวม ๕๖ หน้า  แบ่งเป็น ๒๖ วรรค  ไม่มีนิทานและคำอธิบายใด ๆ แต่อรรถกถาธรรมบทของพระพุทธโฆษาจารย์มีนิทานประกอบพุทธภาษิต เรื่องเหล่านี้ท่านรวบรวมมาจากพระไตรปิฎกบ้างจากอรรถกถาอื่นๆบ้าง แล้วนำมารจนาในรูปแบบของธรรมนิทาน

ธรรมบท (ธัมมปทะ) สืบทอดมาด้วยการท่อง ดังที่ระบุว่า พระอนุรุทธเถระท่องธรรมบท พระมหาติสสเถรกล่าวธรรมบท เป็นคัมภีร์อรรถกถา คือ ธัมมปทัฏฐกถา ส่วนหนังสือที่ท่านแต่งอรรถาธิบายธรรมบท เป็นคัมภีร์อรรถกถา คือ ธัมมปทัฏฐกถา มีเนื้อหาครอบคลุมคำสอนสำคัญของพระพุทธเจ้าได้แก่ ความไม่ประมาท ความมักน้อย เรื่องทาน การรักษาศีล การรักษาอุโบสถ ความมีจิตเด็ดเดี่ยวตั้งมั่น และการครองชีพด้วยปัญญา ผู้ศึกษาธรรมบท หรือ ธัมมปทัฏฐกถา เหมือนกับได้ศึกษาคำสอนอันเป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนา[11]

คัมภีร์ธรรมบทได้รับความนิยมอย่างมากเพราะว่ามีความสมบูรณ์พร้อม ทั้งอรรถและรสอย่างน้อย ๓ ประการ คือ

  1. สาระธรรมที่สั้น เรียบง่าย ชัดเจน ลึกซึ้ง สะท้อนหลักพุทธธรรมที่แท้ ช่วยให้จดจำได้ง่าย และสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้
  2. แม้ข้อธรรมสั้น เรียบง่าย แต่ทว่าลึกซึ้งถึงแก่นพุทธธรรม ได้นำมาจัดรวมเป็นหมวดหมู่อย่างเหมาะสม ทำให้ผู้สนใจสามารถเลือกอ่านได้ตามความสนใจ
  3. วิธีการสอนธรรมที่เด่นที่สุด คือ การใช้บทอุปมาอุปไมยอย่างคมคายชัดเจน[12]

อรรถกถาฉบับที่แปลเป็นภาษาบาลีโดยพระพุทธโฆษาจารย์ ได้รวบรวมข้อมูลสำคัญ ๆ เอาไว้หลายเรื่อง คือ ข้อมูลทางด้านสังคม และศาสนาที่คัดมาจากอรรถกถาภาษาสิงหลต้นฉบับเดิม รวมทั้ง ข้อมูลใหม่ที่เขียนเพิ่มเติมขึ้น อันเป็นเรื่องราวในช่วงศตวรรษที่ ๓ ก่อนคริสต์ศักราช จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๕ นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมสมัยเดียวกับพระพุทธโฆษะ แทรกไว้อีกด้วย ดังนั้น อรรถกถาภาษาบาลีเล่มนี้ จึงเป็นหลักฐานอันทรงคุณค่าอย่างยิ่ง[13]

อรรถกถาธรรมบทนั้น  มาจากพุทธพจน์ที่เล่ากันมาเป็นมุขปาฐะ เดิมเป็นภาษามคธที่พระสังคีติกาจารย์ได้ยกขึ้นทำการสังคายนาถึง ๓ ครั้ง ต่อมาพระมหามหินทเถระผู้เป็นโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชได้นำอรรถกถาดังกล่าวจากชมพูทวีป มาเผยแผ่ที่เกาะสิงหลหรือประเทศศรีลังกา ภายหลังพระมหาเถระชาวสิงหลได้แปลอรรถกถานั้นเป็นภาษาสิงหล[14] ต่อมาพระพุทธโฆษาจารย์ได้แปลหรือแต่งอรรถกาขึ้นมาจากภาษาสิงหลที่บันทึกไว้

ปณามคาถา (คำบูชาพระรัตนตรัย, คำไหว้ครู) ทำให้เราทราบว่าธัมมปทัฏฐกถาฉบับเดิมเป็นภาษาสิงหลโบราณ พระพุทธโฆสะปราชญ์อินเดียแปลเป็นตันติภาษาหรือภาษาบาลี ตามคำเชิญของพระกุมารกัสสปะ นิคมวจนะ (คำสุดท้าย) ระบุว่าพระพุทธโฆสะเป็นผู้แปลธัมมปทัฏฐกถา ผู้เชี่ยวชาญคัมภีร์พระพุทธศาสนามองว่าพระพุทธโฆสะเป็นผู้แปลธัมมปทัฏฐกถา เรื่องนี้มี ๒ มติ มติหนึ่ง เชื่อว่าผู้แต่งธัมมปทัฏฐกถาคือพระพุทธโฆสะ มติหนึ่ง ว่า ผู้แต่งธัมมปทัฏฐกถา ไม่ใช่พระพุทธโฆษะ

มติที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อ ๒ มตินี้ คือ มติของพระปัญญานันทะ (Pannananda) และมติของ เอ็ม. วินเดอร์นิทซ์ (M. Winternitz) ปราชญ์ชาวเยอรมัน[15] ทั้งสองท่านนี้ อยู่ฝั่งปราชญ์ตะวันออกมีมติว่า ผู้แต่งธัมมปทัฏฐกถาคือพระพุทธโฆสะ แต่ปราชญ์ตะวันตกแย้งมตินี้ ส่วน บีซี ลอว์ (B.C. Law) ปราชญ์อินเดียลงมติว่า พระพุทธโฆสะเป็นผู้แต่งอรรถกถาธรรมบท[16] ชาวพุทธยอมรับมติดังกล่าว เพราะปราชญ์เหล่านี้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และยอมรับกันในหมู่นักศึกษาชาวพุทธ[17]

พระมหาทรรศน์ คุณทสฺสี (โพนดวงกรณ์) ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ผู้แต่งอรรถกถาธรรมบทไว้ว่า

“พระพุทธโฆษาจารย์เพียงดำเนินการแปลอรรถกถาที่มีอยู่ ท่านมิได้รจนานิทานแต่ละเรื่องนั้นล้วนเป็นอุปปัตติเหตุ คือ เหตุเกิดพระสูตรทั้งนั้น อรรถกถานั้นท่านจำสืบต่อกันมา (ปรมฺปราภตา) จนถึงสังคายนาครั้งที่ ๓ แล้วพระมหินทเถระนำมาเผยแพร่ที่ศรีลังกา ต่อมาพระสงฆ์ลังกาแปลเป็นภาษาสิงหล”[18]

รังษี สุทนต์ กล่าวว่า อรรถกถาทั้งหมดที่อธิบายพระไตรปิฎก มีมาแต่สมัยพุทธกาลแล้วมาเพิ่มเติมอีกบางส่วน อรรถกถาที่พระสังคีติกาจารย์ร้อยกรองไว้ เมื่อคราวปฐมสังคายนา คือ อรรถกถาที่มีมาแต่สมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระชนม์อยู่[19] หมายความว่า การอธิบายพระไตรปิฎกมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล สมัยที่พระสาวกจำสืบต่อพระธรรมวินัยด้วยวิธีมุขปาฐะคือทรงจำด้วยใจ สั่งสอนสืบต่อบอกกันด้วยปากเปล่านั้น พระสาวกผู้จำพระไตรปิฎกจะต้องจำอรรถกถาให้ได้ด้วย[20] ข้อความนี้ชี้ให้เห็นว่า สมัยทรงจำแบบมุขปาฐะพระไตรปิฎกกับอรรถกถาอยู่รวมกัน คือทรงจำอยู่ในบุคคลเดียวกันมาแยกจากกันสมัยเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร พระไตรปิฎกเขียนแยกไว้ส่วนหนึ่ง อรรถกถาเขียนแยกไว้ส่วนหนึ่ง พอเมื่อคราวที่พระพุทธโฆษาจารย์มาแปลอรรถกถาป็นภาษามคธ ก็เลยตีตราให้ท่านว่าเป็นผู้รจนาอรรถกถา[21]

กรณีความเห็นของนักวิชาการต่อผู้รจนาอรรถกถาธรรมบทนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า ต้นเค้าของอรรถกถาธรรมบทมาจากพุทธพจน์ที่เป็นมุขปาฐะที่เล่าและจำต่อ ๆ กันมา แล้วนำมาทำสังคายนาโดยพระสังคีติกาจารย์ หลังจากที่พระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว จึงเชื่อได้ว่าหลักธรรมในอรรถกถานั้นมาจากพุทธพจน์ของพระพุทธองค์จริง ภายหลังได้นำอรรถกถานั้นมาบันทึกไว้เป็นภาษาสิงหล แล้วนำมาแปลหรือรจนาโดยพระพุทธโฆษาจารย์ การผ่านขั้นตอนนี้เองทำให้เกิดข้อโต้แย้งว่า พระพุทธโฆษาจารย์เป็นเพียงผู้แปล หรือ นำอรรถกถานั้นมาแต่งเติมขึ้นใหม่จากเค้าเดิม ซึ่งทั้งสองมติต่างก็มีหลักฐานสนับสนุนมุมมองของตน จึงยากที่บ่งชี้ได้ว่ามติใดเป็นมติที่ถูกต้อง กรณีนี้ผู้เขียนมองว่าสิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่าการที่พระพุทธโฆษาจารย์จะเป็นผู้รจนาอรรถกถาธรรมบทหรือไม่ ก็คือ อรรถกถาธรรมบทมีที่มาจากพุทธพจน์ เป็นหลักธรรมอันประเสริฐของพระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นพระบรมศาสดาของพระพุทธศาสนา

จุดเด่นของนิทานธรรมบทนั้น คือ การสอนธรรมอันว่าด้วยเรื่องของพุทธจริยศาสตร์ คือการสอนให้ทำความดีด้วยธรรมนิทาน


[1] วศิน อินทสระ, ธรรมบท ทางแห่งความดี,พิมพ์ครั้งที่ ๘, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เม็ดทราย, ๒๕๕๕), หน้าคำนำในการพิมพ์ครั้งที่ ๑.

[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า คำนำในการพิมพ์ครั้งที่ ๓.

[3] อง.จตุกฺก.อ.(ไทย) ๒๕/๔๘/๒๗๕.

[4] พระมหาทวี มหาปญฺโญ, “การศึกษาวิเคราะห์พุทธวิธีการสอนในธัมมปทัฏฐกถา”,วิทยานิพนธ์ ศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหามกฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕),หน้า ๑๖.

[5] พระมหาทรรศน์ คฺณทสฺสี (โพนดวงแก้ว), “การศึกษาเปรียบเทียบพุทธวิธีการสอนในอรรถกถาธรรมบทกับกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ”, วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตร์มหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖), หน้า ๑๒-๑๕.

[6] Anomadashi  Barua อ้างใน สมิทธิพล  เนตรนิมิตร, อัญมณีล้ำค่าในอรรถกถาธรรมบท, (กรุงเทพมหานคร : โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮาส์ จำกัด, ๒๕๕๕), หน้า ๖.

[7] เรื่องเดียวกัน,หน้า ๖.

[8] รังษี  สุทนต์ อ้างใน พระมหาทรรศน์ คฺณทสฺสี (โพนดวงแก้ว) ,“การศึกษาเปรียบเทียบพุทธวิธีการสอนในอรรถกถาธรรมบทกับกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ”,วิทยานิพนธ์พุทธศาสตร์มหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖), หน้า ๒๒.

[9] สุภาพรรณ ณ บางช้าง, ประวัติวรรณคดีบาลีในอินเดียและลังกา,หน้า ๒๗๑.

[10] กรมการศาสนา, ประวัติพระพุทธศาสนาแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ภาค ๑,(กรุงเทพมหานคร: กรมศาสนา,๒๕๒๕), หน้า ๒๖๕-๒๖๗.

[11] สมิทธิพล  เนตรนิมิตร,อัญมณีล้ำค่าในอรรถกถาธรรมบท, หน้า ๖๗.

[12] สุภาพรรณ ณ บางช้าง, ประวัติวรรณคดีบาลีในอินเดียและลังกา,หน้า ๘๐–๘๒.

[13] ปิยนาถ (นิโครธา) บุนนาค, ประวัติศาสตร์และอารยธรรมของศรีลังกา, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๔) หน้า ๖๔-๖๕.

[14] พระสารีบุตรเถระ ชาวลังกา, พระคัมภีร์สารัตถทีปนี (แปล) ภาค ๑,แปลโดย นายสิริ เพ็ชรชัย ป.ธ. ๙., (กรุงเทพมหานคร : หจก. ทิพยวิสุทธิ์, ๒๕๔๒), หน้า ๓๒-๓๓.

[15] สมิทธิพล  เนตรนิมิตร,อัญมณีล้ำค่าในอรรถกถาธรรมบท, หน้า ๖๗.

[16] B.C. Law, The life and work of Buddhaghaghosa 2nd, (Delhi : Pilgrims Book, 1999), p. 78.

[17] สมิทธิพล เนตรนิมิตร, อัญมณีล้ำค่าในอรรถกถาธรรมบท, หน้า ๖๘.

[18] พระมหาทรรศน์ คฺณทสฺสี (โพนดวงแก้ว), “การศึกษาเปรียบเทียบพุทธวิธีการสอนในอรรถกถาธรรมบทกับกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ”,วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตร์มหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖),หน้า ๒๐.

[19] รังษี  สุทนต์, “คัมภีร์เรียนภาษาบาลีและผู้รจนา”,อบรมบาลีก่อนสอบ ภาค ๒ : สำนักงานเจ้าคณะภาค ๒, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๔๔), หน้า ๘๓.

[20] พระมหาทรรศน์ คฺณทสฺสี (โพนดวงแก้ว), “การศึกษาเปรียบเทียบพุทธวิธีการสอนในอรรถกถาธรรมบทกับกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ”,วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตร์มหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖),หน้า ๒๐–๒๑.

[21] รังษี สุทนต์, “คัมภีร์เรียนภาษาบาลีและผู้รจนา”,อบรมบาลีก่อนสอบ ภาค ๒ : สำนักงานเจ้าคณะภาค ๒, หน้า ๘๓.

แสดงความคิดเห็น
ดร. ณิชชา จุนทะเกาศลย์
รักธรรมชาติและการท่องเที่ยว สนใจเรียนรู้ ศาสนา วัฒนธรรม เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน เผยแพร่ธรรม ตามแนวทางแห่งพระพุทธองค์

แสดงความเห็น