ความรู้ทั่วไป

ประเทศจีนกับพระพุทธศาสนา

พระใหญ่ในเมืองไท่หยวน ประเทศจีน

พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. ๖๑๐ ประมาณ พ.ศ. ๖๙๓ พระภิกษุอันสิเกา แห่งประเทศปาร์เธีย (ดินแดนประเทศอิหร่านปัจจุบัน) และพระภิกษุโลการักษ์แห่งประเทศแบกเตรีย (บางแห่งเรียกบักเตรีย คือประเทศอาฟกานิสถาน) เข้าสู่ประเทศจีนและได้แปลคัมภีร์พระสูตรเป็นภาษาจีน

ระหว่าง พ.ศ. ๘๕๐ – ๑๑๕๐ พระพุทธศาสนาในประเทศจีนกำลังเจริญรุ่งเรืองจนถึง พ.ศ. ๑๔๕๐ ในสมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง เป็นอันถึงที่สุด พระธรรมได้แพร่หลายในประเทศจีน และราชวงศ์ฮั่น มีการส่งคณะฑูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศไต้เซียะ (คงเป็นประเทศธิเบต) และคณะฑูตได้มีโอกาสรู้ว่า ถัดประเทศนี้ไปยังประเทศใหญ่ ๆ อีกประเทศหนึ่งคืออินเดีย ในบัดนี้ ซึ่งในสมัยนั้นจีนเรียกว่า ชิงตูหรือเทียนโจว พ.ศ. ๕๔๑ เป็นปีแรกในรัชสมัยของพระเจ้าอ้ายตี้แห่งราชวงศ์ฮั่น ปราชญ์จีนผู้หนึ่งชื่อ จิ้น จิงเสียน ได้สดับรสพระธรรมจากคำบรรยายด้วยวาจา ซึ่งได้บันทึกไว้ต่อไปอีกจนเป็นพระสูตร ๆ หนึ่ง พ.ศ. ๖๐๗ พระเจ้าเม่งตี้แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ได้ส่งคณะฑูตไปยังประเทศอินเดียเพื่อเสาะแสวงหาพระไตรปิฏกเมื่อคณะฑูตเดินทางไปถึงก็ได้พบพระภิกษุ ๒ รูปมีฉายาว่า โกภารณะกับมานทังคะ ซึ่งกำลังจะนำคัมภีร์ไปเผยแพร่ยังประเทศจีนอยู่แล้ว คณะฑูตจึงกลับประเทศจีนพร้อมภิกษุ ๒ รูปนั้น กลับถึงเมืองโล่หยางเมื่อ พ.ศ. ๖๑๐ พร้อมกับนำพระคัมภีร์ ๔๒ ยกและพระรูปของพระพุทธเจ้าบรรทุกบนหลังม้าขาว และได้สร้างวัดขึ้นที่ชานเมืองโล่หยางวัดหนึ่งชื่อวัดม้าขาว เพื่อเป็นที่ระลึก เมื่อตั้งหลักสงฆ์ที่วัดม้าขาวแล้ว พระเถระทั้งสององค์ก็ได้เริ่มแปลพระคัมภีร์ แปลได้ ๖ ยก พระมาจากประเทศใกล้เคียงช่วยแปลอีกครั้นถึงรัชสมัยราชวงศ์เว่ และราชวงศ์จิ้น มีคฤหัสถ์และบรรพชิตเดินทางไปประเทศตะวันตกมากขึ้น เพื่อศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนา

ประมาณ พ.ศ. ๑๐๖๑ ในประเทศจีนมีวัดถึง ๓๐๑๐๐๐ วัด พระพุทธองค์ใหญ่ที่สร้างด้วยหินและโลหะมีอยู่ทั่วไปในวัดต่าง ๆ พ.ศ. ๑๑๔๙ พระมหากษัตริย์และรัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฏีกาตั้งสำนัก “การแปลวรรณคดีพระพุทธศาสนา” ขึ้นที่เมืองโล่หยาง และมีตั้งผู้แปลประจำสำนักในตำแหน่ง “บัณฑิต”

พ.ศ. ๑๑๖๐ สมัยราชวงศ์ถัง การแปลวรรคดีกับพระพุทธศาสนาก็ได้เจริญก้าวหน้ามาก พระสงฆ์และอุบาสกของจีน และประเทศตะวันตกคืออินเดียได้ไปมาหาสู่กันเสมอ ได้แปลคัมภีร์ทั้งมหายานและหีนยานไว้อย่างสมบูรณ์มีวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นประมาณ ๔๐๐ เรื่อง มีวัดถึง ๔๐๐๐๐ วัด มีพระและนางชีประมาณ ๒ แสนเศษ พระพุทธศาสนาตั้งมั่นในประเทศจีน และเจริญรุ่งเรือง

พ.ศ. ๒๔๕๑ ประเทศจีนได้เปลี่ยนจากระบอบราชาธิปไตยเป็นระบอบสาธารณรัฐ พุทธศาสนาในจีนก็ได้หยุดชะงักลงบ้าง แต่ถึงสมัยดังกล่าวจีนมีวัดถึงแปดหมื่นวัด มีบรรพชิตประมาณสี่ล้านรูป

พ.ศ. ๒๔๙๒ กองทัพจีนคอมมิวนิสต์ ได้ครอบครองประเทศจีน การเปลี่ยนแปลงทางพระพุทธศาสนาย่อมต้องเกิดขึ้นอย่างไม่มีปัญหา

นิกายมหายานในจีน

เรื่องของนิกายพระพุทธศาสนาในประเทศจีน ญี่ปุ่น มีส่วนเกี่ยวพันกันมากคือส่วนมากถ่ายเทกันไป – มา แต่เมื่อแยกจากกันไปแล้วก็มีแตกต่างกันบ้างในส่วนปลีกย่อยเท่านั้น นิกายแตกต่างกันจริง ๆ มีอยู่ไม่กี่นิกาย ฉะนั้นนิกายที่เหมือนกันจึงนำมาพูดรวมกันไป พระพุทธศาสนามหายานในจีนและญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญมาก เพราะเป็นประเทศใหญ่ มีพลเมืองมากที่สำคัญคือประเทศทั้งสองนี้ มีส่วนสัมพันธ์กันมาแต่โบราณกาลปัจจุบัน ที่นำมากล่าวนี้พอเป็นตัวอย่างเท่านั้น สมัยราชวงศ์ถังเริ่มตั้ง พ.ศ. ๑๒๖๒ มีนิกายพระพุทธศาสนาใหม่เกิดขึ้นหลายนิกายเช่น นิกายธรรมลักษณ์ (ฮสโซซิว) นิกายมนตรยาน (ชิน งน ชิว) นิกายสุขาวดี (โจ โดะ ชิว) นิกายธรรมลักษณ์พระเฮี้ยวจัง (เง็นโจ) คือพระถังซัมจัง (หมายถึง พระติปิฏกธราจารย์ แห่งราชวงศ์ถังได้เดินทางจากจีนเมื่อ พ.ศ. ๑๑๗๒ กลับถึงจีน พ.ศ. ๑๑๘๗ เป็นเวลา ๑๖ ปี ได้คัมภีร์ต่าง ๆ รวมทั้งพระสูตรฝ่ายมหายาน ๖๕๗ ฉบับ)

ระหว่างอยู่ในอินเดีย ได้ศึกษาคำสอนของท่านอสังคะและของท่านวสุพันธ์ (เซซินหรือบางทีเรียกท่านว่า เท็นจิน) จากพระอาจารย์ชื่อศิลภัทร (ไคเค็นรนชิ) ที่วิทยาลัยนาลันทาเมีอกลับประเทศจีน ได้อำนวยการแปลคัมภีร์พระสูตร อรรถกถาต่าง ๆ สู่ภาษาจีนในพระบรมอุปถัมภ์ของพระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้ (โทโซ) อรรถกถาต่าง ๆ ของคัมภีร์ชื่อวิชญาณปติมาตราตรีทศศาสตร์เป็นคัมภีร์ของท่าน วสุพันธ์ พระเฮี้ยงจัง เป็นปฐมจารย์แห่งนิกายนี้

นิกาย อวตํสก (เดวงชิว) พื้นฐานมาจาก อวตํสกสูตร

นิกายมนตรยาน (ชินงวชิว) ในรัชสมัยของพระเจ้าถังเหี้ยงจงฮ่องเต้มีภิกษุชาวอินเดียชื่อศุกรสิงห์ (เชินมุย) ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฏกมายังกรุงเชียงอัง พ.ศ. ๑๒๕๙ ได้นำคัมภีร์มหาไวโรจนสูตร (ไดนิชิเคียว) พ.ศ. ๑๒๖๓ พระภิกษุอินเดียชื่อวัชรโพธิ (คนไงชิ) กับศิษย์ของท่านชื่อพระอโมฆวัชร (ฟุชุ) ก็ไปเมืองเชียงอัง

นิกายเซ็น (เซ็นทิว) ผู้ให้กำเนิดคือพระภิกษุอินเดียชื่อ พระโพธิธรรม (คารุมะ) เดินทางไปประเทศจีนเมื่อค.ศ. ๕๒๐ ในรัชสมัยพระเจ้าเหลียงบู๊เต้ แห่งราชวงศ์เหลียงในสมัยท่านฮุ้ยเล้งนิกายเซ็นรุ่งเรือง นิกายเซ็นแยกเป็นหลายสำนักมีคณาจารย์หลายท่านที่สำคัญมาจนบัดนี้ทั้งในจีนและญี่ปุ่น คือ

  1. นิกายสาขาฮิ่วนิ่มชี้ (ริมไซ)
  2. นิกายสาขาเช่าตั่ง (โซโท)

นิกายเซ็นมีหลักคำสอนว่า สัจภาวของจิตนั้นจะเข้าถึงและรู้แจ้งได้โดยฝึกจิตและจิตภาวนา เพราะถือสัจภาวะอยู่เหนือการพูดการคิด ฉะนั้นการค้นสัจธรรมจะไม่พบในคัมภีร์ต้องบำเพ็ญทางจิตถึงจะพบได้ต้องอาศัยตัวของตัวเอง

นิกายไตรศาสตร์ (ซันรนชิว) นิกายนี้เข้าสู่ประเทศจีน เมื่อประมาณ พ.ศ. ๙๔๓ โดยท่านกุมารชีวะ (ขุมาราจุ)คำว่าไตรศาสตร์หมายถึงคัมภีร์ต่อไปนี้

  1. มาธยมิคศาสตร์ (ชูรน) เขียนโดยท่านนาคารชุน ผู้สอนทฤษฏีสุญญตา (คู)
  2. ศตศาสตร์ (เฮียชิรน) เขียนโดยท่านอารยะเทวะ (ไดบา) วิจารณ์ปรัชญาพราหมณ์ และแสดงความเด่นของพระพุทธศาสนา
  3. ทวาทศนิกายศาสตร์ของท่านนาคารชุนว่าด้วยปรัชญาสุญญตวาทเบื้องต้น

คัมภีร์ทั้งสามนี้ท่านกุมารชีวะ (ขุมาราจุ) แปลเป็นภาษาจีนหลักคำสอนนิกายนี้คือ สรรพสิ่งอยู่ไม่ได้ด้วยตัวมันเองแต่ด้วยปัจจัยปรุงแต่ง จัดเป็นนิกายสายกลาง คือเมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนั้นก็มีเมื่อสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนั้นก็ไม่มี ว่ากันว่าดำเนินตามหลักปฏิจจสุมปบาท (จุนิอินเน็น) นอกจากนี้ก็มีนิกายย่อยอีก คือ

นิกายอภิธรรมโกศ (คุชะชิว) นิกายนี้อาศัยคัมภีร์อภิธรรมโกศศาสตร์ (คุขะรน) ของท่านวสุพันธ์ ซึ่งศึกษาแพร่หลายในประเทศอินเดีย พระอินเดียชื่อปรมังถะในรัชสมัยของพระเจ้าเหลียงบู๊เต้

นิกายวินัย (ริดทสึชิว) นิกายนี้แพร่หลายโคยคณาจารย์ ชื่อเต้าซอง (โคเซ็น) มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๑๑๓๘ -๑๒๑๐ มีความรู้แตกฉานได้ยึดวินัยปฏิบัติแห่งนิกายธรรมคุปต์ของประเทศอินเดีย หลักสำคัญนิกายนี้คือ ศีลเป็นสำคัญว่าถ้า ศีล (ได) ไม่บริสุทธิ์ (โจ) และปัญญา (เอะ) ก็ยากจะเกิดขึ้น นิกายเซ็นในประเทศจีนเรียกนิกายฌาน ชาวพุทธในประเทศญี่ปุ่นรู้จักกันมานานเรียก นิกายเซ็น

พ.ศ. ๑๗๑๑ พระภิกษุญี่ปุ่น ชื่อ เออิไซเดินทางไปประเทศจีน เมื่อกลับประเทศญี่ปุ่นแล้วได้ตั้งนิกายเซ็นสาขารินไซขึ้น ค.ศ. ๒๑๖๖ ภิกษุญี่ปุ่นอีกรูปหนึ่งชื่อ โคเง็น เดินทางไปประเทศจีนเมื่อกลับญี่ปุ่นได้ตั้งนิกายเซ็น สาขาไซโทขึ้น คำสอนของนิกายเซ็นคือ ไม่อาศัยถ้อยคำและอักษร คำสอนอันถูกต้องแท้จริงนั้นคือ จากจิตใจสู่จิตใจ โพธิญาณจึงบรรลุได้ด้วยการปฏิบัติฌานดังนิกายเซ็นกล่าวไว้ว่า “ การบรรลุโพธิญาณ เกิดจากการมองดูเข้าในสภาพแห่งจิตใจของตนเอง” (จากพระพุทธศาสนามหายานของเสฐียรพันธรังษี)

มหายานกับวิญญาณ

ปัญหาโลกแตก ปัญหาหนึ่งคือเรื่องวิญญาณ ในที่นี้จะไม่พูดถึงปัญหาว่าวิญญาณคืออะไร มาจากไหน ไปอยู่ไหนอย่างไร ขอพูดถึงเรื่องวิญญาณของมหายาน ฝ่ายจีนที่เราเห็นกันอยู่ในบ้านเรา คือพระจีนสวดมนต์ส่งวิญญาณของคนตายแล้ว ทางฝ่ายเรานิมนต์พระมาแล้ว พระสวดมนต์ถวายทาน อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย มหายานฝ่ายจีนทำพิธีส่งดวงวิญญาณปรากฏในตำนานฝ่ายจีนว่า ในครั้งพุทธกาล ลูกชายเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองสาวัตถี ได้ฆ่าแม่ตาย เพราะความโกรธ เมื่อหายโกรธ กลัวต่อความชั่วที่ตนทำ จึงได้ออกบวชเพื่อล้างกรรมชั่ว ขณะที่อยู่ในเพศสงฆ์ขยันสวดมนต์ทำวัตรเจริญภาวนา ขอสารภาพผิดต่อดวงวิญญาณของโยมแม่ ครั้นมรณภาพไปแล้วเกิดในนรก ต่อมาศิษย์ของพระรูปนั้นบำเพ็ญเพียรได้ฌาน ทราบว่าอาจารย์ของตนกำลังได้รับทุกข์ในทุคติ เกิดความสลดใจจึงได้ประกอบพิธีที่เรียกว่า “กงเต๊ก” (กง คือสิ่งที่เป็นประโยชน์ เต๊ก คือบุญกุศล รวมความแล้วก็คือ พิธีทำบุญให้แก่คนตายหรือดวงวิญญาณ) เชิญดวงวิญญาณของอาจารย์มาขอรับผิดต่อพระรัตนตรัยถวายทานแด่พระสงฆ์ และทำทานแก่คนเข็ญใจ แล้วแผ่ส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณของอาจารย์

อีกเรื่องหนึ่งที่เล่ากันสืบมาว่าพระเจ้าเหลียงบูเต้ กษัตริย์ผู้ครองแผ่นดินจีนประมาณ พ.ศ. ๑๔๕๐ ทรงมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า แต่พระมเหสีเป็นมิจฉาทิฏฐิไม่พอพระทัยพระสวามีที่หนักแน่นในศาสนาเช่นนั้น วันหนึ่งพระนางได้ขโมยคัมภีร์พระพุทธไปเผา ด้วยบาปอันนี้พระนางได้เกิดเป็นงู ได้เสวยทุกข์หนัก งูตัวนี้ปรากฏแก่พระพักตร์ของพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าพระมเหสีมาเกิดเป็นสัตว์ เพราะกรรมชั่วที่ทำมา จึงนิมนต์พระสงฆ์ผู้ทรงศีลมาทำพิธีกงเต๊ก ช่วยดวงวิญญาณของพระมเหสีให้พ้นทุกข์

การประกอบพิธีกรรม

เริ่มต้นจัดโรงพิธีตามแต่สถานที่และฐานะจะอำนวยให้สมมติให้เป็นพุทธมณฑล มีโต๊ะประดิษฐ์พระพุทธรูป เช่น รูปพระไภสัชคุรุ รูปพระอมิตาภะ รูปพระโพธิสัตว์ เช่น รูปพระอวโลกิเตศวร รูปพระกษิติครรภ์ เป็นต้น พร้อมทั้งจัดตั้งเครื่องสักการบูชา มีพระภิกษุจีนอย่างน้อย ๓ รูปประกอบพิธี เมื่อพระสงฆ์เริ่มสวดมนต์เจริญพระพุทธมนต์ ประพรมน้ำพุทธมนต์ ชุมนุมเทวดา อาราธนา (ด้วยการสวดมนต์) เชิญเสด็จพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ กับเทพเจ้าทั่วทุกทิศมาร่วมพิธี และรับการเคารพบูชา เมื่อสวดจบแล้วก็ทำพิธีเชิญวิญญาณของผู้ตายมายังโรงพิธี (ด้วยการสวดมนต์เช่นเดียวกัน เป็นแต่ว่าสวดเป็นสองตอน) เมื่อประกอบพิธีต่าง ๆ เสร็จแล้วก็สวดมนต์ ขอให้พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ตลอดจนเทวดาต่าง ๆ ที่เชิญมาให้กลับหลังจากนั้นก็เชิญดวงวิญญาณให้กลับ ตอนสุดท้ายของพิธีก็คือสวดมนต์ อุทิศส่วนกุศลให้ (ทางฝ่ายไทยคือการอนุโมทนา เจ้าภาพตรวจน้ำ) ดวงวิญญาณ (ผู้ตาย) อวยพรให้เจ้าภาพพร้อมด้วยญาติมิตรเจริญพร คือ อายุ วรรณะ สุข พละ นั่นเอง

พิธีต่าง ๆ

จะไม่พูดถึงรายละเอียดของพิธีที่ประกอบในแต่ละนิกายขอพูดเพียงสังเขปพอเป็นตัวอย่างประกอบความรู้เท่านั้น

  1. ข้ามสะพาน สวดมนต์ และพาดวงวิญญาณมอบเงินให้ชุนหลังเพื่อชำระหนี้ที่มีในโลกนี้และยมโลก ให้สิ้นสุดเพื่อความบริสุทธิ์แห่งดวงวิญญาณ และให้สติแก่คนเป็นการพาดวงวิญญาณข้ามสะพานที่เรียกว่า สะพานโอฆสงสาร โดยการโปรยทานและการสละทรัพย์สินในโลก ให้ข้ามแม่น้ำไปได้
  2. เปิดประตูนรก นำรูปกระดาษตามที่ประสงค์ซึ่งร้านจำหน่ายทำไว้ขายเป็นเมืองนรก พระสวดมนต์ไป และองค์เป็นหัวหน้าประกอบพิธี

นอกจากที่กล่าวก็มีพิธีลอยกระทง พิธีทิ้งกระจาด ฯลฯ ซึ่งแต่ละพิธีมีเครื่องประกอบหลักในโรงพิธีดังกล่าวมา ยังมีเครื่องประกอบอื่น ๆ อีกมาก เช่น ธงต่าง ๆ เป็นต้น ต้องใช้ในพิธีนั้น ๆ โดยทั่วไปก็จะใช้กระดาษทำแล้วเผา พระที่มาทำพิธีก็มีการเคาะ มีเครื่องดนตรีบางอย่างประกอบ ญาติของผู้ตายร่วมในพิธี มีการถวายอาหารพระสงฆ์ที่ทำพิธี ฯลฯ

แสดงความคิดเห็น
เว็บไซต์พุทธะ
คำว่า “พุทธะ” นอกจากจะหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึง การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

แสดงความเห็น