ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่าในปัจจุบันข่าวคราวของพระปลอม หรือผู้ที่อาศัย “ผ้าเหลือง” กระทำเรื่องอันมิใช่กิจของสงฆ์ที่พึงกระทำนั้นมีอยู่มากมาย บางเรื่องก็รุนแรงต่อความรู้สึกของผู้คนในสังคมซึ่งเป็นชาวพุทธ จนอาจทำให้เกิดความลังเลใจ ไม่สบายใจ คิดสงสัยเมื่อจะทำบุญทำทานต่อพระภิกษุ แม้แต่ “การตักบาตร” หรือที่ในปัจจุบันนิยมเรียกว่า “ใส่บาตร” ธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงาม ซึ่งพุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล แต่เมื่อมาถึงยุคสมัยนี้ กลับมีหลายคนที่ต้องหันมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า…นี่เรากำลังใส่บาตรกับพระภิกษุที่แท้จริงอยู่หรือเปล่า?
การออกบิณฑบาตของภิกษุสงฆ์จัดอยู่ใน “นิสสัย ๔” หรือกิจที่สงฆ์พึงทำตลอดชีวิตซึ่งพระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้อันได้แก่ การออกบิณฑบาตเลี้ยงชีพ อยู่ตามโคนไม้ นุ่งผ้าบังสุกุล และฉันยาดองน้ำมูตรเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และเหตุที่พระภิกษุต้องออกบิณฑบาตทุกวัน เนื่องจากตามกฎของภิกษุสงฆ์นั้นระบุไว้ว่า “พระภิกษุไม่สามารถที่จะเก็บอาหารข้ามคืนได้” ซึ่งโดยส่วนใหญ่พระภิกษุจะออกบิณฑบาตตั้งแต่ช่วงเช้ามืด จนถึงก่อน ๗ นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาที่พระภิกษุฉันอาหารมื้อเช้า ในขณะที่ออกบิณฑบาต พระภิกษุจะต้องเดินในกิริยาสำรวม ใช้มือทั้งสองประคองบาตรเอาไว้ ไม่ร้องขออาหารจากผู้คน หรือแสดงกิริยาในการขอ หรือยืนรอการใส่บาตร ณ ที่ใดที่หนึ่งนอกจากได้รับนิมนต์ให้รอ ไม่สามารถที่จะเลือกได้ว่าจะรับหรือไม่รับนิมนต์ และต้องรับของที่มีผู้นำมาใส่บาตรเพื่อทำทานทั้งหมด ไม่เลือกรับของหรือร้องขอสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามความต้องการ
อย่างไรก็ตาม การออกบิณฑบาตของภิกษุสงฆ์เป็นกิจเพื่อส่งเสริมความมีวิริยะ อุตสาหะ ความพากเพียร อันเป็นเครื่องช่วยปราบกิเลสตัณหาชำระความโลภ โกรธ หลง ภายในจิตใจ และตระหนักถึงแก่นสำคัญของการบวชในพระพุทธศาสนา ในขณะเดียวกัน ความหมายสำคัญที่ซ่อนอยู่ในการใส่บาตรคือเพื่อเป็นการขัดเกลาจิตใจให้พุทธศานิกชนรู้จักการให้ รู้จักการเสียสละ ละ วาง เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้อื่น ซึ่งหากเข้าใจความหมายที่แท้จริงของการใส่บาตรและการออกบิณฑบาตของพระสงฆ์แล้ว ก็จะช่วยให้พุทธศาสนิกชนสามารถนำไปใช้เป็นข้อพิจารณาในการใส่บาตรได้เป็นอย่างดี
“พัตนริณ”
ขอบคุณข้อมูลจาก th.wikipedia.org และ kammatthana.com