คำว่า กฐิน หรือ กฐินะ นี้ เป็นภาษาบาลี จัดเป็นสังฆกรรมชนิดหนึ่ง โดยมีชื่อมาจากไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับขึงผ้าเป็นสี่เหลี่ยม เพื่อขึงผ้าให้ตึง สำหรับเย็บทำเป็นจีวร ซึ่งสมัยโบราณที่เครื่องเย็บปักถักร้อยยังไม่มีเครื่องจักรเช่นปัจจุบัน จึงเรียกไม้ชนิดนี้ว่า “ไม้สะดึง” ที่ลาดหรือกางออกไปเพื่อขึงเย็บจีวร การกรานกฐินเป็นคำมาจากกิริยาที่ลาดหรือกางไม้สะดึงนั้น และคำว่า “กฐิน” มีความหมายที่เกี่ยวข้องกันอยู่หลายความหมายดังนี้ กฐินที่เป็นชื่อของกรอบไม้ กรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่าไม้สะดึงก็ได้ เนื่องจากในครั้งพุทธกาลการทำจีวรให้มีรูปลักษณะตามที่กำหนดกระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่ง หรือผ้าห่ม หรือผ้าห่มซ้อนที่เรียกว่า ไตรจีวร เป็นส่วนรวม ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ในภาษาไทยนิยมเรียก ผ้านุ่ง ว่า สบง ผ้าห่ม ว่า จีวร และ ผ้าห่มซ้อน ว่า สังฆาฏิ การทำผ้าโดยอาศัยแม่แบบเช่นนี้ คือทาบผ้าลงไปกับแม่แบบแล้วตัดเย็บย้อมทำให้เสร็จในวันนั้น ด้วยความสามัคคีของสงฆ์ เป็นการร่วมใจกันทำกิจ ที่เกิดขึ้นและเมื่อทำเสร็จ หรือพ้นกำหนดกาลแล้ว แม่แบบหรือกฐินนั้นก็รื้อเก็บไว้ใช้ในการทำผ้าเช่นนั้นในปีต่อๆ ไป การรื้อแบบไม้นี้เรียกว่า เดาะ ฉะนั้น คำว่า กฐินเดาะ หรือ เดาะกฐิน จึงหมายถึงการรื้อไม้แม่แบบเพื่อเก็บไว้ใช้ในโอกาสหน้า
มูลเหตุแห่งการกรานกฐิน
กล่าวในสมัยพุทธกาลในคัมภีร์พระวินัยปิฏกกฐินขันธกะว่า มีพระภิกษุจากเมืองปาฐารัฐ หรือ ปาไถยรัฐ จำนวน ๓๐ รูปซึ่งถือธุดงควัตรอย่างยิ่งยวด มีความประสงคจะเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นได้พักอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล จึงพากันเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองนั้นพอถึงเมืองสาเกตก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี เดินทางต่อไปมิได้ต้องอยู่จำพรรษาที่เมืองสาเกตตามพระวินัยบัญญัติ ขณะที่จำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกตเกิดความร้อนรนอยากเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง ดังนั้นพอออกพรรษาปวารณาแล้วก็รีบเดินทางต่อ การเดินทางในสมัยพุทธกาลในเขตประเทศอินเดียของพระภิกษุทั้ง ๓๐ รูป ท่านเดินทางด้วยเท้าไม่มีพาหนะอื่นใด จึงเดินทางได้ช้าซึ่งเมืองสาเกตอยู่ห่างจากกรุงสาวัตถีเป็นระยะทางประมาณ ๖ โยชน์ (๑ โยชน์ = ๑๖ ก.ม.) หรือประมาณ ๙๖ กิโลเมตร แต่ระยะนั้นมีฝนตกมากหนทางที่เดินชุ่มไปด้วยน้ำ เป็นโคลนเป็นตม ต้องบุกต้องลุยกรำฝนทนแดดไปตลอดทาง ทำให้สบง จีวร ของพระภิกษุเหล่านั้นต่างก็เปียกชุ่มโชกไปด้วยน้ำฝนไปตาม ๆ กันบางท่านก็จีวรขาดทะลุและเปรอะเปื้อนไปด้วยโคลนตม จนกระทั่งถึงกรุงสาวัตถีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าสมความประสงค์
เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นความลำบากตรากตรำของพระภิกษุเหล่านั้น ต่อมาจึงเรียกประชุมสงฆ์และยกเรื่องราวของพระภิกษุทั้ง ๓๐ รูปนั้นเป็นเหตุ แล้วจึงทรงมีพระบรมพุทธานุญาตตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาว่าให้พระภิกษุที่จำพรรษาครบไตรมาส (๓ เดือน) ให้รับผ้ากฐินเสียก่อน ทั้งนี้เพราะว่าแม้ออกพรรษาแล้วก็ตามฝนก็ยังไม่หมดเสียทีเดียว ถ้าไม่มีความจำเป็นมากก็ให้อยู่รับผ้ากฐินเสียก่อนแล้วจึงเดินทางไปยังที่อื่น แล้วทรงกำหนดเวลาอันเป็นเขตของกฐินไว้ว่าตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ สามารถรับผ้ากฐินได้ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำกลางเดือน ๑๒ หรือประมาณไม่เกิน ๑ เดือน หลังจากออกพรรษา
โดยความเป็นจริงแล้วเรื่องผ้ากฐินนั้นเป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์อย่างเดียวในการทำผ้า เมื่อพระภิกษุไปได้ผ้ามาจากที่ต่าง ๆ แล้วนำมารวมกันเย็บให้เป็นผืนเดียวแล้วตกลงกันว่าจะมอบจีวรชุดนี้ให้แก่พระภิกษุรูปใด (ซึ่งในสมัยพุทธกาลนั้นผ้าส่วนใหญ่เป็นผ้าบังสุกุล หรือผ้าที่พิจารณามาจากผ้าห่อศพ ผ้าจึงมีจำนวนน้อยและหายากการจะทำเป็นจีวรจึงทำได้เพียงผืนเดียว) และยอมมอบผ้าที่ทำเป็นจีวรนั้นให้แก่พระภิกษุที่มีผ้าเก่าที่สุดนำไปใช้นุ่งห่ม
ในธรรมบทภาค ๔ กล่าวว่าในครั้งพุทธกาลมีการประชุมใหญ่ในการทำผ้า เมื่อครั้งพระอนุรุทธะได้ผ้าบังสุกุลมา จะทำจีวรเปลี่ยนผ้าครองสำรับเก่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบจึงพร้อมด้วยพระภิกษุ ๕๐๐ รูป เสด็จไปประทับเป็นประธานในวันนั้น พระอสีติมหาสาวก ก็ไปร่วมประชุมช่วยทำผ้ากฐิน พระมหากัสสปะนั่งอยู่ต้นผ้า พระสารีบุตร นั่งอยู่ท่ามกลางผ้า พระอานนท์นั่งอยู่ปลายผ้า พระภิกษุสงฆ์ช่วยกันกรอด้ายสำหรับเย็บ พระบรมศาสดาทรงสนเข็ม พระโมคคัลลานะเป็นผุ้อุดหนุนกิจการทั้งปวงประชาชนต่างนำสิ่งของไปถวาย เมื่อผ้าทำเสร็จแล้ว จึงมีการประชุมสงฆ์ทำสังฆกรรมเกี่ยวกับผ้ากฐิน ต่อมาด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ ของสังคมในอินเดีย มีผู้ศรัทธานำผ้ากฐินมาถวาย แต่ไม่ปรากฏนามว่าผู้ใดเป็นผูู้้ได้ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรกที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระบรมพุทธานุญาต
ผ้าที่ควรทำเป็นผ้ากฐินมี ๕ ชนิด คือ
- ผ้าใหม่
- ผ้าเทียมใหม่
- ผ้าเก่า
- ผ้าบังสุกุล
- ผ้าตกตามร้าน
องค์แห่งพระภิกษุผู้ควรกรานกฐินมี ๘ คือ
- รู้จักบุพกรณ์
- รู้จักถอนไตรจีวร
- รู้จักอธิษฐานไตรจีวร
- รู้จักการกราน
- รู้จักมาติกา
- รู้จักปลิโพธกังวล
- รู้จักการเดาะกฐิน
- รู้จักอานิสงส์กฐิน
บุพกรณ์มี ๗ คือ
- ซักผ้า
- กะผ้า
- ตัดผ้า
- เนาหรือด้นผ้าที่ตัดแล้ว
- เย็บเป็นจีวร
- ย้อมจีวรที่เย็บแล้ว
- ทำกัปปะ คือ พินทุ (หรือเครื่องหมายบนผ้า)
หลักสำหรับพิจารณาในการเดาะกฐิน
ความสิ้นอานิสงส์ของกฐิน เชื่อว่า การเดาะกฐินนั้น ๆ จะเดาะหรือไม่ ข้อนี้มีปลิโพธ ๒ มาติกา ๘ เป็นหลักพิจารณาดังนี้ คือ
ปลิโพธ มี ๒ อย่าง คือ
- อาวาสปลิโพธ คือ ยังมีความกังวล อาลัย ผูกใจจะอยู่ในอาวาสนั้นอยู่
- จีวรปลิโพธ คือ ยังมีความกังวลอาลัย ผูกใจในการที่จะทำจีวรนั้นอยู่
ปลิโพธทั้ง ๒ อย่างนี้ ถ้ายังมีอยู่แม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่งกฐินก็ยังไม่เดาะ ถ้าขาดทั้งหมดก็เดาะ
มาติกา คือ หัวข้อเพื่อให้รู้จักการเดาะกฐิน มี ๘ คือ ไม้สะดึง หรือ แม่แบบหรือกฐินนั้นก็รื้อเก็บไว้ใช้ในการทำผ้าเช่นนั้นในปีต่อๆ ไป การรื้อแบบไม้นี้เรียกว่า เดาะ ฉะนั้น คำว่า กฐินเดาะ หรือ เดาะกฐิน จึงหมายถึงการรื้อไม้แม่แบบเพื่อเก็บไว้ใช้ในโอกาสหน้า จึงมีมาติกา ๘ ดังนี้
- เดาะกฐินด้วยกำหนดหลีกไปด้วยคิดจะไม่กลับ
- เดาะกฐินด้วยทำจีวรเสร็จแล้ว
- เดาะกฐินด้วยสันนิษฐานว่า จะไม่ทำผ้าจีวร
- เดาะกฐินด้วยผ้าหาย หรือเสีย
- เดาะกฐินด้วยได้ยินข่าวว่าเลิกอานิสงส์กฐิน
- เดาะกฐินด้วยสิ้นหวังจากการได้ผ้า
- เดาะกฐินด้วยล่วงพ้นเขตหรือเวลา
- เดาะกฐินด้วยพร้อมภิกษุทั้งหลาย
อานิสงส์ของพระภิกษุเมื่อได้กรานกฐินมี ๕ คือ
- เที่ยวไปไม่ต้องบอกลาตามสิขาบทที่ ๖ แห่งอเจลวรรค ปาจิตติยภัณฑ์
- จาริกไปไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
- ฉันคณะโภชน์ได้ (นั่งล้อมวงฉันได้)
- เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
- จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ (ทั้งยังได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลไปอีก ๔ เดือน)
คำอธิษฐานผ้ากฐิน ว่าดังนี้
ผ้าสังฆาฏิ อิมาย สงฺฆาฏิยา กฐินํ อตฺถรามิ
ผ้าอุตตราสงฆ์ อิมินา อุตฺตราสงฺเคน กฐินํ อตฺถรามิ
ผ้าอันตรวาสก อิมินา อนฺตรวาสเกน กฐินํ อตฺถรามิ
การถวายผ้ากฐิน
การถวายผ้ากฐิน ซึ่งหัวใจของกฐิน คือ ผ้า ๓ ผืน คือ จีวร สบง สังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร ถ้ามากกว่านั้นเป็นอดิเรกจีวร หรือผ้าส่วนเกินเท่านั้น การถวายผ้ากฐินเป็นการนำผ้ามาถวายแก่พระสงฆ์ในเขตที่กำหนดไว้เท่านั้นเลยเวลาไปไม่ได้ ส่วนวัดที่จะรับกฐินได้จะต้องมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาจำนวน ๕ รูป หรือ ๕ รูปขึ้นไปครบองค์สงฆ์ จึงจะเป็นกฐินและจะต้องรับกฐินที่อาวาสของตัวเองเท่านั้นจึงจะถูกต้อง พระรูปเดียวที่จำพรรษาอยู่ในอาวาสหนึ่งอาวาสใด ถ้ารับกฐินก็จะเรียกว่ารับกฐินไม่ได้ เพราะว่าไม่ครบองค์สงฆ์ หรือมีการทอดกฐินกันจำนวนร้อยวัดแต่กลับไปถวายอยู่วัดเดียวโดยให้พระสงฆ์ที่จำพรรษาวัดอื่นมารับที่วัดนั้นอันมิใช่อาวาส ที่จำพรรษาของตัวเองยิ่งผิด ผ้า เป็นนิสัคคีย์ พระสงฆ์ที่ใช้ผ้าเป็นอาบัติปาจิตตีย์ อานิสงส์กฐินจึงไม่ขึ้นเป็นแต่เพียงผ้าป่า และก็ผิดพุทธานุญาต ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งจะอ้างว่าเป็นประเทศปลายแดนไม่ได้ ก็ควรจะถวายเป็นผ้าป่าไปก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพียงแต่ทำให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบัญญัติไว้ ก็ถือว่าเป็นบุญบริสุทธิ์
อีกคำหนึ่งที่จะได้ยินในขณะที่มีพิธีการทอดกฐินคือคำว่า อปโลกน์กฐิน หมายถึงการที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ถามความเห็นชอบว่าควรมีการกรานกฐินหรือไม่ เมื่อเห็นชอบร่วมกันแล้วจึงหารือกันต่อไปว่า ผ้าที่ทำสำเร็จแล้วควรถวายแก่ภิกษุรูปใด การปรึกษาหารือ การเสนอความเห็นเช่นนี้เรียกว่า อปโลกน์ (อ่านว่า อะ-ปะ-โหลก) หมายถึง การช่วยกันมองดูว่าจะสมควรอย่างไร เพียงเท่านี้ก็ยังใช้ไม่ได้ เมื่ออปโลกน์เสร็จแล้ว ต้องสวดประกาศเป็นการสงฆ์ จึงนับว่าเป็นสังฆกรรมเรื่องกฐิน ดังกล่าวไว้แล้วในตอนต้น
คำถวายผ้ากฐินต่อที่ประชุมสงฆ์ มีว่า อิมํ สปริวารํ กฐินจีวร ทุสสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม แปลว่า ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระสงฆ์ คำว่า สปริวารํ ซึ่งแปลว่า กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ มีอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังจะกล่าวในรายละเอียด
ไทยธรรมที่ถวายในกฐิน
ไทยธรรม คือ เครื่องที่เป็นบริขารสำหรับถวายเป็นบริวารของกฐิน ในครั้งพุทธกาลก็มุ่งประโยชน์ทางพระวินัยเป็นหลัก จึงนำแต่ผ้าไปถวายเท่านั้น เมื่อเสร็จแล้วจึงไปจัดการฉลองกาลกฐินในภายหลัง แต่ในปัจจุบัน เป็นที่นิยมกันทั่วไปว่าการทอดถวายกฐินจะต้องมีบริวารบริขารด้วย จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับศรัทธาของผู้ถวาย หรือบางทีก็เป็นปัจจัย เพื่อที่จะได้นำไปก่อสร้างซ่อมแซมทำนุบำรุง ศาสนสถานแก่การใช้ประโยชน์ทางพระพุทธศาสนา
บริวารบริขาร มีดังนี้
- ผ้าไตร
- ผ้าห่มพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานและพระสาวก
- บาตรพร้อมด้วยถลกฝาและเชิง
- เข็ม ด้าย มีดโกน หินลับมีด กระบอกกรองน้ำ(ธัมการก) เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ
- พัดรอง กระโถน
- ผ้าห่มนอน หมอน มุ้ง กลด เสื่อ พรม
- สำรับคาวหวาน น้ำร้อน น้ำเย็น เครื่องดื่มน้ำปานะอื่น ๆ
- ยารักษาโรค
อานิสงส์ของผู้ทอดถวายผ้ากฐิน
- กิติสัทโท เป็นผู้มีชื่อเสียงฟุ้งขจรขจายไปทั่วสารทิศ
- ได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบอายุพระพุทธศาสนา ถวายกำลังแก่สมณะสงฆ์ดำรงพระศาสนา
- ได้สงเคราะห์พระสงฆ์ตามพระวินัยซึ่งเป็นไปตามพระบรมพุทธานุญาต
- เป็นการรักษาประเพณีที่ดีงามไว้มิให้เสื่อมสูญไป
- เป็นการบูชาพุทธโอวาทของพระบรมศาสดา
- ได้ชื่อว่าบำเพ็ญมหาบุญ
- เป็นปัตตานุโมทนามัย
- ทำทรัพย์และชีวิตให้มีสาระ
- เป็นการสร้างความสามัคคีในระหว่างพุทธบริษัท
- เป็นการสั่งสมทุนคือบุญกุศลไว้ในภายภาคหน้า
- เป็นการสร้างทางไปสวรรค์และนิพพานให้แก่ตนเอง
ประเภทของกฐิน
กฐินในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ดังนี้ คือ
- กฐินหลวง คือ กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินทอดถวาย ณ พระอารามหลวงที่กำหนดไว้เป็นกรณี พิเศษ ปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน ๑๖ วัด เช่น
- ๑. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
- ๒. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร
- ๓. วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร
- ๔. วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร
- ๕. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร
- ๖. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
- ๗. วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
- ๘. วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร
- ๙. วัดราชาธิวาส กรุงเทพมหานคร
- ๑๐. วัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร
- ๑๑. วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร
- ๑๒. วัดราชโอรสาราม กรุงเทพมหานคร
- ๑๓. วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม
- ๑๔. วัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา
- ๑๕. วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ พระนครศรีอยุธยา
- ๑๖. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก
- กฐินต้น คือ กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชศรัทธาพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เสด็จพระราชดำเนิน ทอดถวายตามพระอารามที่ทรงพอพระราชหฤทัยโดยจะเป็นพระอารามหลวงหรือวัดชั้นราษฏร์ก็สุดแท้แต่พระราชอัธยาศัย
- กฐินพระราชทาน คือ กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชบริพาร หรือหน่วยราชการ
ต่าง ๆ นำไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวงต่าง ๆ แทนพระองค์ เช่น วัดอนงคาราม วัดกัลยาณมิตร เป็นต้น - กฐินราษฏร์ คือ กฐินที่ราษฏร หรือประชาชนจัดขึ้นเป็นการส่วนตัว หรือเป็นหมู่คณะ แล้วนำไปทอดถวาย
ตามวัดต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดและวัดนั้นเป็นวัดที่ราษฏรสร้างขึ้นหรือเคารพศรัทธา - กฐินสามัคคี คือ กฐินที่พุทธศาสนิกชนร่วมแรงร่วมใจจัดขึ้นเป็นหมู่คณะและนำไปทอดถวายยังวัดใดวัดหนึ่ง ด้วยความพร้อมเพรียงกัน
- กฐินทรงเครื่อง คือ กฐินที่มีผ้าป่าไปทอดสมทบ เรียกว่า ผ้าป่าหางกฐินมีมหรสพสมโภชน์เป็นที่ เอิกเริกสำราญใจในบุญพิธีกฐิน
- กฐินโจร คือ กฐินที่เจ้าภาพนำไปทอดโดยมิได้ให้ทางวัดทราบล่วงหน้า พอผ่านไปพบวัดใดวัดหนึ่งที่ยังไม่มีกฐิน ไม่มีผู้จองกฐินจวนจะหมดเขตกฐินอยู่แล้ว ก็จู่โจมเข้าไปทอดถวายคล้ายกับโจรปล้นมิให้เจ้าของทรัพย์รู้ตัว หรือจะเรียกอีกอย่างว่า กฐินตกค้าง
- จุลกฐิน คือ กฐินน้อย หมายถึง มีเวลาทำน้อยต้องทำด้วยความรีบร้อนด่วน เป็นกฐินฉุกละหุก เพราะต้องการทำทุกอย่างให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว นับตั้งแต่หาฝ้ายมาปั่นด้วยทอทำเป็นผ้า และเย็บย้อมให้สำเร็จเป็นจีวรแล้วนำไปทอดถวายสงฆ์ที่จำพรรษาในอาวาสนั้นตลอด ไตรมาส หรือสามเดือน
คำถวายกฐิน
ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วว่าดังนี้
อิมัง สะปริวารัง กะฐินะจีวะระทุสสัง สังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต สังโฆ อิมัง สะปริวารัง กะฐินะทุสสัง ปะฏิคคัณหาตุ ปาฏิคคะเหตวา จะ อิมินา ทุสเสนะ กะฐินัง อัตถะระตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะฯ
คำแปลคำถวายกฐิน
ข้าแต่พระสงฆ์ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวร กับทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงโปรดรับ ผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้นรับแล้วขอจงกรานกฐินด้วยจีวรนี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญฯ